กลไกชุมชนบางสะแก

โครงการการจัดการขยะในครัวเรือนที่เหมาะสมกับคนในชุมชนตำบลบางสะแก  อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม

­

          ตำบลบางสะแกเป็นแหล่งปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อสิบปีก่อนราคาส้มโอตกต่ำ ผู้นำชุมชนหารือค้นหาวิธีการทำให้ราคาพืชผลดีขึ้นเพื่อให้เกษตรกรและคนในชุมชนมีรายได้ดีอยู่ดีมีสุข กำนันได้ริเริ่มความคิดใช้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ตำบลให้เป็นที่รู้จัก กลุ่มผู้นำชุมชนร่วมลงขันค่าใช้จ่ายศึกษาดูงานชุมชนท่องเที่ยว จัดตั้งกลุ่มรักษ์บางสะแกเปิดการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ตำบลบางสะแก กลุ่มรักษ์บางสะแก จึงเป็นกลไกขับเคลื่อนงานพัฒนาตำบลบางสะแก

          สกว.ได้เข้ามาพัฒนาศักยภาพคณะทำงานชุมชน โดยใช้โจทย์เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชนและติดตั้งความคิดเชิงระบบด้วยกระบวนการวิจัยท้องถิ่น กลไกชุมชนมีองค์ประกอบของทีมทำงานที่หลากหลายทั้งกำนัน ผู้นำชุมชนทุกฝ่าย ผู้นำกลุ่มองค์กร กลุ่มสตรี กลุ่มส้มโอ ฯลฯ หรือกลุ่มคนโตที่มีทั้งผู้นำโดยตำแหน่งและผู้นำธรรมชาติที่เสนอตัวเข้ามาทำงานร่วมกัน ผู้นำกลไกชุมชนตำบลบางสะแกมุ่งพัฒนาศักยภาพของคนในด้านที่ถนัดและตามความสนใจ ต่อยอดพัฒนาทีมโดยเปิดรับสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาความรู้ทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ กลไกชุมชนบางสะแกมีความตั้งใจในการพัฒนาศักยภาพเยาวชนซึ่งสะท้อนจากที่ทุกหมู่บ้านสมทบทุนทำกิจกรรมให้เยาวชนก่อตั้งชมรมทูบีนัมเบอร์วัน และการจัดกิจกรรมพัฒนาในชุมชนอย่างต่อเนื่องสร้างโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วม แสดงความสามารถ และซึมซับวิถีพัฒนาชุมชนบ้านเกิดจากคนโต

          โครงการการจัดการขยะในครัวเรือนที่เหมาะสมกับคนในชุมชนตำบลบางสะแก เด็กและเยาวชนเลือกประเด็นขึ้นมาทำตั้งใจเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชน ทีมรักษ์บางสะแกมอบหมายให้พี่น้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 เป็นพี่เลี้ยงทีมเยาวชนตั้งแต่เริ่มพัฒนาศักยภาพร่วมกับโหนด เลือกประเด็น เก็บข้อมูล วางแผนกิจกรรม ลงพื้นที่ทำกิจกรรมประสานคนในชุมชนและอบต. กระตุ้นเตือนให้ทำตามแผนงาน โดยมีพี่ตู๋ แพทย์ประจำตำบลบางสะแกดูแลจัดการอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรม และกำนันเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและหลักการสำคัญ ทีมเยาวชน เกิดความเข้าใจการแยกขยะจากการลงมือปฏิบัติจริงที่เริ่มจากตัวเองขยายผลสู่ครอบครัว ญาติพี่น้องและคนในชุมที่สนใจ กลไกชุมชนร่วมกับชุมชนคนบางสะแกจัดงานใหญ่พาเมโล่รัน มีทีมเยาวชนร่วมจัดการแยกขยะด้วยหลักการที่ถูกต้อง ไปถึงการรับจ้างจัดการขยะในงานศิลปะที่แม่กลองมีคนร่วมงานสองถึงสามพันคน นับเป็นความสำเร็จและช่วยยืนยันการต่อยอดโครงการแม้งบประมาณจะหมดลง การจัดการขยะจะขยายผลไปสู่ระดับตำบลโดยกลไกชุมชนบางสะแกเป็นผู้สนับสนุนเยาวชนให้ขับเคลื่อนต่อไป

          ที่นี่บ่มเพาะพลเมืองเยาวชนด้วยวิถีของคนโต เปิดพื้นที่กิจกรรมเยาวชน สร้างแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG: Sustainable Development Goal) ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานที่เข้ามาในชุมชน นักศึกษามหาวิทยาลัยทั้งไทยและชาวต่างชาติ ฝึกเยาวชนทำงานอย่างมีส่วนร่วมตั้งแต่การเลือกประเด็น ร่วมตัดสินใจ ร่วมรับผิดชอบ และรับประโยชน์ เกิดเป็นความตระหนักที่อยากแบ่งเบาภาระของผู้ใหญ่ในเรื่องการจัดการขยะ ส่งเสริมสร้างเครือข่ายเพื่อนเยาวชนจากชุมชนอื่นมาใช้เวลาว่างทำกิจกรรมแทนการเล่นโทรศัพท์อยู่ที่บ้านในวันหยุด ผู้ใหญ่สร้างพื้นที่ปลอดภัย “ผูกพันดูแลกัน เด็กรู้สึกว่ามีผู้ใหญ่ที่พึ่งได้เพิ่มขึ้น” ความสัมพันธ์ที่ดีแบบผู้ใหญ่ที่ดูแลลูกหลาน เปิดทางให้เยาวชนตั้งหลักคิดสั่งสมสำนึกรักชุมชนผ่านการลงมือทำจริง สร้างความเข้าใจกับครอบครัวเด็ก ช่วยจัดการเวลาและสภาวะอารมรณ์ของเด็กให้กลับมาจดจ่อกับงานที่รับผิดชอบ

          การทำโครงการการจัดการขยะในครัวเรือนที่เหมาะสมกับคนในชุมชนตำบลบางสะแก เปิดโอกาสให้คนทำงาน ได้เข้าไปคุยกับคนในชุมชนมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนและฟังเสียงสะท้อนต่อการทำงานของทีม กระชับความสัมพันธ์ระหว่างทีมเยาวชนกับพี่เลี้ยง เปิดโลกกว้างให้กับทีมเยาวนได้รู้จักชุมชนของตัวเอง ย้ำให้เห็นกระบวนการพัฒนาคนที่ต้องไปด้วยกันทั้งทีมพูดคุยสื่อสารจนเข้าใจร่วม ไม่ปิดกั้นตัวเอง เปิดใจรับฟัง ไม่หยุดที่จะเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และการเชื่อมร้อยกับกลไกภายนอกที่เข้ามาและไม่สูญเสียความเป็นตัวเอง

­

ความโดดเด่น

  • ขับเคลื่อนงานพัฒนาด้วยการพัฒนาศักยภาพคนตามความถนัดและความสนใจ
  • วิถีการพัฒนายึดหลักการ อยู่ดี มีสุข และยั่งยืน อย่างมีส่วนร่วมของเยาวชนและชุมชน
  • เป็นตัวเองใช้ฐานทุนที่มีในชุมชนเท่าทันการเปลี่ยนแปลงภายนอกต่อยอดเชื่อมร้อยกับเครือข่าย กลไกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

­

ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. อัญชลีย์ บุญพยุง (ตู๋) อายุ 42 ปี ตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลบางสะแก
  2. ประทุม เรืองทิพย์ (พี่น้อย) อายุ 53 ปี ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลบางสะแก

­

­

สัมภาษณ์วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560

ถาม  ขอให้แนะนำตัว ตำแหน่งในชุมชนและบทบาทในโครงการ?

