สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

โครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร  จังหวัดสงขลา กลุ่มรักษ์บ้านแหลมสน


          บ้านแหลมสน ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา อดีตเป็นเมืองที่มีความสำคัญกับจังหวัดสงขลา มีโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ภายในชุมชน แต่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง คนส่วนใหญ่รวมทั้งเยาวชนในชุมชนไม่รู้ประวัติความเป็นมา ทำให้เยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านแหลมสนซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ สนใจศึกษา ค้นคว้าประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลของพื้นที่นี้ที่สามารถส่งต่อให้คนในพื้นที่ รวมถึงผู้ที่สนใจศึกษาได้ ถ้าไม่ศึกษา ไม่มีคนรู้จัก ไม่มีคนสนใจ พวกเขาเกรงว่าที่นี่อาจเป็นเพียงสถานที่ซึ่งถูกทิ้งให้ลืม

          เยาวชนกลุ่มรักษ์บ้านแหลมสนเกิดจากการรวมตัวของนักเรียนโรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ที่เรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โดยมีคุณครูสารภี รองสวัสดิ์ คุณครูสอนวิชาสังคมศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและ ประวัติศาสตร์เป็นพี่เลี้ยงโครงการ

          กระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนถือว่าเป็นช่วงที่ท้าทายในการทำโครงการ เพราะในช่วงแรกนั้นเยาวชนวางแผนไปสัมภาษณ์ผู้รู้และคนในชุมชน ปรากฏว่าได้ข้อมูลไม่ตรงกัน รวมถึงคนในชุมชนส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบประวัติของพื้นที่นี้ เยาวชนจึงปรึกษาพี่เลี้ยงโครงการและปรับแผนเป็นไปค้นคว้าจากหลายช่องทาง คือการสอบถามจากผู้สูงอายุ พระ คุณครู ผู้รู้ในชุมชน ศึกษาค้นคว้าจากพงศาวดารในพิพิธภัณฑ์ จากหนังสือประวัติศาสตร์ จากอินเทอร์เน็ต จากนั้นนำข้อมูลมาเปรียบเทียบเรียบเรียงข้อมูล โดยทำ Timeline ประวัติศาสตร์ ทำแผนที่เดินดิน

         “นักเรียนเล่าว่า เวลาที่ถามชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ในในชุมชน เขาไม่เข้าใจว่า “ทำไมคนแก่เล่าไม่ได้” “เขาไม่เคยเล่าสืบต่อกันมาเหรอครู” ครูจึงบอกไปว่าบางทีคนเก่าแก่จริง ๆ ของชุมชนเราที่รู้อาจไม่อยู่แล้ว อาจจะเป็นคนที่อื่นมาอยู่ที่นี่และไม่รู้เรื่องราวประวัติท้องถิ่นของเราก็ได้ จึงไม่มีคนเฒ่าคนแก่ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน ครูจึงสรุปกับเขาว่าเพราะฉะนั้นนักเรียนนี่ล่ะ จะต้องเป็นคนเรียนรู้เพื่อเล่าต่อให้คนได้รู้ประวัติความเป็นมารากเหง้าของเรา” ครูสารภี เล่าถึงกระบวนการทำงานของเยาวชน

