กลไกพัฒนาเยาวชนชุมชนแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม

­

          พี่แมว ลุงเปี๊ยก พี่น้อง และพี่ผึ้ง ทีมวิจัยท้องถิ่นชุมชนแพรกหนามแดง คือ กลไกชุมชนแพรกหนามแดง ที่รู้จักกันมาสิบปีมีชุดประสบการณ์การเป็นนักวิจัยชาวบ้าน ที่ลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพตนเองและคนในชุมชน เรียนรู้วิธีคิด ลงพื้นที่เข้าชุมชน ปรับใช้กับตัวเอง จนมีกระบวนคิดและสายตามองหาวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่ได้พบ นับจากเริ่มทำงานกับผู้ใหญ่ในชุมชนมาหลายเรื่อง ทีมทำงานเห็นว่าทีมนั้นแก่ตัวลงไปทุกวัน ถ้าลูกหลานในชุมชนรู้ไม่ทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เขาเหล่านั้นจะขาดวิธีรับมือ ทีมจึงตั้งคำถามว่าคนในชุมชนจะทำอย่างไร ให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มรู้จักเอาตัวรอดได้ในสังคม ทีมวิจัยจึงออกไปเรียนความรู้จากข้างนอก แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพื้นที่อื่นเพื่อเติมความรู้ ดูศึกษาจากพื้นที่อื่นเอามาปรับใช้ และพูดคุยหารือในทีมเป็นประจำ เริ่มทำงานด้านเด็กและเยาวชน จากเด็กเล็ก สู่เด็กกลุ่มเปราะบาง จนถึงเด็กในโรงเรียน ด้วยมีความหวังว่าเด็กเยาวชนที่ได้รับการฝึกฝนจะเป็นทีมรับช่วงต่อจากผู้ใหญ่ “ฝึกเด็กรุ่นนี้เพื่อให้เขาฝึกรุ่นน้องของเขา” ต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

          การขับเคลื่อนชุมชนให้บ่มเพาะพลเมืองเยาวชนนั้น คนในกลไกชุมชนต้องเชื่อมั่นก่อนว่าทุกคนมีศักยภาพ เมื่อได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมเด็กและเยาวชนจะมีความสามารถในการคิดและปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง “เด็กถ้าผ่านกระบวนการแบบนี้ เขาจะคิดเป็นและปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เราก็ต้องรู้เท่าทันเด็กเพื่อจะหาวิธีการรับมือกับเขาให้ได้ ” ควบคู่กับสร้างความเชื่อมั่นต่อชุมชนพ่อแม่ของเด็กและเยาวชน ทำให้ผู้ปกครองเห็นว่าเด็กที่เข้ามาแล้วเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีพฤติกรรม การเรียนดีขึ้น มีความสามารถมากขึ้น กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ มีส่วนร่วม รู้จักบ้านตนเอง รู้จักชุมชน เมื่อออกจากชุมชนแล้วไปได้ดี สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ เขาจะสนับสนุนให้เด็กเยาวชนเข้าร่วมกระบวนการ

          สร้างเยาวชนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องให้เข้ามาทำงานต่อจากรุ่นเก่าที่ออกไป ติดตั้งกระบวนคิดเพื่อสร้างผู้นำเด็กและเยาวชน ในโครงการศึกษากระบวนการเรียนรู้วิถีชุมชนเรื่องการใช้ประโยชน์จากกล้วยของเด็กและเยาวชนตำบลแพรกหนามแดง ใช้กระบวนการทำวิจัย ประสบการณ์วิจัยท้องถิ่น ความรู้ของท้องถิ่น สถานการณ์จากเวทีเครือข่าย เป็นต้นทุนค้นหาวิธีพัฒนาเด็กเยาวชน ควบคู่การถ่ายทอดความรู้ในท้องถิ่นให้เด็กเยาวชน เน้นให้รู้จักบ้านตัวเอง รู้ว่าบ้านมีอะไร จะพัฒนาบ้านแบบไหน ดึงศักยภาพของเด็กเยาวชนจนมีความสามารถที่โดดเด่น ผ่านการฝึกทำงานเป็นทีม แบ่งบทบาทหน้าที่ตามความถนัด ใครบันทึกเก่ง ใครชวนคุยเก่ง เน้นกระบวนการคิด “ตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ข้อมูล วางแผน สรุปบทเรียน” ฝึกเรียงลำดับความสำคัญก่อนหลัง เน้นฝึกฝนวิธีคิดกำหนดโจทย์ตั้งคำถามว่ากล้วยนำมาทำอะไรได้บ้าง ฝึกเด็กเยาวชนให้ค้นหาทุนในชุมชน คิดและพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน สรุปสิ่งที่อยากทำ

          กลไกชุมชนต้องร่วมมือกันกำหนดหน้าที่แบ่งงานตามความสามารถเฉพาะของแต่ละคน เสริมจุดอ่อนด้วยจุดเด่นของสมาชิกในทีม เติมเต็มข้อมูลกันและกัน ยืดหยุ่นปรับตัวตามบริบทชีวิตเด็กและเยาวชน การแต่งตัวสบายๆ ของพี่เลี้ยงลดช่องว่างระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก “แต่งตัวเรียบร้อยดูดีเด็กไม่กล้าเข้า ต้องแต่งตัวสบายๆ” เรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับเด็ก เด็กคิดอย่างไร มีนิสัยแบบไหน ครอบครัวเป็นแบบไหน จับสังเกตพฤติกรรม เขาคิดอะไรใจเขาอยู่ที่ตรงไหน คุยกับเด็กตรงไปตรงมา ตั้งเงื่อนไขกติการ่วมกัน ปรับวิธีการจากสอนสั่งเป็นแนะนำ ย้ำพูดข้อตกลง สื่อสารจริงใจพูดด้วยความห่วงใย

­

ความโดดเด่น

  • พัฒนาแนวคิดเด็กและเยาวชนอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนวิจัย “ตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ข้อมูล วางแผน สรุปบทเรียน” ด้วยความหวังส่งต่อกระบวนคิดการพัฒนาชุมชนรุ่นสู่รุ่น
  • ทำงานร่วมกันเป็นทีม มีส่วนร่วมแบ่งงานตามความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละคน เสริมจุดอ่อนด้วยจุดเด่น เติมเต็มข้อมูลกันและกัน
  • ยืดหยุ่นปรับตัวตามบริบทชีวิตเด็กและเยาวชน แสวงหาวิธีการเข้าถึงเยาวชนทุกกลุ่มในชุมชน

­

­

ผู้ให้สัมภาษณ์

  1. นิภา บัวจันทร์ (พี่แมว) อายุ 51 ปี  ตำแหน่ง ผู้จัดการสถาบันการเงินแพรกหนามแดง กรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เจ้าหน้าที่สหกรณ์เคหสถานเจริญมั่งมีมั่นคง (บ้านมั่นคง) ทีมวิจัยชุมชนแพรกหนามแดง พี่เลี้ยงโครงการแพรกหนามแดง
  2. สมศักดิ์ ริ้วทอง (ลุงเปี๊ยก) อายุ 64 ปี  ตำแหน่ง ทีมวิจัยชุมชนแพรกหนามแดง พี่เลี้ยงโครงการแพรกหนามแดง
  3. พจนา วิเชียรฉาย (พี่น้อง) อายุ 56 ปี  ตำแหน่ง กรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กรรมการสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ทีมวิจัยชุมชนแพรกหนามแดง พี่เลี้ยงโครงการแพรกหนามแดง
  4. บังอร ช่วยชูวงค์ (พี่ผึ้ง) อายุ 46 ปี  ตำแหน่ง กรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน ทีมวิจัยชุมชนแพรกหนามแดง พี่เลี้ยงโครงการแพรกหนามแดง

­

­

สัมภาษณ์วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563

ถาม   ขอให้แนะนำตัว ชื่อจริง นามสกุล ชื่อเล่น ทำหน้าที่อะไรในโครงการนี้?