พี่ตู๋  ชื่ออัญชลี บุญพยุง ชื่อเล่นตู๋ เป็นภรรยากำนัน ได้รับการแต่งตั้งเป็นแพทย์ประจำตำบลเดือนนี้

พี่น้อย  ชื่อประทุม เรืองทิพย์ ชื่อเล่นน้อย เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อสม. เป็นหลายอย่าง มีหมวกหลายใบ

พี่ตู๋  เดิมผู้นำมีตำแหน่งต่างๆ อยู่แล้ว ด้วยความที่เราเป็นตำบลเป็นสวนส้มโอ มีส้มโอเยอะที่สุดในจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้นำมีความคิดพ้องกันว่าจะทำอย่างไรให้ตำบลเราที่เป็นที่รู้จัก ส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่อยู่ที่ตำบลบางสะแก เมื่อสิบปีที่แล้วส้มโอเบอร์หนึ่งกิโลกรัมละ 20 บาท จนราคาลงมาถึงกิโลกรัมละ 8บาท นั่งคุยกันว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้ราคาพืชผลดีขึ้น คนในชุมชนจะได้อยู่ดีมีสุข เพราะทุกคนทำการเกษตร ส่วนใหญ่จะอยู่เบื้องหลังงานพัฒนาทั้งหมด เมื่อมีงานที่โปรโมทจะใช้พื้นที่สวนของผู้นำถ่ายทำประชาสัมพันธ์ มากขึ้นมีความต้องการทางตลาดเพิ่มขึ้น บางสะแกต่างตรงที่พ่อค้าคนกลางอยู่ในพื้นที่เรามีโรงส้มอยู่ในพื้นที่ พอราคาขยับขึ้นจึงเป็นพี่มาซื้อน้อง ไม่มีการกดดันเรื่องราคามาก ปัจจุบันส้มโอเบอร์หนึ่งอยู่ที่ราคา 40 – 50 บาท ราคาขยับมาก ทำให้ประชาชนมีรายได้ มีค่าครองชีพที่สูงขึ้น กำนันคิดเรื่องนำท่องเที่ยวชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ตำบลบางสะแก เราร่วมมือกันเก็บเงินไปดูงานตำบลท่องเที่ยวชุมชน ไปสิบกว่าคน ดูงานที่แม่กำปอง หมู่บ้านที่พัฒนาท่องเที่ยวระดับโลก และบ้านห้วยลานซึ่งชุมชนเป็นที่เพิ่งเริ่มทำ เรากลับมาก่อตั้งเป็นกลุ่มรักษ์บางสะแก เปิดการท่องเที่ยวชุมชน ตอนที่เริ่มทำมีผู้นำและและภรรยา ภรรยาผู้ใหญ่ ภรรยากำนัน การเดินไปแบบนี้เรารู้ว่าไปถึงเยาวชนได้ เลยถึงเด็กเข้ามาร่วม โดยแรกๆ เด็กมาลงมือทำด้วยกัน จนพัฒนาเป็นวิทยากรในเรื่องที่เขาทำได้

­

ถาม  งานเด็กเยาวชนเริ่มต้นจากอะไร?

พี่ตู๋  เด็กไม่ได้ทำโครงการอะไร เด็กอยู่กับเรา ร่วมทำกิจกรรมลงแขกลงคลอง เมื่อมีงานจะให้ฐานเด็กเป็นวิทยากร เราทำกิจกรรมลงแขกลงคลอง คือเก็บสวะในตำบล เด็กก็จะลงไปทำกับเราด้วย เวลาที่เรารับนักท่องเที่ยวต่างชาติเราก็จะสอนให้เด็กรำ เพื่อมารำต้อนรับคนต่างชาติ

­

ถาม   เด็กทำทุกอย่างที่ผู้ใหญ่ทำ?

พี่ตู๋    ใช่ เราเน้นเมื่อเราพร้อมจึงก่อตั้งเป็นทีมทูบีนัมเบอร์วันขึ้นมา ที่ผู้นำบางสะแกเก่งจนได้รับการยอมรับ ส่วนหนึ่งมาจาก สกว. ทุกครั้งที่เราได้รับการชื่นชมเราจะบอกว่าคนของตำบลเราเก่ง เราได้รับการฝึกจาก สกว. ที่มาสอนให้เราทำเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน สอนให้ทำไทม์ไลน์ สอนให้ผู้นำมีความคิดเป็นขั้นตอน สกว. เป็นองค์กรแรกที่เข้ามาถึงบางสะแกแล้วก็พัฒนาผู้นำทุกคน สามารถจับไมค์ได้ อย่างพี่น้อยเองเมื่อก่อนเป็นคนไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นทุกวันนี้ไปพูดข้างหน้าได้เลย เด็กก็เหมือนกันเด็กที่เราส่งไปร่วมกับ สกว. ตอนนั้นไม่มีเรื่องงบประมาณ โครงการที่จะสนับสนุนตัวเองด้วยซ้ำ ส่งเด็กไปเพื่อให้เด็กพัฒนาตรงนี้ คือความคิดที่เราได้รับและส่งต่อไปให้เด็ก

­

ถาม    ก่อนหน้าที่จะร่วมโครงการวิเคราะห์ว่าเด็กและเยาวชนในตำบลเราเป็นอย่างไรบ้าง?

พี่น้อย   เด็กในชุมชนของเราเป็นเด็กโต 20 กว่าขึ้นไป ที่มาร่วมโครงการตอนแรก เช่น จ๋า ที่เป็นประธานโครงการทูบีนัมเบอร์วัน เมื่อก่อนไม่ค่อยกล้าพูดเหมือนกัน เขาเคยทำกิจกรรมที่โรงเรียนเลยทำกิจกรรมได้ดีกว่าคนอื่น ส่วนที่ร่วมกิจกรรมในโครงการยังไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกมากมาย ยังไม่มีความคิดเห็น ไปร่วมกับ สกว. พี่ธเนศพยายามให้เด็กพูดคนเดียว ต้องชงให้พูด เป็นคนโตไป พี่ธเนศถอยไปนั่งข้างหลังให้คนที่ไม่เคยพูด ได้พูด เมื่อจ๋าพูดเก่ง พูดได้แล้วก็จะให้น้องอีกคนเป็นคนพูดแสดงความคิดเห็น การพัฒนาของเด็กดีขึ้นเรื่อยๆ กล้าแสดงความคิดเห็นกว่าเดิม กล้าคิดกล้าทำ มีระบบกว่าเดิม มีขึ้นตอนในการทำ ได้ไปอบรมศึกษากับคนอื่นๆ หาประสบการณ์ให้กับตัวเอง

­

ถาม   ที่บอกว่าเยาวชนน้อย ตอนที่ทำโครงการนี้เราหาเด็กมาจากไหน?

พี่ตู๋   เด็กน้อยเพราะไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกัน อย่างน้องจ๋าที่เป็นประธาน อยู่มัธยมไปเรียนในตัวเมือง เด็กประถมไม่ได้เรียนในตำบลบางสะแกเท่านั้น จะไปเรียนหลายโรงเรียน ทั้งโรงเรียนวัดตรี วัดเพลงในเขตจังหวัดราชบุรี เด็กน้อยคือเด็กเกิดน้อย แต่เด็กที่ร่วมโครงการคือเด็กมีจำนวนประมาณสิบกว่าคน สับเปลี่ยนกัน เอาเด็กที่ทำกิจกรรมกับเราเป็นตัวตั้งก่อน ให้เลือกประธานกันเองโดยการประชุมเลือกกรรมการออกมา เรามั่นใจว่าประธานรับรู้ตลอดว่าตำบลเราทำอะไรอยู่ ประธานที่มีความสัมพันธ์ในกลุ่มเขา ถ้าไม่ว่างเขาก็จะถามอีกคนว่าว่างไหมเพื่อมาร่วมกัน เด็กที่อยู่ในชมรมประมาณ 50 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กประถม ไม่ใช่โรงเรียนเดียวกัน อาจเป็นความเข้มแข็งเด็กไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอด พอทำกิจกรรมก็เอาความคิดตามที่มีอยู่มาแบ่งปันกัน สามารถทำเป็นเรื่องราวมาได้

­

ถาม   ใครเป็นคนคิดเรื่องการจัดการขยะในครัวเรือนที่เหมาะสมกับคนในชุมชนตำบลบางสะแก?

พี่น้อย   เด็กเป็นคนคิดเพราะว่าเข้าโครงการของ สกว. เด็กมองเห็นขยะในพื้นที่ตัวเองเยอะ จึงอยากจัดการให้ถูกสุขลักษณะ ตอนนี้เขาก็จัดการทำไปได้บางส่วนในครอบครัวของตัวเองก่อน ส่วนการลงตามบ้านให้คำแนะนำ เราไม่มีเวลาพาเขาลงไป เด็กต้องให้เราพาลงไปด้วย จะให้เขาไปลำพังก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ตามบ้านจะมองว่าเด็กมาทำอะไร เราก็ต้องลงไปด้วย

­

ถาม   ในชุมชนเราหลักๆ ช่วยเหลือเด็กสนับสนุนอย่างไรบ้าง?

พี่ตู๋   จะสนับสนุนค่าอาหารการไปรับไปส่งเด็ก การอยู่เป็นเพื่อนเขา เช่น กิจกรรมซ้อมรำเพื่อต้อนรับแขกต่างชาติก็จะทำ 8 – 10 คน กลุ่มนี้จะมาที่ตำบลปีละ 2 ครั้ง เด็กจะเปลี่ยนการรำไปเรื่อยๆ โครงการนี้ มีเด็กอยู่ประมาณ 15 คน ค่าอาหารการรับส่ง อยู่เป็นเพื่อนเขา พาเขาลงตามบ้านจะต้องได้รับการช่วยเหลือ พอลงพื้นที่เด็กจะรู้จักผู้ใหญ่เหล่านั้นอยู่แล้วเพราะเป็นชุมชนไม่ใหญ่ เราก็ต้องไปช่วยเกริ่นนำให้ก่อน มาทำอะไร มาสอนคุณย่า คุณยาย คุณป้า คุณอา ทำอะไร เราให้เด็กทำเองทั้งหมด ส่วนใหญ่เราให้คำแนะนำ

­

ถาม   เด็กมาปรึกษาอะไรบ้างไหม?

พี่น้อย   มีเจอปัญหาก็จะมาบอก เราก็บอกว่าให้พยายามพูดพยายามบอก ให้เขาเข้าใจ บางทีคนแก่ไม่เข้าใจ ส่วนใหญ่คนในตำบลบางสะแกเป็นผู้สูงอายุ เขาจะไม่ค่อยเข้าใจจะมีความคิดแบบเดิมๆ

­

ถาม   ส่วนใหญไม่เข้าใจเรื่องอะไร?

พี่น้อย   การคัดแยกขยะ จะถามว่าแยกไปทำไม เด็กจะไปบอกว่าให้แยกเศษอาหาร ทำนู่นทำนี้ได้ ป้าทำอยู่แล้วนะ ก็จะให้คำแนะนำเด็กว่าทำอย่างนี้ต่อนะ

­

ถาม   ก่อนที่จะทำโครงการคัดแยกขยะ ทิ้งขยะกันอย่างไรในชุมชน?

พี่ตู๋   ก่อนหน้ามีเรื่องขยะของ อบต. อยู่แล้ว เรื่องการทำคัดแยกขยะ เก็บขยะทั้งตำบล เพื่อรอรถมาเก็บ อบต. และสาธาณสุขก็ได้ให้ความรู้ ทำให้เด็กรู้ว่าเป็นปัญหาที่เด็กอยากจะลงมือทำ อย่างตอนที่จัดงานวิ่งเด็กเรียนรู้การคัดแยกขยะจากนักศึกษาบางมด เด็กจะรู้เลยว่าที่ทำมาไม่ถูก ต้องทำแบบที่พี่ๆ สอน เราจัดการขยะสองวันที่จัดงานวิ่งเป็นการจัดการขยะจริงๆ เราประเมินได้เลยว่าขวดน้ำมีปริมาณเท่าไร เอาไปจำหน่ายได้เงินกลับมาเท่าไร เศษอาหารคัดแยกออกมาเลย ถ้าตามหลักวิชาการที่ทำโครงการเด็กอาจจะไม่เข้าใจขนาดนั้น พอเขาได้ลงมือทำคัดแยกขยะ ทำให้เด็กสามารถไปพูดกับผู้ใหญ่ในบ้านได้ว่าทำอย่างไร ประสบการณ์ที่เขาได้ในกระบวนการ

­

ถาม   หลังจากที่เด็กๆ ได้ข้อมูล ไปบอกผู้ใหญ่ว่าทำแบบไหน การเปลี่ยนแปลงของขยะในชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง?

พี่ตู๋   ในตำบลเราเดินหน้าไปเยอะ ตามบ้านผู้นำ คัดแยกกันหมด เป็นเศษอาหาร แยกเอาไว้ขาย ของที่ไม่ได้ใช้จริงๆ เอามาทิ้งถังขยะ ตัวผู้นำเริ่มทำกันก่อนที่เด็กจะเริ่มทำโครงการ แต่เด็กจะหนักกับชาวบ้าน

พี่น้อย   มีบางบ้านที่เขาเริ่มทำให้ แต่ว่าเศษอาหารเขาจะถามเลยว่าถ้าเราไม่เอาไปทำปุ๋ย สามารถเอาไปทำอะไรได้ เราก็บอกว่าเศษอาหารย่อยสลายได้ เอาไปเทตรงโคนต้นไม้ได้ หรือไม่ก็ลงในคลองถมที่สวนได้ เขาก็บอกว่าแบบนี้ได้อยู่ เพราะทำปุ๋ยเหม็นใช้วัตถุดิบเยอะ

­

ถาม   เป้าหมายของโครงการคืออะไร?

