การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ขยะจากชานอ้อย จังหวัดสงขลา ปี5

ชานอ้อย…รักษ์ร้อยมิตรภาพ

เพราะเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองและชุมชน หลังจากจบการทำงานปีแรกและแยกย้ายกันไป เพื่อนๆ ในทีมยืนยันไม่ทำต่อ แต่ เสก-เสฏฐวุฒิ คำแก้ว กลับยืนยันว่าเขาจะทำโครงการต่อ เนื่องจากยังมีอีกหลายประเด็นที่เขาอยากสานต่อให้โครงการนี้เดินไปสู่หมุดหมายที่ตั้งไว้ นั่นคือ การเพิ่มมูลค่าให้ขยะจากชานอ้อย

“ผมอยากส่งโครงการต่ออีกปีแต่เพื่อน ๆ ไม่ทำแล้ว ครูคนเดิมก็ไม่ว่างเป็นที่ปรึกษาให้ ก็เลยไปชวนเพื่อนคือ แป้ง กับบล็อกโคลี่ และน้องอีก 2 คนคือ น้องยุ้ยกับน้องกิ๊ก” เสก เล่าความเป็นมาของการฟอร์มทีมใหม่ซึ่งนำไปสู่การเดินหน้าเคลื่อนโครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษที่เคยทำเมื่อปีก่อน

แป้ง-ดารารัตน์ ไหมแก้ว บอกว่า มาร่วมทีมกับเสกเพราะ “อยากต่อยอดความรู้”

“ตอนไปเวิร์คชอปที่คลองแดน เห็นชาวบ้านที่นั้นทำเรื่องกระดาษชานอ้อย ชาวบ้านบอกว่างานกระดาษจากชานอ้อยสามารถต่อยอดไปได้อีกเยอะ หนูเป็นคนที่ชอบงานประดิษฐ์อยู่แล้วก็ลองต่อยอดดู เราคิดว่านอกจากกระดาษที่เป็นแผ่นๆ แล้วเราสามารถนำมาทำเป็นดอกไม้ เป็นถุงกระดาษอะไรได้ ก็คิดกับเสกว่าต่อยอดกันดีกว่า อีกอย่างเสกไม่มีแกนนำเขาก็ขอให้ช่วยด้วยอีกแรง เมื่อเสกมาชวนก็ไม่อิดออด ตอบตกลงเลยค่ะ”

เช่นเดียวกับ บล็อกโคลี่-ภาณุวัฒน์ อุปติ บอกว่า เขาชื่นชอบในการทำกิจกรรมอยู่แล้ว พอเสกกับแป้งมาชวนเลยตอบตกลงทันที

สำหรับอาจารย์ที่ปรึกษา เสกขอให้ครูสาว-สิริกานต์ สุขธรณ์ มาช่วยเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาแทนครูกุ้ง-กันตพงษ์ สีบัว ที่ติดภารกิจหลายอย่าง เพราะเห็นว่าครูสิริกานต์เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมโรงเรียนปากจ่าวิทยาก่อนจะย้ายโรงเรียนและเป็นคนแนะนำโครงการนี้ให้กับทีมงานในปีแรก

“ตอนนั้นครูที่ปรึกษาเดิมงานเยอะค่ะ เขาเป็นหัวหน้างานมีหน้างานที่ต้องรับผิดชอบเยอะ แต่เด็กอยากทำโครงการนี้อีก ตรงนี้มองว่าหากเราไม่รับเป็นที่ปรึกษาไว้ หรือถ้าเราปฏิเสธเด็ก มันก็ไม่ได้เพราะเราเป็นครู เลยรับไว้ หน้าที่คือครูจะคอยช่วยแนะนำเรื่องต่างๆ เช่น การทำจดหมายขอความร่วมมือถึงผู้ใหญ่ การลงพื้นที่ การประสานงาน คือถ้าเราไม่ดูให้หรือไม่เป็นที่ปรึกษาให้ มองว่าเด็กก็หมดโอกาส” ครูสิริกานต์ เล่าถึงที่มาที่ไปของการเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ พร้อมกับให้เหตุผลอีกข้อว่า เห็นถึงความตั้งใจของเด็กกลุ่มนี้และ “อยากให้โอกาส” เด็กได้ทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเรียนรู้นอกห้องเรียนก่อนจบชั้นมัธยมศึกษาออกไปสู่โลกกว้าง

