การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์หาดบางหลิง จังหวัดสงขลา ปี5

“บางหลิง” ที่เป็นยิ่งกว่าชายหาด

โครงการรักษ์หาดบางหลิง

แนวสันทรายขาวสะอาดสุดลูกหูลูกตา คือเอกลักษณ์เฉพาะของหาดบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา แม้ไม่ใช่ชายหาดที่โด่งดังในในหมู่นักท่องเที่ยว แต่กลับดึงดูดนักท่องเที่ยวในพื้นที่ และผู้ที่หากินพึ่งพิงทรัพยากรริมหาดเข้ามาแวะเวียนที่เข้ามา เพราะเป็นที่รู้กันว่าชายหาดแห่งนี้ยังคงมีธรรมชาติที่ “บริสุทธิ์” อยู่

ทั้งหมดนั้นคือคำบอกเล่าจาก เดีย-นาเดียร์ คอนดี ไอร์นี-มณีรัตน์ สะมะแอ และบ๊ะ-ฮาบีบะ สาแม เยาวชนในท้องถิ่นที่เกิดข้อสงสัยว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่กำลังจะคืบคลานเข้ามายังชายหาดหน้าบ้านพวกเธอจะสร้างผลกระทบอย่างไรกับชายหาดและทรัพยากรในพื้นที่ กระทั่งตัดสินใจลงมือทำโครงการรักษ์หาดบางหลิง ที่เป็นโอกาสให้ได้สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้คนมากมายที่เกี่ยวข้องกับชายหาด และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับชายหาด ซึ่งทำให้พวกเธอค้นพบว่าแท้จริงแล้วชายหาดบางหลิงแห่งนี้ “เป็นมากกว่าชายหาด” ที่พวกเธอเคยรู้จัก...

­

ข้อสงสัยเกี่ยวกับหาด

“เราเคยเห็นญาติที่ทำงานอยู่มาเลเซียหยุดงานมาเพื่อร่วมคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าทำไมไม่อยากให้มีโรงไฟฟ้า เพราะไม่มีใครอธิบาย ทุกคนแค่บอกว่าไม่อยากให้มีเท่านั้น” ทีมงานบอกเล่าข้อสงสัยเกี่ยวกับท่าทีของผู้ใหญ่ในชุมชนที่มีต่อโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่พวกเธอเก็บไว้ในใจ กระทั่งวันหนึ่งที่พวกเธอได้รับการชักชวนจาก บังบ่าว-มัธยม ชายเต็ม ที่ปรึกษาโครงการ ให้เข้าร่วมกิจกรรมวัดหาดเพื่อเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของชายหาดสำหรับนำมาทำเป็นข้อมูลในการยื่นคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า นี่จึงเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้ทีมงานก้าวออกจากห้องสี่เหลี่ยมที่เคยเรียนหนังสือทุกวัน มาสัมผัสการทำงานร่วมกับชุมชน

นั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนีย์ โคชโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ได้มาชักชวนบังบ่าวให้ลองรวมกลุ่มเด็กทำโครงการเพื่อหาข้อมูลทำความเข้าใจเกี่ยวกับหาดบางหลิงอีกทางหนึ่ง บังบ่าวจึงชักชวนทั้ง 3 สาวเข้ามาร่วมโครงการ ซึ่งพวกเธอก็ตอบตกลงด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “ถ้าพวกเธอที่เป็นคนในชุมชนไม่ทำ แล้วจะให้ใครมาทำเพื่อชุมชนของพวกเธอ”

­

เรียนรู้เกี่ยวกับหาด

เป้าหมายการทำโครงการของทีมงานชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า อยากเก็บข้อมูลเกี่ยวกับหาดบางหลิงเพิ่มเติมเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของสภาพพื้นที่ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ รายได้ของชาวบ้านจากการใช้ประโยชน์จากหาด เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นหลักฐานและข้อมูลสำคัญในการไปอธิบายให้เห็นความสำคัญของหาดบางหลิงต่อสาธารณะ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการเก็บข้อมูลจากคน 3 กลุ่ม คือ ชาวบ้านในชุมชน นักท่องเที่ยวหรือคนต่างถิ่นที่เข้ามาใช้ประโยชน์ริมหาด และชาวประมงที่หาปลาโดยการทอดแหหาปลาใกล้ฝั่ง