         เมื่อได้ข้อมูลที่เรียบเรียงแล้ว จึงเปิดรับสมัครนักเรียนที่สนใจ 20 คนเพื่อพาลงชุมชนดูโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์ พร้อมเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ให้เพื่อนเยาวชน เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้เยาวชนในพื้นที่รู้ประวัติศาสตร์บริเวณบ้านของตนเอง ในวันนั้นทุกคนให้ความสนใจและเป็นแนวร่วมในการศึกษา ค้นคว้าประวัติศาสตร์ชุมชน จนเกิดข้อค้นพบใหม่ ความรู้ใหม่เชิงประวัติศาสตร์ของชุมชน ตัวอย่างเช่น “ความเชื่อ ‘เรื่องศิวลึงค์’ แต่ก่อนชาวบ้านเชื่อว่า พื้นที่บ่อเก๋งมีศิวลึงค์ พื้นที่ตรงนั้นสมัยก่อนเป็นท่าขึ้นเรือมีเสาหินอ่อนตั้งขึ้นเพื่อผูกเรือ ซึ่งรูปร่างของเสาใกล้เคียงกับ ศิวลึงค์ พวกเราไปค้นหาข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์พบว่าเสาต้นนั้นไม่ใช่ศิวลึงค์ แต่เป็นที่ผูกเรือในสมัยนั้น” พวกเขาภูมิใจ ประทับใจในเรื่องราวที่ได้เรียนรู้ อยากรักษา ถ่ายทอด บันทึกให้คนในชุมชนได้รู้ประวัติศาสตร์

          จากพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ค่อยมีคนใส่ใจดูแล เมื่อเยาวชนสืบค้นจนรู้เรื่องราวทำให้ท้องถิ่นเห็นว่าเรื่องที่เด็ก ๆ ทำ เป็นประโยชน์กับชุมชน จึงเข้ามาบูรณะ ทำความสะอาด พื้นที่มีชีวิตชีวาขึ้น พร้อมกับการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาศึกษาและพบเยาวชนในโครงการฯ เยาวชนก็สามารถเล่าเรื่อง ตอบคำถามได้ ทั้งนี้ในโอกาสต่อไปเยาวชนกลุ่มรักษ์แหลมสนอยากขยายผล พัฒนาตัวเองให้เป็นมัคคุเทศก์น้อยบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน

         จากการทำงานทำให้เยาวชนได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม การวางแผน ฝึกความอดทน ทักษะการเข้าสังคม เยาวชนหลายคนสะท้อนว่าใจเย็นและมีรายละเอียดในการทำงานมากขึ้น มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา การศึกษาประวัติศาสตร์ทำให้รู้วิธีการหาข้อมูลที่หลากหลาย การทำโครงการฯ ทำให้พวกเขาได้ติดตั้งวิธีการหาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ และพวกเขาได้ใช้แนวคิดนี้ในการทำรายงานในวิชาอื่น ๆ ที่โรงเรียน ในขณะที่คุณครูสารภี (พี่เลี้ยงโครงการฯ) ก็ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนประวัติศาสตร์ให้นักเรียนได้ลงพื้นที่ ค้นคว้า ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุก มีส่วนร่วมขึ้น

        “เวลาที่คุณครูให้งานในวิชาเรียน เรารู้วิธีการหาข้อมูล เพราะเราเคยทำมาแล้ว” มุก เล่าถึงสิ่งที่เธอได้เรียนรู้จากประสบการณ์ช่วงที่ทำโครงการ


ความโดดเด่น

  • เยาวชนกลุ่มรักษ์แหลมสน ศึกษา ค้นคว้าหาข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยการสอบถามจากผู้สูงอายุ พระ คุณครู ผู้รู้ในชุมชน และค้นคว้าจากพงศาวดารในพิพิธภัณฑ์ ศึกษาจากหนังสือประวัติศาสตร์ ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต มาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือ Timeline และทำแผนที่เดินดิน ส่งผลให้เยาวชนได้ฝึกฝนหลักการคิดเชิงเหตุผล (Critical Thinking)
  • เยาวชนให้ความใส่ใจในประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยมีคุณครู (พี่เลี้ยงโครงการ) เอื้ออำนวยการเรียนรู้ และมีชุมชนสนับสนุบเปิดพื้นที่ให้ศึกษา ส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาต่อไป
  • เยาวชนและคนในชุมชนให้ความสนใจ เข้าใจท้องถิ่น ร่วมอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ทางประวัติศาสตร์



