การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างแหล่งอาหารและรายได้เสริมผ่านการเลี้ยงมดแดงในคอนโด บ้านห้วยแก้ว จังหวัดน่าน ปี 3

อยากได้เด็กแบบไหน ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสหรือเอื้ออำนวยให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะนั้น เหมือนที่พี่นุช-วรนุช บัวเย็น จากบ้านห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ใช้การทำโครงการเป็น “เครื่องมือ” ฝึกน้อง ๆ ในชุมชนให้มีโอกาสมาทำงานร่วมกัน เพราะเชื่อว่าหากทำเรื่องนี้จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะเด็กได้หลายเรื่อง อาทิ การทำงานเป็นทีม การค้นหาความรู้ การเก็บข้อมูล การสังเกต ตั้งคำถาม และเอาจริงเอาจังกับการทำงาน

คอนโดมดแดงและเด็ก ๆ ผู้ปรารถนาดีต่อชุมชน

สำหรับคนทั่วไป การไปตลาดแต่ละครั้ง คือการไป “ซื้อ” อาหารการกิน ทั้งที่เป็นสำเร็จรูป และในแบบที่เป็นวัตถุดิบมาปรุงกินเองที่บ้าน และยิ่งนึกย้อนไปในวัยเด็ก เวลาไปตลาดกับผู้ใหญ่ เราคงทำได้เพียงช่วยถือของบางสิ่ง และร้องขอซื้อขนมบางอย่าง

แต่สำหรับเด็ก ๆ จากบ้านห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดน่าน การออกไปเดินตลาดแต่ละครั้ง คือการสำรวจ แผงอาหารไปด้วยว่า ชาวบ้านนำอะไรมาขาย ขายอย่างไร ถูก หรือแพง

“ตอนแรกก็ไม่ได้เป็นแบบนี้หรอก แต่พอมาทำโครงการกับพี่ ๆ ทำให้เราต้องหัดเป็นคนสังเกต หัดตั้งคำถาม เพราะเมื่อก่อนเวลาไปตลาดกับแม่ ก็แค่ช่วยถือของ บางทีอยากกินอะไรก็ขอแม่ซื้อ เดี๋ยวนี้ต้องคอยสังเกตดูว่าชาวบ้านขายอะไรกันบ้าง ขายถูกแพง” ฟาง-พลอยพิศุทธิ์ พกคำ แกนนำเยาวชนบ้านห้วยแก้ว หนึ่งในทีมโครงการคอนโดมดแดงสะท้อนถึงสิ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเอง

และไม่ใช่เฉพาะฟางเท่านั้น “ปอนด์-ญาณพัฒน์ กองดี เด็กชายที่บอกว่าชอบแกล้งพี่ ๆ เวลาทำงาน ก็เปลี่ยนมาเป็นทำงานเอาจริงเอาจังจากที่เคย เหตุผลเพราะบทบาทที่ได้รับนั้นคือการออกไปบันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับรังมดแดง หรือ คอนโดมดแดงที่เขานำไปแขวนไว้ที่ต้นลำใยที่สวนบ้านตัวเอง

“ต้องไปดูว่าทุกวันว่ามันมีมดเข้ารังเราหรือปล่าว จะได้รู้คอนโดที่เราทดลองทำออกมามันประสบความสำเร็จมั๊ย” ปอนด์กล่าวอย่างเขิน ๆ

อย่างไรก็ตาม บทบาทของปอนด์ ไม่ใช่แค่เฝ้าติดตามการเข้าออกของมดแดงในคอนโดเท่านั้น หากย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เด็กชายขี้อายแต่ชอบแกล้งเพื่อน ๆ คนนี้ทำหน้าที่ “ประสานงาน” เพื่อรวมทีมเยาวชนในหมู่บ้านให้มาทำโครงการด้วยกัน

“ตอนตัดสินใจเข้าร่วมในโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ก็ต้องมีทีม เราก็เพิ่งกลับมาอยู่บ้าน ยังไม่ค่อยรู้จักเด็ก ๆ มากนัก เพราะไปอยู่ต่างจังหวัดมานาน ก็เลยให้ปอนด์เป็นคนไปรวบรวมเพื่อน ๆ มาทำโครงการด้วยกัน เพราะปอนด์เป็นเด็กที่อัธยาศัยดี” พี่นุช-วรนุช บัวเย็น ที่ปรึกษาโครงการคอนโดมดแดงที่ชักชวนน้อง ๆ เข้าร่วมในโครงการอธิบาย

