การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากทางมะพร้าว จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3


การชวนเด็กทำงานสร้างสรรค์และรับใช้สังคม เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ฝึกความอดทน เรียนรู้ที่จะเผชิญกับความยากลำบาก ดังเช่น หมู-รัชชานนท์ แสงมาส ที่ได้รับการชักชวนให้มาทำกิจกรรมดีเพื่อชุมชน จนสามารถก้าวข้ามความกลัวของตนเอง กลายเป็นคนกล้าพูด กล้าคิด มีความรับผิดชอบ และลุกขึ้นมาเอาธุระกับแผ่นดินถิ่นเกิด

ฝึกเด็กทำงานรับใช้สังคม

“วัยรุ่น” วัยที่ต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ เพื่อน และสังคม บางคนพยายามร่ำเรียนให้ได้เกรดดี บางคนคิดทำกิจกรรมดีที่สร้างสรรค์เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ขณะที่บางคนพยายามเรียกร้องความสนใจผ่านการแต่งกาย หรือการแว้นกวนเมือง เพราะคิดว่ายิ่งคนมองตามมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นตัวชี้วัดว่าเขาเป็นที่ยอมรับ เช่นเดียวกับ หมู-รัชชานนท์ แสงมาส ที่เคยพยายามสร้างการยอมรับกับชุมชนด้วยวิธีการข้างต้นมาก่อน แต่เพราะมีโอกาสได้รู้จักกับโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปี 3 ทำให้เขาค้นพบวิธีการสร้างการยอมรับแบบใหม่ที่นอกจากพ่อแม่ คนในชุมชน และเพื่อนยอมรับในความสามารถของเขาแล้ว ยังทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเองอีกด้วย

คนดังหลังแฮนด์

“แต่ก่อนคนในชุมชนรู้จักผมในฐานะคนดังนะ” หมู แกนนำเยาวชนวัย 20 ปี พูดติดตลก ก่อนเล่าต่อว่า “ท่อรถนะครับที่เสียงดัง ดึกดื่นผมไม่ยอมหลับยอมนอน เที่ยงคืนยังแว้นรถอยู่เลย จนคนในหมู่บ้านจำเสียงท่อรถผมได้หมด”

หลังจากแว้นรถส่งเสียงดังจนชื่อเสียงโด่งดัง เส้นทางชีวิตของหมูก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อพี่แล-สิดาวรรณ ไชยภา ที่ปรึกษาโครงการในพื้นที่ปรางค์กู่ และ พี่จิ๋ว-เพ็ญศรี ชิตบุตร ทีมโคช ชักชวนหมูเข้าร่วมโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปี 3 ด้วยเหตุผลที่ว่า หมู่ 1 เป็นบ้านที่ใหญ่ที่สุดในตำบลสวาย แต่กลับไม่มีเยาวชนทำโครงการเพื่อชุมชนเลย คำชักชวนดังกล่าวจุดประกายให้หมูอยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อชุมชนตัวเองบ้าง ตอนนั้นคิดง่ายๆ คือ “บ้านอื่นเขายังทำได้...ทำไมเราจะทำไม่ได้” หมูจึงเริ่มชักชวนรุ่นน้องในหมู่บ้านประกอบด้วย เกษ-พิชชาภรณ์ สินสุพรรณ์ ฟ้า-ศุภิสรา บัญชเมฆ ปีโป้-จุฬารัตน์ แสงมาศ และ นงค์-จีรภิญญา งามนัก เข้ามาทำโครงการศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากทางมะพร้าว เพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชนของตนเองที่เริ่มขาดคนสานต่อ

แม้มีใจอยากทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเกิด แต่ด้วยข้อจำกัดของระยะทางของการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งที่อยู่ในตัวจังหวัด เป็นอุปสรรคทำให้เพื่อนร่วมทีมไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกคน หมูที่เป็นพี่โตสุดและเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนให้น้องเข้าร่วมโครงการ จึงรับผิดชอบเข้าร่วมกิจกรรม นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมดมาถ่ายทอดให้น้องๆ ต่อไป

หมู เล่าบรรยากาศให้ฟังว่า มาคนเดียวเหงามาก ทำตัวไม่ถูก โครงการอื่นเขาไปกันครบทีม เรามีคนเดียว สิ่งที่ทำได้ตอนนั้นเลือกนั่งอยู่หลังสุด เพราะไม่อยากจับไมค์ กลัวมาก เราไม่มีเพื่อนช่วยคิดเลย แต่เมื่อได้เข้าร่วมเวที บ่อยๆ ทำให้ได้ฝึกพูด ฝึกนำเสนอ จึงก้าวข้ามความกลัวที่มีอยู่ในใจได้ จากที่เคยนั่งอยู่หลังสุดก็เริ่มขยับเข้ามากลางวง จากที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นก็เริ่มแลกเปลี่ยนกับเพื่อนกลุ่มอื่น จนหลังๆ หมูเริ่มขยับมานั่งหน้าเวที กล้าจับไมค์นำเสนองานได้อย่างไม่เขินอาย เมื่อความมั่นใจในตัวเองเริ่มฉายแวว หมูจึงอาสาเข้าร่วมเวทีทุกครั้ง เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้น้องๆ ที่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ต่อไป

­

ความรับผิดชอบ...ที่แตกต่าง

ถึงแม้จะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของเวทีกลางกับหมู แต่ เกษ ฟ้า ปีโป้ และนงค์ก็ขันอาสารับผิดชอบดูแลฐานปฏิบัติการในชุมชนอย่างดีที่สุด เริ่มจากการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับผู้รู้ในชุมชนถึงที่มาที่ไปของการทำโครงการ สอบถามความสมัครใจและวันว่างของผู้รู้เพื่อนัดแนะวันเวลาทำกิจกรรม โดยออกแบบการเรียนรู้เป็น 2 เรื่องคือ ไม้กวาดทางมะพร้าวที่มีลุงสำราญ บุญเสริม เป็นวิทยากร ส่วนตะกร้าจากทางมะพร้าวมีลุงบุญมี คำเสียง และป้านวนันท์ วิทยาสิงห์ เป็นผู้ให้ความรู้ ใช้ศาลากลางหมู่บ้านเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม

เกษ บอกว่า ทีมเตรียมความพร้อมด้วยการลงพื้นที่ไปเรียนรู้ขั้นตอนวิธีการทำกับผู้รู้อย่างละเอียด คิดว่าอย่างน้อยถ้าเราทำเป็น เวลาที่น้องสงสัยจะได้ตอบน้องได้ แต่ถ้าเรื่องไหนที่เราไม่รู้จริงๆ ค่อยให้ผู้รู้เข้ามาช่วย

ทุกคนใช้ศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่ดึงน้องๆ เข้าร่วมกิจกรรมเต็มที่ ปีโป้ที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ของทีม ใช้เสียงตามสายของชุมชนช่วยกระจายข่าวชักชวนให้น้องๆ เข้าร่วมกิจกรรม ด้านเกษที่รู้จักกับคนในชุมชนเยอะก็ใช้วิธีปากต่อปาก บอกเล่ารายละเอียดของกิจกรรม ทำให้มีคนมาเข้าร่วมมากถึง 70 คน

หมู เสริมต่อว่า เกษเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนมากกว่าคนอื่นๆ ในทีม จึงได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมทำหน้าที่บริหารจัดการงานทั้งหมด ส่วนตนจะคอยช่วยเหลือน้องตามกำลังความสามารถที่จะทำได้

กระบวนการทำงานของเยาวชนกลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงการไม่นิ่งดูดายปล่อยให้หมูรับผิดชอบงานอยู่คนเดียว แต่ทีมงานทุกคนอาสาเข้ามารับผิดชอบงานในพื้นที่แทน ใช้ศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่มาช่วยเสริมทีม ส่งผลให้การทำโครงการเดินหน้าได้ด้วยดี

