“เศรษฐกิจพอเพียง” หลักคิด หลักปฏิบัติเพื่อสร้างความสำเร็จในการดำเนินชีวิต

"เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชายไทยมาโดยตลอด นานกว่า 25 ปี โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา (ที่มา http://goo.gl/4SbjOh)





เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา(ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพ )มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ได้จัดเสวนาเรื่อง“บนเส้นทางการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ” ภายใต้งาน “รวมพลังเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง” จัดโดยมูลนิธิยุวสถิรคุณโดยมี ผู้บริหาร ครู นักเรียน จากศูนย์การเรียนรู้ภายใต้การหนุนเสริมของมูลนิธิสยามกัมมาจล เข้าร่วมสะท้อนประสบการณ์ที่ได้นำหลักปรัชญาฯ ไปใช้จนเกิดผลกับงานและชีวิตส่วนตัวอย่างไร โดยมี ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษา ให้เกียรติทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการในวันเดียวกันนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจลได้ส่งมอบศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 43 แห่งให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิยุวสถิรคุณอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้บริหาร ครู นักเรียน ที่ผ่านการเป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานศึกษาพอเพียง จากทั่วประเทศเข้าร่วมงานนี้อย่างพร้อมเพรียง



คุณศศินี ลิ้มพงษ์



คุณศศินี ลิ้มพงษ์ ผู้จัดการโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ได้กล่าวถึงการมีส่วนในการร่วมขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “มูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งปัจจุบันคือมูลนิธิยุวสถิรคุณ ขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมานับตั้งแต่ปี 2548โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลมีบทบาทในการต่อยอด จุดประกาย และสร้างความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้กับสถานศึกษาพอเพียงปี 2551 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายจะขยายผลการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา 40,000 แห่งทั่วประเทศ มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงได้จัดทำโครงการ “เสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา” ขึ้น โดยมีเป้าหมาย สนับสนุนให้สถานศึกษาพอเพียงที่มีความพร้อมได้พัฒนาตนเองเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา” โดยศูนย์การเรียนรู้มีเป้าหมายให้ผู้บริหาร และครูมีความรู้ เข้าใจหลักปรัชญาฯ อย่างถูกต้องว่า เป็น “หลักคิด หลักปฏิบัติเพื่อสร้างความสำเร็จในการดำเนินชีวิต” เมื่อเข้าใจแล้วก็นำไปใช้ตามบริบทของแต่ละคน เพื่อให้นักเรียนเข้าใจเห็นคุณค่า และได้รับการฝึกฝนให้นำมาใช้บ่อยๆ จนเกิดเป็นอุปนิสัย “พอเพียง”

“...สำหรับสถานศึกษาพอเพียงที่ทางมูลนิธิสยามกัมมาจลได้สนับสนุนให้พัฒนาตนเป็นศูนย์การเรียนรู้ มีทั้งสิ้นจำนวน43 แห่ง หลากหลายบริบท กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โรงเรียนในเมือง ชายขอบห่างไกล สอนระดับประถม มัธยมและขยายโอกาส มีการนำหลักปรัชญาฯ มาปรับใช้แตกต่างกัน แต่ผลลัทธ์ได้ผู้เรียนเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่คิดเป็น ทำงานเป็น เป็นคนดี มีคุณภาพ และเห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจลหวังว่าศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 43 แห่งนี้ จะเป็นกำลังสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป”


