สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการแนวทางการฟื้นฟูผักพื้นบ้านโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านดอนใหม่

          โครงการแนวทางการฟื้นฟูผักพื้นบ้านโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านดอนใหม่ เกิดจากการรวมตัวของแกนนำเยาวชนทั้ง 5 คน ที่ตั้งคำถามถึงแหล่งอาหารและพืชพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ค่อยๆ หายไปจากชุมชม หมู่บ้านดอนใหม่ หมู่ 5 มีลักษณะที่ตั้งเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำน้ำมวบไหลผ่าน ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่หันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด จึงได้ขยายพื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ป่าที่เคยมีผักและหาอาหาร ก็ลดลงและเริ่มหายไป คนในชุมชนหันมาซื้อผักจากตลาด ซึ่งอาจจะมีสารพิษตกค้าง เพราะเป็นผักที่เดินทางมาจากนอกพื้นที่ กลุ่มเยาวชนเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากศึกษาเพื่อฟื้นฟูผักพื้นบ้านโดยสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน

          กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมที่เยาวชนเริ่มทำคือ ช่วงแรกพวกเขาลงไปทำความเข้าใจกับคนในชุมชน แต่มีคำถามสงสัยว่าทำไมเยาวชนถึงทำ เพราะอะไร กลุ่มเยาวชนจึงปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านสนับสนุน ช่วยประชาสัมพันธ์ในวันที่มีประชุมประจำเดือน กระจายข่าวให้ชาวบ้านรับรู้ สนับสนุนในการทำกิจกรรม ทั้งสถานที่ อุปกรณ์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน เยาวชนได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาหลักคือคุณยายของเบลล์ เรื่องการขึ้นแปลงผัก พร้อมให้ใช้สถานที่ทำแปลงผักทดลอง สนับสนุนพันธุ์ผักพื้นบ้าน ไปจนถึงช่วยดูแลผัก และมีปราชญ์ชาวบ้านร่วมแนะนำ ให้ความรู้เรื่องพันธุ์ผักพื้นบ้าน ให้เมล็ดพันธุ์ บอกเล่าความเชื่อเรื่องการปลูกผัก เรื่องการทำความรู้จักดิน มีหมอดิน ให้ความรู้เรื่องปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ส่วนอสม. ช่วยสนับสนุนและร่วมปลูกผักพื้นบ้านที่บ้านของตนเอง และยังมีคนในชุมชนกว่า 70 % ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งการปลูกในแปลงที่ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับบ้านของแต่ละคน หรือแม้กระทั่งปลูกในกระถาง

          เยาวชนเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับการทำงาน จากเดิมพวกเขายังมีทักษะการสื่อสารไม่มากนัก การเรียบเรียงสื่อสารยังไม่คมชัดทำให้การสื่อสารกับคนในชุมชนไม่ชัดเจน แต่หลังจาการทำงานพวกเขาเพิ่มพูนทักษะ เรียบเรียงและทำงานอย่างมีระบบ แบ่งงานกันอย่างชัดเจน ที่มีทั้งฝ่ายการเงิน ฝ่ายการจดบันทึก ฝ่ายประสานงาน และช่วยลงมือทำ ทำแปลง ปลูกผัก สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน ถอดบทเรียน ทำงานเอกสารร่วมกัน พลังของเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจ ทำงานชุมชนด้วยความรัก มิตรภาพที่ผูกพันทำให้พวกเขารู้จักการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแก้ไขปัญหาร่วมกัน พวกเขาให้กำลังใจและมองโลกในแง่ดี แม้ระหว่างทางจะมีเพื่อนที่หายไปจากการทำกิจกรรม แต่ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้เยาวชนหยุดทำ พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออกเป็นต้นทุนเดิม จึงกล้าหาญเริ่มต้นทำโครงการฯ เพื่อชุมชน จากที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำโครงการ พวกเขาสะสมประสบการณ์ทั้งทางปฏฺิบัติการและการจัดการเอกสาร การประเมินการปลูกผักให้ตรงฤดูกาลและทำอย่างถูกวิธี กลุ่มเยาวชนรู้สึกภูมิใจในการเรียนรู้เพราะพวกเขาเห็นว่าเป็นต้นทุนชีวิตที่ดี ที่จะนำไปปรับใช้ในรั้วมหาวิทยาลัย

