โครงการเยาวชนรักษ์ป่าสัก เยาวชนกลุ่มรักษ์ป่าสัก จังหวัดสระบุรี

                                                          

 

      กลุ่มเยาวชนรักษ์ป่าสักสมาชิกในทีมประกอบด้วย น้องเปานางสาวกันภิรมย์ เบญจรัตนานนท์  น้องโมเม  นางสาวกานต์ธิดา ศีติสาร  และน้องตอง  นางสาวธัญชนก โสภาคดิษฐ  งานของพวกเราแบ่งออกเป็น 3 ด้านคือ การเฝ้าระวัง การแก้ไขปัญหา และการขยายเครือข่าย  ซึ่งการเฝ้าระวังคือการตรวจสอบคุณภาพน้ำ 4 แห่ง บริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำ บริเวณท่าค้อนและท่าพงษ์ที่ทำเกษตรกรรม และบริเวณพะเยาซึ่งเป็นแหล่งชุมชน โดยตรวจ 3 ด้านคือเคมี ชีวภาพ และทางกายภาพ โดยการตรวจหาสารเคมี ตะกอน ความขุ่นใส  ส่วนด้านเคมีตรวจฟอสเฟต ไนเตรด  ค่า DO  ค่าความเป็นกรด-ด่าง ด้านชีวภาพคือการตรวจหาสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำ   เมื่อได้ค่าทั้งหมดก็นำมาเป็นค่ามาตรฐานสากล แล้วนำข้อมูลไปแจ้งกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานคุณภาพน้ำต่อไป

­

       ส่วนที่ 2 คือการแก้ไขคุณภาพน้ำ  เริ่มจากการเตรียมพร้อมที่ตัวก่อน โดยเราจะจัดทำแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มีฐานการเรียนรู้พึ่งพาตัวเอง เช่น ฐานระบบจุลินทรี น้ำหมักชีวภาพ ซึ่งใช้ในการแก้ไขคุณภาพน้ำเบื้องต้น และฐานน้ำยาอเนกประสงค์  สบู่  ซึ่ง 2  ฐานนี้เป็นการลดปัญหาฟอสเฟตหรือไนเตรดที่ใช้ในบ้านเรือนหรือการเกษตร  ต่อมาเป็นฐานความรู้คุณภาพน้ำ

­

       ส่วนที่ 3 คือการขยายเครือข่ายภายในและภายนอกสถานศึกษา ภายในสถานศึกษามีการตั้งเป็นชุมนุมและจัดค่ายให้น้อง และเผยแพร่ความรู้หน้าเสาธง และส่วนภายนอกสถานศึกษาจัดทำในรูปของโรงเรียนเครือข่าย ชุมชนเครือข่าย เป็นชุมชนรักน้ำและจัดค่ายบูรณาการให้น้องๆ ทุกปี

­

       โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2547 โดยพี่ๆ สองคน พบว่ามีน้ำเสีย เห็นปลาตายลอยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงปรึกษากับอาจารย์และได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยตอนแรกตรวจสอบเฉพาะบริเวณในเมืองก่อน พอผ่านไปหลายปีก็เริ่มขยายเป็น 3 ด้าน พอมาปีนี้ก็ลงชุมชนมากขึ้น แล้วก็มีน้องมาสานต่อรุ่นต่อรุ่น

­

       ปัจจุบันนี้เราทำไป 2 ส่วนแล้ว โดยตรวจสอบไปเรื่อยๆ ซึ่งทำมา 9 ปีแล้ว ส่วนขั้นตอนแก้ปัญหาเราจะแก้ที่ตัวเองก่อน เพราะในโรงเรียนของเด็กไม่ได้อยู่อำเภอเดียวกัน ซึ่งถ้าเราเผยแพร่ผ่านเด็กกลุ่มนี้ได้ เด็กก็จะไปเผยแพร่ต่อในชุมชน ส่วนชุมชนเราจะลงพื้นที่ให้ครบ 52 ชุมชน แต่ตอนนี้เราเพิ่งทำไปได้ 2 ชุมชนเท่านั้น

­

       การทำโครงการนี้ก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเอง  ทั้งเรื่องความรู้ ทักษะกระบวนการต่างๆ  มิตรภาพ การใช้ชีวิตอยู่กับผู้อื่น การแบ่งเวลา และจิตสำนึกเรื่องอนุรักษ์และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือประโยชน์ต่อชุมชนคือแม่น้ำป่าสักดีขึ้น  แม้เราจะมีส่วนช่วยได้ไม่มาก แต่เราก็ยังคงรักษาให้มันคงอยู่ได้ เพราะแม่น้ำป่าสักเป็นแม่น้ำที่สำคัญของจังหวัดสระบุรี ถ้าน้ำในแม่น้ำป่าสักไม่ดีก็จะส่งผลเสียต่อชาวจังหวัดสระบุรี โดยเฉพาะด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค และเศรษฐกิจก็จะแย่ลงไปด้วย นอกจากนี้แม่น้ำป่าสักยังไหลไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าแม่น้ำป่าสักไม่ดีก็จะส่งผลต่อประชาชนในจังหวัดอยุธยาต่อไป

­

        ขณะนี้ชุมชนให้พวกเราไปช่วยงานมาขึ้น ยอมรับเรามากขึ้น เพราะเราช่วยแก้ไขปัญหากับชุมชนหลายๆด้าน แต่บางส่วนเรายังลงพื้นที่ไม่ครบ เพราะติดเรื่องเวลาเรียนและกิจกรรมอื่นๆ ด้วย  แต่อย่างไรก็ตามพวกเราตั้งเป้าหมายว่าจะลงชุมชนให้ครบตามที่ตั้งไว้ และสานงานต่อโครงการไปเรื่อยๆ

­

       “ปลายปีมักมีปัญหาน้ำเน่าเสียมาก  ซึ่งพวกเราก็ได้บอกชาวบ้านว่าให้เก็บปลาในกระชังขึ้นมา แต่ชาวบ้านไม่เชื่อ พอน้ำเสียมาปลาตายหมด ชาวบ้านจึงเชื่อเรามาขึ้น แต่ก็มีบางคนที่ยังไม่ค่อยเชื่อ”


       สำหรับการทำงานพวกเราจะแบ่งหน้าที่กันตามความ ถนัดของแต่ละบุคคล เช่นคนไหนถนัดเรื่องตรวจวัดคุณภาพก็ทำหน้าที่นั้น  คนไหนถนัดทำแหล่งเรียนรู้ให้ทำน้ำหมักจุลินทรีย์  หรือไปเป็นวิทยากร เป็นต้น  อย่างไรก็ตามจากการทำงานมาระยะหนึ่งพบว่าการทำงานผ่านสื่อมวลชนค่อนข้างได้ ผลดี  เวลาผู้ใหญ่เห็นงานพวกเราได้ลงสื่อก็จะเชื่อมากขึ้น แต่ถ้าเราไปบอกเองก็จะไม่มีใครเชื่อ  พวกเขามักคิดว่าเป็นงานของเด็ก ฉะนั้นพวกเราจึงใช้วันว่างเสาร์อาทิตย์ หรือกิจกรรมจิตอาสาของโรงเรียน หรือวันที่โรงเรียนมีชุมนุม จัดกิจกรรมเผยแพร่ให้ความรู้เรื่องคุณภาพน้ำ เพราะในวันดังกล่าวจะมีสื่อเคเบิ้ลท้องถิ่นและวิทยุชุมชน  วิทยุตามมหาวิทยาลัยต่างๆ  อาทิ วิทยุจุฬาฯ มาทำข่าวด้วย

­