ชุบชีวิตดอกหญ้าเป็นนวตกรรม ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ดูดซับน้ำมันจากธรรมชาติที่ใช้ในครัวเรือน

จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วบริเวณท่าเรือมาบตาพุด ที่ลุกลามไปยังเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อปี 2556 ทำให้ “ต๋า-แอร์-ฟิล์ม” 3 หนุ่มสาว จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง ได้ลุกขึ้นมาคิดโครงงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ “แผ่นดูดซับน้ำมัน” เพราะอยากจะแก้ปัญหาน้ำมันรั่วในทะเล

­

­

­

จากข่าวปัญหาน้ำมันรั่วบริเวณท่าเรือมาบตาพุด และลุกลามไปยังเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง เมื่อปี 2556 ทำให้ 3 หนุ่มสาว นายพุฒิ พงศ์มานะวุฒิ (ต๋า) นางสาวสิริสุดา จิโรจน์กุล (แอร์) และนางสาวธัญชนก ลิ้มอสัมภินกุล (ฟิล์ม) โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ .ตรัง เกิดแรงบันดาลใจนำประเด็นนี้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูดซับน้ำมันที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อหวังจะแก้ปัญหาดังกล่าว

­

­

“…ที่คิดไว้คือจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูดซับน้ำมันเพื่อใช้แก้ปัญหาน้ำมันรั่วในทะเลค่ะ ใช้แทนแผ่นดูดซับ Absorbent Sheet ซึ่งเป็นวัสดุใยสังเคราะห์ แต่ของเราจะใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ” นางสาวสิริสุดา จิโรจน์กุล กล่าว





“จากเดิมที่พวกเราเคยทำโครงงานศึกษาเกี่ยวกับวัสดุดูดซับน้ำมัน เราเลือกใช้วัสดุมาหลายชนิด แต่พบว่าหญ้าขจรจบที่อยู่รอบๆโรงเรียน ซึ่งมีลักษณะเป็นขนแต่ไม่ฟูมาก เมื่อนำมาทดลองจุ่มไปบริเวณที่มีน้ำมัน หญ้าขจรจบมีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันได้ในปริมาณมาก และดูดซึมน้ำปริมาณน้อย” นายพุฒิ พงศ์มานะวุฒิ เล่า



โครงงานวิจัย ‘การศึกษาความเหมาะสมของการนำดอกหญ้าขจรจบ (Pennisetum pedicellatum,Trin.) มาใช้ในการดูดซับคราบน้ำมันในแหล่งน้ำ เพราะมีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันได้ดีมาก ไม่ซับน้ำ และสามารถพับขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้’ ส่งเข้าประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 17 (Young Scientist Contest: YSC 2015) จากนั้น ทั้ง 3 คน จึงสมัครเข้าร่วม โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ปีที่ 3โดยทั้งทีมตั้งใจอยากให้ความคิดและผลการทดลองนี้สามารถเดินไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่ซับน้ำมันได้อย่างเป็นรูปธรรม

“เราอยากจะทดลองทำเป็นผลิตภัณฑ์ให้ใช้งานได้จริงครับ เราจึงคิดว่าถ้าเรานำหญ้าชนิดนี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากจะเป็นการนำวัสดุธรรมชาติที่เป็นของท้องถิ่นมาผลิตเป็นแผ่นดูดซับน้ำมันแล้ว ยังสร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชนด้วย” นายพุฒิ พงศ์มานะวุฒิ กล่าว


แต่เมื่อ “ต๋า-แอร์-ฟิล์ม” ได้รับคำแนะนำจากโคชและผู้เชี่ยวชาญว่าเป้าหมายนั้นที่ทั้ง 3 ตั้งใจว่าจะแก้ปัญหาน้ำมันรั่วในทะเลนั้นมีโอกาสที่จะสำเร็จยาก ทั้งสามจึงไปศึกษากลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ใกล้ตัวมากขึ้น พวกเขาจึงนึกถึงอู่ซ่อมรถ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นที่ที่มีปัญหาน้ำมันเปรอะเปื้อนเป็นประจำ แต่กลับพบว่าอู่ซ่อมรถไม่เน้นเรื่องความสะอาด จึงทำให้ทั้ง 3 คน กลับมามองหากลุ่มเป้ามหมายใหม่อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เขาได้กลับไปมองที่กลุ่มแม่บ้านซึ่งมักมีปัญหาจากการใช้น้ำมันในครัวเรือนและเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ดั่งกล่าว

กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นดูดซับน้ำมันจากดอกหญ้าขจรจบ ได้พัฒนาออกมา 3 รูปแบบ คือ แบบแผ่น เริ่มจาการนำดอกหญ้ามาปั่นกับน้ำ แล้วนำไปผึ่งบนตะแกรงให้แห้งเพื่อขึ้นรูปเป็นกระดาษ ซึ่งผลที่ออกมา คือ สามารถดูดซับน้ำมันได้ดีที่สุด แต่ไม่ขึ้นรูป เกิดปัญหาเรื่องการแตกยุ่ย ทีมจึงคิดออกแบบ แบบห่อกระดาษสา ขึ้น โดยหลังจากเก็บดอกหญ้ามาปั่นและร่อนเมล็ดแล้ว ก็นำบรรจุใส่ถุงกระดาษสา แบบนี้สามารถลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น แต่การดูดซึมอาจจะช้ากว่าแบบแรก เนื่องจากกระดาษสาผ่านกระบวนการทางเคมีมาแล้ว จึงมาลงตัวใน แบบที่ 3 คือเปลี่ยนจากใช้กระดาษสามาเป็นผ้าขาวบาง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของแบบแผ่น และยังมีคุณสมบัติดูดซับน้ำมันได้ดี คือ หากเปรียบเทียบกับการใช้ทิชชู่ สามารถดูดซับน้ำมันได้มากถึง 18 เท่า โดยที่กระดาษไม่เสียรูปทรง” นายพุฒิ พงศ์มานะวุฒิ กล่าว


ถึงวันนี้ ภารกิจชุบชีวิตดอกหญ้าขจรจบของ ต๋า-แอร์-ฟิล์ม เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่พวกเขาทั้ง 3 คน กำลังพัฒนาผลงานชิ้นนี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะขยายผลไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ทั้ง 3 คน ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การได้เข้าร่วมโครงการต่อกล้าฯ ทำให้พวกเขาได้ฝึกการทำงานอย่างเป็นระบบ รู้จักแบ่งเวลาและวางแผนการทำงาน รวมถึงการฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่นทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นเวลาทำงานกับร่วมกันหลายๆ คน

ตอนนี้เราจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในครัวเรือน มุ่งเป้าไปที่กลุ่มแม่บ้าน และหลังจากนั้นอาจต่อยอดไปยังกลุ่มร้านอาหาร รวมถึงในระดับอุตสาหกรรมค่ะ” นางสาวสิริสุดา จิโรจน์กุล กล่าว

----------------------------------------------------------------------------

ขอแสดงความนับถือ/มูลนิธิสยามกัมมาจล

ติดตามรายละเอียดของโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่และโครงการอื่นๆของเยาวชนได้ที่

https://www.scbfoundation.com/ หรือแฟนเพจเฟสบุค

https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION/

­