ผู้ให้สัมภาษณ์ กลุ่มรักษ์บ้านแหลมสน

  1. นางสาวสุภาวดี วิสมิตะนันทน์ (ปอ) อายุ 15 ปี  ตำเเหน่ง: ประธานกลุ่ม
  2. นางสาวเมทิณี บุญเกิด(มุก) อายุ 15 ปี   ตำเเหน่ง: สมาชิกกลุ่ม
  3. เด็กหญิง ภารวี สุขสุวรรณ (เปิ้ล) อายุ 14 ปี  ตำแหน่ง: สมาชิกกลุ่ม
  4. ด.ญ กันยารัตน์ เซ็นเจริญ (น้องกั้ง) อายุ 14 ปี   ตำแหน่ง: สมาชิกกลุ่ม
  5. ด.ญ วันวิสาห์ รัตนพันธ์ (น้องแต้ม) อายุ 12 ปี  ตำแหน่ง: สมาชิกกลุ่ม
  6. นางสารภี รองสวัสดิ์ (ครูสาว) อายุ 52 ปี  ตำแหน่ง: พี่เลี้ยงโครงการ



บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้น้อง ๆ แนะนำตัวเอง

ปอ สวัสดีค่ะ นางสาวสุภาวดี วิสมิตะนันทน์ ชื่อเล่นปอ อายุ 15 ปี กำลังศึกษาชั้น ปวช. ปีที่ 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา ทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ตำแหน่งหัวหน้าโครงการ

กั้ง หนูชื่อ เด็กหญิงกันยารัตน์ เซ็นเจริญ ชื่อเล่น น้องกั้ง อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ตำแหน่งสมาชิกในกลุ่ม

มุก นางสาวเมทิณี บุญเกิด ชื่อเล่นมุก อายุ 15 ปี กำลังศึกษาชั้นปวช.ปีที่ 1 วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลาตำแหน่งสมาชิกในกลุ่ม

เปิ้ล ด.ญ.ภารวี สุขสุวรรณ ชื่อเล่นเปิ้ล อายุ 14 ปี กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ตำแหน่งสมาชิกในกลุ่ม

แต้ม ด.ญ. วันวิสาห์ รัตนพันธ์ ชื่อเล่นแต้ม อายุ 12 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์ ตำแหน่งสมาชิกในกลุ่ม


ถาม ทำไมถึงน้อง ๆ สนใจศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน

ปอ เพราะว่ามีโบราณสถานและแหล่งประวัติศาสตร์อยู่รอบ ๆ โรงเรียนของพวกเรา คนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่รู้ประวัติ ตอนที่เราลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ เราไปถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์ ไม่มีค่อยมีคนรู้ พวกเราอยากศึกษาเรื่องนี้ เพื่อนำข้อมูลไปบอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ ให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จักโบราณสถานที่สวยงามของชุมชนต่อไป


ถาม เรื่องราวของประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนสำคัญกับเราอย่างไร

ปอ เวลาที่มีนักท่องเที่ยวมา เขามาถามประวัติความเป็นมา ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถานต่าง ๆ เราตอบเขาไม่ได้ ทั้งที่เราเป็นคนในพื้นที่ เราอยู่ที่นี่มานาน ที่นี่เป็นบ้านเกิดของเราแต่เรากลับไม่รู้ข้อมูล

มุก หนูคิดว่าเยาวชนควรรู้ เวลาที่นักท่องเที่ยวมาถาม เราจะตอบได้ว่าที่นี่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกับชุมชนของเราอย่างไร

ปอ นอกจากโบราณสถานที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ชาวบ้านในชุมชนมาทำพิธีกรรมต่าง ๆ ที่นี่ เช่น งานบุญ จัดงานศพ จัดงานประเพณีต่าง ๆ


ถาม วัตถุประสงค์ของโครงการที่ทำ สำเร็จตามแผนที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร (เรียนรู้ประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน สถานที่ ความเชื่อ บุคคลสำคัญ จัดทำสื่อเพื่อเผยแพร่ เด็กในโรงเรียนรู้จักรากเหง้าและประวัติศาสตร์ในชุมชน)

