การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์ จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

เพราะหน้าที่การพัฒนาเยาวชนไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ที่ทุกคนในชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ดังเช่นผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านกระโพธิ์ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ พยายามมองหาโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเด็ก และเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือทำ ผลที่เกิดขึ้นคือ งานที่เด็กคิดทำช่วยให้การจัดการปัญหาขยะของ อบต. มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นแล้ว ยังสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้ลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของชุมชนร่วมกัน


เด็กทำ...ผู้ใหญ่ตาม

“ตอนนั่งรถสองแถวไปโรงเรียน แม้จะหลับ แต่พอใกล้ถึงโรงเรียนจะสะดุ้งตื่นทุกครั้ง เพราะเหม็นขยะมาก”

“เมื่อก่อนที่ตรงนี้เคยเป็นป่ามาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นที่ทิ้งขยะของชุมชนไปแล้ว แถมหมู่บ้านอื่นก็เอามาทิ้งด้วย”

“ล่าสุด อบต. มีการเทเป็นลานปูน จนกลายเป็นลานทิ้งขยะถาวรไปแล้ว”

คือเสียงสะท้อนปัญหา จนเด็กเยาวชนในชุมชนบ้านกระโพธิ์ ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ รู้สึกทนไม่ได้ จนต้องลุกขึ้นมาทำโครงการเยาวชนร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

แต่กระบวนการคิดเช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ใหญ่ในชุมชนไม่เปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้...


จับขยะมาเป็นโจทย์

เมื่อเห็นโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเปิดรับข้อเสนอโครงการ พี่นาวิน สิงขร สมาชิก อบต.ตูม ที่เคยทำกิจกรรมกับเด็กเยาวชนในชุมชนอยู่เสมอ จึงชวน ทัด-ศุภลักษณ์ บุญเสริม นาเดีย-ชลธิชา ขอมเดช ครีม-สุนิสา ทองดี แอ้ม-สุกัญญา สุภาวหา จวน-อรุณรัตน์ ตินทอง ไก่-นิราพรรณ สิงขร พีช-ชยุตพล สิงขร เอ๊กซ์-ปฏิภาณ พันธ์เพ็ชร ปอนด์-ปรัชญา ทองหล่อ และ ทด-สิทธิพล บุญเสริม ทำโครงการ

ทัด เล่าว่า ตอนแรกที่พี่นาวินชวนคิดโจทย์ปัญหาชุมชน พบว่ามีหลายเรื่อง แต่พอทบทวนดูว่าสิ่งไหนที่พวกเราทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด และเราน่าจะพอทำกันได้คือ เรื่องขยะ พี่นาวินจึงแนะนำให้ไปสำรวจป่า สำรวจที่ทิ้งขยะ ได้ข้อมูลว่า เดิมที่ทิ้งขยะแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ป่าชุมชนมาก่อน แต่ อบต.ขอใช้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ซึ่งกลายมาเป็นที่ทิ้งขยะของคนในชุมชนและ อบต.ในที่สุด กระทั่งปี พ.ศ. 2558 อบต. สร้างถนนเข้าไปถึงจุดทิ้งขยะด้านในเพื่อให้การขนถ่ายขยะสะดวกยิ่งขึ้น ผลคือขยะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ จึงเป็นที่มาของโครงการเยาวชนร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์ โดยมองว่า หากสามารถเชื่อมโยงเรื่องการเก็บขยะไปสู่การฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นนโยบายของ อบต. น่าจะได้รับการสนับสนุนจาก อบต. ไม่มากก็น้อย

นาวิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้เยาวชนกลุ่มนี้จะมาจากหลายโรงเรียน และหลายช่วงอายุ แต่ก็เป็นเด็กจากชุมชนเดียวกัน รู้จักและสนิทสนมกันดี ทำให้มีการพบปะพูดเกี่ยวกับการทำงานกันในตอนเย็นหลังเลิกเรียนได้เกือบทุกวัน หรือหากเวลาไม่ตรงกันก็สามารถจะคุยกันผ่าน Facebook หรือ line กันได้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งการที่พวกเขาสื่อสารกันตลอดเวลานี้ ทำให้ปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ของโครงการ กลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ในที่สุด

