การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อฝึกทักษะการเป็นครู ของนักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ปี 5

ปลุกไฟในใจครู

โครงการครูเพื่อศิษย์

“ครูเพื่อศิษย์” เป็นโครงการที่นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ดำเนินงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 เหตุผลที่รุ่นพี่ต้องทำงานสร้างฐานอันมั่นคงให้รุ่นน้องรับช่วงต่อเนื่อง เพราะ โครงการดังกล่าวเป็นเสมือน “แบบฝึกหัด” ขณะเดียวกันก็เป็น “ปณิธาน” ที่พวกเขาตั้งมั่นไว้ว่า ก่อนออกไปเป็นครู ต้องหาโอกาสลงมาทำโครงการเพื่อพัฒนาทักษะเพิ่มเติม เพื่อ “ปลุกไฟในใจครู” ก่อนออกไปเผชิญโลกจริง

“เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน คือ การพัฒนาทักษะนักเรียนในโรงเรียน ตชด. ให้เป็นไปตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งจะทำให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้รับการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครูไปด้วยพร้อมกัน เพราะในมหาวิทยาลัยเราเรียนรู้ทฤษฎีต่าง ๆ เราสามารถแก้โจทย์ได้ จาในชีวิตจริงเราอยากให้นักศึกษาในโครงการของเรานอกจากจะแก้โจทย์ได้แล้ว ต้องตั้งโจทย์เป็นด้วย” มิว-นิภาวรรณ ทองจินดา ประธานโครงการครูเพื่อศิษย์ เอ่ยถึงที่มาที่ไปของการทำโครงการ

­

ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงพัฒนาเด็ก

แนน-ปริฉัตร แก้วพิทักษ์ แกนนำโครงการ เล่าว่า เมื่อต้องรับช่วงต่อจากรุ่นพี่ การพลิกแพลงเพื่อหาประเด็นในการพัฒนาเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน จึงเป็นเรื่องท้าทายไม่ต่างไปจากหากลเม็ดเด็ดพรายไปสอนหนังสือเด็ก ๆ โดยปีนี้การทำโครงการเน้นไปที่เศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะการนำเรื่องสามห่วงสองเงื่อนไขเข้ามาใช้ ที่นักศึกษาจะต้องนำไปประยุกต์กับการสอนได้ ทั้งเรื่องการทำสื่อเพื่อให้เข้ากับเศรษฐกิจพอเพียง และการให้เด็กลงไปปฏิบัติด้วย และที่สำคัญคือเน้นในเรื่องความรู้คู่คุณธรรมด้วย

สำหรับแกนนำในโครงการครูเพื่อศิษย์ ส่วนใหญ่เป็นรุ่นน้องปีที่แล้วที่ขยับขึ้นมาเป็นแกนนำอย่าง นัด-ศักรินทร์ จันทร์ทอง, ฟิล์ม-อธิตฌา เผือคง, รัน-สิทธิชัย จันทร์เพ็ญ โดยมีน้องใหม่ ป๊ะ-ออธา ศรีพิทักษ์, เมย์-จิราภรณ์ คงจินดามณี และ เบย์-ภัทท์สุดา ประดับ นักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เข้ามาเสริมทีม

โดยในปีนี้ทีมงานเลือก โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ยูงทองรัฐประชาสรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนเป้าหมาย ที่นี่มีครู ตชด.ประจำกว่า 10 คน เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนเดินทางไป-กลับ บ้าน-โรงเรียน

มิว ให้เหตุผลที่เลือกโรงเรียนดังกล่าวว่า เป็นโรงเรียนที่ยังไม่ค่อยมีใครเข้าไปทำกิจกรรมมากนัก และที่สำคัญคืออยากเปิดโอกาสให้ทีมงานซึ่งเรียนครูมาโดยเฉพาะ ได้มีโอกาสทดลองสอนในโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญ นั่นหมายความว่า นอกจากครูที่นั่นต้องไปสอนเป็นระยะทางไกลแล้ว ครูต้องมีใจรักในอาชีพและอาจจะต้องมีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้นได้จริง

­

“ทัศนคติดีและมีใจรัก” สองสิ่งแรกที่ครูต้องมี

การเปิดรับสมัครคุณครูฝึกหัดที่จะเข้ามาร่วมทีม มิวและแนน ยอมรับว่า ต้อง “คัดแล้วคัดอีก” เพราะต้องการได้คนที่ “มีใจ” อย่างแท้จริง ซึ่งเกณฑ์การคัดเลือกมี 3 อย่างด้วยกัน คือ 1.ทัศนคติ 2.บุคลิกภาพ 3.ไหวพริบและความสามารถพิเศษ