พี่แมว   สวัสดีค่ะ นิภา บัวจันทร์ ชื่อเล่นแมวค่ะ บทบาทในโครงการนี้เป็นพี่เลี้ยงของทีม สกาลอปอีซี่ สร้างแอปพิเคชั่นการเลี้ยงหอยแครง คุมเด็กผู้ชายซึ่งยากอยู่ ในชุมชนทำงานกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นเจ้าหน้าที่สหกรณ์หมู่บ้านมั่นคง ผู้จัดการสถาบันการเงินชุมชนแพรกหนามแดง ทำงานกับชุมชนมาตลอด เป็นทีมวิจัยของชุมชนแพรกหนามแดง

พี่ผึ้ง   ชื่อบังอร ช่วยชูวงค์ ผึ้งค่ะ เป็นพี่เลี้ยงของทีมบานาน่าทีนเอจ เป็นกรรมการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินที่นี่ ทำงานวิจัยกับพี่แมว

พี่น้อง   พจนา วิเชียรฉาย ชื่อเล่น น้อง เป็นพี่เลี้ยงของทีมบานาน่าทีนเอจ เป็นกรรมการของกลุ่มสัจจะทำเรื่องสวัสดิการ เป็นกรรมการของสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคง เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงิน เป็นทีมวิจัยท้องถิ่น

แอล   ของสองทีมนี้ น้าแมวที่อยู่ สกาลอปอีซี่ และน้าผึ้ง ป้าน้องที่อยู่บานาน่าทีนเอจ เป็นพื้นที่ใกล้เคียงกัน เด็กเป็นชุดที่สร้างมาตั้งแต่ชุด Active Citizen แต่ว่าแยกกันทำคนละส่วน น้าแมวดูแลส่วนนี้ น้าผึ้งจะดูแลทีมเด็กที่สร้างขึ้นมาใหม่ แต่ก็ช่วยกันเป็นพี่เลี้ยงของทั้งสองทีมนี้

­

ถาม   ทีมเราทำงานกับเยาวชนในชุมชนนี้หลายโครงการ จะขอให้โฟกัสในโครงการปัจจุบัน คือ Active Citizen นี้ ชื่อว่าโครงการศึกษากระบวนการเรียนรู้วิถีชุมชนจากการใช้ประโยชน์จากกล้วยของเด็กและเยาวชน ขอให้เล่าเรื่องโครงการนี้ งานที่ผ่านมา กลไกชุมชนที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งร่วมมือกันอย่างไรบ้าง ทำไมถึงสนใจทำงานโครงการด้านเยาวชน ให้กับชุมชนของเรา?

พี่แมว   เราทำกับผู้ใหญ่ มาหลายเรื่อง มีโครงการวิจัยของ สก.สว. ที่ เดิมเป็น สกว. ทำโครงการเยาวชนอยู่ เราทำมาตลอดต่อเนื่อง พอเด็กโตออกไปก็ต่อเป็นรุ่นๆ มีโครงการใหม่เข้ามา เราก็ดึงเด็กเข้ามาใหม่เรื่อยๆ จากการที่เราดึงเด็กเข้ามาเรื่อยๆ เราพบกว่าการทำงานกับเด็ก หรือการทำงานกิจกรรมกับเด็กต้องทำอย่างต่อเนื่องและทำหลายๆ รุ่น เราต้องสร้างเขาไปเรื่อยๆ ให้เขามีส่วนร่วม รู้จักบ้านตนเอง รู้จักชุมชน อย่างคนนั้นโตแล้วทำงานกันแล้วก็จะมีรุ่นน้องที่เราต้องดึงเข้ามาสร้างใหม่ ในชุมชนผู้ปกครองเห็นว่าเราสร้างเด็กแล้วไปได้ดี เด็กสามารถมีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้เขาก็อยากให้ลูกเขามาเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเราได้รับการมีส่วนร่วมจากชุมชน ครอบครัวของเด็กเหล่านั้นที่เราติดต่อด้วย เขาเห็นตัวอย่างว่าเด็กที่เข้ามาตรงนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีพฤติกรรม การเรียนดีขึ้น มีความสามารถมากขึ้น กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ เขาเลยส่งเสริมให้มาทำกิจกรรมกับเรา ส่วนหนึ่งพี่เลี้ยงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนให้กับพ่อแม่ของเขาด้วย เขาจึงอยากส่งลูกของเขาเข้ามาร่วมกิจกรรม

­

ถาม   อยากทราบจุดเริ่มต้นของแต่ละคน เรามีอาชีพมีงานของตัวเองทำไมต้องเป็นตัวแทนของคนในชุมชนมาทำงานให้กับชุมชน?

พี่แมว   เราถูกวางกระบวนไว้ มันติดเข้าไปในใจเราแล้วว่า เราทำงานชุมชน รู้กระบวนการทำงานวิจัยท้องถิ่นแทรกเข้ามาอยู่กับการดำเนินชีวิตของเรา เมื่อไรที่โครงการจบไปแล้ว เราว่างไม่ได้เจอเพื่อนหรือคนในชุมชน มันทำให้เรารู้สึกว่าขาดอะไรก็ไม่รู้ พอมีโครงการมาต่อเนื่อง เราก็สนุกไปอย่าง เราเหมือนน้ำที่พร่อง ทุกคนพอมีกิจกรรม เจ้ดูสิทำขนมเป็นอย่างไรไปลองมา อย่างขนมครกข้าวไร้ซเบอรี่ การเป็นพี่เลี้ยงชุมชนต้องทำเป็นทีม ถ้าเราคนเดียวไม่สามารถทำได้เพราะความสามารถแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนนั้นถนัดแบบนี้ คนนี้ถนัดแบบนั้นแยกกันไป พอเราได้เจอโครงการอะไรที่แปลกใหม่ การคิดค้นคว้าโครงการใหม่ๆ เริ่มขึ้น เจ้ลองสิ ลองทำ ก็เลยกลายเป็นว่าเราลองคิดลองทำช่วยกันหลายคนมันสนุก พอสนุกความรู้ใหม่ เราต้องทำแบบนี้ ดัดแปลงแบบนี้นะ ไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเราทำอีกอย่างได้อีกอย่าง กลายเป็นความรู้ใหม่ๆ มันได้ภูมิปัญญาใหม่ ได้เอาภูมิปัญญาเก่ามาบวกกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราเองสนุกอยากทำไปเรื่อยๆ เราเจอเด็กรุ่นใหม่ ยาก สอนยากนิดนึง พี่เลี้ยงก็ต้องคุยกันว่าเอาอย่างไรดีต้องปรับทัศนคติตัวเอง ปรับวิธีที่จะรับมือกับเด็กรุ่นใหม่

พี่ผึ้ง   เมื่อก่อนเจ้อยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร มาเป็นสมาชิกที่กลุ่มสัจจะ ทีนี้มีประชุมใหญ่พี่ปัญญาชวนให้มาเป็นกรรมการที่กลุ่ม พอเข้ามาเป็นกรรมการที่กลุ่มครบสองปี พี่แมวช่วยเข้าทีมวิจัยท้องถิ่น พอดีช่วงนั้นหลานชายคนโตเกเร ปกติเราอยู่บ้านเลี้ยงหลาน เหมือนมีข้อบังคับต้องทำโน่นทำนี่ พี่แมวเห็นว่าหลานเกเรอยู่จึงชวนมาเข้ามาทำงานกับเด็ก พอเรียนรู้เวลาประชุมเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็เอามา ปรับใช้กับที่บ้าน วางเช้าตื่นมาเด็กๆ ต้องทำอะไรบ้าง ไม่บังคับมาก ยายเขาชอบบังคับหลานก็มาคุยกันยายว่าคนโตไม่ไหวแล้วนะ ทำงานกับเด็กในโครงการตั้งแต่รุ่นที่แล้ว เอาหลานคนเล็กเข้ามาเรียนรู้ พอโตขึ้นเขาเป็นหนุ่มแล้วจะได้ไม่เกเร

