การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์สมุนไพรไปร่ตาจู จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

ห้องเรียนนอกตำรา...สู่การพัฒนาทักษะชีวิต

โครงการสร้างฐานเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจูเพื่อการจัดการป่าชุมชน

เมื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่พอสำหรับเด็กในยุคปัจจุบันอีกต่อไป การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการทำ Project based learning น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการเรียนรู้ในยุค 4.0 ที่จะทำให้พวกเขาได้ลงมือปฏิบัติจริง เรียนรู้จริง แก้ปัญหาจริง จนนำไปสู่ “การเรียนรู้ที่แท้จริง” (Authentic Learning) ที่ได้ผลลัพธ์ทั้งความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และทัศนคติ (Attitude) ที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้เหล่านั้นติดตัวเขาไปตลอดชีวิต


ห้องเรียนนอกตำรา...สู่การพัฒนาทักษะชีวิต

เมื่อทิศทางสำหรับการศึกษาไทยที่ผู้ใหญ่คาดหวังในยุคปัจจุบัน คือการสร้างเยาวชนไทยให้มี ทักษะมากกว่าความรู้ แล้วการเรียนแบบใดที่จะสร้างทักษะที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นได้จริง คำตอบคือ “การเรียนรู้นอกห้องเรียน”

กานต์-ธิดาวรรณ ปัญญา,ทิพ-ธารทิพย์ มนตรีวงษ์, ฝน-สุภัทรา สามศร และ เวฟ-นันทวัฒน์ เลิศศรี คือตัวอย่างของกลุ่มเยาวชนชุมชนบ้านกันทรอมใต้ ตำบลกันทรอม อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ใช้พื้นที่ของป่าชุมชนเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ผ่านการทำโครงการสร้างการเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจูเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชน

จากห้องยา...สู่ห้องเรียนชุมชน

ป่าตาจู เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ที่พวกเขาเลือกใช้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้เพิ่มเติมหลังเลิกเรียน ที่นอกจากจะได้ความรู้ด้านสมุนไพรแล้ว ป่าแห่งนี้ยังบ่มเพาะทักษะชีวิตให้พวกเขาอีกด้วย ปีแรกที่ได้เข้ามาเรียนรู้ป่าแห่งนี้ ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทีมงานมากมาย จากคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก แต่เพราะเงื่อนไขของโครงการฯ ทุกครั้งที่เข้าร่วมเวทีกลางพี่ประมวล ดวงนิล ทีมโคชจะยื่นไมค์ให้ทุกคนในทีมได้ฝึกพูดอยู่บ่อยๆ จากที่เขินอาย ก็กลายเป็นความเคยชิน จนสามารถนำไปต่อยอดในการพูดหน้าห้องเรียนได้ จากที่เคยเกี่ยงกันเวลานำเสนองาน แต่ปัจจุบันพวกเขาสามารถลุกขึ้นมาเป็นคนนำเสนองานได้โดยไม่เกี่ยงกันเหมือนแต่ก่อน

เพราะเห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ทีมงานจึงคิดต่อว่าอยากให้เด็กๆ ในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงบ้าง จึงคิดใช้ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นห้องเรียนนอกตำราสร้างการเรียนรู้ให้เด็กในชุมชน โดยยกระดับการทำโครงการจากห้องยาเป็นห้องเรียนนอกตำรา ผ่านการทำโครงการสร้างฐานการเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจูเพื่อการจัดการป่าชุมชน ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กเยาวชนรู้จักสมุนไพร และเห็นคุณค่าของป่าชุมชนเหมือนที่พวกเรา

กานต์ เล่าว่า กระบวนการเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่ป่าตาจูเพื่อทบทวนความรู้เดิมกับผู้รู้ เนื่องจากชื่อสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นภาษาเขมร จำยาก จึงต้องทบทวนให้แม่นยำก่อนที่จะพาน้องเรียนรู้ จากนั้นจึงศึกษาเส้นทางที่เหมาะสมในการจัดฐานการเรียนรู้

ผลการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในปีแล้ว ทำให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้รู้จักประเมินศักยภาพและความสามารถของตนเอง เมื่อรู้ว่าความรู้เรื่องสมุนไพรยังไม่แม่น ก็ชวนกันไปทบทวนความรู้กับผู้รู้ และลงไปศึกษาเส้นทางเดินป่าอย่างละเอียดเพื่อนำมาใช้จัดฐานการเรียนรู้

­

ห้องเรียนนอกตำรา...ป่าตาจู

ตาสด สมเพชร และสัมฤทธิ์ พันจันทร์ คือครูภูมิปัญญาที่ทีมงานชักชวนมาให้ความรู้เรื่องสมุนไพรในป่าตาจูแก่เด็กๆ ในชุมชน ส่วนทีมงานทำหน้าที่ออกแบบการเรียนรู้

เวฟ เล่าว่า พวกเขาออกแบบการเรียนรู้เป็น 2 ฐานคือ 1. ฐานการเรียนรู้ในป่าตาจูเพื่อให้เยาวชนได้เห็นความเชื่อมโยงของป่าและความสมบูรณ์ของสมุนไพร 2. ฐานบ้านภูมิปัญญาเพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้กับผู้รู้โดยตรง และเพื่อให้เด็กเห็นความสำคัญของผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชน

ไม่ใช่เพียงแค่เด็กเท่านั้นที่ให้ความสนใจกับกิจกรรมในครั้งนั้น ผู้ปกครองและคนในชุมชนเองเมื่อเห็นว่าทีมทำงานกันต่อเนื่อง จึงเข้ามามีส่วนร่วมทุกครั้ง