­

ใช้พลังการสื่อสารสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน

ทีมงาน วางแผนช่วยกันเก็บขยะสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หากทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ขยะน่าจะหมดไป แค่สัปดาห์แรกผ่านไป ความท้อก็มาเยือน

“เมื่อก่อนเราแค่เห็นขยะจากข้างถนน ตอนไปสำรวจก็กะเอาด้วยสายตา คิดว่าพวกเรา 10 คนน่าจะเอาอยู่ แต่พอลงมือทำจริง ขยะมันเยอะมาก เก็บตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงเที่ยงลดไปได้นิดเดียวเอง วันนั้นผมและพี่ๆ หลายคนก็เริ่มท้อ เริ่มเห็นแล้วว่าไม่น่าจะเก็บขยะกองนี้ให้หมดได้” พีช เล่าความรู้สึก

เมื่อเห็นทีมงานเริ่มฝ่อ พี่นาวินจึงชวนทีมงานถอดบทเรียนการทำงานเพื่อหาทางออก พบว่า ทีมงานยังขาดการสื่อสารจึงไม่ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน หลายคนเสนอให้แต่ละคนไปชวนเพื่อนๆ ที่โรงเรียนมาช่วยกับเก็บขยะ บางคนบอกให้ชวนพ่อแม่ญาติพี่น้องมาช่วย แต่ไอเดียที่น่าสนใจที่สุดมาจากเจนที่เสนอให้นาวินไปบอกเล่าการทำงานของทีมในเวทีประชุมหมู่บ้าน และขอความร่วมมือคนในชุมชนมาช่วยกันเก็บขยะ โดยทัดขันอาสาช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายอีกทางหนึ่ง

“ปกติพี่นาวินจะเป็นคนประกาศข่าวสารสำคัญๆ ให้ชุมชนรับรู้อยู่แล้ว เขาเลยใช้โอกาสนี้พูดถึงผลเสียของขยะ และบอกเล่าการทำงานของทีม พร้อมเชิญชวนผู้ใหญ่ในชุมชนมาช่วยกันไปทำให้ขยะหมดไปจากป่าชุมชนของเรา” ทัด อธิบายการทำงาน

ด้วยพลังของการสื่อสารผ่านเสียงตามสาย เวทีประชุม การพูดเชิญชวนแบบปากต่อปาก ทำให้ในสัปดาห์ที่สองของการเก็บขยะที่มีเพื่อนในโรงเรียนกว่า 10 คน มาช่วยเก็บขยะ รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชนด้วย

ป้าสิน งามมอด บอกว่า เด็กเขาทำกันขนาดนี้ เราจะไม่ไปช่วยมันก็เกินไป

ส่วนป้าพวง บุญเสริม บอกว่า เราเป็น อสม. เคยไปช่วยเก็บขยะตรงนี้มาหลายครั้งแล้ว เมื่อเห็นความตั้งใจจริงของเด็กก็เริ่มมีความหวังว่า ถ้าครั้งนี้มีคนไปช่วยกันมากๆ ขยะก็คงจะหมดไป

ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เมื่อเห็นอาการท้อ ต้องเข้าชาร์ตทันที เพราะหากปล่อยเวลาทิ้งไป ความรู้สึกที่เสียไปอาจฟื้นคืนมายาก พี่นาวินจึงนำกระบวนการถอดบทเรียนมาใช้ เริ่มจากถามความรู้สึกก่อน จากนั้นชวนกันหาทางออก ใครทำอะไรได้ก็ช่วยกันทำ จนเพื่อนๆ และคนในชุมชนให้ความร่วมมือ กลายเป็นพลังใจให้ทีมงานฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง

­

ผู้หนุนเสริมการเรียนรู้

นอกจากประคับประคองจิตใจของทีมงาน พี่นาวินยังใช้บทบาทหน้าที่ของการเป็นสมาชิก อบต. สื่อสารการทำโครงการของเด็กต่อที่ประชุมสภา อบต. และส่งภาพการทำกิจกรรมของเด็กๆ เข้าไปในกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊กของเพื่อนสมาชิก และผู้บริหาร อบต. เพื่อให้ทุกคนรับรู้ปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ขยะล้นทีก็ชวนกันเก็บทีเหมือนที่ผ่านมา

การเก็บขยะอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ของทีมงาน และสื่อสารการทำงานให้คนในชุมชนและผู้นำชุมชนรับรู้ ส่งผลให้ อบต.มีการจัดเก็บขยะมาเผาต่อเนื่อง

พนม พรมมี ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูม (อบต. ตูม) กล่าวว่า จริงๆ แล้วปี พ.ศ. 2560 นี้ ทางจังหวัดมีนโยบายขยะประชารัฐ ที่ให้ทุกภาคส่วนในชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาขยะของชุมชนตนเอง ทาง อบต. ได้หารือร่วมกับผู้นำในชุมชนที่นี่และชุมชนข้างเคียง เห็นร่วมกันว่า จะไม่ให้พื้นที่บริเวณนั้นเป็นที่ทิ้งขยะอีกต่อไป ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่น้องๆ เยาวชนทำเรื่องนี้พอดี กลายเป็นว่างานที่เด็กทำมาช่วยเสริมงานของ อบต. คือ เด็กช่วยกับเก็บขยะในวัดหยุด ขณะที่ อบต.เก็บขยะไปเผาในวันธรรมดา เมื่อทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ ในที่สุดขยะก็หมดไปจริงๆ ยอมรับการทำงานของเยาวชนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ อบต.จัดการปัญหาขยะเป็นผลสำเร็จ

เด็กทุกคนมีศักยภาพความสามารถแตกต่างกัน หากผู้ใหญ่ชุมชนเห็นแวว เปิดพื้นที่และเปิดโอกาสการทำกิจกรรมของเด็กเยาวชนอาจช่วยให้การทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ประสบความสำเร็จได้ ดังเช่น อบต.ตูม ที่สามารถแก้ปัญหาขยะให้ลุล่วงไปด้วยดี


เปลี่ยนชุมชน เปลี่ยนตัวเอง

หลังจากสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และ อบต.เห็นความสามารถแล้ว ทีมงานใช้โอกาสนี้ชวนคนในชุมชน และคนใน อบต.มาร่วมปลูกป่า ใช้การสื่อสารแบบเดิมคือ ไลน์กลุ่ม เฟซบุ๊ก หอกระจายข่าว นัดหมายกันปากต่อปาก ทำให้ในวันปลูกป่ามีผู้ใหญ่ในชุมชนเข้ามาร่วมปลูกเกือบ 60 คน ใช้ต้นไม้ที่ อบต.เพาะกล้าไว้มาปลูก เนื่องจากสอดคล่องกับนโยบายปลูกป่าของ อบต.พอดี

สิ่งที่ทำให้ทีมงานดีใจและภูมิใจที่สุดคือ การที่ อบต. เรียกประชุมผู้นำชมชนประกาศนโยบายยกเลิกใช้พื้นที่ทิ้งขยะ และมีการกำหนดนโยบายลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม นำเสาไม้และรั้วลวดหนามกันพื้นที่บริเวณดังกล่าวออกจากถนน รวมถึงนำป้ายประกาศข้อกำหนดการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนมาติดไว้ เพื่อยืนยันว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่ที่ทิ้งขยะอีกต่อไป

“ดีใจมากค่ะ เพราะนอกจากเราจะทำให้ขยะหมดไปจากที่ตรงนี้ได้แล้ว เรายังได้ป่าชุมชนกลับมาอีกด้วย” เจน บอก

