รู้จักเขารู้จักเราสะท้อนการเรียนรู้
​“เก่งเดี่ยว” กับ “เก่งเป็นทีม” อันไหนดีกว่ากัน?

­

­

­

­

หากทำได้ทุกคนคงจะเลือก “เก่งเดี่ยว” เพราะไม่ต้องวุ่นวายกับใคร เพียงแค่จัดการตัวเองให้ดีเท่านั้น ขณะที่ “เก่งเป็นทีม” นอกจากจะยุ่งยาก ซับซ้อนแล้ว บางครั้งยังนำมาซึ่งความแตกแยกอีกด้วย

เหมือนเช่นเยาวชนกลุ่มหนึ่งจากตำบลบางขันแตก ประกอบด้วย ใหม่-ภรณ์ทิพย์ งามพิศ ฟิว-สัญญา เจริญรัตน์ กวาง-ยอดขวัญ นาคประสพ เตย-อรวลี สกุลตันติโรจน์ ภัทร-ภัทรสุดา อินกับจันทร์ ก้อง-ก้องเกียรติ จันทร์จินดา และเมย์-จิรัชญา ศรเดช ที่อยากถ่ายทอดการร่ายรำที่พวกเขาชื่นชอบให้เยาวชนคนอื่นๆ ได้เรียนรู้และช่วยกันอนุรักษ์ ผ่านการทำโครงการเยาวชนตำบลบางขันแตกอนุรักษ์นาฏศิลป์การรำพื้นบ้านในตำบลบางขันแตก ภายใต้ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก แต่แม้มีความสนใจและความตั้งใจเหมือนกัน ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเผชิญความขัดแย้งจากความแตกต่างภายในทีมที่มีทั้งพุร่นพี่ รุ่นน้อง คนที่ภาวะผู้นำสูงเกิน และคนที่ไม่ค่อยพูด

แรกสุดพวกเขาลงมือทำงานโดยการลงพื้นที่ชุมชนไปเชื่อมความสัมพันธ์กับปราชญ์ชาวบ้านเพื่อหาความรู้และต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่ จนมีข้อมูลมากมาย แต่ก็ไม่สามารถทำงานต่อได้ เพราะตกลงกันไม่ได้ว่าข้อมูลที่มีอยู่เยอะแยะมากมายนี้จะใช้ประโยชน์กับโครงการได้อย่างไร แต่ละคนต่างมีความคิดเป็นของตนเอง โดยเฉพาะใหม่กับฟิว ที่เป็นเด็กกล้าพูด กล้าแสดงออก และมั่นใจในตัวเองสูงทั้งคู่ เมื่อต่างคนต่างคิดว่าตัวเอง ตัวเองรู้มากกว่า ก็ยิ่งไม่ยอมกัน จนบรรยากาศในทีมอึมครึม

คำรณ นิ่มอนงค์ พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ที่เห็นอาการมึนงงกับข้อมูลและท่าทีแตกร้าวของทีม จนประเมินได้ว่า หากไม่แก้ไข เด็กๆ อาจถอดใจไม่ทำโครงการตั้งแต่ยังไม่ทันตั้งไข่ จึงตัดสินใจเข้ามาชวนคิดชวนคุย ใช้ “เกมกระจกหกเหลี่ยม” ให้ทีมงานได้ตรวจสอบตัวเองว่า ข้อมูลที่ได้ทำให้รู้จักชุมชนดีขึ้นแล้วหรือยัง และทีมงานคนไหนมีความรู้หรือถนัดเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ผ่านชุดคำถามตามหัวข้อที่ทีมงานศึกษาไว้ เช่น ข้อมูลชุมชน ความรู้เฉพาะเรื่องการรำ ชื่อเฉพาะของท่วงท่าที่ใช้ในการรำ และความรู้เฉพาะเรื่องดนตรี เป็นต้น โดยคำถามแต่ละชุดจะถูกแยกออกไปติดตามโต๊ะ 6 โต๊ะ และแบ่งทีมงานออกเป็น 6 กลุ่ม ให้จับฉลากว่าใครอยู่ประจำโต๊ะไหน จากนั้นให้ทุกคนวนตอบคำถามจนครบทุกโต๊ะ ผลลัพธ์จากการเล่นเกม ทำให้เด็กๆ เห็นว่า คนที่เงียบๆ ไม่ค่อยพูด กลับรู้ข้อมูลเยอะ และตอบคำถามได้ดีกว่าคนที่พูดเยอะ และทุกคนพบว่า ไม่มีใครรู้ไปหมดทุกอย่าง กระบวนการเรียนรู้ที่พี้เลี้ยงพาน้องๆ คิดเช่นนี้ ทำให้น้องๆ รู้และเข้าใจว่า “ตัวเองไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง”