พี่น้อง   เริ่มเลยไม่ใช่คนที่นี่ ตอนนั้นมาขายของได้แฟนที่นี่ตั้งแต่ปี 47 คุณปัญญาชวนให้มาเป็นสมาชิกกลุ่มสัจจะ จากนั้นก็ชวนให้เป็นกรรมการ เราก็ไม่เอาในปีแรก ปีที่สอง พอปีที่สามด้วยความเกรงใจ จึงเป็นกรรมการตอนปี 50 และเป็นปีที่ได้ทำโครงการวิจัยเรื่องสวัสดิการเดิมเขาทำเรื่องน้ำจบโครงการไป ก็เริ่มทำ คุณธเนศก็มารับด้วยตัวเอง ไปประชุมเครือข่ายเขาก็ถามว่ารู้ไหมมาทำอะไร เลยบอกเขาว่าอยากรู้ก็เลยมา เขาบอกว่าเดี๋ยวก็รู้เองจะไม่บอกอะไรเลย ให้ไปเอง พอเขาเรียกว่าว่าทีมวิจัย เราก็บอกว่าไม่ใช่เรามาประชุม เราไม่รู้ตัวว่าเป็นนักวิจัย ทำๆ ไปเราก็ลงพื้นที่เจอภูมิปัญญาเวลาเราคุยกับคนแก่ ในพื้นที่ถ้าเราคุยเรื่องที่ว่า คนนั้นคนนี้มีผลประโยชน์ไม่ได้ เขาจะว่าเราจบทุกทีถ้าเกิดเราเผลอพูดเรื่องการเมืองบ้างอะไรบ้าง ได้เลย ทำให้เราเรียนรู้ว่าในชุมชนไม่ใช่ว่าเราอยากจะเข้าไปคุยอะไรก็คุยได้ ต้องมีการวางแผนก่อนไปคุย ทำมาเรื่อยๆ

พี่แมว   ขอเสริมว่า ในปี 50 ทำวิจัยเรื่องสวัสดิการ ช่วงนี้ทำให้เราเล่นกิจกรรมกับเด็กครั้งแรกเป็น Child Watch ที่เป็นอาจารย์จากราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง มาทำร่วมกัน เราใช้งานวิจัยของสวัสดิการ และ Child Watch เล่นกิจกรรมของเด็ก คู่กันไปเลยเป็นครั้งแรกที่ทำกับเด็กเล็กๆ เอาลูกหลานของเราเองมาทำกิจกรรม

­

ถาม   สถานการณ์เด็กเยาวชนของชุมชนแพรกหนามแดงในอดีตเป็นอย่างไร?

พี่แมว   ตอนที่ทำ Child Watch ยังไม่มีปัญหาอะไร จนมาทำวิจัยเรื่องพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ทำกับเด็กที่มีปัญหา เด็กที่อยู่นอกโรงเรียน เด็กที่มีประวติไม่ดี เด็กกลุ่มเสี่ยง ด้วยความที่เราคลุกคลีกับเด็กกลุ่มนั้นตั้งแต่เล็กๆ เป็นเด็กดีมาก หลุดช่วง ม.3 เขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยปัญหาครอบครัว ทำให้ชีวิตเขาเสียต้องเข้าไปอยู่สถานพินิจฯ บ่อย จนเขาบอกว่าไม่ไหวกับชีวิตแล้ว เขาเจอปัญหาชุมชนไม่ต้อนรับไปทางไหนชุมชนก็ไล่ อยากกลับตัว กลายเป็นงานวิจัย สกว. เรื่องการพัฒนาศักยภาพเด็ก เราก็เรียนรู้กับเด็กที่มีโลกส่วนตัว เด็กที่อยู่นอกโรงเรียน เราก็ทำกับเด็กพวกนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่เจ้น้องหนีเลย เจ้เคยทำแต่เด็กดี

พี่น้อง   ที่เราออกไป เพราะว่าเราเป็นคนที่พูดอะไรก็ต้องทำให้ได้ ไม่ใช่ว่าพูดแล้วทำไม่ได้ เรานัดเด็ก สมมตินัดเก้าโมงเด็กมาสิบเอ็ดโมง เราต้องมานั่งรอ เราไม่ได้อยู่ที่นี่ เราก็ต้องการนั่งรอ เราคิดว่าเอาใจเกินไป เราคิดว่า ต้องเจอกันระหว่างกลาง ไม่หย่อนเกินตึงเกิน ต้องปรับครึ่งทาง อันนี้ไม่ใช่เราต้องปรับอย่างเดียวเลยเหรอ ไม่ไปไม่มา ช่วงนั้นพ่อไม่สบายด้วย เราก็เลยไม่มา เลยหยุดช่วง Active Citizen ปีหนึ่ง ช่วงนั้นไม่ได้เห็นเลย เราเครียดยิ่งทำยิ่งเครียด อย่างที่บอกเราเป็นคนที่บอกว่าก็คือทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ทำ

พี่แมว   เจ้น้องเป็นลักษณะของคุณป้าเจ้าระเบียบ แบบนี้ไม่ได้นะ พูดแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้ไม่ได้นะ พอเด็กมาเมามา มีกลิ่นละมุดโชย นี่ก็ไม่ได้ละ ใส่รองเท้าแตะมาบ้าง คือเด็กรุ่นนี้เขาจะเอาตามใจเขา ไม่ค่อยรับผิดชอบจนเขาเปลี่ยนตารางชีวิต พี่เลี้ยงมาช่วยดูการใช้ชีวิต เขามีตารางชีวิตอย่างไร ชวนคิดกลับด้าน เจอโครงการ Active Citizen เราได้วิธีการมาอีก ตอนนั้นโจ้ลงมา ทำให้เรามีวิธีที่จะคุยกับเด็กวัยรุ่นเข้าใจเขามากขึ้น เราเลยปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานวิจัยที่เอาแต่สั่ง ให้เขาคิดเอง เอาสันทนาการมาเล่น ให้เขาทำกิจกรรมคิดนู่นนี่นั่น ถอดบทเรียน แล้วก็ทำซ้ำ วางคู่ไปกับกระบวนการวิจัย กลายเป็นว่าเด็กจัดชีวิต คือพวกที่หลุดเราก็ปล่อยหลุดเลย คือว่าเรายื่นมือไปช่วยแล้วถ้าคุณไม่ลุกขึ้นจับมือเราก็ปล่อย คนที่ได้ดีก็ไปได้ดีเลย คนที่ไม่ไหวก็ปล่อยไป

ลุกเปี๊ยก   คือเราวางให้เขาแบบนี้ว่า เด็กๆ รู้ไหมว่าเด็กๆ ตอนนี้ไม่มีที่จะยืนในสังคม เราคุยกับเขาว่าอย่างนี้ สังคมในหมู่บ้านมีใครให้เข้าบ้านบ้างก็ไม่มี จะเข้าบ้านใครปุ๊บ “อย่ามายุ่งกับลูกฉันเดี๋ยวลูกฉันเสียคน เขาไม่ให้เข้า เพราะฉะนั้นแกไปยุ่งกับลูกคนอื่นเขาไม่ได้เลย แกหมดที่ยืนในสังคม แกอยากมีที่ยืนสังคมใหม่นี้ได้ ให้มีที่ยืนในสังคมให้ได้ เพราะฉะนั้นแกเข้ามาทำกิจกรรมกับเราแล้วก็ ทำไปเรื่อยๆ ต่อไปแกจะมีที่ยืนในสังคมแน่ๆ” พอเราพูดแบบนั้นเขาก็เข้ามาดูคอยมา ดูแต่ว่าไม่ลงมือนะ คอยมาดูเข้ามาเรียบเรียงก่อน มาร่วมกิจกรรมบ้างแต่ยังไม่คุยกับเราเท่าไร เพราะว่าพวกนี้ เราต้องมีมุขมีอะไรเพื่อให้เขาคุยกับเราให้ได้ ภาษาของเขาไม่ใช่ภาษาเรา รักนะจุ๊บๆ อะไรของเขาก็ไม่รู้ มันคุยยากเด็กวัยรุ่นที่สักเต็มตัวพวกนี้ ทีนี้เราก็มีวิธีของเราทำอย่างไรถึงจะคุยกับเขาได้ พยายามแยงใจเขา น้องมีแฟนหรือยัง “มีแล้วแต่ไม่รู้จะคุยอย่างไรกับแฟน ลุงอะไรที่จะจีบได้ไหนบอกมาสิ ลองมาให้ผมสักนิดสิ” เราก็บอกให้ไปคุยว่า “น้องคิดว่าอยากเจอผีไหม เจอผีแล้วโชคดีนะ” “เดี๋ยวผมจะถามให้ ถ้าเขาบอกว่าอยากเจอล่ะ” “น้องก็บอกไปว่า ถ้าอยากเจอผีให้ไปบ้านร้าง ถ้าหัวใจน้องว่างมาเจอบ้านพี่” เท่านั้นล่ะ เด็กมันคุยเลย ถามว่า “พรุ่งนี้ลุงมาอีกหรือเปล่า กิจกรรมมีอะไรทำบ้าง” เราต้องหามุขให้เข้ากับเด็กวัยรุ่นได้

พี่แมว   คือลุงเปี๊ยกได้ฉายาจากทีมเราว่าเป็นเปี๊ยกเชิญยิ้ม จะมีมุขให้เด็กตลก เวลาเด็กเครียด มุขกับเด็กผู้ชาย ช่วยเราได้เยอะอย่างที่บอกว่าเราวางกระบวน Active และงานวิจัยคู่ไปด้วยกันให้เด็กรุ่นใหญ่สอนเด็กเล็กประถมอนุบาล เราคละอายุให้เราเรียนรู้ปรับตัวเข้าหากัน เราเป็นพี่เลี้ยงคอยตั้งคำถามบ่อยๆ ให้เขาคิดว่าควรทำอย่างไร ควรปรับวิธีไหน ทำมาให้เราดูสมบูรณ์หรือยัง เป็นพี่เลี้ยงที่ตั้งคำถามและทบทวนอยู่ตลอดเวลา

­

ถาม   ส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง?

