การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อฝึกทักษะการเป็นครูของนิสิตครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ปี5

บทเรียนความเป็นครูของว่าที่ครู

โครงการครูเดลิเวอรี่

ระบบการเรียนการสอนครูในระดับอุดมศึกษากำหนดให้การเรียนใช้เวลา 5 ปี โดยปีที่ 1-4 เป็นการเรียนที่อยู่ในห้องเรียน ส่วนปีที่ 5 เป็นการเข้าไปฝึกสอนเพื่อฝึกประสบการณ์ และเตรียมความพร้อมก่อนจบออกไปเป็นครูเต็มตัว

แต่สำหรับนิสิตครุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทักษิณ จังหวัดสงขลา ที่ประกอบด้วย กุ๊กกิ๊ก-สุวพิชญ์ จินเดหวา หนุ่ม-ศราวุฒิ สุวรรณวัฒน์ นิดหน่อย-อรวี สิทธิชัย บิว-นันท์นภัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา และอาย-จีรวรรณ ทองแก้ว กลับมองว่ากว่าจะถึงปี 5 ก็อาจจะช้าเกินกว่าจะรู้ตัวว่าพวกเขาเหมาะกับการสอนหนังสือไหม และมีใจรักการเป็นครูมากแค่ไหน พวกเขาจึงอาสาเข้ารับช่วงต่อจากรุ่นพี่ในการทำโครงการครูเดลิเวอรี่ เพื่อเป็นการฝึกทักษะการเป็นครูและช่วยลดปัญหาครูไม่พอของโรงเรียนเป้าหมาย

“พวกเราอยากแก้ไขปัญหาการสอนหนังสือกับครูตู้ เพราะเห็นว่าเด็ก ๆ รับอย่างเดียวไม่มีปฏิสัมพันธ์กับครู ซึ่งจะทำให้การเรียนของน้อง ๆ ไม่มีประสิทธิภาพ” กุ๊กกิ๊ก-สุวพิชญ์ จินเดหวา บอกถึงเป้าหมายการทำงาน

แต่ทว่า โรงเรียนเป้าหมาย ซึ่งเป็นโรงเรียนเดิมที่รุ่นพี่เคยใช้เป็นพื้นที่ทำโครงการถูกยุบหลังจากที่กลุ่มน้อง ๆ เข้าไปพูดคุยและร่างโครงการเพียงหนึ่งสัปดาห์

“ตอนรู้ว่าโรงเรียนถูกยุบ พวกเราเหวอจนทำอะไรไม่ถูก ผอ. ก็แนะนำให้ไปอีกโรงเรียนหนึ่ง ที่มีครู แต่ไม่ได้สอนจากครูตู้ และมีความพร้อมมาก ไม่ได้มีปัญหาการจัดการเรียนการสอน ทางโรงเรียนเองก็สะดวกให้เราเข้าไปช่วยเพียง 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ซึ่งน้อยไป เราจึงมองหาโรงเรียนใหม่” หนุ่ม-ศราวุฒิ สุวรรณวัฒน์ บอกถึงข้อจำกัด พร้อมกับเดินหน้าหาโรงเรียนที่มีเกณฑ์ตามความตั้งใจ คือ ครูไม่เพียงพอกับจำนวนชั้นของนักเรียน

ในที่สุดทีมงานพบ “โรงเรียนบ้านบ่อทรัพย์” ที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนประมาณ100 คน ครู 10 กว่าคน และใช้ครูตู้ในการเรียนการสอน อีกทั้งครูที่มีอยู่ก็จบไม่ตรงสาขา เช่น จบเอกภาษาไทย แต่ต้องช่วยสอนวิชาคณิศาสตร์ ครูจึงไม่มั่นใจในการสอนนักเรียน เมื่อเข้าไปพูดคุยกับ ผอ. แล้วได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี

­

รู้จักนักเรียน ก่อนเข้าสู่การเรียนการสอน

ก่อนลงมือสอนหนังสือ สิ่งที่ครูต้องมีคือ การรู้จักเด็ก ๆ ที่เป็นลูกศิษย์ ดังนั้นต้องมีการสำรวจสถานการณ์การเรียนรู้ของเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก็พบว่า เด็กบางคนอ่านออก แต่เขียนไม่ได้ และไม่เข้าใจความหมายของคำที่อ่าน เพราะอ่านตามครูตู้ จึงจำคำศัพท์เป็นภาพ หรือเด็กบางคนเขียนหนังสือกลับซ้าย-ขวา เหมือนภาพสะท้อนจากกระจก เนื่องจากพื้นฐานการเรียนที่ไม่เท่ากัน การเอาใจใส่ในการเรียนจากครอบครัวที่แตกต่าง และข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน

หลังการสังเกตเบื้องต้น ทีมงานวางแผนจะทำแบบทดสอบกับเด็ก ๆ เพราะต้องการวิเคราะห์ปัญหาให้ลึกซึ้งขึ้นสำหรับนำไปทำสื่อการเรียนการสอน โดยแบบทดสอบที่ใช้เป็นข้อสอบ NT ที่หามาจากอินเทอร์เน็ต และให้เพื่อนทั้งในสาขาและต่างสาขาที่พวกเขาไปชักชวนมาทำโครงการช่วยกันออกข้อสอบ

ผลการทดสอบวิชาภาษาไทยแสดงให้เห็นว่า เด็กหลายคนยังเขียนตัวอักษรไทยผิด ไม่สามารถแจงการสะกดคำได้ ส่วนภาษาอังกฤษก็ท่องคำศัพท์ได้เป็นคำ ๆ แต่ไม่รู้ว่าคำนั้นสะกดอย่างไรและแปลว่าอะไร จากนั้นทีมงานกลับมาประชุมและสรุปกันว่า เด็ก ๆ อาจยังไม่พร้อมเรียนความรู้ระดับ ป.3 ในทันที ต้องปูพื้นฐานการอ่าน-เขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้แข็งแรงก่อน เพราะมีความจำเป็นต่อการเรียนความรู้ที่สูงขึ้นและความรู้ในวิชาอื่น พวกเขาตัดสินใจจะทำสื่อการเรียนการสอน เพื่อเสริมทักษะดังกล่าวของเด็กให้ดีขึ้น

­

การมีส่วนร่วมเพื่อการศึกษา

ระหว่างที่การทำกิจกรรมกับทางโรงเรียนดำเนินไป ทั้งการสำรวจ การทดสอบ อีกด้านหนึ่งทีมทำสื่อการเรียนการสอนก็กำลังทำหน้าที่ของตัวเองด้วยการนำข้อมูลจากทีมลงพื้นที่ในแต่ละครั้งมารวบรวม และประเมินเพื่อนำไปทำเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับน้องๆ

ทีมงาน เล่าว่า สาเหตุที่แบ่งการทำงานเป็น 2 ทีม มาจากการที่พวกเขาไปชักชวนเพื่อน ๆ สาขาอื่น ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พลศึกษามาช่วย เพราะประเมินแล้วว่า ลำพังเพียงกำลังของพวกเขา 5 คนไม่น่าจะเพียงพอต่อการทำโครงการ การชักชวนปากต่อปากดึงดูดให้เพื่อนประมาณ 30 คนเข้าร่วมโครงการ

“เวลาเดินไปเจอเพื่อนกลุ่มไหนก็ถามตลอดว่ามาทำโครงการไหม ปรากฏว่าเพื่อนสนใจเข้าร่วมเยอะมาก ครั้งแรกที่ไปลงพื้นที่ เราไปกันเกือบหมด จนเยอะกว่าจำนวนของน้อง เลยตัดสินใจว่าเอาแค่คนที่จำเป็นไปสังเกตการณ์ ส่วนที่เหลือให้อยู่ทำสื่อที่มหาวิทยาลัย” ทีมงาน บอก