เสวนา ผุ้บริหาร ครู พี่เลี้ยง



การทำงานของมูลนิธิฯ สนับสนุนให้โรงเรียนนำเรื่องการจัดการความรู้ (KM)มาใช้ในการทำงานตั้งแต่การถอดบทเรียนการทำงานเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น มีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดตลาดนัดความรู้ ให้แก่ผู้บริหาร ครูเพื่อที่จะชวนคิดและกระตุ้นให้ผู้มาเรียนรู้ได้นำเสิ่งที่ได้เรียนรู้กลับไปพัฒนาตนต่อไป การจัดเวทีดังกล่าวเป็นการเสริมพลังให้คนทำงานแล้วยังเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้อีก้ดวย นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ให้มาทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ให้กับสถานศึกษาพอเพียงได้แก่ คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมหาวิทยาลัยในพื้นที่แต่ละภูมิภาค ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.สงขลานครินทร์วิโรฒ ม.มหาสารคาม เป็นต้น เพื่อช่วยเติมเต็มด้านวิชาการและคาดหวังว่ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนจะทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายต่อไป จากการทำงาน 9 ปี ทำให้ค้นพบว่าปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงหัวใจสำคัญคือ โรงเรียนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร”และเข้าใจอีกว่าเป็น “เครื่องมือ”หลักที่โรงเรียนจะใช้ในการเพาะบ่มคุณลักษณะอันพึงประสงค์ต่างๆ และมีครูกับผู้บริหารก็มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้นักเรียนเข้าใจหลักปรัชญาฯ ผ่านกระบวนการเรียนการสอน

สำหรับเวทีเสวนาในครั้งนี้ ผู้บริหาร ครู และนักเรียน และพี่เลี้ยงในเครือข่ายมูลนิธิสยามกัมมาจลได้มาร่วมสะท้อนการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในสถานศึกษาแต่ละท่านได้สะท้อนในประเด็นต่างๆ ดังนี้...


ประเด็นผู้บริหารสถานศึกษาที่ร่วมสะท้อนการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในสถานศึกษาได้แก่



ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา



ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไสในฐานะผู้บริหารได้กล่าวแนะนำบทบาทของครูที่ควรจะต้องนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เพื่อประโยชน์แก่นักเรียนอย่างไร “ครูไม่ใช่เอาแต่สอน แบบนั้นเราใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ ใช้เทปก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ครู แต่ครูคือผู้อำนวยความสะดวกให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ หาคำตอบด้วยตัวเองให้มากที่สุด ครูเกือบจะต้องไม่สอนเลย แต่สามารถแนะนำให้เด็กค้นหาข้อมูล รู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง แล้วเด็กจะเก่งมากเลย และดีด้วย ไม่ใช่แข่งขันกัน เอาชนะกัน เด็กจะช่วยกันทดลอง หาคำตอบด้วยกัน รู้จักการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เราต้องการให้เด็กอยู่อย่างใช้เศรษฐกิจพอเพียง ตัวครูเองก็ต้องใช้เศรษฐกิจพอเพียง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจ ใช้เศรษฐกิจพอเพียงในชีวิตของเราและครูคือต้นแบบจริงๆ”

ผอ.อวยพร หว่างตระกูล ผู้อำนวยการโรงเรียนดาราวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ “เศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ แล้วคือหลักคิดในการตัดสินใจและ ทำอย่างไรจะลงสู่นักเรียนได้ ครูเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุด ทำอย่างไรให้ครูเข้าถึงหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครูต้องเข้าใจ ที่โรงเรียนได้นำมาใช้คือเมื่อดิฉันได้เข้าการอบรมจากมูลนิธิสยามกัมมาจลก็จะนำสถานการณ์จากการอบรมนั้นๆ มาขยายต่อที่โรงเรียน โดยให้ครูนำแผนการสอนมาดูว่ามีจุดปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง บอกครูล่วงหน้าว่าเราจะมีการวิพากษ์กันไม่โกรธกันนะ เพราะจะได้รู้ว่าจุดไหนคือจุดบกพร่อง ตรงไหนคือจุดอ่อนของเรา ผอ.เองก็ทำให้เป็นตัวอย่าง คุณครูจะได้เข้าใจ หลังนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บูรณาการกับหลักปรัชญาของโรงเรียน รู้สึกว่าตนเองมีความสุขมากว่า โรงเรียน ครู นักเรียนความพอเพียงและนำหลักพอเพียงเข้าสู่ตัวนักเรียนได้จริง”