พี่ตู๋   ถ้าของคนโตอยากให้ชุมชนเข้มแข็งมีคนรู้จักตำบลบางสะแก คนแม่กลองยังไม่รู้จักว่าตำบลบางสะแกอยู่ที่ไหน เลยเป็นเป้าหมายเรื่องการประชาสัมพันธ์ตำบล สิ่งที่แทรกอยู่ในนั้นคือให้เยาวชนกลับมาอยู่บ้าน เมื่อตำบลเป็นที่รู้จักมีรายได้ต่อหัวมากขึ้น คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น เด็กรุ่นใหม่ รู้ว่าช่วยพ่อแม่กลับมาทำสวนส้มโอ รวยกว่าไปเป็นลูกจ้าง ก่อนถึงวันนั้นต้องเริ่มสร้างจากลูกหลานของเราก่อน ให้เด็กซึมซับสิ่งที่เราทำ ไปแล้วเขาจะกลับมา แถมเอาความรู้กลับมาช่วยน้องๆ ตอนนี้มีเยาวชนกลับมาอยู่บ้านทำสวน เราจะเห็นเขาโพสต์ ‘เมื่อฉันกลับมาอยู่บางสะแก’ มันก็เป็นกำลังใจ ของผู้นำ ถึงปีหนึ่งจะมีแค่คนสองคนถ้าเรายังเดินหน้ากันไปอย่างนี้ ลูกหลานก็จะได้กลับมามากขึ้น

พี่น้อย   การทำพาเมโล่รันทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราทำโครงาการสำเร็จ ลูกหลานของเราก็อยากกลับมาพัฒนาบ้านเราดีกว่าทำงานที่อื่น มีเด็กมาให้ความร่วมมือมากขึ้น คิดอยากกลับมาทำสวนที่พ่อแม่ได้วางรากฐานไว้ให้

­

ถาม   ทำไมถึงคิดว่าอยากทำเรื่องนี้?

พี่ตู๋   สังคมบางสะแกเป็นสังคมผู้สูงอายุ เดินสำรวจจะเห็นว่าเหลือแต่เด็กและคนแก่ เด็กเป็นหลานที่พ่อแม่เอามาให้เลี้ยงแต่พ่อแม่ยังไปทำงานโรงงาน บริษัท เราอยากให้ชุมชนเราเป็นสังคมที่เราอยู่กันในชุมชนไม่ใช่ไปอยู่ตามโรงงาน ตามบริษัทข้างนอก นี่คือเป้าหมายหลักของการทำงานมาสิบกว่าปีของตำบลบางสะแก

­

ถาม   เรามารวมตัวกันได้อย่างไร?

พี่ตู๋   กำนันเป็นคนมีความคิดที่พัฒนาแต่ไม่ได้เอาเปรียบคนสุดโต่ง ไม่ใช่เอางบประมาณมาพัฒนาเยอะๆ ใช้การพัฒนาคน พัฒนาคนของเขา ส่งคนไปอบรม ส่งคนไปทำวิจัยรับเงินวิจัยของสถาบันโน้น สถาบันนี้ ทำให้คนพัฒนาความคิดตัวเองได้โดยที่เขาไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีพูดเก่งแล้ว เมื่อเรามีคนนำต้องมีคนตาม เราได้คนตามที่พร้อมอยู่ด้วยกัน เราคุยกันว่าต้องจับมือกันไว้ ทุกวันนี้คนที่สัญญากันวันนั้นอยู่กันจนถึงทุกวันนี้

­

ถาม   ทำไมที่นี่มีแนวคิดเรื่องการพัฒนาคนต่างจากที่อื่น?

พี่น้อย   เราเป็นผู้นำเราทำให้เห็นว่าเราทำจริง เราไม่ใช่ทำแค่อยากได้หน้า เราพัฒนากันจริงๆ กำนันก็จะให้ความรู้กับพวกพี่ จะส่งไปฝึกให้มีความคิดเป็นของตัวเองและให้เรากลับมาสื่อสารกับผู้นำชุมชนคนอื่น ที่สามารถเข้าร่วมทีมกับเราได้ คุยให้เขาฟังว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ให้เขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำเพื่อใคร

พี่ตู๋   กลไกขับเคลื่อนทั้งหมดคือการพูดคุยกัน บางพื้นที่มีการประชุมประชาคมพบปะกันน้อย แต่บางสะแกไม่ใช่เราจะมีการประชุม 3-4 ต่อเดือนเราก็ประชุม มีเรื่องอะไรก็ประชุมประชาคม เป็นการบอกกล่าวเรื่องที่รับรู้กันมา เถียงกัน แต่ได้พูดคุยทุกคนได้รับรู้เรื่องต่างๆ ที่เข้ามาตำบลเหมือนกัน อะไรที่ไม่ใช่ ไม่ถูกต้องก็มีการพูดคุยกันในที่ประชุม มันก็เลยมีความเข้าใจกันมากขึ้น ความเข้าใจนี้ก็เอาไปสื่อสารให้ถูกกับคนที่อื่นข้างนอกได้ เพราะฉะนั้นวงแคบๆ ในห้องนี้จะสื่อสารไปที่ 7 หมู่ คนที่เข้าใจในห้องที่ก็ประชาสัมพันธ์ต่อ ไม่ใช่แค่การฟังมาแล้วพูดต่อ การคุยกัน คุยมากจะเข้าใจกัน รู้ว่านิสัยเป็นอย่างไร จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ตำบลบางสะแกเรามีความสามัคคี การพูดคุยนำมาสู่ความสามัคคี ถ้าไม่พูดคุยกัน พูดข้างหลัง นินทา ก็จะขัดแย้งกัน เมื่อได้โต้เถียง ก็จะเข้าใจกัน เกิดความสามัคคีกัน

­

ถาม   ในโครงการนี้พี่แบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างไร?

พี่ตู๋   พี่น้อยเป็นพี่เลี้ยงของน้องเวลาไปประชุมที่วัดกลางเหนือ กำนัน ของพี่ไม่ค่อยได้ไปประชุม ถ้าเป็นงานที่เคลื่อนพื้นที่พี่ก็จะเป็นคนลง

­

ถาม   ตอนที่พี่น้อยลงพื้นที่กับน้องๆ เยาวชนทำอะไรบ้าง?

พี่น้อย   พาเด็กลง ไปอบรมที่ สกว. ถ้าตรงไหนที่เด็กไม่เข้าใจ เด็กจะถามว่าป้าน้อยตรงนี้ดีไหม ตรงนี้ใช่ไหม เราก็เอาความรู้จากสิ่งที่เราได้ทำจริงๆ ไปบอกว่าอันนี้ดีนะ อันนี้เราไม่มีก็ไปหามาเสริมเอา ที่เราได้ความรู้มาพยายามจดบันทึกไว้เอามาปรับใช้ในพื้นที่ของเรา อย่างเขาเอาของเรามาใช้ เราเอาของเขามาใช้บ้าง ส่วนใหญ่จะแนะนำจะไม่บอกว่าต้องทำอย่างนี้นะ จะบอกความต้องการของเด็ก กำนันก็เหมือนกัน กำนันจะให้คำแนะนำที่เป็นหลักการ ถ้าเป็นกันเองจะเป็นพี่เพราะไปกับเด็กบ่อย กำนันไม่ค่อยได้ไป

พี่ตู๋    พี่จะคุยกับเขาหลังจากที่ไปกิจกรรมมา ไปวัดกลางเหนือมาโครงการเราจะเดินต่อไปอย่างไร ทำอย่างอย่างไร ต้องการความช่วยเหลืออะไรจากคนโต รถรับส่ง ก็จะคอยควบคุมว่าต้องไปรับเด็กจากตรงไหน กำนันไม่ว่างที่จะประสานให้ เตรียมอาหารวันนี้จะกินอะไรกัน เตรียมรอรับเด็กไว้ ด้านความคิดจะปล่อยเขาเต็มที่

พี่น้อย   มีบ้างที่จะกระตุ้นเตือน ว่าถึงเวลาต้องทำอันนี้ละนะ ทำอะไร ในรูปแบบไหน จะปล่อยให้เขาทำไป