กระบวนการเลือกคนลงพื้นที่คือ การทำโพลล์ในเฟซบุ๊ก ให้เพื่อน ๆ กดโหวตว่าแต่ละสัปดาห์ใครจะไปลงพื้นที่ ใครจะทำสื่อ โดยสื่อชิ้นหนึ่งจะมีคนมาช่วยทำประมาณ 10 คน ส่วนข้อมูลการทำสื่อ พวกเขาช่วยกันค้นหาในอินเทอร์เน็ตเรื่องพัฒนาการและความสนใจของเด็ก ป.3 เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสื่อ โดยเลือกเป็นสื่อทำมือเพราะโรงเรียนเปิดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้

หนุ่ม เล่าว่า วิชาภาษาไทย เราทำบัตรคำพยัญชนะไทย โดยเน้นสีสันที่สะดุดตาเด็กเด็ก ป.3 ควรรู้ และจำเป็นต้องใช้เพื่อให้น้องสามารถอ่าน-เขียนได้ถูกต้อง ส่วนวิชาภาษาอังกฤษทำเป็นบัตรคำศัพท์ร่างกายให้น้องนำไปแปะบนภาพตัวคน หรือเรื่องอาชีพก็ทำเป็นบัตรคำคล้ายๆ กัน”

สำหรับกระบวนการใช้สื่อ ทีมงานบอกว่าจะไม่เน้นวิชาการมากนัก เพราะอยากให้น้องเล่นกับสื่อ มีส่วนร่วมในห้องเรียน และสื่อสารกับพวกเขามากกว่า จึงใช้วิธีเล่นเกมแบ่งกลุ่มให้เด็กแข่งกันเขียน แข่งกันอ่าน แข่งกันแปะคำศัพท์ เพื่อสร้างสีสันในการเรียน หลังจบเกมก็ถามทบทวนอีกทีว่าคำไหนแปลว่าอย่างไร นอกจากนั้นยังมีสมุดคำศัพท์ที่ภายในเล่มมีเกมอักษรไขว้เกี่ยวกับคำศัพท์ที่ได้เรียนในห้อง เพื่อให้น้องมีเครื่องมือทบทวนความรู้ด้วยตัวเองอีกครั้ง

หลังเข้าไปทำกิจกรรมทุกวันอังคารและวันพฤหัสต่อเนื่องตลอด 2 เดือนทีมงานค่อย ๆ เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็ก จากที่เคยวิ่งซนระหว่างเรียนกับครูตู้ จนมาเรียนกับพวกเขาคาบแรกๆ ก็ยังลุกออกไปกลางคาบ กลายเป็นสนุกสนานและสนใจเรียนมากขึ้น อย่างวิชาภาษาอังกฤษที่เดิมเด็กไม่ค่อยชอบเรียน แต่เมื่อมีสื่อรูปภาพมาช่วยก็ทำให้สนใจและเข้าใจคำศัพท์มากขึ้น

­

บทเรียนวิชาครูจากนักเรียน

การก้าวออกจากห้องเรียนครูมาสู่ห้องเรียนที่มีนักเรียนจริง ๆ เป็นเสมือนการผจญภัยครั้งใหญ่ของทีมงาน เพราะทำให้พวกเขาได้เรียนรู้บทบาทความเป็นครู ที่ไม่ได้มีเพียงหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องถ่ายทอด “ความรักและความเข้าใจ” แก่นักเรียนด้วย

สถานการณ์แรกที่ทีมงานพบจากชั้นเรียนคือ หากสนิทสนมกับนักเรียนมากเกินไปจะทำให้เด็ก ๆ อยากชวนครูคุยชวนเล่นมากกว่าสนใจเรียน ทีมงานจึงแก้ปัญหาด้วยการให้เด็ก ๆ เล่นเกมสันทนาการระหว่างเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้พลังกายที่มีมากตามวัยและตรงกับความเป็นเด็กที่ชอบความสนุก นอกจากนั้นยังปรับท่าทีการสอนให้จริงจังมากขึ้น เพื่อเป็นสัญญาณให้เด็ก ๆ รับรู้ว่าช่วงเวลาไหนควรเรียน และช่วงเวลาไหนที่เล่นได้

