รู้เพื่อรักษ์...มะพร้าวแม่กลอง
แม้เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยด้วยมีพื้นที่เพียง 260,000ไร่ แต่สมุทรสงครามหรือ “แม่กลอง” กลับมีระบบนิเวศเฉพาะทื่เรียกว่า “เมืองสามน้ำ” คือ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม และทั้งสามน้ำ คือ “ปัจจัยการผลิต” อาหารที่เลี้ยงทั้งคนแม่กลอง และคนอื่น ๆ ทั่วประเทศ.....และทั่วโลก

­

­

­

ด้วยความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ ส่งผลให้อาชีพหลักของคนแม่กลองในอดีตมีความหลากหลายตามสภาพของพื้นที่ คนอยู่ใกล้ทะเลก็ทำประมงหาปลา จับสัตว์น้ำเป็นอาหารและจำหน่าย จับเคยมาทำกะปิ ปลาเล็กปลาน้อยใช้ทำน้ำปลา บางส่วนทำนาเกลือ ถัดจากชายฝั่งทะเลเข้ามาในแผ่นดินระยะทาง 14-15 กิโลเมตรคือ พื้นที่น้ำกร่อย ก็ทำสวนมะพร้าว โดย 70 เปอร์เซ็นต์ เก็บน้ำหวานจากงวงมะพร้าวมาทำน้ำตาล อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เก็บลูกมะพร้าวขาย ถัดจากน้ำกร่อยเข้ามาคือ พื้นที่น้ำจืดที่มีการทำนา ทำสวนผลไม้ขึ้นชื่อของแม่กลองทั้งส้มโอและลิ้นจี่ จึงเห็นได้ว่า คนแม่กลองในอดีตประกอบอาชีพตามสภาพภูมิศาสตร์ และใช้ภูมิปัญญาทำความเข้าใจต่อระบบนิเวศในการวางแผนการผลิต

สำหรับอาชีพชาวสวนมะพร้าวถือเป็นอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่กับเมืองแม่กลองมายาวนาน จนเคยมีการบันทึกไว้ว่า พ.ศ.2500-2510 สมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่เสียภาษีสูงที่สุดในประเทศ เพราะมีรายได้จากน้ำตาล โดยในรอบ 1 ปีในช่วงนั้นสามารถผลิตน้ำตาลได้ถึง 1,200,000 ปี๊บต่อปี

แต่พอถึงปี พ.ศ.2516 ความเปลี่ยนแปลงเริ่มมาเยือน เมื่อถนนพระราม 2 เปิดใช้ แม่กลองกลายเป็นเมืองเปิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง คือ คนในที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องออกไปทำมาหากินนอกพื้นที่ ขณะที่คนนอกเห็นว่า เมืองแม่กลองน่าอยู่ก็อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลต่อการผลิตน้ำตาล เพราะขาดแรงงาน ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการเรียนหนังสือ คนจึงนิยมส่งลูกหลานเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เมื่อจบมามีช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ จึงหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ไม่หันกลับมารับช่วงอาชีพดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ สถานการณ์การทำสวนมะพร้าวของคนแม่กลองย่ำแย่ที่สุดในปี พ.ศ. 2526 เมื่อเขื่อนศรีนครินทร์สร้างเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำ ทำให้ไม่มีน้ำจืดไล่ลงแม่น้ำแม่กลอง เมื่อไม่มีน้ำจืดไล่ลงมาผสมน้ำเค็ม ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จึงไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะมะพร้าวที่ลูกเล็กจนคนทยอยเลิกทำสวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าว กระทั่งปี พ.ศ.2548 แม่กลองต้องพบกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อมีการฟื้นคืนของตลาดน้ำอัมพวา ด้วยจุดขายนิเวศวิถีที่คนยังอยู่กับระบบนิเวศดั้งเดิม จุดกระแสความนิยม นำพานักท่องเที่ยวเข้ามา พร้อมๆ กับผู้ประกอบการที่มีทุนรอนและหัวคิดทางธุรกิจจากต่างถิ่น เข้ามาพัฒนาธุรกิจจนเปลี่ยนแปลงสภาพตลาดน้ำอัมพวาไปตลอดกาล

