ถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาพลเมืองเยาวชน จ.สงขลา ปี 3
โคชชิ่ง ปี 3 โดยคิดค้นคว้า : วงจรคู่ขนานของการเรียนรู้

­

­

วงจรคู่ขนานของการเรียนรู้

­

     ภายใต้การทำงานโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปี 3 ที่กำลังดำเนินงานอย่างเข้มข้นอยู่ในพื้นที่ ทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มยังคงเป้าหมายสำคัญในการดำเนินโครงการ นั่นคือ “การสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้เยาวชน จากเรื่องจริงชีวิตจริง ที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่รู้จักรากเหง้า มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีทักษะในการสื่อสารอย่างมีพลังและสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน” โดยปีนี้สงขลาฟอรั่มได้สนับสนุนเยาวชนในจังหวัดสงขลาทั้งสิ้น 29 กลุ่ม แบ่งเป็น 25 กลุ่ม ใน 8 อำเภอของจังหวัดสงขลาได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอสิงหนคร อำเภอควนเนียง อำเภอระโนด อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และ ขยายพื้นที่การทำงานออกไปนอกจังหวัดสงขลา 1 กลุ่มในเขตอำเภอเมืองของจังหวัดปัตตานี และ อีก 3 กลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมทั้งยกระดับการทำงานของเยาวชนเชื่อมไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางสังคมของแต่ละพื้นที่

     อ.พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม ได้กล่าวถึงแนวคิดและทิศทางการทำงานในปีนี้ว่า “โครงการพลังพลเมืองเยาวชน มีฐานความคิดที่เชื่อมั่นว่า การเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุระหว่าง 14 – 24 ปี ได้เรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ในประเด็นหรือปัญหาที่ตัวเขาเองต้องการศึกษา หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยพลังความรู้ ความเข้าใจ และพลังความร่วมมือของผู้คนรอบข้าง ได้แก่ เพื่อน ครู สถานศึกษา ชุมชน และคนในสังคม จะช่วยให้เยาวชนสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องจริงสถานการณ์จริงได้เป็นอย่างดี ซึ่งโครงการฯ ได้หนุนเสริม “พี่เลี้ยง” ที่ได้รับการฝึกอบรมและผ่านประสบการณ์การทำงานกับเยาวชนมาแล้วคอยให้คำปรึกษา เพิ่มพูนทักษะชีวิตเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น และปลูกแนวคิดเรื่องสำนึกความเป็นพลเมืองโดยการเชื่อมโยงคุณค่าของงานที่ทำที่มีต่อสังคม ทำให้เยาวชนมองเห็นหรือเชื่อมโยงความเข้าใจไปสู่ประเด็นอื่นๆ ของบ้านเมืองได้” ดังนั้น การทำงานตลอดปีที่ 3 นี้ “การเรียนรู้จากการทำโครงการในชุมชน” ของเยาวชน จึงพัฒนาควบคู่ไปกับ “การเรียนรู้จากกระบวนการทำงาน” ของพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นบุคลากรของสงขลาฟอรั่มเอง

­

ก้าวแรกการเรียนรู้ ค้นหาพลังเยาวชน

     ปีนี้การประชาสัมพันธ์รับสมัครเยาวชนที่สนใจทำโครงการยังคงดำเนินการผ่านเฟสบุ๊คแฟนเพจของสงขลาฟอรั่ม ในขณะเดียวกันทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มก็ใช้ตัวเองเป็นสื่อในการทำความรู้จักกับเครือข่ายในแวดวงงานพัฒนา อาทิ บัณฑิตอาสา เพื่อแนะนำตัว แนะนำงาน พร้อมทั้งเชิญชวนให้แต่ละองค์กรสนับสนุนเยาวชนเข้าร่วมโครงการ

     นอกจากการควานหาเยาวชนหน้าใหม่แล้ว โครงการก็ยังเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนที่เคยร่วมโครงการปีที่ผ่านมา ที่มองเห็นปัญหา หรืออยากต่อยอดการทำงานเพื่อชุมชน สังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งสนใจส่งโครงการเข้ามาไม่น้อย

     มีนี-นูรอามีนี สาและ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ สงขลาฟอรั่ม บอกว่า “ในส่วนของเด็กเก่า เราจะมองว่าโครงการไหนน่าจะต่อยอด มองตั้งแต่บุคลิก และความกระตือรือร้นของน้องๆ พูดคุยกับพี่เลี้ยงที่เคยดูแลน้องด้วย ซึ่งพี่เลี้ยงจะรู้ดีว่าน้องกลุ่มไหนเป็นอย่างไร หากให้น้องทำต่อจะเหนื่อยเกินไปไหม เพราะหากเปิดโอกาสให้กลุ่มที่ไม่ค่อย “มีใจ” เข้ามา ก็เป็นการปิดโอกาสกลุ่มอื่นไป แต่หากน้องยังสนใจส่งโครงการเข้ามา พวกเราก็ยังรับพิจารณา เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า หากน้องได้ทำโครงการต่อเป็นปีที่ 2 เขาน่าจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้บ้างไม่มากก็น้อย”

     ด้วยเหตุนี้สงขลาฟอรั่มจึงตั้งเป้าหมายว่าการดำเนินโครงการในปีนี้จะสนับสนุนเยาวชนกลุ่มเก่า 10 โครงการ ที่เหลือ 15 โครงการเป็นกลุ่มใหม่ แต่เมื่อถึงเวลาจริง มีกลุ่มเก่าส่งเข้ามา 7 โครงการ แต่เมื่อทีมเข้าไปพัฒนาโจทย์โครงการ น้องกลับไม่มีเวลา เลยต้องปล่อยให้หลุดไป 

­

กลั่นกรองไอเดีย เติมเต็มความคิดจากมุมมองหลายมิติ

     การกลั่นกรองไอเดียของโครงการที่เยาวชนเสนอมานั้น เป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ทีมสงขลาฟอรั่มให้ความสำคัญเพราะเป็น “กระบวนการ” ที่ช่วยพัฒนาข้อเสนอโครงการให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีเหตุผล สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาจริง มีการวางแผนการทำงานที่รัดกุม มีการวางแผนใช้เงินที่พอเพียง โปร่งใส มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการกลั่นกรองและเติมเต็มความคิดในการทำโครงการมีทั้งความหลายหลายของมุมมอง และพิจารณาหลากหลายมิติ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อเสนอโครงการเบื้องต้น ที่ทีมงานสงขลาฟอรั่มฝ่ายปฏิบัติการได้แก่ ตาล-นงนุช ปานบัว และมีนี ช่วยกันพิจารณาว่าแต่ละโครงการที่เสนอมามีความสอดคล้องกับเกณฑ์หรือไม่ และยังเป็นการฝึกพี่เลี้ยงในการวิเคราะห์การวางแผนโครงการ จับแก่นสาระของโครงการ และฝึกการคิดเชื่อมโยง ทำความเข้าใจปัญหาชุมชน ที่น้องๆ มองเห็น เชื่อมโยงกระบวนการที่น้องทำกับการเรียนรู้จิตสำนึกพลเมืองให้ได้

