การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรป่าชุมชนในตำบลพงษ์ จังหวัดน่าน ปี 3

“สำนึกรับผิดชอบ” เกิดขึ้นจากการฝึกฝนการทำงานเป็นทีม และการทำโครงการจากโจทย์ชุมชนซึ่งเป็นเครื่องมือปลูกฝังแนวคิดความรับผิดชอบต่อชุมชนและต่อส่วนรวม

บทพิสูจน์ความรับผิดชอบ

“ส่วนหนึ่งของการบรรลุวุฒิภาวะ คือ การรู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง และรับผิดชอบต่อผลการกระทำนั้น”

ข้อความจากหนังสือสอนเด็กให้เป็นคนดี โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ทำให้เห็นว่า “ความรับผิดชอบ” เป็นนิสัยสำคัญที่มีผลต่อการประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็กเยาวชน เพราะเมื่อเด็กรับผิดชอบการกระทำของตัวเองได้ดี เขาก็จะสามารถรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ในชีวิตได้ดีตามไปด้วย ซึ่งเริ่มต้นสร้างได้ตั้งแต่ยังเล็ก ด้วยการให้เด็กรับผิดชอบดูแลตัวเองในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การดูแลกิจวัตรประจำวันของตัวเอง การช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้เขาได้ลงมือทำกิจกรรมตามความสนใจ ดังเช่นกลุ่มเยาวชนละอ่อนวัยใสหัวใจสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเยาวชนในตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ที่ได้มีโอกาสได้ฝึกฝนความรับผิดชอบผ่านกิจกรรม Community Project จนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอีกหลายๆ เรื่องที่สำคัญต่ออนาคตของพวกเขา

ความผูกพันต่อป่าชุมชน

หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนละอ่อนวัยใสหัวใจสีเขียวได้ศึกษาพืชพรรณในป่าชุมชน และช่วยฟื้นฟูจนเกิดเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชุมชนบ้านหัวนา ปีนี้ทีมงานที่ประกอบด้วย ต่าย-พิมพ์ลภัส ก๋าวงค์ บอมแบม-นวัช อ่อนนา มะปราง-ธนัชชา ฝัดดี และแนท-นิศาชล จิตตมล ซึ่งเข้ามาสานต่องานจากรุ่นพี่จึงคิดจะขยายพื้นที่ผืนป่าชุมชนให้กว้างใหญ่ขึ้น ด้วยการทำโครงการร้อยป่าไว้ด้วยรัก โดยเพิ่มคนที่จะเข้ามาช่วยกันดูแล และชวนชาวบ้านบ้านพงษ์หมู่ 6 มาร่วมทำกิจกรรมกับบ้านหัวนาหมู่ 9 โดยหวังว่าจะทำให้ชาวบ้านทั้ง 2 ชุมชนเห็นคุณค่าแล้วมาร่วมกันดูแลป่าชุมชน พร้อมทั้งรื้อฟื้นความสามัคคีระหว่าง 2 ชุมชนผ่านการร่วมกันดูแลป่า

เมื่อได้โจทย์ที่อยากทำแล้ว ทีมงานนำข้อมูลเดิมที่รุ่นพี่เคยเก็บมาเป็นข้อมูลตั้งต้น เพื่อดูข้อมูลเดิม และข้อมูลที่ควรปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันบ้าง แล้วชักชวนรุ่นน้องในชุมชนเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลพันธุ์ไม้ และเชิญผู้ใหญ่บ้านบ้านพงษ์และบ้านหัวนาไปช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณในการเดินสำรวจป่า เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำปฏิทินพืชพรรณที่ผลิดอกออกผลในแต่ละเดือน ซึ่งจะนำไปคืนข้อมูลแก่ชาวบ้านในกิจกรรมสุดท้ายของโครงการ เพื่อสร้างความตระหนักในการดูแลรักษาป่า

นอกจากนั้นทีมงานยังไปสอบถามข้อมูลเรื่องพืชพรรณในป่าเพิ่มเติมจากปราชญ์ชาวบ้าน และชาวบ้านที่มีอาชีพหาของป่า เพื่อเติมข้อมูลในปฏิทินเรื่องช่วงออกดอกออกผลของพันธุ์ไม้ วันที่ทำแนวกันไฟ การเก็บพืชพรรณให้สมบูรณ์ทั้ง 12 เดือน

หลังจากนั้นทีมงานได้ร่วมกับผู้นำชุมชนในกิจกรรมทำแนวกันไฟ โดยพวกเขารับผิดชอบหน้าที่ไปชวนเด็กเยาวชนในชุมชนและครอบครัวของตัวเองเข้ามาร่วมลงมือลงแรง ซึ่งก็ผ่านพ้นไปด้วยดีในท้ายที่สุด

