การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน “การขับซอล่องน่าน” จังหวัดน่าน ปี 3

ปิรามิดการเรียนรู้ ระบุว่า การได้สอนผู้อื่น เช่น การติว หรือการสอน จะช่วยให้มนุษย์จดจำได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การเรียนในห้องเรียนจำได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ การอ่าน 10 เปอร์เซ็นต์ การฟังและได้เห็น 20 เปอร์เซ็นต์ การได้เห็นตัวอย่างจำได้ 30 เปอร์เซ็นต์ การได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกันจำได้ 50 เปอร์เซ็นต์ และการได้ทดลองปฏิบัติเอง จะจำได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ดังตัวอย่างของคำไทด์-อภิรัตน์ รัตนศิลา ที่มีโอกาสถ่ายทอดความรู้เรื่องสะล้อ ซอ ปินให้แก่น้องๆ เยาวชน จนเขาเกิดความชำนาญมากยิ่งขึ้น

ยิ่งสอน...ยิ่งเก่ง

เพราะหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเสียงซอ เมื่อสบโอกาสที่ได้ถ่ายทอดคุณค่าของศิลปะแขนงนี้สู่เยาวชนเมืองน่าน คำไทด์-อภิรัตน์ รัตนศิลา จึงนำแนวคิดที่พ่อครูคำผาย นุปิง ศิลปินพื้นบ้านเจ้าของคณะวงคำผาย ที่เคยฝึกสอนเขาขับซอมาใช้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้

ก่อนเสียงซอจะหายไป...

แม้เริ่มต้นจะไม่ได้ชื่นชอบการขับซอ แต่ด้วยใจรักในเสียงดนตรี เมื่อถูกชักชวนจากพ่อครูคำผาย คำไทด์จึงฝากตัวเป็นศิษย์เรียนรู้การขับซอ เพื่อเป็นช่องทางไปสู่การเรียนรู้เครื่องดนตรีอื่นๆ แต่เพราะบทขับซอมีสำนวนภาษาอันไพเราะ สละสลวย รวมกับการฝึกฝนทุกวันโดยไม่ย่อท้อ ประกอบกับพรสวรรค์ของเส้นเสียงที่กว้าง ทำให้คำไทด์สามารถร้องเสียงต่ำสูงได้ดี ไม่ว่าจะร้องโน้ตระดับไหน เสียงของคำไทด์ยิ่งทำให้โน๊ตนั้นมีน้ำหนักและมีพลังยิ่งขึ้น ทำให้คำไทด์เรียนรู้ได้เร็ว สามารถจำบทขับซอยาว ๆ ได้แม่นทุกคำ จนกลายเป็นชื่นชอบการขับซอในที่สุด

เมื่อเรียนรู้การขับซอจนรักและเชี่ยวชาญ คำไทด์จึงอยากถ่ายทอดความรู้เรื่องการขับซอให้อยู่คู่เมืองน่านตลอดไป จึงชวนก๊วนเพื่อนที่รักในเสียงดนตรีแบบล้านนา คือ ไอโฟน-วีรภัทร หมื่นคำสี และบาส-ภาณุวิชญ์ งานคำอ้ายเข้ามาทำโครงการสืบฮีต สานฮอย การแสดงพื้นบ้านตำนาน “ขับซอล่องน่าน” (สะล้อ ซอ ปิน)

แกนนำจึงเริ่มต้นทำงานด้วยการรวบรวมกลุ่มเยาวชนที่เป็นศิลปินพื้นบ้านทั้งช่างซอ ช่างปิน ช่างสะล้อ และช่างฟ้อนแง้น เข้ามาเป็นทีมงาน จากนั้นจึงลงพื้นที่ไปยังอำเภอเมืองน่าน อำเภอภูเพียง และอำเภอเวียงสา จากคำแนะนำของครูพูนทรัพย์ รัตนศิลา ที่ปรึกษาโครงการ เพื่อขอคำปรึกษาและหาข้อมูลจากพ่อครูแม่ครูที่มีประสบการณ์ในด้านขับซอ ด้านดนตรี และด้านฟ้อนแง้นโดยเฉพาะ ซึ่งเหตุผลที่ต้องลงพื้นที่หาข้อมูล เพราะยังมีเทคนิคบางอย่างที่ทีมไม่รู้ เช่น ฉันทลักษณ์คำไหนเอื้อนเสียงตรงไหน การเล่นดนตรีต้องวางนิ้วอย่างไร ฟ้อนแง้น