     ตาลเสริมว่า “เกณฑ์และคุณสมบัติเบื้องต้นที่ทีมต้องดูก็คือ ต้องมีสมาชิกในทีม 5 คน อายุระหว่าง 14-24 ปี และต้องมีที่ปรึกษา นอกจากนี้ยังต้องดูด้วยว่าโครงการนี้น้องเขียนด้วยตัวเอง หรืออาจารย์เขียน เป้าหมาย วัตถุประสงค์ของโครงการกับกิจกรรมสอดคล้องกันหรือไม่ ระยะเวลาการทำโครงการต่อเนื่องหรือไม่ ทำ 2 วันแล้วจบเหมือนการจัดค่ายหรือเปล่า หรือต่อเนื่อง 4-5 เดือน แต่ที่สำคัญคือการเขียนโครงการของน้องเชื่อมโยงกับปัญหาในชุมชนหรือไม่ หรือว่าแค่เขียนมาลอย ๆ เท่านั้น นี่คือเกณฑ์เบื้องต้นที่เราจะช่วยกันดู”

     เมื่อพิจารณาเกณฑ์เบื้องต้นแล้ว จึงสรุปความเห็นให้ทีมงานที่เหลือช่วยกันเติมเต็ม และประมวลสรุปการกลั่นกรองและวิเคราะห์ 1 หน้าแนบพร้อมข้อเสนอโครงการของกลุ่มเยาวชน ส่งให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ ทั้งนักวิชาการ อาจารย์ เจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ปรึกษาโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาให้มุมมองความเห็นต่อไป ซึ่งทีมงานสงขลาฟอรั่มจะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับกลับมาสรุปหารือกันในทีมอีกครั้ง เพื่อวางแผนลงพื้นที่ แยกย้ายไปพบปะพูดคุยกับเยาวชนในพื้นที่ นำข้อเสนอแนะไปช่วยพัฒนาโจทย์โครงการของกลุ่มเยาวชนให้แหลมคมและชัดเจนมากขึ้น 

     ความชัดเจนที่ว่า คือ การรับฟังความต้องการของน้อง ๆ ว่าแท้จริงต้องการทำอะไร เพื่อปรับให้สิ่งที่น้องต้องการทำกับสิ่งที่เขียนไว้ในข้อเสนอโครงการสอดคล้องตรงใจคนทำงาน ซึ่งเป้าหมายโครงการที่ชัดเจนนี้ทีมสงขลาฟอรั่มจะใช้เป็นหลักคิด ในการแตกรายละเอียดกระบวนการทำงานของน้อง ๆ ในเวทีประชุมพัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวมของเยาวชนอีกครั้ง

     “การลงพื้นที่แต่ละครั้งทีมงานตั้งเป้าว่า จะต้องได้โครงการที่ชัดเจน ซึ่งจะมีกรอบคำถามในการเช็คหลักการและเหตุผล 5 ข้อ คือ สภาพปัญหาเป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร ปัญหานั้นส่งผลกระทบอะไร ไอเดียและภาพฝันของน้อง ๆ ที่อยากจะเห็นเป็นอย่างไร” กช-กรกช มณีสว่าง บอกถึงคำถามหลักในการเช็คความชัดเจนของโครงการ   

กระบวนการ

     มีนีเสริมต่อว่า เหตุผลที่เราต้องเช็คความชัดเจน ก็เพราะอยากให้น้องมองเห็นภาพโครงการของตนเองชัดเจนมากขึ้น ไม่คิดลอย ๆ เราต้องทำให้น้องชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ที่เขาต้องทำเรื่องนี้เพราะอะไร ชี้ให้เห็นทั้งสภาพปัญหาและสาเหตุ เพราะการจะแก้ปัญหาได้ต้องไปให้ถึงสาเหตุ การจะไปถึงสาเหตุต้องรู้ว่าเรามีไอเดียอย่างไรที่จะไปถึงตรงนั้น สุดท้ายถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะเกิดเป็นภาพอย่างที่เขาต้องการไหม ซึ่งการคิดแบบนี้ได้ น้องต้องคิดเป็นระบบ มองเห็นภาพ และดึงตนเองไปอยู่ในสถานการณ์ได้

    ส่วนเยาวชนกลุ่มที่เคยทำโครงการมาแล้ว ทีมงานจะชวนถอดบทเรียนการทำโครงการที่ผ่านมาว่า มีอะไรบ้าง แล้วจะเชื่อมต่อการทำงานปีต่อไปอย่างไร ซึ่งการถอดบทเรียนนี้จะทำให้กลุ่มเยาวชนเห็นทั้งทุนที่มีอยู่ โอกาสที่จะไปต่อ จุดติดขัดที่ต้องปรับปรุง และการเชื่อมสู่ประเด็นทางสังคมเพื่อยกระดับการทำโครงการให้สามารถช่วยเหลือชุมชนสังคมของตนได้อย่างแท้จริง

     การช่วยให้กลุ่มเยาวชนปักหมุดเป้าหมายที่ชัดเจนได้แล้ว เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้สามารถเติมเต็มแนวคิด หลักการเรื่องสำนึกพลเมืองให้เยาวชนต่อไปได้ แต่การที่จะชวนน้องคิดได้ชัดเช่นนี้ พี่ ๆ ต้องคิดให้ชัด คิดให้กว้างไกลกว่าน้อง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทีมงานต้องมีการเตรียมตัวก่อนลงพื้นที่แต่ละครั้ง ต้องมีการศึกษาข้อมูลล่วงหน้าในประเด็นที่เยาวชนแต่ละกลุ่มทำโครงการ เพราะหลายครั้งที่น้องยังคิดแนวทางแก้ไขไม่ได้ พี่ ๆ จึงต้องมีเทคนิคขายไอเดีย ที่จะสามารถสอดแทรกแนะนำแนวคิดการแก้ปัญหาเข้าไป โดยไม่ให้น้องรู้สึกว่า ต้องทำตามสิ่งที่พี่บอกให้ทำ แต่ต้องเป็นการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น

     “พอเขามีแนวคิด เราก็จะถามต่อว่า เคยทำไหมเรื่องแบบนี้ เคยเห็นจากที่อื่นไหม แล้วสุดท้ายแก้ปัญหาได้ไหม ถามเช็คกันแบบนี้ เด็ก ๆ ก็จะคิดต่อว่า จะทำเรื่องนี้ แบบนี้ เราก็จะถามเขาว่า สุดท้ายเขาแก้ปัญหาได้ไหม แล้วชุมชนของเราเหมือนเขาไหม” มินีเล่า

     หลังจากลงพื้นที่รอบแรกเสร็จแล้ว ทีมงานสงขลาฟอรั่มแต่ละคนจะเลือกเป็นพี่เลี้ยงดูแลโครงการจากความถนัด ความชอบ ความเข้ากันได้กับน้องกลุ่มต่าง ๆ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่คุ้นเคย โดยส่วนใหญ่มักเลือกโครงการที่ได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่ไปพัฒนาโครงการในรอบแรก เพื่อพาน้องคิดทำได้ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้