ผอ.แสน แหวนวงศ์



ผอ.แสน แหวนวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์ “หลักปรัชญาฯ เป็นหลักคิด คิดได้ คิดเป็น เข้ามาสู่หลักปฏิบัติฝึกฝนและทำความรู้อย่างต่อเนื่องอย่างเข้าใจ นักเรียนจะมีความสุขมากเพราะเขาพึ่งตนเองได้จากการเรียนรู้ ผู้บริหารต้องเป็นนักวิเคราะห์เชิงระบบในหลักปรัชญาฯ ให้ได้ เมื่อวิเคราะห์ต้องทำความเข้าใจ เข้าถึงและพัฒนา หลักปรัชญาฯ โดยลักษณะมีส่วนร่วมทุกคน บูรณาการ ทุกคนในโรงเรียน ครู นักเรียน บุคลากรทางการศึกษา ทำทุกคนถึงจะสำเร็จและประโยชน์จะเกิดได้กับทุกคน และโรงเรียนคือแหล่งสร้างคนดีคืนสู่สังคมนั่นเอง”

ประเด็นเส้นทางการใช้เศรษฐกิจพอเพียงสร้างนักเรียน “พอเพียง” ของครู และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่


ครูปริศนา ตันติเจริญ



ครูปริศนา ตันติเจริญ โรงเรียนโยธินบูรณะ กรุงเทพ ได้กล่าวถึงวิธีการนำหลักฯ ไปใช้กับนักเรียนอย่างได้ผล“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เนื้อหา (Content) แต่เป็นกระบวนการ ดิฉันจึงออกแบบการสอนที่เลือกให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง และได้ทดลองมาเป็นเวลาเกือบ10 ปี ให้เด็กทำโครงการ/โครงงาน (Project Based Learning) ซึ่งได้ผลดีจริงๆ เพราะเด็กได้คิด ได้ทำ และสุดท้ายต้องถอดบทเรียน เพราะถ้าเพียงแค่ให้เด็ก check list ครูจะไม่รู้ว่าเด็กรู้จริงมากน้อยแค่ไหน และพฤติกรรมเขาเปลี่ยนไปหรือเปล่า วิธีการถอดบทเรียนจะใช้ทั้งให้เด็กเขียนและครูชวนคุย ซึ่งเด็กสะท้อนว่าวิธีคิดของเขาเปลี่ยนไป จากเดิมใช้เวลาว่างตามใจ เล่นเกม ดูหนังฟังเพลง แต่เดี๋ยวนี้เขาปรับใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์มากขึ้น”

ครูรชฎ จันพุ่ม โรงเรียนห้วยยอด จ.ตรัง “ก่อนมารู้จักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคนมั่นใจตัวเองสูงมาก มั่นใจว่าตัวเองเก่ง พอมารู้ตัวอีกทีก็คิดว่าตัวเองโง่มากที่เชื่ออย่างนั้น มารู้จักเศรษฐกิจพอเพียงตอนแรกก็สามห่วง สองเงื่อนไข สี่มิติ แต่วันหนึ่งได้มีโอกาสอบรมที่โรงเรียน กับ อ.ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ยินคำพูดว่าการติดกระดุมเม็ดแรกถ้าเราติดผิด เม็ดต่อไปเราจะติดให้เด็กผิดตลอด ดิฉันหันกลับมาดูตัวเองว่ากระดุมเม็ดแรกของเราคือการมุ่งสู่เป้าหมายต้องการให้เด็กเรียนเก่งแค่นั้น และไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้นักเรียนคะแนนแกทแพทสูง แต่วันหนึ่งได้ไปเป็นครูแกนนำให้เด็กนักเรียนทุนพอเพียง ได้ไปเป็นกิจกรรมที่สร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้จึงกลับมาสร้างนวัตกรรมคุณป้าที่โรงเรียน พอคลิกตรงนี้จึงเริ่มนำหลักปรัชญาฯ มาใช้ ความสำเร็จของดิฉันไม่ใช่ว่าสอบผ่านครูผู้ช่วย ได้สองขั้น แต่ความสำเร็จของดิฉันได้เห็นเด็กยิ้มก็พอแล้ว ดิฉันไม่ได้เพียงสร้างเด็กตัวเล็กๆ แต่เด็กตัวเล็กๆ ได้สร้างดิฉันด้วย ทำให้ดิฉันได้มีการกำลังใจและมั่นใจในแนวทางนี้ ในความคิดของดิฉันหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่เป็นเรื่องของคนปกตที่มีเหตุผลเขาทำกัน โดยไม่ไปทำร้ายคนอื่น เราต้องมีคุณธรรม เราสร้างของขึ้นมาหนึ่งอย่าง เด็กต้องทนตาหลับขับตานอนไม่มีความสุขเลย แต่การที่ให้เขากลับไปเรียนรู้กับพ่อ แม่ แล้วกลับมาบอกว่าวันนี้ได้คุยกับพ่อแม่แล้ว อย่างไหนดีกว่ากัน”

