การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานและสืบต่อองค์ความรู้การเป็นสามเณรมัคคุเทศก์จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง จังหวัดน่าน ปี 3

หากเปรียบสามเณรเป็นเด็กเยาวชนคนหนึ่ง การเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้สามเณรได้เรียนรู้จากการลงมือทำ

สามเณรนอกลู่...เรียนรู้นอกวัด

สามเณร ก็คือเด็กเยาวชนคนหนึ่งที่ต้องเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 เพื่อนำไปใช้ดำเนินชีวิตหลังจบจากโรงเรียนพระปริยัติธรรม

ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดพระธาตุแช่แห้ง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน แห่งนี้มีวิธีการสร้างทักษะการเรียนรู้ให้สามเณรหลายรูปแบบ ทั้งพาไปประกวดแข่งขันสามเณรนักเทศน์ พาไปอบรม และพาทำงานเพื่อชุมชนสังคมกับโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่านมานานถึง 3 ปี ซึ่งแต่ละปีก็มีโจทย์ปัญหาแตกต่างกกันไปตามศักยภาพของสามเณร โดยปีแรกทำโครงการเคลื่อนพระธรรมนำสู่สังคม ที่เปลี่ยนสามเณรเขินอายให้กลายเป็นสามเณรนักเทศน์ได้ ส่วนปีที่ 2 โครงการสามเณรมัคคุเทศก์วัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง ก็ทำให้สามเณรหลายรูปกล้าคิด กล้าพูด รู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะ รวมถึงตำนานความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุแช่แห้งจนสามารถถ่ายทอดสู่นักท่องเที่ยวได้

การเห็นตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นนี้ ทำให้สามเณรอ้น-อภิยุช หมื่นไธสง ทำโครงการสืบสานสืบทอดสืบต่อสามเณรมัคคุเทศก์ต่อ เชิญชวนเพื่อนสามเณรรูปอื่นเข้าร่วมแทนเพื่อนกลุ่มเดิม

เริ่มต้นออกนอกลู่

สามเณรอ้นนำประสบการณ์การทำโครงการปีที่แล้วมาใช้ เริ่มต้นจากการประสานงานกับอาจารย์ให้ช่วยกระจายข่าวสารการทำโครงการ โดยบอกข้อดีที่สามเณรจะได้รับ เช่น กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ การได้พบเจอเพื่อนใหม่นอกโรงเรียน ทำให้การประชุมครั้งแรกมีสามเณรเข้าร่วมมากกว่า 20 รูป เพราะรู้แล้วว่า ในที่สุดแล้วจะเหลือคนที่สนใจทำจริงอยู่ 6 คน คือ สามเณรอ้น สามเณรแบงค์-ณัฐดนัย วุฒิ สามเณรซี่-ภาคภูมิ สินท้าว สามเณร-โอ๊ค-ก้องภพ ปิยะวงษ์ สามเณรณัฐ-ณัฐวัชร กันทรประเสริฐ และสามเณรบาส-สหภูมิ อุตพรม หัวหน้าโครงการ

“เหตุผลที่เลือกสามเณรบาสเป็นหัวหน้า เนื่องจากสามเณรบาสเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนสามเณรรูปอื่นเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิแล้วสามเณรบาสมีความเหมาะสมมากกว่า และเขาสั่งงานน้องๆ ได้ ส่วนผมจะมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง การให้คนสองคนทำหน้าที่ต่างกันเช่นนี้ ทำให้การทำงานไม่มีปัญหา” สามเณรอ้น อธิบาย

สามเณรบาส บอกเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้ว่า เห็นสามเณรบางรูปที่เข้าร่วมโคงการไปเป็นวิทยากรอบรมธรรมะให้กับนักเรียนทั่วไป จึงอยากเก่งเหมือนเพื่อน จึงสนใจเข้าร่วม

“การเป็นคนช่างสังเกต” เป็นอีกทักษะหนึ่งที่สามเณรอ้นได้รับจากการทำโครงการปีที่แล้ว เขาเห็นว่า วันๆ สามเณรซี่ไม่พูดไม่จากับใครเลย หากยังปล่อยให้รุ่นน้องเป็นอย่างนี้ อนาคตเขาจะอยู่ในสังคมได้อย่างไร จึงชักชวนสามเณรซี่เข้ามาทำโครงการ เพราะอยากช่วยให้น้องรู้จักปรับตัวเข้าหาคนอื่นและมีทักษะชีวิตในสังคมภายนอกต่อไป

สิ่งที่สามเณรอ้นทำในช่วงเริ่มต้นโครงการคือ พยายามสังเกตว่าสามเณรแต่ละรูปมีความถนัดหรือชอบอะไร