­

ผนึกพลังผู้ใหญ่ เติมสำนึกพลเมือง

     เมื่อเป้าหมายการทำโครงการชัดเจนแล้ว แต่ยังต้องเติมเต็มรายละเอียดและการวางแผนการจัดการที่รัดกุม รอบด้าน รวมทั้ง “ปลุกสำนึกพลเมือง” ในหัวใจของแกนนำเยาวชนทุกคน การจัดประชุมพัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวมของเยาวชน จึงเป็นกระบวนเรียนรู้ที่ทีมงานสงขลาฟอรั่มจะได้ “เปิดพื้นที่” ให้กลุ่มเยาวชนและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษาโครงการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกันอย่างใกล้ชิดและเข้มข้น เติมเต็มความสมบูรณ์ของโครงการให้แก่น้องๆ และท้าทายความตั้งมั่นที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม โดยใช้กระบวนการ The Circle of Presentation & Reflection (วงกลมการนำเสนอและสะท้อนกลับ)

     แต่ก่อนที่จะถึงขั้นนั้น ทีมงานสงขลาฟอรั่มทั้งหมดต้องช่วยกันออกแบบกระบวนการครั้งนี้ให้ชัดเจน แบ่งความรับผิดชอบในการดูแลกลุ่มเยาวชน เลือกสรรคณะกรรมการพัฒนาโครงการที่จะมาร่วมวิพากษ์และเติมเต็มแก่โครงการของกลุ่มเยาวชน ซึ่งคณะกรรมการแต่ละท่านล้วนมีความเชี่ยวชาญและความถนัดในแต่ละสาขาแตกต่างกันออกไป

     ปีนี้ทีมงานตั้งเป้ารับสมัครเยาวชนจำนวน 25 โครงการ มีเยาวชนส่งข้อเสนอโครงการเข้ามาทั้งหมด 28 โครงการ แต่ระหว่างการลงพื้นที่ไปพูดคุย เพื่อพัฒนาโจทย์โครงการ รวมทั้งปัจจัยเงื่อนไขของการทำโครงการร่วมกับกลุ่มเยาวชน เมื่อถึงเวิร์คช็อปจึงมีเยาวชนบางกลุ่มไม่ขอไปต่อ เพราะรู้สึกไม่คุ้นชินกับกระบวนการทำงานที่เข้มข้นเช่นนี้ บางกลุ่มไม่พร้อมเรื่องการจัดการชีวิต ทำให้ต้องล่าถอยออกไปทั้ง ๆ ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาโครงการร่วมกับทีมสงขลาฟอรั่มมาระยะหนึ่งแล้ว

     วันแรกของการประชุมเชิงปฏิบัติการ เป็นการจุดประกายความคิดเรื่อง “สำนึกพลเมือง” จากบทเรียนสำคัญในการทำงานเพื่อส่วนรวมของรุ่นพี่พลเมืองเยาวชนสงขลา ได้แก่ นายณัฐพล ราตรีพฤษ จากโครงการอาสาพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเอง นายบรรพต มณีโรจน์ จากโครงการครูเพื่อศิษย์ นายเอกพงษ์ สมหา จากโครงการ ครูเดลิเวอรี่ และนำการสนทนาโดย นางสาวศิริวรรณ มะแซ และนายอภิศักดิ์ ทัศนี

     จากการสนทนาถ่ายทอดบทเรียนจากประสบการณ์จริง แกนนำเยาวชนรุ่นพี่ได้พูดถึง การเห็นคุณค่าของตนเอง การไม่นิ่งดูดาย นำตัวเองเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริง และได้เล่าประสบการณ์ความสุข-ทุกข์ระหว่างการทำงาน พร้อมทั้งฝากฝังบทเรียนที่สำคัญคือ ต้องมีเป้าหมายเป็นหลักในการทำงาน ระหว่างทำโครงการต้องมีสติ รู้จักคิดวางแผนและตัดสินใจอย่างรอบคอบ และได้มีการพูดถึงการทำงานเป็นทีมที่ทีมงานทุกคนมีความเข้าใจกันและมีส่วนร่วม เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้โครงการที่ทำประสบผลสำเร็จตามเป้าที่ตนเองได้วางไว้ นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างแนวคิด การทำงาน ปัญหา และอุปสรรคที่ตนเองพบเจอ รวมถึงวิธีแก้ไขปัญหา ก่อนที่ทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มจะให้น้องๆทุกทีม แบ่งกลุ่มย่อยทบทวนโครงการของตนเองให้ชัด ทั้งเป้าหมาย วัตถุประสงค์ การออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ตลอดจนถึงการจัดการภายในทีม โดยใช้เครื่องมือไทม์ไลน์ (Time line) จัดลำดับการทำกิจกรรมเพื่อให้โครงการบรรลุผลสำเร็จ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการในวันถัดไป

(ภาพ)

­

วงฟอรั่มของเหล่าพลเมือง

     The Circle of Presentation & Reflection หรือวงกลมของการสะท้อนกลับและนำเสนอ ถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย โดยคณะกรรมการ 1 ท่านต้องรับฟังและให้ความเห็นโครงการของเยาวชน 3 โครงการ โดยเยาวชนใช้เวลาในการนำเสนอ 10 นาทีแรก สำหรับเล่าเรื่องราวโครงการของตนเอง อีก 10 นาทีเป็นการแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการ หลังจากนั้นคณะกรรมการแต่ละท่านจะเลือกโครงการที่ตนเองสนใจ 1 โครงการนำเสนอในวงแลกเปลี่ยนรวม โดยชี้ให้เห็นคุณค่าของโครงการนั้น ๆ พร้อมทั้งบอกข้อเสนอแนะหรือเงื่อนไขที่ต้องปรับปรุง สำหรับในปีนี้มีคณะกรรมการจำนวน 10 ท่าน คือ ดร.ณัฐพงษ์ จิตรนิรัตน์ คณบดีคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณสงขลา คุณวัลลภา ฐาน์กาญจน์ผู้จัดการโซนภาคใต้ตอนกลาง โครงการบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คุณสุมนา จงรุ่งโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดสงขลา คุณดวงฤดี สุริยันยงค์ นักสังคมสงเคราะห์ชํานาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสงขลา คุณอัญชลี ทองคง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คุณอริยาไพฑูรย์ นักแปลหนังสืออิสระ ดร. สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อาจารย์ณัฎฐาพงษ์ อภิโชติเดชาสกุล อาจารย์โปรแกรมวิชาเอกการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ดร.มณฑณา พิพัฒน์เพ็ญ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณสงขลา คุณเอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา รวมถึงคณะกรรมการตัดสิน ผ่าน ไม่ผ่าน ผ่านแบบมีเงื่อนไข 2 ท่าน คือ อาจารย์อารีเฟน อับดุลกาเดร์ อดีตผู้อำนวยการสถาบัน กศน. ภาคใต้ ป้าหนู-พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม

     การจัดเวลาและกระบวนการนำเสนอให้ผู้ทรงคุณวุฒิได้รับฟังอย่างตั้งใจ ใกล้ชิด มีสมาธิกับการนำเสนอของเยาวชน เป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา เยาวชนได้ฝึกทักษะการนำเสนอ การฟังอย่างตั้งใจ การใช้ไหวพริบในการตอบคำถาม การตอบข้อซักถามอย่างสุภาพ มีข้อมูล และได้รับรู้เรื่องราวจากการนำเสนอของกลุ่มเยาวชนโครงการอื่นที่อยู่ในวงเดียวกัน ซึ่งเงื่อนไขของการจัดการวงเรียนรู้ลักษณะนี้ ทีมงานบอกว่า จำเป็นต้องสรรหาผู้ใหญ่ที่อ่อนโยนและเคารพต่อความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันมาร่วมงาน เพราะทุกฝ่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต้องแลกเปลี่ยนกัน การรับฟังกันอย่างลึกซึ้งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีและก่อให้เกิดการกลั่นกรองโครงการที่ได้ผลดี

     ทั้ง 22 โครงการผ่านการชี้แนะเติมเต็มจากคณะกรรมการ พร้อมทำสัญญารับทุนที่เป็นเสมือนการลั่นระฆังบอกว่า เริ่มทำงานได้ ทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มเริ่มกระบวนการติดตามหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนภายใต้การดูแลของแต่ละคน โดยลงพื้นที่ไปที่ชุมชนตามวาระโอกาสของแต่ละโครงการ

­

ผนึกกำลังโคชเพื่อสร้างพลเมืองเยาวชน

     ด้วยประสบการณ์ในการทำงานที่แตกต่างกันไป ทั้งระยะเวลา พื้นฐานความรู้ มุมมอง ทัศนคติ ฯลฯ ที่หล่อหลอมให้ทีมงานสงขลาฟอรั่มมีความถนัด ความเชี่ยวชาญ กระทั่งจุดแข็งจุดอ่อนที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือ “หัวใจของการเรียนรู้” ที่พร้อมจะพัฒนาศักยภาพของตนเอง ในการโคชน้องๆพลเมืองเยาวชน

     กช หนึ่งในทีมสงขลาฟอรั่ม ที่รับบทเป็นพี่เลี้ยงที่อยู่ใกล้ชิดเยาวชน เปิดใจบอกว่า ตนเองมีจุดอ่อนที่เป็นคนตื่นเต้นง่าย เวลาตื่นเต้นมักไม่กล้าพูด หรือเวลาโดนถามก็มักจะลนลาน พาลให้ตอบตะกุกตะกัก ดังนั้น การตั้งสติ เพื่อทำให้ตัวเองนิ่ง จึงเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมตัวเมื่อต้องไปทำงานสร้างการเรียนรู้กับเยาวชนทุกครั้ง ถึงขั้นจินตนาการคนเดียวว่าจะต้องพบอะไร ต้องทำอย่างไร เป็นลำดับ เมื่อนิ่งขึ้น จึงตื่นเต้นน้อยลงกว่าก่อน ๆ ตอนนี้ไม่ว่าจะมีคำถามอะไร จากใครมา ก็จะตั้งสติก่อน แล้วจึงตอบ

     กช เล่าต่อถึงการทำงานกับกลุ่มเยาวชนที่มีความแตกต่างกัน บางครั้งต้องดูแลกลุ่มเยาวชนที่การทำงานจริงไม่เป็นไปตามแผน บางคนรับผิดชอบน้อย ตนก็รู้สึกแย่ แต่กชมีวิธีหากำลังใจ โดยจะโทรศัพท์ไปพูดคุยกับน้อง ๆ เยาวชนกลุ่มที่ทำงานได้ดี ซึ่งทำให้รู้สึกสดชื่น เหมือนได้รับพลังจากน้อง ๆ กลุ่มนี้ แล้วแปรพลังที่ได้รับกลับไปหนุนกลุ่มเยาวชนที่กำลังต้องกระตุกกระตุ้นต่อไป

     สำหรับตาล บอกว่า มีความชำนาญในการโคชน้องมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฝึกที่จะมีสมาธิในการรับฟังมากขึ้น ทำให้สามารถจับประเด็นได้แม่นขึ้น จากเดิมที่เคยจดบันทึกสิ่งที่น้อง ๆ เล่ามาทั้งหมดแล้วต้องใช้เวลาในการสรุปรวบยอดใหม่อีกครั้ง ก็จะสามารถจับประเด็นสำคัญระหว่างการพูดคุยได้ ทำให้ทำงานเร็วขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า การตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้คือ ทักษะที่ยังต้องฝึกฝนต่อไป

     ส่วนเจาะห์ ซึ่งเพิ่งมาทำงานปีแรก บอกว่า สามารถจัดระบบข้อมูลในการทำงานได้ดีขึ้น หลังจากที่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนการโคชเยาวชนทำโครงการ เจาะห์ที่อาศัยการสังเกตวิธีการทำงานของพี่มีนี ที่มีวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การพูดคุยที่ไม่ทำให้น้องเครียด ทำให้ต้องปรับการทำงานของตนเองไม่ให้อยู่ในกรอบหรือวิชาการเป๊ะ ๆ แต่จะปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นซึ่งทำให้เข้าถึงใจน้องได้มากขึ้น

     ในขณะที่การทำงานในปีแรกของอุ้ม ได้เทคนิคการจัดการอารมณ์ตนเองมากกว่าเทคนิคการโคชน้อง เพราะแรก ๆ ที่ทำงาน เมื่อติดตามน้องในพื้นที่แล้วไม่มีการตอบสนอง จนรู้สึกหงุดหงิดในใจ ทำให้ต้องทบทวนวิธีการทำงานของตนเอง จนได้คำตอบว่า การทำงานต้องสร้างความเป็นกันเองกับเยาวชนก่อน เพื่อทะลายเกราะที่มีระหว่างกัน การเรียนรู้ในการทำงานจึงไปช้าๆ พร้อมๆ กับกลุ่มเยาวชนที่ดูแล ซึ่งการสร้างปฏิสัมพันธ์เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการทำงานร่วมกัน

     ใหม่ ซึ่งเพิ่งรับผิดชอบดูแลกลุ่มเยาวชนในปีนี้เป็นปีแรก ยอมรับว่าเทคนิคการโคชยังไม่ค่อยมี แต่ก็ได้เรียนรู้วิธีการวางตัวกับกลุ่มน้องที่ดูแลให้เยาวชนรู้สึกได้ว่า สามารถเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มได้ และทำให้น้องไว้วางใจ

