การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์บางปิด จังหวัดสงขลา ปี 5

ห้องเรียนบางปิด เปิดโลกแห่งการเรียนรู้

ด้วยสภาพพื้นที่ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ของ “ป่าบางปิด” โรงเรียนรักษ์อิสลามจึงออกแบบการเรียนการสอนด้วยการจัดคาบเรียนเพื่อให้เด็ก ๆ ได้ออกไปสัมผัสพื้นที่ป่าแห่งนี้

แต่กลุ่มเยาวชนรักษ์อิสลาม จากโรงเรียนรักษ์อิสลาม ซึ่งประกอบด้วย เส๊าะ-อนุสรา ยีกับจี, มาซีเต๊าะ สาและ,นี-สุวรรณี หัดเลาะ, รอน-อิมรอน ระหมันยะ, กี-นิติชัย ชื่นล้วน ตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า “เราจะเรียนรู้อะไรจากป่าบางปิด”

จากคำถามง่าย ๆ ได้กลายเป็นที่มาของโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บางปิดเพื่อการอนุรักษ์คลองตูหยง ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา

“เราประชุมกันว่าจะศึกษาอะไรดี ก็ได้ข้อสรุปออกมา 3 ประเด็นหลักคือ ประวัติศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติของบางปิด และ การใช้ประโยชน์ของคนในชุมชน” เส๊าะ บอกถึงประเด็นสมาชิกอยากเรียนรู้

“แต่ละประเด็นยังมีการแยกตั้งคำถาม อดีต กับปัจจุบัน ถามว่าอดีตลักษณะของบางปิดเป็นยังไง ชาวบ้านใช้ประโยชน์อย่างไร” นี เสริม

ซึ่งจากการเข้าไปศึกษาเรียนรู้ในเบื้องต้น พวกเขาพบว่า ป่าชายเลนในพื้นที่คลองตูหยง เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ในเขตสงขลา มีเนื้อที่กว่า 1,071 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และป่าแห่งนี้ยังเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งรายได้ที่สำคัญของคนเทพาและพื้นที่ใกล้เคียง

“ชาวบ้านเคยลงไปหาปลาบริเวณนั้น มีพืชน้ำอยู่บริเวณนั้น เช่น ปอทะเล ต้นปรง โกงกาง ถั่วขาว ต้นปลาหมอทะเล เถาวัลย์ กำแพงเจ็ดชั้น สัตว์น้ำ เช่น มีปลากระพง ปลากระบอก” ทีมงานสะท้อนสิ่งที่ตัวเองรู้ แต่สิ่งที่ยังไม่รู้คือ เรื่องการใช้ประโยชน์

“คิดว่าพวกเราต้องไปหาเพิ่มทั้งหมด เพราะสิ่งที่รู้ยังไม่ชัดเจน พืชบางพืชเรารู้จักแค่ชื่อ แต่ว่าไม่ได้รู้จักสรรพคุณของพืช” รอน อธิบาย

หลังได้ข้อสรุปถึงประเด็นที่ต้องการศึกษา ทีมงานจึงวางแผนกันว่า จะเริ่มต้นด้วยการหาข้อมูลเกี่ยวกับ ความเป็นมาของชื่อบางปิด เรื่องเล่าจากคลองบางปิด ภาพประกอบความจืดความเค็มของน้ำ และปริมาณของต้นไม้แต่ละต้นที่อยู่บริเวณบางปิด เส้นทางเดิน โดยศึกษาผ่านเครื่องมือ Timeline ที่ได้เรียนรู้มาจากพี่ ๆ และนอกจากเรื่องราวความเป็นมา พวกเขายังมองต่อไปถึง ความห่างจากทะเลและบางปิด มีคลองอะไรเชื่อมต่อกับคลองบางปิดและมีกี่สาย มีคนที่ไหนบ้างที่มาใช้พื้นที่ตรงนี้

­

รู้จักป่า รู้จักเครื่องมือแสวงหาความรู้

การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชนในครั้งนี้ สิ่งที่กลุ่มเยาวชนรักษ์อิสลามได้จากการเข้าร่วมในโครงการ นอกจากตัว “ข้อมูล” และเรื่องราวความเป็นมาของป่าบางปิด อีกประเด็นที่น้อง ๆ ได้เรียนรู้ ฝึกฝน และจะติดตัวพวกเขาไปคือ “วิธีการหาข้อมูล” อาทิ การออกแบบชุดคำถาม การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในการเก็บข้อมูลจากชุดคำถาม รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ กระบวนการเหล่านี้เป็นขั้นตอนการเรียนรู้ที่สำคัญที่พวกเขาจะได้รับจากการออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน

“ตอนแรกเราแยกก่อนว่าจะไปถามใครบ้าง ไม่ได้เจาะจงแค่คนเฒ่าคนแก่ แต่ยังมีคนที่ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ด้วย หากถามแล้วได้คำถามไม่เหมือนกัน ก็จะเอาข้อมูลวิเคราะห์ดูว่า ส่วนใหญ่เขาตอบอะไร เพราะยังเป็นเด็กและค่อนข้างขี้อาย ทำให้ครั้งแรกที่เข้าไปไม่ค่อยกล้าถามข้อมูล แต่อาศัยความเป็นญาติกันที่เห็นหน้ากันมาทำให้ทีมงานเลือกก้าวข้ามความอายนั้นไป แต่ก็ยังไม่วายปัญหาที่ตามมาคือ ไม่สามารถควบคุมคำตอบจากชาวบ้านได้” ทีมงาน อธิบายปัญหาช่วงแรกให้ฟัง

เพราะเห็นปัญหาของการลงพื้นที่ที่มักจะได้คำตอบกว้าง ๆ ไม่ตรงประเด็นสักเท่าไหร่ ครั้งต่อไป ทีมงานจึงตัดสินใจประชุมกันก่อนเพื่อช่วยกันระดมคำถามที่ควรใช้สอบถามจากชาวบ้าน โดยแบ่งเป็นช่วงอดีตและปัจจุบัน โดยคำถามที่ใช้ถามเกี่ยวกับอดีต เช่น ทำไมถึงเรียกบางปิด เมื่อก่อนบางปิดเป็นอย่างไร บางปิดใช้ทำอะไร ทำไมถึงเกิดบางปิด ทำไมถึงมีลักษณะเป็นวงกลม มีความเชื่อหรือเรื่องเล่าบางปิดหรือไม่ แต่ก่อนคนในชุมชนไปใช้ประโยชน์อะไรบ้างจากบางปิด

และคำถามที่ใช้ถามข้อมูลในปัจจุบัน เช่น สภาพบางปิดในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรเข้ามาบ้าง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร หลังจากออกแบบแนวคำถามและแบ่งบทบาทหน้าที่กัน ลงสัมภาษณ์ชาวบ้านกว่า 10 คน และนำข้อมูลที่ได้มารวบรวมสังเคราะห์ผ่านการทำ Mind map เพื่อหาข้อสรุปว่าในแต่ละข้อที่ลงไปตั้งคำถาม คน 10 คนตอบเหมือนกันมากน้อยแค่ไหนเพื่อหาเป็นข้อสรุปในการจัดทำเรื่องเล่าประวัติของบางปิด

ผลจากการลงพื้นที่สอบถามประวัติบางปิดได้ข้อมูลว่าบางปิดมีลักษณะคล้ายกับอ่างรูปวงรี ทางเข้าแคบ มีป่าชายเลนล้อมรอบ เชื่อมกับแม่น้ำ 3 สาย คลองตันตูหยง น้ำทะเลจากอ่าวไทย และน้ำจากเขื่อน เดิมชาวบ้านนำไม้ไผ่ไปปิดบาง(แอ่งน้ำ) ในช่วงน้ำลดเพื่อกั้นไม่ให้ปลาออกไปอ่าวไทย หรือคลองตูหยง เมื่อถึงเวลาชาวบ้านจะมาจับปลาหรือสัตว์น้ำบริเวณนี้ไปใช้ในการประกอบอาหาร จึงที่มาของชื่อบางปิด

­

เรียน เล่น ให้เป็นงาน

กิจกรรมต่อมาที่ต้องเรียนรู้เพิ่มนอกจากประวัติศาสตร์บางปิดแล้ว นั่นคือข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติบริเวณบางปิด ทีมงานลงสำรวจตั้งแต่ชนิดของพันธุ์ไม้ จำนวนต้น และสรรพคุณที่สามารถใช้รักษาโรค