          อนาคตเยาวชนอยากให้ผักพื้นบ้านเป็นตัวแทนเชื่อมสานสัมพันธ์ในชุมชน เพราะทุกบ้านไม่ได้ปลูกเหมือนกันหมด แต่บ้านใครมีอะไรหรือจะใช้ผักชนิดไหนทำอาหารก็แบ่งปันกันในชุมชน อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และลดสารตกค้างในร่างกายจากการรับประทานผักที่ซื้อมาจากแหล่งที่ไม่รู้ต้นทาง สร้างสุขภาพที่ดีไปด้วยกัน

ความโดดเด่น

- โครงการฯ สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนโดยการสร้างความร่วมมือให้ทุกคนมีส่วนร่วมตามประสบการณ์และความชำนาญของตนเอง

- เลือกผักพื้นบ้านในการศึกษาและสร้างการมีส่วนร่วมเพราะเป็นอาหารที่อยู่ในวิถีและ 1 ในปัจจัย 4 ที่ทุกบ้านต้องบริโภค จึงได้รับผลตอบรับมากถึง 70 %

- แกนนำเยาวชนทำงานเป็นทีม รับผิดชอบ และทำงานอย่างมีระบบชัดเจน

" โครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน เพราะกลุ่มเยาวชนสร้างความเข้าใจและประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายในชุมชน ฟื้นฟูวิถีเกื้อกูลเดิมของชุมชนให้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง การแบ่งปันพันธุ์ผัก และผัก เป็นหัวข้อการศึกษาที่ทุกบ้านให้ความสนใจ เนื่องจากเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่ต้องใช้ในทุกวัน การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสุขภาพทำให้ผลตอบรับออกมาดี อีกทั้งเยาวชนแกนนำ ทำงานอย่างมี กลยุทธ์ ทำงานอย่างตั้งใจ มีการทำงานเป็นทีมที่ดี มีทักษะการสื่อสาร กล้าแสดงออก จึงส่งผลเชิงบวก "


บทสัมภาษณ์โครงการเด่น :  

ถาม แนะนำตัวเองและบทบาทหน้าที่ในโครงการ

ไอซ์ สวัสดีครับ ผมชื่อไอซ์ นวมินต์ อิ่นมะโน อายุ 16 ปี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสันติสุขพิทยาคม ผมเป็นรองหัวหน้าโครงการ

โฟส หนูชื่อนางสาวพีระดา ประชานุกุล ชื่อเล่นโฟส ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนันทบุรีวิทยาในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นผู้ช่วยเลขา

กีตาร์ นางสาวกัลยาณี ดีสม ชื่อเล่นกีตาร์ ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสันติสุขพิทยาคม ตำแหน่งหัวหน้าโครงการ

เบลล์ นางสาววนิศรา อิ่นมะโน ชื่อเล่นเบลล์ ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร ตำแหน่งเลขา


ถาม ทำโครงการอะไร โครงการที่ทำมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในชุมชนอย่างไร

กีต้าร์ โครงการอนุรักษ์ผักพื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชน เพราะว่าในปัจจุบันผักพื้นบ้านในชุมชน ที่เป็นผักพื้นบ้านหายาก มีจำนวนน้อยลงและสูญพันธุ์

ไอซ์ ผักที่พวกเราไม่รู้จักพวกเราอยากจะอนุรักษ์ผักให้ยังคงอยู่ต่อไป

เบลล์ แรงบันดาลใจที่พวกเราเลือกที่จะทำสิ่งนี้ เพราะว่าเราไม่ค่อยเห็นที่อื่นทำเกี่ยวกับการอนุรักษ์ผักพื้นบ้าน ส่วนใหญ่ที่คนอื่นทำกันจะเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์น้ำ พวกเรารู้สึกว่าการอนุรักษ์พันธุ์ผักเป็นสิ่งที่แตกต่าง เราอยากลองทำดู งานนี้ท้าทายกับพวกเรา


ถาม สถานการณ์เกี่ยวกับเรื่องผักพื้นบ้านในชุมชนเป็นอย่างไร

กีต้าร์ สมัยก่อน ในหมู่บ้านของเราจะมีการปลูกผักเองกินกันเองภายในครัวเรือน แต่พอปัจจุบันคนในหมู่บ้านไม่ได้ปลูกผัก กลับไปซื้อกินเพราะว่ามีความสะดวกมากกว่าถ้าเราไปซื้อจากตลาด

โฟส สมัยก่อนในหมู่บ้านจะมีพันธุ์ผักมากกว่าสมัยนี้ มีผักหลายชนิดที่เริ่มหายไปจากชุมชน


ถาม ช่วยยกตัวอย่างผักพื้นบ้านที่หายไปจากชุมชน

เบลล์ ผักที่หายไปหนูยังไม่สามารถจะตอบได้ หนูตอบได้ว่าเป็นผักที่หายากขึ้นดีกว่าค่ะ