ครูเบญจมาศ สิงห์น้อย โรงเรียนชุมชนบ้านห้วยค้อมิตรที่ 206จ.ขอนแก่น “บ่มเพาะเรื่องความรักโรงเรียน รักชุมชนก่อน วิธีง่ายๆ ให้เด็กไปถามปู่ย่าตายายว่าโรงเรียนนี้สร้างมาได้อย่างไร ส่วนกิจกรรมการเรียนการสอน เราพยายามตั้งคำถาม กระตุ้นความคิดให้เด็ก ดิฉันมีความประทับใจว่าเราสอนเด็ก ใช้หลักปรัชญาฯ ทำให้เด็กรู้จักคุณค่า รู้จักรักท้องถิ่น มีความรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ”

ประเด็นประสบการณ์ของ “พี่เลี้ยง” ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

­

นายทรงพล เจตนาวณิชย์


นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข ได้นำหลักฯ นี้ไปขยายผลจนเกิดประโยชน์กับท้องถิ่น“ตอนนี้ผมนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการทำงานสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจับมือกับโรงเรียนพัฒนาเด็กและเยาวชนแต่ละตำบล แล้วให้เด็กใช้การทำโครงงานพัฒนาตัวเอง เริ่มจากให้เด็กรู้จักตั้งเป้าหมายชีวิตตนเอง ว่าอยากจะมีอาชีพอะไร เช่น การเป็นครูที่ดีต้องมีนิสัยอย่างไร ให้เด็กคิดวิเคราะห์ และตีความ ท้ายสุดให้เด็กโยงเข้าสู่การสร้างอุปนิสัยพอเพียง แล้วชี้ให้เด็กเห็นว่าถ้าเด็กฝึกฝนตนเองให้ได้อุปนิสัยเช่นนี้ ชีวิตจะประสบความสำเร็จ”



นายไพโรจน์ คีรีรัตน์



นายไพโรจน์ คีรีรัตน์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เผยว่าเข้าใจหลักฯเพราะเรียนรู้ร่วมกันกับครูในฐานะเป็นพี่เลี้ยงและนำมาสอนนักศึกษาเองด้วย“ผมเคยสอนเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันนะแต่สอนเป็นความรู้ ตอนแรกที่ทำงานกับโรงเรียนไปเรียนรู้โรงเรียนนะ แล้วพยายามสอนเรื่องคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งเราวางรากฐานของการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเข้าไปด้วยแต่ไม่ได้ผล ครูไม่นำวิธีคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลไปใช้เลย สุดท้ายเราเข้าใจแล้วว่าการสอนคิดคือการตั้งคำถาม จึงเริ่มตั้งคำถามกับครู สอนเรื่องการตั้งคำถาม พาไปดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ก็ตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เข้าไปดูในห้องเรียน แล้วกลับมาสะท้อนกันตรงๆ เราฝึกวิธีการประเมินการเรียนรู้ให้ด้วยว่าให้ดูที่เด็กสอนดีไม่ดีดูที่การตอบคำถามของเด็ก ถ้าไม่ใช่เราช่วยให้ครูตั้งคำถามเป็น... โรงเรียนที่เราทำงานด้วยแล้วประสบความสำเร็จคือโรงเรียนที่ผู้บริหารสนใจ และให้ความร่วมมือ... ตอนนี้ผมให้นักศึกษาของผมลงไปทำโครงงานเศรษฐกิจพอเพียงกับโรงเรียน...เรียนรู้จากกระบวนการทำงาน ”



