สถานการณ์ “สื่อ” กับ “สังคมไทย” ถึงเวลาฉลาดใช้สื่อ

    ในเวทีการเสวนา “สถานการณ์สื่อกับสังคมไทย ถึงเวลาสังคมฉลาดใช้สื่อ” จัดโดย น.ศ.4ส7 สถาบันพระปกเกล้า เหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อฯ ประกอบด้วย นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารKapook.com นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการอิสระ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ นายพิภพ พานิชภักดิ์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล รอง ผอ.ส.ส.ท. และนายวิทเยนทร์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการบลูสกายแชล ต่างร่วมแชร์ความคิดเห็น และวิเคราะห์สถานการณ์สื่อกับสังคมไทยในปัจจุบัน ว่ามีจุดวิกฤตและควรหาทางออกอย่างไร กับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง 3 กลุ่ม

     



     เริ่มที่ผลกระทบที่มีผลต่อสื่อมวลชนโดยตรงโดย…นายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์สื่อของไทยในปัจจุบัน ว่าขณะนี้สังคมไทยเกิดสื่อใหม่ (New Media) มีอินเทอร์เน็ต ที่เข้าถึงผู้เสพสื่อโดยง่าย หรือเรียกง่ายๆว่า เข้าสภาวะสื่อยุคหลอมรวม จึงทำให้คนๆเดียวบริหารงานได้ทั้งกองบรรณาธิการ ในลักษณะที่เรียกว่า Personal Broadcast สถานการณ์นี้กำลังทำลายองค์กรสื่อแบบเก่าทั้งหมด เนื่องจากต้องใช้ทรัพยากรและจำนวนคนทำงานมากกว่า ต้นทุนการผลิตสูง ในขณะที่สื่อใหม่กลับใช้ทรัพยากรน้อยกว่า คุ้มค่ากว่า แถมยังรวบรวมข้อมูลมหาศาลมาอยู่ในสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว และถ้าหากสื่อเก่ายังปรับตัวไม่ได้ก็ต้องสูญพันธุ์อย่างแน่นอน

      เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล อดีตรองผอ.ThaiPBS มองเห็นตรงกันว่า ปรากฎการณ์นี้กำลังฆ่าสื่อเสียเอง…“เมื่อก่อนเวลาทำข่าว ในหัวนักข่าวเขาจะคิดก่อนเลยว่าภาพหน้าจอมันจะเป็นอย่างไร แล้วรีบกลับมาเขียนข่าว แต่ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นในหัวของคนทำข่าวต้องคิดก่อนว่าคุณต้องส่งออนไลน์ได้อย่างไรเพื่อให้รวดเร็วทันเวลา แล้วจึงนำสิ่งที่ออนไลน์ไปแล้วกลับมาทำเป็นข่าวทีวี ซึ่งปรากฎการณ์นี้มันกำลังฆ่าจริยธรรมคนทำสื่อ มันกำลังทำลายความเข้าใจของคนในสังคม

      และนายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารKapook.com ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “หัวใจสำคัญจริงๆตอนนี้ คือ “สาร” หากใครมี Content ดี มี Messageดี และทำให้คนสนใจ ก็คือ ผู้ได้เปรียบ”

     ขณะที่ “สื่อไทย” ถูกคลื่นสึนามิโหมกระหน่ำ ธุรกิจสื่อหลายบริษัทปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย พฤติกรรมการเสพสื่อของคนเปลี่ยนไป สื่อใหม่เติบโต สื่อเก่าเกือบสูญพันธุ์ ส่งผลให้ สถาบันการศึกษาที่ผลิตบุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน..และถูกตั้งคำถามว่าควรยุบคณะเหล่านี้ได้หรือยัง และมหาวิทยาลัยที่สอนหลักสูตรเหล่านี้ควรปรับกลยุทธ์สู้ศึกครั้งนี้อย่างไร…

     ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “สถาบันการศึกษาทางด้าน หลักสูตรวารสารศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัยถูกปิดไปในช่วงปีนี้อย่างน่าหดหู่ใจ และหลายแห่งมีการปรับเพื่อการอยู่รอด ซึ่งโจทย์ใหญ่ของสถาบันผลิตคนทำสื่อ คือ เราจะสอนอย่างไรเมื่อ S(Sender) M(Message) C(Chanel) R(Receiver) มันเคลื่อนและเปลี่ยนผันไป เพราะปัจจุบัน คนทำสื่อหลงกระโจนกันไปที่แพลตฟอร์มกันหมด โดยหลงลืม Content ดังนั้น อาจารย์ สถาบันการศึกษาก็ต้องรู้เท่าทันเหมือนกันทุกคน ควรจะให้ Concept ในการผลิต Content กับผู้เรียนในเรื่องแง่มุมการผลิตสื่อมากกว่าจะให้แค่ทักษะการสื่อสาร และท้ายสุดก็ต้องไม่หลงลืมจรรยาบรรณ หน้าที่และความรับผิดชอบด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นการฝังชิปเพื่อเตรียมพื้นฐานให้นักสื่อสารมวลชนรุ่นใหม่ได้รู้เท่าทันสื่อ

