การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาการจัดการน้ำในชุมชนบ้านฟ้าผ่าสามัคคี จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

การทำงานเป็นทีม คือ ทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่สังคมไทยต้องการ เพราะผลลัพธ์ของการทำงานรูปแบบนี้นอกจากงานจะประสบผลสำเร็จ ตัวคนทำงานเองก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วย การเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม เป็นประสบการณ์ตรงให้เด็กเยาวชนกล้าเผชิญกับความล้มเหลวหรือความยากลำบากแล้ว ยังฝึกให้เด็กรู้จักค้นคว้าหาความรู้มาใช้ในการทำงาน ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกความอดทน รู้จักการแบ่งบทบาทหน้าที่ การช่วยเหลือเพื่อน การรับฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยพัฒนาวุฒิภาวะของเด็กเยาวชนให้เติบโตขึ้น และมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อไปในอนาคต


บทเรียนที่ชื่อว่า “ทีม”

ใครๆ ก็คงเคยทำงานคนเดียว และการทำงานบางอย่างก็สามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้ด้วยคนเพียงคนเดียวได้ แต่การทำงานบางอย่างก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนอื่น หรือช่วยกันทำเป็นทีม เพื่อใช้ศักยภาพที่แตกต่างกันของแต่ละคนมาช่วยกันทำให้งานไปถึงเป้าหมาย หรือริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา นอกจากการทำงานเป็นทีมจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของชิ้นงานแล้ว ยังช่วยสร้างการเรียนรู้หลายอย่างให้ตัวคนทำงานด้วย เหมือนกับการ์ตูน-จิตรกัญญา จันโสดา เบล-ธนัชพร จันทร์โสดา แพรว-ปณิดา นิดทัย และต้าร์-สุกัญญา ไชยบำรุง กลุ่มเยาวชนจากบ้านฟ้าผ่า ตำบาลหนองห้าง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ที่ได้ผ่านบทเรียนร่วมกันจากการทำงานเป็นทีม


โจทย์ชุมชนคือจุดเริ่มต้น

พวกเธอได้รู้จักกับโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษจากการแนะนำของ พี่แล-สิดาวรรณ ไชยภา พี่เลี้ยงกลุ่มทอผ้าไหมบ้านขี้นาค เห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้พัฒนาความสามารถเหมือนเพื่อนๆ ที่บ้านขี้นาค แม้ขณะนั้นจะยังไม่ชัดเจนว่าอยากทำอะไร แต่เมื่อพี่มวล-ประมวล ดวงนิล และพี่ติ๊ก-ปราณี ระงับภัย ได้ชวนคิดชวนคุยถึงทุกข์และทุนในชุมชน ทีมงานก็ตระหนักว่าปัญหา “น้ำไม่สะอาด” น่าจะเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อคนในหมู่บ้านมากที่สุด จึงคิดทำโครงการน้ำประปาใสแรงใจฟ้าผ่าสามัคคี

“ก่อนหน้าจะเริ่มทำโครงการไม่นาน น้ำใช้ในชุมชนของเราที่เคยใสก็กลายเป็นสีเหลือง และมีฝุ่นปนอยู่ ซักผ้าไม่สะอาด ล้างจานก็มีฝุ่นติด ตื่นเข้ามาไม่ค่อยกล้าอาบน้ำไปโรงเรียน เพราะอาบแล้วคันตัวมาก” ทีมงานเล่า

หลังจากได้โจทย์โครงการ ทีมงานจึงไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับผู้ใหญ่บ้านฤทธิ์ นุศรีจันทร์ จนรู้สาเหตุว่า เกิดจากเครื่องกรองน้ำของชุมชนที่ใช้งานมา 10 กว่าปีเสื่อมประสิทธิภาพ ทีมงานจึงได้ไปดูกระบวนการทำงานของเครื่องกรองน้ำและแหล่งที่มาของน้ำ เพื่อพิสูจน์สาเหตุของปัญหาด้วยตัวเอง พบว่า น้ำที่ใช้ภายในหมู่บ้านนำมาจากหนองน้ำในวัด ซึ่งเป็นน้ำผิวดินที่มีสิ่งปนเปื้อนเยอะ เมื่อกรองน้ำนานวันเข้า จึงทำให้เครื่องกรองเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกจากการกรองและตะไคร่น้ำ ส่วนตามท่อหรือจุดต่างๆ ที่เป็นโลหะก็เกิดสนิม

