อารมณ์ เบสูงเนิน ที่ปรึกษาโครงการกลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสัก

                                                               

                                                  

 

       โครงการที่เด็กๆ เยาวชนกลุ่มรักษ์ป่าสักทำเป็นโครงการที่มีจุดประสงค์ 3 ข้อหลักๆ คือ 1. การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำหรือน้ำป่าสัก 2.การแก้ไขคุณภาพน้ำ 3.การนำความรู้ไปช่วยกันเฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ โดยมีครูพี่เลี้ยงทำหน้าที่ชักชวนเด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรม เริ่มจากเด็กที่สนใจเรื่องคุณภาพน้ำ 2 คน เพราะบ้านเขาตั้งอยู่ริมน้ำ เห็นปลาตายในช่วงเดือนมิถุนายน 2547 ก็มาถามครู เราก็ให้เขาไปหาข้อมูลมาว่ามันเสียเพราะอะไรจึงโครงงานเล็กๆ เรียกว่าโครงงานวิทยาศาสตร์ แล้วเขาก็รวบรวมข้อมูลแล้วก็ขยายผลมาเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาตอบคำถามได้ว่าปลาที่ตายในแม่น้ำป่าสัก สาเหตุมาจากน้ำจากชุมชนเป็นหลัก

 

       จากนั้นจึงมีการขยายผล โดยมีตัวหลักคือการเฝ้าระวังคุณภาพ แม่น้ำป่าสักที่มีการตรวจคุณภาพน้ำ 3 ด้านคือ เคมี ชีวภาพ กายภาพ จำพวกสีน้ำ อุณหภูมิน้ำ ความขุ่นใส และมีสิ่งมีชีวิตในน้ำอะไรบ้างที่อยู่อาศัยเพื่อที่จะเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพ น้ำ ผลจากการใช้ภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร  ทั้งนี้เมื่อตรวจสอบแล้วก็เกิดคำถามจากชุมชนว่า เมื่อน้ำเสียแล้วแก้อย่างไร  นี่คือประเด็นหลักที่กลุ่มเยาวชนและครูต้องมาช่วยกันระดมความคิดว่า เราจะบอกชุมชนอย่างไรว่าแม่น้ำป่าสักมันเสีย แล้วแก้อย่างไร ตอนแรกเราบอกได้ว่าทำไมถึงเสีย ตอนนี้ต้องบอกว่าถ้ามันเสียแล้วแก้ยังไง

 

       เด็กๆ ต้องเข้าไปเรียนรู้ในแหล่งที่เขาพัฒนาคุณภาพน้ำ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์เกษตร ไปศึกษาที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง แลล่าสุดได้เข้ามาเรียนรู้กระบวนการจัดการในโครงการปลูกใจรักษ์โลก ของมูลนิธิสยามกัมมาจล  นำกลับไปทำ เพื่อตอบคำถามชุมชนให้ได้ว่าทำอย่างไร พอเด็กๆ เข้ามาเรียนรู้เรื่องกระบวนการวางแผนการจัดทำโครงการ การทำงาน และลงไปทำงานในพื้นที่ โดยเรามองว่าเราต้องทำตัวของเราให้เข้มแข็ง ก่อน ก่อนที่จะไปชุมชน  เลยไปขอใช้พื้นที่หลังโรงเรียนที่เป็นพื้นที่รับน้ำทิ้งใช้เป็นพื้นที่ทดลอง ซึ่งเราเรียกว่าเป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ โดยนำความคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ไปใช้ บ่อแรกเอาไปผึ่งแดด บ่อที่สองเอาไปรับพืช บ่อที่สามเอาไปบำบัดและปล่อยลงสู่ธรรมชาติ พอเราทำไประยะหนึ่งพบว่ามีพืช มีต้นไม้เกิดขึ้น เราก็ใช้วิธีการบำรุงดินก็คือห่มฝาง ใส่ปุ๋ยหมัก ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ ปรากฏว่าแก้คุณภาพน้ำได้ สองคือเริ่มฟื้นฟูดินให้ได้ก่อนจะได้น้ำ เลยไปทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพชนิดน้ำและชนิดก้อน

 