“เพราะคน 3 กลุ่ม เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากหาดโดยตรง” เดีย บอกเหตุผลที่ต้องเก็บข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มนี้

เพื่อให้เข้าใจหาดบางหลิงในทุกมิติ กิจกรรมแรกที่ทีมงานทำ คือ “แผนที่หาดบางหลิง” ตั้งแต่ปากน้ำเทพาจนถึงปากคลองดูหยง ซึ่งครอบคลุมหมู่บ้านหัวเขื่อน บางหลิง บางน้ำผึ้ง คลองประดู่ และบางรีสอร์ท โดยชวนชาวบ้านในชุมชนจำนวน 15 คนมาช่วยให้ข้อมูลจุดที่มักเข้าไปใช้ประโยชน์บริเวณชายหาด และสัตว์น้ำที่พบตามจุดต่าง ๆ

การทำแผนที่ทำให้ทีมงานเริ่มเห็นความอุดมสมบูรณ์ของชายหาดในภาพกว้าง และเห็นจุดที่จะลงไปเก็บข้อมูลในขั้นตอนต่อไปในบริเวณหัวเขื่อนและหาดบางหลิง เพราะเป็นที่ที่มีคนเข้ามาใช้ประโยชน์มากที่สุด จากนั้นได้ชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันออกแบบแบบสอบถาม เพราะอยากให้การเก็บข้อมูลครั้งนี้เป็นการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง

ครั้งแรกที่ลงไปเก็บข้อมูล ทีมงานเลือกไม่เข้าไปสอบถามทันที แต่สังเกตการณ์บรรยากาศโดยรอบว่า มีผู้คนมามากน้อยแค่ไหน เข้ามาทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นจึงลงไปเก็บข้อมูลทุกวันเสาร์เป็นเวลา 2 เดือน โดยให้เหตุผลว่าจะได้มีข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งข้อมูลจากปากคำของชาวบ้านต่างถิ่นทำให้ทีมงานได้รู้ว่า นักท่องเที่ยวบางคนเลือกเดินทางมาที่หาดแห่งนี้ เพราะที่นี่ยังสะอาด เงียบสงบ ไม่มีผู้คนพลุกพล่านมากเท่าหาดอื่น หาหอยเสียบ กุ้งเคยได้ง่าย โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมมาคือช่วงปิดเทอม เพราะถือโอกาสพาลูกมาพักผ่อนด้วย

หลังจากนั้นทีมงานได้ไปขอความร่วมมือจากชาวประมง 5 คนให้ช่วยจดบันทึกการใช้ข้อมูลริมหาดว่าแต่ละวันใช้เวลาหาสัตว์น้ำนานแค่ไหน ได้สัตว์น้ำชนิดใด เท่าไร และขายได้เป็นจำนวนเงินเท่าไร โดยให้จดบันทึกเป็นเวลา 2 เดือน

บันทึกของชาวประมงทำให้ทีมงานเห็นว่าชายหาดหน้าบ้านที่พวกเธอรู้จักมาทั้งชีวิต สามารถสร้างรายได้ให้หนึ่งในชาวประมงถึงเดือนละ 50,000 บาท แต่ทั้งนี้ชาวประมงคนดังกล่าวก็ขยันมากกว่าคนอื่น เพราะออกใช้เวลาหาสัตว์น้ำนานกว่า จึงมีรายได้มากกว่า ชาวประมงกับบอกทีมงานว่า “ท้องทะเลก็เปรียบเสมือนตู้เอทีเอ็ม เมื่อไม่มีเงิน ก็แค่ลงไปหาปลา สักพักก็มีกินแล้ว”