กีต้าร์ พวกเราจะสนใจผักที่มีจำนวนน้อยและผักที่หายาก เราจะไปถามปราชญ์ชาวบ้านและผู้รู้ในชุมชน ผักที่หายาก เช่นผักจันจ้อ ใบแมงลัก ในชุมชนไม่มีพื้นที่ปลูกผักเพราะว่าจะต้องขยายหมู่บ้าน ในพื้นที่ป่าเมื่อก่อนมีผักขึ้นเยอะ

ไอซ์สมัยนี้พอเขาทำไร่ทำนาทำสวนพื้นที่เหล่านั้นก็ถูกทำลาย

เบลล์และบางครั้งผักเหล่านั้นจะเพาะพันธุ์ยาก บางคนไม่รู้วิธีเพาะพันธุ์ อาจทำให้ผักเหล่านั้นหายไป


ถาม สิ่งที่พวกเราทำสร้างการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนอย่างไร

ไอซ์ ก่อนที่เราจะทำโครงการเราเห็นชาวบ้านไปซื้อผักจากตลาด ไปซื้อผักนอกหมู่บ้าน เราไม่รู้ว่าผักพวกนั้นมีสารพิษตกค้างหรือไม่ พอเราทำเรื่องนี้ชาวบ้านรับรู้ เราได้เผยแพร่ความรู้เรื่องผักพื้นบ้านกับเขา ชาวบ้านจึงปลูกผักในบริเวณบ้านตัวเองมากขึ้น

เบลล์ หนูคิดว่าผู้ใหญ่ในชุมชนเห็นศักยภาพของพวกเรามากขึ้น เขาเห็นว่าเยาวชนอย่างเราสามารถทำงานที่ผู้ใหญ่ทำก็ได้ เราสามารถทำงานที่เป็นรูปแบบกระบวนการและเป็นขั้นตอนได้เหมือนกัน

กีต้าร์ คนในชุมชนตระหนักถึงผักที่กำลังจะหายไปจากชุมชน เขาคิดได้ว่าเราควรที่จะปลูกผักชนิดนี้ไว้นะเผื่อวันหนึ่งมันหายไปเราจะทำอย่างไร ผักแต่ละพันธุ์จะมีประโยชน์ที่แตกต่างกัน ถ้าเราต้องการประโยชน์แบบนี้จากผัก เราก็อาจจะหาไม่ได้แล้ว


ถาม ช่วยยกตัวอย่างสถานการณ์ตอนที่เราลงไปในชุมชน คนในชุมชนให้การตอบรับเราอย่างไร

กีต้าร์ ตอนที่ลงชุมชน มีคุณยายของน้องเบลล์มาช่วยเพราะว่าคุณยายปลูกผักที่บ้านเยอะ อะไรที่พวกเราทำไม่ได้คุณยายจะช่วยชี้แนะว่าแบบไหนถูก แบบไหนผิด

เบลล์ คุณยายของเบลล์จะคอยสนับสนุน อยู่เบื้องหลังพวกเรา


ถาม ในชุมชนปลูกผักทุกบ้านหรือไม่ ช่วยเล่าถึงผลลัพท์ที่เกิดขึ้นในชุมชน

กีต้าร์ โครงการฯ เราให้ปลูกในทุกบ้าน จะปลูกเล็ก ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องพื้นที่ใหญ่ ปลูกในกระถางเล็ก ๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกผักทุกอย่างแต่ปลูกผักที่เราไว้ใช้กิน เช่น ต้นหอม ผักชี จะได้ไม่ต้องไปเสียเงินซื้อ ชาวบ้านปลูกกันเกือบทุกหลังคาเรือน ปลูกประมาณ 70% จะมีเพียงบางหลังที่เขาไม่ปลูกเพราะว่าเขาไม่ค่อยสนใจแต่เป็นส่วนน้อย


ถาม หลังจากที่คนในชุมชนปลูกผักเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับคนในชุมชนบ้าง

กีต้าร์ เป็นการลดค่าใช้จ่าย ผักบางชนิดเคยต้องไปซื้อแต่ตอนนี้เราปลูกเอง ไม่จำเป็นต้องไปซื้อ


ถาม การเปลี่ยนแปลงเรื่องสุขภาพของคนในชุมชมมีไหม

ไอซ์ เรื่องสารเคมี เราไม่ได้เจาะจงนัก

กีต้าร์เราจะเน้นเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ผักมากกว่า แต่ทางเราสื่อสารกับชาวบ้านว่าการใช้สารเคมี ไม่ดีต่อสุขภาพ และยังสะสมในร่างกาย