“โดยการทดสอบ เราจะมีคำถามเกี่ยวกับความคิดคือ 1. ถ้านำอะไรไปได้ 3 อย่าง จะให้น้องนำอะไรไป เป็นคำถามเช็คทัศนคติ 2. ถ้าแม่ไม่สบายในวันที่เรามาเข้าค่าย นักศึกษาจะเลือกอะไรระหว่างไปดูแม่กับไปค่าย 3. เป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เราก็คัดเลือกจากใบสมัครและก็ประกาศผล หลังจากนั้นมีการสัมภาษณ์ ซี่งการสัมภาษณ์เราได้เห็นไหวพริบ ความสามารถพิเศษ หรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บุคลิกภาพ ได้เห็นทั้งความคิด การตัดสินใจ และการตอบคำถามของเขาค่ะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น” มิว เล่ารายละเอียดการคัดเลือกทีมงาน

เมื่อผู้สมัครผ่านเกณฑ์รอบแรก จะเข้าสู่รอบสัมภาษณ์ โดยมีคณะกรรมการที่เป็นอาจารย์ในคณะ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ และรุ่นพี่เป็นผู้สัมภาษณ์ ซึ่งมิว บอกว่า ปีนี้มีผู้สนใจสมัครเข้ามามากกว่า 70 คน สุดท้ายผ่านการคัดเลือกเหลือ 35 คน ที่ได้เข้าร่วมโครงการ และทั้ง 35 คน ต้องเข้ารับการปฐมนิเทศเพื่อปรับพื้นฐานและสร้างความเข้าใจในตัวโครงการ จากนั้นจึงมีการอบรมแบ่งกลุ่มวิชา โดยมีคณะกรรมการแต่ละวิชาเอกเข้ามาดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิด

โดยมิว บอกว่า เนื้อหาการอบรมของแต่ละคนไม่แตกต่างกันมากนัก ส่วนใหญ่เน้นเกี่ยวกับการเขียนแผนกิจกรรม การทำสื่อ ซึ่งแต่ละวิชาเอกจะมีการทำสื่อไม่เหมือนกัน และสุดท้ายคือน้อง ๆ แต่ละคนต้อง “สอบสอน” โดยมีรุ่นพี่ที่คอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยกันเทรนด์ก่อนลงสนามสอบสอนต่อหน้าคณะกรรมการ

“เรียกว่าเป็นการซ้อมก็ได้ เพราะการที่เราจะไปฝึกสอนจริงกับนักเรียนที่เป็นนักเรียนจริง จะผิดพลาดไม่ได้ บางทีน้องปี 1 เขาไม่มีประสบการณ์การสอนอะไรเลย เหมือนเขาก็สอนด้วยสไตล์ของตัวเอง บางครั้งก็มีการปรับปรุงการพูด บางคนก็พูดเร็วเกินไป อย่างเด็กประถมศึกษาถ้าเราพูดเร็วมาก เด็กจะฟังไม่ทัน จะเกิดปัญหาเด็กตามครูไม่ทันเด็กก็จะเล่น เด็กจะขี้เกียจเรียน เป็นต้น คือว่าเราก็บอกประสบการณ์กับน้องไปว่าเราเคยเจอปัญหาอะไรมาแล้วบ้าง ถ้าเป็นแบบนี้ในการสอนอาจจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็ให้น้องกลับไปคิดว่าจะปรับปรุงตัวเองได้อย่างไร” มิว อธิบายเพิ่ม

­

ค่ายวัดใจว่าที่คุณครู

การทดสอบก่อนไปเป็น “ครูเพื่อศิษย์” ยังไม่จบเพียงเท่านี้ กลุ่มครูอาสาต้องเข้าค่ายเป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน มิว อธิบายว่า ในค่ายมีกิจกรรมตั้งแต่การทำกับข้าวกินเอง การเตรียมการสอน ซึ่งกิจกรรมที่นำมาใช้เน้นการเชื่อมโยงกับหลักสูตร โดยแบ่งเป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามวิชาเอกของน้อง ๆ แต่ละคน เช่น สังคม ศาสนา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ ซึ่งกระบวนการนี้ จะทำให้รู้ว่าต้องสอนอะไรบ้าง เด็กตนกำลังจะไปสอนเรียนอยู่ชั้นไหน ซึ่งก่อนจะเข้ามาสอนทีมงานได้ลงพื้นที่สำรวจบริบทโรงเรียน ข้อมูลเบื้องต้น เช่น จะใช้สื่ออะไรเพื่อให้เข้ากับเด็กๆในโรงเรียน นำไปสู่การพัฒนาสื่อการสอนที่เข้ากับตัวเด็กมากที่สุด