สถานการณ์พิสูจน์ความรับผิดชอบ

ทว่ากว่ากิจกรรมจะผ่านไปด้วยดี ระหว่างทางทีมงานก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคขนาดใหญ่ที่ทำให้การทำงานเสียหลักอยู่ช่วงหนึ่ง

ต่ายยอมรับว่าเธอเองที่ทำให้เกิดปัญหานั้น “ตอนนั้นเพื่อนรุ่นเดียวกันออกจากลุ่มไปหมด เพราะต้องเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เหลือเราคนเดียวที่มีประสบการณ์ในกลุ่ม เนื่องจากน้องคนอื่นเพิ่งเข้ามาใหม่ปีนี้ แล้วบังเอิญว่าพี่เลี้ยงก็ติดธุระจนเข้ามาช่วยบ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ทั้งหมดทำให้เรารู้สึกเคว้งมาก”

นอกจากความรู้สึกโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นแล้ว ต่ายเองก็ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยเช่นกัน ในที่สุดเธอจึงตัดสินใจถอยห่างจากการทำโครงการ โดยบอกกับน้องๆ ในทีมไปตามตรงว่าจะวางบทบาทตัวเองเหลือเพียงคนให้คำแนะนำ ไม่ใช่คนทำโครงการอีกต่อไป

ฟากน้องๆ ทั้งสาม เมื่อพี่ต่ายถอยห่างก็รู้สึกเคว้งไม่ต่างกัน แต่ด้วยสำนึกรับผิดชอบที่คิดว่ารับโครงการมาแล้ว และตัวเองก็มีเวลาว่างจากการเรียนที่พอทำได้ จึงเลือกที่จะเดินหน้าต่อ โดยคอยขอคำปรึกษาจากต่าย เมื่อเห็นความตั้งใจของน้องๆ ที่พยายามทำโครงการอย่างยากลำบาก ก็ทำให้ต่ายเริ่มสะท้อนใจบางอย่าง

“พอเห็นว่าน้องยังทำต่อ แล้วก็ทำกันเองทุกอย่าง ทั้งเข้าไปในป่า ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อวิดีโอ ไปเวิร์กช็อป จนแทบไม่มีเวลาว่าง แวะไปหาเขาที่บ้านวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ไม่อยู่ตลอด ทำให้เริ่มสงสารน้อง คิดว่าเขาคงจะเหนื่อยมาก เหมือนเขาต้องทำงานกันหนักขึ้น เพราะไม่มีพี่อยู่ แล้วแต่ละคนก็ยังใหม่กับการทำโครงการมาก ทำให้เราย้อนกลับมาถามตัวเองว่า นี่เราทิ้งน้องมาได้อย่างไร”

ต่าย เล่าต่อว่า ในหัวของเธอมีคำถามดังกล่าววนไปวนมา จนรู้สึกเครียดและกดดันอยู่กับตัวเอง กระทั่งตัดสินใจว่า เธอต้องกลับไปช่วยน้องๆ ทำงานต่อ เพราะนี่คือโครงการที่เธอเลือกสานต่อจากรุ่นพี่เอง เลือกที่จะพาตัวเองและชวนน้องๆ ก้าวต่อมาเอง จึงเป็นหน้าที่ที่เธอต้องมีส่วนรับผิดชอบทั้งการทำโครงการ และการเป็นหลักให้แก่น้องๆ ในทีม

ประกายความคิดที่เกิดขึ้นนี้ของต่ายคือ “สำนึกรับผิดชอบ” ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกฝนการทำงานเป็นทีม และการทำโครงการจากโจทย์ชุมชนซึ่งเป็นเครื่องมือปลูกฝังแนวคิดความรับผิดชอบต่อชุมชน และต่อส่วนรวมนั่นเอง

การเติบโตที่งดงาม

นอกเหนือจากสำนึกภายในที่เปลี่ยนแปลงแล้ว ต่ายยังพัฒนาทักษะการทำงานของตัวเอง ทั้งการลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ การวางแผน และการแบ่งเวลาด้วย ซึ่งเธอก็ได้นำไปปรับใช้กับการเรียนและการทำกิจกรรมที่โรงเรียน ทำให้สามารถจัดการทุกหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบได้ดีขึ้น และที่มากกว่านั้นคือการ “ปรับเปลี่ยนวิธีคิด” ในการทำสิ่งต่างๆ จากเคยกลัวทำไม่ได้กลับกลายเป็นคำว่า “แค่นี้ไม่เกินความสามารถของเราหรอก” เพราะการได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำมาตลอดโครงการ ทำให้ต่ายเห็นศักยภาพของตัวเองกระทั่งเกิด “Growth Mindset” อันเป็นมุมมองสำคัญที่เด็กเยาวชนทุกคนควรมีในการมองว่าตัวเองสามารถพัฒนาให้ดี ให้เก่งขึ้นได้ แม้ไม่มีพรสวรรค์ติดตัวมาแต่กำเนิด

