การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนรักษ์ทรัพยากรน้ำในพื้นทีลุ่มน้ำมวบ จังหวัดน่าน ปี 3

“การทำโครงการ ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สบาย” เป็นสิ่งที่ทีมงานบอกตรงกันถึงความรู้สึกที่มีต่อการทำงานตลอดหลายเดือน แต่เพราะรู้ว่าทำเพื่อส่วนรวม เพื่อสายของน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาทุกคน ทีมงานจึงอดทนตั้งใจแม้จะเจออุปสรรคหลายครั้ง

แค่ทำ...ก็เปลี่ยน

เพราะเคยมีประสบการณ์การทำโครงการเกี่ยวกับธนาคารขยะในปีที่ผ่านมา จึงทำให้ทีมเยาวชนจากบ้านห้วยแฮ้ว ตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ประกอบด้วย ข้าวโอ๊ต-ทักษดนัย ไชยกาอินทร์ ไอซ์-นวมินต์ อิ่มมะโน และฟรีม-ธาวัลย์ ก๋องจันทร์ตา ได้เห็นพลังของตัวเองในการช่วยบรรเทาปัญหาขยะในโรงเรียนให้ดีขึ้น และเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองจากการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจึงตัดสินใจทำโครงการต่อเป็นปีที่ 2 โดยขยายการทำงานมาสู่ระดับชุมชน พร้อมชักชวนเพื่อนใหม่ ได้แก่ กีตาร์-กัลยาณี ดีสม และ เบลล์-วนิศรา อิ่นมะโน มาร่วมเรียนรู้และเสริมกำลังการทำงานด้วย

ใช้ทักษะด้านเทคโนโลยีช่วยทำงาน

การทำโครงการปีนี้ ทีมงานตั้งใจจะทำฝายเพื่อช่วยกักเก็บน้ำให้ชุมชน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมจึงจำเป็นต้องพึ่งพาน้ำ แต่เมื่อ พี่แต๋ม-ฐิติรัตน์ สุทธเขต โคชโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ได้มาชวนคิดชวนคุยให้ประเมินศักยภาพของตัวเองกับสิ่งที่ต้องการทำ ทีมงานจึงเปลี่ยนประเด็นการทำงานใหม่ เป็นการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนร่วมกันดูแลลำน้ำมวบ แม่น้ำสายหลักของคนในชุมชนที่ไหลผ่านถึง 3 หมู่บ้านคือบ้านหนองใหม่ บ้านห้วยแฮ้ว และบ้านดอนใหม่ ที่กำลังประสบปัญหาการปนเปื้อนของขยะและสารเคมีจากบรรจุภัณฑ์ทางการเกษตร

กระบวนการสร้างจิตสำนึกเริ่มต้นด้วย การวางแผนการทำงานอย่างละเอียด ลงพื้นที่สำรวจลักษณะของลำน้ำในปัจจุบัน จุดที่มีขยะ และสำรวจครัวเรือนที่มีการใช้สารเคมีทำการเกษตร พร้อมกับสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ โดยแบ่งหน้าที่ทำงานตามความถนัด แต่พื้นที่ที่ทีมงานเข้าไปสำรวจค่อนข้างลำบาก เพราะเป็นเรือกสวนไร่นาที่ไม่มีทางรถ ต้องใช้วิธีเดินเท้ากว่า 5 กิโลเมตร แต่ก็ยังมีจุดที่เข้าไม่ถึงจริงๆ เพราะเดินลำบากหรือเจ้าของที่ไม่อนุญาต ทีมงานเลือกใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมทดแทน การคิดแก้ไขปัญหานี้ของพวกเขาแสดงให้เห็นถึง “ทักษะทางเทคโนโลยี” ที่เป็นความถนัดของคนรุ่นใหม่ และรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ผลการสำรวจพบว่า ขยะส่วนใหญ่จะกองอยู่ที่หมู่บ้านปลายน้ำ เพราะถูกน้ำพัดพามารวมกัน

