การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกผักกินเองและขายเป็นรายได้เสริม ตำบลนาทะนุง จังหวัดน่าน ปี 3

ทุกวันนี้เด็กเยาวชนส่วนใหญ่ต้องพบกับความกดดันจากสิ่งต่างๆ มากมาย แต่ผู้ใหญ่ที่รอบตัวเด็กควรสอนให้พวกเขารู้จักกับความล้มเหลว สอนให้รู้ว่าความผิดหวังไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย แต่เป็นสิ่งที่เขาควรจะเรียนรู้จากมัน เพื่อความสำเร็จในอนาคต

แพ้ได้...ชนะเป็น

จากภาพฝันที่วาดหวังว่า จะมีชาวบ้านนำผักมาขายให้เยอะ แต่ภาพความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม -มีคนมาขายผักให้ทีมน้อยมากจนเกิดความรู้สึกท้อ ไม่อยากทำโครงการต่อ แต่ประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการ 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทีมโคชบ่มเพาะวิธีคิด วิธีทำงานจนติดเนื้อติดตัว ทำให้ทีมงานนำความรู้สึกผิดหวังมาเป็นแรงผลักดัน หันกลับมาวางเป้าหมายการทำโครงการใหม่ และให้กำลังซึ่งกันและกัน จนสุดท้ายพวกเขาสามารถจับมือกันทำงานจนจบโครงการ

จ๋าอี้-จิรัชยา ทากัน ส้ม-กิตติมา พลธนะ เปรม-ธีรวัฒน์ เครือสม แป้ง-ณัฎฐธิดา วิชัยต๊ะ และ จ๋า-อารียา ปันติ ตัวแทนจากโครงการต้นกล้านาทะนุงรักษ์สิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ปี 3 บอกเล่าที่มาของการจัดสินใจทำโครงการในปีนี้ว่า ตอนแรกพวกเราตั้งใจว่าจะไม่ทำโครงการต่อ เพราะเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 กังวลใจว่าจะไม่สามารถแบ่งเวลามาทำโครงการได้ แต่พอมานั่งพูดคุยกันก็ได้ข้อสรุปว่าไหนๆ ก็ทำมาแล้วก็ต้องทำให้ถึงที่สุด

ใช้ประสบการณ์เดิม...เสริมสร้างความคิดใหม่

สำหรับจุดเริ่มต้นการทำงาน ทีมนำประสบการณ์เดิมมาใช้ นั่นคือ ตั้งวงประชุมเพื่อทบทวนทุกข์-ทุนที่มีในชุมชน พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในชุมชนบ้านนาทะนุงประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดและเกษตรกรรม แต่ประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ขณะที่รายจ่ายยังคงเท่าเดิม ซึ่งปัจจัยหลักมาจากคนในชุมชนส่วนใหญ่นิยมซื้อผักนอกพื้นที่มาบริโภค ซ้ำร้ายพืชผักเหล่านั้นยังปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทีมงานจึงคิดแก้ปัญหาด้วยการชักชวนให้คนในชุมชนปลูกผักกินเองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และขายเป็นรายได้เสริม โดยทีมงานทำหน้าที่เป็นแม่ค้าคนกลางรับผักจากชาวบ้านไปขายต่อในตลาด

กระบวนการทำงานเริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค ภายใต้โจทย์ที่ว่า ในหนึ่งเดือนชาวบ้านซื้อผักอะไรกันบ้าง รับประทานผักอะไรมากที่สุด ราคาผักแต่ละชนิด ที่ตลาดชุมชนบ้านหัวทุ่ง และตลาดบ่อแก้ว เนื่องจากอยู่ใกล้ ทีมงานสะดวกต่อการลงพื้นที่เก็บข้อมูล นำข้อมูลที่ได้รวบรวมเป็นชุดความรู้สำหรับใช้ประชาสัมพันธ์โครงการในเวทีประชุมประจำหมู่บ้าน และบอกเล่าที่มาที่ไปของการทำโครงการอย่างละเอียด เพื่อให้คนในชุมชนมั่นใจว่าพวกเขาไม่ได้มาเล่นๆ

เรียนรู้จากความผิดพลาด

หลังประชาสัมพันธ์การรับซื้อผักให้แต่ละหมู่บ้านเสร็จ ทีมงานแบ่งบทบาทหน้าที่กันตามความสามารถ เช่น คนจดบันทึกรายรับจ่ายสำหรับตรวจสอบข้อมูลของเกษตรที่เข้ามาขายผักที่ต้องละเอียด แม่นตัวเลข ส่วนพ่อค้าแม่ค้าก็ต้องอาศัยคนพูดเก่งเพื่อชักชวนให้คนเข้ามาซื้อผัก โดยทีมงานบอกว่า รู้สึกกังวลใจอยู่ลึกๆ ว่า ชาวบ้านจะไม่นำผักมาขายให้ ระหว่างรอรับซื้อผัก ความกดดันเริ่มเกิดขึ้นในตัวทีมงาน รออยู่นานมีชาวบ้านนำผักกาดขาวมาขายให้แค่คนเดียว

“รับซื้อผักกาดขาว 2 มัดๆ ละ 4 บาท ป้าเขาแถมให้อีก 2 มัด รวมเป็น 4 มัด ขายมัดละ 4 บาท สรุปได้กำไร 8 บาทจากส่วนที่ชาวบ้านแถมให้” ทีมงานสรุป โดยยอมรับว่า เป็นการทำหน้าที่พ่อค้าคนกลางครั้งแรกที่ทีมไม่ได้วางแผนรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นไว้เลย ทั้งยังไม่มีความรู้เรื่องการตลาดว่าควรรับซื้อราคาเท่าไร ขายราคาเท่าไร เป็นการลองผิดลองถูกล้วน