­

เปลี่ยนวิกฤติโอกาส

เมื่อประสบความสำเร็จกับการจัดกิจกรรมเรียนรู้การจักสาน ทีมโคชสร้างเงื่อนไขให้ทีมงานพิสูจน์ฝีมืออีกครั้งในเวทีสัญจรเรียนรู้ข้ามโซน ที่เป็นเครื่องพิสูจน์การทำงานของทีมได้เป็นอย่างดี จากกิจกรรมเล็กๆ ที่จัดขึ้นในชุมชนเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เพราะมีเพื่อนๆ จากโครงการอื่นมาร่วมเรียนรู้ด้วย ทางมะพร้าว 15 กิโลกรัมถูกเตรียมไว้สำหรับทำตะกร้ากับไม้กวาดทางมะพร้าวให้คนเข้าร่วมประมาณ 40 คน แต่มาเข้าจริง ๆ เกือบ 70 คน ทีมงานยอมรับว่าค่อนข้างตื่นเต้นและตกใจพอสมควรกับจำนวนคนเข้าร่วมที่มากขนาดนี้ ทีมแก้ปัญหาคัดก้านที่ไม่สวยหรือสั้นแยกไว้สำหรับทำไม้กวาด ก้านไหนที่สวยและยาวแยกไว้สำหรับทำตะกร้า และปรับแผนการสอนทำตะกร้าใหม่ แทนที่จะทำตะกร้าเต็มใบก็เปลี่ยนเป็นการขึ้นรูปตะกร้าแทน หลังจบกิจกรรมก็มอบตะกร้าให้เป็นที่ระลึก เพื่อให้ทุกคนกลับไปทำต่อที่บ้าน

หลังจบกิจกรรมพี่จิ๋วชวนทีมงานถอดบทเรียนเพื่อทบทวนการทำงานของตัวเอง ซึ่งทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นช่วงเวลาของความสุข ถึงแม้จะมีปัญหาให้ต้องแก้ไขก็ตาม

ดูเหมือนทุกอย่างกำลังไปได้สวย แต่เรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเกษแกนนำหลักของทีมต้องย้ายไปทำงานที่จังหวัดชลบุรี ทำให้สมาชิกที่เหลือรู้สึกใจหาย “เราทำกิจกรรมด้วยกันตลอด แม้จะเข้าใจในเหตุผลของน้อง แต่ก็เชื่อมั่นว่า เขาจะไม่ทิ้งงาน เขาก็สัญญากับเราด้วยว่าจะกลับมาช่วยกันทำโครงการให้เสร็จ ใช้ใจวัดใจ ซึ่งเกษก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ กลับมาช่วยทีมทำงานในมหกรรมหนังกลางแปลง “พลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิด” หมู เล่าความรู้สึก

เหตุการณ์นี้ทำให้หมูต้องก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ในฐานะพี่ที่โตสุดจากที่เคยทำงานอยู่เบื้องหลัง คอยสนับสนุนการทำงานของทีม ก็ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อพาทีมไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ นอกจากภาวะผู้นำเพิ่มขึ้นแล้ว ทักษะการพูด การคิด และการวางแผนการทำงานคือสิ่งที่หมูได้จากการทำโครงการนี้ จากที่ไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลย แว้นรถไปวันๆ ก็กลายเป็นคนรับผิดชอบมากขึ้น ลุกจากที่นอนออกมาช่วยงานชุมชน จนคนในชุมชนเริ่มหันมายอมรับตัวตนของเขา โดยไม่ต้องใช้เสียงแว้นรถสร้างความสนใจอีกต่อไป

เพราะได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีที่มองเห็นศักยภาพ ผนวกความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าที่จะยอมก้าวออกมาจากพื้นที่เดิมๆ ทำให้หมูค้นพบศักยภาพของตัวองที่มีมากกว่าการเป็นนักบิดประจำหมู่บ้าน ก้าวขึ้นมาเป็นเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษที่ชาวบ้านในชุมชนบ้านสวายต่างพูดถึง มาวันนี้หมูเข้าใจแล้วว่าการเป็นคนดังไม่จำเป็นต้องอยู่หลังแฮนด์อีกต่อไป ขอแค่คิดดี ทำดีเพื่อชุมชนและตนเอง ก็เป็นคนดังในแบบฉบับของพลเมืองดีได้เช่นกัน


โครงการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการใช้ประโยชน์จากทางมะพร้าว

ที่ปรึกษาโครงการ : สันติสุข บุญเสริม

ทีมงาน : 

  • รัชชานนท์ แสงมาศ
  • พิชชาภรณ์ สินสุพรรณ์
  • ศุภิสรา บัญชเมฆ
  • จุฬารัตน์ แสงมาศ
  • จีรภิญญา งามนัก