“ไปโรงเรียนวันศุกร์ถึงที่นั่นตอนเย็น เราจะแบ่งเวรไว้ก่อนแล้ว มีเวรล้างจาน เวรทำกับข้าว เวรยืนหน้าประตู เวรยืนรับเด็ก พอไปถึงเขาก็ทำตามหน้าที่ ทางโรงเรียนได้นัดน้องมาเรียนวันเสาร์อาทิตย์ วิชาเรียนก็จะวางแผนกันมาแล้วว่าจะเรียนวิชาอะไรบ้าง ตอนเช้าเป็นวิชาคณิตศาสตร์ เราก็ให้วิชาเอกที่สอนตอนบ่ายมาทำกับข้าวเพื่อเตรียมกินตอนเที่ยงสลับกัน คนที่สอนหลักๆคือ ป๊ะ เมย์ และเบย์ ส่วนพี่ๆที่เป็นแกนนำจะไม่ได้สอนแต่จะคอยเป็นตัวฟรีคอยสังเกตการณ์ดูความเรียบร้อย เพราะแกนนำเราได้ผ่านการสอนมาหมดแล้ว ไม่ต้องฝึกอะไรแล้ว เราอยากให้โอกาสน้องได้ฝึกตรงมากกว่า” มิว อธิบาย

ซึ่งหลังจบค่าย กลุ่มครูเพื่อศิษย์ทั้ง 35 คนก็จะไปประจำการที่โรงเรียนตามแผนการดำเนินงานของโครงการ

ป๊ะในฐานะน้องใหม่ซึ่งต้องทำหน้าที่สอนเป็นหลัก เล่าว่า เขาสอนกลุ่มสาระวิชาสังคม ศาสนา วัฒนธรรม โดยมีน้อง ๆ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เป็นลูกศิษย์ ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เด็กวัยนี้หันมาสนใจกับเนื้อหาที่กำลังสอน แต่สำหรับป๊ะแล้วเขามองว่าไม่ยากเกินความสามารถ เพราะธรรมชาติของเด็กวัยนี้มีความซน ดังนั้นกลยุทธ์ที่นำมาใช้คือต้อง “เรียนไปด้วยเล่นไปด้วย”

“ผมจะยกตัวอย่างสิ่งที่ใกล้ตัวนักเรียน เช่น เก้าอี้เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนต้นไม้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ถามว่าน้องใช้สื่อได้หมดไหม ไม่ครับ น้องเขาจะมีความซนอยู่ระดับหนึ่ง ส่วนมากจะเป็นการเล่นซะมากกว่า เราต้องทำความคุ้นเคยกับน้องๆ อยากให้น้องรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกับน้อง เล่นกับน้องได้ เราก็จะพยายามสอดแทรกสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เพราะถ้าเราใส่เนื้อหาเยอะเกินไปน้องก็ไม่อยากเรียน ผมชอบเด็กอยู่แล้ว ถ้าอยู่กับเด็ก ป.2 ผมก็ได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุดครับ”

เช่นเดียวกับเมย์ที่สอนกลุ่มสาระวิชาสังคม ศาสนา วัฒนธรรม แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเมย์เลือกที่จะหยิบการจำลองเหตุการณ์การเลือกตั้งเข้ามาใช้ในห้องเรียน พร้อม ๆ กับสอดแทรกความรู้พื้นฐานของหน้าที่พลเมืองให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้ไปด้วย เมย์ ยอมรับว่า ยากพอสมควร แต่น้อง ๆ ชั้นป.6 สามารถเรียนรู้ได้เร็วและเกิดความสนุกสนานอย่างเห็นได้ชัด