ข้อมูลที่จดบันทึกกลับมา ทีมงานได้เขียนเรียบเรียงทำเป็นบันทึก และวาดแผนผังความคิดจัดทำแผนที่ชุมชน เพื่อให้เห็นภาพรวมของหมู่บ้านว่ามีขยะกองอยู่ตรงไหน แม่น้ำไหลไปทางไหน และอาจเกิดขยะขึ้นอีกบริเวณใด สำหรับติดตามและเฝ้าระวังการเกิดกองขยะเพิ่มขึ้น

ทีมเวิร์คทักษะที่ต้องมี

เมื่อผ่านไป 2 เดือน ทีมงานลงไปเก็บข้อมูลอีกครั้ง เพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของปริมาณขยะ และเก็บข้อมูลพืชในน้ำเพิ่มเติม เพราะมองว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่ดี โดยพวกเขาได้วิเคราะห์ข้อดีข้อเสียจากการทำงานครั้งที่แล้ว มาปรับปรุงเพื่อให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งข้อดีที่พบคือ “การแบ่งหน้าที่” ทำงานตามความถนัด จะทำให้งานเสร็จเร็วและได้ข้อมูลครบตามที่ต้องการ ส่วนข้อเสียคือ “การวางแผนการทำงาน” ที่ครั้งก่อนพวกเขาเริ่มทำงานสาย ทำให้แต่ละคนต้องอดทนกับความหิวตอนทำงาน ครั้งนี้จึงเริ่มงานเร็วขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่ทีมปรับเปลี่ยนคือ “พฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือ” เพราะตอนลงพื้นที่ครั้งแรกทีมงานหลายคนหยิบมือถือมาเล่นตลอดเวลาจนข้าวโอ๊ต ที่เป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มต้องตัดสินใจยึดมือถือไว้จนกว่าจะทำงานเสร็จ แต่ลงพื้นที่ครั้งนี้ข้าวโอ๊ตติดธุระ ไม่ได้มาคอยเตือนตอนทำงานเช่นครั้งก่อน ทีมงานเห็นตรงกันว่าพวกเขาต้อง โฟกัสกับเป้าหมายการทำงานให้มากขึ้น และตัดสินใจใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยที่สุด เพื่อให้งานเสร็จทันเวลา

นอกจากนั้นทีมงานได้ชวน โฟส-พีระดา ประชานุกูล ที่เป็นคนใน บ้านหนองใหม่ ซึ่งทีมงานไม่มีใครอยู่ โดยหวังว่าโฟสที่เป็นคนในหมู่บ้านหนองใหม่น่าจะรู้เส้นทาง และช่วยพวกเขาให้สำรวจได้ข้อมูลมากขึ้น

หลังสำรวจเสร็จทีมงานได้ไปติดต่อผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยกระจายข่าวการทำโครงการของพวกเขาภายในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน และลงไปสัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้านกับตัวแทนครัวเรือนหมู่บ้านละ 2 หลังคาเรือน รวมเป็น 6 หลังคาเรือน ถึงสถานการณ์การใช้สารเคมีในปัจจุบัน ซึ่งได้รับคำตอบว่าเริ่มลดลงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก แต่บางครอบครัวก็ยอมรับว่ายังไม่ได้ลด เพราะมองไม่เห็นประโยชน์ในระยะยาวว่าหากลดการใช้สารเคมีแล้วจะดีอย่างไร

แผนการต่อไปของทีมงานจึงเป็นการทำคลิปวิดีโอที่สะท้อนปัญหาและผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการเกษตรและการทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ แต่เพราะแต่ละคนมีเวลาว่างไม่ตรงกัน พวกเขาจึงปรับมาเป็นการทำ Power point สรุปข้อมูลที่ได้และภาพถ่ายขยะ โดยจะนำเสนอวิดีโอเฉพาะวิดีโอสัมภาษณ์ผู้นำชุมชน จากนั้นชวนคุยให้ชาวบ้านเห็นว่าการที่ปลาและพืชน้ำลดจำนวนลงเกิดจากการกระทำของทุกคนที่ใช้สารเคมีในการเกษตร

