การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ บ้านทุ่งใหญ่ จังหวัดสงขลา ปี 5

กล้าปฏิบัติ...ปฏิวัติความกลัว

“แต่ก่อนเด็กอย่างเรามีหน้าที่แค่มาช่วยผู้ใหญ่จัดกิจกรรม คอยรอคำสั่งจากผู้ใหญ่ว่า จะให้เราช่วยตรงไหนบ้าง เสิร์ฟน้ำ ยกเก้าอี้ แต่พอมาทำโครงการนี้ ทุกอย่างสลับกันหมด กลายเป็นว่าพวกเราต้องเป็นคนจัดกิจกรรมทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการคิดออกแบบกิจกรรม จัดการงบประมาณ การจัดสถานที่ พิธีกร พวกเราทำกันเองหมด”

เป็นเสียงสะท้อนที่พูดตรงกันของ โฟล์ค-พันธวัช มุณีฉิม, กระติ๊บ-พาขวัญ นพชัยยา, หมิว-ทรรศนีย์ ทองสิริวรรณ, บัว-บัวไพลิน ฉิมปลอด, ไผ่-จันทน์ผา นพชัยยา, และ แบม-ธนพร งอดสุวรรณ์ จากกลุ่มยุวชนจิตอาสาหลังผ่านการทำ โครงการคนสามวัยใส่ใจสุขภาวะบ้านทุ่งใหญ่ ภายใต้ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

ไม่เฉพาะแค่เรื่องการทำงานเท่านั้นที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้จากการทำโครงการ แต่โครงการที่เลือกทำ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ก็ได้สะท้อนให้เห็นว่าน้อง ๆ กลุ่มนี้ใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลืออย่างไร และเหตุผลที่เลือกทำโครงการในลักษณะนี้ น้อง ๆ บอกว่า เห็นครอบครัวส่วนใหญ่ลูกหลานมักออกไปทำงานตั้งแต่เช้า ผู้สูงอายุในชุมชนขาดคนเอาใจใส่ดูแล โครงการนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระและหาแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนร่วมกัน

“ตอนที่พี่ ๆ ชวนวิเคราะห์โครงการ เราก็เห็นว่าผู้สูงอายุส่วนมากไม่มีคนดูแล หลายคนออกไปทำงานกว่าจะกลับมาก็มืด ผู้สูงอายุท่านอยู่คนเดียวก็จะเหงา เราก็อยากทำโครงการเพื่อที่จะให้ดูแลสุขภาวะของผู้สูงอายุ ให้มีความรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง ยังมีลูก ๆ หลาน ๆ ในชุมชนให้ความสนใจอยู่” โฟล์ค ให้เหตุผล

ส่วนเหตุผลของ “คนชวน” คือ พี่แอ๊ะ-ผุสดี นพชัยยา ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า อยากให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะในการทำงาน รวมทั้งฝึกความกล้าแสดงออก จึงชักชวนกระติ๊บลูกสาวเข้าร่วมก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เฟ้นหาเด็กแนวร่วมคนอื่น ๆ ที่สนใจมาร่วมกันดำเนินกิจกรรม

“เราเห็นว่าโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีความคิด มีความกล้าแสดงออก เพราะลูกเราเป็นคนกล้า ๆ กลัว ๆ จึงอยากใช้โอกาสนี้พัฒนาเขาไปด้วย”

­

ชนะความกลัวด้วยความกล้า

“เป็นคนที่กลัวคนแก่ ไม่ค่อยเข้าหาผู้สูงอายุสักเท่าไหร่ เวลามาทำกิจกรรมกับแม่เราเห็นผู้สูงอายุที่หน้าตาดุจะพยายามออกห่าง ตอนแม่มาชวนก็คิด ๆ เหมือนกัน ว่าจะเอายังไงดี แต่พอมาคิดว่า กิจกรรมที่ทำ เราก็ทำกับแม่อยู่แล้วคิดว่าไม่น่ายาก และน่าจะมีโอกาสได้เจอเพื่อนใหม่ ๆ ก็เลยตัดสินใจทำตามที่แม่ชวนค่ะ” กระติ๊บบอกความในใจถึงเส้นทางของการเข้าร่วมโครงการ

เมื่อเป้าหมายของผู้ใหญ่คือให้เด็ก ๆ ฝึกการทำงาน โดยการทำงานจะเปิดประตูสู่ “ความกล้า” ซึ่งประตูบานแรกคือ “กล้าคิด” บานต่อมาคือ “กล้าแสดงออก” และบานอื่น ๆ กล้าที่จะลุกขึ้นมาเพื่อแบ่งเบาภาระของส่วนรวมก็จะตามมา