รู้ทางเลือกที่เป็นทางรอด

­

­

­

ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่พัฒนาไปตามยุคสมัย แต่ส่งผลกระทบต่อภูมิปัญญาและวิถีของท้องถิ่น เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ แม้กระทั่งกลุ่มเยาวชนในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เมื่อได้ทบทวนเรื่องราวของชุมชนตนเอง จึงได้รับรู้ถึงการล่มสลายของวิถีท้องถิ่น โดยเฉพาะการลดลงของสวนมะพร้าวและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่เปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุน ได้เปลี่ยนภาพเมืองที่แสนสงบและแสนพิเศษแห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว พวกเขาจึงลุกขึ้นมาค้นหาคุณค่าและความหมายของมะพร้าวพืชหลักของบรรพบุรุษ ผ่านการทำงานใน 4 โครงการคือ โครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา เพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนให้เห็นคุณค่าของอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว โครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าว เพื่อศึกษาถึงคุณค่าและประโยชน์ของมะพร้าวและสร้างความตระหนักรู้แก่ลูกหลานชาวสวนมะพร้าว โครงการศึกษาเรียนรู้น้ำตาลมะพร้าวเพื่อสืบสานอาชีพในท้องถิ่นตำบลปลายโพงพาง และโครงการร่วมพลังสร้างสรรค์มะพร้าวชุมชนเห็นว่าเปลือกมะพร้าวส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจึงลงมือศึกษาต้นสายปลายเหตุเพื่อหาทางแก้ทางออก

ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากร เพราะคนทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่เข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัยของชีวิต ถูกแก้ไขโดยระบบกลุ่ม แบ่งงานกันทำตามหน้าที่ เจ้าของที่ดินปลูกมะพร้าว คนขึ้นตาลเก็บตาลเสร็จส่งไม้ต่อให้คนเคี่ยวแล้วพักผ่อน คนเคี่ยวทำจนเสร็จก็มีเวลาเหลือ คนเก็บฟืนหาฟืนให้พอใช้ ทุกคนทำงานไม่เหนื่อยเกินไป มีเวลาพักผ่อน รายได้แบ่งปันตามสัดส่วนที่ตกลงกัน

­

­

­

ส่วนปัญหาอันตรายจากการปีนขึ้นไปเก็บน้ำตาลบนต้นมะพร้าวที่สูง ที่เป็นความเสี่ยงของอาชีพที่ทำให้คนไม่กล้าเข้ามาทำงานนี้ ถูกแก้ไขด้วยการหามะพร้าวต้นเตี้ยมาปลูกแทน แม้น้ำหวานจากงวงมะพร้าวที่ได้แต่ละวันจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังพอเพียงต่อการนำมาเคี่ยวเป็นน้ำตาล ที่สำคัญคือ คนทำงานไม่ต้องเสี่ยงภัยเหมือนเดิม

การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นทางออกของปัญหาราคาน้ำตาลตกต่ำ กลุ่มเตาตาลมิตรปรีชาเลือกที่จะผลิตน้ำตาลแท้ทั้งในรูปแบบ โคโคนัทเล็กต้า (ลักษณะคล้ายไซรับ) น้ำตาลแบบผง และน้ำตาลก้อน แทนการลงไปแข่งขันในตลาดน้ำตาลหลอมที่มีผู้ประกอบการหลายราย เมื่อประกอบกับการได้รับการหนุนเสริมด้วยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่พิสูจน์และการันตีสรรพคุณน้ำตาลแท้ของกลุ่ม ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเพียง 35 ในขณะที่น้ำตาลทรายขาวมี 100 น้ำผึ้ง 60 น้ำตาลทรายแดง 80 กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีกำลังซื้อสูงได้ จึงเป็นแรงหนุนที่ทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าได้เอง จำหน่ายเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทุกวันนี้ผลิตสินค้าได้ไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค

การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นทางออกของปัญหาราคาน้ำตาลตกต่ำ กลุ่มเตาตาลมิตรปรีชาเลือกที่จะผลิตน้ำตาลแท้ทั้งในรูปแบบ โคโคนัทเล็กต้า (ลักษณะคล้ายไซรับ) น้ำตาลแบบผง และน้ำตาลก้อน แทนการลงไปแข่งขันในตลาดน้ำตาลหลอมที่มีผู้ประกอบการหลายราย เมื่อประกอบกับการได้รับการหนุนเสริมด้วยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่พิสูจน์และการันตีสรรพคุณน้ำตาลแท้ของกลุ่ม ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาล_ต่ำเพียง 35 ในขณะที่น้ำตาลทรายขาวมี 100 น้ำผึ้ง 60 น้ำตาลทรายแดง 80 กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีกำลังซื้อสูงได้ จึงเป็นแรงหนุนที่ทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าได้เอง จำหน่ายเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทุกวันนี้ผลิตสินค้าได้ไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค

พลังที่ต่อเติมกันและกัน

­

­

­

ความสนใจของกลุ่มเยาวชนที่เข้าไปเรียนรู้กับชุมชน เป็นเสมือนพลังที่เติมเต็มให้แรงใจที่กำลังอ่อนล้าของชาวสวนมะพร้าวให้กลับมามีความหวัง ที่คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและใส่ใจกับอาชีพของตน

“ดีใจมากๆ ไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุหรือเยาวชนเข้ามาถาม คุยได้ทั้งวัน รู้สึกดีใจ เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจทางอ้อมว่า สิ่งที่เราทำสามารถทำให้คนอื่นสนใจ และยินดีให้ความรู้อย่างเต็มใจ ไม่อยากให้สิ่งที่เรารู้ตายไปกับเรา ต้องให้เขาเอาไปต่อยอดให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะน้ำตาลมะพร้าวเท่านั้นที่ทำได้ แต่พืชผักอย่างอื่นก็ทำได้หมด ถ้ารวมตัวกันเหนียวแน่น ทำระบบกลุ่มให้เข้มแข็ง ก็จะสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดยอดของเกษตรกร สุดยอดของการทำธุรกิจที่ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของใคร” ลุงปรีชากล่าว

ทีมผู้ใหญ่ซึ่งประกอบด้วยนางกัญจนา ปานาพุฒ นายนิพล บังแสง นายสมศักดิ์ เกียรติประดิษฐ์ นางสำรวย สุขพิศาล ลุง ป้า น้า อา ชาวบ้านท่าคาคือ ตัวแทนของชาวบ้านที่ยินดีสนับสนุนการทำกิจกรรมของทีมท่าคาเรียนเจอร์ เพราะทุกคนต่างเห็นว่า การปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักษ์ถิ่นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่อดีตที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่า อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพที่ลำบาก เหนื่อยยาก ไม่อยากให้ลูกหลานสืบทอด จึงพยายามส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนหนังสือ ไม่ต้องช่วยเหลืองานบ้าน คนรุ่นใหม่จึงไม่ชินต่อการทำงานในครัวเรือน

ทีมงานผู้ใหญ่ได้ฝากข้อคิดข้อเสนอว่า การจะสืบสานอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวให้คงอยู่สืบไปนั้น ต้องช่วยกันหลายฝ่าย เริ่มตั้งแต่ครอบครัวที่ต้องปลูกฝังลูกหลาน ให้ความรู้ สร้างทักษะในการทำน้ำตาลมะพร้าวด้วยการให้ลูกหลานช่วยงานของครอบครัว ในขณะที่สถานศึกษาก็ต้องสนับสนุนโดยนำเข้าไปในหลักสูตรการเรียนรู้ ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ต้องเพลาๆ การบ้านงานเรียนลง เพื่อที่เด็กๆ จะได้มีเวลาช่วยเหลืองานของครอบครัว ด้านเยาวชนเองก็ต้องรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างสัมพันธ์กับชาวบ้าน ซึ่งการทำงานของทั้ง 4 ทีมงานคือตัวอย่างอันน่าชื่นใจ ที่เด็กรุ่นใหม่สนใจสานต่อภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงอยากให้มีการทำโครงการในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยทีมผู้ใหญ่จะคอยสนับสนุนอย่างเต็มใจ

การลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพชุมชนและเรียนรู้ภูมิปัญญา นอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ยังทำให้เด็กวัยเรียนที่มีโลกส่วนตัวแคบๆ ในโรงเรียนและครอบครัว ได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมใกล้ตัวมากขึ้น มิตรภาพที่มีกับผู้ใหญ่ในชุมชนหลายๆ คน ที่ได้ไปสอบถาม พูดคุย จนกลายเป็นสายใยที่ทำให้เยาวชนไม่รู้สึกแปลกแยกจากท้องถิ่นเหมือนเคย

มะพร้าว...อาชีพที่มีอนาคต

­

­

­

การได้ศึกษาทั้งสาเหตุของการล่มสลายของอาชีพน้ำตาลมะพร้าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และข้อจำกัดต่างๆ และทางเลือกทางออกของการฟื้นฟูอาชีพนี้ ทำให้ทีมงานได้มีโอกาสไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ของการสืบสานภูมิปัญญา ซึ่งทุกทีมบอกว่า ถึงจะมีข้อจำกัดเพียงใด แต่ก็มีตัวอย่างของทางออกในการสกัดจุดอ่อนในอาชีพ จึงเป็นทางเลือกที่น่าจะรอด จนเกิดความมั่นใจว่าการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพที่มีอนาคต

“ผมเป็นเด็กในชุมชน โตมาในสวน รู้วิธีทำทุกอย่าง แต่ก็รู้แค่ว่านี่คือน้ำตาลมะพร้าว แต่ไม่ได้รัก ไม่ได้ผูกพันกับมัน จนมีโอกาสได้ลงพื้นที่เรียนรู้ กระทั่งเข้าใจถึงความเป็นมาและความสำคัญของน้ำตาลมะพร้าวจากคำบอกเล่าของผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ ความรักความผูกพันจึงค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในหัวใจ” ปอย-ปิยวัฒน์ วัชนุชา เล่าและเสริมว่า ทุกวันนี้เขากลับไปช่วยพ่อทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างแข็งขัน เพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของอาชีพของครอบครัว และตั้งใจว่าต่อไปหากทำอาชีพหลักด้านอื่น ก็จะยังยึดการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพเสริมอย่างแน่นอน

ส่วนติน-ธนวัฒน์ บัวทอง มองว่า อาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพอิสระ แม้จะเหนื่อยแต่ก็เป็นนายตนเอง ต่างจากการทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานที่ต้องยืนหลังขดหลังแข็งทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ “การทำงานแบบนี้ เช้า ตีสี่ตี่ห้าตื่นเก็บตาลแล้วเอามาเคี่ยว พอเสร็จเราก็มีเวลาพักผ่อน อีกอย่างหนึ่งมะพร้าวที่แถวบ้านต้นไม่สูงมาก จึงง่ายต่อการเก็บมากขึ้น”

เช่นเดียวกับพรีม-ชมพูนุช ฉัตรพุก ที่บอกว่า เดิมครอบครัวขุดสวนมะพร้าวทำบ่อเลี้ยงกุ้ง แต่ตอนนี้กำลังจะถมที่กลับมาทำสวนมะพร้าวเหมือนเดิม เพราะอาชีพทำนากุ้งทำรายได้ไม่ดีเหมือนในอดีต ดังนั้นการได้มีโอกาสมาเรียนรู้เรื่องราวการจัดการสวนมะพร้าวและการทำน้ำตาลมะพร้าวจึงทำให้เห็นช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างความมั่นคงในอาชีพซึ่งพรีมได้นำกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง

วันนี้เยาวชนทั้ง 4 กลุ่มได้เรียนรู้เรื่องราวของสวนมะพร้าว และการทำน้ำตาลมะพร้าว เพื่อให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนแม่กลองไม่สูญสลายหายไปกับกาลเวลา หากแต่ถูกจดจารทั้งในสมองและหัวใจของเยาวชนแต่ละคน ที่รู้แล้วว่า แผ่นดินถิ่นเกิดของตนมีดีอย่างไร เพราะเมืองแม่กลองมีความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในอาชีพการทำสวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าวที่อิงแอบบนฐานนิเวศวิถีที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสืบสานให้คงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน