การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านน้ำลาด จังหวัดน่าน ปี 3

เพราะถูกตีตราว่า เป็นเด็กทำอะไรก็ไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่เป็น เวลามีงานในชุมชนจึงมักได้รับมอบหมายให้เป็นลูกมือทำงาน ไม่เคยได้รับมอบหมายหน้าที่ใดๆ แค่ทำตามผู้ใหญ่สั่ง เมื่อมีโอกาสพวกเธอจึงคิดพิสูจน์ฝีมือให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นว่า พวกเธอมีดีแค่ไหน

I can do it

“เด็กอย่างเราก็ทำได้” คือแรงผลักดันให้เด็กสาวทั้ง 8 คน คือ แป้ง-อรสินี นิกรเถื่อน มณี-จุฑามณี ละม่อม เพชร-อรวรรณ บุญเกียง อุ๊-ณัฐธิดา เปาป่า แวน-พลอยศิริ เปาป่า กิ๊บ-หทัย เปาป่า ริน-ชลิดา เปาป่า และ สา-ปาริชาติ พิกัน จากชุมชนบ้านขุนน้ำลาดและบ้านน้ำลาด อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน รวมก๊วนพิสูจน์ตัวเองให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นว่า เด็กอย่างพวกเธอก็ทำได้ ด้วยการทำโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านขุนน้ำลาดและบ้านน้ำลาด

ปลุกความท้าทายในใจ

ปัญหาเด็กแว้น ขยะ และป่า เป็น 3 ปัญหาหลักที่ทีมงานหยิบยกมาพูดคุยกันเพื่อหาโจทย์โครงการ โดยทุกคนร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพและความเป็นไปได้ในการทำงาน และได้ข้อสรุปว่าจะทำเรื่องป่า เพราะเห็นว่าป่าชุมชนเสื่อมโทรมลงมาก

“เมื่อก่อนป่าชุมนแห่งนี้เคยสร้างรายได้ให้กับคนในหมู่บ้านเดือนหนึ่งเกือบหมื่นบาท แต่เดี๋ยวนี้ทรัพยากรในป่าเหลือน้อยลง จากที่เคยหาอาหารป่าได้เยอะ เดี๋ยวนี้เหลือเดือนละไม่ถึงห้าพันบาท เยาวชนในชุมชนเริ่มไม่กินอาหารป่า หันไปซื้ออาหารสำเร็จรูป พวกเราเลยตกลงกันว่าเราจะทำเรื่องป่า เพราะต้องการให้คนในชุมชนกลับมาเห็นคุณค่าของป่า” มณี บอกเหตุผล

เวทีประชุมหมู่บ้าน ถูกใช้เป็นพื้นที่โชว์ฝึมือ ชี้แจงรายละเอียดการทำโครงการและดึงคนในชุมชนเข้ามาร่วมทำงาน อาทิ ปราชญ์ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำ ที่มีความรู้เรื่องป่า ซึ่งกิจกรรมแรกที่ทีมทำคือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลป่าชุมชน โดยแบ่งการสำรวจเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มน้ำ สำรวจพันธุ์ปลา กลุ่มสมุนไพร สำรวจชนิดของสมุนไพร และกลุ่มป่า วัดขนาดและอายุของต้นไม้ มีข้อตกลงร่วมกันว่าทุกคนต้องจดข้อมูลมาให้ได้มากที่สุด ใช้เวลาสำรวจป่าตั้งแต่ 08.00 น. – 17.00 น. ตอนเย็นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาแลกเปลี่ยนกันระหว่างทีมงานและทีมผู้ใหญ่ และขอข้อมูลป่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันจากปราชญ์ชาวบ้านเพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า

“ป่าที่เราเห็นจากข้างนอกดูแน่นทึบเต็มไปด้วยต้นไม้ แต่พอเข้าไปลึกๆ กลับกลายเป็นไร่เลื่อนลอย

และยังเห็นว่าในป่ายังมีอาหารป่าหลงเหลืออยู่ จึงอยากศึกษาเรื่องป่าให้มากขึ้นกว่าเดิมทั้งประวัติของป่าและอาหารป่าที่เคยมีในอดีต” ทีมงาน บอกข้อมูลที่ได้จากสำรวจป่า

และเพราะอยากรู้จักป่าให้มากขึ้น ทีมงานใช้เวลาลงพื้นที่ซ้ำถึง 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ศึกษาสภาพป่าโดยรวม ครั้งที่ 2 เจาะจงเรื่องป่าโดยเฉพาะ และเพิ่มเติมการสัมภาษณ์ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ประวัติของป่า เพราะอยากรู้ที่มาของหมู่บ้าน ครั้งที่ 3 ความสัมพันธ์ของป่ากับชุมชน เพื่อเชื่อมโยงให้คนในชุมชนเห็นถึงคุณค่าของป่า ครั้งที่ 4 ศึกษาอาหารป่า ข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาวิเคราะห์และออกแบบเป็นแผนที่ป่า Timeline ความเปลี่ยนแปลงของป่าชุมชน และภาพถ่าย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจกับชุมชน

เวที Show off

การออกแบบกิจกรรมที่ไม่ได้ทำตามลำพังเด็กๆ แต่มีการดึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเข้ามาเป็นระยะๆ ตั้งแต่เวทีครั้งแรก คือ การชี้แจงและขอความร่วมมือจากคนในชุมชน ครั้งที่สอง การหารือร่วมกับคนในชุมชนถึงทิศทางการอนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ป่า ที่มีคนที่ใช้ประโยชน์จากป่าเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะทีมงานไม่รู้ว่า

พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ตรงไหนเป็นพื้นที่ใช้สอย รวมทั้งข้อเสนอในการสร้างกฎกติกาการใช้ป่าร่วมกันของคนในชุมชน และครั้งที่สามเป็นการคืนข้อมูลป่าและอาหารจากป่า ซึ่งทั้ง 3 เวที คือบทพิสูจน์ชั้นดีที่ทำให้ผู้ใหญ่ทั้งชุมชนได้เห็นฝีมือของพวกเธอ

เมื่อต้องการโชว์เหนือว่า “ฉันก็ทำได้” การพูดนำเสนอในทั้ง 3 ครั้ง ทีมงานจึงต้องสืบค้นข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เวลาพูดจะไม่แป๊ก จากเวทีแรกที่พูดข้อมูลมั่วไปหมด ถึงเวทีที่ 2 และ 3 หาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลมาแน่นเปรี๊ยะ เสียดายแค่เวทีคืนข้อมูล ซึ่งเป็นเวทีครั้งที่ 3 มีผู้เข้าร่วมน้อยไปหน่อย เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

“เวทีวันคืนข้อมูลฝนตกหนักมาก ทำให้คนในชุมชนที่ตกลงจะเข้าร่วมมาไม่ถึง 10 คน ภาพถ่ายกิจกรรมในการลงพื้นที่ ข้อมูลสรุปผลการทำงาน และวิดีโอที่พวกเธอตั้งใจทำถูกถ่ายทอดผ่านสายตาคนในชุมชนเพียงไม่กี่คน ทีมงานยอมรับว่าวันนั้นถึงขั้นร้องไห้ เพราะคนเข้าร่วมมาน้อย แต่เมื่อมองกลับไปสิ่งที่เขาได้มากกว่าจำนวนคนนั่นคือกำลังใจจากผู้ใหญ่ในชุมชน ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ให้ว่าผู้ใหญ่เห็นแล้วว่าพวกเธอทำได้จริง” ทีมงาน เล่า

ไม่เข้าใจฉัน...ไม่เข้าใจเธอ

นักรบย่อมมีบาดแผล คงไม่ต่างอะไรกับการทำงานที่เรียกว่า “ทีม” ที่ต้องมีการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา พวกเธอ เล่าให้ฟังว่า กว่าจะเข้าใจกัน รักกันได้เหมือนทุกวันนี้ พวกเธอผ่านปัญหามาไม่ใช่น้อย จนเกือบจะหยุดทำโครงการ

เนื่องจากทีมงานที่มีมากถึง 8 คน การกระทบกระทั่งกันจึงเกิดขึ้น และยังไม่พูดคุยกันต่อหน้า ใช้วิธีคุยผ่านไลน์ ปัญหาเลยยิ่งบานปลาย ยิ่งคุยยิ่งไม่มีใครฟังกัน จนที่ปรึกษาโครงการออกจากกลุ่มไป ทำให้ทีมงานใจเสีย กลัวสมาชิกจะออกตามกันหมด

พี่ออน-กนกพร โทปุรินทร์ ที่ปรึกษาโครงการ บอกเหตุผลที่ตัดสินใจออกตอนนั้น เพราะคิดว่าถ้าเขาไม่เคารพเรา เราก็ไม่ควรอยู่ พอเธอออกจากกลุ่มไลน์ สมาชิกบางคนก็ออกตาม เธอใช้วิธีเคลียร์ใจเป็นรายคนว่าใครมีปัญหาอะไร แล้วค่อยมาปรับความเข้าใจร่วมกันในกลุ่มอีกที หลังจากวันนั้นทีมงานจึงเข้าใจกันมากขึ้น

