การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อแก้ปัญหาการติดโซเชียลของเยาวชนในชุมชนบ้านนากอก จังหวัดน่าน ปี 3

วัยรุ่น วัยที่ฮอร์โมนพุ่งพล่าน การแก้ปัญหา การจัดการอารมณ์ความรู้สึกจึงยังทำได้ไม่ดีนัก เราจึงมักเห็นวัยรุ่นชอบเหวี่ยง วีน หรือทำเรื่องท้าทายเสี่ยงตาย เช่น แว้น หรือบางคนก็อยู่ในโลกส่วนตัว ไม่ยุ่งกับใคร จนกลายเป็นความกังวลใจของพ่อแม่ ทำอย่างไรจึงช่วยให้ “ใจ” ของวัยรุ่นเข้าที่เข้างทางโดยเร็ว การทำ Community Project อาจจะเป็นคำตอบหนึ่ง ดังเช่น เด็กเยาวชนบ้านนากอกกลุ่มนี้

วัยรุ่น...วุ่นจริง

หนึ่งในปัญหาหนักใจของพ่อแม่สมัยใหม่คือ อาการติดโทรศัพท์มือถือของลูกๆ ไม่เว้นแม้แต่ที่บ้านนากอก อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ที่เด็กในชุมชนแห่งนี้ยอมรับว่าพวกเขาเล่นมือถือกันหนักมาก ยิ่งเสาร์อาทิตย์เล่นวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือ ช่วงอายุของการเล่นโทรศัพท์มือถือเริ่มลดลงเรื่อยๆ เด็ก ป. 1 บางคนเริ่มเล่นมือถือกันแล้ว

แพท-ภาณุวิชญ สุทธเขต เฟิร์ส- ใบเตย- อั้ม-วาสนา ยิ้มเครือทอง กวาง-วรรณภา ชัยวร อ้อม- เปรม- มองเห็นปัญหานี้ จึงคิดทำโครงการลดโซเชียลเพิ่มศักยภาพคนในชุมชน ที่มีเป้าหมายคือ ชักชวนเด็กๆ และเพื่อนๆ ในชุมชน ให้แบ่งเวลาว่างจากที่เคยใช้เล่นมือถือ มาทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน โดยก่อนที่จะมาเป็นโครงการนี้ กวาง บอกว่า เธอและเพื่อนๆ อยากทำเรื่องน้ำและการปลูกผัก แต่พอได้นั่งคุยกันหลายๆ ครั้งถึงปัญหาเด็กเยาวชนที่เกิดขึ้นในชุมชนที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือ ติดมือถือ แม้แต่เธอเองก็ยังติด เลยเปลี่ยนมาทำเรื่องนี้แทน

จัดการปัญหา

กระบวนการแก้ปัญหาติดโซเชียลของทีมงานเริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจปัญหา พบว่า เด็ก 110 คน เล่นมือถือ 80 คน มี 30 คนที่ไม่เล่น ขณะที่เด็กบางคนก็ทะเลาะกับพ่อแม่ที่ไม่ยอมเติมเงินให้ ไม่ช่วงทำงานบ้าน และแบ่งช่วงอายุของการเล่นดังนี้ ป.1 ที่เป็นเด็กเล็กจะนิยมดูคลิป ดูยูทูป ส่วนเด็กโตหากเป็นผู้ชายก็จะชอบเล่นเกม ผู้หญิงแล่นแชต หรือฟังแพลง โดยเหตุผลที่เล่นคือ สนุกและคลายเครียด ขณะที่เด็กบางคนบอกว่า “จะเล่นหรือไม่เล่นเกมก็โดนแม่ว่า ดังนั้นขอเล่นเกมดีกว่าจะได้ไม่ต้องสนใจคำพูดของแม่” ข้อมูลเหล่านี้ ทีมงานนำมาใช้ออกแบบกิจกรรมเพื่อให้เด็กๆ รู้ถึงผลดีและผลเสียของการเล่นมือถือ

“ข้อดีของการเล่นมือถือคือทำให้เด็กอยู่ติดบ้าน พ่อแม่จึงยอมให้ลูกเล่น อย่างพ่อแม่หนูก็ไม่ห้าม ท่านบอกว่าเล่นได้แต่อย่าลืมทำการบ้านและงานบ้าน พวกหนูจึงคิดกันว่า การที่เราเป็นเด็กเหมือนกัน น่าจะทำให้เขาได้รู้ถึงรู้ถึงข้อดีและข้อเสียของการเล่นมือถือ และลดการเล่นมือถือให้น้อยลงได้ง่ายกว่า” อ้อม เล่า