ซึ่งปอนด์ให้เหตุผลของการตบปากรับคำพี่นุช และอาสาเป็นคนรวมทีม เพราะ “ว่างไม่มีอะไรทำ”

รวมพลเหล่ามดงาน

เหตุผลที่ต้องมีทีม เพราะเงื่อนไขของโครงการระบุว่า ต้องมีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมในการทำโครงการไม่น้อยกว่า 5 คน และด้วยความที่ ปอนด์เองสนิทกับ ฟาง จึงไปชวนฟางมาร่วมทีม

ด้าน ฟางเด็กสาวจากวิทยาลัยเทคนิคน่านผู้นิยามตัวเองว่าเป็น “สายกิจกรรม” ทั้งเป็นนักกี่ฬากรีฑาของโรงเรียน และอยู่ในระหว่างการแข่งจัดสวนถาด ขณะเดียวกันเธอยังต้องฝึกพิมพ์ดีดเพื่อเข้าแข่งขัน และเมื่อได้ฟังสิ่งที่ปอนด์พูดถึงโครงการที่จะทำ ฟางตอบตกลงแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก

“ตอนนั้นเหมือนว่าจะมีโครงการให้ทำอยู่แล้วคือการทำคอนโดมดแดง แต่ก็ยังเป็นแนวคิดอยู่ ซึ่งก็ยังไม่รู้หรอกกว่าจะทำกันอย่างไร หนูก็อยากทำ เพราะหนูชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว” ฟาง บอกว่า การทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากการเรียน ทำให้เธอได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ อย่างเช่นการลงแข่งวิ่งให้โรงเรียน มันได้ฝึกเรื่องความอดทน มีระเบียบวินัยเพราะต้องฝึกซ้อม ขณะที่การฝึกการจัดสวนถาดฟางบอกว่าจะทำให้เธอได้ฝึกเรื่องสมาธิ และโครงการคอนโดมดแดงที่ทำร่วมกับน้อง ๆ ในชุมชน น่าจะทำให้เธอ ได้ประสบการณ์ใหม่ ได้รู้จักเพื่อน ๆ พี่ ๆ และที่เธอคาดหวังคือการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ เพราะกิจกรรมที่ผ่านๆ มาของเธอล้วนเป็นการแข่งกับตัวเอง

“ตอนแรกก็สงสัยว่า เราจะเลี้ยงมดได้เหรอ”

หากสงสัยให้หาคำตอบ

“มดแดง” ทำให้มดงานตัวเล็ก ๆ อย่าง ฟาง ปอนด์ และ นิ้ง-นารีรัตน์ ตระกูลแก้ว น้ำ-กาญจนา วงค์พุทธคำ แบม-ทิพวัลย์ จันทร์สม ฟ้า-ฟ้าศิริ ตระกูลแก้ว ที่เกิดความสงสัยว่า “พวกเขาจะเลี้ยงมดแดงได้เหรอ” ก้าวไปสู่โลกของความรู้ใหม่ที่พวกเขาเองก็ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะทำได้

“แรก ๆ อยากทำเรื่องปลูกผัก เพราะพื้นที่รอบ ๆ บ้านมันว่าง อยากใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ อีกเรื่องคือ อยากช่วยกันอนุรักษ์ป่า เพราะแถวบ้านเริ่มหมดแล้วเช่นกัน” ฟาง บอกเมื่อถูกถามว่าทำไมโครงการที่เลือกทำจึงเป็นเรื่องของการเลี้ยงมดแดงเพื่อเอาไข่

ส่วนเรื่องคอนโดมดแดง เป็นโจทย์ที่พี่นุชต้องการใช้ฝึกน้อง ๆ ได้มีโอกาสมาทำงานร่วมกัน และเชื่อว่าหากทำเรื่องนี้จะนำไปสู่การพัฒนาทักษะน้อง ๆ ได้หลายเรื่อง อาทิ การทำงานเป็นทีม การลงพื้นที่ศึกษาหาความรู้ และการเก็บข้อมูล

