สอนการเป็นพลเมืองดี ต้องเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง

สอนการเป็นพลเมืองดี ต้องเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง


­

ในการสอนวิชาสังคมศึกษา ซึ่งมีลักษณะเนื้อหาวิชาค่อนข้างยากและเป็นนามธรรม ทำอย่างไรที่จะทำให้การสอนของครู แต่ละชั่วโมงประสบผลสำเร็จ ได้ตามเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาให้นักเรียนเป็นพลเมืองดี ซึ่งการเป็นพลเมืองดีสอนโดยทฤษฏีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่จะมีวิธีการสอนแบบใดละที่จะไปสู่เป้าหมายได้

­

­

­

­

มูลนิธิสยามกัมมาจลขอนำเสนอวิธีของสอนแบบหนึ่งที่ได้ผลสัมฤทธิ์ที่ดี ได้แก่ ครูปริศนา ตันติเจริญ ครูวิชาสังคมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโยธิบูรณะ ที่ปรับบทบาทจากครูผู้สอน เป็น “ครูฝึก” หรือคุณอำนวย (Facilitator) เน้นใช้คำถามกระตุ้นให้คิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตลอดกระบวนการสอนแบบโครงการ ที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เผชิญสถานการณ์จริง เพื่อฝึกฝนการเป็นพลเมืองดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและกระตุ้นให้นักเรียนอยากทำดีจากภายในของตนเอง

­

­

­

“การสอนให้บรรลุเจตคติซึ่งเป็นนามธรรมเป็นเรื่องยาก จะสอนให้บรรลุเจตคติได้ต้องเกิดจากข้างใน คือ ความตระหนักรู้ ตามหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” ต้องเป็นการเรียนแบบลึกซึ้งด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เผชิญสถานการณ์จริง จะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดแรงขับจากภายในให้เขาอยากทำ หาวิธีเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย ครูผู้สอนต้องออกแบบการสอน สร้างเครื่องมือหรือสื่อต่างๆ ตลอดจนกำหนดวิธีการวัดและประเมินผลให้พร้อมมูล แล้วทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยหรือโคช ครูจึงจำเป็นต้องรู้วิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย.”

­

­

­

ครูปริศนา เล่าว่า...ตนได้คิดออกแบบการเรียนการสอน และสร้างหน่วยการเรียนรู้ใช้ชื่อว่า “พลเมืองดี มีจิตอาสา ร่วมพัฒนาสังคม” ในวิชาสังคมศึกษาบูรณาการกับวิชา IS3 (การจัดกิจกรรมการนำองค์ความรู้ไปใช้บริการสังคม (Social Service Activity) ในกลุ่มกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน) โดยเลือกใช้กระบวนการสอนแบบโครงงาน (PBL:Project - Based Learning) เพราะเป็นวิธีการสอนที่นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ฝึกใช้ทักษะต่างๆ รวมทั้งฝึกการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้จริง กำหนดเวลาเรียนในห้องเรียนวิชาสังคมศึกษา 6 คาบ เรียนรู้ด้วยการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอีก 34 คาบ (วิชา IS3)

­



เป้าหมายของหน่วยการเรียนรู้นี้ เพื่อให้นักเรียนเป็นพลเมืองดี ด้วยการมีคุณลักษณะตามที่หลักสูตรกำหนด เช่น มีวินัย ซื่อสัตย์ ไฝ่เรียนใฝ่รู้ อยู่อย่างพอเพียง มีจิตอาสา นอกจากนี้ยังเกิดสมรรถนะ 5 ประการ ตามหลักสูตรมาตรฐานสากล ซึ่งเป็นสมรรถนะของเด็กยุคใหม่ที่จะก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 คือ เป็นเลิศทางวิชากร สื่อสารสองภาษา ล้ำหน้าทางความคิด ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์และร่วมกันรับผิดชอบสังคม


“แก่นของความคิด นอกจากต้องการปลูกฝังคุณลักษณะ ทักษะของด็กในศตวรรษที่ 21 แล้ว ยังต้องการให้นักเรียนมีเจตคติว่าการเป็น “พลเมืองดี” นั้น สามารถทำได้ด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา เพียงแต่คิดดี พูดดี ทำดี”

­

­

­

ครูปริศนาเล่าต่อว่า กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้จะเน้นใช้คำถามกระตุ้นคิด สอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในชุดคำถาม ตลอดทั้งกระบวนการสอนแบบโครงงาน ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้นหลัก แต่ละชั้นสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในด้านหลักคิด หลักการ และหลักปฏิบัติ ดังนี้ 1.สร้างแรงบันดาลใจและระดมความคิด ครูสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนอยากทำกิจกรรม โดยการใช้สื่อทั้งวิดีทัศน์และผลงานเดิมของรุ่นพี่ ประกอบกับเทคนิคการตั้งคำถาม ที่ให้นักเรียนวิเคราะห์สถานการณ์ในสื่อ ก่อนที่จะโยงคำถามเข้าหาตัวผู้เรียน และให้นักเรียนทบทวนความรู้สึกดีๆ ที่ได้รับจากประสบการณ์เดิม ตัวอย่างคำถาม เช่น พลเมืองดีมีลักษณะอย่างไร แล้วพวกเราในฐานะนักเรียนทำอะไรได้บ้างที่จะแสดงถึงการเป็นพลเมืองดี จากนั้นให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆ จากกระบวนการทำงานกลุ่ม