แม้ว่าการขายผักครั้งแรกจะไม่เป็นดังที่ตั้งใจไว้ ทีมงานไม่ได้รู้สึกหมดหวัง หรือคิดจะเลิกทำ แต่พวกเขานำประสบการณ์ความผิดพลาดจากครั้งที่แล้วมาเป็นบทเรียนในการรับซื้อครั้งต่อไป สำหรับการรับซื้อในครั้งที่สองทีมงานได้ปรับรูปแบบการรับซื้อใหม่ พวกเขาใช้วิธีการรับซื้อถึงบ้าน ทำให้มีชาวบ้านเริ่มรับรู้กิจกรรมที่เขาทำและเข้ามาขายผักให้กับทีมงานเพิ่มอีก 2 ราย นับเป็นสัญญาณที่ดีของการเริ่มต้นเป็นพ่อค้าคนกลางของพวกเขา

ทีมงานเล่าให้ฟังว่าครั้งนี้ได้กำไรจากการขายมา 20 บาท จากความผิดหวังในครั้งแรกที่เกือบหมดหวังแต่เพราะความไม่ยอมแพ้ ที่ทำให้เขาต้องหันกลับมาตั้งวงพูดคุยโดยใช้ประสบการณ์ที่เคยถอดบทเรียนจากการทำโครงการในปีที่ผ่านมาชวนกันทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำได้ไม่ดีและสิ่งที่ควรปรับปรุง จนนำไปสู่การทดลองรับซื้อและขายผักอีกกว่า 4 ครั้ง โดยในแต่ละครั้งก็มีชาวบ้านนำผักมาขายเพิ่มมากขึ้น แต่การซื้อขายผักที่คิดว่าจะเป็นทางออกให้คนในชุมชนมีรายได้มากขึ้นก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากทีมงานติดภาระทางด้านการเรียน

3 ปีกับคำว่า “ความเปลี่ยนแปลง”

หากผลลัพธ์คือ “กำไร” ที่ได้จากการขายผัก ทีมงานคงสอบตก แต่หากวัดผลที่การพัฒนาศักยภาพของทีมงานทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาสอบผ่าน

จ๋าอี้ ในฐานะเยาวชนที่ทำงานกับโครงการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนเครือข่ายจังหวัดน่านมานานถึง 3 ปี บอกว่า โครงการนี้เปลี่ยนเธอให้กลายคนกล้าคิด กล้าพูด มีภาวะผู้นำ เช่น เวลามีงานเข้ามาเธอจะทำหน้าที่แบ่งงานให้เพื่อนตามความถนัดของแต่ละคน และยังมีมนุษยสัมพันธ์กับคนอื่น จากเมื่อก่อนที่ต่างคนต่างอยู่ เจอกันก็แค่ทักทาย ไม่คิดว่าจะต้องผูกสัมพันธ์กับใคร เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมาก พูดคุยกับคนอื่นง่ายขึ้น

ส่วนส้มวิเคราะห์ตัวเองให้ฟังว่า พูดมีสาระขึ้น อาจเป็นเพราะกระบวนการที่เธอได้รับการฝึกฝน ทั้งในเวทีกลาง และการโคชของพี่ ๆ ในพื้นที่ที่ช่วยให้เธอมีเวลาขบคิด รู้จักรับฟัง ยอมรับความผิดพลาด และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา พอไปเจอค่ายอื่นที่เขาเน้นให้เล่นอย่างเดียว ไม่ได้คิดอะไรเลย กลับรู้สึกไม่ชอบ จะชอบโครงการหรือค่ายที่ชวนให้คิดมากกว่า ถึงแม้จะปวดหัวนิด ๆ แต่ก็ได้ความรู้จากกิจกรรมเหล่านั้นที่พี่โคชพาทำ

ด้านเปรม แม้จะเข้ามาทำโครงการเป็นครั้งแรก แต่เขาก็พบว่าตัวเองเปลี่ยนไปมาก จากเดิมเป็นคนไม่ค่อยชอบเข้าสังคม เก็บตัวอยู่แต่บ้าน ก็เริ่มรู้สึกสนุกกับโครงการ มีเวทีเมื่อไรเปรมจะเข้าร่วมทุกครั้ง ด้วยเงื่อนไขของโครงการที่ต้องมีการพูดนำเสนอ รับฟังอย่างตั้งใจ การคิดวิเคราะห์แผนการทำงาน เปรมจึงนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้ในการเรียน และการทำกิจกรรมในโรงเรียน

“ปัจจุบันผมอยู่ ม. 5 ผมได้เป็นประธานนักเรียน ผมสามารถคุมเพื่อนได้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการนี้ที่ฝึกให้ผมมีภาวะความเป็นผู้นำ และภาวะผู้ตามที่จะสามารถไปปรับใช้กับสิ่งที่ผมเจอในชีวิตได้”

การเป็นพ่อค้าคนกลาง อาจเป็นเพียงบทบาทสมมุติที่ช่วยฝึกทักษะความกล้าแสดงออกการ การกล้าเผชิญปัญหา การรู้จักจัดการเวลา จัดการอารมณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ และยอมรับความผิดพลาดผิดหวังได้ ซึ่งจะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นคนวัยทำงานที่ดีต่อไปในอนาคต


โครงการต้นกล้านาทะนุงรักษ์สิ่งแวดล้อม น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียง ปี 3

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • ณฐกมล ตาน้อย 
  • ขนิษฐา อินต่อม

ทีมงาน :

  • จิรัชยา ทากัน 
  • อารียา ปันติ
  • กิตติมา พลธนะ 
  • ณัฎฐธิดา วิชัยต๊ะ
  • ธีรวัฒน์ เครือสม