Best Practice กลไกชุมชนที่สนับสนุนเยาวชนเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : ชุมชนเทศบาลตำบลปริก

         เทศบาลตำบลปริก เป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท คนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร งานบริการ และงานรับจ้างทั่วไป คุณสุริยา ยีขุน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีมา 21 ปี มีวิสัยทัศน์และความเชื่อเรื่องคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา “แนวทางในการทำงานของเทศบาลตำบลปริก เริ่มตั้งแต่การกำหนดโจทย์ใหญ่ในการพัฒนาพื้นที่ เชื่อมั่นว่า การพัฒนาใด ๆ ก็ตาม จะไม่สามารถส่งผลต่อความจีรังยั่งยืนได้เลย ถ้าหากคนยังไม่ได้รับการพัฒนา ดังนั้น เทศบาลตำบลปริกจึงให้ความสำคัญกับการที่จะให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” ในนโยบาย 8 ด้านของเทศบาลจึงมีเรื่องการสร้างคนแทรกอยู่ในทุกแผนงาน โดยเฉพาะนโยบายทางด้านการศึกษาที่อยากให้เกิดการจัดการศึกษาที่มีอยู่ในท้องถิ่น จึงขอเปิดโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก ปัจจุบันเป็นโรงเรียนขยายโอกาสสอนหลักสูตรแกนกลาง 8 สาระวิชาและ 4 สาระวิชาที่ออกแบบจากท้องถิ่น

          ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาลตำบลปริกมีทุนทางสังคมคือคนในชุมชน เช่น สมาชิกสภาเทศบาล กรรมการชุมชน กลุ่มกิจกรรมในชุมชน พนักงานเทศบาล คุณครู โรงเรียนเทศบาลปริก ที่ได้ปรับการทำงานเป็นการทำงานแบบเชิงรุก รวมถึงทุนความรู้จากการสร้างองค์ความรู้ของเทศบาล และต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตที่มีความมั่นคงทางอาหาร มั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย มั่นคงทางสุขภาพอนามัย และมั่นคงทางการศึกษาและการเรียนรู้ ในการเป็นกลไกพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ เทศบาลได้ดำเนินการ 3 เรื่องคือ 1) กำหนดนโยบายว่าด้วยเรื่องการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งสู่การสร้างพลเมือง สร้างข้อต่อส่งผ่านนโยบายไปสู่การปฏิบัติ พัฒนากลไกที่เกี่ยวข้อง คือ ผู้อำนวยการกอง เจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการโรงเรียน คณะครู และเด็กๆ เพื่อให้ทิศทางการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน 2) การสนับสนุนงบประมาณของเทศบาล โดยจัดสรรงบประมาณพัฒนาของแต่ละกอง เกลี่ยดูว่าส่วนของการพัฒนาพลเมืองมีช่องไหนที่เราพอจะสามารถสนับสนุนกันได้ จัดตั้งงบประมาณ แผนงาน และเทศบัญญัติ ว่าด้วยงบประมาณในแต่ละปี ที่มุ่งไปสู่การสร้างพลเมือง 3 ระดับ คือ พลเมืองเด็ก พลเมืองเยาวชน และพลเมืองผู้ใหญ่ของเทศบาลตำบลปริก และ 3) ออกแบบกิจกรรมที่ตอบโจทย์ การพัฒนาภาวะความเป็นพลเมือง

          นอกจากนี้ เทศบาลและโรงเรียนเทศบาลปริกมุ่งหวังให้กลไกภายในที่เป็นพนักงานเทศบาล และพนักงานครู จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีส่วนในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ ฝึกให้คนขององค์กร เป็นวิศวกรสังคม หรือ สถาปนิกสังคม หรือเป็นนวัตกร จึงมีการประสานงานกับกลไก หรือภาคีภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และเกิดการประสานงานไปยังสงขลาฟอรั่ม ซึ่งเป็นกลไกภาคประชาสังคม หรือ NGO ในจังหวัดสงขลา เพื่อที่จะเป็นการต่อยอดการพัฒนาของเทศบาลที่เน้นเรื่องการสร้างคนผ่านช่องทางระบบการศึกษา