สารพัดบทเรียนจากการลงมือทำ

“การทำโครงการ ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สบาย” เป็นสิ่งที่ทีมงานบอกตรงกันถึงความรู้สึกที่มีต่อการทำงานตลอดหลายเดือน แต่เพราะรู้ว่าทำเพื่อส่วนรวม เพื่อสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชน ทีมงานจึงอดทนตั้งใจแม้จะเจออุปสรรคหลายครั้ง ซึ่งครั้งแรกสุดก็เกิดจากตัวพวกเขาเอง

ไอซ์ เล่าว่า “พอเสร็จงานเก็บข้อมูลครั้งแรกก็มีพวกเราบางคนบ่นๆ ว่าเหนื่อย ลำบาก พี่ข้าวโอ๊ตเลยบอกว่า ถ้าไม่อยากให้แม่น้ำสะอาด อยากสบายก็ไม่ต้องทำก็ได้ เพราะโครงการนี้ไม่สนุกไม่สบายอย่างที่คิดกัน พวกเรารู้สึกผิดขึ้นมาทันทีจนเงียบไป แทบไม่ได้คุยกันเลยระหว่างที่เดิน”

แต่กีตาร์ที่เห็นบรรยากาศอึมครึมจนกลัวว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกันจึงตัดสินใจเปิดเพลงจากโทรศัพท์มือถือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ซึ่งก็ได้ผล เพื่อนๆ ค่อยๆ ร่าเริง และกลับมาร่วมร้องเพลงอย่างสนุกสนาน

ปัญหาที่ต่อมาคือ การทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ที่ตอนแรกคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างดี แต่พอลงพื้นที่จริงกลับถูกตั้งคำถามจากชาวบ้านว่าทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร บางครั้งที่ไปเหยียบผัก หรือทำน้ำบริเวณที่มีที่ดักปลาขุ่นก็โดนตำหนิ จนรู้สึกเสียใจที่ตั้งใจทำเรื่องดีๆ แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับที่ดี ทว่าเรื่องดังกล่าวก็กลายมาเป็นบทเรียนให้ทีมงานเรื่องการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เพราะเมื่อลองคิดย้อนดูแล้ว ทีมงานก็พบว่าพวกเขาเองก็ทำผิดที่ไปเหยียบผัก ถ้ามีใครมาทำแบบนี้ ทีมงานก็คงโกรธเช่นกัน

นอกจากนั้นยังเป็นบทเรียนเรื่องความแตกต่างทางความคิดของบุคคล ทำให้ทีมงานตัดสินใจไปประสานกับผู้ใหญ่บ้านก่อนการลงสัมภาษณ์เกษตรกรเพิ่มเติม เพราะรู้แล้วว่าบางครั้งการทำงานกับคนที่คิดต่างก็จำเป็นต้องมีคนกลางมาช่วยสร้างความเข้าใจ สิ่งนี้จึงสะท้อน “ทักษะการประสานงาน” ที่ค่อยๆ งอกงามขึ้นในตัวของทีมงานนั่นเอง แม้ชาวบ้านบางกลุ่มจะยังไม่เข้าใจ แต่ก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มที่เข้าใจและคอยให้กำลังใจ ทำให้ทีมงานมีแรงฮึดทำต่อ โดยหวังว่าวันหนึ่งทุกคนในชุมชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาร่วมดูแลสายน้ำสายสำคัญของชุมชน

ยังคงก้าวต่อไป

การทำโครงการเป็นเครื่องมือที่นำพาทีมงานไปเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทั้งปัญหาของชุมชน การทำงานร่วมกันกับเพื่อน การทำงานประสานกับชุมชน และการก้าวข้ามความเหนื่อย ความท้อ สิ่งที่ไม่เคยทำได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็ทำให้ทีมงานแต่ละคนต่างค้นพบ “ความเปลี่ยนแปลง” ของตัวเอง