“ที่สอนวิชานี้เพราะอยากให้น้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง พอเราโตขึ้นเราจะต้องไปเลือกตั้ง วันแรกจะสอนเรื่องหลักประชาธิปไตย สิทธิของตนเอง และเสรีภาพที่คนไทยทุกคนจะได้รับ ก็จะสอนปูพื้นฐานให้น้องก่อน พอวันที่สองก็จะจำลองสถานการณ์ให้น้องๆ ในเรื่องของการเลือกตั้ง จะเน้นในหน้าที่ของพลเมืองเป็นหลักค่ะ เมย์คิดว่าการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมเป็นสิ่งที่สำคัญ คนเราต้องอยู่ในสังคมให้ได้ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อย่างไร”

ส่วนเบย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรื่องดาราศาสตร์ โดยใช้ “บัตรคำ” เป็นสื่อการเรียนการสอน เบย์ เล่าว่า ก่อนจะมาสอนที่นี่เธอทำการบ้านมาเป็นอย่างดีด้วยการหาข้อมูลว่าเด็กประถมชอบเรียนแบบไหน อย่างไร จากการสอบถามคนใกล้ตัวอย่างน้องสาวของตนซึ่งอยู่ในวัยประถมนั่นเอง

“หนูมีน้องสาวอยู่คนหนึ่ง โทรไปถามน้องที่บ้านว่าเวลาเรียนชอบเรียนแบบไหน ยังไง น้องบอกชอบเรียนแบบมีสื่อที่เป็นรูปภาพมากกว่า ก็เลยเอารูปมาเป็นบัตรคำ เน้นรูปให้ใหญ่ เล่านิทานให้เด็กฟังจินตนาการไปด้วย ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตอบคำถามกับพวกเรา ว่าดาวดวงนี้คือดาวอะไร ตอนแรกคิดว่าไปค่ายจะเป็นการสอนแค่อย่างเดียว แต่ต้องเตรียมการมาเล่นกับเด็กด้วย เด็กตอบคำถามได้ก็แจกขนมให้ ที่เลือกดาราศาสตร์มาสอน เพราะหลักสูตรจะมีอยู่ 2 เรื่อง จะมีเรื่องดาราศาสตร์ กับเรื่องการสังเคราะห์แสง แต่รุ่นพี่เขาแนะนำว่าควรสอนเรื่องดาราศาสตร์ดีกว่าเหมาะกว่า”

­

ถ่ายทอดประสบการณ์จากพี่สู่น้อง

“จากตอนแรกเราเป็นผู้เข้าร่วมจนมาเป็นแกนนำ ความแตกต่างก็จะมีแล้ว เป็นผู้เข้าร่วมก็อยากพัฒนาตัวเอง พอเราเป็นแกนนำเราทำหน้าที่ช่วยแนะนำน้อง ต้องรับผิดชอบอะไรหลาย ๆ อย่าง จะต้องคิดและพัฒนาโครงการของเราว่า จะพัฒนาต่ออย่างไร สามารถหาจุดเด่นอะไรเพิ่มได้อีก เป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างหนึ่งที่เราจะต้องคิดและก็หาวิธีให้น้อง ๆ ให้มีแนวคิดใหม่ ๆ และรับฟังความคิดของน้อง ๆ ด้วย เพราะแต่ละรุ่นก็มีความคิดแตกต่างกัน เราก็รับฟังความคิดเห็นของทุกคน และก็เอาความคิดเห็นนี้มาทำให้โครงการเราดีขึ้น” นัท สะท้อนถึงตัวเอง เมื่อถูกถามถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้และความเปลี่ยนแปลงจากการทำโครงการ

ส่วนฟิล์มที่ยอมรับว่า การผันตัวจากรุ่นน้องสู่รุ่นพี่แกนนำ ความรู้สึกของเธอคือ การอัพสกิลที่ยากขึ้น แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง โครงการนี้ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่สอนเธอเรื่องการทำงานและเป็นการเติมเต็มความเป็นครูก่อนการฝึกสอนในปี 5 อย่างเต็มตัว

“ตอนแรกมีเพื่อนและรุ่นพี่ชวนมาสมัคร ก็ลองดูเพราะเป็นประสบการณ์ใหม่และเราก็ได้ฝึกด้วย วินาทีแรกที่ไปสอนหน้าห้อง ตื่นเต้นมากและไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ ก็มีพี่ๆ ในโครงการเข้ามาช่วย จากนั้นก็ได้รับโอกาสจากพี่ๆ ให้ลองมาทำกระบวนการคือมันยาก เช่น การประสานงาน การที่จะทำกิจกรรมหนึ่งอย่างต้องมีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง จากที่เป็นน้องในค่ายที่เข้าร่วมโครงการกับตอนที่มาเป็นพี่จัดกิจกรรมแล้ว คือความรู้สึกต่างกัน ตอนเข้าร่วมโครงการเราได้ประสบการณ์ และพอมาเป็นรุ่นพี่เราก็อยากถ่ายทอดให้น้องรุ่นต่อไปที่เข้ามาให้ได้รับประสบการณ์ดีๆ เหมือนที่เราได้รับบ้าง”