ถาม มีใครในชุมชนให้ความร่วมมือกับพวกเราบ้าง ช่วยยกตัวอย่างสถานการณ์

กีต้าร์ ผู้ใหญ่บ้านและอสม. ผู้ใหญ่บ้านจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านเรารับรู้ว่ามีกิจกรรมอะไร

ไอซ์เวลามีเวทีที่เราต้องการความช่วยเหลือ ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นคนช่วยประชาสัมพันธ์

ไอซ์ปราชญ์ชาวบ้านคือตากับยายของน้องเบลล์ จะเป็นคนมาให้ความรู้และชี้แนะเรื่องวิธีการการปลูกผัก การดูแลให้เติบโต พวกเราไปขอความรู้จากหมอดินเกี่ยวกับปุ๋ยหมักว่าทำอย่างไร แต่เราไม่ได้ทำปุ๋ยหมักเพราะระยะเวลาสั้น

เบลล์พวกเราเลยเปลี่ยนมาทำปุ๋ยคอกเองเพราะว่าสามารถใช้ได้เหมือนกัน


ถาม วิธีการปลูกผักพื้นบ้านในชุมชนให้ยั่งยืนต้องทำอย่างไร

กีต้าร์ ก่อนที่จะปลูกผักต้องดูช่วงฤดูกาล ประเมินว่าถ้าปลูกผักช่วงฤดูนี้ผักจะขึ้นไหม ผักบางชนิดไม่ขึ้นในบางฤดู อันนี้เป็นประสบการณ์จากพวกหนูโดยตรงเพราะว่าพวกเราเคยปลูกผักผิดฤดูทำให้มันไม่เติบโต เรื่องดินก็เป็นส่วนหนึ่งเราจะใช้ดินอย่างไรให้เหมาะสมกับผักที่เราปลูกเป็น พวกหนูเคยปลูกผักในดินเหนียว ผักไม่ขึ้น พวกเราทดลองปลูกผักหลายชนิดแต่ส่วนใหญ่จะขึ้นแค่ผักพี่โตง่าย เช่น ผักบุ้ง ใบแมงลัก

เบลล์ พวกเราได้รับคำแนะนำจากปราชญ์ชาวบ้านมา คือการขึ้นแปลงผัก ถ้าเราทำเอง เราขึ้นแปลงผักสูงมาก ปราชญ์ชาวบ้านบอกว่าอย่าขึ้นแปลงดินสูงเพราะว่าเวลาที่รดน้ำดินจะไหลเมล็ดพันธุ์ผักจะไหล ควรจะขึ้นแปลงผักให้เหมาะสม ชาวบ้านนำวิธีการนี้ไปใช้ปลูก พืชผลดีขึ้น ดีกว่าที่เราทดลองปลูกอีก เพราะว่าดินที่เราปลูกเป็นดินแดงดินเหนียวและแข็งมาก พวกเราต้องไปปรับดิน เมื่อชาวบ้านเอาไปปลูก ของเขาได้สภาพของหน้าดินที่ดีกว่าเรา พืชผลของเขาจึงดีขึ้น


ถาม พวกเราได้บทเรียนอะไรจากการปลูกผักของชาวบ้าน

เบลล์ หนูคิดว่าจากที่พวกเราเป็นคนให้ความรู้เขา แต่ชาวบ้านเขาให้ความรู้เรากลับมา

กีต้าร์เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ให้กันและกัน ระหว่างเยาวชนและชาวบ้าน

เบลล์ พวกเราเห็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านมีมาก่อน ซึ่งเขามีประสบการณ์มาก่อนและประสบความสำเร็จ เขาเอาภูมิปัญญานี้มาบอกต่อกับเรา เรารู้สึกดีใจมาก พวกเราได้เรียนรู้ แล้วนำเอามาปรับใช้ในโครงการของเรา

กีต้าร์ก่อนที่เราจะมาทำอะไรแบบนี้ พวกเราศึกษาจากอินเตอร์เน็ตแล้วนำมาลงมือทำ ถ้าเราทำตามในอินเตอร์เน็ตอาจจะได้ผลดีครึ่งหนึ่ง พอชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้านมาบอกเรา ทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้น เพราะเป็นของจริงที่ผ่านมากจริง


ถาม ช่วยประเมินเป้าหมายโครงการที่เราทำ ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จและไม่สำเร็จคืออะไร

กีต้าร์ พวกเราทำสำเร็จประมาณ 60-70% หนูขอยกตัวอย่างตอนที่เราทดลองปลูกผักคือเราปลูกแล้วผลผลิตไม่ตรงตามที่คาดหวัง เช่นเราปลูกไปประมาณ 50% แต่ออกผลแค่ 20% ยังไม่ถึงเป้าที่เราต้องการ

