การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้วิธีการทำลวดลายและลงสีบนผ้าปาเต๊ะ จังหวัดสงขลา ปี5

ศิลปะเปลี่ยนชีวิต

การขาดอิสรภาพเป็นเวลานานของเด็กเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา ย่อมทำให้ผู้ถูกคุมความประพฤติเกิดความเครียดสะสม จนอาจนำมาซึ่งการทำผิดกฎ และปัญหาทะเลาะวิวาทได้ ซึ่งแนวทางที่ ครูแอ๊ด-กอบกาญจน์ เทพวาริน และที่ปรึกษาโครงการจากศูนย์ฝึกฯ ใช้ในช่วงปีแรก ๆ ของการเข้าร่วมในโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาคือ การทำงานจักสาน และการเย็บกระเป๋าจากเศษผ้า

ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ทำให้ครูค้นพบว่า สิ่งสำคัญที่สามารถฝึกให้เด็ก ๆ อยู่กับตัวเองคือ “สมาธิ”

“นอกจากเรื่องสมาธิ ในกระบวนการอบรบ หรือ กระบวนการเรียนการสอน เราก็ใส่เรื่องกฏ และ กติกาเข้าไป เพื่อให้เด็ก ๆ เห็นว่าการเคารพกติกาเป็นเรื่องสำคัญ” ครูแอ๊ด เล่า

เมื่อผลจากโครงการรุ่นแรก ๆ ออกมาเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ มีน้อง ๆ เยาวชนหลายคนที่พ้นโทษ และออกไปดำเนินชีวิตตามปกติ หลายคนมีอาชีพ เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน

ดังนั้นในปีต่อ ๆ มา แนวทางการอบรมของครูที่มีต่อเด็ก ๆ ในศูนย์ฝึกฯ คือ เด็ก ๆ ต้องมีเวลาทบทวนตัวเอง และสิ่งที่ได้รับการอบรมจากศูนย์สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้

ครูแอ๊ด เล่าว่า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา มีการจัดการศึกษาและยกระดับพัฒนาวิชาสามัญและวิชาชีพต่าง ๆ ตามความถนัดของเยาวชน หนึ่งในนั้นคือวิชาศิลปะ แต่เปิดสอนได้เพียง 2 รุ่น ก็มีอันต้องปิดตัวไป เพราะครูแอ๊ดโอนย้ายมารับตำแหน่งหัวหน้างานการศึกษา ด้วยภาระหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอต่อการดูแลเด็ก กระทั่งมีโอกาสกลับทำกิจกรรมร่วมกับสงขลาฟอรั่ม โครงการศิลปะเปลี่ยนชีวิตจึงกลับขึ้นมาอีกครั้ง เพราะมองว่า ศิลปะเป็นสื่อสร้างสรรค์ดี ๆ ที่ไม่เพียงช่วยผ่อนคลายอารมณ์ แต่ยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจ พัฒนาอารมณ์ สติปัญญา และสมาธิให้กับเด็ก ๆ ได้

­

ลงสีผ้าปาเต๊ะ ฝึกเด็กใช้สมาธิ

และสำหรับโครงการศิลปะเปลี่ยนชีวิตในครั้งนี้ มีกิจกรรมหลักคือ การเปิดโอกาสให้เยาวชนในศูนย์ฝึกได้เรียนรู้การลงสีผ้าปาเต๊ะ โดยเยาวชนที่เข้าร่วมในโครงการประกอบด้วย ปอนด์, เฟื่อง,ซี้ด ,ดล และยุทธ ซึ่งเยาวชนจะได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับผ้าปาเต๊ะ เทคนิค และวิธีการทำลวดลายบนผืนผ้า

“เริ่มแรกเลย เราสอนในส่วนของงานเพนท์ผ้า เริ่มตั้งแต่การวางผ้า ซึ่งตอนแรกจะบังคับนิดนึงว่าผ้าแพงนะ แล้วทำผ้าผืนใหญ่ ถ้าเลอะนิดนึงจะเสียทั้งผืนเลย เหมือนเราไปวางกรอบให้เขา เพราะเด็กเราใช้ชีวิตอิสระมามาก มากจนเขาไม่มีกรอบ ฉะนั้นถ้าได้ทำอะไรที่อยู่ในกรอบบ้าง จะทำให้เขานิ่งขึ้น เลยพยายามเน้นว่าอย่าให้เลยกรอบนะ แต่ไม่ได้บอกว่าเธอต้องมาอยู่ในกรอบของแม่นะ” ครูแอ๊ด เล่า

ผ้าปาเต๊ะขึ้นชื่อว่าเป็นเครื่องนุ่งห่มที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ มีความโดดเด่นด้วยลวดลายที่อ่อนช้อย สะท้อนถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างดี รวมถึงฝีมือการลงสีจากสีอะคริลิกและกากเพชรอันประณีต ทำให้ผ้ามีความหรูหรา สะดุดตาเป็นอย่างยิ่ง

ปอนด์ หนึ่งในเยาวชนในศูนย์ฝึก ฯ ที่เข้าร่วมโครงการ เพราะอยากแปลงเวลาที่ไร้ค่ามาเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ในการทำผ้าปาเต๊ะ เล่าว่า เขาเริ่มต้นเลยได้เรียนรู้ทฤษฎีก่อนว่า วิธีการทำผ้าทำยังไง แล้วก็มาลงมือปฏิบัติ เริ่มจากขึงผ้า เรียนรู้วิธีการลงสี ซึ่งบนผ้าจะมีลวดลายที่วาดมาอยู่แล้ว เราก็ลงสีโดยใช้สีอะคริลิก โดยลงสีรองพื้นก่อน แล้วจึงลงสีที่เราต้องการจะลงในสีกากเพชร เราอยากจะลงสีอะไรเราก็ลงสีนั้นรองไว้ก่อน แล้วก็เอากากเพชรลงสุดท้ายเพื่อสร้างความโดดเด่นให้ผ้า เสร็จแล้วนำผ้าไปตากแดดให้แห้ง ซึ่งผ้าผืนหนึ่งใช้เวลาเพนท์ประมาณ 2 อาทิตย์ แต่ถ้าทำทุกวันจะใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์

ส่วนเทคนิคการแต่งแต้มสีสัน ขึ้นอยู่กับจินตนาการของแต่ละคน “ทรัพย์ชอบสีสว่าง ส่วนผมชอบสีมืดๆ” เฟื่อง กล่าว ก่อนจะเล่าถึงวิธีการลงสีผ้าปาเต๊ะที่ได้เรียนรู้ว่า “การลงสีจะลงตามดอก ใช้จินตนาการของเราในการลงสี อยู่ที่ว่าจะทำให้สวยยังไง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยทำมาก่อน มาฝึกในนี้ แรก ๆ ก็ยากเหมือนกัน พอทำนาน ๆ เริ่มชิน”

การเพนท์สีผ้าปาเต๊ะให้สวยงาม นอกจากการเลือกใช้เฉดสีให้เหมาะสมแล้ว การลงสีให้อยู่ในลาย การลงกากเพชร และการตกแต่งในทุกระบวนการ ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ใจเย็น ซึ่งเท่ากับทำให้พวกเขาได้ฝึกสมาธิไปในตัว

“เด็ก ๆ ต้องฝึกฝนใช้สมาธิในการทำงาน เพราะว่าสีที่ใช้ หรือสีกากเพชร มีราคาค่อนข้างสูง หลอดหนึ่ง 140 บาท พอเราแกะสีก็ถือเป็นต้นทุนไปแล้ว ซึ่งถ้าใช้กากเพชรน้อยก็จะไม่สวย เวลาลงสีจึงต้องระวังมาก เพราะเมื่อไหร่ที่เสียสักอันนึงในดอกทั้งหมด ก็จะเสียทั้งผืน“ ครูแอ๊ด เล่า

ซึ่ง ปอนด์ก็ยืนยันเช่นเดียวกันว่า การลงสีและกากเพชรคือขั้นตอนที่ยากที่สุด และแม้จะต้องใช้ความระมัดระวังในการทำอย่างมาก เขาก็บอกว่ามีความสุขที่ได้ทำ ได้ฝึกสมาธิ จนเลิกคิดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชนไปเลยบ

“ตอนลงกากเพชร ต้องระวังมาก อย่าให้เลอะ ไม่อย่างนั้นผ้าจะเสีย เวลาทำผ้าต้องตั้งใจ คิดแต่เรื่องผ้าว่าทำยังไงให้ออกมาสวย ต้องใช้ความคิดจิตนาการจนไม่มีเวลาไปคิดเรื่องอื่น นอกจากนี้การมีสมาธิจดจ่อก็ทำให้เรา ไม่มีเวลาคิดทำเรื่องสาระ เมื่อก่อนว่างเมื่อไรก็จะคิดว่า จะชวนเพื่อนไปเที่ยวที่ไหนดี พอมาทำผ้า ก็คิดแต่ว่าทำยังไงให้ผ้าสวย ต้องลงสียังไง ใช้กากเพชรยังไง จากนั้นมาเวลาเราทำเรื่องอะไรก็จะคิดแต่ว่าต้องทำให้เสร็จก่อน พอเราไปซ่อมรถก็คิดแต่ว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าขี่ได้ดี”

­

เพิ่มมูลค่าผ้า สร้างคุณค่าให้ตนเอง

ผ้าปาเต๊ะผืนงามที่ผ่านการเพนท์สีเรียบร้อยแล้ว นอกจากจะนำไปใช้เป็นผ้าถุงในการนุ่งห่มของสตรีแล้ว ทุกวันนี้ยังมีการทดลองต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผ้าปูโต๊ะ กระเป๋า หรือรองเท้าใส่ในบ้าน เช่นเดียวกับความรู้ในการเพนท์ผ้าปาเต๊ะที่ได้ถูกส่งต่อขยายผลให้กับเพื่อนและน้องๆ ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9

“เรานำความรู้ไปสอนเพื่อนต่อครับ” ปอนด์กล่าว ก่อนจะเล่าต่อในฐานะครูอย่างภาคภูมิใจว่า “อยากให้เพื่อนเก่งด้วยครับ ก็กลับมาสอน เวลาสอนเพื่อนจะยากตรงเวลาที่เพื่อนไม่เข้าใจ ต้องอธิบายหลายรอบ ก็ต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ อธิบาย หรือไม่ก็ทำเป็นตัวอย่างให้ดู”

ทุกวันนี้สีสันที่ถูกแต่งแต้มลงบนลายผ้า ไม่เพียงทำให้ผ้าปาเต๊ะสวยงามมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้แกนนำและเพื่อนในศูนย์ฝึกฯ แห่งนี้ เปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านทักษะชีวิต กระบวนการคิด และสภาพจิตใจ

ปอนด์ เล่าว่า ศิลปะช่วยเปลี่ยนชีวิตเขาไปมาก เมื่อก่อนเป็นคนใจร้อน เวลาเพื่อนพูดชอบคิดมาก ใจร้อน โกรธ ก็พูดกันก่อน แต่ถ้าพูดกันไม่ลงตัว ก็ทะเลาะกัน ถ้าถึงขั้นพีคก็อาจจะมีการลงไม้ลงมือ แต่ถ้าเดี๋ยวนี้ถ้าโกรธอะไร ก็เดินไปที่อื่นก่อน ใจเย็นมากขึ้น

เช่นเดียวกับ ซี้ด ที่บอกว่า ศิลปะช่วยให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเองไปมาก ทั้งในด้านอารมณ์และความคิด

“เมื่อก่อนใจร้อน โกรธ ไม่สนใจใคร ไม่ต้องการความเห็นจากใคร พอมาฝึกทำผ้าปาเต๊ะ มาทำงานศิลปะ ได้ฝึกสมาธิ ฝึกความคิด ได้ความคิดใหม่ รู้จักฟังความเห็นคนอื่น ฟังว่าเราต้องทำยังไง เมื่อก่อนเป็นคนทำก่อนค่อยคิด เดี๋ยวนี้คิดก่อนทำ คิดว่าทำอย่างนั้นจะดีมั้ย ผลที่ตามมาเป็นยังไง เวลาคิดไม่ออกจะปรึกษาพ่อกับแม่ ทำแบบนี้ดีมั้ย ผ่านมั้ย จากเมื่อก่อนไม่ต้องการความเห็นจากใคร คิดเองทำเองเลย ซึ่งตอนแม่รู้ว่าเราทำโครงการนี้ เขาก็ดีใจ มีความสุข เห็นเราเปลี่ยนความคิดไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อก่อนขอเงินแม่เที่ยว งานไม่ทำ เดี๋ยวนี้ไม่ขอแล้ว”