“ช่วงแรกที่เขายังทำอะไรไม่ค่อยเป็น เราก็ให้งานเล็กๆ ฝึกเขาทำงานไปเรื่อยๆ ดูว่าใครถนัดอะไรก็ให้ทำสิ่งนั้น เช่น สามเณรณัฐพูดดีที่สุดในกลุ่ม ก็ให้เขาเป็นคนพูดนำเสนอหรือสรุป ส่วนสามเณรโอ๊คที่เขียนเก่งเขียนสวยก็ให้เขียนฟลิปชาร์ต ทำแบบนี้พวกเขาจะได้มีกำลังใจทำโครงการต่อ”

วิธีการทำงานของสามเณรอ้นเช่นนี้คือการทำให้สามเณรได้สัมผัสกับความสำเร็จเล็กๆ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานยากๆ ต่อไป

เรียนรู้(ทักษะ)นอกวัด

เมื่อปลุกพลังใจฮึกเหิมให้กับทีมงานได้แล้ว สามเณรอ้นจึงชวนทีมงานสืบค้นข้อมูลวัดพระธาตุแช่แห้งใหม่ทั้งหมด เพราะการเป็นมัคคุเทศก์สิ่งที่คือ ความถูกต้องของข้อมูลและความมั่นใจในตัวเอง

“สิ่งที่ผมเรียนรู้จากโครงการปีสองคือ การที่เราจะไปพูดให้คนอื่นฟัง ให้เขาเชื่อ เราต้องมั่นใจในสิ่งที่เราจะพูดก่อน ซึ่งหากจะนำข้อมูลที่ทำไว้ในปีก่อนมาใช้เลย น้องๆ คงจะไม่ได้ฝึกทักษะใดๆ และเป้าหมายที่ต้องการให้น้องมีทักษะชีวิตหลังจบการศึกษาก็คงไม่ได้เช่นกัน” สามเณรอ้น กล่าว

ประวัติวัดพระธาตุแช่แห้งที่เคยเก็บไว้ถูกนำมาคลี่อีกครั้ง มีการแบ่งข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ เช่น ประวัติศาสตร์การก่อสร้างวัด ศิลปะ ตำนานความเชื่อ พงศาวดาร เป็นต้น ข้อมูลตรงไหนขาดก็ไปหาเพิ่มจากหลวงพ่อ สอบถามจากอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม หรือสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต หนังสือ และเอกสารต่างๆ จนพบว่ามีข้อมูลไม่ตรงกันหลายจุด พยายามหาทางแก้ไขก็คิดกันไม่ออก จึงไปปรึกษาอาจารย์สมเจตน์ ซึ่งท่านก็แนะนำว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรผิดหรือถูก 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ทำได้คือการเลือกสิ่งที่คิดว่าเป็นไปได้มากที่สุด ทีมจึงสรุปว่าจะเลือกใช้ข้อมูลที่ตรงกันมากที่สุดก่อน ส่วนข้อมูลไหนที่ทีมยังไม่แน่ใจในความถูกต้องจะยังไม่เผยแพร่ออกไป

พูดให้ปัง ให้คนฟังสนใจ เป็นทักษะสำคัญสำหรับมัคคุเทศก์ เนื่องจากเรื่องราวในวัดมีเยอะ สามเณรอ้นจึงแบ่งให้แต่ละรูปรับผิดชอบสถานที่สำคัญภายในวัดรูปละ 1 จุด โดยสามเณรแต่ละรูปจะต้องอ่านและทำความเข้าใจเพื่อสรุปย่อเนื้อหาประกอบการบรรยายเกี่ยวกับสถานที่นั้นๆ ซึ่งดีกว่าการท่องจำ โดยกระบวนการนี้สามเณรอ้นนำประสบการณ์เดิมจากการทำงานปีที่แล้วมาใช้ซ้ำ เพื่อฝึกให้ทีมงานรู้จักวิธีจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ และจัดระบบความคิดก่อนจะทำหน้าที่มัคคุเทศก์

สามเณรอ้น เสริมว่า นอกจากการย่อความที่ทำให้แต่ละคนเข้าใจในเนื้อหาแล้ว เทคนิคการพูดก็เป็นสิ่งที่สามเณรแต่ละรูปต้องฝึกฝน โดยนำวิดีโอของรุ่นพี่ปีที่แล้ว และวิดีโอของไกด์ตัวจริงอย่างอาจารย์สมเจตน์มาเปิดให้ดู และให้สามเณรรุ่นพี่มาแนะนำโดยตรงอีกด้วย

“ตอนนั้นมีรุ่นพี่สองสามรูปที่ยังอยู่ในวัด คือพี่ไมค์-ศุภฤกษ์ กันทะกาลัง ที่ประจำอยู่ที่จุดวิหารหลวง และ และพี่หนุ่ย-วีรพล สิงสาร อยู่ที่ประชาสัมพันธ์กลาง เราก็ให้น้องในกลุ่มไปคอยสังเกตวิธีการพูดคุยของรุ่นพี่ หรือจดเทคนิคที่น่าสนใจของรุ่นพี่แต่ละรูปมาให้ทีมได้เรียนรู้ โดยกำชับว่า การพูดเป็นเทคนิคเฉพาะตัว ทุกคนต้องหาเทคนิคของตัวเองให้เจอ”