ปอ พวกเราสอบถามเรื่องราวจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ค้นหาจากพงศาวดารในพิพิธภัณฑ์ เราค้นหาข้อมูลจากหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม แต่ข้อมูลและประวัติศาสตร์ รวมทั้งช่วงเวลาไม่ตรงกัน พวกเราจึงต้องไปหาข้อมูลจากพงศาวดาร และข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตเพิ่มเติม หลังจากนั้นนำมาเปรียบเทียบและเรียบเรียงสรุปข้อมูลขึ้นมาเป็นรูปเล่ม เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว เราเปิดรับสมัครนักเรียนที่สนใจ จำนวน 20 คน มาร่วมทำกิจกรรม ในกิจกรรมเราจะเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ให้น้อง ๆ ฟัง พาน้องลงพื้นที่ไปดูสถานที่จริง จากนั้นกลับมาที่โรงเรียน พวกเราตั้งคำถามกับน้อง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ไปดูมา ผลตอบรับจากน้อง ๆ คือ พวกเขาให้ความสนใจ ดูจากที่พวกเขาสมัครใจมาเข้าร่วม เวลาลงพื้นที่พวกเขาตั้งใจช่วยกันเก็บข้อมูล


ถาม ช่วงที่สืบค้นข้อมูลเราค้นพบข้อมูลใหม่ ความรู้ใหม่เรื่องอะไรบ้าง

มุก เรื่องราว ที่ว่าการพระเจ้าตาก บางคนบอกว่าอยู่ที่วัดสิริวรรณาวาส บางคนว่าอยู่ที่ทุ่งบ่อเตย พวกเราไปสืบค้น พบว่าพระเจ้าตากมาต่อเรือที่ทุ่งบ่อเตย ดังนั้นที่ว่าการของพระเจ้าตากน่าจะอยู่ที่ทุ่งบ่อเตย ข้อมูลนี้น่าจะเป็นจริงมากกว่า ส่วนที่วัดสิริวรรณาวาสน่าจะเป็นหอระฆัง

“เรื่องเจ้าป่าเจ้าเขา” สมัยก่อนเกิดโรคระบาด คนล้มตายจำนวนมาก หลังจากเผาศพ คนสมัยนั้นนำขี้เถ้ามาปั้นเป็นรูปเคารพของเจ้าป่าเจ้าเขา เรียกรูปเคารพนี้ว่า “เจ้าป่าเจ้าเขา” คนในชุมชนนับถือท่านมาจนถึงทุกวันนี้ นำดอกไม้มากราบไหว้ เชื่อว่าท่านช่วยปกปักรักษาชาวบ้านในชุมชน

ความเชื่ออีกอย่างคือ “เรื่องศิวลึงค์” แต่ก่อนชาวบ้านเชื่อว่า พื้นที่บ่อเก๋งมีศิวลึงค์ พื้นที่ตรงนั้นสมัยก่อน เป็นท่าขึ้นเรือ มีเสาหินอ่อนตั้งขึ้นเพื่อผูกเรือ ซึ่งรูปร่างของเสาใกล้เคียงกับ ศิวลึงค์ พวกเราไปค้นหาข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์พบว่า “เสาต้นนั้นไม่ใช่ศิวลึงค์ แต่เป็นที่ผูกเรือในสมัยนั้น”


ถาม เสียงสะท้อนจากผู้ปกครองและคนในชุมชนว่าอย่างไรกับสิ่งที่พวกเราทำ

ปอ เขาสนับสนุนดีเพราะว่าคนในบ้านแหลมสน ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของชุมชน แต่พอพวกเรามาทำ เราได้เก็บข้อมูลประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน เพื่อให้คนในชุมชนได้รับรู้ เวลาที่คนสนใจสามารถมาดูข้อมูลกับเรา ตอนที่พวกเราแก่ คนรุ่นหลังสามารถสอบถามข้อมูลกับเราได้ เพื่อที่พวกเขาจะได้สืบสานประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนต่อไป

