ครูศรีวารินทร์ สารศรี กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา จังหวัดลำปาง ปรึกษากลุ่มเยาวชนโครงการปลูกใจ...รักษ์โลก โครงการการจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชม

                                                           

­

                ครูศรีวาริน สารศรี กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนห้างฉัตรวิทยา จังหวัดลำปาง ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนโครงการการจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชม ได้ชักชวนให้เด็กนักเรียนที่มีจิตอาสาช่วยกันทำงานในโรงเรียนมาร่วมโครงการช่วยเหลือนักเรียน เป็นผู้ให้คำปรึกษาเป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมาร่วมกันทำกิจกรรม และช่วยกันคิดวางแผนการทำกิจกรรมให้โครงการนี้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้

­

                  สำหรับการสร้างแรงจูงใจ ครูศรีวาริเล่าว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กจิตอาสา ช่วยงานโรงเรียนทุกอย่าง เวลาโรงเรียนมีงานเขาก็จะอยู่ช่วยเสมอ เป็นคนเสียสละ เสาร์-อาทิตย์เขาก็มาช่วยได้ ก็เลยชวนว่ามาทำโครงการนี้ดีไหมเพราะเป็นกิจกรรมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในระยะสุดท้ายของโครงการ ผลตอบรับจากคนในชุมชนค่อนข้างดี การทำงานกับชุมชนเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะการนัดหมายชุมชนที่ต้องหาเวลาที่ชุมชนว่างจากการทำงานจริงๆ จึงจะเข้าถึงชุมชนได้ เด็กจะต้องเสียสละเวลา เช่น วันอาทิตย์ หลังเลิกงานหรือตอนกลางคืนมาทำกิจกรรม ส่วนผู้ปกครองก็มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรม

­

                 ส่วนกิจกรรมคืนข้อมูลสู่ชุมชนนั้นเกิดขึ้นจากการที่เด็กๆ มองเห็นว่าในช่วงที่กลุ่มเยาวชนเข้ามาทำกิจกรรมจัดการขยะในชุมชน ทำให้ปริมาณขยะในชุมชนลดลง โดยสังเกตได้จากการชั่งน้ำหนักขยะก่อนดำเนินโครงการกับหลังดำเนินโครงการปริมาณขยะลดลง แม้จะไม่ได้ทำกับครัวเรือนทั้งหมดในชุมชน แต่ทำเพียง 32 ครัวเรือนจากร้อยครัวเรือน เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้ เด็กๆ จึงจัดเวทีคืนข้อมูลให้กับชุมชน โดยเชิญผู้นำ อบต.และคนในชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาเทศบาลมาฟังการคืนข้อมูลให้กับชุมชน ซึ่งจากการที่ผู้นำชุมชนพูดในเวทีพอสรุปได้ว่า เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นลง เขาจะสานต่อให้มันเกิดความยั่งยืนในชุมชน เพราะเขาหาวิธีจัดการขยะมาหลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ที่กลุ่มเยาวชนทำเขาพอจะมองเห็นแนวทางและคิดว่าจะสานต่อให้กิจกรรมนี้เกิดความยั่งยืนต่อไปในชุมชน

­

                  สำหรับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้คือ รู้สึกภาคภูมิใจในผลงาน และการที่ชุมชนให้ความสนใจ โดยเฉพาะกิจกรรมสุดท้าย “เวทีคืนข้อมูล” ที่มีกิจกรรมย่อยอยู่ในวันที่มารับฟังข้อมูล โดยให้ชาวบ้านเอาขยะมาจากบ้านด้วยเพื่อนำมาแลกไข่ แม้โครงการนี้จะมีครัวเรือนต้นแบบ เด็กใช้วิธีประชาสัมพันธ์แจกแผนพับ มีหนังสือไปถึงครัวเรือนต้นแบบ และใช้เสียงตามสายในชุมชน ปรากฏว่าคนที่มาไม่ได้มาแต่ครัวเรือนต้นแบบเท่านั้น แต่ยังมีครัวเรือนอื่นๆ มาร่วมด้วย แต่ละครัวเรือนำขยะใส่รถมาด้วยเพื่อมาแลกไข่แลกและของใช้ เช่น น้ำมันพืช ผงซัก เด็กเล็กๆ ก็ขนขยะมากัน ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขาทำงานนี้สำเร็จ

­

                 ก่อนมาทำโครงการนี้ เวลาทำกิจกรรมเด็กๆ จะวางแผนไม่เป็น จัดสรรงานไม่เป็น แต่งานสุดท้ายครูให้เขาทำกิจกรรมเอง ถ้ามีปัญหาค่อยมาปรึกษาครู ผลคือเด็กๆ สามารถจัดการแบ่งหน้าที่กันเรียบร้อย มีทั้งฝ่ายลงทะเทียบ ฝ่ายวัสดุ ฝ่ายการเงิน และเตรียมรายงาน ให้เขาวางแผนและให้ประเมินตนเอง จัดการตัวเองว่าตัวเองมีความเชื่อมั่นขนาดไหน เราประเมินตนเองได้ไหมว่าเราทำงาน ประเมินโครงการได้โดยไม่ต้องปรึกษาครู หลักการคือเราต้องไปถึงเป้าหมายที่เราวางไว้ให้ได้ เราต้องการอะไร ดูเป้าหมายที่เราวางไว้ และพยายามขับเคลื่อนให้เราไปถึงเป้าหมายให้ได้ ถ้ามีปัญหาก็ลองมาช่วยกันวิเคราะห์ว่าปัญหาเกิดจากอะไร แล้วเราจะแก้อย่างไร และทำอย่างไรให้เราไปถึงเป้าหมาย ให้ชุมชนยอมรับว่าสิ่งที่เราให้กับเขา เขาสามารถทำกิจกรรมต่อเนื่องได้เมื่อไม่มีเรา รู้สึกภูมิใจที่เด็กๆ สามารถทำโครงการนี้ได้ดี ส่วนกลุ่มเพื่อนๆ ที่ไม่ได้ทำโครงการนี้ก็มาสมัครเข้าร่วมโครงการต่อไป

­

                สำหรับความคาดหวัง เราจะไม่หวังสูงเกินไป เพราะกลัวว่าทำไม่ได้ เด็กก็ยังหวั่นๆ อยู่ว่าเราจะทำไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ไหม เพราะเป้าหมายเราคือชุมชนเขารับที่จะสานต่อโครงการนี้ เขาจะยอมรับไหม ซึ่งคนในชุมชนก็รับสานต่อโครงการนี้แล้ว