พี่ตู๋    เราเลี้ยงเด็กให้เขาได้ทำ ได้ฟัง เวลาที่มีต่างชาติมาจะให้เขาเข้ามาด้วย มาฟังภาษาที่คนต่างประเทศพูดกัน มาร่วมกิจกรรมกับต่างชาติเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างเขาก็ได้ถ่ายทอด SDG (Sustainable Development Goal) ก็เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราทำ เวลาที่เขาคุยกันเด็กก็ได้ซึมซับไปด้วย จะรู้ถึงการเดินไปข้างหน้าของประเทศไทยมีโครงสร้างเป็นอย่างไร กำนันจะสอดแทรกเรื่องความรู้ เด็กจะได้จากคนที่มาซึ่งเป็นพี่ๆ นักศึกษาต่างชาติที่โตกว่า เวลาที่มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ลงพื้นที่อยากคุยกับเด็กเราจะเรียกเด็กมาคุยแลกเปลี่ยนตามความคิดของเขา ทำให้เด็กเข้าใจสิ่งเหล่านี้จริงๆ จะได้นำไปใช้เวลาที่เขาโตขึ้นไปใช้ชีวิตภายนอก ให้เขาตอบตามความเป็นจริงตามบริบทที่เป็น ลงมือจริง

­

ถาม   ชุมชนชาวบ้าน วัด คนอื่นๆ คนข้างนอก โหนด หรือหน่วยงานอื่นๆ มีส่วนช่วยเราอย่างไรบ้าง?

พี่น้อย   วัดแต่ก่อนหลวงพ่อไม่ค่อยร่วมมือกับพวกเราเท่าไร พอเห็นพวกเราทำแบบนี้ กำนันทำ มีงานพาเมโล่รัน หลวงพ่อเห็นก็ให้จัดงานให้ตรงกันเพื่อให้มีคนมาเยอะๆ ช่วงที่มีเด็กต่างชาติมาก็เปิดให้เข้าไปทำกิจกรรมถวายของพระ

พี่ตู๋   ชุมชนตรงนี้ที่เรานั่งอยู่คือหมู่ 6 เป็นชุมชนของกำนัน ซึ่งมี อบต. วัด โรงเรียนอยู่ตรงนี้ทั้งหมด การทำกิจกรรมจึงทำได้รอบ เราสามารถดึงเด็กในโรงเรียนได้ เช่น ลงแขกลงคลองเราก็เอาเด็กนักเรียนมาทำกิจกรรมได้ วันสำคัญทางศาสนา พระมหากษัตรย์ เด็กกลุ่มนี้ก็ไปร่วมทำบุญ รำบนเวที มีลุงป้าน้าอาเอาเงินมาให้เป็นรางวัน เขาจะรู้ว่าเด็กเป็นลูกใคร กลุ่มเด็กก็สับเปลี่ยนกันไปไม่ซ้ำ เป็นการบริหารลูกหลานบางสะแกไปด้วย ผู้ใหญ่ในชุมชนก็รับรู้ว่าเราไม่ได้เคลื่อนเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้นเราเคลื่อนกลุ่มเด็กด้วย ทางตำบลเริ่มเอาเด็กมาขับเคลื่อน บางทีเขาเห็นเราทำกิจกรรมก็ส่งลูกมาร่วมกิจกรรมกับเราด้วย เป็นอีกแรงหนึ่งที่ให้ชมรมทูบีนัมเบอร์วันเดินมาได้ทั้งปี ได้งบจาก สกว. สปสช.

­

ถาม   อะไรที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จ น้องพัฒนาขึ้น คนในชุมชนให้ความร่วมมือขึ้น หรือว่าพวกเราเห็นว่าเด็กมีสำนึกรักชุมชน?

พี่ตู๋   เด็กมีความเข้าใจในงานที่เขาทำ เขาสัมผัสเรื่องการแยกขยะ มาก่อนรู้ว่าเป็นปัญหาไม่เฉพาะชุมชนเราแต่เป็นระดับชาติ เริ่มที่ตัวเขาเอง ทำในสิ่งที่ใกล้ตัวก่อน เข้าใจและคัดแยกขยะในครัวเรือนของตัวเอง เขาสามารถบอกผู้ปกครองญาติพี่น้อง โครงการแกสำเร็จได้เพราะเด็กเข้าใจ หลังจากเข้าใจได้ปฏิบัติจริงทั้งงานเล็กงานใหญ่ มีคนไปจ้างพวกเขาไปจัดการขยะตามงานด้วย งานศิลปะที่แม่กลองก็จ้างเด็กกลุ่มนี้ไปจัดการขยะ คัดแยกขยะในงาน เด็กทำงานเต็มที่ ด้วยความเข้าใจและเขาลงมือจริง ทั้งในและนอกพื้นที่ ในงานใหญ่ๆ คนสองสามพันคน นี่คือสิ่งที่เขาประสบความสำเร็จ มันเป็นโครงการที่ไม่จบที่งบประมาณหมด เป็นโครงการที่ต่อยอดไปได้ทั้งตำบลโดยเราใช้เด็กเป็นเครื่องมือ

­

ถาม   น้องเข้าใจปัญหาแบบนี้ได้อย่างไร?

พี่น้อย   ด้วยตัวเขาเองที่ได้สัมผัส จากผู้นำที่ทำให้เขารู้ บางส่วนที่ผู้นำยังทำไปไม่ถึง เขาก็มาช่วยผู้นำ เขาเห็นสภาพจริงของตำบล เช่น ขยะถุงพลาสติกในคลอง เขาก็มีความคิดว่านะต้องทำให้คนในชุมชนไม่ทิ้งขยะถุงพลาสติกลงในคลอง ผู้ใหญ่ทำโครงการคลองสวยน้ำใส แต่ชาวบ้านยังใช้ถุงพลาสติก ยังทิ้งกล่องนมลงคลอง เขาจึงมีความคิดแบ่งเบาภาระของผู้นำ

พี่ตู๋   กิจกรรมลงแขกลงคลองเราทำมาร่วมสิบกว่าปีแล้ว เห็นพ่อแม่ทำตั้งแต่เล็กๆ ลูกสาวเห็นตั้งเขาทำ เราจูงมือเขาไปดู พอเขาลงคลองได้เขาก็ลง ก่อนที่จะไปอบรมกับ สกว. เราก็ถูกสร้างแนวคิดเรื่องการดูแลจัดการสิ่งแวดล้อม ตัว สกว. มาจุดประกายให้มีโครงการ เขาก็เลือกโครงการที่ใกล้ตัว ได้กับตัวเขาเองเขาเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร อธิบายได้ ต้องชื่นชมเด็กที่เปิดรับทุกทาง อย่างงานวิ่งแกนนำหลักคือมหาวิทยาลัยที่บางมด นักศึกษามหาวิทยาลัย เขามาอบรมเด็กก่อน ไม่ใช่ทำเลย น้องตั้งใจฟังพี่ ลงมือปฏิบัติ เรียนรู้ได้จริง

­

ถาม   มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง?

พี่ตู๋   อุปสรรค ผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าลูกมาทำอะไร ไม่สนับสนุน เด็กอยากมาทำ ผู้ปกครองบอกเสียเวลาเรียน เด็กก็ถูกปิดโอกาส บางคนตั้งคำถามว่ามาทำอะไรเสาร์อาทิตย์ แต่ไม่เคยมาดู ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคืออารมณ์ของเด็กๆ สมาธิที่จะทำกับเพื่อนพอหลุด จะคุยเล่นกัน เราก็ต้องเรียกให้เด็กมีสมาธิใหม่ แต่ไม่ถือเป็นอุปสรรค

­

ถาม   แก้ปัญหาอย่างไร?