   ซึ่ง ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล กล่าวถึงประเด็นควรยุบหรือไม่นั้น มีความเห็นว่า “อาจารย์และนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาถามดิฉัน ว่า “เราควรที่จะยุบคณะนิเทศศาสตร์จุฬาไปได้หรือยัง” ดิฉันก็ตอบทันทีว่า…เรายิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการผลิตคนทำสื่อมากขึ้น ซึ่งความสำคัญของเราไม่ได้อยู่ที่เรื่องเทคโนโลยี แต่ต้องดึงสังคมกลับไปหาหลักการพื้นฐานของวารสารศาสตร์ให้ได้ คือ ทำอย่างไรให้คนในสังคมลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าเราเคารพความจริง สื่อสารกันด้วยความจริง ช่วยกันค้นหาความจริง แล้วที่สำคัญก็คือ ผู้ผลิตสารต้องสร้าง Trust ให้กับประชาชน เพราะฉะนั้น นี่คือ หลักการพื้นฐานของคนทำงานของนักวิชาการที่ต้องกลับไปพูดเรื่องนี้เยอะๆ กลับไปฝึกฝนทักษะของคนรุ่นใหม่ ฝึกทักษะของการรับ การย่อย ผลิตซ้ำ ผลิตใหม่ ขยายแชร์อะไรก็แล้วแต่ แต่ทุกอย่างให้อยู่บนพื้นฐานของความจริง และเชื่อถือได้ คิดว่าอันนั้นคือหัวใจนี่คือโจทย์ที่ทุกมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรด้านนี้กำลังเร่งแก้ไข

     


      และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มประชาชนทั่วไปที่เป็นทั้งผู้ผลิตสื่อและผู้เสพสื่อ อาจตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์สื่อยุคหลอมรวม ซึ่งเวทีนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า “เราทุกคนต้องฉลาดใช้สื่ออย่างไร” เริ่มที่….นายพิภพ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านสื่อสารมวลชนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า “บทบาทของวิชาชีพนี้ คือ การผลิตข่าวสารให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งที่เราทำถือเป็นหน้าที่หลัก เพื่อให้สังคมได้พบกับความจริงและมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ในขณะเดียวกันผู้ผลิตสารก็ทำหน้าที่เป็นหมา (watch dog) ที่คอยส่งสัญญาณเตือน และเฝ้าระวังเหตุการณ์ในสังคม แต่การเป็นหมาก็ต้องหมาแบบมืออาชีพ ต้องมีวิจารณญาณของความเป็นมนุษย์เพราะว่าเราเป็นสื่อมวลชน…เราต้องปลูกฝังให้คนเสพติดการchange มากกว่าการshare เพราะฉะนั้นตอนนี้เราอยากให้นักสื่อสารในอนาคตเป็นคนที่มีความengage และเป็นนักสร้างเนื้อหาในเชิงสร้างสรรค์ คือ ต้องเถียงเป็น และต้องเป็นนักเอ๊ะ เกิดข้อสงสัยและตั้งคำถามเพื่อหาข้อท็จจริง แต่ในขณะเดียวกันในบรรยากาศการถกเถียงเราต้องมีความสามารถที่จะวิเคราะห์คนฟัง หรือคนที่คิดต่างได้ด้วย อีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฉลาดใช้สื่อ ซึ่งเราต้องสามารถกำกับตัวเองเป็น ประเมินตัวเองได้ และคัดกรองสิ่งที่จะนำเสนอ รวมทั้งการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม




      นอกจากต้องการให้ผู้เสพสื่อเปลี่ยนจากยอด Share เป็นยอด Change แล้ว…ทางด้านผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ยังให้เคล็ดลับในการขับเคลื่อนการรู้เท่าทันสื่อ คือ สูตร 4E 1.Engagement-สนับสนุนให้เกิดสื่อดีให้มากขึ้น มีตัวอย่างให้คนเข้าไปทดลองใช้2.Empowerment-ส่งเสริมผู้ใช้สื่อที่เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยการส่งเสริมหลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ 3.Empathy-สร้างความรู้สึกร่วมให้กับเด็กๆให้เข้าใจคนอื่น4.Entrepreneurship-หนุนให้เด็กเป็นผู้ประกอบการด้านผลิตสื่อ แล้วสามารถเลี้ยงตนเองได้

      และฝากทิ้งท้ายถึงทุกคนว่า การผลิตสื่อ ควรผลิตสื่ออย่างมืออาชีพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางออกของสถานการณ์นี้“ควรคำนึงถึงการเปลี่ยนจาก online first มาเป็น story first คือ เนื้อหาต้องมาก่อน นี่ไม่ใช่แค่สื่อมืออาชีพอย่างเดียวเท่านั้น แม้แต่น้องๆ นักศึกษาหรือใครก็ตามที่กำลังเป็น Media user หรือ Media generator อยากให้ตระหนักในเรื่อง story first คือ ทุกครั้งถามตัวเองว่าเรากำลังส่งเรื่องอะไรออกไปให้คนอื่นเขาได้อ่าน ได้แชร์ แล้วเรื่องนั้นมันมีประโยชน์หรือได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรให้กับสังคม โดยเฉพาะคนทำสื่อออนไลน์ ก็ต้องพยายามแยกให้ออกระหว่างเสียงบ่นทั่วไป (Noise) กับเสียงจริงอันเป็นความคิดเห็นจากเสียงประชาชน (Voice) เพราะเสียงเหล่านี้จะทำให้เกิดความเป็นพลเมืองแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ผู้ผลิตสื่อเท่านั้นที่จะต้องฉลาดใช้สื่อ แต่ผู้บริโภคสื่อ รวมถึงนักศึกษาที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนักวารสารศาสตร์เองก็เช่นเดียวกัน ก็ต้องรู้จักวิเคราะห์ กลั่นกรอง นำเสนอ และแสดงความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์”


      ข้อเสนอแนะและความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อดังกล่าวนี้ น่าจะเป็นแนวคิดในการนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับทุกวงการของสังคมในลำดับต่อไป

……………………………………………………………………………………..

ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการอื่นๆได้ที่ https://www.scbfoundation.com/ หรือแฟนเพจเฟสบุค https://www.facebook.com/scbfoundatio/www