การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เทศบาลตำบลปริก จังหวัดสงขลา ปี 5

ห้องเรียนพลังงานแสงอาทิตย์

จากการเข้าร่วมอบรมโครงการด้านพลังงานทางเลือกกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทำให้ เดือน-พิมพกานต์ ขุนหมาน พอจะมีความรู้ด้านการประยุกต์ใช้พลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้กังหันน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า รวมทั้งการคิด คำนวณค่าไฟฟ้า แต่ยังไม่มีโอกาสได้ใช้ความรู้ดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างจริง ๆ จังๆ

กระทั่งโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเปิดรับโครงการ และเดือนเห็นว่า ที่โรงเรียนปริก มีภาระค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง จึงคิดว่าถ้าสามารถนำความรู้ที่มีไปใช้ในการ ‘ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์’ ในโรงเรียนได้ น่าจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายเรื่องไฟฟ้าของโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง

“ที่ทราบมาคือ โรงเรียนใช้ไฟฟ้าเยอะ เพราะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะ เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร แอร์ พัดลม หลอดไฟ ปั๊มน้ำ บางครั้งไฟก็ไม่พอ อย่างห้องคอมพิวเตอร์มีเครื่องคอมพิวเตอร์ 20 เครื่อง แอร์ 2 เครื่อง และต้องเปิดใช้งานวันละ 6 ชั่วโมง พวกนี้ต้องใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก” เดือนให้ข้อมูล และบอกว่า เมื่อบวกกับการเห็นปัญหาเรื่องพลังงานทั้งในชุมชนและโรงเรียน อยากช่วยแก้ไขปัญหาค่าไฟ อยากลดค่าใช้จ่ายในโรงเรียน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจากห้องคอมพิวเตอร์

เดือน จึงชวน ฝน-อรวรรณ ทาประดิษฐ์, ฟิต-ภาณุวัฒน์ หมาดเหย็บ และ วิว-ศิกดิ์ธิวา ชัยสวัสดิ์ ตัวแทนเยาวชนกลุ่มพลังงานจากโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ทำโครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ เพื่อหาแนวทางลดการใช้พลังไฟฟ้ากระแสหลัก ด้วยการหันมาใช้พลังงานทางเลือก ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าโครงการนี้จะเป็นการ ‘ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์’ ในโรงเรียนและในชุมชนได้

­

ฝึกทักษะเชิงวิศวะ ติดตั้งแผงโซลาร์

แม้พอจะมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มาบ้าง แต่การติดตั้งเพื่อใช้งานจริง ก็ยังถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเป้าหมายของการใช้งานคือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้ไฟฟ้าในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ การดำเนินงานขั้นแรกคือการคำนวณปริมาณพลังงานที่ใช้และจำนวนแผงแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์ (Solar Cell)

“อันดับแรกเราต้องคำนวณค่าไฟฟ้าก่อนว่าคอมพิวเตอร์ต้องใช้ไฟฟ้าเท่าไร ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์จะเพียงพอไหม คอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งใช้ไฟฟ้ากี่ยูนิต คำนวณโดยหาค่าตั้งต้นก่อนว่า ต้องการใช้งานคอมพิวเตอร์กี่ชั่วโมงต่อวัน แล้วค่อยนำปริมาณการใช้พลังงานที่คำนวณได้ไปคิดในเรื่องจำนวนแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งความรู้เรื่องการคำนวณได้มาจากการอบรมของ ปตท. ที่มีการสอนสูตรการคำนวณคือ นำความต้องการใช้ไฟฟ้าของคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง คือ 500 วัตต์ มาหารด้วย 1,000 แล้วคูณกับจำนวนชั่วโมงที่ใช้จะได้เป็นยูนิต จากนั้นคูณกับค่าไฟ จะได้เป็นความต้องการใช้ไฟฟ้ากับค่าไฟฟ้า ตอนนั้นเขาให้คำนวณคอมพิวเตอร์ เตารีด โทรทัศน์ คำนวณครั้งหนึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อมาต่อยอดได้” เดือน เล่า

เมื่อคำนวณการใช้พลังงานไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์เสร็จแล้ว ถึงเวลาต้องวางแผนและออกแบบการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากจักรยานและแสงอาทิตย์ และลงมือปฏิบัติจริง โดยกำลังหลักในการติดตั้งครั้งนี้คือชายหนุ่มในทีมซึ่งได้แก่ ฟิต และวิว รวมถึงคุณครู และเจ้าหน้าที่จากเทศบาล