เมื่อรู้สาเหตุแน่ชัดแล้ว ทีมงานจึงระดมความคิดร่วมกับผู้ใหญ่บ้านเพื่อหาทางออก จนได้แนวทางว่าจะซื้อสารส้มและคลอรีนมาใส่ เพื่อให้สิ่งสกปรกในน้ำตกตะกอนและฆ่าเชื้อโรค แต่ก่อนใส่สารต้องทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำก่อน ทีมงานจึงประสานงานให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อหาอาสาสมัครมาทำความสะอาดร่วมกันในเวทีประชุมประจำเดือน และฝากให้ผู้ใหญ่บ้านช่วยซื้อสารส้มและคลอรีนสำหรับใส่น้ำ

เมื่อถึงวันนัดหมายล้างบ่อ มีชาวบ้านมาเข้าร่วมประมาณ 15 คน ใช้เวลาเพียง 1 วันความสกปรกที่เกรอะกรังเครื่องกรองน้ำประจำหมู่บ้านก็หายไป ทีมงานและชาวบ้านร่วมกันใส่สารส้มและคลอรีน พร้อมความหวังว่าพวกเขาจะไม่ต้องเจอน้ำไม่สะอาดอีก

3 วันผ่านไป น้ำที่ใสก็กลับมาขุ่นอีกครั้ง แม้รู้สึกผิดหวังที่อุตส่าห์ทุ่มเท แต่ทีมงานก็ไม่ยอมแพ้ ลงมือหาสาเหตุอีกครั้งจนพบว่า ไส้กรองน้ำที่ทำจากทราย หิน และอีกหลายอย่างเสื่อมสภาพ ดูแทบไม่ออกว่าเคยเป็นอะไรมาก่อน ทีมงานกลับมาประชุมและเห็นร่วมกันว่า พวกเธอต้องศึกษาส่วนประกอบและสัดส่วนของไส้กรองน้ำ ขณะเดียวกันก็เริ่มไปศึกษาเครื่องกรองน้ำจากหมู่บ้านอื่น เพื่อเก็บเป็นข้อมูลสำหรับหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องน้ำในชุมชนอย่างยั่งยืน

­

รวมความต่าง...สร้างความเป็นทีม

แม้ผลของโครงการจะเดินไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่กระบวนการทำงานก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทีมงานไม่น้อย และยังทำให้พวกเธอค้นพบความหมายของการทำงานเป็นทีมจากการลงมือทำจริง

การ์ตูนบอกว่า เมื่อก่อนเธอมักอยู่บ้านเฉยๆ จนถูกแม่ตำหนิบ่อยๆ พอมาเข้าโครงการนี้เป็นการเปิดโลกอีกมุมให้เธอ อะไรที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ อะไรที่ไม่เคยทำก็ได้ทำ ทั้งการทำสื่อ การหาข้อมูล การแสดงความคิดเห็น การวางแผน แต่สิ่งที่เธอชอบมากที่สุด คือการได้รู้จักลุงป้าน้าอาในชุมชน จากเคยเดินสวนกัน กลายเป็นความสนิทสนม

ด้านเบลล์ เล่าว่า เธอเห็นตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อก่อนไม่ค่อยคิด ไม่ค่อยพูด ตอนนี้กลับรู้จักคิดวางแผน แก้ปัญหา และกล้าแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญที่สุดคือกลายเป็นคนที่มองความยากเป็นความท้าทาย ที่เกิดจากตอนที่เธอต้องรับหน้าที่เป็นตัวหลักในการถ่ายทำวิดีโอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่รู้สึกสนุกจึงพยายามทำจนสำเร็จ

ส่วนต้าร์ ออกตัวอย่างเสียใจว่ายังทำงานออกมาได้ไม่ค่อยดี เพราะไม่รู้มุมถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอมากพอ แต่ทันทีที่ต้าร์พูดจบ พี่ๆ กลับให้กำลังใจว่า เธอช่วยทีมเยอะมาก ช่วยคิด ช่วยทำทุกอย่าง และมักมีความคิดดีๆ มาเสนอ บางครั้งพี่ใหญ่อย่างการ์ตูนคิดอะไรไม่ออก ต้าร์ก็มีแนวทางมาเสนอให้การทำงานของทีมเดินต่อได้

ขณะที่แพรวก็บอกว่าเธอเคยรู้สึกเหมือนเป็น “ตัวถ่วง” ของทีม “เราไม่ได้ไปร่วมเวทีเวิร์คช็อปทำสื่อ เพราะทางบ้านไม่อนุญาต เลยไม่ได้ไปช่วยพี่เขา จนรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวถ่วงของทีม แต่ก็ผ่านจุดนั้นมาได้เพราะพี่ๆ ให้กำลังใจว่า เราอยู่ทางนี้ก็ช่วยถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอส่งให้พี่ได้ พี่เขาขออะไรมา เราก็ไปช่วยถ่ายให้ เลยรู้สึกดีขึ้น”