อย่างไรให้สวย รวมถึงไปศึกษาค้นคว้างานวิจัยเรื่องขับซอล่องน่าน: พลวัตการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม ของเพลงพื้นบ้านไทยภาคเหนือ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนำมาใช้ออกแบบแผนการสอน ทั้งสื่อวิดีโอการแสดงและแบบฝึกหัด

เรียนรู้+ลงมือทำ=ชำนาญ

ทีมงานวางแผนถ่ายทอดความรู้ให้โรงเรียน 4 แห่ง คือ ระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนสตรีศรีน่าน และโรงเรียนตาลชุมมิตรภาพที่ 186 และระดับประถมศึกษา โรงเรียนบ้านนาผา และโรงเรียนบ้านซาวหลวง ในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สำหรับกระบวนการเรียนรู้ ทีมงานออกแบบให้น้องเรียนคละชั้นกัน โดนเด็กประถมศึกษาจะมีสันทนาการเยอะหน่อย ส่วนมัธยมศึกษาเน้นด้านวิชาการ ทำแบบฝึกหัด ซึ่งระหว่างสอน ทีมจะคอยสังเกตว่า เด็กชอบอะไร ทำอะไรได้ดีที่สุด หลังสอนเสร็จทีมงานต้องกลับมาถอดบทเรียนกันทุกครั้ง เพื่อปรับปรุงแผนการสอนให้น้องได้รับความรู้เต็มที่ หากน้องคนไหนสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม ตอนเย็นหรือวันเสาร์อาทิตย์สามารถมาเรียนเสริมได้ที่บ้านของคำไทด์

กระบวนการที่ทีมงานนำมาใช้สอนในหลักสูตร มี 4 ขั้นตอน ได้แก่ ดูวิดีโอ ทำความเข้าใจ สาธิต และปฏิบัติจริง โดยใช้ PDCA หรือวงจรการบริหารงานคุณภาพ ได้แก่ Plan (วางแผน), Do (ปฏิบัติ), Check (ตรวจสอบ) และ Act (การดำเนินการให้เหมาะสม) เข้ามาใช้ เมื่อการเรียนการสอนเสร็จสิ้น จะเปิดพื้นที่ให้น้องๆ ไปแสดงในงานต่างๆ โดยคำไทด์ให้เหตุผลว่า ประสบการณ์จริงจะทำให้น้องเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ซึ่งคล้าย ๆ กับการสอนของพ่อครูคำผาย ที่ใช้วิธีสอนแบบมุขปาฐะ ซึ่งเป็นการร้องต่อกันโดยไม่มีตำราเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีโน๊ตเทียบโด เร มี เหมือนการเรียนการสอนตามโรงเรียนสอนร้องเพลงทั่วไป เป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ใช้ความจำ ความรู้สึก และความคุ้นเคยกับบทซอเท่านั้น

เช่นเดียวเครื่องดนตรีสะล้อ ปิน ที่เล่นคู่ไปกับการขับซอ จะมีโน้ตเสียงและความพริ้วไหวที่ต่างกัน ดังนั้นช่างซอ ช่างดนตรี และช่างฟ้อน ต้องอาศัยจังหวะรับส่งกันในทีมที่สอดรับกันอย่างต่อเนื่องจะเพิ่มความสนุกแก่คนดูมากขึ้น

เรียนรู้ เข้าใจและยอมเปลี่ยนตัวเอง

การได้สอนคนอื่นยิ่งทำให้ทีมงานเรียนรู้เทคนิคการเล่นสะล้อ ซอ ปิน เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น การเปลี่ยนจากผู้รับความรู้มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทำให้ทีมต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง จากที่เคยคบกันแบบผิวเผินตามงานแสดง ก็เปลี่ยนมารู้จักรู้ใจกันมากขึ้น

ไอโฟน บอกว่า เมื่อก่อนเที่ยวเล่นไปวัน ๆ การเข้ามาทำโครงการทำให้เขาแบ่งเวลาได้ดีขึ้น ทั้งงานโครงการ การเรียน การแสดง มีความรับผิดชอบมากขึ้น การได้ไปสอนเด็กในโรงเรียนยิ่งทำให้เขามีความรู้ มีเทคนิคในการเล่นมากขึ้น เหมือนได้ทบทวนไปในตัว

