การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรแหล่งน้ำในชุมชน บ้านดงไพรวัลย์ จังหวัดน่าน ปี 3

เมื่อวัยใสรักษ์น้ำ


ต้อง “รักษ์” อย่างเข้าใจ

ไม่ใช่แค่ใช้ชีวิต เรียนหนังสือ เล่น กลับบ้าน ช่วยพ่อแม่ทำงาน แต่พวกเธอคือกำลังสำคัญ และเป็นแบบอย่างที่ดีของน้อง ๆ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ในชุมชน

เพราะในวันที่ลำน้ำแม่จริม แม่น้ำสายสำคัญของคนแม่จริม จังหวัดน่าน กำลังส่งสัญญาณบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล อาทิ น้ำน้อยลง ปลาบางชนิดไม่มีให้เห็น ที่มีให้เห็นก็ตัวเล็กลงกว่าเดิม ต้นไม่ริมน้ำก็เริ่มบางตา และจุดพีคที่ทำให้กลุ่มเยาวชนอย่าง ออม- ชรินรัตน์ พรมไชยยะ กระแต-ณัฐติยา กันใจมา อ้อม-นฤมล พรมไชยวงค์ ปราง-ปรียาพร โนราช ร่วมกับกลุ่มเด็ก ๆ และเยาวบ้านแม่จริมคนอื่น ๆ ต้องออกมาร่วมมือกับทีมผู้ใหญ่คือ “การขุดลอกแม่น้ำ”

“พวกหนูรู้สึกว่า แต่ก่อนบริเวณแม่น้ำแม่จริม สมบูรณ์มาก เวลาฝนตกน้ำนองปลาก็จะชอบไปออกันอยู่ในที่ที่เรียกว่าวังน้ำ แต่ก่อนน้ำเยอะ ตอนนี้น้ำตื่น และมีทรายมาทับถมกันมาก จนต้องมีการเอารถมาขุดลอกทรายออก เราเห็นว่าการขุดลอกคลองทำให้ระบบนิเวศทั้งสองฝั่งน้ำถูกทำลาย ทำให้หญ้าและต้นไม้ริมตลิ่งซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของปลาถูกทำลาย และในช่วงฤดูฝน ความแรงของน้ำก็ทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่ง ซึ่งพบว่าหลายจุดมีตลิ่งพัง” ออม แกนนำกลุ่มอธิบายสาเหตุที่ต้องทำให้เธอและเพื่อน ๆ ออกมาร่วมตัวกันทำโครงการวัยใสรักษ์น้ำ เพื่อหาแนวทางการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน และสร้างคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจและร่วมกันดูแลแม่น้ำแม่จริมแม่น้ำที่พวกเธอผูกพันมาตังแต่เด็ก ๆ

แต่การทำความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างความร่วมมือนั้นน้อง ๆ บอกว่า “ไม่ง่าย”

เริ่มจากทำความเข้าใจกันเอง

“ตอนพี่โบว์ มาชวนทำโครงการ พวกเราเองก็มีหลายเรื่องที่อยากทำ บางคนอยากทำเรื่องขยะ เพราะพวกเราเคยรวมกลุ่มกันทำเรื่องขยะ ทั้งการเก็บ การสำรวจ ให้ความรู้น้อง ๆ เคยประกวดได้รางวัลชมเชย ก็อยากจะทำต่อ เหมือนการขยายผลโครงการ บางคนก็อยากทำเรื่องเกี่ยวกับป่า เพราะเราอยู้ใกล้ป่า ก็อยากจะชวยกันอนุรักษ์โดยเฉพาะเรื่องการบวชป่า ส่วนหนึงก็อยากทำเรื่องน้ำ เพราะมันมีความสำคัญกับชุมชนมากกว่า”

ความสำคัญที่อ้อม หมายถึง คือ น้ำแม่จริมเป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแม่น้ำสายนี้ทำเกษตร ดิ่มกิน และทำประปา

“พอจะเสนอโครงการ พี่แต๋ม บอกว่าให้เลือกโครงการใดโครงการหนึ่งระหว่างป่ากับน้ำ สุดท้ายเราเลือกทำเรื่องการอนุรักษ์แม่น้ำ เพราะเห็นอยู่ว่าพอเริ่มมีการขุดลอกคลอง ตลิ่งก็พังลง ปลาก็หายไป”