ทีมงานชักชวนเด็กและเพื่อนๆ ในชุมชนที่ติดมือถือมาทำกิจกรรมร่วมกัน ให้ไปร่วมกิจกรรมส่วนกลางร่วมกัน คือ เลี้ยงสัตว์ ปลูกผัก เก็บขยะในชุมชน กีฬา และเต้นแอโรบิก แต่งานก็ล่มไม่เป็นท่า มีเด็กมาร่วมกิจกรรมไม่ถึง 10 คน เนื่องจากผู้ปกครองไม่อนุญาต เพราะเด็กบางคนต้องช่วยผู้ปกครองทำงานหารายได้ ทีมจึงคิดจะใช้เงินจ้างเด็กมาร่วมกิจกรรมวันละ 100 บาท แต่เมื่อคิดอย่างละเอียดแล้วก็รู้ว่าพวกเขาคงไม่สามารถใช้เงินจ้างเด็กมาร่วมกิจกรรมได้ทุกครั้ง จึงแก้ปัญหาด้วยการจัดเตรียมอาหารและขนมไว้ดึงดูดใจ

ก่อนวันกิจกรรมทีมงานประกาศเสียงตาม แบ่งหน้าที่กันไปชวนเพื่อนชวนน้องที่บ้านใกล้กัน ถึงวันจัดงานก็เดินไปชวนถึงบ้านอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครสนใจ หลายคนเอาแต่ก้มหน้าเล่นโทรศัพท์ บางคนก็เดินหนีทีมงานไปต่อหน้าต่อตา ชวนเด็กเข้าร่วมได้ไม่ถึง 10 คน และระหว่างที่ทีมงานกำลังชวนพูดคุยถึงข้อเสียของการเล่นโซเชียล ก็มีเสียงพูดออกมาว่า “ลดไม่ได้หรอก” บางคนยังทำท่าทางไม่สนใจอีกด้วย ทีมงานถึงกับ “หัวร้อน”

กวาง บอกว่า เธอถึงกับตะโกนบอกให้ทุกคนเงียบ สุดท้ายจัดกิจกรรมได้ไม่ถึงชั่วโมงก็ต้องเลิก เพราะเด็กเริ่มไม่สนใจ บางคนถึงขนาดเล่นเกมมือถือให้เราดูด้วย

เมื่อสิ่งที่หวังไว้ กลายเป็นความผิดหวัง หลายคนเริ่มท้อ และคิดว่าจะเลิกทำโครงการ

“ตอนนั้นเราผิดหวังกันมากที่มีเด็กมากันน้อย ผมคุยกับแม่ว่า ไม่อยากทำโครงการต่อแล้ว แต่แม่ก็ให้กำลังใจและคำแนะนำกลับมาหลายเรื่อง พอมาคุยกับเพื่อนในกลุ่ม ก็เลยสรุปกันว่าจะทำกันต่อไปตามแผนเดิม สิ่งที่คิดได้ในตอนนั้นคือต้องประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ต้องชวนให้มากขึ้น เพราะตามแผนเรายังมีกิจกรรมที่ต้องทำอีกหลายครั้ง ทั้งปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เล่นกีฬา และเก็บขยะ” เฟิร์ส กล่าว

จัดการอารมณ์

เมื่อตัดสินใจว่าจะทำโครงการต่อ แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ทีมงานจึงชวนกันคิดหากิจกรรมที่คิดว่าต้อง “ปัง” คือ กิจกรรมสอนปลูกผัก เพราะทุกคนทำเป็น เนื่องจากหลายคนก็ช่วยพ่อแม่ปลูกผักอยู่แล้ว สถานที่ปลูกและอุปกรณ์ก็ขอความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ ส่วนเมล็ดพันธ์ก็หาซื้อได้ ทั้งคะน้ากับผักกาดเขียว โดยเหตุผลที่เลือกผัก 2 ชนิดนี้เพราะขึ้นง่ายดูแลง่าย และเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว (ช่วงปลูกผักเป็นช่วงปลายฤดูฝน)