มุก มีนักท่องเที่ยวมาถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กับพวกเราค่ะ เช่น ที่มาที่ไป สร้างขึ้นเมื่อไร โบราณสถาณนี้มีไว้ทำอะไร

เปิ้ล วิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องประวัติศาสตร์กับเรา คือ พี่น้ำนิ่ง พระ คุณครู ผู้รู้ในชุมชน บังมุตาลิดซึ่งท่านเป็นวิทยากรท้องถิ่น ที่บรรยายความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เวลาที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในพื้นที่ ทุกคนได้ให้ความรู้กับพวกเรา


ถาม ขอให้ช่วยให้คะแนนโครงการจากสิ่งที่พวกเราทำ (คะแนนเต็ม 100คะแนน)

ปอ ประมาณ 80% ขาดอีก 20% คือ เราอยากเป็นวิทยากรไปบรรยายเรื่องประวัติศาสตร์ด้วยตัวเอง แต่ยังทำไม่ได้เพราะเรายังพูดติดขัดอยู่ พวกเราต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มมากกว่านี้ ตอนนี้ให้ผู้ใหญ่เป็นคนไปบรรยายแทน


ถาม หลังจากทำโครงการนี้ ตัวเราเรียนรู้เรื่องอะไร

ปอ เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน ความสามัคคีในการทำงานเป็นกลุ่ม เช่น ตอนที่พวกเราทำแผนที่เดินดินและ ทำ Timeline เราต้องแบ่งงานกันว่าใครต้องทำงานอะไร ค้นหาประวัติ วาดรูป เขียนสรุป เราได้ประสบการณ์จากการทำงานตรงนี้ หลังจากนี้ถ้าเรามีโอกาสทำงานกลุ่มอีก พวกเราจะทำได้สบายไม่เกร็ง

เปิ้ล ความอดทนในการทำงาน เวลาที่เราต้องเขียนงานหรือตอนวาดรูป เราต้องใช้เวลามากและฝึกฝนสมาธิ ถ้าเราไม่มีสมาธิงานที่ทำอาจออกมาไม่ดี

มุก เมื่อก่อนไม่เคยรู้เรื่องประวัติศาสตร์เลย พอมาทำโครงการนี้ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนมากขึ้น

กั้ง เมื่อก่อนหนูเป็นคนใจร้อน หลังจากทำโครงการเป็นคนใจเย็นขึ้น ใส่ใจรายละเอียดในการทำงาน ถ้าเราใจร้อน เราหงุดหงิด จะทำให้เราทำงานไม่ได้


ถาม  กระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่เรานำมาใช้ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน มีประโยชน์อย่างไร

ปอ  จากที่เราไม่ค่อยอดทน เรากลายเป็นคนที่อดทนขยันขึ้น ใจเย็น

มุก  จากที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็มีความรู้เพิ่มมากขึ้น

แต้ม  จากที่ไม่รับผิดชอบ มีความรับผิดชอบมากขึ้น

ปอ  ตรงต่อเวลา จากเดิมที่นัด 8:00 น. เรามา 9:00 น. ตอนนี้เปลี่ยนเป็น นัด 8:00 น. เรามา 7:00 น.


ถาม ความอดทน ความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ มีประโยชน์ต่อตัวเราอย่างไร

มุก เวลาที่คุณครูให้งานในวิชาเรียน เรารู้วิธีการหาข้อมูล เพราะเราเคยทำมาแล้ว

ปอ เมื่อมีคนมาถามเรื่องประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน เราสามารถให้ความรู้เขาได้


ถาม การเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์สำคัญกับชุมชนของเราอย่างไร

ปอ ก่อนหน้านี้ไม่มีคนทำไม่มีคนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ของชุมชน พวกเราจึงศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน เพราะอยากรักษาเรื่องราวเหล่านี้ไม่ให้หายไปจากชุมชน

