การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

การชวนเด็กทำงานช่วยเหลือชุมชน เป็นการสร้างเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ที่มีการแบ่งหน้าที่ให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเด็กจะได้รับประสบการณ์ตรง ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ฝึกความอดทน มานะบากบั่น มีประสบการณ์กับความล้มเหลว หรือเผชิญกับความยากลำบาก ดังเช่น เด็กเยาวชนบ้านหนองสะมอน ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ที่รวมตัวกันทำโครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ ชักชวนเด็กเยาวชนและคนในชุมชนมาช่วยกันปลูกป่า จนทำให้ป่าบริเวณหนองแสนแสบเพิ่มขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ กระบวนการทำงานยังช่วยรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่เคยแตกแยกทางความคิดให้เริ่มกลับมาพูดคุยกัน เพราะเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเด็กกลุ่มนี้จึงคิดเป็น ทำเป็นและรักชุมชนที่ตนอาศัยอยู่

ฝึกเด็กทำงานรับใช้ชุมชน

การเรียนรู้ที่ดีที่สุดได้จากการปฏิบัติกิจกรรม หรือเรียนโดยการทำงาน โดยแบ่งหน้าที่ให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้การเรียนรู้เป็น “กระบวนการเรียนรู้ที่จริงแท้ หรือ Authentic Learning” ที่เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรง ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ฝึกความอดทน มานะบากบั่น มีประสบการณ์กับความล้มเหลว หรือเผชิญกับความยากลำบาก ทำให้รู้จักปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน

คำถามคือ ทำอย่างไรเด็กจึงจะมีกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงได้...

การชวนเด็กทำงานสร้างสรรค์หรือรับใช้ผู้อื่น...อาจเป็นคำตอบหนึ่ง

กระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ มีหลักการสั้นๆ ง่ายๆ คือ ต้องเป็นทำสม่ำเสมอต่อเนื่อง ทำเป็นทีม มีการค้นคว้าหาความรู้มาใช้ในการทำงาน เพื่อหาทางพัฒนาวิธีการให้ได้ผลดียิ่งขึ้น รวมทั้งมีการนำประสบการณ์มาร่วมกันไต่ตรอง สะท้อนคิด เพื่อเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการ การยกระดับจิตใจของตนเอง และเข้าใจคุณค่าของสิ่งที่ทำ ดังเช่นเด็กเยาวชนบ้านหนองสะมอน ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ คือ กัน-สุกัญญา ลิ้นนิยม เบลล์-ชินกร มียิ่ง เปรี้ยว-อมรรัตน์ บุญท่วม นัน-พินิทนันท์ สุทธิ์สน น้ำค้าง-ราตรีชล ทำมา ที่รวมตัวกันโครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ

ค้นหาแววเด็ก

แม้จะเคยร่วมกิจกรรมพัฒนาชุมชนมาหลายครั้ง แต่ก็เป็นกิจกรรมทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่เท่านั้น เวลาว่างที่มีก็เล่นเกม เล่นโทรศัพท์ ดูทีวี ไม่เคยต้องรับผิดชอบอะไรนอกจากการเรียน คือคำบอกเล่าของ กัน เบลล์ นัน เปรี้ยว และน้ำค้าง กระทั่งพี่วุฒิ-ศราวุฒิ ยงกุล ที่ปรึกษาโครงการชวนทำโครงการ ทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้จักคำว่า “ทำงาน” จริงๆ

พี่วุฒิ บอกว่า เขาเคยเป็นผู้นำเยาวชนของบ้านหนองสะมอน เติบโตมาถึงวันนี้เพราะมีโอกาสได้ทำกิจกรรมเพื่อชุมชน เมื่อกลับมาทำงานที่บ้านเกิด จึงอยากให้เด็กในชุมชนได้ทำกิจกรรมเหมือนเขา จึงค่อยๆ ชักชวนเด็กร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้บ้าง พัฒนาหมู่บ้านบ้าง ก็เริ่มเห็นแววเด็กหลายคนมีความคิดดีๆ เช่น เบลล์ที่ชอบช่วยเหลือทำกิจกรรมของชุมชนหลายอย่าง ส่วนนันแม้จะไม่ค่อยร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ แต่เป็นคนมุ่งมั่นต่อการทำงาน หากสนใจอะไรแล้วเขาจะทำเต็มที่ และทำออกมาได้ดี เคยคิดว่าหากมีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงออกก็จะทำให้เด็กเหล่านี้ได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพของชุมชน จึงชวนเด็ก 5 คนเข้าร่วมโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ

“สิ่งที่คิดตอนนั้นคืออยากจะฟื้นฟูป่าชุมชนให้กลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง ก่อนทำโครงการนี้ผมพยายามปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าให้เด็กกลุ่มนี้ ชวนเขามาช่วยเพาะพันธุ์และดูแลกล้าไม้ พาไปสำรวจป่าของชุมชน สำรวจหนองสะมอนที่คนในหมู่บ้านใช้ประโยชน์มายาวนาน โดยหวังลึกๆ ว่าจะมีเด็กมาสานต่อเจตนารมณ์”

พี่วุฒิ เล่าว่า ตอนรับเป็นที่ปรึกษาโครงการ แม้จะมีโจทย์ในใจว่าอยากให้เด็กทำโครงการเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า ด้วยเงื่อนไขโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษที่ระบุว่า ต้องเป็นโจทย์ปัญหาในชุมชนและเป็นเรื่องที่เด็กอยากทำ และเปิดโอกาสให้เด็กคิดได้เต็มที่ว่าเขาอยากทำอะไรจริงๆ ดังนั้นก่อนเลือกประเด็นทำงานจึงให้เด็กลงพื้นที่ศึกษาชุมชน

“แรกๆ ก็ฟุ้งมากมีทั้งเรื่องประเพณี อาชีพ สิ่งแวดล้อม เขาช่วยกันคิด ช่วยกันเลือก จนเหลือ 2 เรื่องคือ ศึกษาการเลี้ยงไก่พันธุ์โคราช ซึ่งเป็นไก่พันธุ์ลูกผสมที่กำลังเป็นที่นิยม กับเรื่องปลูกป่า สุดท้ายก็เลือกปลูกป่า เพราะเห็นพ้องกันว่า เป็นประโยชน์กับชุมชนมากที่สุด เป็นเรื่องที่พวกเราน่าจะทำให้สำเร็จได้ไม่ยากนัก เนื่องจากมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว” กัน เล่าเบื้องหลังความคิด

เบลล์ เล่าต่อว่า เหตุผลที่เลือกปลูกป่าที่หนองแสนแสบ เพราะข้อมูลจากการทำแผนที่ชุมชนและการลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวบ้านพบว่า หนองแสนแสบมันเป็นหนองน้ำเก่าที่ตื้นเขิน ถึงฤดูแล้งน้ำไม่พอใช้ ส่วนหน้าฝนก็เกิดภาวะน้ำท่วม ต้นปี พ.ศ. 2559 จึงมีการว่าจ้างขุดหนองแสนแสบให้ลึกขึ้น กว้างขึ้น เพื่อเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำไว้ใช้และป้องกันอุทกภัย ผลคือต้นไม้น้อยใหญ่ที่ขึ้นอยู่บริเวณรอบๆ หนองแสนแสบถูกทำลายไปเกือบหมด

การชวนเด็กมาทำงานรับใช้ชุมชน การชวนเด็กค้นหาโจทย์ที่เขาอยากทำจริงๆ นอกจากจะฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับจากการทำโครงการแล้ว การที่เด็กได้เลือกโจทย์โครงการเองยังเป็นสร้างความเป็นเจ้าของ ซึ่งจะส่งผลต่อความรับผิดชอบของทีมงาน ที่ต้องพาโครงการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อีกด้วย

ไม้ตาย...ใจเติบโต

ทีมงานนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการทำโครงการ เริ่มจากประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับรู้ ใช้วิธีบอกเล่าแบบปากต่อปาก เด็ก 5 คนกระจายตัวอยู่ทั่วหมู่บ้าน การประชาสัมพันธ์จึงได้ผล ส่วนพี่วุฒิที่คนในชุมชนยอมรับความสามารถมาช่วยพูดประชาสัมพันธ์ในเวทีประชุมหมู่บ้าน งานบุญต่างๆ และทำความเข้าใจกับคนแต่ละกลุ่มในชุมชนที่มีความขัดแย้งกันว่า โครงการนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นงานที่เยาวชนตั้งใจทำเพื่อชุมชน ทำเพื่อคนหนองแสนแสบ นอกจากนี้ยังเข้าพบผู้อำนวยการโรงเรียนประถมศึกษา เพราะอยากจะปลูกฝังให้เด็กนักเรียนได้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมแบบนี้

