เยาวชนเติมเต็มช่องว่าง...สถาบันครอบครัว
​สังคมครอบครัวไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับสภาวการณ์เปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากปัจจัยภายในครอบครัวและปัจจัยแวดล้อมทั้งในชุมชน สังคม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่ส่งผลกระทบต่อแบบแผนการดำเนินชีวิตของครอบครัวได้เปลี่ยนแปลงไป สมาชิกในครอบครัวมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจยังผลให้เกิดความสั่นคลอนของสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านโครงสร้างและความสัมพันธ์หรือพันธะระหว่างสมาชิกภายในครอบครัวที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อออกไปหารายได้ให้กับครอบครัวเกิดเป็นช่องว่างเล็ก ๆ ที่หน่วยงานต่างพยายามเข้ามาช่วยปิดช่องว่างนี้กันมากมาย

­

­

­

­

เยาวชนจึงถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปของสถาบันครอบครัว เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของเยาวชนดังกล่าว มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงสนับสนุนให้เยาวชนจากการทำโครงการ Active Citizen ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชน จ.น่าน โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก และโครงพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โดยเยาวชนได้เรียนรู้จากชุมชนรอบตัว เกิดความรู้สึกที่อยากทำงานพัฒนาชุมชนของตัวเอง และหวังว่าระหว่างทางที่เขามีโอกาสทำงานเพื่อชุมชน สำนึกรักท้องถิ่น ผูกพัน จะค่อยๆ ลุกขึ้นมาเป็นเยาวชนที่ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาของสังคม ให้เขาเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ตื่นรู้ เข้าใจชุมชนของตัวเองและไม่นิ่งดูดายเข้ามาทำงานชุมชน มาเอาธุระกับชุมชนสอดรับกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่อยากเห็นการพัฒนาคนรุ่นใหม่ให้มีความสามารถในการตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21

­

­

กลุ่มยุวอนุรักษ์บ้านน้ำหลุ ในพื้นที่บ้านน้ำหลุ ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ผ่านการทำโครงการปฏิทินขมุ ปฏิทินประจำเชื้อสายเผ่าขมุที่ปัจจุบันเริ่มเลือนหายไปจากชุมชนตามผู้เฒ่าผู้แก่ที่เริ่มโรยรา เยาวชนเห็นสถานการณ์ดังกล่าวจึงรวมตัวกันเพื่อร่วมสืบทอดรักษาปฏิทินนี้ไว้ให้อยู่คู่กับชุมชน โดยเริ่มจากหาข้อมูลจากแหล่งใกล้ตัวสอบถามจากปู่ย่าตายายที่บ้านของตนเอง ซึ่งจะเป็นคนที่บอกได้ว่า ใครบ้างมีความรู้ในเรื่องนี้ เมื่อทราบแน่ชัดว่า มีใครบ้างที่มีความรู้เรื่องนี้ ทีมงานทั้งหมดช่วยกันกำหนดแนวคำถาม โดยสอบถามถึงวิธีการนับ และวันเสียประจำครอบครัวของแต่ละท่าน จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาจำแนกแยกแยะ โดยตรวจสอบหาวิธีการนับวันที่ผู้เฒ่าบอกตรงกัน ระหว่างทางของการทำงานสิ่งที่ได้มากกว่าปฏิทินขมุนั่นคือ ภาพของลูกหลานที่เดินขบวนกันไปหาพ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยเพื่อถามข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมในแต่ละเดือน เสียงหัวเราะชอบใจของผู้เฒ่าผู้แก่ที่ชอบอก ชอบใจคำถาม ท่าทางความซุกซนของเหล่าเยาวชน ความสัมพันธ์เล็กๆ ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นผ่านการทำโครงการ

“เพราะเห็นถึงสถานการณ์ของชุมชนที่สัมผัสได้ว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ลดลง เพราะต่างคนต่างอยู่กลายเป็นปัจเจกชน ครอบครัวใคร ครอบครัวมัน ส่งผลกระทบกับชุมชน จึงมองเห็นว่า จากเรื่องเล็ก ๆ เช่นนี้เมื่อเกิดปัญหาจากชุมชน ก็จะขยายเป็นปัญหาสังคม จากสังคมก็เริ่มเป็นปัญหาประเทศ ดังนั้นในฐานะคนตัวเล็ก ๆ จึงเริ่มต้นที่จะทำในสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันดีภายในชุมชน โดยมีเด็กและเยาวชนเป็นตัวเชื่อม” เหลิม-ทักษณะ เสารางทอย ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการนี้ของเยาวชนและคนในพื้นที่

­

­

­

­

ทางด้านเยาวชนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี จังหวัดราชบุรี ตัวแทนเยาวชนโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ที่ได้ต่อยอดความผูกพันของตัวเยาวชนและกลุ่มผู้อาวุโสในพื้นที่ผ่านการทำโครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ จากการทำโครงการในครั้งก่อนทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้นำพาตัวเองไปรู้จักกับกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ ตำบลเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี จนก่อเกิดเป็นความผูกพันขึ้นระหว่างการทำโครงการในปีที่ผ่านมา เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลผู้สูงอายุและอยากนำเอาเคล็ดลับของผู้สูงอายุในพื้นที่นี้เป็นต้นแบบให้กับกลุ่มผู้สูงอายุท่านอื่น ๆ ทางทีมรวมตัวกันออกแบบกิจกรรมพบปะพูดคุยกับผู้สูงอายุ เพื่อสอบถามถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านและวิธีการดูแลตัวเองของกลุ่มผู้สูงอายุ พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นหมอ อาสาตรวจวัดความดันผู้สูงอายุอยู่เป็นประจำ จนทำให้ผู้สูงอายุบางท่านจากที่ไม่เคยดูแลตัวเองเริ่มหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น มีการเปิดรับอาสาสมัครลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้สูงอายุพบปะพูดคุย ทำให้ผู้สูงอายุบางส่วนรู้สึกไม่โดดเดี่ยวเพราะมีลูกหลานแวะเวียนมาเยี่ยมเป็นประจำ