ทำความเข้าใจกับชุมชน

การทำความเข้าใจกับชุมชน ในเบื้องต้นคือการบอกว่า โครงการที่กลุ่มเยาวชนจะดำเนินงานนั้นทำเรื่องอะไร ซึ่งหลังจากผ่านขั้นตอนการพัฒนาโครงการ จากทีมพี่ ๆ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่านและโครงการได้รับการอนุมัติ น้อง ๆ ต้องจัดเวทีเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจกับชุมชนว่าโครงการที่จะทำนั้น เรื่องอะไร มีเป้าหมาย และวัตถุประสงค์คืออะไร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในสองประการคือ ขอความมือในกรณีที่เด็ก ๆ ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูล และเพื่อต้องการคำชี้แนะจากกล่มผู้ใหญ่

“มันยากตรงที่เราไม่รู้ว่าใครจะมาฟังเราบ้าง เพราะเราเป็นเด็ก คงยังไม่มีใครเชื่อว่าเราจะทำกันได้ แต่โชคดีที่เรามีพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นกองหนุนอยู่ การติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ในชุมชนจึงไม่ยากมากนัก เราก็ประสานไปยังพ่อหลวง และให้พ่อหลวงประกาศเสียงตามสายให้ พอถึงวันที่เราจัดเวทีจริง ๆ ชาวบ้านก็มากันเยอะเหมือนกัน”

“ผมเห็นสิ่งที่เด็ก ๆ กำลังทำกันอยู่เป็นเรื่องที่เราต้องสนับสนุน ในฐานะผู้ใหญ่บ้านก็ช่วยเท่าที่ความสามารถของเราจะช่วยได้ อีกอย่างสมัยเป็นเยาวชนผมเองก็ทำเรื่องเกียวกับการอนุรักษ์ลำน้ำแม่จริม แต่ก็ขาดช่วงไปนาน และนี่ก็เป็นโอกาสดีที่เราจะมีกลุ่มเยาวชนที่ลุกขึ้นมาสนใจดูแลทรัพยากรของชุมชน” พ่อหลวงมนตรี พรมี ผู้ใหญ่บ้านบ้านพรม บอก

และสิ่งที่พ่อหลวงมนตรี ให้การสนับสนุน ไม่ใช่แค่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านในเรื่องของการประสานงานคนในชุมชน พ่อหลวงมนตรียังทำหน้าที่สอดส่องดูแลเด็ก ๆ เป็นกองหนุน เป็นกำลังใจ และยังเป็นกระบอกเสียงของกลุ่มเยาวชนด้วยการออกไปทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ปกครองเด็ก ๆ ว่าเด็ก ๆ กำลังทำเรื่องดี ๆ ให้ชุมชน รวมทั้งหางบประมาณสนับสนุนกรณีที่งบประมาณไม่เพียงพอ

“อย่างที่บอกคือเราต้องสนับสนุนในสิ่งที่เด็ก ๆ อยากทำ พ่อแม่บางคนไม่เข้าใจ เราก็ไปช่วยอธิบายให้ เพื่อให้เด็กไม่ต้องกังวล นอกจากนั้นก็ประสานในกลุ่มที่สามารถช่วยเหลือได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้งบประมาณ เราก็ต้องไปประสานมา เพราะหลายหน่วยงานมีงบประมาณในการนำงานอยู่แล้ว”

ทำความเข้าใจกับขั้นตอนการทำงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทย์คือ อนุรักษ์แม่น้ำ สิ่งที่น้อง ๆ ต้องลงไปค้นหาคือมี “ความรู้” อะไรบ้างที่จะทำให้พวกเขาสามารถอนุรักษ์แม่น้ำได้จริง ๆ เพราะสิ่งที่จะต้องนำไปอธิบายให้ชุมชนเข้าใจอีกรอบคือ “เรา” ซึ่งหมายถึงคนทั้งชุมชนจะเข้ามามีส่วนในการอนุรักษ์แม่น้ำได้อย่างไร