“ถึงแม้ว่าพวกเราจะเข้าไปเรียนรู้ในบางปิดอยู่บ่อย ๆ แต่ต้นไม้บางต้น เราไม่เคยคิดเลยว่าจะมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคได้ ทำให้พวกเราคิดว่าพวกเราควรลงพื้นที่สำรวจเพื่อหาสรรพคุณจากต้นไม้เหล่านี้เพื่อใช้เป็นประโยชน์กับคนในชุมชนถ้าเขาอยากจะเข้ามาใช้รักษาโรคเบื้องต้น” ทีมงาน อธิบายเหตุผลที่เลือกจะศึกษาสรรพคุณของพันธุ์ไม้ที่ในพื้นที่บางปิดให้ฟัง

ทีมงาน เล่ากระบวนการลงพื้นที่สำรวจจำนวนต้นไม้ในช่วงแรก ๆ ให้ฟังว่า เดิมเราอาศัยสำรวจปริมาณต้นไม้ด้วยการเดินนับประมาณว่ากี่ต้น บางต้นก็นับ กะปริมาณเอา ซึ่งพบว่าการสำรวจแบบนี้บางครั้งทำให้ข้อมูลที่ได้มาคลาดเคลื่อน จนกระทั่ง ดร.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้ามาให้ความรู้ในการนับจำนวนพันธุ์ไม้ ทำให้พวกเขาได้ข้อมูลที่แม่นและง่ายต่อการสำรวจขึ้น

ทีมงานลงพื้นที่กว่า 5 ครั้ง ในแต่ละครั้งจะได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนเข้ามาช่วยเหลือเสมอ และยังมีผู้รู้อย่าง นายดอเลาะ เหมนคร อายุ 75 ปี ที่เข้ามาช่วยบอกเล่าเรื่องราวประวัติของบางปิดและประโยชน์การใช้สอยของต้นไม้แต่ละชนิดให้กับทีมงาน

ทีมงานยกตัวอย่างพันธุ์พืชและสรรพคุณที่ได้จากการลงพื้นที่ให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้รู้แค่ว่าเถาวัลย์สามารถกินน้ำของมันได้ แต่ไม่เคยรู้เลยว่ามีสรรพคุณช่วยขับระดู แก้ท้องร่วง มีตาตุ่มทะเลที่เคี้ยวใบสดช่วยแก้ลมชัก ต้นเป้งผลอ่อนใช้ต้มเป็นยา แก้อาการท้องผูก ปอทะเล มีสรรพคุณ แก้ไอหลอดลมอักเสบ ต้นบางต้นเราไม่เคยคิดว่าจะช่วยรักษาโรคได้พอเราได้รู้เราก็ตื่นตาตื่นใจ บางต้นคุณลุงก็เด็ดให้เรากินตรงนั้นเลยก็มี (เล่าไปหัวเราะไป)

เหนื่อย ร้อน เป็นเรื่องธรรมดาของการลงพื้นที่ในแต่ละครั้ง แต่เมื่อถามถึงสิ่งที่ตัวเองได้จากการลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจพื้นที่บางปิดแห่งนี้

ทีมงาน บอกว่า พวกเขารู้สึกรักและอยากที่จะรักษาบางปิดนี้ไว้ ยิ่งได้ลงพื้นที่ ได้รับรู้ถึงประโยชน์จากบางปิดที่มีผลต่อคนในชุมชนยิ่งทำให้พวกเขาสนุก และสิ่งที่เขารู้สึกภูมิใจมากที่สุดนั่นคือ แผนที่ที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของอ่าวบางปิด ภาพวาดจำลองของพันธุ์ไม้และพิกัดของพันธุ์ไม้ที่อยู่ในบริเวณนั้นพร้อมทั้งอธิบายสรรพคุณของพันธุ์ไม้ เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติที่ทีมงานช่วยกันวาดเพื่อหวังว่าจะสามารถเป็นประโยชน์ให้กับคนนอกที่สนใจจะมาเรียนรู้ อีกทั้งเส้นทางทามไลน์ของความเปลี่ยนแปลงของบางปิดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ชี้ให้เห็นถึงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของบางปิด เพื่อให้คนในชุมชนเห็นและอยากที่รักษาคลองบางปิดไว้เหมือนที่พวกเขารู้สึก