กระบวนการทำงานของ 4 สาวจึงเป็นการ “เคารพ” ซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องทำด้วยกันทุกกิจกรรม เพราะแต่ละคนต่างมีบทบาทหน้าที่อื่นๆ และมีศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน แต่การตัดสินใจทุกครั้งก็ต้องผ่าน “มติกลุ่ม” ทีมงานบอกว่าพวกเธอค่อนข้างยึดหลัก “ประชาธิปไตย” ในการทำงานมาก ทุกคนจะช่วยกันคิด เปิดโอกาสให้ทุกคนพูด ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอไหน ก็ทำตามข้อเสนอนั้น แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ใช้วิธีพูดคุยแล้วหาทางออกที่ดีที่สุดต่อไป

การ์ตูนบอกว่า แม้เธอจะเป็นพี่และเป็นหัวหน้า แต่ถ้าข้อเสนอของเธอไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกคนอื่นในทีม ข้อเสนอก็ตกไป ซึ่งเธอก็ยอมรับ เพราะตระหนักว่าการทำงานในโครงการนี้ต้องอาศัยแรงของทุกคนช่วยกัน แค่เธอเพียงคนเดียวไม่อาจพาโครงการไปถึงเป้าหมายได้

การเรียนรู้ของทีมงานเป็น “กระบวนการเรียนรู้ที่จริงแท้” (Authentic Learning) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่พวกเธอลงมือทำผ่านโครงการ แล้วได้รับประสบการณ์ตรงในการเผชิญกับความล้มเหลวหรือความยากลำบาก มีการค้นคว้าหาความรู้มาใช้ในการทำงาน เพื่อหาทางปรับปรุงวิธีทำงาน ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกความอดทน ที่สำคัญคือได้ฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งการแบ่งหน้าที่ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันในหมู่เพื่อน เอื้อเฟื้อออกไปสู่ชุมชน และอาจกลายเป็นการเอื้อเฟื้อต่อโลกที่กว้างขึ้นในวันข้างหน้าด้วย

­

ความหวังของบ้านเกิด

นอกจากได้เรียนรู้จนเกิดความเปลี่ยนแปลงกับตัวเองแล้ว ทีมงามบอกว่าความสัมพันธ์ของทีมก็เปลี่ยนไปด้วย การ์ตูนกับแพรวที่เดิมเคยเป็นเพื่อนเล่นกันมา ก็ได้รู้จักตัวตนของกันและกันมากขึ้นในบทบาทเพื่อนร่วมงาน

เบลล์ที่เคยเป็นคนนิ่งๆ กลายเป็นสาวน้อยผู้ร่าเริงเวลาอยู่กับเพื่อน

ส่วนต้าร์น้องเล็กของทีมที่เดิมแทบไม่เคยคุยกับพี่ๆ ก็ได้มีเพื่อนรุ่นพี่เพิ่มอีก 3 คน

ทั้งหมดนี้กำลังบ่งบอกถึง “สายสัมพันธ์” ของคนบ้านเดียวกันที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันในกลุ่ม ซึ่งคาดหวังได้ว่าอาจจะงอกงามต่อไปเป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและช่วยกันดูแลบ้านเกิด ไม่เกิดภาวะต่างคนต่างอยู่ ดังเช่นที่หลายสังคมกำลังประสบ เพราะความห่างของคนวัยเดียวกัน จากการออกไปเรียน หรือไปทำงานนอกพื้นที่

ผู้ใหญ่บ้านฤทธิ์ นุศรีจันทร์ และ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพัฒน์ โคตพันธ์ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ภูมิใจที่เยาวชนในชุมชนที่เห็นมาแต่อ้อนแต่ออกลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาของชุมชน ขณะเดียวกันก็เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านความกล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าพูด ที่ทำให้พวกเขาพอมีความหวังว่าจะมีคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาดูแลชุมชนต่อจากรุ่นพวกเขา

กระบวนการทำงานเป็นทีมเป็นบทเรียนสำคัญที่ควรฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะภายใต้การฝึกทำงานเป็นทีมได้ซุกซ่อนการฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับเด็กเยาวชนไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกล้าแสดงความคิดเห็น การรับฟังและเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งจะช่วยพัฒนาวุฒิภาวะของเด็กเยาวชนให้เติบโตขึ้น และมีภูมิคุ้มกันที่ดีเมื่อต้องไปใช้ชีวิตในอนาคตต่อไป


โครงการประปาน้ำใสแรงใจฟ้าฝ่าสามัคคี

พี่เลี้ยงชุมชน : ประจักษ์ สุทโท

ทีมงาน :

  • จิตรกัญญา จันโสดา 
  • ธนัชพร จันทร์โสดา
  • ปณิดา นิดทัย 
  • สุกัญญา ไชยบำรุง