ดร.ดุษิต พรหมชนะ



ดร.ดุษิต พรหมชนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย “ผลจากงานวิจัยที่โรงเรียนทำภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิ เราค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว มุมมองหนึ่งของหลักปรัชญาคือการพัฒนานิสัยตนเอง การรู้จักตนเอง รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าได้ 4 เรื่องนี้ที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก เป็นประเด็นที่เด็กใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด เราจึงได้ปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของโรงเรียน คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาอุปนิสัย เราจึงนำ 2 เรื่องนี้เดินไปด้วยกันตามกรอบนโยบายของโรงเรียน”

ผศ.ดร.กาญจนา เกียรติมณีรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “นำหลักปรัชญาฯ มาสอนนักศึกษา ในรายวิชาบริโภคศึกษา ลักษณะการสอนแบบบูรณาการสอดแทรกและจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสามห่วง สองเงื่อนไข ให้นักศึกษาได้ลองคิดสร้างสรรค์กิจกรรมเป็นโปรเจคเบส นักศึกษาได้เรียนรู้มากและขยายผลไปที่นักศึกษา ปี 5และการไปเป็นพี่เลี้ยงโรงเรียนโซนภาคเหนือ 20 โรงเรียนมีการแลกเปลี่ยนกันทำให้ได้เรียนรู้เพิ่มเติมว่าหลักปรัชญาฯ สามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรมในการเรียนการสอน เพียงแต่ว่าเราจะหยิบหรืออธิบายได้ให้รู้อย่างลึกซึ้งและนำไปใช้อย่างเข้าใจ ความรู้ที่ได้เรียนรู้ต้องได้เติมเต็มอย่างตลอดด้วยการถอดบทเรียน การใช้ KM ผลที่เกิดขึ้นทำให้ดีใจที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”




ประเด็นอุปนิสัย “พอเพียง” เกิดขึ้นเมื่อไร และอย่างไร “นักเรียน” ซึ่งถือว่าเป็นตัวพิสูจน์ผล ได้แก่

นายอยู่ยง เชาวน์ปรีชา ศิษย์เก่าโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี จ.เพชรบุรี กล่าวว่า “ผมได้นักหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ได้จากโรงเรียนและผ่านการอบรมต่างๆ นำมาใช้กับชีวิตตัวเอง ปัจจุบันผมมาช่วยพ่อแม่ ทำกิจการที่บ้าน ปัญหาที่เจอคือเรื่องบุคลากร ต้องพึ่งบุคลากรที่มีฝีมือและเครื่องจักรที่ต้องควบคู่กันไป ที่ผมใช้คือรักษาความ “พอดี” ให้ทำงานให้พอดีไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป พอเขาเจอปัญหาอะไรในการทำงานก็รับฟังและพยายามทำความเข้าใจ เป็นการรักษาความพอดีในองค์กรครับ”