­

บางปิด....เปิดโลก

ผลจากการลงพื้นที่ มีโอกาสพบปะผู้คนที่มากกว่าเพื่อนในชั้นเรียน คนในชุมชน ผู้รู้ บุคคลภายนอกที่เข้ามาให้ความรู้ จากความเขินอายเพราะไม่คุ้นหน้า แต่เพราะเอาโครงการเป็นตัวตั้ง โดยมีกิจกรรมเป็นเงื่อนไขให้พวกเขาทั้ง 5 คนต้องกล้าที่จะเดินเข้าหาคนแปลกหน้าเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทำให้พวกเขาค้นพบว่าตคลอดระยะเวลาของการทำงานที่ผ่านมาทำให้พวกเขาเห็นว่าเขาเปลี่ยนไปมาก

เส๊าะ บอกว่า ก่อนหน้านี้เป็นคนไม่ค่อยพูด เขิน พอมีโอกาสเข้ามาทำโครงการนี้ เราได้ฝึกการพูดเพราะต้องเข้าไปถามข้อมูลคนในชุมชนทำให้เรามีโอกาสฝึกพูด ฝึกตั้งคำถาม เสร็จแล้วเราก็ต้องฝึกจับประเด็นจากข้อมูลที่เราได้ลงไปสัมภาษณ์ ก่อนหน้านี้หนูจับประเด็นไม่เป็นเลย หนูคิดว่าการจับประเด็นมีประโยชน์กับเราในการเรียนมาก แต่ก่อนจะเขียนตามครูหมด แต่พอเราได้ฝึกจากโครงการนี้ ทำให้เราเลือกที่จะจับประเด็นเฉพาะที่เป็นเนื้อหาจริง ๆค่ะ” เสาะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่ตัวเองได้รับจากโครงการนี้ให้ฟัง ด้าน นี สะท้อนว่า ตอนแรกที่รู้ว่าจะทำโครงการฯ เรารู้สึกว่ามันยาก ไม่อยากทำ เพราะไม่เคยทำมาก่อน กลัวการนำเสนอเพราะไม่เคยทำมาก่อนกลัวจะทำไม่ได้ แต่สุดท้ายมาจนมาถึงวันนี้สิ่งที่เรากลัวว่าจะทำไม่ได้ สิ่งที่เรากลัวเราผ่านมาหมดแล้ว พอมองย้อนกลับไปรู้สึกภูมิใจว่าเราก็ทำได้ แม้จะเริ่มต้นจากความกลัวแต่เธอก็สามารถเปลี่ยนความกลัวให้เป็นความกล้าได้ผ่านการลงมือทำที่ทำให้เขามั่นใจขึ้น

กี หรือ พรานป่า คือฉายาที่เพื่อนๆ ในกลุ่มเรียกเพราะเป็นคนที่จดจำเส้นทางการเดินทางในบางปิดได้ดี โลกของกีจะสดใสเมื่อเขาได้เข้าไปอยู่ในบางปิด เขาบอกเพียงว่า “ถ้าวันหนึ่งบางปิดหายไปจากชุมชนนี้ก็คงรู้สึกเสียดาย เพราะถ้าไม่มีบางปิดเราก็ไม่มีพื้นที่ให้เราได้เดินเล่น ดูต้นไม้ ดูนก ดูปลา ก็เลยอยากรักษาไว้ ”

เพราะห้องเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นห้องสี่เหลี่ยม และครูก็ไม่จำเป็นต้องเขียนโจทย์ให้นักเรียนแก้อีกต่อไป การได้ลงชุมชนเลือกห้องเรียนได้ด้วยตังเอง วิเคราะห์หาโจทย์เอง และเรียนรู้ที่จะแก้โจทย์ที่ตั้งไว้ด้วยตัวเอง โดยครูหรือพี่เลี้ยงมีหน้าที่เพียงคนคอยหนุนอยู่ห่าง ๆ เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของเด็กที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน นี่ต่างหากที่จะเป็นห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ เช่นเดียวกับที่ห้องเรียนบางปิด ห้องเรียนแห่งระบบนิเวศน์ ประวัติศาสต์และความสัมพันธ์ในชุมชน


โครงการศึกษาประวัติศาสตร์บางปิดเพื่อการอนุรักษ์คลองตูหยง

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • อัฐศรา อีมหมัน 
  • นินูรยีฮัน นิเย๊ะ

ทีมงาน :

  • อนุสรา ยีกับจีมา
  • ซีเต๊าะ สาและ
  • สุวรรณี หัดเลาะ
  • อิมรอน ระหมันยะ
  • นิติชัย ชื่นล้วน