พี่แมว   เด็กเสี่ยงเฉพาะปีหนึ่ง กลุ่มเด็กแว้น พอปีสอง เด็กกลุ่มเสี่ยงเขาก็ไปที่ของเขา

ลุงเปี๊ยก   เป็นทหาร ทำงาน เลิกยา คือไปเป็นคนดี

พี่แมว   ปีสองจะเป็นเด็กเรียน แอล อ้อม

พี่แมว   ปีสามจะเป็นเด็กเรียนประถม มัธยม แต่ว่าสิ่งที่ยากในการทำงานกับเด็กในโรงเรียนคือเรื่องเวลา การทำกิจกรรมครู แม้กระทั่งวันหยุดปิดเทอมก็ให้เด็กมาฝึกอบรมทำโครงงาน เตรียมตัวแข่งขันกิจกรรมโครงการ ทำอาหาร แข่งระดับเขต ระดับภาค เราต้องคุยกับครูว่า ครูขอวันหนึ่งนะ ขอเวลาเด็กหน่อย บางทีครูโทรหาพรุ่งนี้ไปแข่งแล้วค่ะ ขอตัวเด็กก่อนได้ไหม จะเจอแบบนี้เยอะมาก

พี่น้อง   เราสังเกตว่าเด็กที่เอามาทำกิจกรรมด้วย ครูเขาเห็นว่าเด็กเรามีกระบวนการคิดเป็นขั้นเป็นตอน คิดทำอะไรแล้ว มีถอดบทเรียน ปรึกษา ทำแผนกัน มีระเบียบ เขาก็ชอบเอาเด็กที่มาเข้ากิจกรรมทีมเราไปทำงาน ทำโครงการของโรงเรียน เพราะว่าพอพูดแล้วเด็กจะเข้าใจ เพราะถูกฝึกมาแล้ว พอเวลาที่เราต้องการเด็กพวกนี้ครูก็พาเด็กไปนู่นไปนั่น ข้อเสียข้อจำกัดของเราคือเวลาเราจะเอา เขาขอก่อนเอาไปก่อน เขาตัดหน้าเราไป

ลุงเปี๊ยก   คือเด็กก็ทำกิจกรรมนอกโรงเรียนอยู่แล้ว

­

ถาม   หลังจากทำกิจกรรมโครงการกับพวกเรา พี่ทุกคนเห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กไปทางใดบ้างคะ?

พี่แมว   จากเด็กกลุ่มเสี่ยงคนที่ตั้งหลักได้เขาก็ไปเลยนะ เขาได้ดีกว่าเราอีก เรายังนั่งมอร์เตอร์ไซด์อยู่เลย เขาไปตั้งตัวได้ ทำงานจนเป็นหลักแหล่งถอยรถกระบะมา แม่ครับสวัสดีครับผมถอยรถแล้วนะ

ลุงเปี๊ยก   เขาก็ไปสร้างครอบครัวมีลูกมีเมีย จากที่ไม่เคยเห็นว่าเขาจะไปทางนี้

พี่แมว   ที่แน่ๆ สิ่งที่เราดีใจสลายแก้งค์ในนี้ได้ คนที่เป็นหัวหน้าโครงการปีหนึ่งนั่นก็คือหัวหน้าแก้งค์ หัวโจกของกลุ่ม ไปทำงาน แก้งค์ที่ตีกันเป็นประจำก็หายไปแล้ว

ลุงเปี๊ยก   ในความรู้สึกของเรา เขาพูดเพราะมีมารยาทมาก มาตอนแรกพูดกระโชกโฮกฮาก ไม่รู้จักเลยพี่ป้าน้าอาครูบาอาจารย์ไม่รู้ พอมาหลังๆ “ลุงครับ ลุงมีกิจกรรมอะไรให้ผมทำบ้างครับ”

พี่แมว   เด็กเขาก็ติดกิจกรรม พ่อแม่เขาก็จะถามว่าเมื่อไรจะมีกิจกรรมอีก เราทำงานกับเด็กๆ เราให้กินอิ่มมีของขวัญของรางวัลให้คิดร่วมกัน กิจกรรมในครอบครัว สอนทุกอย่างทั้งความสัมพันธ์ การพูดจา

พี่ผึ้ง   เด็กๆ กล้าพูดขึ้นมีเหตุผล หลานที่บ้านจะพูดอะไรต้องมีเหตุผลถ้าไม่มีเหตุผลเขาไม่ยอมทำ เหตุผลต้องมาก่อน

พี่น้อง   คนในชุมชนเห็นพวกเราทำงาน ที่ตรงนี้เดิมโล่ง เราทำกันขึ้นมาเป็นอาคาร ชาวบ้านเห็นว่ารวมตัวกันแล้วทำจริง ไปอบรมที่นั่นที่นี่ ได้กิจกรรมเข้ามา พอเราไปชวนลูกเขา บอกว่ามากับเราเขาจะให้มาเลยไม่ปฏิเสธ พอเอามาจากลูกที่ซนๆ พอมาอยู่กับเราเขานิ่งทำกิจกรรม ถ้าเป็นเด็กโตกล้าคิดขึ้นมีเหตุผล เราเห็นคิดว่าจะไปรอดไหม พอเข้าเวทีไม่น่าเชื่อว่าเขาจะพูดจะทำได้ ทั้งที่ก่อนไป เราคิดว่าจะเสียหน้ารอดไหม

ลุงเปี๊ยก   รุ่นสองกับรุ่นสาม เขาพัฒนาศักยภาพของเขาขึ้นมาไม่ใช่น้อย คนนี้จากเล่นเกมไม่หยุด ไม่ฟังใคร ทั้งสิ้น ก้มหน้าก้มตาเล่นเกม ตอนนี้เก่งไปไกล เลิกเล่นเกม

พี่น้อง    รู้จักกับแม่เขา เข้ามาเล่นในนี้ พาไปออกเวที แม่เขาบอกให้ไปกับป้าน้อง ป้าแมว

พี่แมว    เวลาไปออกเวที เขาก็ทำตาขวางใส่พวกเรา แล้วบอกว่าโดนบังคับมา ตอนนี้ได้เขามาทำงาน

พี่ผึ้ง   ผู้ปกครองเขาดี เวลารับไปไหน ส่งกลับเขาไม่ห่วงไว้วางใจ

ลุงเปี๊ยก   ตอนนี้ก็ตัดให้รุ่นพี่ไปเป็นพี่เลี้ยงรุ่นเล็กต่อจากพวกเราอีกที เราก็เป็นที่ปรึกษาไป เป็นพี่เลี้ยงไปใช้ความรู้จากพวกเราไปสนรุ่นเล็กอีกที

­

ถาม   พวกเรามารวมตัวกันได้อย่างไร มีใครมากกว่าสี่คนไหม?