­

ทำลองซ้ำเพื่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

ประเด็นคาใจ คือ กระดาษชานอ้อยต่อยอดได้อีกเยอะ แต่พวกเขาสนใจเรื่อง ใส่สีให้กระดาษ จึงพยายามหาข้อมูลและเริ่มต้นทดลองด้วยตัวเอง

“เรื่องสีธรรมชาติเราใช้ดอกเฟื่องฟ้าทดลองได้สีออกมา 70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนฟักข้าวสีไม่ชัดไม่ติดเลย ในปีแรกใช้โซดาไฟต้ม ปีนี้เลยพยายามหาเทคนิคใหม่ ส่วนกระบวนการย่อยสลายชานอ้อยเพื่อนำมาทำกระดาษก็ทดลองใช้น้ำส้มสายชูกับมะนาวต้ม แต่มันยังไม่ได้ผลสำเร็จ” เสก บอก

“ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่สำเร็จ ไม่ได้ดั่งใจสักที” แป้ง สะท้อนความคิดของตนเองบ้าง พร้อมยอมรับว่า ทดลองจนเหนื่อย แต่ไม่อยากถอย เพราะเป็นความตั้งใจแรกของการทำงานที่อยากนำสีธรรมชาติเข้ามาใช้กับงานกระดาษจากชานอ้อย

แต่ปัญหาไม่ได้มีเฉพาะความไม่ประสบความสำเร็จจากการย้อมเท่านั้น แต่เวลาที่ผ่านเลยไป ทำให้พวกเขากังวลว่า โครงการจะไม่บรรลุเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนด

แป้ง เสนอว่า ควร “ขยายเครือข่าย” ควบคู่ไปกับการทดลองสีธรรมชาติ

“คุยกับเสกว่าเราทดลองทำสีธรรมชาติแล้ว แต่มันไม่ได้ผล ขอเอาเวลาตรงนั้นไปขยายเครือข่ายก่อนดีกว่า เราต้องทำงานให้ได้สักครึ่งหนึ่ง อย่าเอาเวลามาลงเรื่องการทำสีให้เป็นธรรมชาติเพียงด้านเดียว เพราะเราก็ยังสามารถทดลองไปได้เรื่อย ๆ ถ้าสมมุติวันหนึ่ง เราทำได้ เราก็อาจจะเอาตรงนี้ไปให้ความรู้กับเครือข่ายได้ด้วย”

น้อง ๆ เข้าไปขายไอเดียการทำกระดาษชานอ้อยกับชุมชนเทศบาลเมืองกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา แม้ชาวบ้านบอกว่าอยากทำ แต่ติดเงื่อนไขเวลา และเกรงว่าจะกระทบกับอาชีพหลัก การหาแนวร่วมจึงเบนเข็มไปที่โรงเรียนปากจ่าวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในอำเภอควนเนียงแทน

“ครั้งแรกก็ได้ลงไปทำแบบสอบถาม สำรวจกับคนในชุมชนว่า สนใจที่จะผลิตกระดาษตรงนี้ไหม เราเอาตัวอย่างกระดาษจากชานอ้อยให้ดู ผลการสำรวจพบว่า ชาวบ้านสนใจและอยากทดลองทำ ก็เลยไปอีกครั้งและเอาอุปกรณ์ไปให้ชาวบ้านทดลองทำ พอครั้งที่ 2 พอเขาเห็นกระดาษเขาบอกว่า กระดาษเหล่านี้สามารถนำไปทำดอกไม้ได้ ขั้นตอนกระบวนการทำไม่ใช่ปัญหา แต่เขามีอาชีพอื่นที่ต้องทำด้วย ถ้าต้องมานั่งทำกระดาษทั้งวันมันไม่โอเค เราจึงมุ่งเป้าไปที่โรงเรียนปากจ่าวิทยาโดยประสานงานผ่านครูสาวซึ่งเคยสอนอยู่ที่นั่นแทน” แป้ง ให้เหตุผล