มุก ถ้าเราไม่ศึกษา ไม่มีคนรู้จักที่นี่ ไม่มีคนสนใจ อาจเป็นเพียงสถานที่ซึ่งถูกทิ้งให้ลืม

ปอ ลูกหลานจะได้รู้ว่าคนในสมัยก่อนเสียสละอย่างไร ไม่ใช่ว่าเขาโตมาในชุมชนโดยที่ไม่รู้อะไรเลย


ถาม หลังจากที่ศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนตัวเรารู้สึกอย่างไร

ปอ ภูมิใจที่เราได้มาอยู่ที่นี่ ดีใจที่งานประสบความสำเร็จ

มุก รู้สึกดี ที่มีคนภายนอกมาท่องเที่ยว และสนใจศึกษาประวัติศาสตร์บ้านของเรา

กั้ง ภูมิใจที่ได้สานต่อความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์


ถาม ความโดดเด่นของโครงการคือเรื่องอะไร

ปอ เราได้ศึกษาเรื่องราวโบราณสถาน ประวัติศาสตร์ของชุมชน ให้คนอื่น ๆ ได้รู้จักบ้านของเรา เราได้เผยแพร่ข้อมูลนี้ ทำให้นักเที่ยวได้รู้จักและอยากมาเที่ยวในชุมชนของเรา

มุก ข้อมูลที่เราหาไปถูกส่งต่อไปให้น้อง ๆ ในโรงเรียน ทำให้พวกเขาได้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชน


ถาม ในอนาคตอยากจะสานต่อโครงการประวัติศาสตร์บ้านแหลมสนอย่างไร

มุก จะให้น้อง ๆ พัฒนาต่อ หาข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติม

ปอ เราจะเปิดรับสมัครน้อง ๆ ที่สนใจ แบ่งหน้าที่ให้เขารับผิดชอบและเป็นแกนนำ ทำโครงการนี้ในโรงเรียนและในชุมชนต่อไป

สัมภาษณ์เพิ่มเติมจาก ครูสารภี รองสวัสดิ์ พี่เลี้ยงโครงการ


ถาม  ปัญหาและอุปสรรค

ตอบ   ตอนแรกเจอปัญหาก่อนไปสัมภาษณ์ผู้รู้ ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันหลายแหล่ง คนโน้นว่าอย่างนี้ ถามคนนี้เขาบอกแบบนี้ นักเรียนบอกว่า “ครูขาหนูสัมภาษณ์แล้วข้อมูลที่ได้มาไม่ตรงกัน” ครูจึงชวนนักเรียนให้นำเอาข้อมูลมาตรวจเช็คยืนยันกันดู ได้ข้อสรุปว่า ต้องค้นหาข้อมูลในแหล่งอื่น ๆ ค้นคว้าจากอินเตอร์เนต หนังสือที่เป็นบันทึกเก่า ๆ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อถือได้มากที่สุด

ใช้กระบวนการทางประวัติศาสตร์ในการสืบค้น ถ้าถามชาวบ้านได้ข้อมูลไม่ตรงกัน ต้องไปพิพิธภัณฑ์สืบค้นว่าจริงไหม เราวิเคราะห์ข้อมูลพบว่ามีบางส่วนที่ตรงกันบางส่วนไม่ตรงกัน ต้องมาวิเคราะห์ว่าส่วนไหนที่มีความน่าเชื่อถือที่สุด นักเรียนก็มานั่งวิเคราะห์ทำ Timeline (เส้นเวลา) ทำแผนที่เดินดิน กว่าจะลงแผนที่ได้ก็ใช้เวลา