ซึ่งการแบ่งเบาภาระของน้อง ๆ เริ่มต้นที่ การออกแบบกิจกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายคือเรื่องการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

และเพราะมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับทีมอาสามัครสาธาราณสุขเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ทำให้น้อง ๆ มีข้อมูลว่า ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนในชุมชนมาร่วมกิจกรรมกับทีมงานไม่ได้ เพราะเป็นผู้ป่วยติดเตียง หรือ ติดบ้าน ดังนั้นเมื่อผู้สูงอายุมาไม่ได้ น้อง ๆ จึงจัดกิจกรรมลงพื้นที่ “ออกเยี่ยมผู้สูงอายุ” เพื่อเข้าไปเยี่ยมเพื่อให้กำลังใจคนเหล่านั้น

ในส่วนของผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง น้องๆ เลือกจัดกิจกรรม “ออกกำลังกาย” และ “สันทนาการ” โดยใช้พื้นที่บริเวณศาลาเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน เช่น กิจกรรมตาราง 9 ช่อง การเล่นดนตรี และกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นกิจกรรมร่วมระหว่างคนสามวัย นอกจากจะมีพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว ทีมงานยังจัดสรรพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับให้เด็ก ๆ ได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมจะจัด 2 อาทิตย์/ครั้งสลับกับกิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ

ทีมงาน บอกว่า ทุกครั้งก่อนจัดกิจกรรมจะประชุมหารือเพื่อช่วยกันคิดออกแบบกิจกรรมกันอยู่เสมอเพราะคิดว่าหากจัดกิจกรรมเดิม ๆ ทุกครั้งผู้เข้าร่วมจะเบื่อ พวกเขาพยายามหากิจกรรมใหม่ ๆ มาสร้างความสนุกให้กับผู้เข้าร่วมเสมอ

“เวลาที่เราออกแบบเราจะนึกถึงเสมอว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุที่มาเข้าร่วม จะจัดเป็นกิจกรรมเบาๆ บางครั้งได้กิจกรรมมาเราจะเอาข้อมูลที่ได้ไปปรึกษากับพี่แอ๊ะว่ากิจกรรมนี้ดีไหม เหมาะกับผู้สูงอายุหรือเปล่า เช่น ตาราง 9 ช่อง เราเห็นว่าเคยมีวิทยากรเข้ามาให้ความรู้น่าจะใช้ประโยชน์ได้เพราะฝึกเรื่องของสมาธิ และการขยับร่างกาย มีกิจกรรมไทเก๊กเข้ามาเพื่อดึงผู้ชายให้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งได้ผลตอบรับดี ” โฟล์ค เล่าที่มาของการออกแบบกิจกรรมให้ฟัง

ถึงจะร่วมกิจกรรมกับผู้ใหญ่มาตลอด แต่พวกเขาก็ไม่เคยมีโอกาสได้ออกมาเป็นคนยืนอยู่หน้าเวทีเลยสักครั้ง ยิ่งจับไมค์พูดยิ่งดูห่างไกล แต่เพราะครั้งนี้พวกเขาคือ เจ้าของกิจกรรม ทำให้โฟล์คและกระติ๊บต้องผลักดันตัวเองออกมาหน้าเวทีเพื่อรับบทเป็นพิธีกรนำกระบวน

“ช่วงที่ลำบากใจที่สุดในการพูดคือช่วงที่จะเริ่มงานค่ะ จะเกี่ยงกันพูดเปิดเวทีก่อนแต่ถ้าได้พูดแล้วจะไปต่อได้ ช่วงแรกโยนไมค์กันไปมา ไม่กล้าพูด แต่ผู้สูงอายุเขาจะห้กำลังใจเราอยู่หน้าเวที บอกให้เราเอาใหม่ ให้โอกาสให้เราพูด เราก็มั่นใจขึ้น ตอนนี้ไม่เกี่ยงกันแล้ว ยื่นให้ก็พูดได้เลย” กระติ๊บ เล่าความรู้สึกเมื่อครั้งได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรครั้งแรกให้ฟัง

หลังจบงานสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากกิจกรรมเดิมที่พวกเขาทำ คือกิจกรรมถอดบทเรียน “เมื่อก่อนจะเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันเฉยๆ แค่มาเจอหน้ากัน แต่ครั้งนี้จะมีการให้ข้อมูล มีการสรุปบทเรียน สรุปกิจกรรมให้เขาฟัง ถ้าเป็นแต่ก่อนเสร็จงานก็แยกย้ายกันกลับเลย แต่ทุกวันนี้เราจะคุยกับผู้เข้าร่วมทั้งสามวัยก่อนว่า เขารู้สึกอย่างไรบ้างกับกิจกรรม มีข้อเสนอแนะอะไรไหม ในส่วนของทีมงานเราจะคุยกันเองอีกรอบเกี่ยวกับเรื่องของความรู้สึก ได้เรียนรู้อะไร อะไรที่ทำได้ดีที่สุด อะไรที่ควรปรับปรุง เราจะบันทึกกิจกรรมทั้งหมดว่าเราทำอะไรไปบ้างเพื่อนำไปปรับใช้ในกิจกรรมครั้งต่อไป” ทีมงาน เล่ากระบวนการที่พวกเขาทำหลังจบกิจกรรมให้ฟัง พวกเธอบอกว่ากระบวนการเหล่านี้ได้รับคำแนะนำมาจากพี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มที่แนะนำให้พวกเราควรมีการจดบันทึกข้อมูลและพูดคุยเพื่อทบทวนการทำงานในแต่ละครั้ง

ในส่วนของกิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ “การบันทึกข้อมูล” คือสิ่งที่ทีมงานให้ความสำคัญ พวกเขา บอกว่า “การจดบันทึกไว้เหมือนว่าถ้าเราทำกิจกรรมแล้วเราไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้ พอเรามาย้อนทำกิจกรรมอีกครั้งข้อมูลจะมั่ว เราต้องมานั่งคิดทบทวนใหม่ว่าเราทำอะไรไปบ้าง แต่ถ้าเรามีการจดบันทึกไว้จะช่วยเตือนความจำเรา”

สำหรับรูปแบบของกิจกรรมการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ พวกเขาจะลงพื้นที่เพื่อเข้าไปตรวจ ความดันลด ชั่งน้ำหนัก วัดรอบเอว หลังวัดเสร็จจะบอกความเปลี่ยนแปลงก่อน-หลัง เพื่อให้เห็นผลที่ได้จากการมาเข้าร่วมกิจกรรม หลังจากตรวจวัดความดันเสร็จจะมีหมิวคอยบริการนวดให้กับผู้สูงอายุ และบางครั้งจะมีไผ่ที่คอยสร้างรอยยิ้ม ให้ผู้ผู้สูงอายุด้วยการร้องเพลง บางครั้งก็ได้ฟังเรื่องราวของชุมชนจากผู้สูงอายุก็มี ไม่ใช่เพียงแค่ผู้สูงอายุที่มีความสุข แต่เมื่อสังเกตสีหน้าและแววตาของผู้เล่าเชื่อได้ว่าในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่คนทั้งสองวัยต่างมีความสุขร่วมกัน

­

ความเปลี่ยนแปลงของผู้กล้า

ถึงแม้จะเป็นเด็กที่ร่วมกิจกรรมกับทีมอาสาสมัครประจำหมู่บ้านอยู่แล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมาจะทำในรูปแบบของผู้ใหญ่นำเด็กตาม ต้องรอคำสั่งจากผู้ใหญ่ถึงจะรู้ว่าหน้าที่ของตัวเองควรทำอะไร แต่การทำโครงการนี้ทุกอย่างสลับกัน ผู้ใหญ่มีหน้าที่เพียงคนคอยหนุนหลัง มองอยู่ห่าง ๆ เด็กมีหน้าที่ในการจัดกิจกรรมทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ มีบ้างที่พบเจอกับปัญหาทั้งเรื่องเวลา และที่สำคัญที่สุดนั่นคือความกล้าที่พวกเขาบอกว่ายังมีอยู่ในตัวน้อยมาก แต่เพราะการฝึกฝนจากโครงการนี้ การได้พูดคุยกับผู้สูงอายุอยู่ย่อยๆ ฝึกจับไมค์อยู่เป็นประจำทำให้พวกเขาสัมผัสได้ว่า ความกล้าและทัศนคติที่มีต่อชุมชน ต่อผู้สูงอายุเปลี่ยนไป