เส้นทางการทำงานที่ต้องการสร้างเครือข่ายตามที่ทีมงานหวังไว้กลับไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แป้ง เล่าว่า ที่โรงเรียนปากจ่าวิทยาไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องชานอ้อยล้นถนนเหมือนอย่างที่ชุมชนของตนเอง แต่ในทางกลับกัน ที่นี่มีโจทย์ที่ทำให้ทีมงานได้แง่มุมแนวคิดใหม่ ๆว่า “แม้ว่าอยู่ในจังหวัดเดียวกันแต่ปัญหาและข้อจำกัดของสภาพพื้นที่แต่ละชุมชนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”

“เราไม่ได้คิดว่าสภาพชุมชนแต่ละแห่งมันไม่เหมือนกัน พอมาดูที่นี่กลับไม่มีปัญหาชานอ้อย เรามองว่าเขาไม่สามารถผลิตกระดาษได้แน่ ๆ ซึ่งน้อง ๆ ในโรงเรียนปากจ่าก็แลกเปลี่ยนกับเราว่า สามารถนำวิธีการนี้ไปประยุกต์ใช้กับใบปาล์มได้ไหม ไปทำกับต้นเสม็ดที่บ้านเขาได้ไหม เราก็บอกให้น้องลองนำวิธีการนี้ไปทำกับวัสดุในท้องถิ่นของน้องดู เราก็สอนวิธีการทำแล้วให้น้องไปดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัสดุที่น้องเอามาใช้” แป้ง เล่า

การขยายเครือข่ายเหล่านี้ นอกจากทีมงานไปสอนวิธีการทำกระดาษจากชานอ้อยแล้ว ยังสอดแทรกถึงผลกระทบจากขยะที่ทิ้งเกลื่อนกลาดและวิธีการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชุมชนน่าอยู่โดยเริ่มต้นจากตัวเอง

­

สร้างสินค้าใหม่เพิ่มช่องทางแก่ผู้ซื้อ

นอกจากการนำกระดาษจากชานอ้อยมาห่อขอขวัญแล้ว ในปีนี้ทีมงานมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ถุงกระดาษหูหิ้ว สมุดโน๊ต โคมไฟ ช่อบูเก้ ดอกไม้จันทร์ และพวงหรีด เป็นต้น เสกให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นทางเลือกของลูกค้าที่มีความต้องการใช้งานที่หลากหลายออกไป

สำหรับพวงหรีดถือเป็นสินค้าใหม่ของทีมงาน โดยจำหน่ายในราคาพวงละ 500 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ที่สั่งมักจะเป็นทางโรงเรียนและคุณครูที่ต้องการอุดหนุนสินค้านั่นเอง

“ในส่วนของพวงหรีด เวลาผู้ปกครองหรือญาติของนักเรียนเสียชีวิต โรงเรียนจะต้องส่งพวงหรีดไปในงานหนึ่งพวง ได้คุยกับคุณครูว่าเราสามารถผลิตได้นะ แต่ต้องบอกล่วงหน้า แต่ถ้ากระดาษมีพอเราก็สามารถทำให้ได้เลย โรงเรียนก็จะสามารถลดค่าใช้จ่าย พวกเราก็จะได้เงินตรงนั้นมาใช้ในแหล่งเรียนรู้ด้วย โรงเรียนก็ไม่ต้องไปซื้อข้างนอก มาอุดหนุนผลงานนักเรียน เงินที่ได้มาเด็กก็เก็บไว้ซื้อวัตถุดิบต่างๆมาทำต่อ” ครูสิริกานต์ เสริม