ด้านสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมที่แม้เพิ่งเข้ามาร่วมโครงการเพียงปีเดียวก็ได้เรียนรู้บางอย่างผ่านการลงมือทำที่นำไปสู่การค้นพบพัฒนาการที่น่าสนใจของตัวเองเช่นกัน

บอมแบม เล่าว่า ตอนที่ต่ายขอห่างจากการทำโครงการไป เขาต้องโดดขึ้นมาเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการถ่ายและตัดต่อวิดีโอ ซึ่งเป็นงานค่อนข้างหนัก และทำให้เหนื่อยมาก แต่ก็ช่วย “ปรับมุมมอง” ของเขาได้มาก ด้วยการมองความลำบากให้เป็นเรื่องสนุกที่ได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ และรู้จักชื่นชมตัวเองกับผลงานที่ออกมา แม้ไม่ถึงขึ้นโดดเด่นก็ถือว่าตัวเองได้พยายามทำอย่างเต็มศักยภาพแล้ว

นอกจากทักษะการมองโลกแล้ว บอมแบมยังเกิด “ทักษะสื่อสาร” ที่ดีขึ้นด้วย จากเวทีเวิร์กช็อปแรกของโครงการฯ ที่เขาทำได้เพียงช่วยถือกระดาษฟลิปชาร์ตนำเสนอเวลาทพี่หรือเพื่อนนำเสนอ เขาก็ค่อยๆ ก้าวข้ามความกลัวด้วยการออกมาลองนำเสนอในเวทีเวิร์กช็อปที่ 2 แม้ยังทำได้ไม่ดีนัก แต่การได้ “ทำซ้ำ” อีกหลายต่อหลายครั้ง ก็ทำให้บอมปอมค่อยๆ นำเสนอได้ดีขึ้นจนสามารถพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ และกลายเป็นทักษะติดตัวในที่สุด

สำหรับแนท เธอบอกคล้ายบอมแบมว่า เมื่อก่อนตัวเองค่อนข้างอายและเกร็งเวลาต้องไปพูดนำเสนอต่อหน้าคนจำนวนมาก แต่การได้นำเสนอในโครงการก็ช่วยให้ความมั่นใจของเธอเพิ่มขึ้นจนตอนนี้กล้าขึ้นไปพูดหน้าเสาธงที่โรงเรียน ส่วนอีกความเปลี่ยนแปลงคือ “การรู้จักรับฟังคนอื่น” จากเดิมที่เธอชอบทำงานคนเดียวก็กลายเป็นคนที่ชอบทำงานเป็นทีม

“เมื่อก่อนเราชอบทำงานคนเดียวมากกว่า เพราะเวลาทำงานกับเพื่อน บางทีไม่ได้ดั่งใจ ความคิดไม่เหมือนกัน แต่การต้องทำงานร่วมกับคนอื่นในโครงการ ทำให้เห็นว่าการคิดคนเดียวได้วิธีที่ไม่ดีเท่ากับช่วยกันคิด แล้วนำความคิดของทุกคนมาผสมผสานให้เป็นวิธีที่ดีที่สุด”

ส่วนมะปรางบอกว่า เธอได้เรียนรู้ “การวางแผน” และ “การประสานงาน” มากที่สุด เพราะเธอรับหน้าที่ในการนัดเพื่อนมาประชุม และประสานงานกับพี่ๆ ทีมโคชของโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนในการทำกิจกรรม

การเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์เช่นทีมงานกลุ่มนี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาก้าวไปสู่การบรรลุวุฒิภาวะที่ไม่ใช่เพียงแค่การเติบโตทางความคิด และทักษะชีวิตเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ดำรงชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อีกด้วย


โครงการร้อยป่าไว้ด้วยรัก

ที่ปรึกษาโครงการ : ปรเมษฐ์ โลนันท์

ทีมงาน :

  • พิมพ์ลภัส ก๋าวงค์
  • นวัช อ่อนนา
  • ธนัชชา ฝัดดี
  • นิศาชล จิตตมล