     น้ำนิ่งซึ่งปรับบทบาทจากคนทำโครงการในปีก่อนมาเป็นโคช ดังนั้น ทักษะการโคชคือ การใช้วิธีการเดียวกับที่เคยถูกพี่ ๆ โคชมา กระบวนการที่น้ำนิ่งเห็นว่าสำคัญมากในการสร้างการเรียนรู้คือ การสรุปบทเรียนหลังการทำงาน (AAR: After Action Review) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยพัฒนาน้อง ๆ หรือว่านำประเด็นที่น้อง ๆ ต้องพัฒนาเพิ่มเติมกลับมาปรึกษากับพี่ ๆ ทีมที่ปรึกษา น้ำนิ่งบอกว่า ปีที่ผ่านมาได้รับโอกาสให้ได้ไปเรียนรู้กับภาคีต่าง ๆ ค่อนข้างมาก ทำให้ได้เทคนิคการทำงานใหม่ ๆ ซึ่งส่วนตัวมีความเห็นว่า ต้องจับแก่นของกระบวนการ เครื่องมือ หรือเทคนิคนั้น ๆ ให้ได้ว่า คืออะไร ใช้อย่างไร ก่อนจะวิเคราะห์ว่า จะนำกลับมาใช้กับน้องที่ดูแลอยู่ต้องปรับแค่ไหน อย่างไร โดยต้องเน้นการเสริมน้องในส่วนที่ยังขาด

     สำหรับมีนี บอกว่าการทำงานในปีนี้ได้เปลี่ยนตนเอง โดยใช้เทคนิคท้าทายคนอื่นมากขึ้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะปีที่ผ่านมาใช้วิธีการทำงานแบบโอบอุ้มน้อง ๆ ทีมโคชด้วยคำปลอบโยน ซึ่งเป็นวิธีการดูแลน้องได้ระดับหนึ่ง แต่ถึงจุดหนึ่งที่งานมีความยากและต้องจริงจังมากขึ้น เพราะงานของเยาวชนบางกลุ่มเริ่มไปเชื่อมกับสถานการณ์ทางสังคม และเกี่ยวพันกับนโยบายท้องถิ่น ทำให้ต้องเสริมความแข็งแกร่งของตนเอง และน้อง ๆ ด้วยการท้าทายกันให้เกิดแรงฮึดในการทำงาน

      ส่วนพัฒนาการการทำงานของตนเอง มีนีมองว่า เป็นเรื่องความสามารถในการจับสถานการณ์ของกลุ่มมากขึ้น จากเดิมที่ลงไปเยี่ยมน้องแต่ละกลุ่มก็จะมีเป้าหมายของงานนำ แล้วพยายามถามหรือชวนคุยให้ได้ตามเป้าหมายนั้น ๆ แต่ปีนี้เมื่อสนใจจับสถานการณ์ของกลุ่มให้รับรู้อาการทุกข์ สุข ของน้องแต่ละคน จึงต้องปรับกระบวนการคุยเรื่องอื่นก่อน คลี่คลายเรื่องอื่นก่อน และเข้าสู่เรื่องงานภายหลัง เพราะหากดันทุรังคุยงานโดยไม่สนใจอารมณ์ความรู้สึกของน้องก็จะไม่ได้งานอย่างที่หวัง

     แม้จะมีความต่างของทักษะ เทคนิค และพัฒนาการ แต่สิ่งที่ทีมงานทุกคนมีเหมือน ๆ กันคือ ความตั้งใจที่จะหนุนเสริมเยาวชนโดยไม่ชี้นำ และพร้อมที่จะเจียระไนความรู้ความเข้าใจ และฝังสำนึกพลเมืองให้กับเยาวชน ดังนั้นทุกจังหวะของการทำงานจะมีการ “คิดใคร่ครวญ” ตั้งคำถามให้เกิด “ความตระหนัก” ในสิ่งที่กำลังทำอยู่ ด้วยการดึงคุณค่าความหมายด้วยคำถามที่ว่า “งานของเขามีคุณค่าต่อตนเองและต่อสังคมอย่างไร” ดังนั้น จากสถานการณ์ของโครงการเยาวชนแต่ละกลุ่มที่อาจแตกต่างกันออกไป ทีมงานจะใช้ช่วงเวลาช่วงเช้าของทุกวันในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมเต็มกันและกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างมื้อ

     “มักจะมีคำถามจากป้าหนูถามพวกเราด้วยว่า เราจะทำให้น้อง ๆ ไปถึงจิตสำนึกพลเมืองอย่างไร การคุยกันในทีมที่มีที่มาจากการบ่นในตอนเช้าที่ต่อให้คนกินอาหารเช้ามาแล้วหรือไม่กิน ก็จะมานั่งคุยกัน เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่เราแต่ละคนจะมาแลกเปลี่ยนกันว่า ไปเจออะไรมาบ้าง น้องที่ดูแลเป็นอย่างไร” มินีเล่าถึงบรรยากาศการทำงานที่ไม่เป็นทางการแต่เติมเต็มซึ่งกันละกัน

     นอกจากนี้ การทำงานในปีนี้ได้ให้บทบาทกับที่ปรึกษาโครงการของสงขลาฟอรั่ม ไม่เพียงแต่การกลั่นกรองและเติมความเห็นในการพัฒนาโครงการช่วงต้นโครงการเท่านั้น แต่จะได้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับเยาวชน มีส่วนในการโคชเยาวชนในขณะที่ลงพื้นที่เรียนรู้ ที่ปรึกษาแต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้ดูแลกลุ่มเยาวชนกลุ่มย่อยๆ ตามประเด็นต่างๆ โดยมีทีมพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มเชื่อมประสานให้ติดตามโครงการเยาวชนร่วมกัน โดนก่อนจะลงพื้นที่จึงต้องมีการวางแผนการตั้งคำถาม วิธีการสอบถาม ฯลฯ ร่วมกันก่อน

      สิ่งที่ที่ปรึกษาจะได้เรียนรู้นอกจากเนื้อหาในประเด็นโครงการของเยาวชนแล้ว ที่ปรึกษาจะได้เรียนรู้เรื่องการวางตัวและจังหวะที่เหมาะสมในการหนุนเสริมการทำงานของกลุ่มเยาวชนในลักษณะ “ให้เรียนรู้อย่างอิสระ ไม่ครอบงำ ไม่ชี้นำ แต่ประคับประคองและเติมเต็ม”

     นอกจากการเรียนรู้บทบาทในการโคชแล้ว ที่ปรึกษาโครงการของสงขลาฟอรั่ม ยังได้รับมอบหมายหน้าที่ร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ช่วยกันออกแบบและนำกระบวนการแลกเปลี่ยนประบวนการทำงานของเยาวชนแต่ละกลุ่มในเวทีนำเสนอบทเรียนการทำงาน ที่ปรึกษาจะช่วยจับประเด็น และให้ข้อเสนอแนะเติมเต็มการเรียนรู้ของเยาวชน ดังนั้นที่ปรึกษาโครงการของสงขลาฟอรั่ม จึงเสมือนหนึ่งทีมงานของสงขลาฟอรั่ม ที่ช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เยาวชน 

     

สร้างสำนึกพลเมืองโดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์บ้านเมือง

     การสร้างจิตสำนึกพลเมืองคือเป้าหมายสำคัญของโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา กระบวนการพัฒนา “สำนึกพลเมือง” เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัสจริง และสามารถเชื่อมโยงความคิดจากงานที่ตนเองทำสู่สถานการณ์จริงของสังคม จึงทำได้โดยการจัดเวิร์คช็อป การไปศึกษาดูงาน และการใช้ชีวิตในชุมชนพลเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นต่อมสำนึก ที่ทีมสงขลาฟอรั่มเลือกใช้