นางสาวธัญญลักษณ์ อะวิชิน ศิษย์เก่าโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงผลของการที่ตนเองได้นำหลักฯ ไปใช้จนสามารถแก้ไขปัญหาได้“จากที่เคยเรียนได้ที่ 1 ของโรงเรียน เมื่อมาเรียนพยาบาล เกรดตกเหลือเพียง 2.09 ทำให้ต้องมาทบทวนว่าจะสอบเอ็นทรานซ์ใหม่หรือไม่ เมื่อไตร่ตรองแล้ว ได้คิดว่าจะละทิ้งความใฝ่ฝันที่จะเป็นพยาบาลของตนเองได้จริงหรือ จึงตัดสินใจวางแผนปรับแบ่งเวลาในการเรียน อ่านหนังสือ และการทำกิจกรรมใหม่ ทำให้เกรดเทอมต่อมาสูงขึ้นเป็น 2.9เศรษฐกิจพอเพียงทำให้หนูรู้จักกระบวนการจัดการกับตนเอง เรารู้ว่าตัวเองทำได้ ถ้าเรารู้สิ่งที่บกพร่องของตนเองแล้วปรับเปลี่ยนแก้ไขใหม่”

นายสถาพร พันธุ์ประดิษฐ ศิษย์เก่าโรงเรียนห้วยยอดจ.ตรัง กล่าวถึงการนำหลักฯ นี้ไปใช้ได้อย่างได้ผล “หลักปรัชญาต้องนำไปใช้ภายใต้บริบทที่ตัวเองเป็น ทุกคนมีสภาวะที่เผชิญที่ต่างกัน ทุกคนมีความดีที่ต่างกัน ไม่มีใครเกิดมาไม่ดีหรอก อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้ความเป็นเราไหม เราเรียนรู้ความเป็นคนอื่นไหม และถ้าจะให้ดี หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องนำมาสอนตั้งแต่เด็กชั้นอนุบาล เพราะถ้าเด็กรู้จักตัวเอง ภูมิใจในตัวเองตั้งแต่เล็ก เมื่อเขาโตขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเขาจะไม่ทำอะไรที่ไม่ดีเลย เขาจะแยกแยะดีชั่วได้ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้คนแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนดีชั่ว และหลักปรัชญาจะทำให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เมื่อเจอสภาวะที่เป็นปัญหาจะหาทางแก้ปัญหาได้ ไม่หาทางออกที่ทำร้ายตัวเอง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือทางออกของชีวิตคน”

นางสาวชวนา สุทธินราธร ศิษย์เก่าโรงเรียนสตรีมารดาพิทักษ์จ.จันทบุรี เล่าถึงความเข้าใจหลักปรัชญาฯ นี้เพราะครูเชื่อใจ“หนูได้เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขนาดนี้ เพราะครูให้ความเชื่อใจ และไว้วางใจให้หนูลงมือทำงานและช่วยกันคิดเอง ให้โอกาสหนูไปทำโครงการจิตอาสาเอง พวกหนูได้วางแผนเอง ตัดสินใจแก้ปัญหาเอง โดยมีครูเป็นผู้ชี้แนะ เรารู้สึกได้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำเป็นงานของเรา ไม่ใช่ภาระหน้าที่ที่ครูมอบหมายให้แล้วเราทำส่งเหมือนการบ้าน เรารู้สึกว่าต้องพยายามทำงานนี้ให้ประสบความสำเร็จ ทำให้เราเข้าใจหลักปรัชญาจริงๆ เป็นวิธีการเรียนรู้ที่น่าจดจำนำไปใช้ในชีวิต”

ผศ.ดร.เลขา ปิยะอัจฉริยะ ได้สรุปเส้นทางการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติไว้อย่างน่าคิดว่า
“แต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้และนำหลักปรัชญาไปใช้แตกต่างกันไปแต่หลังจากตกผลึกทางความคิด ทุกคนมองว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยเปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนทัศนคติ สุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม”


เผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆดังนี้


 

หัวข้อข่าว :

เสวนาหลักปฏิบัติเพื่อสร้างความสำเร็จ

ขอขอบคุณหนังสือบ้านเมือง ประจำวันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม 2558

 

หัวข้อข่าว :

'เศรษฐกิจพอเพียง'หลักคิด-ปฏิบัติสู่ความสุขในการดำเนินชีวิต

ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ประจำวันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2558