“เทคนิคของผมก็คือ การสังเกตจากพระวิทยากร หรือไกด์ฆราวาส แอบสังเกตว่าเขาทำยังไงพูดยังไง แล้วก็เอามาลองมาพูดหน้ากระจก” สามเณรบาส เสริม

แผ่นพับ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทีมงานตั้งใจทำขึ้นให้นักท่องเที่ยวใช้ประโยชน์ โดยนำแผ่นพับเดิมที่ทำไว้ในปีที่แล้ว ยังไม่มีการเผยแพร่มาปรับปรุงใหม่ทั้งเนื้อหาและภาพประกอบ ที่จะใช้ภาพวาดเป็นหลัก โดยเหตุผลที่ใช้ภาพวาดนั้น สามเณรอ้น บอกว่า พวกเขาต้องการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ด้วยตัวเอง ทีมงานทุกคนจึงร่วมมือร่วมใจช่วยกันทำเต็มที่ ตอนนี้แก้ไขเป็นครั้งที่ 5 แล้ว เพราะอยากให้ดูสวยงามดึงดูดใจนักท่องเที่ยว

เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

การได้ลงมือทำโครงการตั้งแต่คิดหาโจทย์ปัญหา ออกแบบกิจกรรม ออกแบบวิธีการทำงาน การประสานงาน การแก้ปัญหา การรวบรวมข้อมูล การฝึกพูด การคิดหาเหตุผล ฯลฯ สิ่งต่างเหล่านี้ได้สร้างทักษะสำคัญสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคตให้กับสามเณรทั้ง 6 คนเป็นอย่างมาก

สามเณรซี่ ที่เดิมไม่เคยพูดจากับใคร บอกว่าตอนจับไมค์ครั้งแรกสั่นมาก จับไมค์แทบไม่อยู่ แต่พอได้จับบ่อยๆ ก็เริ่มพูดได้ การได้พบปะกับเพื่อนคนอื่นๆ ยิ่งทำให้เขากล้าเข้าหาคนอื่น ไม่อยู่กับตัวเองเหมือนแต่ก่อน

ส่วนสามเณรบาส บอกว่า การปรับเปลี่ยนวิธีคิดคือสิ่งที่เขาได้มาจากโครงการนี้ จากเดิมที่เป็นคนชอบสั่งให้คนอื่นทำ พอเขาไม่ทำก็รู้สึกนอยด์ ช่วงหลังจึงปรับมาใช้วิธีพูดคุย ระดมความคิดเห็นของทุกคนแทน และพบว่าวิธีทำงานแบบนี้ทำให้งานเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา

“เมื่อก่อนติดเกมมาก แต่พอมาทำงานนี้ก็ได้ใช้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์มาช่วยทีมทำแผ่นพับ ทำคลิปวิดีโอ ทำให้ผมเล่นเกมน้อยลง และยังมีความรู้เกี่ยวกับคอมพ์มากขึ้น จนเห็นเป้าหมายในอนาคตของตัวเองว่าถ้าเรียนจบจากนี้แล้วก็อยากจะไปเป็นครูสอนคอมพิวเตอร์” สามเณรโอ๊คกล่าว

สำหรับสามเณรอ้น บอกว่า กระบวนการในเวทีกลางที่ทีมโคชออกแบบไว้ ฝึกให้เขากลายเป็นคนช่างคิด “เพราะเป็นสามเณรเวลามีกิจกรรมในเวทีกลาง ตอนแรกไม่ชอบเลยเวลาเพื่อนๆ เล่นกันสนุกสนาน เราก็ได้แต่มอง แถมแอร์ก็เย็น แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันเป็นกิจกรรมที่ทำให้เราต้องดึงความคิดออกมาให้ออกมาให้มากที่สุด ทำให้เราคิดก่อนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ทำเพื่ออะไร ทำแล้วจะได้อะไร ทำให้ผมสามารถมองถึงผลที่อาจจะเกิดจากสิ่งที่เรากำลังจะทำได้ชัดเจน เช่น ถ้าเราทำอย่างนั้น หรือพูดอย่างนี้ จะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง”

การก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย สู่การทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ของสามเณรนอกลู่เหล่านี้ คือบทพิสูจน์ว่า ทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคตนั้นสร้างได้ แค่มีพื้นที่ มีโอกาส และมีโคชที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้เท่านั้น


โครงการสืบสานสืบทอดสืบต่อสามเณรมัคคุเทศก์

ที่ปรึกษาโครงการ :

ทีมงาน :

  • สามเณรอภิยุช หมื่นไธสง 
  • สามเณรณัฐดนัย วุฒิ
  • สามเณรภาคภูมิ สินท้าว 
  • สามเณรก้องภพ ปิยะวงษ์
  • สามเณรณัฐวัชร กันทรประเสริฐ 
  • สามเณรสหภูมิ อุตพรม