เช่นเดียวกับแนนที่ได้รับโอกาสให้เข้ามาเป็นกรรมการและเป็นสมาชิกในโครงการในรุ่นนี้ ด้วยการชักชวนจากมิว ในวันนี้ทำให้แนนกล้าคิด กล้าทำและกล้าแสดงออกมากกว่าในอดีต ที่สำคัญแนนบอกว่า ตนใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากขึ้น

“แนนไม่ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ตอนปี 1 อยากไปค่าย แต่เราก็ไม่มีโอกาส จนมิวมาชวน จากที่เราอยากเข้ามาร่วมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว พอได้รับโอกาสตรงนี้ก็ทำอย่างเต็มที่ ทำตอนแรกๆ เราไม่กล้าที่จะตัดสินใจ แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ เหมือนได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น เราได้มองอีกมุมหนึ่ง จากเมื่อก่อนเป็นคนที่รับอย่างเดียว พอเราได้มาทำงาน รู้สึกว่ามันดีที่ได้ทำเพื่อคนอื่น เราได้ช่วยกันคิด ได้ช่วยกันทำ การทำงานตรงนี้ทำให้เราเป็นคนที่มีเหตุผลมากขึ้น เราพูดคุยกันถึงปัญหาเราก็แก้ด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์นำเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แนนเป็นคนที่เปิดใจและใจกว้างมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะได้แค่ในโครงการ แต่ส่งผลให้เรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันเลย”

ด้านรันซึ่งขยับขึ้นมาเป็นแกนนำอีกคน เล่าว่า รู้สึกประทับใจโครงการนี้ที่ทำให้ตนรักและชื่นชอบอาชีพครูมากขึ้น จากการได้ฝึกสอนตอนได้รับคัดเลือกเข้าโครงการในรุ่นแรก รวมถึงชื่นชอบกิจกรรมการถอดบทเรียนที่ทำให้ตนได้ทบทวนถึงสิ่งที่ทำแล้วนำไปปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไป

“รู้สึกประทับใจกับกิจกรรมถอดบทเรียน เพราะหลังจากที่เราสอนก็มานั่งคิดทบทวนว่า สิ่งที่เราทำผิดพลาดไปในวันนี้มีอะไรบ้าง กลับมาตั้งสติใหม่ สำหรับรุ่นนี้ผมได้รับโอกาสจากอาจารย์ และพี่ ๆ ในโครงการให้มาเป็นผู้จัด เป็นรองประธานโครงการ ซึ่งการทำงาน ณ จุดนี้ เราต้องมีทักษะกระบวนการในการทำงานมากขึ้น มากกว่าที่เราเป็นผู้เข้าร่วม เพราะเราจะเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานต่างๆ จากการทำโครงการ และจากการเข้าร่วมโครงการ ทำให้ผมได้ประสบการณ์จริงๆ เพราะประสบการณ์แบบนี้เราหาไม่ได้จากในห้องเรียนครับ”

­

ก่อรักในอาชีพครู

สำหรับป๊ะแม้จะมั่นใจในการสอนมากขึ้น แต่ป๊ะยอมรับว่า ตนเองเป็นคน “พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง” ดังนั้นต้องมีการปรับการพูดให้ช้าลง การฝึกพูดแบบชัดถ้อยชัดคำให้มากขึ้น เพราะการพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญสำหรับการเป็นครู ที่ต้องพูดคุยกับเด็กและต้องสอนให้เด็กเข้าใจในเนื้อหาอย่างชัดเจนและตรงประเด็น

เช่นเดียวกับเมย์ที่เล่าว่า โครงการนี้ทำให้เธอค้นพบเส้นทางของตัวเอง จากที่ก่อนหน้านี้เธอไม่ค่อยอยากทำอาชีพนี้เท่าไรนักเพราะเธออยากเป็นหมอ โดยมีจุดเปลี่ยนจากคุณครูในคณะที่สอนให้ศรัทธาในตัวเองก่อน