ฟิต เล่าว่า แผงโซลาร์เซลล์มีที่กองช่างของเทศบาลอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องมีเพิ่มเติมคือ หม้อแปลง แบตเตอรี่ สายไฟ ตัวชาร์จ ส่วนบริเวณที่ติดตั้ง คือบริเวณข้างหน้าต่างของห้องคอมพิวเตอร์ซึ่งน้อง ๆ ได้สำรวจกันมาแล้วว่าเป็นจุดที่รับแสงแดดได้นานที่สุด

“สำหรับการติดตั้งก็ค่อนข้างยาก เพราะต้องตั้งแผงโซลาร์ แล้วก็ติดตั้งตัวประจุไฟฟ้า เชื่อมกับแบตเตอรี่ เข้าหม้อแปลง และไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ก็จะต้องมีหม้อแปลงที่คอยแปลงไฟฟ้าจากกระแสตรงเป็นกระแสสลับ เพื่อต่อมาใช้ในห้องคอมพิวเตอร์ ในการติดตั้งก็ช่วย ๆ กันทั้งพวกผม เพื่อนในทีม และเจ้าหน้าที่จากกองช่างของเทศบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยรู้มาก่อน พยายามถามจากพี่ ๆ กองช่าง จนสามารถทำได้”

สำหรับอายุการใช้งานและประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เด็กๆ บอกว่า ขึ้นอยู่กับการการบำรุงรักษาเป็นสำคัญ โดยต้องหมั่นทำความสะอาดคราบสกปรกและฝุ่นที่เกาะบนแผงโซลาร์เซลล์ การบำรุงรักษาระบบสายไฟและระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีไฟรั่ว หรือสายไฟหลุดออกมา

­

งานยาก ไม่สู้รู้จัก ‘บริหารจัดการเวลา’

การติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้งานในห้องคอมพิวเตอร์ลุล่วงไปด้วยดี แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ พวกเขาบอกว่านอกจาก ‘ความยาก’ จะเป็นสิ่งท้าทายแล้ว การทำงานโครงการไปพร้อมกับการเรียนและการช่วยงานที่บ้าน ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหากับการจัดการ 'เวลา’ จนเครียดไปตาม ๆ กัน

“สิ่งที่ไม่ชอบในโครงการนี้ คือ ยาก มีปัญหาเรื่องจัดการเวลา แต่รู้ว่าเป็นเพราะตัวเอง เวลาที่มีงาน แต่ถ้าเหนื่อยก็จะไม่ทำ ผลัดวันไป แล้วก็มาทำตอนใกล้ ๆ ส่ง ก็จะเครียดตอนโดนครูทวีชัย ถนอมลิขิตวงศ์ ที่ปรึกษาโครงการกระตุ้น ถ้าเราเฉยครูจะกระตุ้น วิธีกระตุ้นของครูคือ เพิ่มงาน โดยจะบอกว่า เดี๋ยวทำอันนี้ด้วยนะ พอครูกระตุ้นเราก็จะกระเด้งขึ้นมาทำงาน เครียดเลย (หัวเราะ)” ฝน เล่า

ขณะที่เดือน บอกว่า ปัญหาใหญ่ของเธอคือ ภาระหนักในการทำกิจกรรมของโรงเรียนและที่บ้าน ทำให้แบ่งเวลาไม่ถูก จนแทบต้องทะเลาะกับครอบครัว

“งานเยอะ งานที่บ้านก็เยอะ งานเรียนก็เยอะ แล้วทำโครงการด้วย ก็เหนื่อย กิจกรรมในโรงเรียนก็ต้องทำ เช่น เข้าค่ายลูกเสือ ค่ายคุณธรรม เยอะมาก เราเป็นคนไปช่วย บางครั้งก็มีหน้าที่จัดกิจกรรมให้น้อง ๆ ด้วย เป็นกรรมการนักเรียนด้วย หนูเป็นรองประธานนักเรียน ตอนที่ยุ่ง ๆ ก็จะจัดการแบ่งเวลา แต่พอกลับบ้าน คนที่บ้านก็จะบ่นว่าทำอะไรนักหนา ก็พยายามอธิบายว่าทำกิจกรรมเยอะ เขาก็ไม่ค่อยโอเค อยากให้เราเรียนแล้วก็อยู่บ้านมากกว่า แต่เวลาออกมาทำโครงการ เวลาครูนัด เขาก็ให้มานะ เพราะว่าเป็นกิจกรรมของโรงเรียนด้วย แต่เวลาอยู่บ้านเราก็ช่วยทำงานบ้านทุกอย่าง หุงข้าวล้างจาน ทำกับข้าว ล้างจาน ทำทุกอย่าง”