­

รีโนเวทห้องเก่าเป็นแหล่งเรียนรู้แบบครบวงจร

นอกจากได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สู่ท้องตลาดแล้ว ทีมงานยังมีห้องจัดแสดงผลงานเป็นของตัวเอง โดยตกแต่งต่อเติมห้องคณะกรรมการนักเรียนเก่าที่ปล่อยทิ้งร้างไว้เป็นแหล่งเรียนรู้การประดิษฐ์กระดาษจากชานอ้อยอย่างครบวงจร และเมื่อยิงคำถามว่า “หากคนภายนอกที่เข้ามาดูงานในห้องนี้แล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง” ทุกคนบอกด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ถ้าเข้ามาในห้องนี้แล้ว สิ่งแรกคือ เราจะบอกวัตถุประสงค์ของการทำกระดาษจากชานอ้อยว่า ทำไมเราต้องทำกระดาษจากชานอ้อย เมื่อแปรรูปแล้วชานอ้อยมีมูลค่าได้อย่างไร จากนั้นให้ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ดูงานทดลองทำด้วยตัวเอง เพราะอุปกรณ์ วัสดุเรามีให้เขาทดลองทำฟรี มีการสาธิตทุกขั้นตอน ซึ่งคนที่เข้ามาดูงานต้องมีเวลา 1 วันเต็ม ๆ โดยมีแป้งกับเสกเป็นวิทยากรหลัก ส่วนน้อง ๆ ในชมรมคนอื่น ๆ ทุกคนสามารถบรรยายได้หมด” แป้ง เล่าอย่างฉะฉาน

ด้าน เสรี อินทร์คง ผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งอนุญาตให้ปรับปรุงห้องคณะกรรมการนักเรียนเก่าที่ทิ้งร้างไว้เป็นฐานบัญชาการของโครงการนี้ บอกว่า เขาสนับสนุนให้นักเรียนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ทุกกิจกรรมเพราะถือเป็นประสบการณ์ตรงที่เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

“ข้อดีของการทำกิจกรรมมีเยอะ เดี๋ยวนี้โรงเรียนตามมาตรฐานสากลเขาอยากให้ 1.ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ นี้ก็เป็นข้อหนึ่งที่เกี่ยวข้องแล้ว 2. อยากให้นักเรียนของเราสัมผัสกับชุมชน ได้มีโอกาสไปรับรู้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน ความต้องการของชุมชน แล้วกลับมาออกแบบผลิตภัณฑ์ 3. ผมมองว่า การศึกษายุคใหม่ต้องให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ แล้วก็เขาได้มีแนวคิดที่จะสร้างอาชีพส่วนหนึ่งด้วยครับ”

นอกจากผลงานที่จัดแสดง ทั้งอุปกรณ์และวิธีการทำงานการผลิตกระดาษแล้ว ในห้องนี้ยังใช้เป็นฐานบัญชาการของทีมงาน เป็นทั้งห้องชุมนุมที่ใช้วางแผน ประชุมงานและพบปะกันของสมาชิก โดยมีแกนนำเป็นคนถือกุญแจห้องและมีสมาชิกในชุมนุมแบ่งเวรกันเข้ามาดูแลทำความสะอาด

­

เทกองความคิด-คัดสรรประเด็น

ธรรมชาติของการทำงานย่อมมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกัน เสก บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทีมงานยึดถือคือ การเทความคิดมากองรวมกันและรับฟังความคิดเห็นของแต่ละคน เพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสมและหาข้อยุติที่เป็นทางออกร่วมกันทุกฝ่าย