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้พวกเธอเรียนรู้ว่า การทำงานเป็นทีมต้องรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จนเป็นที่มาของการสร้างข้อตกลงในการทำงานครั้งต่อไปว่า ถ้าคนหนึ่งพูดสมาชิกที่เหลือต้องฟัง เวลาแสดงความคิดเห็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด รวมไปถึงเวลานำเสนอโครงการสมาชิกในทีมต้องได้นำเสนอทุกคน หากเกิดปัญหาต้องมาพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ส่วนที่ปรึกษาก็รู้เช่นกันว่า ต้องเปิดใจรับฟังความคิดของเด็ก ไม่ด่วนตัดสินหรือใช้อารมณ์

ฉันทำได้...

จากเด็กธรรมดากลุ่มหนึ่ง ที่ไม่เคยเห็นความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของป่า แค่ต้องการโชว์ความสามารถให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็น แต่กระบวนการทำงานได้เปิดโลกใบใหม่ให้พวกเธอได้ย้อนกลับไปรู้จักประวัติบ้านขุนน้ำลาดและบ้านน้ำลาด รู้จักและเห็นคุณค่าของป่าชุมชน จนปัจจุบันนี้หากมีใครมาถามเรื่องป่า ประวัติหมู่บ้าน พวกเธอตอบได้หมด

รินและแป้ง เล่าว่า เมื่อก่อนอยู่บ้านไปวันๆ มีหน้าที่เรียนก็เรียนไป ไม่เคยคิดอยากรู้จักบ้านตัวเอง ป่าชุมชนเป็นอย่างไรไม่เคยสนใจ พ่อแม่ชวนขึ้นไปก็ไปแบบขอไปที การลงพื้นที่สัมผัสชุมชนทำให้เริ่มเข้ามาอยากเรียนรู้ประวัติหมู่บ้านตัวเองอย่างจริงจัง เรู้สึกอยากสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษสร้างมาให้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่มณี บอกว่า โครงการนี้เปลี่ยนแปลงตัวเธออย่างสิ้นเชิง จากคนที่ไม่กล้าแสดงออก จับไมค์ทีไรสั่นทุกที ก็เริ่มกล้าขึ้น จนเดี๋ยวนี้เริ่มสนุกก็กัลการจับไมค์ จนเวทีคืนข้อมูลเธอตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นพิธีกรดำเนินรายการได้อย่างไม่เขินอาย สามารถจัดการเวลาเรียน เวลาทำงาน และงานบ้านได้ดี ที่สำคัญคือทำให้เธอเห็นเป้าหมายชีวิตในอนาคตของตัวเอง คือ นักพัฒนาชุมชน

ส่วน แป้ง ที่ตอนแรกอยากเป็นพยาบาล แต่เมื่อได้ลงมือทำงาน ได้สัมพันธ์กับคนในชุมชนจึงเบนเข็มมาเป็นนักพัฒนาชุมชนแทนเพื่อช่วยพัฒนาหมู่บ้านของเธอ การคิดวางแผนทำโครงการตั้งแต่ต้นจนจบทำให้เธอรู้จักวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน กล้าพูดแสดงความคิดเห็นมากขึ้น

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการโชว์ฝีมือให้ผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นว่า เด็กอย่างพวกเธอก็มีศักยภาพในการช่วยเหลือชุมชน กลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเธอเกิดความมุมานะพยายามทำโครงการให้สำเร็จ บทสรุปของการทำโครงการจึงไม่ใช่เพียงแค่การพิสูจน์ความสามารถเท่านั้น แต่ยังสร้างประสบการณ์การเรียนรู้อันยิ่งใหญ่ที่หล่อหลอมให้พวกเธอรู้สึกรักและเห็นคุณค่าของชุมชนที่ตนเองอยู่ จนนำไปสู่การค้นพบกุญแจสำคัญของความสำเร็จระยะยาวในชีวิต


โครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนชนบ้านขุนน้ำลาดและบ้านน้ำลาด

ที่ปรึกษาโครงการ : กนกพร โทปุรินทร์

ทีมงาน :

  • อรสินี นิกรเถื่อน 
  • จุฑามณี ละม่อม
  • อรวรรณ บุญเกียง
  • ณัฐธิดา เปาป่า
  • พลอยศิริ เปาป่า 
  • หทัย เปาป่า
  • ชลิดา เปาป่า
  • ปาริชาติ พิกัน