พี่แมว   จากเดิมเราเป็นทีมวิจัยท้องถิ่น รู้จักเครือข่ายทั้งตำบล เวลาให้เด็กๆ เรียนรู้ที่ไหน เราจะประสานขอไป ตรงนั้นตรงนี้ ไปวันนี้เวลานี้เขาก็ให้ความร่วมมือ เวลาเราไปสำรวจทั้งตำบล

พี่น้อง   ตอนวิจัยท้องถิ่นครั้งแรกต้องลงทุกหมู่ ได้รู้จักแต่ละหมู่ในเป็นผู้นำ ใครมีความสำคัญ ใครมีบทบาทอะไรในนั้น เวลาไปลงก็จะประสานเขาก็ให้ความร่วมมือ

ลุงเปี๊ยก   ทีมที่ปรึกษาหรือทีมวิจัยของเรามีสองด้าน คือด้านน้ำจืดกับด้านน้ำเค็ม เวลาที่เด็กปรึกษาจะถามเราว่า จะลงไปดูพื้นที่จะลงไปด้านไหน ลงด้านน้ำจืดประสานทีมน้ำจืด ผมอยู่น้ำเค็มก็ประสานผมจะไปดูใคร เผาถ่าน เย็บจาก เด็กจะได้รู้ว่าเขาเย็บจาก เผ่าถ่านอย่างไร เด็กก็ไปเก็บข้อมูล ถ้าโซนน้ำจืดก็ประสานพี่สมบูรณ์ นาข้าวมีนาอะไรบ้างปลูกข้าวพันธุ์อะไรมีน้ำไหม

พี่แมว   เขาจะมีแบ่งเป็นโซน ฝั่งน้ำจืดและน้ำเค็ม โซน สวน นาข้าว บ่อปลา

­

ถาม   ทั้งตำบลพี่จะมีโซนเพราะมีฐานวิจัยมาก่อน แต่ละโซนจะมีภูมิรู้ มีเครือข่ายพอขยับมาทำเรื่องเราเยาวชนจะให้เขาเรียนรู้ คือพวกเราที่อยู่ตรงกลางก็จะประสาน ปราชญ์เพื่อให้เด็กไปเรียนรู้ ในชุมชน มีบทบาทอะไรอีกบ้างที่ทำกับเด็ก กิจกรรมตรงกลางที่เรามาพัฒนาเขา?

พี่น้อง   เราจะถอดบทเรียนเขาว่าสิ่งที่เขาได้มา เราทำมาหลายโครงการแล้ว เรารู้ความสมบูรณ์ของข้อมูล รู้ว่าขาดอะไรไป ต้องมาถอดว่าเขาได้อะไรบาง สมบูรณ์ชัดเจนหรือยัง ถ้ามันยังไม่ครบต้องมีอะไรเพิ่มอีกไหม หรือลงไปใหม่ไหม อย่างรุ่นแอล ลงไปใหม่เพราะยังไม่ครบเลยนะ มันต้องมีอีก ถอดบทเรียนตั้งคำถามเป็นที่ปรึกษา

ลุงเปี๊ยก   ดูครั้งถอดครั้ง เอาเด็กลงไปกลับมาเด็กเขียนอะไรบ้าง จดลงมาให้ทีมอ่านดู ฉันได้เห็นคนตัดไม้ เขาตัดไม้ทำลายป่าหรือเปล่า เปล่าเขาปลูกทดแทน เห็นฝักเล็กๆ ขึ้น เห็นคนปักเบ็ด เห็นคนยกยอ เห็นคนทอดแห เด็กเห็นอะไรบ้างที่ไป

พี่แมว    โซนนี้นะที่เราไปดูมาเป็นโซนน้ำเค็ม มีปลูกต้นไม้ทดแทนเมื่อเขาตัดไม้เผาถ่าน มีการเย็บจักร ตกปลา ปักปลาดุก นี่คืออาชีพ

พี่แมว   ก่อนไปถึงชุมชนนั้นระหว่างทางเราเห็นอะไรบ้าง มาถอดเป็นคำพูดหรือข้อความบ้าง บางคนก็จินตการวาดมาเลยชอบอะไรที่สุด ให้จินตนาการวาดออกมาเลยชอบอะไรของตำบลเรา ส่วนไหนบ้าง

­

ถาม   พยายามอธิบายกลไกของพี่ๆ พี่ๆ เป็นนักวิจัยท้องถิ่น รู้จักพื้นที่ชุมชนของตัวเองดี ตามโซน เป็นนักวิจัยที่ครบกระบวน รู้ว่าหาข้อมูลอย่างไร ถอดบทเรียนรู้อย่างไร ตั้งคำถาม อยู่ในตัวเอง พอกับเด็กก็ใช้กระบวนเดียวกัน พาให้เด็กเห็นแบบที่ผู้ใหญ่เห็น เขามาเท่านี้จะตั้งคำถามอย่างไรให้เขาได้เรียนรู้ได้เห็น แบบที่ผู้ใหญ่ได้ประสบการณ์มาแล้ว เพราะว่าเราทำงานวิจัยมานาน นานกว่าทำวิจัยด้านเด็กและเยาวชน อันนี้เป็นทุนที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก ผู้ใหญ่จบกระบวน ครบวงจรของการวิจัยครบ ไปหามาวิเคราะห์ สรุป แก้ปัญหา

พี่แมว   ผู้ใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกันนะ แต่ว่าพอเรามาปรับตัวทำงานกับเด็กเราต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับเด็ก เราจะทำตัวอย่างไร เป็นพี่เลี้ยงเขาแบบไหน เราต้องศึกษา

ลุงเปี๊ยก   เราไม่รู้ว่าเด็กเขาชอบแบบไหน เราต้องปรับตัว รู้ว่าเขาคิดอะไร

พี่แมว   เราต้องรู้ว่าเขาคิดอย่างไร นิสัยแบบไหน ครอบครัวเป็นแบบไหน

พี่น้อง   ต้องเรียนรู้ตลอด เขาคิดอะไรอยู่ ใจเขาอยู่ที่ตรงนี้หรือเปล่า

ลุงเปี๊ยก   บางทีเราต้องพยายามทำให้รู้

­

ถาม   ทำอย่างไรคะ?

พี่แมว   จับสังเกตพฤติกรรม เด็กบางคนไม่พูด ทำไมหรือมีปัญหา ก็เข้าคลินิกส่วนตัว แชทถามบ้าง ถามตรงๆ บ้าง ใช้คำพูดแบบผู้ใหญ่ห่วงลูกในครอบครัว จะทำลักษณะอย่างนั้น

พี่น้อง   ครั้งหนึ่งเราพาเขาไป กลับมาเขาบอกลงตรงนี้ เราพาเขาไปส่งบ้าน พอขากลับมีผู้ชาย ทีมเราคุยกันเลยว่าไม่ได้นะ ถ้าพ่อแม่ของเขาเห็น พ่อแม่เขารู้อยู่แล้ว มันก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพ่อแม่เขาไม่รู้ แต่เด็กไปกับเรา ซวยนะ เราก็คุยกับเด็กว่าคราวหลังอย่าทำอย่างนี้ ถ้าเธอเป็นอะไรขึ้นมา พวกป้าจะเดือดร้อน และทีหลังเขาจะไม่ให้ไป และคำพูดของป้าพวกนี้เขาจะไม่เชื่อถือกันแล้ว ต้องเปลี่ยนใหม่นะ อย่าทำ ทำไม่ได้ ณ บัดนี้ ถ้าเธอจะทำก็ไปทำเองไม่เกี่ยวกับนี่แล้ว ต้องคุยกับเด็กตรงๆ

พี่แมว   คืออย่าใช้กิจกรรมเราเป็นเครื่องมือ เด็กชุดใหม่เป็นกลุ่มที่เข้าสู่วัยสาว

พี่ผึ้ง   ผู้หญิงเยอะ

พี่แมว   ตั้งเงื่อนไขกติกาของเราว่าแบบนี้ไม่ได้นะ

พี่น้อง   เวลาเราเจอเขาเราก็ค่อยๆ สอน อย่าทำนะ ค่อยๆ สอนทีละนิด ไม่ใช่ว่าไม่ได้ เรารู้ว่าเรารุ่นเก่าเราก็รู้ว่ารุ่นใหม่เป็นอย่างไร

พี่แมว   ปรับวิธีการสอนจากสอนสั่งเป็นแนะนำ เราพูดข้อตกลง เราพูด

พี่น้อง  ด้วยความห่วงใยจริงๆ เราก็จริงใจกับเขา

ลุงเปี๊ยก   ใจเรารู้ว่าการแนะนำคือการสอน แต่ว่าเราไม่รู้ว่าเขารู้หรือเปล่า

แอล   เราสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่าเป็นอย่างไร มีครอบครัวแบบไหน การตามไปดูพวกเขาบนโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเพื่อนกับน้องในเฟสบุค ในไลน์เราจะเห็นพฤติกรรมของเขา บางทีน้องโพสต์ก็เข้าไปเตือนเลย เราจะไม่เตือนด้วยคำที่รุนแรง บางทีเราคุยต่อหน้าไม่ได้ เราก็แชทไป

พี่น้อง   เราแชทในห้อง ห้องไลน์จะไม่แชทสาธารณะ เราจะแชทห้องส่วนตัว

ลุงเปี๊ยก   เด็กที่เป็นลักษณะนี้ค่อนข้างจะเป็นสาว อยู่ ม.3 เด็ก ก็โต

­

ถาม   พี่ๆ แบ่งบทบาทกันอย่างไรในการดูแล หรือว่าช่วยๆ กันดูแล้วมาคุยกัน?