­

­

­

­

ผลจากการเล่นเกมในครั้งนั้น แม้จะทำให้ความสัมพันธ์ของทีมงานดี ทว่าก็ยังมีการทะเลาะกันเล็กๆ น้อยๆ เกิดขึ้นแทบทุกวัน จากนิสัยส่วนตัวของแต่ละคนที่พูดไม่เข้าหูกันบ้าง ไม่ฟังความเห็นของเพื่อนบ้าง กระทั่งใหม่ที่เป็นหัวหน้าทีมรู้สึกเบื่อหน่ายกับการต้องมาทะเลาะกับเพื่อนในทีม จึงถอดใจที่จะทำโครงการต่อ และตัดสินใจเข้าไปคุยกับพี่น้ำ-รัชนีย์ ทองพันธ์ ที่ปรึกษาโครงการว่าอยากถอนตัว แต่กลับได้รับคำตอบจากพี่น้ำว่า “ถ้าใหม่อยากออกจากทีม พี่ออกแทนดีกว่า เพราะแค่ทำให้น้องสามัคคีกันพี่ยังทำไม่ได้”

คำพูดของพี่น้ำ ดึงสติให้ใหม่ต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองถึงการกระทำที่ผ่านมาจนพบว่า เธอเองก็ไม่ค่อยรับฟังเพื่อนเท่าไร หลายครั้งที่ยึดความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง คำพูดกระตุกคิดจากพี่น้ำนอกจากจะช่วยปรับความคิดของใหม่ได้แล้ว พี่น้ำยังไกล่เกลี่ยกับคนที่เหลือ ด้วยการเข้าไปพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับทีมงานแต่ละคนถึงความคับข้องใจที่มีต่อเพื่อนคนอื่นในทีม จนรู้ข้อมูลทั้งหมด จากนั้นชวนน้องๆ ทุกคนมาจัดวงพูดคุยปรับความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเปิดใจ

หลังการเคลียร์ใจครั้งใหญ่ ใหม่เริ่มมองว่า การยอมรับและเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเธอไม่เปลี่ยนตัวเอง ไม่รับฟังคนอื่นบ้าง งานโครงการนี้อาจเสียหาย และคงไม่มีใครชอบเธอ แล้วต่อไปเธอจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างไร

เมื่อคนที่เคยแข็งกร้าวมีท่าทีอ่อนลง การทำงานของกลุ่มก็ค่อยๆ เข้ารูปเข้ารอย ทีมงานเดินหน้าทำกิจกรรมหาความรู้เกี่ยวกับการรำไทยเพิ่มจากผู้รู้ที่ช่ำชองด้านดนตรีไทย และผู้รู้ด้านการร่ายรำ จากนั้นชักชวนเพื่อนเยาวชนในชุมชนมาร่วมเรียนรู้นาฏศิลป์กับผู้รู้ ซึ่งผลของการทำกิจกรรมก็เป็นไปตามความคาดหวังของทีมงานที่ผู้เรียนสามารถสรุปประเด็นการเรียนรู้ได้ชัดเจน

­

­

­

­

แม้ตอนแรกความขัดแย้งจากความแตกต่างทางความคิดและนิสัยจะเป็นอุปสรรคชิ้นใหญ่ แต่การเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยของพี่เลี้ยงแต่ละคนที่ชี้ให้น้องๆ เห็นถึง “สิ่งที่ตัวเองรู้” และ “สิ่งที่ตัวเองเป็น” ได้สร้างการเรียนรู้ภายในให้เกิดขึ้น “เปิดใจยอมรับความแตกต่าง” จนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งใหญ่ ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานที่ดีให้พวกเขาก้าวเดินไปในสังคมได้อย่างถูกที่และถูกทาง