นอกจากสถานการณ์ระหว่างครูกับนักเรียน ทีมงานยังพบอีกหลากสถานการณ์ประจำห้องเรียน เช่น การคุยเล่นกันจนไม่สนใจเรียน ซึ่งพวกเขาแก้ไขด้วยการแยกเด็กไปนั่งเรียนกับเพื่อนที่ตั้งใจเรียน ทำให้เด็ก ๆ เงียบลงและตั้งใจเรียนขึ้นตามเพื่อน หรือการแยกเด็กที่ทะเลาะกันแล้วต่อยกันกลางห้องเรียนก็เป็นอีกสถานการณ์ที่ท้าทายความเป็นครูของพวกเขา

หนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ที่น่าสนใจคือเรื่องของ “ถั่วดำ” เด็กผู้หญิงที่เป็นหัวโจกประจำห้อง ครั้งหนึ่งระหว่างนั่งเรียนจู่ๆ ถั่วดำก็ลุกขึ้นไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนในสนาม ทีมงานกลับมาวิเคราะห์เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น จนพบว่าถ้าสิ่งที่เรียนไม่น่าสนใจ ถั่วดำก็จะออกนอกห้องทันที หลังจากนั้นพวกเขาจึงพยามยามให้ถั่วดำมีส่วนร่วมในการเรียนเสมอด้วยการถามตอบในชั้น หรือให้ช่วยทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เสมอ

การหาทางออกเรื่องของถั่วดำ สะท้อนถึงจิตวิญญาณความเป็นครูที่สำคัญอย่างหนึ่งของทีมงาน นั่นคือการ “ไม่ตัดสินนักเรียน” ว่าเป็นเด็กไม่ดี แล้วตัดออกจากการเรียน แต่เลือก “ให้โอกาส” ด้วยการมองหาสาเหตุของพฤติกรรมและแนวทางปรับพฤติกรรม ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญต่ออนาคตทางการศึกษาของเด็กคนหนึ่งที่จะทำให้เขาก้าวต่อไปอย่างมั่นใจในเส้นทางการศึกษา

ทว่ากว่าที่ทีมงานจะรวมตัวทำงานเพื่อนักเรียนได้อย่างเข้มแข็ง พวกเขายอมรับว่าช่วงหนึ่งของโครงการต้องสะดุดจากการที่แต่ละคนเป็นนักกิจกรรม แล้วต้องรับผิดหลายงานในมหาวิทยาลัย จนไม่มีเวลาคุยกัน และใช้แชทในการปรึกษางานแทน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถประสานงานให้เข้าใจตรงกันได้ ทีมงานจึงตัดสินใจว่า “การเจอกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการทำงานเป็นทีม

­

ความเป็นคน ความเป็นครู

การมีโอกาสฝึกประสบการณ์หน้ากระดานดำ ทำให้ทีมงานแต่ละคนต่างค้นพบความเปลี่ยนแปลงจากการลงมือทำ และค้นพบ “ความหมายของการเป็นครู” ในแบบฉบับของตัวเอง

หัวหน้าทีมอย่างหนุ่มสารภาพว่า จริงๆ แล้วเขาไม่ใช่คนกล้าพูด แต่เมื่อได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนๆ เขาจึงลองฝึกฝนตัวเอง เริ่มจากจดโพยออกไปก่อนว่าต้องพูดอะไร จนค่อยๆ พูดได้อย่างมั่นใจ ขณะเดียวกันสนามฝึกฝนความเป็นครูแห่งนี้ก็ทำให้เขาชัดเจนกับเป้าหมายการเป็นครูมากขึ้นด้วย

หนุ่ม เล่าว่า การที่เราได้ไปยืนสอนหน้าห้องเป็นการทดลองประสบการณ์ฝึกสอน ที่สามารถนำมาพัฒนาตัวเองต่อได้เมื่อไปฝึกสอนและเป็นครูจริงๆ และทำให้แน่ใจมากขึ้นว่าเราชอบที่จะเป็นครูจริงๆ