แต่สิ่งที่กระแต กังวลมากที่สุดคือกลับไม่ใช่เรื่องราวในตอนจบ กลับเป็นระหว่างทางมากกว่า เพราะจากประสบการณ์ในการทำโครงการปีที่ผ่าน ๆ มาในลักษณะเดียวกันนี้ ที่ขาดการวางแผน และจัดลำดับก่อน - หลัง จึงทำให้งานออกมา “เละไม่เป็นท่า” ซึ่งกระแตขยายคำว่า “เละ” ว่า ไม่ประสบความสำเร็จซักเรื่อง ข้อมูลก็เก็บไม่ครบ ซ้ำยังทำให้เสียการเรียน ประเด็นสำคัญคือ ชาวบ้านมองว่าเด็ก ๆ ไม่เอาจริงกับการทำงาน

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะดำเนินกิจกรรมใด ๆ สมาชิกในทีมจึงร่วมกันออกแบบ “ปฏิทินกิจกรรม” เพื่อให้เห็นแผนการดำเนินงานว่าจะทำอะไร ในช่วงใหน และใครจะต้องเข้ามามีบทบทบาทบ้าง

“ทีมเราทำปฏิทินจัดการเวลา 2 แบบ แบบแรกคือ แผนการทำงานหรือปฏิทินของตัวเองว่าในแต่ละวันจะต้องทำอะไรกันบ้าง เช่นไปเรียน ไปทำกิจกรรมโรงเรียน หรือไปติวช่วงไหน เพื่อให้เห็นงานของตัวเอง เป็นการบริหารจัดการเวลาของตัวเอง อีกปฏิทินคือปฏิทินโครงการ ก็ทำคล้าย ๆ กันคือต้องดูว่าใครว่างช่วงไหน ว่างไม่ตรงกันก็ไม่เป็นไร ก็ดูว่าใครวางมากเราก็เอาเวลาตรงนั้นมาทำกิจกรรมของโครงการ เราก็ออกแบบให้มันห่าง ๆ ไว้ เผื่อไว้ว่า บางทีมีกิจกรรมของโรงเรียนมาแทรก เราไม่อยากให้มันเป็นปัญหาเหมือนโครงการแรก”

และปฏิทินเวลาทั้งของตัวเองและของโครงการทำให้น้อง ๆ สามารถแบ่งเวลามาทำโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่...หนทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายฉันได มีแผนการทำงานที่ชัดเจนขนาดไหน อุปสรรคย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

“เพราะตอนไปสำรวจแหล่งน้ำในเขตป่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย ฝนตกตลอดเวลาเก็บข้อมูลป่าไม่ได้ น้ำก็ขุ่นมองไม่เห็นปลาที่อยู่ใต้น้ำเลยซักตัว”

ต้องทำความเข้าใจธรรมชาติ

น้อง ๆ กลับมาตั้งหลักกันใหม่ เริ่มปรึกษาพ่อหลวงบ้าน และพี่โบว์ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้แนวทางแก้ไขคือการ “กำหนด” หรือ “เลือก” พื้นที่อนุรักษ์ ว่าจะเอาตรงไหน ทำให้ไม่จำเป็นต้องออกไปสำรวจป่าทั้งหมด ซึ่งการกำหนดแนวเขต ทำให้ง่ายต่อการเก็บรวบรวมข้อมูล อีกทั้งยังสามารถใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็น “เขตอนุรักษ์” ไปด้วย

“เราก็เลือกแนวป่าตรงสะพานที่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก เนื่องจากตรงนั้นมีการขุดลอกทรายออก เราก็ไปเก็บข้อมูลมาว่า ตรงนั้นเคยมีต้นไม้อะไรบ้างด้วยการสอบถามชาวบ้าน จากนั้นก็จัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ และบวชป่า เราเรียกกิจกรรมพวกนี้ “บวช ปล่อย ปลูก” คือ การบวชป่า ปล่อยปลา และร่วมกันปลูกต้นไม้ตลอดทั้งแนว เพื่อให้รากไม้ยึดดินไม่ให้ดินมันไหลลงน้ำกรณีฝนตกหนัก และก็กำหนดให้มีการปลูกต้นไม้เพิ่มเป็นระยะ ๆ ”