การลงมือทำเก็บข้อมูลด้วยตัวเองจริง ๆ จึงเปลี่ยนแปลงความรู้ของทีมงานที่มีต่อหาดหน้าบ้านตัวเองไปอย่างมาก จากที่เคยรับรู้ว่าหาดบางหลิงเป็นหาดร้างเหลือสัตว์น้ำไม่กี่ชนิด กลับพบว่าเพียงแค่สัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ในช่วงเวลาที่พวกเธอเก็บข้อมูลก็มีมากถึง 34 ชนิดแล้ว เช่น ปลาจารเม็ด ปลากระบอก ปลากุตัง ปลากกดเขียว ปลาหลังเขียว ปลาแมว ปลาจวด ปลากุเหลา ปลาโคก สัตว์อื่นๆ ที่จับไม่ได้ หรือคนไม่นำมาบริโภคย่อมต้องมีอีกมาก ดังนั้น หาดบางหลิงจึงเป็นดั่งขุมทรัพย์ทางธรรมชาติแห่งหนึ่งที่สำคัญต่อชาวบ้านและท้องทะเลไทยอย่างไม่ต้องสงสัย

ข้อมูลที่รวบรวมมาทั้งหมดถูกนำมาทำเป็นปฏิทินสัตว์น้ำตามฤดูกาล ซึ่งจะเป็นหลักฐานสำคัญในการยืนยันถึงคุณค่าของชายหาดบางหลิงแก่คนภายนอก และจะถูกนำไปขยายต่อในกิจกรรมเปิดพื้นที่พร้อมกับข้อมูลอื่น ๆ จากกิจกรรมที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าและความสำคัญของชายหาดหน้าบ้านแห่งนี้ ที่จำเป็นต้องอาศัยเรี่ยวแรงจากทุกคนในการรักษาไว้

­

หาดที่เป็นยิ่งกว่าหาด

นอกจากการได้รู้จักชายหาดในแง่ของความสวยงาม อุดมสมบูรณ์ ความเป็นแหล่งเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของชาวบ้านทั้งในชุมชนและต่างชุมชนแล้ว ชายหาดบางหลิงยังเป็น “เครื่องมือสร้างการเรียนรู้” แก่ทีมงานด้วย โดยเรื่องแรกคือ เรียนรู้ “การทำงานเป็นทีม”

บ๊ะ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นว่า ตอนนั้นเป็นช่วงเรียบเรียงข้อมูลจากที่ไปเก็บมา เพื่อน ๆ ไม่มีใครสนใจช่วยเรา ทุกคนนั่งกิน นั่งคุยนั่งเล่นโทรศัพท์ เราไม่ใช่คนที่ชอบพูดชอบสั่ง แต่อยากให้งานเสร็จเลยยอมนั่งทำเอง แต่ทำคนเดียวก็คิดไม่ออก จนเครียดแล้วโวยวายขึ้นมาว่า จะเลิกทำ จะกลับบ้าน

เพื่อน ๆ บอกว่าวินาทีนั้น พวกเธอจึงได้สติและมองเห็นตัวเองว่ากำลังทิ้งเพื่อนให้ทำงานคนเดียว จึงกุลีกุจอขึ้นมาช่วยบ๊ะทำงาน ฟากบ๊ะที่ปกติเป็นคนนิ่งเงียบ เมื่อเห็นว่าเพื่อนสำนึกผิดจึงไม่ตอกย้ำ และให้อภัยเพื่อนทันที ในที่สุดงานจึงเสร็จตามเป้าหมายพร้อมๆ กับข้อคิดเล็กๆ ว่า “การทำงานเป็นทีมคือหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง”

เรื่องต่อมาที่ทีมงานได้เรียนรู้คือ “การทำงานร่วมกับผู้อื่น” ซึ่งเหตุการณ์ที่เป็นบทเรียนเกิดขึ้นในขณะที่พวกเธอลงพื้นที่เก็บข้อมูลการใช้ประโยชน์ชายหาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยว แล้วเจอนักท่องเที่ยวคนหนึ่งที่แสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตร จนพวกเธอถอดใจที่จะสัมภาษณ์ต่อด้วยความกลัวว่าจะเจอคนอื่นที่แสดงท่าทีเช่นนี้อีก แต่เมื่อบังบ่าวช่วยให้กำลังใจ ทีมงานจึงตัดสินใจเดินหน้าทำงานต่อ ก่อนจะพบว่านักท่องเที่ยวคนอื่นยินดีช่วยตอบคำถามให้พวกเธอ