เบลล์ผลสำเร็จของเราก็คือชาวบ้านส่วนมากและคนในชุมชนได้รับพื้นฐานเรื่องการปลูกผัก ถึงจะไม่ใช่ผักพื้นบ้านทั้งหมด แต่อย่างน้อยเขาได้มีการปลูกผักเอาไว้ใช้ นี่คือความสำเร็จด้วย ส่วนความสำเร็จน้อยคือเรื่องของผักพื้นบ้าน ที่นำมามาขยายพันธุ์ยาก การตามหาเมล็ดพันธุ์ก็ยาก คือสิ่งที่พวกเรายังรู้สึกไม่ค่อยประสบความสำเร็จ

กีต้าร์ ความสำเร็จอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องความร่วมมือจากชาวบ้าน เขาให้ความสำคัญกับโครงการเกินความคาดหมาย ให้ความร่วมมือดีมาก


ถาม อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้โครงการสำเร็จมาถึง 60%

ไอซ์ การให้กำลังใจและคอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในเวลาที่ท้อ พวกเราช่วยกัน ทำให้มันสำเร็จ

กีต้าร์ ใครท้อเราก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เราไม่ได้เดินมาคนเดียวนะ เราเดินมาด้วยกันเป็นกลุ่ม เราก็ควรจะไปเป็นกลุ่มด้วยกัน อีกอย่างคือความร่วมมือของชาวบ้าน ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเราอาจจะไม่มีกำลังใจและมีผู้ใหญ่บ้านที่ช่วยสนับสนุนพวกเราอย่างดี

ไอซ์ ตอนแรกที่เราเข้าชุมชน ชาวบ้านถามว่าเรามาทำไม มาทำอะไร ทำแล้วได้อะไร เราเลยไปคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านประสานงานและคุยกับชาวบ้านให้ พอถึงวันประชุมประจำเดือนผู้ใหญ่บ้านเขาช่วยพูดกับชาวบ้านให้จนชาวบ้านเข้าใจในสิ่งที่พวกเราทำ

เบลล์ตอนนั้นการสื่อสารของพวกเรายังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ พวกเรายังตื่นเต้น เรียบเรียงคำพูดไม่ถูก


ถาม ช่วยยกตัวอย่างเหตุการณ์การให้กำลังใจกันและกันของสมาชิกในทีม

กีต้าร์ เพื่อนในกลุ่มมี 5 คน แต่อีกคนหนึ่งเขาไม่ค่อยจะมา ไม่ค่อยสนใจงาน เราอยากจะดึงเขากลับมา ตอนนั้นเราก็ให้กำลังใจกันและกัน พวกเราพยายามกระจายหน้าที่ของคนที่หายไป เราบอกกันว่า “ถ้าเขาไม่อยากทำไม่เป็นไร พวกเราช่วยกันรับหน้าที่ตรงนี้ด้วยกันดีกว่า มีแค่ไหนเราก็ทำแค่นั้น”

โฟส พวกเราเป็นกำลังใจให้กันและกันในการทำงาน เราปลอบใจกันบอกว่า “สู้ๆ เราจะต้องผ่านไปด้วยกันมันใกล้จะจบแล้วอย่าเพิ่งท้อให้ลุกขึ้นมาก่อน”

กีต้าร์ คือทีมพวกเราเราแบ่งหน้าที่กัน เช่น ถ้าเอกสารมา เราจะแบ่งหน้าที่กันว่าใครทำอะไร แต่พอเพื่อนคนที่หายไปเขาทำเรื่องบัญชีและเรื่องเงิน พอเขาหายไปเราเลยดึงเพื่อนอีกคนหนึ่งขึ้นมาทำแทน

เบลล์ เพื่อนคนนี้จะทำเอกสารในคอมพิวเตอร์ ส่วนอีกคนจะทำเรื่องบัญชีการเงิน ส่วนหนูจะทำเรื่องเคลียร์เอกสาร เราจะเอางานของเพื่อนที่หายไปมากระจายให้ทุกคนทำ

กีต้าร์ นี่คือสิ่งที่หนูรู้สึกภูมิใจมาก เพราะว่าตอนที่ทำโครงการปี 3 เราไม่ได้ทำงานแบบเป็นระบบแบบนี้ ตอนนั้นพวกเราเป็นเด็กใหม่ ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ตอนนี้หนูรู้สึกว่าเราทำงานได้เป็นระบบระเบียบมีเอกสาร