พี่ตู๋   ต้องไปคุยกับผู้ปกครอง

พี่น้อย   มีเด็กทูบีบัมเบอร์วันสองคน เรารู้ว่าเขาต้องทำงานหาเงิน เราให้เด็กเข้ามาตรงนี้อยากให้เขาได้ก้าวหน้าเยอะๆ ที่จะมีแบบนี้มีน้อย ตำบลอื่นไม่มีแบบนี้ เราก็เข้าไปคุยกับผู้ปกครองเขา เขาก็บอกว่าไม่ได้ห้าม เด็กแต่เด็กไม่ไปเอง พี่ก็บอกว่าไม่รู้ว่าเด็กพูดหรือไม่ ผู้ปกครองก็รู้อยู่ว่าเด็กพูดหรือไม่พูด พี่ไม่ขอพูดมาก อยากให้เข้ามาร่วมในนี้อนาคตเด็กจะไปได้ไกลกว่านี้ เวลาเข้ามหาวิทยาลัยจะมีคะแนนตรงนี้ที่เขาเอาไปพิจารณาด้วย เราได้ความรู้มาจากอาจารย์ที่มาทำโครงการเกี่ยวกับบ้านทรงไทย อาจารย์จากจุฬาฯ คุยกับผู้ปกครองเขา ที่อื่นไม่มีที่ผู้นำจะทำงานด้านนี้ พื้นที่บางสะแกเป็นพื้นที่แรกที่ให้เด็กได้ทำแบบนี้ ทูบีนัมเบอร์วันเราได้รับคำชมจากนายอำเภอ ถ้าไปจังหวัดจะได้รับคำชมจากผู้ว่าฯ อยากให้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้น้องเขาก็เข้ามา

­

ถาม   อยากพัฒนาศักยภาพให้ทีมของเรา และตัวเราเองด้านไหนบ้าง?

พี่ตู๋   ถ้าเป็นทีมอยากได้ความรู้จากด้านนอก ให้ทันกับยุคนี้มากขึ้น เรื่อง Business Model เพราะเรามีตัวผลิตภัณฑ์แล้ว ยังไม่เข้าใจกลไกต่างๆ ดีพอ กำนันก็กำลังหาคนมาช่วยพัฒนา ไม่เฉพาะผลิตภัฑณ์ที่นี่มีกลุ่มแม่บ้านและกลุ่มอื่นๆ เข้ามาด้วย เพื่อให้รักษ์บางสะแกขายให้ แต่ยังไม่ถูกต้อง ต้องมีความรู้ด้านนี้เพิ่มขึ้นมา

พี่น้อย   ถ้าเป็นตัวเองเราความรู้เราอาจจะยังน้อยไม่มากพอ อยากได้ความรู้อื่นๆ เพิ่มอีก เพื่อทำให้ชุมชนเดินหน้าไปเรื่อยๆ ความรู้หลากหลายมากขึ้น เพื่อเสริมความคิดของเรา อธิบายให้คนอื่นฟังและร่วมเดินไปด้วยกัน ชุมชนกับผู้นำน่าจะเดินไปด้วยกันในวันข้างหน้า ความรู้ที่ทำให้ชุมชน ผู้นำชุมชน ได้ขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน

พี่ตู๋   เรื่องจิตวิทยาการทำงานกับคนทุกวัย เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เราอยู่ตรงกลางที่ต้องประสานงานทั้งหมด คำพูดในการพูดยังไม่ดีพอ สื่อสารให้เขารับรู้ไม่ได้ทั้งหมด

พี่น้อย   เรายังมีพลังในการพูด ยังไม่มีจิตวิทยาในการใช้คำพูด บางทีผู้นำพูดไป เด็กไม่เข้าใจ ผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะคิดว่าทำไมพูดอย่างนี้ เราอาจยังขาดทักษะ ยังไม่มีคนแนะนำเรื่องนี้ ในแต่ละชุมชนจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ฟังเรา ก็จะตั้งคำถาม เขาก็เก่งแต่เราจะทำอย่างไรให้เก่งกว่าเขา แค่พูดแล้วเขายอมรับเราให้ได้

พี่ตู๋   ชุมชนนี้เป็นผู้สูงอายุรุ่นพ่อแม่เราเยอะ เวลาเราไปทำงานด้วยต้องมีการพูดคุยต้องการทักษะตรงนี้

­

ถาม   มีโครงการที่จะทำต่อของเด็กและเยาวชนอีกไหม?

พี่ตู๋   ที่ผ่านมาเราสนับสนุนกิจกรรมของเด็กไม่ว่ามีหรือไม่มีโครงการ การไปประกวดตามที่เด็กได้ข้อมูลมา เช่นการก่อกองทรายที่ตำบลแหลมใหญ่ เขาเปิดรับการแข่งเป็นรุ่นๆ เราก็ขนทรายมากองตรงหน้าศูนย์เด็กก็มาก่อกัน เราก็สนับสนุนอาหาร อุปกรณ์ในการตกแต่ง อยากไปรำในงานสำคัญก็เปิดห้องให้ซ้อม

โครงการอยากทำเรื่องสุขภาพ เราเป็นตำบลที่ไม่มีการออกกำลังกายจริงจัง การพูดคุยเรื่องสุขลักษณะ การดูแลสุขภาพ เป็นความคิดส่วนตัวต้องไปถามเด็กว่าอยากทำไหม

พี่น้อย   อยากให้ทำเรื่องสุขภาพของคนในชุมชน เรื่องอาหารการกิน

พี่ตู๋    ชุมชนของเราสูญเสียบุคลากร อายุ ห้าสิบกว่าปี เสียชีวิต เส้นเลือดในสมองแตก เรามี อสม. อยู่แล้ว ที่ดูแลบ้านต่างๆ การให้ความรู้ดูแล อาจต่างกับเด็กตัวน้อยๆ ที่ไปคุยกับลุงป้าน้าอา แต่ในความคิดของเด็กอาจเป็นอีกอย่าง

­

ถาม   ชุมชนดูแลค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนเด็กทำกิจกรรม เอางบประมาณมาจากไหน?

พี่ตู๋   มีเงินทุนตั้งแต่เราก่อตั้งชมรมทูบีนัมเบอร์วันที่แต่ละหมู่บ้านให้มา เขาไปนำเสนอในงานวันผู้ใหญ่บ้านกำนันในอำเภอ ผู้ใหญ่ใจดีก็สนับสนุนงบมา เรามีหน้าที่ดูแลค่าใช้จ่ายให้พวกเขา ถ้าทำงานกับเด็กค่าอาหารจะเยอะมาก ประกวดได้รางวัลมาก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่กินข้าวไป เราถือว่าเขาได้ประสบการณ์ เงินทุนปีที่แล้วก็ยังเหลือให้บริหารอยู่ในปีนี้ แต่ถ้าเป็นเงินที่ประกวดได้รางวัลเราจะให้เขาไป จะไม่ได้เก็บไว้ในตัวนี้ ผู้ใหญ่หลายคนก็ผลัดกันเลี้ยงดู ผู้ใหญ่ตำบลนี้ใจดี

­

ถาม   กลไกชุมชนบางสะแกทำงานกันอย่างไร

พี่ตู๋   ทำงานเป็นทีมตำบลบางสะแกไม่ได้เดินได้ตัวคนเดียว เดินด้วยทีม กำนันเป็นผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนได้ มีคนที่ใช้ไปในทุกงานได้ คนคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนตำบลบางสะแก เช่น คนนี้เหมาะวิชาการ คนนี้เหมาะกับการค้าขาย คนนี้เหมาะกับงานช่าง ถ้าไปเรื่องนี้ต้องคนนี้

­

ถาม   มีการบริหารจัดการที่ดีและมีคนในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ?