ส่วนบาสยอมรับว่า เมื่อก่อนเป็นคนขี้หงุดหงิด แต่เมื่อต้องมาสอนน้องๆ ในโรงเรียน จึงต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ใจเย็นขึ้น อดทนมากขึ้น แม้แรกๆ ต้องฝืนตัวเอง แต่เมื่อฝึกฝนบ่อยๆ ก็ทำได้

“รู้ว่าถ้าใจร้อนหรือขี้หงุดหงิดน้อง ๆ จะไม่เข้าหาเรา เราก็สอนน้องไม่ได้ ความรู้หรือทักษะที่ตั้งใจจะมาถ่ายทอดให้น้องก็จะได้รับไม่เต็มที่” บาสให้เหตุผล

เช่นเดียวกับคำไทด์ ที่บอกว่าแม้เขาจะเป็นคนกล้าแสดงออกและมีภาวะผู้นำ แต่เขาก็รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการทำโครงการนี้คือ การทำงานเป็นทีม และการเปิดโอกาสให้เพื่อนคนอื่นเข้ามามีบทบาทไปด้วยกัน

“เมื่อก่อนผมเคยทำงานในสภาเด็ก เป็นคนพูดเก่ง กล้าแสดงออกอยู่แล้ว พอมาทำงานในโครงการนี้ ทำให้ผมรู้ว่าเราควรแบ่งปันโอกาสให้คนอื่นได้แสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นบ้าง ทุกคนในทีมต้องเก่งไปด้วยกันการทำงานจึงจะสำเร็จ ถ้าเก่งอยู่คนเดียวทีมก็ไปไม่รอด”

หยัดยืนสืบสานศิลปะขับซอล่องน่าน

ปัจจุบันทีมงานยังคงฝึกฝนและศึกษาเทคนิคลูกเล่นการขับซอเป็นประจำ เพื่อพัฒนาทักษะ ลูกเล่นการขับซอที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และไว้ใช้ประกอบอาชีพในอนาคต

“แม้ว่าเราจะมีความรู้และประสบการณ์แล้ว เรายังคงต้องขวนขวายทักษะจากการเล่นในแต่ละเวทีที่มีไม่เหมือนกัน ตอนนี้สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเล่นให้ผู้เฒ่าผู้แก่ฟังก็ยังคงทำนองเดิมเนื้อหาเดิม แต่ถ้ามีวัยรุ่นมาดูด้วยเราก็จะใช้คำที่เขาสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ด้วย ผมมองว่าถ้าศิลปะขับซอหายไป แล้วเมืองน่านจะมีอะไรเป็นเอกลักษณ์เหมือนขาดองค์ประกอบ เสมือนวัดไม่มีตุ๊เจ้า มาเมืองน่านก็ต้องมาฟังขับซอล่องน่าน” คำไทด์ สะท้อน

วันนี้แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป การขับซอล่องน่านที่เคยได้รับความนิยมในอดีต อาจเลือนหายไปบ้างตามกระแส ประกอบกับการล้มหายตายจากของคนรุ่นเก่า แต่ด้วยใจรักของคนรุ่นใหม่อย่างคำไทด์และเพื่อน ๆ ที่อาสาเข้ามาสานต่อ ถ่ายทอดความรู้ศิลปะการแสดงสะล้อ ซอ ปินให้แก่เด็กเยาวชนแล้ว พวกเขายังประยุกต์เพลงซอให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่อย่างเหมาะสมและทันยุคทันสมัย เพื่อให้ประเพณีการขับซอล่องน่านยังคงอยู่กับจังหวัดน่านสืบไป


โครงการสืบฮีต สานฮอย การแสดงพื้นบ้านตำนาน “ขับซอล่องน่าน” (สะล้อ ซอ ปิน)

ที่ปรึกษาโครงการ : พูนทรัพย์ รัตนศิลา

ทีมงาน :

  • อภิรัตน์ รัตนศิลา 
  • วีรภัทร หมื่นคำสี
  • ภาณุวิชญ์ งานคำอ้าย