“ขอบคุณพี่ ๆ ทุกคนที่ได้มาทำโครงการนี้ จากเมื่อก่อนไม่ชอบอาชีพนี้เลย กลับรู้สึกว่า นี่เป็นเส้นทางของเราจริง ๆ ที่เราต้องทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด เมื่อก่อนเรียน ปี1 คือคิดแค่ว่าเรียนให้จบ ให้พ่อแม่ได้ปริญญาให้เขาสบายใจ พอเราได้ทำโครงการนี้ เป็นโครงการที่ฝึกเราจริงๆ จากคนที่ไม่ศรัทธาในวิชาชีพของเราเลย กลับภาคภูมิใจมากขึ้น อีกอย่างโครงการนี้ได้ปรับทัศนะคติตัวเอง พอมาโครงการนี้ พอเห็นโรงเรียนก็เป็นโรงเรียนที่ทุรกันดาร อยากพัฒนา เหมือนที่ในหลวงทรงตรัสไว้ว่า ครูก็เปรียบเสมือนแม่พิมพ์ของชาติ ถ้าครูดี นักเรียนก็ต้องดีด้วย”

ส่วนเบย์ เล่าว่า จากการทำกิจกรรมตอนมัธยมปลายที่ต้องเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เด็กประกอบกับได้รับข้อมูลจากน้าที่อยากให้รับราชการ ทำให้เบย์ไม่รีรอในการตัดสินใจที่เข้ามาเรียนคณะครุศาสตร์ โดยมีรุ่นพี่แนะนำให้มาสมัครโครงการครูเพื่อศิษย์ ทำให้เบย์เปลี่ยนแปลงตัวเองโดยใช้เหตุผลกับน้องและมีความใจเย็นมากขึ้น โดยเฉพาะตอนสอนการบ้านน้อง ทำให้เบย์และน้องเข้าใจกันมากขึ้น

ปิดท้ายที่มิวในฐานะประธานโครงการฯ เธอสะท้อนว่า การทำงานโครงการนี้ทำให้เธอได้ฝึกฝนกระบวนการแก้ปัญหา ซึ่งก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ มิวได้เรียนรู้การเป็นผู้ตามที่ดีมาจากรุ่นพี่ในโครงการนั่นเอง

“เข้าโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ก็ได้ฝึกพัฒนาตัวเองมาเรื่อย ๆ ได้ฝึกการเป็นผู้ตามที่ดี ในกระบวนการทำค่าย คือ เป็นผู้ตามพี่ๆ จากนั้นก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการ และก็เป็นประธาน ตอนนั้นก็ถามตัวเองอยู่ตลอดว่า เราจะให้อะไรกับโครงการได้บ้าง คืออยากทำอะไรให้กับโครงการให้เยอะที่สุด เท่าที่จะให้ได้ พยายามทำงานด้วยความรอบคอบ ในการทำงานนี้ ต้องฝึกเป็นถังขยะถังสุดท้ายให้กับทุกคน น้องๆ ในโครงการอาจจะมีปัญหาก็อาจจะโยนมาให้น้องอีกทีหนึ่ง น้องเขาก็โยนมาให้รุ่นพี่อีกทีหนึ่ง รุ่นพี่ก็โยนมาให้ประธาน เราก็เป็นคนสุดท้ายที่จะรับรู้ปัญหานั้น ฉะนั้นเราก็ได้ฝึกกระบวนการที่ว่า ทำยังไงก็ได้ให้กำจัดปัญหานั้นให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่จะรอรับปัญหาต่อไป”

วันนี้การทำงานเสร็จสิ้นลง ทว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในอาชีพที่กำลังจะทำในอนาคต ก่อนจะออกไปเป็น“ครูเลือดใหม่”เพราะอาชีพครูถือเป็นอีกฟันเฟืองที่สำคัญในการหล่อหลอมเด็กให้เป็นพลเมืองที่ดีในสังคมต่อไป


โครงการครูเพื่อศิษย์

ที่ปรึกษาโครงการ : ดร.มนตรี เด่นดวง

ทีมงาน :

  • นิภาวรรณ ทองจินดา
  • ศักรินทร์ จันทร์ทอง
  • ปริฉัตร แก้วพิทักษ์
  • อธิตฌา เผือคง
  • สิทธิชัย จันทร์เพ็ญ
  • ออธา ศรีพิทักษ์
  • จิราภรณ์ คงจินดามณี 
  • ภัทท์สุดา ประดับ