ส่วนวันนัดหมายปลูกป่าก็เลือกใช้วันพระ เพราะคนบ้านหนองสะมอนชอบทำบุญ ถ้าบอกว่าจะทำบุญที่ไหน คนจะมากันเยอะมาก โรงเรียนมักจะพาเด็กมาร่วมทำบุญอยู่แล้ว จึงใช้งานบุญดึงคนมาร่วมปลูกป่า

มีเด็กเยาวชนและคนในชุมชนเข้าร่วมประมาณ 40 คน ต้นไม้ 10,000 ต้นที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) และจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้เวลาปลูก 2 วันกว่าจะเสร็จ

แต่ภาพต้นไม้ 10,000 ต้นที่หวังว่าจะเติบโตให้คนในชุมชนบ้านหนองสะมอนได้ใช้ประโยชน์ หายวับในพริบตา เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ พื้นที่ปลูกป่าจมน้ำอยู่ราว 2 สัปดาห์ ชวนทรมานใจ พอน้ำลด ทีมงานทุกคนพากันไปสำรวจโดยหวังใจว่าน่าจะมีต้นไม้เหลือรอดอยู่พอสมควร

“ตายไปเยอะครับ โดยเฉพาะไม้พะยุงตายหมดเลย ที่เหลือรอดเยอะหน่อยคือต้นตะเคียนทอง” เบลล์ เล่า

พี่วุฒิ เสริมว่า เขาแอบไปสำรวจมาก่อน เห็นต้นไม้มากกว่าครึ่งที่ยังไม่ตาย และมีโอกาสรอด พอน้ำลดจึงชวนน้องๆ ไปสำรวจ รู้ว่าเขาต้องเสียใจแน่ๆ ภาพที่เห็นคือ น้องๆ เสียใจ แต่เขาไม่ท้อนะ มีการพูดคุยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เขาพูดมาคำหนึ่งว่า “แม้โครงการจบแต่พวกเราก็ยังอยู่ แม้ต้นไม้จะตายแต่เราปลูกเพิ่มทีหลังได้” พอได้ยินคำพูดนี้ทำให้เรารู้เลยว่าน้องกลุ่มนี้เติบโตขึ้นแล้ว หลังจากนั้นเมื่อมีเวลาว่างพวกเขาจะไปช่วยเพาะกล้าไม้ที่วิสาหกิจชุมชน เพื่อที่หน้าฝนปีต่อไปจะได้นำต้นไม้เหล่านี้ปลูกทดแทนต้นไม้ที่ตายไป

นอกจากเพาะกล้าไม้ทั่วไปแล้ว พี่วุฒิยังชวนเด็กๆ ปลูกไม้มะดัน สำหรับใช้ทำ “ไก่ย่างไม้มะดัน” สินค้าขึ้นชื่อของอำเภอห้วยทับทัน โดยรายได้ที่ได้รับจะนำมาใช้เป็นทุนในการเพาะกล้าไม้ไว้ปลูกในป่าข้างหนองแสนแสบต่อไป ซึ่งเหตุผลที่พี่วุฒิเสนอเช่นนี้ เพราะการปลูกไม้มะดันอยู่ในแผนพัฒนาประจำปีของชุมชนอยู่แล้ว หากให้เด็กทำตรงนี้ก็จะช่วยเสริมงานของชุมชนไปในตัว ที่สำคัญต้นมะดันเป็นไม้ที่ต้องปลูกริมน้ำ หรือในท้องร่อง มีคุณสมบัติช่วยยึดหน้าดิน ลดการชะล้างหน้าดินบริเวณหนองแสนแสบได้เป็นอย่างดี