“ครูสามารถสอนนักเรียนให้เกิดทักษะ คุณลักษณะได้จากการทำงานกลุ่ม เริ่มจากที่เขารู้จักสื่อสาร รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้เพื่อนเลือกมาอยู่กลุ่มตนเอง ระหว่างการจัดการแบ่งบทบาทหน้าที่ในกลุ่ม นักเรียนได้ฝึกกระบวนการวิถีประชาธิปไตย เช่น รู้จักรับฟังคนอื่น เป็นต้น”

สรรหากิจกรรมคือขั้นตอนการเลือกโจทย์โครงการเป็นขั้นตอนสำคัญของกระบวนการทำโครงการ ซึ่งนักเรียนได้ฝึกทักษะการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงวิเคราะห์เลือกโจทย์อย่างรอบคอบ โดยใช้ 7 คำถามสำคัญตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง สู่กระบวนการปฏิบัติ 4 ขั้นตอนคือ รู้ คิด เลือก ทำ ซึ่งทั้ง 4 ขั้นตอนต้องอธิบายด้วย 3 ห่วง 2 เงื่อนไข

2.ลงมือปฏิบัติ เป็นการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง “ความรู้” เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจอย่างเป็นเหตุเป็นผลและเป็นภูมิคุ้มกันให้การทำงานประสบความสำเร็จ ครูปริศนาจึงให้ความสำคัญกับการที่นักเรียนต้องฝึกหาความรู้อย่างรอบคอบเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับเตรียมพร้อมก่อนลงมือทำจริง จากนั้นเขียนโครงการฝึกทักษะการสื่อสารทางด้านภาษาให้ผู้อ่านเข้าใจและเป็นการวางแผนไปในตัว และลงมือปฏิบัติตามโครงการ บันทึกและถอดบทเรียน

3.สื่อสาร การเขียนรายงานเป็นขั้นตอนที่นักเรียนได้ฝึกทักษะการสื่อสาร ทักษะการใช้เทคโนโลยีและทักษะต่างๆ จากนั้นได้ให้มาแสดงผลงานและแลกเปลี่ยสเรียนรู้เพื่อฝึกทักษะการสื่อสาร และอาจารย์มีบทบาทให้นักเรียนเห็นความหมายของ “พลเมืองดี มีจิตอาสา”

ในการประเมินผลการเรียนรู้ ครูปริศนานำมาใช้หลากหลายวิธี อาทิ ใช้แบบสังเกตครู การให้เพื่อนนักเรียนสังเกตกันเอง สะท้อนความรู้สึกผ่านถอดบทเรียน เขียนเป็นเรื่องเล่า และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ครูจะประเมินได้ว่าในกระบวนการทำโครงงาน นักเรียนได้ฝึกทักษะต่างๆ อย่างไร เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา การรู้จักฟังความคิดเห็นคนอื่น ความอดทน เป็นต้น และนักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่เจตคติหรือสำนึกของการเป็นพลเมืองดี มีจิตอาสา หรือไม่อย่างไร?

“การสอนเรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องใกล้ตัวของนักเรียน จะเป็นเรื่องที่สอนแล้วก่อให้เกิดพลังขึ้นในตัวผู้เรียน ยิ่งนักเรียนได้ลงมือทำด้วยตนเอง ยิ่งทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ลึกซึ้งและเร็วกว่าการสอนแบบบรรยายหรือวิธีอื่นๆ การเรียนแบบนี้ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ครูต้องคอยเป็นผู้แนะนำ เชื่อมโยง ให้ความรู้ที่นักเรียนยังไม่เข้าใจอยู่เป็นระยะๆ ระหว่างเรียนก็ให้นักเรียนพยายามค้นหาประเด็นที่นักเรียนและครูกำหนดร่วมกัน ด้วยการตั้งคำถามชวนคิด เปิดโอกาสให้นักเรียนในห้องมีส่วนร่วมในการซักถามและเรียนรู้ไปพร้อม” ครูปริศนากล่าวตบท้าย

ครูปริศนา เป็นหนึ่งในครูตัวอย่างจากโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือเป็นตัวอย่างของครูที่เปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิธีสอน โดยการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการในห้องเรียนอย่างสัมฤทธิ์ผล 

ติดตามชมภาพกิจกรรมได้ที่นี่

อ่านประวัติเพิ่มเติมได้ที่นี่


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


หัวข้อข่าว :

พลเมืองดี..ต้องเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง

ขอขอบคุณเว็บไซต์ thaihealth.or.th ประจำวันศุกร์ที่ 23 กันยายน 2559