โฟส เราเคยคิดว่า เราจะทำกันได้ไหม งานเอกสาร

เบลล์ พอเราเห็นเอกสารในครั้งแรกเรากังวลว่าเราจะทำได้หรือเปล่า

กีต้าร์ ตอนปี 3 ที่พวกหนูทำกัน จะทำในส่วนแค่ดำเนินกิจกรรม เอกสารเป็นเรื่องของพี่เลี้ยง แต่พอตอนนี้ได้ลงมือทำแบบจริงจังเอกสารเคลียร์เอง เรื่องการเงินเราก็เคลียร์เอง แม้รู้สึกว่ายาก แต่เราให้กำลังใจกัน สู้ไปด้วยกัน


ถาม บทบาทของพี่เลี้ยงมีส่วนในการสนับสนุนพวกเราอย่างไรบ้าง

กีต้าร์ พี่เลี้ยงจะคอยถามถึงงานของพวกเรา ให้คำแนะนำในส่วนที่เราไม่เข้าใจ เช่น เวลาเราทำงานเอกสารต้องใช้ภาษาทางวิชาการ พี่เลี้ยงเคยทำมาก่อน เขาจะคอยช่วยชี้แนะว่าต้องพิมพ์แนวไหนใช้ศัพท์ว่าอะไร เพราะพี่เลี้ยงเป็นครูภาษาไทยด้วยค่ะ

เบลล์ เพราะพวกหนูสับสนระหว่างภาษาไทยกับภาษาเมือง


ถาม เวลาที่เกิดคำถามระหว่างตอนที่ทำโครงการขอคำปรึกษาจากใครบ้าง

ไอซ์ ปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องของการมาสาย จะปรึกษาพี่กอล์ฟ (พี่เลี้ยง) พี่ข้าวโอ๊ต ที่เป็นพี่โครงการเครือข่ายเขาอยู่หมู่บ้านเดียวกับผม

เบลล์ ปัญหาคลี่คลายค่ะ แต่ปัญหาการมาสายมีบ่อยมากค่ะ อย่างเรานัดกัน 9 โมง ถ้ามาช้า 10 นาทีเราจะเปลี่ยนไปเป็น 13:00

กีต้าร์ แต่งานพวกเราก็เสร็จ แต่จะช้าหน่อย


ถาม จุดเด่นของโครงการคือเรื่องอะไร

ไอซ์ ผมคิดว่าเป็นเรื่องกระบวนการทำงานพวกเราที่เริ่มจากศูนย์จนขึ้นมาเป็น 10 20 50 ถึง100

การทำงานของเราในตอนแรกไม่มีพื้นฐานมาก่อนเลย ว่าการทำงานเป็นทีมทำอย่างไรการทำเอกสารหรือการเคลียร์การเงินทำกันอย่างไร การจัดการเวลาทำอย่างไร เราค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ

เบลล์ หนูคิดว่าเป็นเรื่องการพูด กลุ่มเราเป็นกลุ่มที่การแสดงออก อาจจะมีสาระหรือไม่มีสาระบ้างแต่ก็ถือว่ามีความโดดเด่น

กีต้าร์ ตอนที่นำเสนอโครงการเราคิดว่าถ้าเรานำเสนอโครงการแบบธรรมดามันจะดูน่าเบื่อ เราพยายามคิดว่าเราจะนำเสนออย่างไรไม่ให้ดูน่าเบื่อ เราเลยจัดเต็มโดยการร้องเพลง เราให้ทุกคนท่องจำ จำบทพูดของตัวเองแบบไม่ต้องดู

เบลล์ จุดแข็งของกลุ่มเราอีกอย่างหนึ่งคือเรามีเป้าหมายที่แน่วแน่ว่าเราจะอนุรักษ์ผักพื้นบ้านและชาวบ้านจะต้องทำให้ได้เหมือนกับเรา

กีต้าร์ มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าเราจะมาทำอะไร


ถาม มองอนาคตของชุมชนเป็นอย่างไร?