ตอบ  ในโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน เด็ก ๆ มองว่า สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านถูกปล่อยให้รกร้าง ดูธรรมดาไม่มีใครสนใจ นักเรียนเล่าว่าเวลาที่ถามชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่ในในชุมชน เขาไม่เข้าใจว่า “ทำไมคนแก่เล่าไม่ได้” “เขาไม่เคยเล่าสืบต่อกันมาเหรอครู” ครูจึงบอกไปว่าบางทีคนเก่าแก่จริง ๆ ของชุมชนเราที่รู้อาจไม่อยู่แล้ว อาจจะเป็นคนที่อื่นมาอยู่ที่นี่และไม่รู้เรื่องราวประวัติท้องถิ่นของเราก็ได้ จึงไม่มีคนเฒ่าคนแก่ที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชน บอกได้เพียงว่าตรงนี้เป็นซุ้มประตูบ่อเก๋ง พอถามต่อว่าตรงนี้ใช้ทำอะไร มีประวัติอย่างไร เขาก็ตอบเพียงว่าเป็นซุ้มประตูบ่อเก๋ง พอนักเรียนถามคนในชุมชนมากเข้าก็โดนตวาด

นักเรียนรู้สึกว่าไม่สามารถถามหาความรู้กับคนในชุมชนได้ จึงคิดกันว่าถ้าเราต้องหาข้อมูลเองไม่ต้องถามใคร เพื่อให้สามารถเล่าได้ ตอนนี้เขาสามารถเล่าให้คนอื่นฟังได้ในระดับหนึ่งแล้ว ครูจึงสรุปกับเขาว่าเพราะฉะนั้นนักเรียนนี่ล่ะ จะต้องเป็นคนเรียนรู้เพื่อเล่าต่อให้คนได้รู้ประวัติความเป็นมารากเหง้าของเรา

ตอนนี้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลพัฒนา สถานที่สำคัญของชุมชนให้ดูปลอดภัย นักเรียนก็วิ่งเล่นอยู่แถวนั้น มีนักท่องเที่ยวแวะเข้ามา ได้พบเจอนักเรียนของเรา ถามว่าที่นี่คืออะไร นักเรียนสามารถตอบ เล่าเรื่องราวให้เขาฟังได้ ถึงแม้ว่าจะเล่าได้ไม่ทั้งหมดแต่เขาสามารถบอกความสำคัญ มีความเป็นมาอย่างไร เท่านี้นักเรียนก็ภูมิใจ เพราะเขาสามารถอธิบายเรื่องราวชุมชนตัวเองได้จากที่ไม่เคยสนใจประวัติความเป็นมาของชุมชนเลย


ถาม  บทบาทของเด็กนักเรียนในโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บทบาทมีอะไรบ้างที่สัมพันธ์กับชุมชนรอบโรงเรียน

ตอบ  นักเรียนศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านแหลมสน สถานที่สำคัญในชุมชนเราทั้งหมด นักเรียนลงพื้นสำรวจข้อมูลชุมชน กลับมาช่วยกันวาดทำแผนที่เดินดิน ทำ Timeline ประวัติศาสตร์ นักเรียนทำเองทั้งหมด


ถาม  เด็กทำแล้วชุมชนมีเสียงตอบรับอย่างไรบ้าง

ตอบ  ตอนแรกชุมชนสงสัยที่เด็กลงพื้นที่หลายครั้ง เราลงพื้นที่จนได้ข้อมูลที่ชัดเจน ชุมชนตั้งคำถามว่ามาทำอะไรมาบ่อย ตอนหลังเด็กบอกเขาว่ามาทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์บ้านแหลมสน มาหาข้อมูล ครูรู้สึกว่าในช่วงหลังชุมชนให้ความร่วมมือ ผู้นำชุมชนบอกว่า “ทำอย่างนี้ดี เดี๋ยวมีนักท่องเที่ยวมาจะเชิญให้มาเป็นมัคคุเทศน์เล่าให้นักท่องเที่ยวฟังได้ไหม” ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญก็ช่วยกันให้ข้อมูล


ถาม  คุณครูคิดว่าทำไมผู้นำชุมชนถึงเปลี่ยนจากตั้งคำถามมาเป็นให้ความช่วยเหลือร่วมมือ

ตอบ  ผู้นำชุมชนในระยะหลังเขาก็เริ่มพัฒนาชุมชน เขาอาจมีแผนงานไว้ เขาเริ่มพานักท่องเที่ยวเข้ามาในชุมชนมากขึ้น พอเห็นนักเรียนทำโครงการ เขาจึงเห็นว่าเป็นประโยชน์กับตัวนักเรียนที่จะสามารถมาเชื่อมโยงกับแผนของเขาได้ เขาจึงหันมาให้ความร่วมมือ โดยให้ข้อมูลช่วยหาข้อมูลต่าง ๆ มาเพิ่มให้กับนักเรียน


ถาม  เขาเป็นคนเข้ามาหาทางกลุ่มของนักเรียนเองหรือว่าคุณครูไปประสานไว้ก่อน

ตอบ  ตอนแรกคุณครูเข้าไปหาผู้นำชุมชนก่อน บางทีเราต้องเข้าหาผู้นำชุมชนเพราะว่าอยู่ในพื้นที่ บางทีมีอันตรายเวลาที่นักเรียนลงพื้นที่ในชุมชน อยากให้ผู้นำชุมชนมาร่วมด้วย เราจึงเข้าไปหานัดแนะกับเขา ถามผู้นำว่าพอจะมีความรู้เรื่องประวัติสถานที่นี้ไหม ผู้นำบอกว่ามีสามารถเล่าได้ เราก็นัดนักเรียนในโครงการและนักเรียนที่สนใจลงพื้นที่ พอตอนหลังมีนักท่องเที่ยวมา ผู้นำประสานขอนักเรียน 1 - 2 คน ที่เล่าเรื่องนี้ได้จากการที่เขาสังเกตในวันก่อน ให้ไปเล่าเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวฟัง


ถาม  โครงการที่เด็กทำส่งผลอย่างไรกับชุมชนตรงนั้นบ้าง

ตอบ  ทำให้ชุมชนของเราเห็นคุณค่าของสถานที่สำคัญในชุมชนของตัวเอง จากไม่สนใจไม่เคยไปดู เขาหันมาสนใจเห็นคุณค่าชุมชนตัวเองมากขึ้น ร่วมมือช่วยกันดูแลรักษามากขึ้นกว่าเดิม


ถาม  ขอให้คุณครูขยายความเรื่องการเห็นคุณค่ามากขึ้นของชุมชนและเด็ก คือเรื่องอะไร ส่งผลอย่างไร

ตอบ  เห็นคุณค่าต่อสถานที่จากที่ไม่เคยสนใจไม่เคยไปเที่ยวไม่เคยไปดู ปล่อยให้รกร้างก็เข้าไปพัฒนา ทำความสะอาด เวลามีอะไรก็เข้าไปทำกิจกรรมชุมชนในสถานที่นั้น ชาวบ้านจากที่ไม่เคยเข้าร่วมทำอะไรกับชุมชนก็เข้ามาร่วมทำกิจกรรมมากขึ้น ความสัมพันธ์เริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น มีความใส่ใจในการดูแลเรื่องภูมิทัศน์สถานที่ท่องเที่ยว ให้สะอาดน่าเข้ามาท่องเที่ยว ให้เด็กเข้าไปเล่น พวกนักท่องเที่ยวมาก็จะได้ปลอดภัย ชาวบ้านร่วมกันพัฒนาถนนหนทางทางเข้า

ก่อนทำโครงการนี้ไม่มีภาพแบบนี้ ช่วงก่อนเราไปถามชาวบ้าน ดูสีหน้าท่าทางเขาไม่พอใจ ไม่เต็มใจที่จะให้ความรู้ให้คำตอบกับเรา แต่พอเราไปทำบ่อย ๆ และเริ่มมีคนเข้ามาเที่ยว พอเราเข้าไปรอบหลังปฏิกิริยาของของเขาก็เปลี่ยนไป ดีขึ้น ตอนนี้เริ่มมีคนมาเที่ยวในชุมชนของเรา เขาสามารถหารายได้จากนักท่องเที่ยวได้ เกิดทั้งคุณค่าและมูลค่า