“คำชมและความร่วมมือของผู้ใหญ่ในชุมชน คือปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้พวกเราทำงานนี้ต่อเนื่อง บางคนหาข้าวหาน้ำมาให้กิน บางคนก็ลงแรงช่วยทำจนเสร็จ คนที่เกษียณไปแลวก็ยังมาช่วย พวกเรารู้ภูมิใจมาก” ทีมงาน เล่า

ขณะที่ป้าพวง เสริมว่า ถ้าเด็กกลุ่มนี้ไม่มาทำ กองขยะคงไม่หายไป

ส่วนป้าสิน บอกว่า เด็กเหล่านี้จะเป็นพลัง เป็นอนาคตของชุมชนได้

นอกจากขยะจะหมดไป ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมา และยังได้โอกาสแสดงฝีไม้ลายมือให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้ประจักษ์แก่สายตา จนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชนแล้ว ผลจากการลงมือทำงานครั้งนี้ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทีมงานไม่น้อย

จวน บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก รู้จักแบ่งเวลา มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน และคิดเป็นระบบมากขึ้น มีความรับผิดชอบและตรงต่อเวลา ให้ความสำคัญกับงานส่วนรวม โดยทีมงานมีแนวคิดที่จะสานต่อกิจกรรมปลูกป่าต่อไป และร่วมเพาะกล้าไม้ไว้ใช้ประโยชน์ด้วย

ทัด เสริมว่า เหตุผลที่อยากปลูกป่าต่อ เพราะสมัยก่อนเคยเข้าไปเก็บเห็ด หาปลา หรือเก็บผักกับครอบครัว เป็นพื้นที่ผจญภัยของเด็กๆ ตอนเข้าไปทำโครงการเห็นป่าเปลี่ยนไปมาก มีขยะเต็มไปหมด ต้นไม้ก็เริ่มแห้งเหี่ยวตาย ดินชุ่มชื้นน้อยลงเก็บน้ำไม่อยู่ จึงอยากปลูกป่าเพิ่มอีกหลายๆ จุด เพื่อป่าจะได้กลับมาสมบูรณ์ให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์อีกครั้ง

ด้วยกระบวนการโคชของพี่นาวินที่ปล่อยให้เด็กคิดเองทำเอง คอยสังเกตเพื่อหาจังหวะกระตุ้นให้เด็กคิดทำด้วยตัวเอง ที่ตอนแรกพี่นาวินบอกว่า ยากมาก เพราะชินกับการทำแทนเด็ก พยายามฝืนตัวเอง วันนี้เห็นเด็กๆ รู้จักคิดวิเคราะห์วางแผนการทำงาน รู้จักบริหารจัดการงานส่วนรวมและงานส่วนตัวได้ จึงรู้สึกดึใจและภูมิใจมาก

การเสริมพลังเยาวชนในเชิงบวกของผู้ใหญ่ในชุมชนเช่นนี้ นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นกับเด็กเยาวชนแล้ว ยังทำให้พวกเขาเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ซึ่งในอนาคตหากชุมชนเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็จะอาสาเข้ามาแก้ไข ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา


โครงการเยาวชนร่วมใจแก้ไขปัญหาขยะ เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู ป่าชุมชนบ้านกระโพธิ์

ที่ปรึกษาโครงการ : นาวิน สิงขร

ทีมงาน : 

  • ศุภลักษณ์ บุญเสริม 
  • ชลธิชา ขอมเดช
  • สุนิสา ทองดี 
  • สุกัญญา สุภาวหา
  • อรุณรัตน์ ตินทอง
  • นิราพรรณ สิงขร
  • ชยุตพล สิงขร 
  • ปฏิภาณ พันธ์เพ็ชร
  • ปรัชญา ทองหล่อ 
  • สิทธิพล บุญเสริม