กีต้าร์ แต่ละบ้านไม่จำเป็นจะต้องปลูกผักทุกชนิดที่ครัวเรือน แต่อาจจะถามข้างบ้านว่าเขามีไหมจะได้แบ่งปันกัน ผักพื้นบ้านจะเป็นการสร้างสัมพันธ์ของคนในชุมชน

เบลล์ มันเป็นเหมือนภูมิปัญญาที่มีมาตั้งแต่ก่อน ในการแลกเปลี่ยนผักซึ่งกันและกันเราได้อนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้ด้วย


ถาม รู้สึกหรือคิดเห็นอย่างไรกับวิถีชีวิตเรื่องการแบ่งปันซึ่งกันและกันของคนในชุมชน

กีต้าร์ หนูรู้สึกอบอุ่นเพราะว่าเราเป็นคนบ้านเดียวกัน เหมือนเป็นครอบครัวใหญ่ เราอยู่บ้านข้างกันเราก็สามารถจะขอผักกันได้


ถาม พวกเราประเมินโครงการว่าสำเร็จตามเป้าหมาย 60 % อยากให้ช่วยอธิบายถึง 40 % ที่เหลือคือเรื่องอะไรที่จะทำให้ได้เป้าหมาย 100 %

เบลล์ หนูคิดว่าคือเรื่องการฟื้นฟูผักพื้นบ้านที่มันมีน้อย รู้สึกว่ามันยังหาได้ไม่มากพอ อาจจะรวมถึงเรื่องวิธีการปลูกพันธุ์ผัก เพราะเรายังทำไม่ได้เต็มที่ เราไม่รู้ว่าจะหาพันธุ์ผักมาจากที่ไหนดี

กีต้าร์ผักบางชนิดเราก็ไม่เคยเห็นมันมาก่อน เราไม่รู้ว่าจะไปดูของจริงได้ที่ไหน ถ้าเราได้เห็นมันจริง ๆ เราอาจจะช่วยกันคิดค้นว่าทำอย่างไรเราจะขยายพันธุ์ต่อไปได้


ถาม ถ้าจบโครงการนี้แล้ว พวกเรามองอนาคตเรื่องการฟื้นฟูผักพื้นบ้านอย่างไร

กีต้าร์ ผักพื้นบ้านน่าจะส่งผลกับชาวบ้านมากกว่าพวกเรา ถ้าพวกหนูยังต้องทำตรงนี้ต่อไป พวกหนูอาจจะไม่มีเวลาแล้ว แต่ถ้าชาวบ้านยังทำต่อไปเขายังสามารถที่จะฟื้นฟูผักด้วยตัวเองต่อไปได้

เบลล์ พวกเราได้ไปจุดประกายความคิดของเขาไว้แล้ว


ถาม จากการที่ทำโครงการนี้พวกเราเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง?

กีต้าร์ สำหรับหนูจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบ เพราะว่างานที่เราทำไม่ใช่งานเล็ก หรือคนที่อยู่ในวัยมัธยมแบบพวกหนูจะมาทำอะไรแบบนี้ พองานมันใหญ่สิ่งที่เรามีคือความรับผิดชอบ มันทำให้รู้สึกว่าเราจะละทิ้งไม่ได้นะ เราต้องตั้งใจทำ หนูได้ทักษะตรงนี้

ไอซ์ สำหรับผมจะเป็นเรื่องของกระบวนการคิดและการวางแผน ตอนแรกเราไม่มีความคิดว่าเราจะทำแบบนี้ เราไม่เคยทำเอกสารอะไรแบบนี้มาก่อน กลุ่มเราจะเน้นไปทางการทำกิจกรรมมากกว่าการทำเอกสาร เอกสารมันทำให้เราเครียด

โฟส หนูได้เรียนรู้ทักษะการทำงานของกลุ่ม เรื่องของการทำบัญชี ตอนแรกหนูไม่เคยสนใจเรื่องบัญชี ในกลุ่มจะเป็นคนวางแผนให้หนูทำเรื่องอื่น เรื่องบัญชีหนูจะไม่ยุ่ง หลังจากที่เพื่อนหายไป หนูได้ขึ้นมาทำบัญชี ทำหนูได้เรียนรู้เรื่องการทำบัญชีเพิ่มขึ้นและเรียนงานด้านอื่นของเพื่อนด้วยค่ะ

เบลล์ สิ่งที่หนูได้เรียนรู้คือการทำหน้าที่ของตัวเอง เราทำหน้าที่ตามความสามารถของตัวเอง หนูถนัดเรื่องของการจดและการพูด ถ้าได้รับคำแนะนำมาหนูจะทำหน้าที่จดและถ้ามีกิจกรรมอะไรหนูจะทำหน้าที่วางแผนและเขียนงานให้เพื่อน