ด้าน เฟื่อง ที่ออกตัวว่ายังพูดไม่ค่อยเก่งนั้น ครูแอ๊ด เล่าแทนว่า เฟื่องตอนแรกเป็นคนที่ทำงานกับเพื่อนไม่ได้ มีโลกส่วนตัวสูง ตอนเขามาทำ ครูบอกว่า ผ้า 1 ผืน ต้องจับคู่กับเพื่อนแบ่งงานกันทำ และเพื่อให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน แต่เฟื่องเลือกที่จะทำคนเดียว พอทำได้สักพักเขาก็เริ่มเรียนรู้ที่จะอธิบายเพื่อนมากขึ้นว่าต้องทำยังไง ส่วนใหญ่ก็ทำให้ดู แล้วก็ทำเอาตามนี้ ยังไม่ค่อยกล้าพูดเหมือนเดิม เป็นสไตล์ของเขา แต่เขาทำงานกับคนอื่นได้มากขึ้น จากเดิมที่ไม่เอาใครเลย”

การศึกษาความรู้และฝึกทำผ้าปาเต๊ะจนชำนาญ กระทั่งสามารถถ่ายทอดให้สมาชิกในกลุ่ม และเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ที่ยังไม่มีหน่วยเรียนให้เข้ามาเรียนรู้ได้ เป็นผลงานให้เด็ก ๆ นำเสนอต่อศูนย์ฝึกฯ เพื่อลดหย่อนโทษของตนเอง รวมทั้งการได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดความเสี่ยงที่เยาวชนจะทำผิดกฏภายในศูนย์ฝึกฯ ทำให้พวกเขาพ้นโทษกลับบ้านได้เร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้ทั้งปอนด์ ซี้ดและเฟื่องได้กลับบ้านมาใช้ชีวิต มีงานทำเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว

เมื่อถามว่าจะกลับไปเส้นทางเดิมอีกมั้ย ซี้ดตอบเสียงดังทันควันว่า “ไม่หลาบ เสียเวลา” ไม่ต่างจากคนอื่น ๆ ในทีมที่ยืนยันเสียงแข็งว่าจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การใช้กำลัง ความรุนแรง ต้นเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องถูกกักกันอีก พร้อมทั้งยังฝากถึงเพื่อนๆ เยาวชนที่อาจกำลังเดินทางผิดว่า “อยากให้ทำตัวดีๆ อย่าเที่ยว อย่านอกลู่นอกทาง”

คนบางคนแม้ก้าวพลาด แต่ถ้าสังคมให้โอกาส พวกเขาก็พร้อมจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ครูแอ๊ด บอกว่า ความสำเร็จในหน้าที่ของเธอทุกวันนี้ คือ การช่วยเหลือขัดเกลาให้เด็ก ๆ ไม่กลับไปเป็นภาระของสังคม แต่การที่พวกเขาจะก้าวสู่การเป็นพลเมืองดีช่วยเหลือสังคมได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับพลังจากครอบครัวและการให้โอกาสจากสังคม

“ในมุมมองของครูคือ แค่เปลี่ยนให้เด็กคนหนึ่งไม่กลับออกไปเป็นภาระของสังคมอีก ถือว่าพอแล้ว ไม่จำเป็นว่าเขาต้องประสบความสำเร็จ เรียนจบปริญญาตรี หรือต้องเป็นเจ้าของธุรกิจ แค่เขามีงานทำ โดยที่ไม่ไปก่อภาระให้สังคม ไม่ทำให้เขาต้องกลับเข้ามาในวงเวียนนี้อีก ก็พอใจมากแล้ว เด็กส่วนใหญ่ที่มาอยู่ในนี้เหมือนกับดินที่กระจุยกระจายมา ครูก็แค่เอาน้ำ เอาปูนเข้ามาผสมพร้อมที่จะปั้นเป็นรูป ส่วนเด็กจะเป็นแจกัน เป็นกระถาง หรือเป็นอะไร ก็ขึ้นอยู่กับสังคมและผู้ปกครอง ต่อให้ครูกล่อมเกลาเด็กมาดีแค่ไหน แต่ถ้ากลับไปแล้วผู้ปกครองไม่ร่วมมือ สังคมยังซ้ำเติมเด็กอยู่ ก็จบแค่นั้น ดินก็จะกลายเป็นดินที่แตกย่อยเหมือนเดิม มันก็จะไม่เป็นรูปเป็นร่าง ไม่เป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้”


โครงการศิลปะเปลี่ยนชีวิต

ที่ปรึกษาโครงการ : กอบกาญจน์ เทพวาริน

ทีมงาน : เยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวน เขต 9 จังหวัดสงขลา