พี่น้อง   ช่วยๆ กันดู สังเกตพฤติกรรมใครเห็นอะไรก็มาคุย

ลุงเปี๊ยก   พอทำกิจกรรมเสร็จก็นัดทีม

พี่ผึ้ง   เราว่างก็จะมากัน ครบ

พี่แมว   อย่างที่เห็นแต่ละคนสไตล์ไม่เหมือนกัน สไตล์การพูดกับเด็กๆ ไม่เหมือนกัน อย่างพี่จะสไตล์เสียงดัง พูดตรงแบบเล่นๆ แรงๆ บางครั้งแอบกระซิบ เราจะมีวิธีดูพฤติกรรมเด็กรายบุคคลว่าคนนี้จะเตือนอย่างไร บางคนรู้นะเดี๋ยวบอกแม่นะ ก็จะแบบนั้น เด็กก็จะกลัวเรา

ลุงเปี๊ยก   ของเราก็สไตล์เล่นๆ

พี่น้อง   ของเราจะดุ เขาจะกลัว บอกแมวว่าไม่ได้แล้วนะ ในความคิดของเราต้องดึงกลับมาบ้างไม่ปล่อยไป ใจดีแต่เขาจะว่าเราดุ พอเจอหน้าเด็กๆ เด็กๆ เฉย ถามว่าสวัสดีหรือยัง

ลุงเปี๊ยก   เด็กบางคนผู้หญิงก็ทะลึ่ง เด็กบางคนก็เรียบร้อย มีหลายสไตล์

­

ถาม   มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงไหม คนนี้ดูแลเรื่องนี้ คนนี้ต้องคอยเตือน?

พี่แมว   พี่จะเป็นไปคนคุม ถ้าเป็นสไตล์คิดเมนูทำอะไร สร้างสรรค์ อาหารจะเป็นป้าน้องให้เงินและเวลาหนึ่งเดือนไปลองฝึกทำ สอนเด็ก

­

ถาม   พี่ๆ บ้านห่างกัน นัดส่งข้อมูลอะไรกันอย่างไร?

พี่แมว   เราจะมีห้องแชท อาเปี๊ยกคนเดียวที่ไม่ยอมเล่น ต้องโทรคุย เราจะต้องมาเจอกันกลุ่มสัจจะทุกวันที่ 1 เราก็จะคุยงานกันทั้งเรื่องคนที่จะมาดูงาน โครงการเด็ก ประชุมเครือข่ายไปดูเขาว่าเป็นอย่างไร เด็กของเราเป็นอย่างไร

ลุงเปี๊ยก   เราต้องเข้าใจคนบ้านเราจิตอาสาที่จะมาทำอย่างนี้ไม่ได้มีมากนัก สิบคนจะมีสักคนที่ทำแบบนี้

พี่น้อง เริ่มต้นมีเยอะค่อยๆ หายไป จนเหลืออยู่เท่านี้

ลุงเปี๊ยก   เขาพูดว่า จิตอาสาถ้าท้องแห้งจะไหวไหม มันอาสาไม่ไหวจริงๆ

­

ถาม   สนใจว่าทำไมถึงเหลืออยู่ 4 คน มีอะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้นะ เราจะต้องทำ?

พี่แมว   มันเข้ากระแสเลือด อินเข้าไปข้างในถ้าไม่ได้เจอกัน ไม่ได้ทำแบบนี้ มันไม่ได้

ลุงเปี๊ยก   เราบอกที่ประชุมเมื่อกี้ว่า ประธานเลิกประชุมเถอะเราติดประชุมนู่นอยู่ จะต้องไป คือแบบว่าเข้ากระแสเลือดมันจะต้องไป ไม่รู้เป็นอย่างไร

พี่น้อง    มันติดเป็นวิถี

­

ถาม   เป็นภารกิจที่เราต้องทำ?

พี่แมว   ใช่ มันเหมือนภารกิจที่เราต้องทำ

พี่น้อง   ความรับผิดชอบ อย่างบางทีเราไม่อยากทำละเรื่องสหกรณ์เรื่องบ้าน จะเอาลูกเข้ามาทำแทน ถ้าลูกเอ็งมาข้าก็ไปแล้ว คือ รู้ใจกัน ไม่ต้องพูดมองตาก็รู้ใจ ว่าคิดอะไรอยู่เราทำกันได้แล้ว ถ้าเราไปล้มไหม ถ้าเลิกก็คือเลิกหมด ล้มก็คือล้ม กลุ่มสัจจะ ถ้าคนนี้บอกเลิกคือล้ม

­

ถาม   เรามีมิตรภาพที่เหนียวแน่นมาก?

พี่น้อง   ใช่ รู้ว่าต้องคิดอะไร ไปอย่างไร

ลุงเปี๊ยก   งานเด็กทำไปแล้วเลิกไม่ได้ เด็กโตเลิกไม่ได้ต้องทำต่อเนื่อง

พี่แมว   เรามีลูกหลานเราเรื่อยๆ ลูกเราโต หลานก็มา เราต้องใช้ประสบการณ์ความรู้ที่เรามีมาใช้ การเข้ามาของโครงการ Active Citizen เราไปทำกิจกรรมอะไร เขามีข้อมูลสถานการณ์ต่างๆ ให้เราเรียนรู้เรื่อยๆ เราแก่ตัวลงไปทุกวัน ถ้าลูกหลานเราไม่รู้ไม่ทันสถานการณ์ จะรับมืออย่างไร เราในฐานะผู้ปกครองหรือว่าคนในชุมชนจะทำอย่างไรให้เด็กรู้จักเอาตัวรอดได้ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดทำอย่างไรให้เขาใช้โซเชียลอย่างเท่าทัน เราได้ความรู้จากข้างนอกเติมมาเรื่อยๆ ถามว่าเราเป็นพี่เลี้ยงอยู่กับที่ อยู่แต่ในพื้นที่จะไม่มีความรู้อะไรเลยไม่ทันใครเขาหรอก เราจะต้องออกไปเรียนรู้ข้างนอกบ้าง การพูดคุยกันบ่อยๆ ดูศึกษาจากพื้นที่อื่นทำให้เราได้เอามาปรับใช้ เด็กในแต่ละพื้นที่บริบทไม่เหมือนกัน วิถีชีวิต อาชีพไม่เหมือนกัน วิธีการสอนต้องเอามาดัดแปลงกับบ้านเรา

­

ถาม   ใครเป็นคนคิดกลไก หรือสร้างแนวคิดแบบนี้?