“เวลาเราพาน้องไปเรียนรู้ในป่า ผู้ใหญ่ในชุมชน ผู้รู้ และทีมงานไปด้วยกัน เป็นการสานสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรักใคร่กันมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เด็กจะอยู่ส่วนเด็ก ผู้ใหญ่อยู่กับผู้ใหญ่ กิจกรรมนี้ทำให้คนสองวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกันจนเกิดความสัมพันธ์ที่ดี มีผู้ใหญ่หลายคนทีก่อนหน้านี้เราไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ได้รู้จักมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างความรู้สมัยเก่ากับความรู้สมัยใหม่อีกด้วย” กานต์ กล่าว

หลังจากพาน้องเรียนรู้ครบทั้ง 2 ฐานแล้ว ทีมงานนำการถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากโครงการมาปรับใช้ ตั้งคำถามง่ายๆ เช่น รู้จักสมุนไพรอะไรบ้าง มีสรรพคุณด้านไหน เพื่อให้น้องได้ทบทวนสิ่งที่ได้ลงไปเรียนรู้

กล่าวได้ว่าป่าตาจูของชุมชนบ้านกันทรอมใต้คือ การเรียนรู้ที่แท้จริง หรือ Authentic Learning ที่ทีมงานใช้เป็นห้องทดลองให้พวกเขาได้ฝึกทักษะทั้งการทำงานเป็นทีม การวางแผนจัดการงาน จัดการคน จัดการอารมณ์ การออกแบบกิจกรรมแล้ว ป่าแห่งนี้ยังสร้างความรู้ชุดใหม่ที่ไม่แยกส่วนอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม แต่เป็นความรู้แบบองค์รวมที่หลอมรวมระหว่างความรู้เก่ากับความรู้ใหม่ ที่เด็กเยาวชนสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนได้อย่างลงตัว

­

ผลสัมฤทธิ์ที่มากกว่าเกรด 4

เกรดเฉลี่ยอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับห้องเรียนนอกตำราแห่งนี้ แม้หลังจบโครงการทีมงานจะสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่า ผลการเรียนของดีขึ้นมากก็ตาม แต่การเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนคือผลสัมฤทธิ์ที่ห้องเรียนแห่งนี้ต้องการ

ฝน พี่ใหญ่ของโครงการบอกว่า เมื่อก่อนชอบหมักงานไว้รอให้ถึงกำหนดจึงค่อยทำ โครงการนี้สอนให้เธอรู้จักคำว่ารับผิดชอบ รีบทำการบ้าน ทำงานโครงการให้เสร็จโดยเร็ว รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จนผลการเรียนดีขึ้น แต่ที่ดีที่สุดคือ พอร์ตโฟลิโอจากการทำโครงการนี้ทำให้เธอได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา คณะครุศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสื่อสารและการศึกษา

ด้านเวฟ เล่าว่า แต่ก่อนเวลานำเสนองานในห้องเรียนจะเกี่ยงกันกับเพื่อนตลอด เพราะขี้อายไม่กล้าพูด การเข้าร่วมเวทีกับพี่ๆ ทีมโคชบ่อย ๆ พี่เขาฝึกให้เราพูดนำเสนอโครงการ จับไมค์ตอบคำถามจนหายกลัว พอครูให้ลุกขึ้นไปพูดนำเสนอ ก็พูดได้นิ่งขึ้น ไม่อายอีกแล้ว

กานต์ เสริมต่อว่า ผลจากการถูกฝึกให้จับไมค์พูดของพี่โคช ทำให้เธอชินกับการพูดต่อที่สาธารณะ และจับประเด็นในการพูด คิดวิเคราะห์หาใจความสำคัญของสิ่งที่จะพูดก่อนแล้วเรียบเรียงออกมาเป็นคำพูดได้ดีขึ้น และเห็นคุณค่าของป่าและสมุนไพรมากขึ้นด้วย

“เมื่อก่อนเวลาเดินเข้าป่าก็แค่จะไปเที่ยวน้ำตกเท่านั้น ไม่เคยสนใจว่าป่าจะอุดมสมบูรณ์ไหม สมุนไพรมีประโยชน์อย่างไร แต่พอได้ลงพื้นที่เรียนรู้สมุนไพรกับผู้รู้ ทำให้เห็นว่าป่าที่เธออาศัยเป็นทางผ่านคือแหล่งสมุนไพรที่มีคุณค่ากับชุมชน จนอยากให้คนในชุมชนเห็นเหมือนเช่นเธอ”

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของฝน เวฟ และกานต์ คือบทพิสูจน์ว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่เพียงพอต่อการพัฒนาทักษะของเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 อีกต่อไป การมีพื้นที่เล็กๆ ให้เด็กได้ทดลองนำความรู้ในห้องเรียนมาออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง คือสนามฝึกทักษะชีวิตชั้นดี ที่เป็นแต้มต่อให้พวกเขาใช้เป็นฐานในการทำงานและการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต


โครงการสร้างฐานการเรียนรู้สมุนไพรไปร่ตาจูเพื่อการจัดการป่าชุมชน

ที่ปรึกษาโครงการ : 

  • รังสรรค์ โพธิสาร 
  • อัมพร สุพงษ์

ทีมงาน :

  • ธิดาวรรณ ปัญญา
  • ธารทิพย์ มนตรีวงษ์
  • สุภัทรา สามศร 
  • นันทวัฒน์ เลิศศร