รักษ์ป่าสัก…เพื่อคุณภาพแม่น้ำป่าสัก

              

           

                                                    


                ภาพบรรยากาศริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสักที่เคยอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว หรือภาพเด็กน้อยในชุมชนลงเล่นน้ำอย่างสนุกสนานในยามเย็น เพื่อคลายความอ่อนล้าเริ่มเลือนหายไปจากแม่น้ำป่าสัก


                “แม่น้ำป่าสัก”มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลผ่านจังหวัดต่างๆ และบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำสายสำคัญของภาคกลาง  แม่น้ำป่าสัก จึงเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ชุมชนในจังหวัดสระบุรี ใช้อุปโภคบริโภค แต่ด้วยความเจริญและกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ และมีการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำสายนี้ลดลง ความสำคัญของแม่น้ำป่าสักจึงลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลา


           จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำป่าสัก  


              ด้วยเหตุนี้กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสักที่ประกอบด้วย  “น้องเปา” นางสาวกันภิรมย์ เบญจรัตนานนท์  “น้องโมเม”  นางสาวกานต์ธิดา ศีติสาร  และ “น้องตอง”  นางสาวธัญชนก โสภาคดิษฐ  และเพื่อนๆ จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจึงส่ง “โครงการเยาวชนรักษ์ป่าสัก” เข้าร่วมในโครงการปลูกใจ...รักษ์โลก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมีมูลนิธิกองทุนไทยเป็นผู้ดำเนินโครงการ


                                                             


                น้องโมเม  เล่าว่า โครงการเยาวชนรักษ์ป่าสักเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เกิดขึ้นจากพี่ๆ ในโรงเรียน 2 คนที่สนใจศึกษาคุณภาพของแม่น้ำป่าสัก เพราะเป็นแม่น้ำสายหลักของชาวสระบุรีและอยู่ใกล้โรงเรียน จึงอยากรักษาให้กลับมาสะอาดเหมือนเดิม พวกพี่เริ่มต้นทำงานในโครงการนี้ด้วยการสำรวจแม่น้ำป่าสักรอบๆ ชุมชนและตรวจสอบคุณภาพน้ำตามมาตรฐานได้แก่  การตรวจอุณหภูมิ ปริมาณตะกอน ไนเตรท ฟอสเฟต ค่าความเป็นกรด-เบส ความขุ่นใส และปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ


               นอกจากนี้ยังสำรวจสิ่งมีชีวิตในน้ำ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะสามารถบ่งบอกถึงคุณภาพน้ำได้ว่าเป็นอย่างไร โดยมีเครื่องมือที่ใช้สำรวจ เช่น  Conductivity ที่ใช้ตรวจอุณหภูมิและปริมาณตะกอน เครื่องพีเอชมิเตอร์ที่ใช้ตรวจความเป็นกรด-เบส และมีหลอดวัดความขุ่นใส ชุดทดสอบปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ(DO : Dissolved Oxygen) รวมทั้งชุดทดสอบไนเตรทและฟอสเฟต เป็นต้น 


             ทั้งนี้ผลสำรวจพบว่า สภาพน้ำในแม่น้ำป่าสักยังมีคุณภาพน่าพอใจ แต่จะมีปัญหาบ้างในบางจุดที่น้ำมีไนเตรทสูง ส่งผลให้พืชน้ำเจริญเติบโตได้ดี จนไปแย่งออกซิเจนของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำนานาชนิด อีกทั้งในน้ำยังมีค่า DO ต่ำ คือ ปริมาณออกซิเจนน้อยลง ส่งผลให้น้ำเสียได้ง่ายขึ้น

                                                           



               เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวแล้วเยาวชนกลุ่มนี้จึงรวมตัวกันช่วยรักษาแม่น้ำป่าสักให้กลับมามีคุณภาพดังเดิม  ด้วยการจัดทำโครงการเยาวชนรักษ์ป่าสัก ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการย่อยของโครงการปลูกใจ...รักษ์โลก โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ  การตรวจวัดติดตามคุณภาพน้ำทุก 15 วัน การแก้ไขคุณภาพน้ำเบื้องต้น และการนำความรู้คืนสู่ชุมชนเพื่อเฝ้าระวังแก้ไขคุณภาพน้ำ