การให้เด็กกล้าเผชิญหน้ากับความผิดหวังเรื่องกล้าไม้ตาย ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการกับความไม่สำเร็จที่พบในชีวิต และเพาะบ่มความพยายามหาทางปรับปรุงแก้ไขเพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งยังรู้จักการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง ไม่เป็นคนที่อ่อนแอแล้วยอมแพ้ไปเพราะเกิดภูมิคุ้มกันต่ออุปสรรค พร้อมที่จะเผชิญและเอาชนะทุกปัญหาในอนาคตได้

­

วัยรุ่น...วัยวุ่นวาย

เพราะเป็นวัยรุ่น เมื่อต้องมารวมกลุ่มกันทำงาน ความไม่พอใจเพื่อน ไม่ยอมเพื่อน การทะเลาะเบาะแว้งจึงเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ต้องพบเจอ

น้ำค้าง บอกว่า เรื่องที่ทำให้ทะเลาะกันมากที่สุดคือ ความไม่ตรงต่อเวลา เพราะแต่ละคนว่างไม่ตรงกัน บางคนเลิกเรียนค่ำ บางคนก็มีงานหลายอย่างที่ต้องทำ พอคนนั้นมา คนนี้ไม่มา งานก็เดินช้า เลยทะเลาะกัน

“ตอนนั้นเบลล์กับกันทะเลาะและไม่ยอมพูดกัน ช่วงนั้นใกล้ถึงงานฉายหนังโซนแล้ว ยังมีงานอีกหลายอย่างที่ยังไม่ได้ทำ ผมเลยใช้งานช่วยคลี่คลายปัญหา แบ่งงานให้เขาไปช่วยทำ ทำให้สองคนได้กลับมาคุยกันได้ในวันจัดงาน” นัน เล่าวิธีแก้ปัญหา

“รู้เลยว่าเราต้องไม่เอาอารมณ์มาก่อน ต้องมีเหตุผลในการพูดคุยกัน ไม่พูดในสิ่งที่ไม่จำเป็น ต้องเอางานของส่วนรวมมาก่อนงานส่วนตัว” เบลล์กล่าว

ขณะที่กัน บอกว่า การทำงานต้องมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกันอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะใจเย็นแล้วรับฟังเหตุผลได้มากแค่ไหน และจะรับมือกับปัญหายังไง

กระบวนการเรียนรู้จากการทำงานจริง ที่มีปัญหาอุปสรรคให้แก้ไข กระบวนการทำงานยังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ทีมงานเช่นกัน

กัน บอกว่า ก่อนนี้จะอยู่แต่ในบ้านเฉยๆ พอเรามาทำโครงการเราได้มีความใกล้ชิดกับคนในชุมชน ได้มีความสัมพันธ์กับชุมชนมากขึ้น

น้ำค้าง บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอมีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักวางแผนการทำงานโดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ ที่ต้องมีวิธีพูดให้ผู้เฒ่าผู้แก่และคนในชุมชนเข้าใจการทำโครงการของพวกเรา

นัน บอกว่า โครงการนี้ทำให้เขามีเป้าหมายในชีวิตว่าโตขึ้นอยากเป็นเกษตรกรที่ทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเต็มตัว

ขณะที่เบลล์ บอกว่า โครงการนี้ทำให้เขากล้าพูด กล้าคิด กล้าทำ รู้ตัวเองว่าอยากเรียนพัฒนาสังคมเพื่อจะได้กลับมาช่วยพัฒนาหมู่บ้านเรา

ณ วันนี้จากสิ่งที่พี่วุฒิคิดและวางแผนไว้ ค่อยๆ ชักชวนให้เด็กเยาวชนเข้ามาทำงานเพื่อชุมชน เพื่อปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความรักต่อแผ่นดินถิ่นเกิดเป็นจริงขึ้นแล้ว การทำงานโครงการยังช่วยฝึกประสบการณ์ตรงให้พวกเขาได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม รู้จักเผชิญหน้ากับความล้มเหลว และความยากลำบากที่กลายเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเขาพร้อมที่จะรับมือกับปัญหานานาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


โครงการยุวชนอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าหนองแสนแสบ

ที่ปรึกษาโครงการ : ศราวุฒิ ยงกุล

ทีมงาน :

  • สุกัญญา ลิ้นนิยม 
  • ชินกร มียิ่ง
  • อมรรัตน์ บุญท่วม 
  • พินิทนันท์ สุทธิ์สน
  • ราตรีชล ทำมา