          ในการเข้าร่วมโครงการ Active citizen กับสงขลาฟอรั่มจึงเป็นการพัฒนาความสามารถของเทศบาลและโรงเรียนเทศบาลปริกด้วยการทำโครงการและเรียนรู้กระบวนการ Active Learning กับสงขลาฟอรั่ม โดยในปีแรกส่งเยาวชนเข้าร่วม 1 โครงการ ปีที่สองทำโครงการพลเมืองเด็กและเยาวชนต้นปริกได้นำกระบวนการมาใช้กับนักเรียน ม.1-ม.3 และปีปัจจุบันโรงเรียนมีโครงการเด็กที่เข้าร่วมกระบวนการ 10 โครงการ (สงขลาฟอรั่มสนับสนุน 4 โครงการ โรงเรียนหางบประมาณเอง 6 โครงการ) และโครงการเด็กที่มาจากเทศบาล....โครงการ จึงเป็นโอกาสให้เจ้าหน้าที่เทศบาลและครูโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก พัฒนาตนเองเปลี่ยนครูเป็น Facilitator ให้ครูเป็นผู้ที่จุดประกาย อำนวยความสะดวกในการสร้างกระบวนการการเรียนรู้ ทผ่านการฝึกเป็นพี่เลี้ยงในโครงการและเข้าร่วมอบรมที่สงขลาฟอรั่มจัดขึ้น

          คุณครูและพนักงานเทศบาลตำบลปริก ได้รับการพัฒนาศักยภาพไปพร้อมกับเยาวชนในชุมชน ยกระดับความคิดในฐานะกลไกระดับปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากภายในเทศบาลตำบล คือ เวทีการจัดการความรู้ระหว่างเทศบาลและโรงเรียนที่จัดขึ้นทุกวันอังคาร เป็นการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนกันว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาแผนงานที่ผ่านเป็นมาเป็นอย่างไร มีอุปสรรคอะไร และจะวางแผนต่ออย่างไร รวมไปถึงไปการแลกเปลี่ยนความรู้ที่แต่ละคนได้เรียนรู้ เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและชุมชนสอดรับกัน ขณะเดียวกันภายในแต่ละกองเทศบาลและภายในโรงเรียนก็มีเวทีจัดการเรียนรู้ภายในทีมของตนเอง และจากภาคีภายนอก เช่น สงขลาฟอรั่ม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา NGO และ สสส. เพื่อสนับสนุนแผนงานของกันและกัน เชื่อมโยงการทำงานและองค์ความรู้ ทำให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานพัฒนาตนเองและมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น

          เด็กที่อยู่ในโรงเรียนและชุมชน ได้รับกระบวนการการเรียนรู้การถ่ายทอดและการปฏิบัติเหมือนกัน เด็กเกิดความรู้สึกร่วม ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในโรงเรียนอย่างมีความสุข เปลี่ยนจากความไม่รับผิดชอบไปสู่ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม พฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนได้ชัด คือ เรื่องของความรับผิดชอบ เช่น กลุ่มไก่ไข่ เด็กรู้หน้าที่ รับผิดชอบให้อาหารไก่ตามเวลา กลุ่มปลูกผัก มีความรับผิดชอบ มีกระบวนการในการทำงานที่ดีขึ้น และมีการนำเสนอที่ดีขึ้น ผู้ปกครองชื่นชมกระบวนการเรียนรู้ สะท้อนกลับมาว่าลูกของเขามีความรับผิดชอบมากขึ้น เขาไว้ใจให้ลูกมาทำกิจกรรมกับคุณครูมากขึ้น โครงการแบบนี้ทำให้เด็กได้ใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์ แทนการเล่นเกม การขับรถซิ่ง การรวมกลุ่มมั่วสุม

          ครูที่เข้าร่วมโครงการได้เปลี่ยนวิธีการทำงานและบทบาท “เขาไม่ได้ใช้กระบวนการนี้เฉพาะในโครงการที่เขาทำ โครงการไก่ไข่หรือโครงการผักเท่านั้น เราเห็นเขาเอากระบวนการที่เขาได้ไปใช้กับวิชาอื่น ๆ และ กิจกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น เขาฝึกกระบวนการ AAR มา มีกลุ่มของเขาเสนอโครงการให้ทุกกิจกรรมที่โรงเรียนทำ ต้องมีการทำ AAR จนภาคเรียนล่าสุด ทุกกิจกรรมโครงการที่โรงเรียนทำ คุณครูท่านอื่นก็ต้องทำ AAR ด้วย เพื่อให้รู้ว่าการทำงานแต่ละครั้ง มีอะไรต้องแก้ไขปรับปรุง กระบวนการที่เราได้มาจากครูพลเมืองนั้นได้เอามาขยายผลกับคุณครูท่านอื่นด้วย”

­

ความโดดเด่น

  • เทศบาลตำบล มีวิสัยทัศน์ชัดเจน ส่งเสริมสนับสนุน ทั้งกำหนดนโยบาย จัดสรรงบประมาณพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน
  • ทำงานเป็นทีมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ของชุมชน ด้วย “ไตรพลัง” ใช้กระบวนการในการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมทุกระดับ พัฒนาทุนมนุษย์ของชุมชน ให้เป็น “พลเมืองที่ตื่นรู้”
  • ดำเนินแผนพัฒนาโดยใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่ในชุมชนและการสนับสนุนจากองค์กรภาคีอย่างต่อเนื่อง