เรื่องนี้จึงเป็นบทเรียนให้ทีมงานได้รู้ว่า เป็นธรรมดาที่การทำงานกับคนอื่นจะได้รับความร่วมมือ หรือไม่ได้รับความร่วมมือ ซึ่งไม่ใช่เหตุที่จะต้องเก็บมากังวลจนถอดใจจากการทำงาน ขอเพียงมองเป้าหมายของตัวเองให้ชัดว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร แล้วค่อยๆ ทำไปก็จะสำเร็จในที่สุด

เรื่องสุดท้ายที่เป็นบทเรียนสำคัญที่นอกจากใช้กับการทำโครงการได้แล้ว ยังนำไปใช้กับชีวิตจริงได้อีกด้วย นั่นคือ “การเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง” ที่ทีมงานได้เผชิญกับจุดพลิกผันในช่วงเก็บข้อมูล

น้ำนิ่ง เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ตอนที่กำลังเก็บข้อมูล ป้าหนู-พรรณนิภา โสตถิพันธุ์ หัวหน้าโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาและผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม อยากลงมาดูความเคลื่อนไหวในการทำโครงการของน้อง ๆ เรากับบังบ่าวจึงชวนน้องคุยเพื่อเช็กเป้าหมายและความคืบหน้าของโครงการ แต่ปรากฏว่าน้องจำอะไรไม่ได้เลย เล่าไม่ออก บอกไม่ถูก

ทีมงาน เล่าถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวว่า นอกจากกลัวกับเจอป้าหนู ซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่าพวกเธอมากแล้ว อีกเหตุผลที่ทำให้ลนลานจนหลงลืมกระบวนการทำงานที่ผ่านมา เพราะพวกเธอต่างเผชิญปัญหาทางบ้าน บางคนต้องไปช่วยพ่อแม่ขายของทุกวัน ไม่ใช่แค่เรียนกับทำโครงการ บางคนต้องถกเถียงกับพ่อแม่กว่าจะได้ออกจากบ้านมาทำโครงการแต่ละครั้ง ซึ่งบั่นทอนกำลังใจจนแทบไม่มีกะจิตกะใจมาทำโครงการ แต่เพราะการเข้ามาชวนถอดบทเรียนของพี่น้ำนิ่งจนทำให้เห็นเบื้องหลังความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ช่วยเน้นย้ำเป้าหมายที่อยากทำเพื่อชุมชน และชวนทบทวนข้อมูลที่ทำมาก็ทำให้ทีมงานเกิดแรงฮึดขึ้นมาอีกครั้ง จนสามารถเล่าและตอบคำถามป้าหนูได้อย่างชัดเจน

เหตุการณ์นี้จึงกลายเป็นบทเรียนให้ทีมงานกล้าก้าวข้ามความกลัวที่จะเล่าโครงการต่อหน้าผู้ใหญ่ และการจัดการกับความรู้สึกท้อถอยต่อการทำงานจากอุปสรรคภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการทำโครงการหรือกิจกรรมอื่นๆ ของเด็กเยาวชนจำเป็นต้องมีโคชที่เข้าใจและรับฟังข้อติดขัดข้องเด็กเยาวชน ช่วยสร้างการเรียนรู้ และหนุนเสริมกำลังใจ เพื่อเป็นแรงผลักพาให้ข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก

­

หาดแห่งการเรียนรู้

นอกจากชายหาดจะเป็นบทเรียนให้ทีมงานได้เรียนรู้ร่วมกันแล้ว พวกเธอแต่ละคนยังค้นพบบทเรียนส่วนตัวที่มีประโยชน์ต่อเนื่องไปถึงชีวิตจริงด้วย