­

ลดค่าไฟ เพิ่มประสบการณ์

แม้จะทั้งยากและเหนื่อยหนัก แต่การได้ทำโครงการที่เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันคิดวางแผนและลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง จนสามารถก้าวผ่านความท้าทายสู่ความสำเร็จ ช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งผลที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ ความกล้าคิด กล้าแสดงออก และสำนึกต่อส่วนรวม

ฝน บอกว่า ดีใจที่ได้ทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อโรงเรียน ช่วยลดค่าไฟฟ้าให้โรงเรียนได้ ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่หน้าที่นักเรียนที่ต้องทำ เราไม่ทำก็ได้ แต่ทำเพราะมีความสนใจ อยากช่วยโรงเรียน ส่วนตัวเราเองก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาก คือเมื่อก่อนจะเป็นคนขี้อายมากกว่านี้ ไม่ค่อยกล้า พอทำกิจกรรมเริ่มกล้ามากขึ้น เพราะเมื่อก่อนไม่กล้าจับไมค์ แต่ที่กล้าพูดกับไมค์เพราะพี่เขาให้แสดงความคิดเห็นต่อกลุ่มอื่น ๆ บางที่ก็กดดัน แต่ก็คิดว่าน่าจะลองสักที พอได้ลองก็ไม่เห็นเป็นอะไร ก็กล้ามากขึ้น

“กล้าพูดมากขึ้น กล้านำเสนองาน” ฟิตกล่าวเสริม พร้อมเล่าว่า เมื่อก่อนไม่เคยนำเสนองาน ไม่กล้า แต่คราวนี้โดนบังคับ พอไปนำเสนองาน ก็ดี เราก็ทำได้ นำเสนองานคู่กับวิว

ส่วน เดือน บอกว่า ได้พัฒนาความคิด แต่ก่อนเป็นคนไม่ค่อยชอบคิด พอมาทำโครงการนี้ พี่มีนี-นูรมีนี สาและ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเขาถามรายคนเลย ก็ต้องคิดต้องพูด

นอกจากการพัฒนาตนเองแล้ว พวกเขาบอกว่า ตลอดการทำโครงการยังทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่นำไปปรับใช้ได้ทั้งในการเรียนและชีวิตจริง

“ความรู้ที่ได้จากโครงการสามารถนำไปใช้ในการเรียน เช่น การวางแผน เราทำอะไรเพื่ออะไร ที่พี่ ๆ สอน พอในชีวิตจริง เราอยากไปเรียน อยากเป็นหมอ ก็ต้องมาวางแผน ศึกษาให้ดีว่าจะเรียนที่ไหน ” ฝนกล่าว ขณะที่ฟิตเล่าเสริมว่า “ได้เรื่องการวางแผนเหมือนกัน เช่น การทำงานกลุ่ม การทำงานเป็นทีม ความรู้ที่ได้จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ก็สามารถนำไปใช้ที่บ้านได้ด้วย” เดือน บอก

การได้พบเจอกับเพื่อนใหม่ ๆ ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนทั้งมิตรภาพและความรู้

“สิ่งที่ชอบที่สุดคือ ได้เจอกับเพื่อนๆ ต่างโครงการ ชอบนั่งฟังของกลุ่มอื่น ได้แลกเปลี่ยนกัน ชอบของกลุ่ม ตช.นำแสง ทำเรื่องพลังงานเหมือนกัน ตอนนั้นถามพี่เขาว่าทำไมทำโครงการนี้ พี่เขาบอกว่ากำลังจะมีการสร้างโรงงานไฟฟ้าที่จะนะ เลยหันมาสร้างไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งโซลาร์เซลล์ของพี่เขากับระบบของเราเหมือนกัน แต่เขาทำในชุมชน” ฝนและเดือน ร่วมแชร์ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน

ผลการติดตั้งพลังงานทดแทน เบื้องต้นสามารถช่วยให้โรงเรียนและเทศบาลประหยัดค่าไฟฟ้าประมาณ 420 บาท (มิเตอร์ไฟของเทศบาลกับโรงเรียนอันเดียวกัน) แต่ยังต้องติดตามข้อมูลเพื่อนำมาเปรียบเทียบการใช้งานให้เห็นผลที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าใช้ได้จริงในโรงเรียน เพื่อขยายผลให้โรงเรียนและชุมชนเห็นความสำคัญนำพลังงานทางเลือกมาใช้ในครัวเรือนมากขึ้นต่อไป


โครงการพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูทวีชัย ถนอมลิขิตวงศ์

ทีมงาน :

  • พิมพกานต์ ขุนหมาน
  • อรวรรณ ทาประดิษฐ์
  • ภาณุวัฒน์ หมาดเหย็บ 
  • ศิกดิ์ธิวา ชัยสวัสดิ์