พี่ตู๋   คนที่มีประสิทธิภาพได้มาจาการฝึกฝนตลอด ที่นี่ไม่ได้ปิดกั้นเรื่องการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยต่างๆ จะเข้ามาสร้างการเรียนรู้

­

ถาม   ที่นี่มีกลไกชุมชนที่ทำให้เด็กได้ทำงานตามความสนใจของตนเอง คนโตอยากให้ขยายว่าประกอบไปด้วยใครบ้าง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน?

พี่ตู๋   เราใช้คำว่าผู้นำ มีกำนันเป็นหัว มีผู้นำชุมชนทุกฝ่าย อบต. ผู้นำธรรมชาติ ผู้นำกลุ่มองค์กร กลุ่มสตรี กลุ่มส้มโอ เราสามารถเดินด้วยกัน ไม่มีปัญหาทะเลาะ คนโตจึงเป็นผู้นำทั้งทางตำแหน่งและผู้นำธรรมชาติ คนที่เสนอตัวเข้ามาทำงานโดยไม่มีตำแหน่ง

­

ถาม   เวลาที่เข้ามาประชุม พูดคุยสื่อสารในแต่ละเดือนนอกจากคนโตแล้วมีเด็กและเยาวชนเข้ามาด้วยไหม?

พี่ตู๋   เข้าค่ะ ถ้าเป็นงานที่เด็กรับรู้เราจะรอวันที่เด็กว่าง ประชุมเสาร์อาทิตย์ ให้เด็กกลับจากโรงเรียน

พี่น้อย   ชุมชนของเราที่ทำมาได้ทุกวันนี้ เพราะครั้งแรกเราเดินด้วยตัวของเราเอง ไม่มีหน่วยงานของรัฐมาสนับสนุน เราเริ่มเดินด้วยกระบวนการของพวกเราเองในชุมชน เราจึงอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ สังเกตว่าถ้าชุมชนไหนที่มีภาครัฐไปสร้างภาพไว้ เขาจะอยู่ได้ไม่นานเพราะเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง มีหน่วยงานสร้างให้เขา แต่บางสะแกพวกเราไปด้วยตัวเอง รัฐเข้ามาเมื่อเรามีความเข้มแข็งแล้ว เราพร้อมแล้ว ถึงหน่วยงานไม่สนับสนุนเรา เราก็ยังพอเดินเองเราไปได้

พี่ตู๋   ไม่ได้มาจากงบประมาณรัฐที่สนับสนุน เราสร้างทีมของเราเอง

­

ถาม   ฟังดูเหมือนว่าสิบกว่าปีมานี้ที่รวมตัวกันทำงานยังมีจุดที่เราพุ่งไปข้างหน้าได้หลายอย่างที่สำเร็จ งานของเราระดับอินเตอร์ กำลังคิดโมเดลธุรกิจที่มาเสริม แต่ยังมีประเด็น เช่น เรื่องผู้สูงวัยที่เสียชีวิตด้วยความดันโลหิตสูง ก็อาจเป็นโจทย์ที่เราพลิกกลับมาเอาทีมที่แข็งแรงนี้ล่ะช่วยกัน ดูอีกทีว่าเด็กจะมาด้วยไหม อันนี้คือข้อท้าทายที่น่าสนใจมาก

ในส่วนของโครงการ Active Citizen เรื่องการจัดการขยะ ที่เข้ามาทำงานกับเด็กๆ มีส่วนที่เสริมบทบาทการทำงานของคนทำงาน การพัฒนาศักยภาพของคนทำงานในชุมชนนี้อย่างไรบ้าง?

พี่ตู๋   ทุนที่เข้ามาทำให้เราทำอะไรได้คล่องกว่า เช่นซื้อถังขยะ ค่าอาหารให้เด็กไปทำงานได้ ไม่กินทุนเราเอง เด็กผู้ใหญ่มาเจอกัน ได้พูดคุยกันมากขึ้น ลูกกำนันอยู่ในโครงการนี้ ก็กลายเป็นลูกของลุงป้าหน้าอาไปด้วย ช่วยกันดูแล การลงตามบ้าน เด็กได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้น เด็กมีโลกที่ไม่แคบอีกต่อไป เด็กได้โลกที่กว้าง ส่วนผู้ใหญ่มีโอกาสพูคุยกับชาวบ้านมากขึ้น เพราะโครงการต้องไปตรวจขยะบ่อยขึ้น กลายเป็นเราได้พูดคุยกันเยอะมากขึ้น

พี่น้อย   ที่ผ่านมาเราไม่ได้พูดคุยสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนเท่าไร โครงการนี้ทำให้เราได้เข้าไปคุยกับชุมชนมากขึ้น ไปสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชนมากขึ้น จากบ้านนี้เราไม่เคยเข้าเลยแต่พอ มีโครงการนี้มาเราได้พูดคุยกับเขาทำให้เขาและเราได้รู้จักกันมากขึ้น ได้แลกเปลี่ยนและฟังเสียงสะท้อนกลับที่เขาคิดกับการทำงานของเรา เสริมความรู้ให้กับเรา จากเด็กที่แค่สวัสดีกันทักทาย กลายเป็นสนิทคุยกัน เข้าใจกัน เด็กอยากได้ข้อมูลเรื่องขยะ ป้าช่วยประสาน อบต. รองนายกให้ แต่จะไม่เข้าไปพูดนะว่าเราต้องการอะไร จะประสานให้เด็กเข้าไปคุยเอง

พี่ตู๋   ไม่ใช่แค่ลูกเธอลูกฉัน แต่กลายเป็นลูกของเราหมดเลย เราก็ผูกพันดูแลกัน เด็กก็รู้สึกว่ามีผู้ใหญ่ที่พึ่งได้เพิ่มขึ้น ลูกพี่รั้นไม่ฟังใครแต่พอทำ กิจกรรมเคลื่อนไหวไปพร้อมกับพี่คนโตได้ เคยถามอ้วนที่ สกว. ย้อนกลับไปดูเด็กบางสะแกเป็นอย่างไร เขาก็บอกว่าคุยกันเหมือนไม่ฟังเลย แต่พอถามก็ตอบได้ ณ เวลานั้น เขาก็มีสติรับรู้สิ่งที่อ้วนพูด เขาก็บอกว่าถึงจะคุยก็รู้เรื่อง เราก็ Recheck กลับไปว่าเด็กของเราเป็นอย่างไร เด็กก็ได้เจอเพื่อนๆ จากกลุ่มอื่นๆ ได้เปิดประสบการณ์

­

ถาม   มีกลยุทธสร้างเยาวชนอย่างไร?