พี่น้อง  มาตั้งแต่เริ่มต้น เดิมเราคิดว่าเราเป็นชาวบ้านเราไม่ได้เป็นนักวิจัย พอได้ลงพื้นที่เข้าชุมชน เรารู้วิธีคิดมันก็มาปรับกับตัวเรา เราก็เริ่มคิด จากที่ว่าเฉยๆ เราก็มองผ่านไป ก็เริ่มคิดว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ ไม่คิดอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ข่าวสารไม่ว่าจะเป็นข่าวสารอะไร เหตุการณ์ สถานการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนสมัยก่อน วิธีคิดคนเปลี่ยนไป มีเบื้องลึกเบื้องหลังมากกว่านั้น

ลุงเปี๊ยก   มาทีละนิด หลังจาก 9-10 ปี พี่ธเนศบอกเสมอว่าทุกคนมีศักยภาพไม่ว่าจะจบ ป.3 หรือ ป.4 ยกเว้นว่าคุณจะดึงศักยภาพของคุณอันนั้นมาใช้เต็มที่หรือเปล่า ถ้าใช้เต็มที่ทุกคนก็มีศักยภาพหมด เราได้มานู่นนิดนี่หน่อย

พี่น้อง   พอเราไปเจอกันกับกลุ่มอื่น ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะเป็นแบบนี้ ทำให้เราพัฒนาตัวเอง ทำไมเราทำไม่ได้ ทำไมเขาทำได้ จึงต้องออกไปเรียนรู้

ลุงเปี๊ยก   บอกเสมอว่า อาจารย์มาดูงาน เราก็บอกว่า อาจารย์ไม่ได้มาเอาความรู้จากชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านอย่างเดียวนะ ชุมชนอย่างผมก็ได้ความรู้จากอาจารย์ บางเรื่องเขาก็ไม่รู้ อาจารย์ไม่มีประสบการณ์ ผมมีประสบการณ์ อาจารย์มาเอาประสบการณ์จากผม ผมเอาวิชาการจากอาจารย์

­

ถาม   เป็นการเรียนรู้สองทางไม่ใช่การเรียนรู้ทางเดียว?

พี่น้อง   ใช่ การทำนาเราเป็นคนทำนา คนนี้มีวิชาการในการทำนา แบ่งที่กันคนละแปลงให้ทำ ดูว่าผลจะเหมือนกันไหม มันจะต้องแลกเปลี่ยนกัน ต้องใช้ผสมกัน สะสมในตัวเราจนออกมาอย่างนี้กับเด็ก

แอล   เราจะมีเวทีของพี่เลี้ยง อาธเนศ เวทีตรงกลางของเด็ก ของชาวบ้าน ที่จะชวนพี่เลี้ยงต่างๆ ที่ทำวิจัยท้องถิ่นมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แต่ละพื้นที่เพื่อเติมความรู้เข้าไปให้ชุมชนด้วย อย่างของที่นี่ รู้จักกันมาสิบปีมีชุดประสบการณ์เยอะพอมางานเด็กเขาก็เอา ความรู้ข้างนอกมาปรับจูนกันเพื่อทำงานร่วมกันกับเด็กได้

­

ถาม   แสดงว่าการที่เราได้ทำงาน Active Citizen เราได้เอาเรื่องของตัวเองมาเป็นโจทย์ เป็นการพัฒนาศักยภาพทีมไปด้วย ทั้งการรับรู้เรื่องสถานการณ์เยาวชน ได้ทบทวนวิธีคิดการใช้วิจัยเป็นฐาน แล้วก็ในเวทีที่เจอทำให้ได้ฝึกฝนวิธีคิดจากคนอื่น ทั้งเราเรียนรู้จากเขาและเขาเรียนรู้จากเรา

ลุงเปี๊ยก   จริงๆ ไม่ได้เน้นว่าจะเอากล้วยมาทำอาหารอะไรหรอก แต่เขาเน้น วิธีการคิด เด็กคิดว่าจะเอากล้วยมาทำอะไรได้บ้าง

แอล   ที่นี่จะให้เด็กคิดก่อนว่าไปหาทุนก่อน ให้น้องรู้ว่าเด็กมีทุนอะไรในชุมชนบ้าง เด็กก็คิดและมาคุยกัน ว่าน้องอยากทำอะไร

ลุงเปี๊ยก    สำเร็จหรือไม่สำเร็จเขาไม่ได้ว่า เน้นการพูดคุย

­

ถาม   ขอให้ทีมสรุปโดยมองตัวทีมที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องเยาวชนเราได้ใช้ทุนเดิมอะไรที่มีอยู่บ้างในการเอาลงมาทำสิ่งนี้ด้วยกัน ประสบการณ์ หรือความรู้อะไร?

พี่แมว   กระบวนการทำวิจัย กับประสบการณ์ ความรู้ที่ทางสยามกัมมาจลมาลงกิจกรรมของ Active Citizen ภูมิความรู้ของท้องถิ่น ความรู้ด้านนอกสถานการณ์จากเวทีเครือข่าย เอามาบวกกันทุกอย่างเราจะทำอย่างไร ใช้วิธีไหนที่จะพัฒนาเด็กแนวทางของเราควรจะไปทางไหน

ลุงเปี๊ยก    ท้องถิ่นมีความรู้ในท้องถิ่นอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ เราก็ถ่ายทอดให้เด็ก

พี่แมว    เน้นให้เด็กรู้จักบ้านตัวเอง รู้ว่าบ้านเรามีอะไร ดึงศักยภาพของเด็กออกมาว่าเขามีความสามารถอะไร เขาเด่นดีด้านไหน คือให้เขาแยกบทบาทของตัวเอง ทีมใหม่ก็จะหาดูว่าใครบันทึกเก่ง ใครชวนคุยเก่ง จะให้เขาแยกบทบาทแบ่งหน้าที่ แบบที่เราเคยทำมาแล้ว

พี่แมว   โหนดท้าทายให้คิดนอกกรอบตลอด

­

ถาม   ทีมของเราวางอนาคตไว้อย่างไร จะให้มีต่อไปเด็กเปลี่ยนทุกรุ่น ทิศทางความต่อเนื่อง ความยั่งยืน?

พี่แมว   ชุมชนมีความหวัง เพราะเราสร้างไอดอล เพราะฉะนั้นเขาก็หวังว่าลูกหลานจะโตเป็นเหมือนไอดอล เหมือนพี่แอลได้บินไปทั่วประเทศ เขาอยากให้ลูกหลานได้โตไปเป็นเหมือนพี่ได้ทำงานดีๆ ได้มีโอกาสบ้าง

ลุงเปี๊ยก   ความหวังของเรา หวังเด็กรุ่นนี้เป็นทีมต่อจากเรา เพื่อสอนเด็กรุ่นต่อไปรุ่นลูกรุ่นหลาน

พี่แมว    เราหวังแบบนี้จริงๆ สร้างเด็กรุ่นต่อไป เรื่อยๆ เราก็คิดว่ารุ่นลูกรุ่นหลานเราก็ให้มันต่อไปอย่างนี้ล่ะ เด็กถ้าผ่านกระบวนการแบบนี้ เขาจะคิดเป็นและปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง เราก็ต้องรู้เท่าทันเด็กเพื่อจะหาวิธีการรับมือกับเขาให้ได้ เรารู้ว่าเราอายุเยอะแล้วต่อไปจะทำไม่ได้ ฝึกเด็กรุ่นนี้เพื่อให้เขาฝึกรุ่นน้องของเขา

­

ถาม   กระบวนการแบบไหนที่จะทำให้เขาสร้างทีมได้?

ลุงเปี๊ยก   ทำโครงการไปเรื่อยๆ

พี่แมว   เน้นกระบวนการคิด ตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ข้อมูล วางแผน สรุปบทเรียน สร้างไว้ให้เขาไปใช้กับน้อง “คิด วิเคราะห์ วางแผน” อะไรทำก่อน ทำหลัง งานวิจัยมีไม่มาก

พี่แมว   สิ่งสำคัญคือสร้างให้เขารู้จักบ้าน สำนึกว่าบ้านมีอะไร จะพัฒนาบ้านแบบไหน จะได้มาพัฒนาชุมชนของเรา

ลุงเปี๊ยก   ตัวเองต้องรู้ก่อน เด็กที่เราพาไปรุ่นนี้ไม่เคยเห็นนาข้าว แพรกหนามแดงมีสองฝั่งนะ ไม่เคยไปไหนเลย ถามว่าไปเที่ยว แต่ตำบลตัวเองบ้านตัวเองยังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง นี่คือสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องสานต่อ สร้างต่อให้เขารู้ รับรู้ให้ได้ว่าบ้านเขามีอะไรบ้าง

ลุงเปี๊ยก   ปัจจุบันนี้เขารู้หรือยังว่าข้าวบ้านเรามีกี่สายพันธุ์ เด็กกลุ่มนี้รู้ว่ามี ข้าวมันปู ข้าวไร้ซเบอรี่ ฯลฯ

พี่แมว   เขาบอกว่าลงไปวิ่งบนนาข้าว ทุกวันแต่ไม่รู้ว่าอยู่แพรกหนามแดง แต่อยู่ติดเขตราชบุรี กับสมุทรสงคราม อำเภอปากท่อ เขานึกว่าอยู่ที่ราชบุรี เราอุ้ยก็ตายแล้ว! เด็กไม่รู้จัก เป็นภารกิจหนึ่งเลยที่เราต้องสร้างให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่รู้จักบ้านเกิด รู้จักตัวเอง รู้จักวิถีชีวิต ใช้ความรู้มาพัฒนาอาชีพที่เป็นทุนดั้งเดิมของพ่อของแม่ ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

­

ถาม   นอกจากทีมพี่และโหนด มีส่วนไหนของชุมชนที่ช่วยเหลือเราบ้าง?