อย่างไรก็ตาม พอมาประชุมพร้อม ๆ กัน น้อง ๆ ก็ได้ข้อสรุปของตัวเอง เช่น ถ้าจะปลูกผักก็ปลูกกันเลยไม่ต้องเป็นโครงการก็ได้ ส่วนเรื่องการอนุรักษ์ป่าก็ดูเหมือนจะเกินกำลังเด็ก ๆ และทุกคนก็มีความเห็นตรงกันว่า ถ้าเราเลี้ยงมดแดงเพื่อเอาไข่และทำให้ชาวบ้านมีรายได้ ต้นไม้ที่เป็นที่อยู่อาศัยของมดแดงก็จะถูกอนุรักษ์เอง อีกทั้งการเลี้ยงมดแดงก็เป็นการ “ลดรายจ่าย” และ “เพิ่มรายได้” ให้กับผู้เลี้ยงได้อีกทางหนึ่ง

“ลดรายจ่ายคือ ถ้าเราเลี้ยงเองได้ เราไม่ต้องไปซื้อไขมดแดงกิน เพราะเวลาที่เขาเอามาขายในตลาดก็แพงเหมือนกัน ห่อหนึ่ง 50-60 บาท ส่วนการเพิ่มรายได้คือ ถ้าเราเลี้ยงเยอะ ๆ ก็สามารถทำเป็นอาชีพ และเอาไปขายได้” นี่เป็นทั้ง “ฝัน” และ “เป้าหมาย” ของทีมงาน

เมื่อได้ข้อสรุป กิจกรรมแรกคือ คลายข้อสงสัยว่าจะเลี้ยงมดแดงได้อย่างไร

เด็ก ๆ ค้นหาความรู้ในอินเทอร์เน็ตก็พบว่า มีหลายแหล่งที่ให้ข้อมูลเรื่องการเลี้ยงมดแดง ตั้งแต่เริ่มต้นทำบ้านหรือ คอนโด การให้อาหาร การจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับมด การเลือกจุดที่จะแขวนรังหรือคอนโดรวมไปถึงเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของมดแดงในแต่ละช่วง

แต่ข้อมูลจากแหล่งเดียวยังไม่พอ พวกเขายังลงพื้นที่ไปคุยกับ ป้าแดง (ไม่ทราบนามสกุล) ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านการเก็บมดแดงมากที่สุดคนหนึ่งของชุมชน

ความรู้จากอินเทอร์เน็ต และ ประสบการณ์ของป้าแดง ทำให้น้อง ๆ พอจะได้คำตอบถึงวิธีการเลี้ยงมดแดงแล้วว่าต้องทำอย่างไร

“มดแดงชอบรังมืด ๆ ชอบอยู่ใต้ต้นไม่ร่ม ๆ ใบไม้ใหญ่ ๆ เพราะจะรวบมาทำเป็นรังได้ แดดส่องไม่ถึง อาหารที่มดชอบกินคืออาหารคาวแต่ไม่มัน” ปอนด์ อธิบายข้อคนพบจากการศึกษาวิถีชีวิตมดแดง

สำหรับอาหารมดแดง ฟ้าซึ่งน่าจะเป็นผู้เชียวชาญด้านโภชนาการอาหารมดแดง บอกว่า จากการค้นคว้าในอินเทอร์เน็ตและปรึกษาป้าแดง เธอพบสูตรอาหารมดแดงหลายสูตร อาทิ บางสูตรใช้ก้างปลา หรือ เกล็ดปลาตากแห้งและนำไปใส่ในรังมด ขณะที่บางสูตรบอกว่าเนื้อปลาแห้ง ๆ ขณะที่สูตรของป้าแดงคือ ปลาทูตากแห้งและนำมาคลุกกับข้าว

“มดชอบสูตรป้าแดงคือปลาทูคลุกข้าว เพราะเห็นว่ามดเข้ารังทีมีอาหารนี้มากที่สุด” ซึ่งการให้อาหาร ต้องให้สัปดาห์ละครั้ง หรือ มากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณมดในรัง

และเมื่อได้ข้อมูลความรู้ เด็ก ๆ เอามาทดลองทำ “คอนโดมดแดง” โดยใช้ขวดน้ำขนาดประมาณ 1 – 2 ลิตรผ่าครึ่ง จากนั้นใช้ถุงดำครอบเพื่อให้มืด เจาะรูและผูกเชื่อกตรงปลายสำหรับผู้กับต้นไม้ และเป็นทางเดินให้มดเข้ารัง จากนั้นก็จะทำไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ เบื้องต้นเด็ก ๆ เลือกไปแขวนไว้ที่ต้นลำใย ซึ่งก่อนนำไปแขวนก็มีการออกไปสำรวจดูว่าบริเวณนั้นรังมดแดงอยู่ก่อนหรือไม่

“แรก ๆ เอาไปทดลองแขวนก่อน 2 รัง ที่สวนลำใยของปอนด์” โดยปอนด์จะทำหน้าที่เก็บข้อมูลว่ามดจะเข้ารังตอนไหน ใช้เวลาในการออกไข่กี่วัน และเมื่อเห็นว่าได้ผล ก็มีการทำรังเพิ่ม และนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ ต่าง ๆ ในชุมชน

“เอาไปแขวนในชุมชนไม่ค่อยได้ผล เพราะบางต้นมีคนสงสัยว่ามันคืออะไร ก็ไปแกะดู พอแกะออกมดก็หนี บางคนไม่รู้ ก็เขี่ยลงมา บางทีก็ลมพัด” ฟางชี้ให้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น

เด็ก ๆ แก้ปัญหาด้วยการเข้าไปอธิบายในเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อขอความร่วมมือของคนในชุมชน ซึ่งหลังจากทำความเข้าใจ รังมดก็ถูกทำลายน้อยลง

ซึ่งระหว่างรอดูว่ามดแดงเข้ารังมากน้อยแค่ไหน เด็ก ๆ จะต้องตามไปเก็บ และบันทึกข้อมูลเพื่อให้รู้ว่า รังไหนมดเข้ามาที่สุดในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ขณะเดียวกันก็ต้องดูด้วยว่า ระยะเวลาที่มดออกไข่กระทั่งสามารถเก็บผลิตได้นั้นต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน ซึ่งข้อมูลและข้อคันพบเหล่านี้จะถูกนำไปเสนอในเวทีคืนข้อมูลชุมชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในการทำโครงการ

คลายข้อสงสัย “มดแดงเลี้ยงได้”

แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปว่าโครงการเดินทางไปถึงเป้าหมายคือการ “ลดรายจ่าย” และ “เพิ่มรายได้” แต่ข้อค้นพบจากการทำงานทำให้เห็น “แนวทาง” และ “วิธีการ” การเลี้ยงมดแดงเป็นอาชีพเสริม เพราะจากการเก็บข้อมูลของเด็ก ๆ พบว่า ไข่มดแดงมีราคาค่อนข้างแพง เพราะเป็นสินค้าหาไม่ค่อยได้ และชาวบ้านชอบกิน ขณะที่การทดลองของน้อง ๆ ก็ได้ผลเชิงประจักษ์ว่าสามารถเลี้ยงมดแดงได้ และเลี้ยงไม่ยาก

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากในเวทีคืนข้อมูล เด็ก ๆ มีข้อมูลมากพอที่จะทำให้คนในชุมชนตัดสินใจสานต่อกิจกรรมคอนโดมดแดง นั่นหมายความว่าในอนาคตบ้านห้วยแก้วจะสามารถลดรายจ่ายเรื่องอาหารในครัวเรือน และเพาะเลี้ยงมดแดงเพื่อเอาไข่ขายเป็นอาชีพเสริมได้


โครงการคอนโดมดแดง

ที่ปรึกษาโครงการ : วรนุช บัวเย็น

ทีมงาน :

  • พลอยพิศุทธิ์ พกคำ 
  • ญาณพัฒน์ กองดี
  • นารีรัตน์ ตระกูลแก้ว 
  • กาญจนา วงค์พุทธคำ
  • ทิพวัลย์ จันทร์สม 
  • ฟ้าศิริ ตระกูลแก้ว และ