ด้าน อาย ที่เดิมมีโลกส่วนตัวสูงก็ได้เรียนรู้การปรับตัวในการทำงาน และเปิดใจรับฟังคนอื่นมากขึ้น เพราะการทำโครงการนี้ทำให้เธอมองเห็นข้อจำกัดของตัวเอง แล้วฝึกฝนตัวเองให้ก้าวข้าม ซึ่งเธอมองว่าเรื่องการรับฟังสำคัญ เพราะสามารถนำไปต่อยอดกับชีวิตตัวเองได้

สำหรับ นิดหน่อย เธอกลายเป็นคนรู้จักวางแผนไว้หลายแผน เพราะเหตุการณ์จริงที่เจอในโรงเรียนฝึกให้เธอต้องเตรียมการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะเดียวกันมุมมองต่อการเป็นครูของเธอก็กว้างขึ้น เธอได้รู้ว่าครูไม่ได้ทำหน้าที่แค่สอน แต่ยังมีงานอื่นในโรงเรียนที่ต้องจัดการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอจะเรียนรู้วิธีรับมือต่อไป

กุ๊กกิ๊ก เล่าว่า เมื่อก่อนเธอเคยแต่ทำงานเบื้องหลัง เพราะมักได้เป็นคนคิดวางแผน จนเป็นคนที่เชื่อมั่นในความคิดของตัวเองและติดนิสัยต้องทำตามแผนเป๊ะ แต่โครงการนี้ฝึกให้ทำงานเป็นทีม ร่วมกันคิดเพื่อให้ได้วิธีที่ดีที่สุด เธอจึงเปลี่ยนมารับฟังเพื่อนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้เธอผลัดเปลี่ยนขึ้นมาคนเบื้องหน้า ถือเป็นการเพิ่มประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่เธอ และทำให้เธอพบว่า ในโลกของห้องเรียน มักมีปัญหาใหม่ ๆ เข้ามาเสมอที่ทำให้แผนไม่เป็นไปตามแผน เธอจึงค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเองให้ยืดหยุ่นขึ้น พร้อมต่อการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเข้ามา

“สิ่งที่ท้าทายมากในการทำโครงการนี้คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะห้องเรียนของจริงต่างจากห้องเรียนในอุดมคติของเรามาก เคยคิดว่าเด็กจะนั่งตั้งใจเรียน หรืออย่างมากก็นั่งคุยไม่สนใจเรียน แต่ไปเจอจริงๆ ไม่ใช่เลย บางทีเราสอนอยู่ เขาก็ลุกวิ่งออกไปจากห้อง นี่ทำให้เราอยากเป็นครูที่คอยดูแลเด็กให้เขาดีขื้น ไม่ได้สอนแค่วิชาการอย่างเดียว เพราะเด็กหลายคนอยู่ในโรงเรียนมากกว่าอยู่บ้าน”

บิว กล่าวเสริมว่า เราได้เรียนรู้ว่าตัวเองอยากเป็นครูแบบไหน พร้อมๆ กับที่ทักษะการสอนและความเป็นครูของเราค่อยๆ ถูกขัดเกลาให้ดีขึ้น จนไม่ว่าต่อไปจะไปเป็นครูที่ไหนก็อยากทำให้ดีที่สุด เหมือนที่อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกว่า อย่าเป็นแค่ครูที่สอนหนังสือ แต่จงเป็นครูที่สอนคนได้ด้วย


โครงการครูเดลิเวอรี่

ที่ปรึกษา : ผศ.ดร.มณฑนา พิพัฒน์เพ็ญ

ทีมงาน : นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

  • สุวพิชญ์ จินเดหวา
  • ศราวุฒิ สุวรรณวัฒน์
  • อรวี สิทธิชัยนันท์
  • นภัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  • จีรวรรณ ทองแก้ว