เดีย เล่าว่า การทำโครงการต้องมีการวางแผนและลงมือทำอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย จึงทำให้เธอได้ฝึกการคิดวางแผนก่อนลงมือทำ และการตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่ากำลังจะทำอะไร ทำไปทำไม ซึ่งเดียก็นำไปปรับใช้กับการเรียนของตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมาย วางแผน และทบทวนกับตัวเองในสิ่งที่เรียน นอกจากนั้นการได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากคนแปลกหน้าหลายครั้ง ทำให้เธอฝึกฝนความกล้า จากเมื่อก่อนเวลาออกไปนำเสนองานหน้าห้อง เธอจะบิดไปบิดมาด้วยความอาย กลับกลายเป็นค่อย ๆ กล้าพูดในที่สาธารณะ กล้านำเสนองานมากขึ้น

ไอร์นี บอกคล้ายกับเดียว่า เธอเองก็เป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยพูดดับคนอื่นนอกจากเพื่อนสนิท และไม่เคยนำเสนองานต่อหน้าคนหมู่มากเลย แต่เงื่อนไขโครงการที่ต้องมีการนำเสนอโครงการและตอบคำถามในเวทีเวิร์กช็อป เป็นแบบฝึกหัดที่ทำให้เธอได้ฝึกซ้ำ ๆ จนกล้าพูด และยังได้เรียนรู้ที่จะมุ่งมั่นกับการทำงานให้เป็นไปตามแผนและเป้าหมาย

“พี่น้ำนิ่งจะย้ำตลอดว่า เราทำอะไรก็ต้องได้อย่างนั้น เหมือนปลูกมะพร้าวก็ได้ลูกมะพร้าว เราลงไปเก็บข้อมูลแล้วก็ควรได้ข้อมูลกลับมา ซึ่งทำให้เราได้ฝึกตัวเองให้เป็นคนมองเป้าหมายและไม่ละทิ้งงาน”

สำหรับบ๊ะ สิ่งหนึ่งที่เธอได้ฝึกฝนจนเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างมากคือ “ความรับผิดชอบ” จากเดิมที่เวลาทำงานกลุ่ม เธอจะไม่สนใจ ไม่ตั้งใจ แต่เมื่อได้มาทำโครงการที่เกี่ยวพันกับความเป็นไปของบ้านเกิด บ๊ะจึงตั้งใจทำมาก ลุกขึ้นมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่ชวนเพื่อนทำ และเมื่ออยู่ในห้องเรียนก็กลายเป็นคนกระตุ้นเพื่อนให้มีส่วนร่วมกันทำงาน เธอบอกว่า

“เวลาทำงานกลุ่มตอนเรียน เราจะไม่ยอมส่งงานชิ้นนั้นจนกว่าทุกคนจะมาช่วยกันออกความเห็น ช่วยกันทำคนละนิดละหน่อยก็ยังดี เพราะคิดว่างานกลุ่มจะเสร็จสมบูรณ์ได้ควรมาจากการร่วมคิดร่วมทำของทุกคนในกลุ่ม”

ความตั้งใจของบ๊ะและทีมงานคนอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงต้องการให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วงไปเท่านั้น หากแต่เป็นความพยายามที่จะรักษาชายหาดบางหลิงไว้ ด้วยความเชื่อว่าความอุดมสมบูรณ์ของหาดน่าจะเหมาะกับการเป็นแหล่งหาอยู่หากินเพื่อเลี้ยงปากท้อง และเป็นรายได้ส่งเสียให้เด็กๆ ได้เรียนหนังสือดังเช่นพวกเธอ

“ชายหาดบางหลิง” จึงไม่ใช่แค่ชายหาด หากแต่เป็นมรดกที่จะส่งต่อให้คนุร่นต่อไปได้มีลมหายใจจากการพึ่งพาอาศัยชายหาดแห่งนี้


โครงการรักษ์หาดบางหลิง

ที่ปรึกษาโครงการ : มัธยม ชายเต็ม

ทีมงาน : 

  • นาเดียร์ คอนดี 
  • มณีรัตน์ สะมะแอ
  • ฮาบีบะ สาแม