“ทำโครงการไปนาน ๆ ไม่ได้รู้สึกเบื่อ เพราะการทำงานต้องลองทำอะไร ลองผิดลองถูก แต่สิ่งที่ยากที่สุดในการทำโครงการ เรื่องความคิด บางที่เราก็คิดต่าง ในแกนนำ 5 คน การจัดสรรเวลาหรือทำอะไรบางเราก็คิดต่างกัน แต่ด้วยความที่เราทั้ง 5 คนเป็นแกนนำ เราต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนด้วย” เสก สะท้อน พร้อมทั้งยอมรับว่า แรก ๆ เขาไม่กล้าแสดงออก แต่พอได้ทำโครงการนี้ได้พูดได้จับไมค์ความกล้าจึงเข้ามาแทนที่ความกลัว หลังจากได้ฝึกพูดพรีเซนต์งานในโครงการนั่นเอง

ส่วนบล็อคโคลี่ เล่าว่า นอกจากลีลาท่าทางการสับชานอ้อยที่เรียกเสียงฮือฮากับเพื่อน ๆ และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดเวลาทำงานกลุ่มแล้ว การทำโครงการนี้ทำให้เขาได้ประสบการณ์หลาย ๆ อย่าง และรู้สึกสนุกสนานมาก

“โครงการนี้สอนให้หนูทำงานเป็น หนูสามารถนำบทเรียนจากโครงการไปใช้ได้ เช่น การนำเสนองานในห้องเรียน และสิ่งที่ชอบที่สุดในโครงการคือ การปฏิบัติเพราะได้ลงมือทำ หนูชอบสับชานอ้อย คือ การสับธรรมดามันก็น่าเบื่อ แต่หนูต้องมีท่า มีเอวเด้งอะไรด้วยก็ทำให้คนอื่น ๆ พลอยสนุกไปด้วย”

เช่นเดียวกับแป้งที่แม้จะเป็นนักกิจกรรมตัวยง ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ มามากมาย แต่สำหรับโครงการนี้ทำให้แป้งได้เรียนรู้การทำงานกับเพื่อนกับชุมชนมากขึ้น ขณะเดียวกันแม้มีปัญหาในเรื่องการจัดสรรเวลาที่ไม่ลงตัวมากนัก ทำให้การทำงานล้าช้าไปบ้างแต่ปัญหาเหล่านั้นกลับเป็นพลังบวกที่เธอต้องก้าวต่อไป

“มันเพลินดี บางทีก็มีปัญหาอื่นเหมือนกัน เช่น มีปัญหาเครื่องปั่นติดขัดบ้าง แต่เราก็ทำ ๆ ไป กลายเป็นว่า มันก็ออกมาสวย สามารถนำไปจัดบอร์ดได้สวยงาม” แป้งเล่าอย่างภูมิใจ

แม้การขยายเครือข่ายจะไม่บรรลุผลตามเป้ามากนัก แต่เป้าหมายแรกจากการทำโครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษ เพื่อลดมลภาวะและลดปริมาณขยะจากชานอ้อย ในวันนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จไปอีกขั้น โดยเฉพาะเรื่องความสะอาด จากเสียงสะท้อนของลุงสัปเหร่อวัดเจริญภูผา(วัดจุ้มปะ)ที่บอกกับทีมงานว่า บริเวณหน้าวัดสะอาดสะอ้านขึ้น แมลงหวี่แมลงวันก็หายไป เพราะไม่มีกองขยะจากชานอ้อยเหมือนอย่างในอดีต

วันนี้โครงการจบไปแล้ว ผลงานที่ได้มาอาจจะยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนในทีมพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ ความรู้สึกตระหนักในเรื่องจิตสำนึกของการทำหน้าที่พลเมืองมากขึ้น พร้อมทั้งได้เรียนรู้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมคือปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันหาสาเหตุที่แท้จริงและนำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง


โครงการเปลี่ยนชานอ้อยให้เป็นกระดาษ

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูสิริกานต์ สุขธรณ์

ทีมงาน :

  • เสฏฐวุฒิ คำแก้ว 
  • ดารารัตน์ ไหมแก้ว
  • ภาณุวัฒน์ อุปติ
  • สุธาสินี บุญส่ง
  • ธาวิณี พุฒน้อย