               น้องโมเมบอกว่า ก่อนที่จะนำข้อมูลความรู้ต่างๆ ไปใช้ในชุมชน พวกเราต้องเริ่มจากตัวเองก่อน จึงได้ขอใช้พื้นที่หลังโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับรับน้ำทิ้งเรียกว่า แหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยนำความคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปใช้ บ่อแรกเอาไปผึ่งแดด บ่อที่สองเอาไปรับพืช บ่อที่สามเอาไปบำบัดและปล่อยลงสู่ธรรมชาติ พอทำไประยะหนึ่งพบว่ามีพืชและต้นไม้เกิดขึ้น โดยใช้วิธีการบำรุงดิน คือห่มฝาง ใส่ปุ๋ยหมัก ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ ปรากฏว่าแก้คุณภาพน้ำได้ จากนั้นเริ่มฟื้นฟูดินเพื่อไปทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพชนิดน้ำและชนิดก้อนเพื่อใช้ในการบำบัดแม่น้ำต่อไป

          

              “หนึ่งปีที่ผ่านมาปรากฏว่าน้ำกลับมามีคุณภาพดีขึ้นมาก จึงเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่พวกเราทำนั้นประสบผลสำเร็จ เลยขยายแหล่งเรียนรู้  ซึ่งได้นำความรู้คืนสู่ชุมชนและพัฒนาคุณภาพน้ำในแม่น้ำป่าสัก จากโครงการนี้ทำให้พวกเราได้กระบวนการคิด ได้เปิดสมองในเรื่องของการปลุกเร้าความคิดในมุมที่อยากจะเป็น เช่นในมุมของนักวิทยาศาสตร์น้อย นักจิตอาสา หรือนักสิ่งแวดล้อม และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้จากการทำโครงการนี้”


                                                          



               น้องโมเม บอกอีกว่า การทำโครงการนี้เป็นประโยชน์กับตนเองมาก เพราะได้ทั้งมิตรภาพ การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น และได้ความรู้ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะทักษะ กระบวนการต่างๆ การแบ่งเวลา และจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี  ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นเพราะได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม


             ด้านอาจารย์อารมณ์ เบสูงเนิน อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสัก กล่าวว่า กิจกรรมในโครงการนี้ไม่มีในห้องเรียน ทำให้เด็กๆ ได้มาเรียนรู้กับเพื่อนต่างชุมชน ได้เรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกัน เพราะแต่ละกิจกรรมจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเด็กได้เรียนรู้ พอได้เรียนรู้เขาจะมีทักษะชีวิต ทักษะการอยู่ร่วมกัน คิดว่าเด็กๆ กลุ่มน่าจะเติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไป

 

              “เป้าหมายของโครงการนี้คือเด็กๆ อยากลงพื้นที่ชุมชนให้ครบทั้ง  52 ชุมชนตามที่ตั้งไว้ แม้ว่าตอนนี้จะพื้นที่ได้เพียง 2 ชุมชนก็ตาม แต่เด็กๆ ก็ไม่ท้อ พยายามสานงานต่อไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้คนในชุมชนลดใช้สารเคมี  ที่ผ่านมาการลงชุมชนทำได้ยาก อาจเป็นเพราะตัวเด็กเองยังไม่รู้วิธีสื่อสารกับชุมชน แต่ตอนนี้พบว่าชุมชนเริ่มให้ความร่วมมือขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เพราะเห็นประโยชน์ของการแก้ปัญหาน้ำเสียของเยาวชนกลุ่มนี้ที่ทำให้คุณภาพแม่น้ำป่าสักดีขึ้นมาก”


              ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสัก ยังมีการติดตามผลและพัฒนาโครงการอยู่เสมอ เพราะสิ่งที่กลุ่มเยาวชนได้กลับไปนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องของคุณภาพแม่น้ำป่าสักที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้อะไร “ทักษะชีวิต” ไปพร้อมๆ กับการทำโครงการ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนความคิด การอยู่ร่วมกัน  มิตรภาพ และการมีจิตอาสา และนี่คือ “พลัง” ของคนรุ่นใหม่ที่กล้าเข้ามาร่วมคิดร่วมทำอะไรดีๆ ให้กับสังคมไทย