“เมื่อก่อนจะอยู่แต่บ้านไม่ยอมออกไปไหน ดูการ์ตูนเล่นเกม ออกมาก็คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ไม่ค่อยรู้จักใครเพราะอยู่แต่ที่บ้าน เขาให้มาช่วยก็มาช่วยยืนอยู่เฉย ๆ พอได้เข้ากิจกรรมทำให้เราได้ฝึกความเป็นผู้นำ ฝึกให้เราต้องพูดยิ่งพูดบ่อยๆ เลยทำให้พูดรู้เรื่องมากขึ้น สื่อสารกับคนอื่นได้ อย่างในห้องเรียนเมื่อก่อนไม่ค่อยกล้านำเสนอเพราะเราพูดไม่รู้เรื่อง แต่เดี๋ยวนี้สามารถเป็นตัวแทนในการนำเสนอได้ อีกเรื่องที่นำไปใช้ประโยชน์ในเรียนได้คือ การทำมายแมพช่วยให้สามารถเรียบเรียงความคิด พูดตามหัวข้อที่วางไว้” กระติ๊บ สะท้อนสิ่งที่เธอได้เปลี่ยนแปลงและเรียนรู้เมื่อได้เข้าร่วมโครงการนี้

ด้านโฟล์ค สะท้อนว่า ก่อนหน้านี้ผู้สูงอายุเขารู้ว่าเราเป็นลูกใคร แต่เขาไม่ได้เห็นความสามารถของเรา เพราะตอนนั้นหน้าที่ของพวกเราก็แค่ไปดูแลคอยเสริ์ฟน้ำ ให้เขาเหมือนเป็นผู้ช่วยเขาในงานเฉย ๆ แต่พอกิจกรรมนี้เราได้แสดงศักยภาพให้เขาเห็นบ่อย ๆ เป็นพิธีกรบ้าง ร้องเพลงบ้างเขาก็จำเราได้ บางทีเราขับรถไปในหมู่บ้านจะมีคนทักเราตลอดทาง ตอนแรกที่ทำกิจกรรมครั้งแรกเราเกร็งมาก เพราะกลัวผิด แต่พอเราเริ่มมีประสบการณ์เราก็เริ่มกล้ามากขึ้น กล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูดเพราะเราเห็นแล้วว่าผู้ใหญ่เขาก็ให้โอกาสเราเหมือนกัน

หมิวยิ้มก่อนที่สะท้อนให้เราฟังต่อจากเพื่อนว่า ก่อนหน้านี้เธอจะเป็นคนขี้อาย แต่พอได้เข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ ความเขินอายก็หายไป เพราะว่าได้พูดคุยกับผู้สูงอายุ ยิ่งคุยยิ่งสนิท ความเขินอายเลยทุเลาลง “ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยไปไหนอยู่แต่บ้านตัวเอง เดี๋ยวนี้ก็จะไปเที่ยวหาบ้านผู้สูงอายุแทน เริ่มมีสังคมเยอะขึ้นเป็นเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา กล้าพูดขึ้นเพราะเราได้ลงมือทำด้วยตัวเองเลยไม่กลัวที่จะตอบไม่ได้ อีกอย่างหนูชอบที่ได้ทำงานกับผู้สูงอายุชอบฟังเขาเล่าเรื่องราวในอดีตให้ฟังสนุกตอนนี้รู้จักผู้สูงอายุแทบจะทุกบ้านค่ะ”

จากเยาวชนเบื้องหลังที่ผันตัวเองออกมาเป็นผู้กล้า กล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูด กล้าที่จะทำเรื่องดี ๆ ให้กับชุมชนของตัวเอง และเชื่อมั่นในตัวเองว่าทำได้ โดยมีเบื้องหลังที่สำคัญคือกำลังใจจากผู้ใหญ่ที่เปิดโอกาส เปิดพื้นที่ และเชื่อมั่นว่าเยาวชนนกลุ่มนี้ทำได้ ผ่านการเติมเต็มกำลังใจ นี่คือพลังสำคัญที่ทำให้คนสามวัยร้อยเกี่ยวความผูกพันภายใต้กิจกรรมนี้


โครงการคนสามวัยใส่ใจสุขภาวะบ้านทุ่งใหญ่

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • ผุสดี นพชัยยา
  • สุจิตรา สุขสวัสดิ์

ทีมงาน :

  • พันธวัช มุณีฉิม
  • พาขวัญ นพชัยยา
  • ทรรศนีย์ ทองสิริวรรณ
  • บัวไพลิน ฉิมปลอด
  • จันทน์ผา นพชัยยา 
  • ธนพร งอดสุวรรณ์