ความสำเร็จจากการ “บวชป่า” และปลูกต้นไม้เพิ่มคือความพยายามของกลุ่มน้อง ๆ ที่ลงมือปฏิบัติการอย่างแข็งขัน บวกกับแรงหนุนของพ่อหลวงบ้าน ทำให้คนในชุมชนเริ่มเห็น “ความเอาจริงเอาจัง” ของกลุ่มเยาวชน กิจกรรมปลูกต้นไม้ในระยะต่อ ๆ มาจึงมีชาวบ้านมาช่วยกันปลูกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

และเมื่อถึงกิจกรรมที่เป็น Hi-Light คือการ บวชปลา ซึ่งน้อง ๆ ได้แนวคิดมาจากจากบวชป่า การบวชก็คือการห้ามตัด ห้ามทำลาย ดังนั้นการบวชปลาก็เป็นเสมือนการต่อชีวิตให้ปลา และให้หลุดพ้นจากการล่าไปเป็นอาหาร

“เราทำให้การบวชปลาเป็นความเชื่อ เหมือนกับปลาผ่านการบวชแล้ว ห้ามจับไปกิน ใครจับไปกิน บาป เหมือนบวชป่า ก็หามตัด บวชปลาก็คือห้ามกิน” ออมอธิบาย พร้อมกับเสริมว่า จะทำให้กิจกรรม “บวชปลา” เป็นเสมือนการบอกกล่าวกับชุมชนว่าบริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งอนุรักษ์ ห้ามจับปลารวมทั้งร่วมกันออกกฏ กติกา กรณีมีการลักลอบจับปลา กติกาคือ หากมีการเห็นการลักลอบจับปลาปรับ 10,000 บาท ซึ่งผู้แจ้งเบาะแสจนนำไปสู่การจับกุมจะได้รับเงินครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งเข้ากองกลางเพื่อนำพัฒนาวังปลาต่อไป...และนับเป็นเรื่องน่ายินดีว่า จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการจับ และ ปรับใคร” ปราง กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ความภาคภูมิใจอีกเรื่องที่น้อง ๆ บอกคือพวกเธอสามารถประสานนายอำเภอมาเป็นประธานในพิธีและร่วมตัดริบบิ้นเปิดวังปลาแห่งแรกของคนแม่จริม

“พอนายอำเภอมา คนก็มากันเยอะ ทั้งผู้สูงอายุ เยาวชนในหมู่บ้าน รวม ๆ แล้วราว ๆ 50 คน และเป็นครั้งแรกที่คนมาร่วมกิจกรรมกับเรามากขนาดนี้”

“รักษ์” อย่างเข้าใจ

เมื่อโครงการจบลง ความตั้งใจของน้อง ๆ สัมฤทธิ์ผล แม้มันจะเป็นจุด หรือ วังปลาเล็ก ๆ บนสายน้ำที่ยาวไกล และกว้างใหญ่ของจังหวัดน่าน แต่ผลของมันทำให้ที่ตรงนั้นกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ เด็ก ๆ จึงมีแนวคิดจะทำเป็นจุดให้ขายอาหารปลา เพื่อนำรายได้มาเป็นกองทุนในการดูแลลำน้ำของพวกเขา

และสิ่งที่ได้ติดตัว คือความเข้าใจในระบบการทำงานร่วมกันของทีม โดยเฉพาะการแบ่งเวลาที่ทั้ง 4 คนพูดตรงกันคือ “เวลา” คือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

“เราโชคดีที่เราเคยทำโครงการมาก่อน และมันเละอย่างที่บอกไป เราก็เอาตรงนั้นมาปรับ คือเรื่องการแบ่งเวลาและการวางแผน โครงการก่อน ๆ เราไม่เคยทำแผน เลยไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนก่อน พอเวลานัดกันมาทำงาน คนนั้นไม่ว่าง บางคนก็ติดเรียน พอเราจัดสรรเวลาได้ เราเข้าใจระบบงาน เราก็ทำงานได้ งานเราก็สำเร็จ”


โครงการวัยใสรักษ์น้ำ

ที่ปรึกษาโครงการ : นลินี เขื่อนจัน เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลแม่จริม

ทีมงาน :

  • ชรินรัตน์ พรมไชยยะ 
  • ณัฐติยา กันใจมา
  • นฤมล พรมไชยวงค์ 
  • ปรียาพร โนราช