ไอซ์ที่ทำโครงการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 บอกว่า การทำโครงการนี้ทำให้เขาค้นพบความฝันของตัวเองในการเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยว เพราะเขาถนัดด้านภาษาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อก่อนเข้าสังคมไม่ค่อยเก่ง เมื่อได้มาทำโครงการร่วมกับเพื่อน และทำกิจกรรมในโครงการนี้ ทำให้กล้าพูดมากขึ้น ปรับตัวเข้ากับสังคมง่ายขึ้น และได้ฝึกพูดบ่อยๆ จนพูดเก่ง จนเกิดความมุ่งมั่นที่จะเดินตามฝันให้สำเร็จ

ฟรีมบอกคล้ายกับไอซ์ว่า การได้รับผิดชอบหน้าที่ถ่ายรูป ทำให้เธอค่อยๆ ชอบการถ่ายรูปมากขึ้น ยิ่งเมื่อเพื่อนในทีมให้กำลังใจว่าเธอถ่ายรูปสวยก็ยิ่งทำให้เธอเกิดความฝันว่าจะเรียนต่อด้านการถ่ายรูป

ส่วนเบลล์ เล่าว่า “การทำโครงการต้องทำร่วมกันเป็นทีม ช่วยฝึกให้เรามีความรับผิดชอบ ต้องแบ่งเวลามาช่วยทำงานของส่วนรวม ทำให้กลายเป็นคนเสียสละมากขึ้น รู้จักคิดทำเพื่อส่วนรวม แล้วก็เห็นตัวเองพัฒนาความเก่งขึ้นไปเป็นขั้นๆ จากตอนแรกหนูไม่กล้าพูด แต่พอเพื่อนเสนอให้ลองพูด ก็ค่อยๆ กล้าพูดขึ้น จากที่คิดไม่เก่งก็กลายเป็นว่าสามารถคิดวิเคราะห์ได้”

กีต้าร์ที่เพิ่งย้ายกลับมาบ้านเกิด หลังจากย้ายตามพ่อแม่ไปอยู่ที่ชลบุรีตั้งแต่เกิด บอกว่าโครงการนี้เป็นประตูที่พาเธอไปทำความรู้จักบ้านเกิดได้มากในเวลาไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร หรือบุคคลต่างๆ ในชุมชน จนค่อยๆ สร้างความผูกพันระหว่างเธอกับชุมชนมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ได้ฝึกความกล้าพูด กล้าแสดงออก และความรับผิดชอบ

นอกจากเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองแล้ว ทีมงานคาดหวังว่าโครงการที่พวกเขาตั้งใจจะทำนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงในชุมชนในวันหนึ่งข้างหน้าด้วย

“เราอยากให้ชุมชนดีขึ้น แม้แม่น้ำไม่อาจกลับไปดีเท่าเมื่อก่อนก็ขอให้อย่างน้อยดีขึ้น ให้คนในชุมชนมีน้ำกินมีน้ำใช้ไม่คลาดแคลน และชุมชนลดการใช้สารเคมีลงสักนิดก็ยังดี”

แม้ผลลัพธ์ของโครงการอาจยังไม่ถึงปลายทางที่สมบูรณ์ แต่สำนึกร่วมเล็กๆ ของเด็กๆ กลุ่มนี้ที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเป็นสัญญาณที่ดีและจะเป็นเครื่องมือที่พาพวกเขาไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีสำนึกร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีเพื่อชุมชนอย่างแน่นอน


โครงการ IF YOU DO (ถ้าคุณทำ)

ที่ปรึกษาโครงกร : ครูรุจิรา วันเพ็ญ โรงเรียนบ้านห้วยแฮ้ว

ทีมงาน :

  • ทักษดนัย ไชยกาอินทร์ 
  • นวมินต์ อิ่มมะโน
  • กัลยาณี ดีสม 
  • วนิศรา อิ่นมะโน
  • ธาวัลย์ ก๋องจันทร์ตา