     ที่ผ่านมากรณีศึกษาชุมชนพลเมือง คือ ชุมชนริมน้ำคลองแดน ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้เรื่องจิตสำนึกพลเมือง ที่น้องๆจะได้เรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนกับผู้นำและสมาชิกในชุมชน พร้อม ๆ กับซึมซับวิถีชีวิตการจัดการชุมชนทั้งมิติคน ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ อาชีพ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม ปีนี้ กรณีศึกษาเรื่องผังเมืองเป็นโจทย์ใหม่ที่ทีมงานเลือกมาสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสำนึกพลเมืองให้แก่แกนนำเยาวชนในโครงการ และตัวแทนเยาวชนจากพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลา เพราะเรื่องนี้เป็นสถานการณ์ของสังคม ซึ่งอยู่ในวาระที่ 30 จังหวัดทั่วประเทศกำลังมีการทำผังเมืองใหม่ เมื่อน้ำนิ่งและป้าหนูมีโอกาสได้ไปเรียนรู้กับเครือข่าย จึงเกิดไอเดียว่า น่าจะนำกลับมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเยาวชนได้ กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้จึงเป็นการยกระดับจิตสำนึก และการคิดวิเคราะห์ คิดเชื่อมโยงจากโจทย์โครงการที่น้องๆทำในชุมชนสู่โจทย์บ้านโจทย์เมือง การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้นับเป็นครั้งแรกที่ให้เยาวชนมีส่วนร่วมกำหนดผังเมืองของจังหวัดสงขลา ที่ทำให้พลเมืองรุ่นใหม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงเรื่องที่ดิน และการออกแบบเมืองอันซับซ้อนโยงใยกับฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ภูเขา ป่าอนุรักษ์ คลอง ทะเล หาด อันสมบูรณ์ ระบบทุนเศรษฐกิจ การเมือง ประชากร และพหุวัฒนธรรม

     การออกแบบกระบวนการจึงเน้นให้กลุ่มเยาวชนได้พิจารณาโครงการที่ตนเองทำอยู่ ว่าเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการวางผังเมืองอย่างไร โดยกลุ่มเยาวชนจะมีส่วนในการศึกษาบริบทและคุณค่าของอำเภอที่ตนเองอาศัยและทำโครงการ และสร้างสรรค์ผังเมืองที่สอดคล้องกับบริบทและทุนของพื้นที่ กระบวนการในเวิร์คช็อปจึงมีทั้งส่วนของการบรรยายความรู้เรื่องผังเมืองจากวิทยากร การถอดคุณค่าของงานกลุ่มเยาวชน เพื่อติดตามความก้าวหน้า และเชื่อมโยงงานของเยาวชนกับวัตถุประสงค์ของการทำผังเมืองในภาคเช้า

     ภาคบ่ายคือ ปฏิบัติการลงมือทำผังเมืองฉบับเยาวชน โดยเยาวชนจะถูกแบ่งกลุ่มตามโซนของภูมิลำเนา คือ โซนเมือง โซนคาบสมุทรสทิงพระ โซนติด 3 จังหวัดชายแดนใต้ โซนเศรษฐกิจพิเศษ และโซนปริมณฑล เยาวชนในแต่ละโซนจะช่วยกันระดมความคิดว่า พื้นที่นั้น ๆ มีคุณค่าในด้านใดบ้าง แล้วหลังจากนั้นเยาวชนแต่ละโซนจะระบายสีกำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ แล้วจึงนำมานำเสนอต่อที่ประชุมทั้งหมด โดยมีวิทยากรช่วยเติมเต็มให้ข้อเสนอแนะ

     กระบวนการที่เหมือนจะง่าย แต่เบื้องหลังคือการร่วมแรงร่วมใจของทีมงานสงขลาฟอรั่ม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เรื่องผังเมือง ก็ต้องเร่งศึกษาหาความรู้ การเป็นพี่เลี้ยงน้อง ๆ ในแต่ละโซนจะต้องมีข้อมูลบริบทพื้นฐานว่า ในพื้นที่โซนนั้นๆ มีคุณค่าด้านใดบ้าง เมื่อไม่ใช่คนพื้นที่ก็ต้องหาข้อมูลความรู้ตุนไว้เพื่อที่จะแนะน้องได้ ความรู้จากการอบรมทักษะการเป็นวิทยากรกระบวนการ ถูกงัดมาใช้ทุกกระบวนการท่า ตั้งแต่การออกแบบการเรียนรู้ การเลือกเกมสันทนาการ การนำกระบวนการในเวที กระทั่งการจัดเตรียมเอกสาร ข้อมูล อุปกรณ์ ทุกสิ่งอย่างถูกคิดอย่างละเอียด รวมทั้งการซ้อมนำกระบวนการกันเองก่อนวันเวิร์คช็อปจริง

     “ในเชิงกระบวนการ นี่เป็นเรื่องใหม่ ตอนทำเราทำไปเรียนรู้ไปด้วยในวันเวิร์คช็อป แม้ว่าก่อนเวิร์คช็อป เราซ้อมทำกันเอง ติวกันเอง เราจะนัดว่า วันนี้เราจะคุยเรื่องอะไร อุปกรณ์ที่จะใช้ในกิจกรรมนี้คืออะไร ให้เห็นภาพรวมก่อน เราจะนำกระบวนการน้องถ้าให้โจทย์แบบนี้น้องจะไปอย่างไร ให้บทบาทสมมุติเหมือนเราเป็นน้อง และตอนที่ทำเรื่องตรวจสอบโรงงาน เราก็ต้องมานั่งศึกษาประเภทโรงงานทั้งหมด 108 ประเภท ต้องมานั่งคิดว่า น้องต้องเครียดต้องอะไร เราดึงตนเองไปรับรู้ความรู้สึกตรงนั้น” มีนีเล่าถึงการเตรียมตัวของทีมโคช

     บรรยากาศในวันอบรมคือ ทีมงานทุกคนได้มีบทบาทในการนำกระบวนการในกลุ่มโซนแต่ละโซน ภาพความช่วยเหลือกันในทีมที่วิ่งวุ่นปรึกษากันตลอด เพราะเมื่อเยาวชนเกิดคำถามที่ตอนซ้อม ตอนเตรียมทีมงานคาดไม่ถึง ก็ต้องวิ่งเข้าหากันเพื่อหาข้อสรุปที่จะแนะนำ ซึ่งการได้ลงมือทำทุกขั้นตอนทำให้ทีมงานเกิดความชัดเจนเชิงกระบวนการอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

     ในฝั่งเยาวชน ทุกคนต้องคิด วิเคราะห์อย่างหนักว่า เกณฑ์การใช้ประโยชน์ของพื้นที่ คุณลักษณะของโรงงานประเภทต่าง ๆ 108 ประเภท และคุณค่าของพื้นที่นั้น ๆ เพื่อจะออกแบบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แต่ละโซน บรรยากาศที่ต้องสัมผัสจริงในการกำหนดอนาคตของบ้านเมือง ทำให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ว่า ถ้าเลือกผิดพลาด บ้านเมืองจะย่อยยับกับมือได้ ความรู้สึกนี้ได้ก่อเกิดอาการรู้สึกรู้สากับความเป็นไปของชุมชน สังคมและก่อรูปเป็นจิตสำนึกพลเมืองที่ใส่ใจบ้านเมืองได้อย่างจับใจ

     “เวิร์คช็อปที่ผ่าน ๆ มา มีรูปแบบการเรียนรู้สบาย ๆ ลงชุมชน ได้ไปสัมผัสบรรยากาศของชุมชนเข้มแข็ง แล้วเช็คว่าเราอยากให้บ้านเราเป็นเหมือนเขาไหม ถ้าอยากเราต้องทำอย่างไร แต่เวิร์คช็อปเรื่องผังเมืองครั้งนี้ ไม่ใช่แค่สัมผัสแต่ต้องลงมือทำจริง ภายใต้เงื่อนไขว่า ถ้าพลาด บ้านเมืองแย่ น้องจะรู้สึกว่า การที่จะระบายสีอะไรลงไป การใช้ประโยชน์ในพื้นที่นั้น ๆ จะเปลี่ยนไปในทันทีได้เลย จากพื้นที่ชุมชนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เขาจะรู้สึกต้องรับผิดชอบมากขึ้น เพราะแต้มสีไปแม้จุดเดียวมันสำคัญมาก” น้ำนิ่งเล่า


     มีนีเสริมว่า กิจกรรมนี้ตอบโจทย์เรื่องสำนึกพลเมืองได้มาก ก่อนหน้านี้เขาอาจจะไม่ได้สนใจว่าบ้านเขาเป็นอย่างไร มีอะไรดี พอเขามาฟังสถานการณ์ เขาได้มานั่งคิดทบทวนว่าบ้านเขามีอะไรดี มีอะไรที่ต้องรักษา เขาก็รู้สึกว่าต้องรักษาไว้จริง ๆ มันเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องรักษา ซึ่งมันก็เชื่อมไปเลยว่า นี่ไงคือพลเมืองที่ต้องดูแลอะไรที่มันมีอยู่ในบ้านของตนเอง ในเชิงความคิด เราก็จะคุยกับน้องว่า เรื่องแบบนี้มันทำได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพี่แต่ละคนว่าจะเชื่อมอย่างไร โดยในวันสุดท้ายเราจะให้เขาสะท้อนการเรียนรู้ว่าตลอด 3 วันนี้ เขาเป็นแบบไหน ประเมินความเป็นพลเมืองในตนเอง

     ผลงานผังเมืองรวมจังหวัดสงขลาฉบับพลเมืองเยาวชนที่ปรากฏสร้างความชื่นใจให้กับทุกคน และผังเมืองนี้ได้ถูกนำเสนอต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองสงขลา เพื่อเป็นเสียงหนึ่งในการสะท้อนความต้องการของเยาวชนในจังหวัดสงขลาว่า ต้องการเห็นบ้านเมืองถูกพัฒนาไปในทิศทางใด

­

เทศกาลการเรียนรู้

     กิจกรรมสื่อสารสาธารณะและสรุปบทเรียน ภายใต้ชื่อ เทศกาลการเรียนรู้ (Learning Festival) คือ เครื่องมือตอกย้ำสำนึกพลเมืองให้ฝังลึกลงไปในหัวใจของเยาวชนที่ทำโครงการและประกาศต่อสังคม ปีที่ผ่านมา สงขลาฟอรั่มและกลุ่มเยาวชนที่ทำโครงการจะร่วมกันจัดงานปีละ 1 ครั้ง แต่ในปีนี้ เนื่องจากการสนับสนุนโครงการแบ่งเป็น 2 ชุดใหญ่ๆ ซึ่งระยะเวลาของการทำงานที่เหลื่อมซ้อนกัน ทำให้ทีมสงขลาฟอรั่มต้องปรับระบบการจัดเทศกาลการเรียนรู้สำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยซึ่งสิ้นสุดการทำงานไปก่อน โดยแยกจัดตามรายประเด็น และรายพื้นที่ เช่น

     กลุ่มโครงการของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช 3 โครงการ คือ โครงการ ค.ส.ช.คืนความสุขสู่ชุมชน โครงการเติมสีแต้มใจน้อง และโครงการมหัศจรรย์โลกยิ้ม ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ที่ทำโครงการเรียนเอกพัฒนาชุมชน แต่ทำโครงการในประเด็นที่แตกต่างกันคือ ประเด็นเด็กกลุ่มเสี่ยง ประเด็นการศึกษา และประเด็นการจัดการป่าชุมชน ทีมสงขลาฟอรั่มและนักศึกษาร่วมกันออกแบบการจัดกิจกรรมสื่อสารสาธารณะโดยใช้จุดร่วมของการเป็นนักศึกษาวิชาเอกพัฒนาชุมชนเป็น theme หลักในการนำเสนอผลการทำงานของเยาวชนกับหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคพลเมือง เพื่อเป็นบทเรียนแก่นักศึกษา อาจารย์ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ และข้าราชการในพื้นที่

     ส่วนกลุ่มครูอาสา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และโครงการครูเดลิเวอรี่ โดยกลุ่มสังคมศึกษาพัฒนาเยาวชน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกันนำเสนอการดำเนินงานของกลุ่ม และจัดเสวนา “ครูคือใคร ใครคือครู : มุมมองของครูในโลกยุคใหม่” โดยประสานวิทยากรจาก Teach for Thailand ซึ่งได้สร้างการเรียนรู้ให้แก่คณาจารย์ และนักศึกษาวิชาครูในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทของครูที่สร้างการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่

     สำหรับเยาวชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนคลองแดน ที่ร่วมกันทำโครงการเพื่อถิ่นเกิด 3 โครงการ คือ โครงการล่องนาวา ภูมิปัญญาคลองแดน โครงการเที่ยวทั่วท่อง ฅนคลองแดน และโครงการ Media Save Klongdan ได้นำความรู้จากการทำโครงการมาทดลองจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชื่นชมและซึมซับวิถีชีวิตของชุมชนคลองแดน ทั้งทางน้ำที่ใช้เรือนำเที่ยว และทางบกที่ใช้รถไม้เป็นพาหนะในการท่องเที่ยว การนำเสนอความเป็นมาและบทเรียนการทำโครงการ ก่อนจะพานักท่องเที่ยวไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวตามที่ได้ออกแบบไว้ และมีวงสะท้อนความคิดเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ ในเวทีเสวนา “ชุมชนจะรองรับกระแสนักท่องเที่ยวที่หลากหลายรูปแบบอย่างไร” ซึ่งทำให้เยาวชนและคนในชุมชนได้เห็นแนวทางการพัฒนางานของตนเองไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งในเรื่องการเตรียมสถานที่ท่องเที่ยว การศึกษาข้อมูลของชุมชนเชิงลึก การกำหนดรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความต้องการและบุคลิกของนักท่องเที่ยว เป็นต้น

      ด้านโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการหาดทราย เช่น โครงการเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากการเกยตื้นของเรืออรพิน 4 โครงการ Law Long Beach ศึกษากฎหมายเพื่อคุ้มครองชายหาดอย่างยั่งยืน และโครงการหาดเพื่อชีวิตปี 3 (Beach for Life) ร่วมกันจัดการนำเสนอผลงานของโครงการผ่านงานชื่อ “แลเลแลหาด” เครือข่ายเยาวชนทั้ง 3 กลุ่ม ได้นำเสนอผลการศึกษาติดตามความเปลี่ยนแปลงสภาพหาดทั้งระบบ เพื่อให้หน่วยงาน องค์กรในพื้นที่ได้รับทราบข้อมูลระบบนิเวศของหาดทรายและการฟื้นตัวโดยธรรมชาติ ของหาดตามฤดูกาล โดยไม่ต้องอาศัยโครงสร้างแข็ง พร้อมการเดินภาวนาริมหาดเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงพลังของพลเมืองในการปกป้องดูแลหาด ซึ่งจังหวะของการจัดงาน สอดคล้องกับสถานการณ์ที่มีการตั้งคำถามกรณีโครงการนำแท่งคอนกรีตขนาดใหญ่มาวางไว้เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง การจัดงานจึงเป็นการจุดประเด็นให้เกิดการเคลื่อนไหวยุติโครงการดังกล่าว โดยกลุ่มเยาวชนได้เข้าปรึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จนนำไปสู่การเป็นตัวแทนการฟ้องศาลสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อให้มีการคุ้มครองหาดในที่สุด

     นอกจากนี้ ทีมงานสงขลาฟอรั่มและกลุ่มเยาวชนทุกโครงการได้จัดเทศกาลเรียนรู้ร่วมกันเป็นงานใหญ่ โดยมีการออกแบบวิธีการนำเสนอที่มากกว่าการให้กลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่มจัดนิทรรศการหรือนำเสนองานของตนเองเพียงสั้น ๆ ทีมงานได้จัดแบ่งโซนการเรียนรู้ออกเป็นกลุ่มๆ เช่น โซนการเรียนรู้เพื่อ “สำนึกมาตุภูมิ” ของกลุ่มโครงการจากโรงเรียนปากจ่าวิทยา โซนคุณภาพชีวิตและสัมมาชีพ ซึ่งมีการสาธิตการผลิตสินค้าของกลุ่มโครงการที่มีการทำผลิตภัณฑ์ทั้งขนมพื้นบ้าน การทอเสื่อ การทำกรอบพระ การเย็บกระเป๋า โซนกลุ่มสิ่งแวดล้อมที่มีการทำงานเกี่ยวกับ ”ระบบนิเวศหาดทราย” โซนกลุ่มโครงการที่ใช้หลักศาสนาในการทำงาน เป็นต้น

     เยาวชนแต่ละกลุ่มจะมีบทบาทในการจัดการนำเสนอผลงานของตนเองมากขึ้น ตั้งแต่การนำเสนอนิทรรศการ พื้นที่จำลอง การสาธิต การแสดงละคร การเป็นพิธีกรประจำเวที การเป็นผู้นำในเส้นทางการเรียนรู้ของแต่ละโซน ซึ่งบทบาทหน้าที่ที่ได้รับเป็นการฝึกฝน และแสดงออกซึ่งศักยภาพของเยาวชนที่น้องๆ สามารถทำได้อย่างน่าชื่นชม 

­

กลไกการทำงาน

     ผลงานที่ปรากฏของพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา เป็นผลของการทำงานที่เป็นระบบ ทำให้การขับเคลื่อนงานสอดคล้องกัน ทั้งการจัดการกลไกภายในของสงขลาฟอรั่ม และการจัดการกลไกภายนอก ที่มีทั้งอาสาสมัคร ที่ปรึกษาโครงการ และคณะกรรมการ

     นอกจากการโคชกลุ่มเยาวชนจะถูกจัดสรรให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนได้มีส่วนรับผิดชอบแล้ว กลไกการทำงานของสงขลาฟอรั่ม ยังมีบทบาทในส่วนของการบริหารจัดการสำนักงาน ซึ่งประกอบด้วยงาน 3 ส่วน คือ ฝ่ายสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยทีมงานคือ เจาะห์ อุ้ม กช ฝ่ายปฏิบัติการ ประกอบด้วย ตาล มีนี ฝน และฝ่ายบริหาร คือ ป้าหนู ใหม่ มินี และมีทีมอาสาสมัครที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดคือ น้ำนิ่ง กับฝน-อาลิสา บินดุส๊ะ ซึ่งอาสามาช่วยงานตามแต่พี่ ๆ จะมอบหมายให้ทำ ทั้งเรื่องงานเอกสาร งานเวิร์คช็อป และการขับเคลื่อนงานต่าง ๆ

     ด้านกลไกของคณะกรรมการ ส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นที่ปรึกษา ช่วยให้ความเห็นเรื่องโครงการของเยาวชน และในปีนี้มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยเรื่องออกแบบกระบวนการเวิร์คช็อปแต่ละครั้ง

     ส่วนกลไกของที่ปรึกษาโครงการเยาวชนในพื้นที่ มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกยังคงมีบทบาทอำนวยความสะดวกและดูแลเยาวชนเมื่อต้องออกมาเรียนรู้นอกพื้นที่ ซึ่งทีมงานสงขลาฟอรั่มมองว่าการทำงานปีหน้าต้องมีการกระตุ้นให้มีบทบาทเป็นกลไกพี่เลี้ยงในพื้นที่ ที่จะช่วยหนุนเสริมการทำงานของเยาวชนให้มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ที่ปรึกษาที่ร่วมเรียนรู้อย่างเข้มข้นไปพร้อม ๆ กับกลุ่มเยาวชน เนื่องเพราะเป็นประเด็นที่ตนเองขับเคลื่อน เช่น อาจารย์สมปรารถนาซึ่งทำเรื่องหาด อาจารย์ด้านกฎหมาย เจ้าหน้าที่จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 สงขลา เป็นต้น

     การทำงานพัฒนาเยาวชนกับการเรียนรู้ของทีมสงขลาฟอรั่ม จึงคู่ขนานเกี่ยวร้อยกันไปอย่างกลมกลืน บนฐานความเชื่อมั่นที่ว่า กระบวนการสร้างพลเมืองเยาวชน เป็นกระบวนการศึกษานอกระบบที่ต้อง “เปิดโอกาส” ให้เยาวชนมีพื้นที่เรียนรู้จากประเด็น สถานการณ์ปัญหาที่สนใจ การได้ลุกขึ้นมาคิด ลงมือปฏิบัติจริงภายใต้การประคับประคองของพี่เลี้ยงที่อยู่ข้าง ๆ และมีโอกาสสื่อสารสู่สาธารณะ จึงจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ของสังคม และก่อเกิดสำนึกพลเมืองจากฐานการทำงานที่ได้สัมผัสอันจะเป็นพลังในการพัฒนาตนเองและถิ่นเกิดต่อไป