ถาม ทักษะที่ได้จากการทำโครงการมีส่วนช่วยในการต่อยอดอนาคตของพวกเราอย่างไร

กีต้าร์ สำหรับตัวหนูจะเป็นเรื่องของการเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนหน้าที่หนูจะมาทำโครงการนี้ หนูเป็นคนที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น กิจกรรมไม่เล่นไม่เคยเข้าร่วมอะไรที่สร้างสรรค์ ไม่ชอบการทำงานเป็นทีมเพราะมันดูวุ่นวาย พอมาลองทำแล้วรู้สึกดีค่ะเพราะว่าเราไม่ได้ทำอะไรแค่คนเดียว ตรงไหนที่ทำไม่ได้ พวกเราก็ช่วยกัน เราไม่ได้โดนทิ้งไว้แค่คนเดียว ถ้าใครคนใดคนหนึ่งล้มเราจะช่วยดึงและกระชากเขาขึ้นมา ได้เรื่องของการพูดและการกล้าแสดงออกด้วยค่ะ พอเราไปอยู่ในมหาวิทยาลัยในอนาคตเราต้องพูดหรือนำเสนองาน ถ้าเราไปแล้วเริ่มจากศูนย์ที่มหาวิทยาลัยการพูดอาจจะตะกุกตะกัก แต่ตอนนี้เรามีประสบการณ์จากการทำโครงการทำให้เราไม่ต้องไปลำบากตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย เพราะเราได้มีพื้นฐานมาก่อนแล้ว ทำให้เรารู้ด้วยว่างานเป็นทีมมันดีกับเราอย่างไรเราได้เห็นคุณค่าในตัวเรา

ไอซ์ ของผมเป็นเรื่องการทำงานเป็นกลุ่ม และการสื่อสารกับคนอื่น ตอนแรกผมสื่อสารไม่ค่อยชัดเจน การสื่อสารที่ผิดพลาดทำให้งานไม่สำเร็จ พอมาทำโครงการนี้ผมค่อย ๆ ปรับเรื่องการสื่อสาร จากเดิมเราเป็นคนไม่ค่อยพูดไม่กล้าแสดงออกถือว่าเป็นคนพูดน้อยผมเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้และได้ทำงานกับคนอื่น พอสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้นมันก็ดีขึ้น จากเดิมที่อยู่ในโรงเรียนเราก็แค่คือคนหนึ่ง ที่อยู่ในห้องไม่ได้เป็นคนในกลุ่มใหญ่ แต่พอมาทำตรงนี้เราสามารถที่จะทำให้คนทุกคนสามารถเข้าใจ สิ่งที่เราอยากจะสื่อสารได้

เบลล์ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้หนูคิดว่าหนูสามารถนำไปใช้กับที่โรงเรียนได้อย่างชัดเจนที่สุดเพราะว่าก่อนที่หนูจะมาเริ่มทำโครงการต้องมารวมกลุ่มกับเพื่อนและรุ่นพี่ หนูเป็นคนที่ไม่พูดและเรียบร้อยมาก แต่พอมาทำโครงการนี้เป็นการเปิดเผยตัวตนของเราว่าตัวตนจริง ๆ ของเราเป็นอย่างไร เราอยากพูดสิ่งที่เราคิดจากความรู้สึกของเรา เราอยากแสดงความคิดเห็นของเราให้คนอื่นได้รับรู้ได้เห็น


ถาม ช่วยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้เราค้นพบตัวตนที่ซ่อนอยู่ภายใน?

กีต้าร์ น่าจะเป็นตอนแรกจากสถานการณ์บังคับ เพราะว่าตอนปี 3 พวกเราต้องนำเสนอโครงการ เราต้องพูดจากการที่เราเป็นคนไม่กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะ สถานการณ์บังคับเราทำให้เราต้องพูดและพอเราทำซ้ำบ่อย ๆ ทำให้เราอยากจะสื่อสารกับคนอื่นให้ชัดเจนขึ้น

โฟส พอได้ลองพูดก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ยาก แต่ก่อนหนูก็เป็นคนขี้อาย พอเจอคนเยอะหนูก็จะไม่กล้าพูดไม่กล้านำเสนอ แต่ตอนนี้พอหนูกลับไปที่โรงเรียน คุณครูให้พูดหน้าชั้นเรียนหนูก็กล้าพูดพูดหน้าเสาธงต่อหน้าคนทั้งโรงเรียน หนูก็กล้าพูด หนูไม่ปล่อยไมค์เลย

ไอซ์ มันเป็นความเคยชินไปแล้วค่ะ พอได้ไมค์อยู่กับตัวเมื่อไรเราก็พูดได้เลย

เบลล์ พอมาทำโครงการนี้เราต้องพูดบ่อยมาก จนเราชิน ตอนเราไปอยู่ที่โรงเรียน มีคนมางานแนะแนว ครูก็ให้หนูไปเป็นพิธีกร หนูก็ขึ้นมาพูดอย่างมั่นใจเราคุ้นเคยกับงาน งานทำให้เรามีความสุข