จากโครงการนี้นอกจากทีมงานที่ได้ข้อมูลการดูแลตัวเองของผู้สูงอายุผ่านหนังสือชีวประวัติแล้ว สิ่งที่ได้มากกว่านั้นนั่นคือความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของคนสองวัย ช่องว่างตรงกลางที่ค่อยถูกผสานผ่านกิจกรรมที่เยาวชนร่วมกันทำ เพราะมีโอกาสได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุทั้งการดูแลรักษาสุขภาพ การกิน การอยู่ จนทำให้เยาวชนกลุ่มนี้เริ่มมองภาพกว้างไปอีกขั้นว่าในอนาคตข้างหน้า รู้แจ้งเห็นจริงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ รวมถึงสุขภาพกายและสุขภาพใจ ที่ต้องการการดูแลเอาใจใส่ ผลของการเรียนรู้ครั้งนี้ยังคืนกลับให้ทีมงานยอมปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของตนเอง ตื่นตัวและพร้อมรับมือกับการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของชุมชนสังคม ถึงแม้คำว่า “ผู้สูงอายุ” อาจจะยังดูยาวไกลสำหรับพวกเขาก็ตาม

­

­

­

­

ในขณะที่เยาวชนจากจังหวัดศรีสะเกษ บ้านโนนรัง ตำบลหนองกุง อำเภอโนนคูณ เยาวชนที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มดาวกระจาย รวมตัวกันเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษปีที่ 2 เพราะเห็นประโยชน์ว่าการทำโครงการทำให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ชุมชนบ้านโนนรังเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงที่เคยได้รับรางวัลระดับจังหวัด มีฐานเรียนรู้อยู่ในชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้านที่สามารถให้ความรู้เกี่ยวกับการทอเสื่อ สานกระติ๊บข้าว ซึ่งปราชญ์ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็คือ ผู้สูงอายุที่แต่ละคนมีภูมิรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นทักษะติดตัว ซึ่งหากต่อไปถ้าผู้สูงอายุเหล่านี้จากไป งานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญา เช่น การทอ การจักสาน คงไม่แคล้วสูญหายไปจากบ้านโนนรัง เยาวชนกลุ่มนี้จึงตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป แม้จะฝืนตัวเองไปบ้างเพราะไม่ใช่งานถนัดแต่ระหว่างที่ทำงานเยาวชนก็สัมผัสได้ถึงความเอ็นดูของผู้สูงอายุที่ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยกับการสอนพวกเขา จากที่ไม่อยากเข้าหาเพราะเห็นว่าเป็นผู้สูงอายุ ทุกวันนี้วิถีของพวกเขาเปลี่ยนไปทุกครั้งที่ว่างมักจะหอบต้นกกเพื่อไปขอวิชาการทอเสื่อจากผู้สูงอายุแทน

ซึ่งนางไพรวัลย์ วงษ์ประเทศ พี่เลี้ยงชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เยาวชนกลุ่มนี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการช่วยเหลืองานของชุมชน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่ปีนี้สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุได้มากกว่าเดิม ความสัมพันธ์ของคนสองวัยที่เริ่มต้นขึ้นยังเป็นการเชื่อมร้อย ความสัมพันธ์ของสมาชิกในชุมชนให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น

­

­

­

­

เมื่อคำว่า “ครอบครัว” เกิดช่องว่างเยาวชนในฐานะพลเมือง 4.0 จึงขันอาสาพาตัวเองมาถมช่องว่างระหว่างวัย เพื่อให้คำว่าครอบครัวเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ ผ่านการพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ต่อชุมชน ต่อสังคม เพราะการพัฒนาชุมชนให้มั่นคงยั่งยืน จำเป็นต้องใช้ฐานครอบครัวเป็นต้นแบบในการพัฒนาเยาวชนให้มีศักยภาพขณะเดียวกันการใช้ ใช้ความรู้ภูมิปัญญาที่ผู้สูงอายุมีมาสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันของคนสองวัย ช่วยสานความสัมพันธ์ พัฒนาสุขภาพกายใจผู้สูงอายุ เด็กๆ เอาใจใส่ดูแลผู้เฒ่าไม่ให้ชีวิตว่างเปล่า ว้าเหว่ ในขณะเดียวกันกิจกรรมที่ออกแบบยังได้ย้อนคืนประโยชน์ในการเติมเต็มความรู้ ทักษะในชีวิตให้แก่ตนเอง ผู้ใหญ่วัยทำงานที่ต้องทำมาหากินก็หมดห่วง ทั้งลูกหลาน พ่อแม่ที่แก่เฒ่า ต่างอยู่ดูแลกันและกันอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย. ///