ภาพที่คิดว่าจะมีเด็กมาร่วมกิจกรรมกันเต็มที่กลายเป็นแค่ภาพฝัน ทีมงานต้องลงมือยกร่องปลูกผักด้วยตัวเอง เพราะมีเด็กมาร่วมกิจกรรมเพียงแค่ 2 คน แต่ทุกคนก็ร่วมมือกันปลูกจนเสร็จ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกครั้งเนื่องจากทีมงานไม่ได้วางแผนจัดแบ่งเวรรดน้ำเช้าเย็น ช่วงแรกเลยนัดให้ทุกคนมาช่วยกันทำ แต่ก็มาบ้างไม่มาบ้าง เพราะต่างคนต่างมีภาระที่บ้าน”

“หลายครั้งที่ผมไปแล้วไม่มีใครมา ต้องรดน้ำคนเดียว บางทีผมก็โมโหแล้วเดินกลับไปโดยไม่ได้รดน้ำเลยก็มี” เฟิร์ส เล่าสถานการณ์ให้ฟัง

อ้อน เสริมว่า โชคดีที่ทีมมีการตกลงกันว่าจะต้องนัดคุยกันบ่อยๆ ในช่วงเย็น ทำให้ทุกคนเข้าใจแต่ละคนมีธุระส่วนตัวที่ต้องทำหลังเลิกเรียน ทั้งการบ้าน งานบ้าน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ใครว่างก็ขอให้ไปช่วยรดน้ำผัก ปัญหาเลยไม่รุนแรง

คือความภูมใจ

แม้จะผิดหวังกับการจัดกิจกรรมมาถึง 2 ครั้ง ทีมงานก็ยังเดินหน้าสู้ต่อด้วยกิจกรมเก็บขยะ ที่คราวนี้ผิดคาด มีเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ในชุมชน และผู้ใหญ่ยบ้านเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก นำมาความภาคภูมิใจมาสู่ทีมงานเป็นอย่างมาก

“พวกเราวิเคราะห์กันว่า ที่ครั้งนี้มีคนเข้าร่วมมากมาจากปัจจัย 3 ส่วนคือ 1. กิจกรรมเป็นประโยชน์ต่อชุมชน 2. มีการประกาศเสียงตามสายบ่อยๆ และ 3. มีการบันทึกวิดีโอเป็นหนังสั้นไว้เผยแพร่ในเฟซบุ๊ก” ฟิล์มกล่าว

การไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค นอกจากจะทำให้ทีมงานเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว การมุ่งมั่นทำงานตามความรับผิดชอบที่ได้รับยังทำให้ทีมงานเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองหลายอย่าง

อ้อม บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง กล้าลุกขึ้นมาพูดนำเสนอต่อหน้าพี่ๆ เพื่อนๆ พอได้พูดแล้วก็ทำให้รู้ว่าตัวเองก็ทำได้

ส่วนแพท ก็รู้ว่าการแบ่งเวลาเป็นเรื่องสำคัญ กลับจากบ้านก็ต้องทำงานบ้าน ทำการบ้านให้เสร็จก่อน แล้วเวลาที่เหลือค่อยมาเล่นโซเชียล

กวาง จากที่เคยเล่นโชเชียล 10 ชั่วโมงต่อวัน ตอนนี้เหลือ 5 ชั่วโมง ก็มีเวลาดูไปทำงานบ้าน เล่นกับน้อง และเล่นกับเพื่อนมากขึ้น

เฟิร์ส บอกว่า จากเดิมที่เป็นคนขี้อาย พอได้พูดได้คุยกับเพื่อนบ่อยๆ ความอายก็ลดลง กล้าพูดกับเพื่อนมากขึ้น

แม้การทำโครงการจะไปไม่ถึงหมุดหมายที่ตั้งไว้ แต่ระหว่างการทำงานก็สร้างการเรียนรู้ให้พวกเขามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา การจัดการอารมณ์กรุ่นโกรธ ไม่พอใจ เหวี่ยงวีนตามประสาวัยรุ่น หรือกระทั่งการจัดการความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมทีม หรือกับคนต่างวัย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าทีมงานไม่ได้ลงมือทำโครงการด้วยตัวเอง


โครงการลดโซเชียลเพิ่มศักยภาพคนในชุมชน

ที่ปรึกษาโครงการ :

ทีมทำงาน :

  • ภาณุวิชญ สุทธเขต 
  • วาสนา ยิ้มเครือทอง
  • วรรณภา ชัยวร