“ทรัพย์สินทางปัญญา รู้ก่อนรักษาสิทธิ์ได้ก่อน”


ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานอันเกิดจากการประดิษฐ์ คิดค้นหรือสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเน้นที่ผลผลิตของสติปัญญาและความชำนาญ โดยไม่คำนึงถึงชนิดของการสร้างสรรค์หรือวิธีในการแสดงออก ทรัพย์สินทางปัญญาอาจจะแสดงออกในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องได้ เช่น สินค้าต่าง ๆ หรือในรูปแบบของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดในการดำเนินธุรกิจ กรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น


­


ทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1. รูปแบบของสิ่งท่ีจับต้องได้ เช่น รูปทรง ปุ่มกด สีสัน  หน้าตาของสินค้า-ผลิตภัณฑ์ต่างๆ

2. รูปแบบของสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ แนวคิดกรรมวิธี หรือกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม


­


ในทางสากลทรัพย์สินทางปัญญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 

1. ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม แบ่งออกได้ดังนี้

-สิทธิบัตร (Patent)

-เครื่องหมายการค้า (Trademark)

-ความลับทางการค้า (Trade Secret)

-ชื่อทางการค้า (Trade Name)

-สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Indications)

2. ลิขสิทธิ์

­

ความหมายระหว่างสิทธิบัตร (Patent)  กับ  ลิขสิทธิ์ (Copyright) 

สิทธิบัตร(Patent)  คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดเป็นสิทธิพิเศษที่ให้ผู้ประดิษฐ์คิดค้น หรือผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ มีสิทธิที่จะผลิตสินค้า จำหน่ายสินค้าแต่เพียงผู้เดียว ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง  นอกจากนี้ "สิทธิบัตร" ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตของผู้คนไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่อยู่ในชีวิตประจำวันที่เกิดมาจากการประดิษฐ์คิดค้นทั้งสิ้นเช่น กลไกของเครื่องยนต์ ยารักษาโรค ผงซักฟอก  โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ รวมไปถึงวิธีการในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วจนเกินไป เป็นต้น


­


ลิขสิทธิ์ (Copyright) คือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะกระทำการใดๆเกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ริเริ่มโดยการใช้สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ และความอุตสาหะของตนเองในการสร้างสรรค์ โดยไม่ลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น ซึ่งงานที่สร้างสรรค์ ต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครองที่สำคัญผู้สร้างสรรค์จะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน ซึ่งงานที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครอง ได้แก่ ...หนังสือ บทความ บทกลอน ท่าเต้น ท่าร่ายรำ ภาพวาด ภาพถ่าย เนื้อร้อง ทำนองเพลง วีซีดีคาราโอเกะ ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ สิ่งบันทึกเสียง เช่น เทป ซีดีเพลง เป็นต้น

หลายคนยังคงสับสนระหว่างคำว่า สิทธิบัตร กับ ลิขสิทธิ์ และยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนเองคิดค้นประดิษฐ์งานขึ้นมานั้น ผลงานของตนอยู่ในข่ายงานศิลป์หรือว่างานประดิษฐ์ และจำเป็นต้องจดสิทธิบัตรหรือว่าลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะถ้าหากมองเผินๆ ทั้งสองคำนี้อาจดูจะคล้ายกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีความแตกต่างกัน ดังนี้  

สิทธิบัตร  จะต้อง....

1. ยื่นคำขอ

2. จดทะเบียน

3. มีการตรวจสอบ

4. ระยะคุ้มครอง 10 ปี และ 20 ปี

5. เสียค่าธรรมเนีย

ในขณะที่ลิขสิทธิ์ นั้น....

1.ผลงานถูกคุ้มครองโดยอัตโนมัติ

2. ไม่ต้องจดทะเบียน

3. ไม่ต้องมีการตรวจสอบ

4. ระยะคุ้มครอง 50 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต

5. ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

จะว่าไป “สิทธิบัตร” ก็เปรียบเสมือนอาวุธของนักประดิษฐ์ ตามความเข้าใจ

ของคนโดยทั่วไป การจดสิทธิบัตร กระทำขึ้นก็เพื่อเป็นการป้องกันมิ่ให้ ผู้อื่น

นำแนวคิดของเราไปทำการใดๆ ในเชิงพาณิชย์ แต่พวกเราทราบหรือไม่ว่า

การจดสิทธิบัตรยังมีความสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่

­

1 เป็นกลไกสำหรับคุ้มครองเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และธุรกิจ ป้องกันมิให้ถูกผู้อื่นละเมิด หรือถูกกล่าวหาว่าไปละเมิดผู้อื่น

2 เป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง หรือสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและเทคโนโลยี

3 เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่เทคโนโลยี

4 เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทต่างชาติที่เข้ามาร่วมทุน

5 ช่วยปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ให้มีการพัฒนา ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ส่งผลให้ราคาถูกลง สินค้ามีการส่งออกมากขึ้น



ดาวน์โหลดเอกสาร >>> คลิก