พี่แมว   อย่างคุณปัญญาก็มีร้านข้าวใหม่ปลามัน เป็นทีมใหญ่ เมื่อก่อนทำเรื่องน้ำแล้วเขาต่อยอดมาทำร้านอาหาร Social Enterprise ด้วยภารกิจเราแยกมาทำเรื่องเด็ก

แอล   ตั้งแต่เล่ามามีทีมวิจัยทีมใหญ่ที่ทำด้วยกัน ที่เจอกันทุกวันที่ 1 เป็นทีมใหญ่ที่ดูทั้งตำบลมีส่วนหนึ่งทำในภาพรวมของจังหวัดเป็นทีมที่รู้สถานการณ์ทุกด้าน ทั้งสิ่งแวดล้อม จะเอามาเล่าให้กันฟัง สี่คนนี้ทำงานใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด จะมีเป็นระดับลงมาเป็นขั้นๆ ตรงนี้จะใกล้เด็ก ใกล้พื้นที่เป็นคนคอยดูแล มีทีมทางนู้นอีกในชุมชนที่จะมาสนับสนุนงานด้านนี้อยู่

ลุงเปี๊ยก    ยกเว้นว่าทีมพี่ปัญญาจะเรียกไปคุยการจัดการความขัดแย้งเรื่องน้ำ เราก็ไปช่วยเขา

­

ถาม    มีกลไกใหญ่อยู่ แล้วเราก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกย่อยเฉพาะเรื่องนี้ แต่เราก็เชื่อมร้อยกับกลไกใหญ่ที่มีอยู่ทั่วจังหวัดของเรา เราก็จะต่อเนื่องทำตามวิถีวงจรของเราไปเพื่อให้สืบรุ่น กันไป ยังมีอะไรอีกบ้างที่เป็นข้อจำกัดที่เราอยากพัฒนาต่อไป ในตัวเรา?

พี่แมว   ความรู้ด้านนอก ด้วยภารกิจบางครั้ง ปัจจัยส่วนตัวทำให้พลาดการเรียนรู้กับด้านนอก

พี่น้อง   ส่วนมากที่ไปจะเหมือนที่เราเคยเรียนรู้ เวลาไปเราก็เบื่อ หลายครั้งที่ไปคนเดียวก็รู้คนเดียว ไปหลายคนก็ได้รู้หลายคน ข้อจำกัดของเขาให้คนเดียว

พี่น้อง   หน่วยราชการจะเชิญคนเดียว ไม่รู้จักกันพูดคุยได้ไม่เต็มที่ อย่างคุณธเนศ ทางแพรกหนามแดงไปเลยทั้งทีมเขาไม่จำกัด มีทีมปรึกษากัน คุยได้เต็มที่

พี่แมว   ถ้าเราได้เรียนรู้เป็นทีมการสื่อสารในตำบลมีเพื่อนเสริมกัน

ลุงเปี๊ยก   บางขั้นตอนเราลืม เพื่อนจำได้

­

ถาม   ปัจจัยอะไรที่พี่คิดว่าทำให้ชุมชนของเราประสบความสำเร็จ?

พี่แมว   การร่วมมือกันในทีม มีส่วนร่วม การแบ่งงานตามความสามารถเฉพาะด้านของแต่ละคน ต้องทำงานไปด้วยกัน พี่เลี้ยงชุมชนต้องทำเป็นทีม

พี่น้อง   เราทำงานด้วยกัน เราอ่อนด้านนี้ เพื่อนเด่นด้านนั้น เติมกันได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

ลุงเปี๊ยก    เอาทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริง

พี่แมว   พี่เป็นคนประสานทีม แต่ทำงานด้วยกันเป็นทีม

­

ถาม   สรุปกระบวนการของพี่ๆ คือคิดด้วยกัน วางแผนงานด้วยกัน แล้วก็ตรวจสอบด้วยกัน ประเมินผลเองแล้วก็ปรับเปลี่ยนปรึกษากัน หมุนกันตามนี้?

พี่น้อง   ใช่ อย่างเราจะทำกล้วยจี่ ปรึกษากันว่าไม่เอากล้วยน้ำว้าเพราะเด็กเคยทำแล้ว เราเปลี่ยนเป็นกล้วยไข่ กล้วยหอมไหม เราเปลี่ยนกล้วยได้อีกเมนูหนึ่ง เป็นกล้วยหอมจี่ กล้วยไข่จี่

พี่แมว   พอทีมใหญ่โยนมาว่าจะต้องมีอะไรไปแสดง เราก็ต้องมาคิดค้นอะไรที่ไม่ซ้ำใคร

ลุงเปี๊ยก   เราไม่ได้คิดว่ามันจะดี ทีนี้มันกลายเป็นดีไป กลายเป็นนวตกรรมของเรา

พี่น้อง   ใบชะครามที่ทำเป็นกับข้าว แต่เราลองเอามาทำขนม

­

ถาม   บทบาทของพี่ โครงการไปช่วยเหลืออะไรชุมชน?

พี่แมว   ช่วยครอบครัวเด็กเขาไว้วางใจ เพิ่มขึ้นครอบครัวเขาภูมิใจ โรงเรียนพาเด็กไปประกวด ในชุมชนเด็กรู้จักชุมชนมาก คนในชุมชนก็รู้จักเด็กคนนี้ลูกใคร สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน การมีมารยาท สัมมาคารวะ เราเติมเด็กตลอด เข้าชุมชนเจอตา เจอยาย ต้องไหว้ต้องทักนะลูก แนะนำตัวแบบนี้ เราได้เติมเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีมารยาทเข้าไปเรื่อยๆ ดึงศักยภาพให้เด็กได้เรียนรู้พัฒนาตัวเอง รู้จักบ้านตัวเอง

ลุงเปี๊ยก   พี่ธเนศสอนเรามาก่อน ถ้าไม่ไหว้เรา เราก็ไหว้ มันเป็นวัฒนธรรมที่ทิ้งไม่ได้ของคนไทย ยิ้มกับไหว้ต้องมีของคนไทย ต้องไปมาลาไหว้

พี่แมว   อย่างน้อยๆ เราก็ได้สร้างทีมหลักที่มาอยู่กับเราในเรื่องมารยาทดีขึ้น เก่งขึ้นพัฒนาตัวเองมากขึ้น

พี่น้อง   พ่อสอนมาว่าจะเดินผ่านใครเราต้องก้มหลังให้ ขอโทษ สวัสดี ขอบคุณ ต้องอยู่กับตัวเรา เวลาเราเห็นเด็กเล็กๆ มาสวัสดีเรา เรารู้สึกว่าเด็กน่ารัก เรามีอะไรก็อยากให้ เราเห็นพ่อแม่ต้องสอนมาดี ต้องสอนตั้งแต่เล็กๆ

ลุงเปี๊ยก   งานวิจัยทำให้เราเล็งเห็นเรื่องหลายอย่าง ลองสังเกตถ้าเราทำจานตกแตกหล่นจากมือเราพูดว่าอุ้ยหลุดมือ จานมันลื่น เราไม่โทษตัวเอง แต่พอเด็กทำเราบอกซุ่มซ่าม เพราะฉะนั้นงานวิจัยทำให้เราเห็นว่ามันมีวิธีอื่นอีก

พี่แมว   มันเปลี่ยนแนวได้จากพวกเราที่แต่งตัวแบบผู้ใหญ่ พอทำกับเด็กเราแต่งตัวสบายๆ เพราะเรารู้เราทำกิจกรรมกับเด็ก การแต่งตัวก็เป็นทางการจะกดดันเด็ก แต่งตัวเรียบร้อยดูดีเด็กไม่กล้าเข้า ต้องแต่งตัวสบายๆ