       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านบอกว่าเราทำตัวให้สะอาดก่อนแล้วแม่น้ำจะสะอาดเอง เราเลยหันไปทำอะไรที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น สบู่ น้ำยาอเนกประสงค์ที่เกิดจาสารอินทรีย์ทั้งหมด ฉะนั้นถ้าเราสะอาดตลอดหัวจรดเท้าลงไปก็จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเอง โดยใช้พื้นที่หลังอาคาร 1  หนึ่งปีที่ผ่านมาปรากฏว่าน้ำหลังอาคารไม่เน่าแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เราทำประสบผลสำเร็จ เลยขยายแหล่งเรียนรู้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน แล้วไปบอกชุมชนว่าเราแก้ได้แล้ว กอปรกับช่วงนั้นมีปรากฏการณ์น้ำท่วม เราเลยนำน้ำหมักจุลินทรีย์ธรรมชาติไปช่วยชุมชน แรกๆ เขาไม่ได้ทำ เนื่องจากน้ำท่วมบ้านเขามาก น้ำก็เน่า เราเลยเอาน้ำหมักไปช่วย  พอระยะหลังมาก็กลายเป็นว่าชุมชนบอกให้เราลงมาช่วยหน่อย ลงไปช่วยสอนเรื่องการทำน้ำหมัก การทำน้ำจุลินทรีย์ชีวภาพ การทำน้ำยาอเนกประสงค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ซึ่งถือว่าน่าพอใจในระดับหนึ่ง

 

       แต่ถ้ามองว่าระยะเวลานานประมาณสิบปี ภาคความสำเร็จที่สำเร็จมากที่สุดคือเด็กได้กระบวนการคิด โครงการนี้เป็นโครงการที่เปิดสมองของเด็กในเรื่องของการปลุกเร้าความคิดใน มุมที่เขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์น้อย ในมุมของนักจิตอาสา ในมุมของนักสิ่งแวดล้อมเล็ก ภาคความสำเร็จที่สองมันเกิดกับตัวเขาเองที่เขาสามารถพัฒนาตนเองได้จาก โครงการ และถ้าเขาสามารถพัฒนาตัวเองได้ ในอนาคตเรามองว่าเขาสำเร็จแล้ว ถ้ารอรุ่นพวกเราก็ไม่ได้แล้ว  การแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือเหตุการณ์ในอนาคตต้องมองที่เยาวชน จริงๆ ต้องยอมรับด้วยว่าเยาวชนลงไปสัมผัสกับชุมชนแล้วเขามีความใสมีความน่ารัก แต่มองในความคาดหวังของชุมชน ชุมชนถามว่าจะเอาอะไรบ้าง ให้บ้าง มีอะไรมาบ้าง แต่ไม่ได้มองที่ตัวเองว่าทำอะไรให้สิ่งแวดล้อมบ้าง ตอนนี้ที่แม่น้ำป่าสักกำลังประสบปัญหาคือปลาตาย พอปลาตายเขาก็ขาดรายได้  เพราะเขาเลี้ยงปลาในกระชัง ไม่มีใครช่วยเขาได้ ชลประทานก็ช่วยไม่ได้ ถ้าเขาไม่ลงมือทำเองก็ช่วยไม่ได้ เด็กๆ ก็ช่วยไม่ได้ เพียงแต่ว่าให้ฐานความรู้ ให้วิธีทำ แต่ถ้าอยากเรียนรู้ให้เข้าไปเรียนรู้ที่โรงเรียนก็ได้ หรือไม่ก็โรงเรียนลงไปช่วยเรื่องการให้ความรู้

 

       ถามว่าเราทำสำเร็จหรือยัง ในส่วนของการบำบัดน้ำเสีย ตอนนี้ชุมชนค่อนข้างตอบรับมามาก ตอนนี้คาดหวังที่กลุ่มเยาวชนถ้าเยาวชนเข้มแข็ง เราว่าอนาคตสิ่งแวดล้อมดี  ส่วนชุมชนเรายังไม่คาดหวังเท่าไหร่ แต่ชุมชนควรจะรู้เรื่องนี้จะได้เอาไปเป็นปฏิบัติ เขาควรรู้เพราะเขาเป็นผู้เสียประโยชน์ เขาควรจะรู้ตัวเขาเอง และถ้าเขารับรู้แล้วทำตัวให้สะอาดตั้งแต่หัวจรดเท้า แล้วแม่น้ำป่าสักก็จะไม่เสีย

 

       กิจกรรมในโครงการนี้ไม่มีในห้องเรียน ทำให้เขาได้มาเรียนรู้กับเพื่อนต่างชุมชน ได้รู้ทักษะการอยู่ร่วมกัน เพราะแต่ละกิจกรรมจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเด็กได้เรียนรู้ พอได้เรียนรู้เขาจะมีทักษะชีวิต ทักษะการอยู่ร่วมกัน ผมว่าเขาจะเป็นคนดีของกลุ่มเยาวชนและเป็นคนดีของสังคมต่อๆ ไปได้

­