พี่ตู๋   ให้เขาเปิดรับสมัครสมาชิกของเขาเอง เขาจะประชุมกับเพื่อน เขาจะชวนเพื่อนที่โรงเรียนของเขาเองเข้ามาทำกิจกรรม ไม่เฉพาะเด็กตำบลบางสะแก เป็นเด็กตำบลโรงหีบ เด็กวัดประดู เด็กวัดเพลง มาทำกิจกรรมที่นี่ พ่อแม่ก็จะมาส่งมารับ เราดีใจทุกครั้งที่พ่อแม่เขาบอกว่าดีที่มีโครงการแบบนี้ ถ้าลูกอยู่บ้านก็ได้แต่นั่งเล่นโทรศัพท์ เขาอยากให้ลูกได้ฝึกร่างกาย ฝึกสมอง เด็กขยายกันเอง ประธาน น้องจ๋า ไปดึงเพื่อนที่โรงเรียนถาวรามาร่วมจัดการขยะ เด็กไม่ได้อยู่เฉพาะโครงการนี้ เวลาที่จัดการขยะในชุมชนที่ต้องใช้คนเยอะเขาจะชวนเพื่อนที่โรงเรียนมาช่วย ก็เป็นการเสริมให้เด็กที่อื่นได้มีความรู้เพิ่มเติมไปด้วย คือข้อดีของเยาวชนในชุมชน ถ้าเป็นเด็กในโรงเรียนก็จะมีเฉพาะเด็กโรงเรียนนั้น ครูก็จะเป็นคนครอบว่าต้องคิดต้องทำกิจกรรมอะไร ด้วยความที่เขาอยู่กันหลายโรงเรียน หลายระดับชั้นก็จะเป็นพี่ที่ดูแลน้อง เราให้เขาดูแลกันเอง เวลาจัดกิจกรรมที่พาไปเที่ยวเป็นทุนที่ผู้ใหญ่ในบางสะแกให้ ผู้ใหญ่เราก็เก็บเงินกันเองไปเที่ยวด้วยกันทุกปี สร้างสัมพันธ์ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ทำงานอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีการพักผ่อนไม่ได้คุยเฉพาะเรื่องงานอย่างเดียวคุยกันเรื่องส่วนตัว เป็นพี่เป็นน้องพูดคุยปัญหาครอบครัว เราทำอย่างนี้มาตลอด

­

ถาม   เข้าใจว่าที่นี่ผ่านกระบวนการวิจัยมาตั้งแต่การจัดการน้ำ ผังเมือง อยางรู้ว่ากระบวนการนี้ถูกติดตั้งโดยผู้นำชุมชน อะไรที่มีส่วนช่วยให้โปรเจคอื่นๆ ตามมา วิธีคิดไหนในกระบวนการวิจัยทำให้เกิดการพัฒนาของตำบลนี้?

พี่น้อย   ตำบลบางสะแกคนไม่รู้จักเราพยายามให้คนรู้จักเรามากกว่าเดิม อยากเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ เราไม่อยากหยุดอยู่ที่จุดเดิม เราอยากทำไปเรื่อยๆ เราจะมีความคิดว่าแค่นี้ยังไม่พอนะ เราต้องพัฒนาอะไรอีกเพื่อให้คนภายนอกเห็น ไม่คิดแค่ว่าให้คนในประเทศรู้จักเรา แต่เราอยากให้คนที่อยู่ต่างประเทศรู้จักเรา เข้ามาสัมผัสเรา ว่าชุมชนนี้เป็นชุมชนทั้งผู้นำและคนในชุมชนเป็นคนน่ารัก

พี่ตู๋   ให้มาเถอะแล้วจะรักเรา

พี่น้อย   ในพื้นที่เรามีผลไม้ส้มโอ พอพ่อค้าคนกลางมาซื้อไป พอไปตั้งที่อื่นก็เป็นส้มโอที่อื่นไม่ใช่ของเราแล้ว ไปอัมพวาก็กลายเป็นส้มโออัมพวา เราอยากทำให้คนรู้จักว่าส้มโอที่เยอะๆ นั้นมาจากบางสะแก ไม่ใช่อำเภอบางคนทีนะ ให้รู้จักว่าบางสะแกเลย หัวเรือใหญ่คือกำนันคิดว่าต้องทำแบบนี้นะให้คนรู้จักเราเพิ่มขึ้น

พี่ตู๋   เราเปิดรับไม่ปิดกั้นตัวเอง ตำบลเราเปิดรับความรู้จากแหล่งต่างๆ พอเราเปิดรับเราจะได้ความรู้ แล้วเราจะรู้ว่าเราขาดอะไร ใครตรงไหน ที่ขาดอะไรจะเสริมไป จึงเป็นตำบลที่ขับเคลื่อนตลอดเวลา เพราะตัวเราเองไม่หยุดที่จะเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนไป จึงมีกลไกเข้ามาตลอด พอเราทำเรื่องนี้ ท่องเที่ยวชุมชนทำอย่างเดียวไม่ได้ก็ต้องขายผลิตภัณฑ์ด้วย เราก็มาทำเรื่องผลิตยังไม่ดีก็ต้องหาคนมาช่วยเราพัฒนา ทั้งออกแบบแพ็คเกจ เราก็เลยหาคนนอกมาช่วยเราเรื่อยๆ เวลาที่ไปออกร้านตามที่ต่างๆ คือเราไปประชาสัมพันธ์ตัวเองให้คนอื่นรู้จักเพื่อช่วยอีกทางหนึ่ง เราไม่ปิดรับความรู้ เราโชคีที่ได้มหาวิทยาลัยต่างๆ มาให้ความรู้จากศาสตราจารย์ต่างๆ ความรู้ของเขาตกตะกอนมาแล้ว มาถ่ายทอดให้กับคนของเราที่เปิดใจรับฟังนำมาพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่การบังคับให้เขาพัฒนา เขาอยากพัฒนาตัวเอง เป็นกลุ่มคนที่พัฒนาไปพร้อมๆ กันไม่ใช่กำนันที่เก่งอยู่คนเดียว ทุกคนเก่ง

พี่น้อย   เป็นจิตใต้สำนึกที่อยากเห็นพื้นที่ชุมชนของตัวเองเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่หยุดอยู่แค่นี้ พอคนรู้จักเราแล้วไม่ทำต่อไม่ใช่ เราอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ให้คนรุ่นหลังรู้จักเรา เราอยากได้ความรู้จากข้างนอก ถ้าเราคิดไม่เป็นเราก็ต่อยอดไม่ได้ อยู่ที่ตัวเรา


ถาม   ถ้าประเมินจากประชากรพันกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามาขับเคลื่อนกลไกชุมชนให้เกิดกิจกรรมต่าง?

พี่ตู๋   ถ้าวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ยาก แต่ถ้าสังเกตจากการจัดงานเช่นงานวิ่ง คนในบางสะแกออกมาช่วยงานเยอะมากร้านอาหารทุกร้าน อาสาในงาน คือคนบางสะแก เราต้อนรับคนสามพันคน เรามีคนอยู่พันคน และในพันคนนั้นเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นกิจกรรมใหญ่ บางสะแกขับเคลื่อนทุกอายุคน คนแก่ๆ มานั่งทำขนมเลี้ยงนักวิ่ง ถ้ามีแรงหน่อยมาทอดไข่ ถ้ามีแรงมากก็ไปเป็นอาสาแจกน้ำ เรารู้ว่าตำบลบางสะแกสามารถขับเคลื่อนด้วยคนจริงๆ ไม่ใช้เงินจ้างคนมาทำ เราใช้คนบางสะแกทั้งหมด รายได้ก็ตกเป็นของคนที่นี่ คนติดไฟ ทำป้าย ก่อสร้าง เป็นคนในตำบลทั้งหมด เราเป็นตำบลที่ขับเคลื่อนด้วยคนที่มีศักยภาพในตัว คนแก่ที่นี่เก่ง ทำขนม ทำอาหารไทยเก่ง อายุ 80 ปี ยังทำสวนกันอยู่