“มูลนิธิสยามกัมมาจล” จับมือ “เนคเทค” ต่อยอดเยาวชนไอซีทีสู่การใช้จริง “ต่อกล้าให้เติบใหญ่” ประสบผลสำเร็จ เปิดรับสมัครปี 2

“...เนื่องจากในชีวิตจริงคนที่สามารถทำงานได้สำเร็จ ไม่ใช่คนพิเศษ แต่เป็นคนธรรมดาที่ต้องปรับตัวให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมากที่เยาวชนจะได้เรียนรู้ ซึ่งเยาวชนในโครงการนี้โชคดีที่เมื่อได้พบโจทย์แบบนี้ เขาได้เรียนรู้ก่อนใคร และต้องพยายามปรับตัว ที่สำคัญมีความอดทนอดกลั้น ฟันฝ่าอุปสรรคจนกระทั่งทำงานได้สำเร็จ นั่นแหละคือเด็กไทยรุ่นใหม่ที่เราอยากเห็น และเราได้เห็นในเยาวชนกลุ่มนี้...”

­

หลังจากประสบความสำเร็จจากการร่วมมือกันระหว่าง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) กับศูนย์เทคโนโลยีอิ เล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ในการจัดโครงการต่อยอดการพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ (ต่อกล้าให้เติบใหญ่) ปีที่ 1 โดยเข้าไปสนับสนุนการพัฒนา”ต่อยอด” ผลงานด้านโปรแกรมซอฟต์แวร์คคอมพิวเตอร์ของเยาวชน ล่าสุดได้เปิดรับสมัครปีที่ 2 จำนวน 10 ผลงาน จากผลงานที่เข้าแข่งขันรอบสุดท้ายในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (Thailand ICT Contest Festival) เป้าหมายเพื่อสนับสนุนผลงานของเยาวชนให้ไปสู่การใช้ประโยชน์จริง และสร้างโอกาสในการพัฒนาผลงานสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ

­

­

นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล

­

การร่วมมือกันครั้งนี้ได้รับการเปิดเผยที่มาและผลสำเร็จจาก นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลว่า “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest : NSC) มีมากว่า 10 ปี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จึงได้หารือร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจลว่า จะพัฒนาโครงการนี้ต่อไปในทิศทางไหน อย่างไรดี จะมีเส้นทางใดที่จะสนับสนุนให้เยาวชนสามารถไปต่อได้ และช่วยหนุนเสริมให้เกิดการนำโครงการที่ทำมาแล้ว 70-80% ไปถึงผู้ใช้ได้ เพราะมีหลายผลงานที่มีคุณค่า เพื่อจะทำให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากผลงานเหล่านั้นมากขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบการต่อยอดมาถึงโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นี้

เส้นทางการพัฒนาโปรแกรมไปสู่ผู้ใช้เป็นเหมือนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่ง จึงมีหลายประเด็นที่เยาวชนน่าจะได้เรียนรู้ เพราะฉะนั้น เราจึงคาดหวังว่า หนึ่ง ผลงานจะได้มีการพัฒนาไปสู่ผู้ใช้ สอง ตัวเยาวชนเองที่มีศักยภาพ เป็นกำลัง เป็นนักไอทีที่เก่งๆ ในบ้านเราที่จะได้รับการพัฒนาที่ไม่ใช่ในทิศทางของเทคนิคทางไอทีเท่านั้น แต่ในชีวิตจริงนักไอทีเหล่านี้ต้องเรียนรู้วิธีพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคหรือผู้ใช้งานด้วย และนอกจากจะได้เรียนรู้จากชีวิตจริง เรายังคาดหวังว่า การพัฒนาเยาวชนในทิศทางนี้ เขาจะมีแง่มุมในเรื่องการแบ่งปันศักยภาพตนเองกับสังคม รวมทั้งความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะฉะนั้นจึงมีกรรมการของมูลนิธิฯ เข้าไปช่วยมองและช่วยให้ความเห็นในแง่มุมเหล่านี้ด้วย ดังนั้น ในกระบวนการนี้ผลลัพธ์ที่ได้จะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของเยาวชนเองและผู้ใช้งาน”

­

การดำเนินงานปีแรกนี้ ค่อนข้างประสบความสำเร็จพอสมควร เนื่องจากเยาวชนได้เรียนรู้อย่างที่เราตั้งใจว่าเขาจะได้เรียนรู้ หลายผลงานสามารถพัฒนาไปสู่ผู้ใช้ได้ ซึ่งบางผลงานต้องเชื่อมการเรียนรู้ไปสู่ศาสตร์อื่นๆ นอกจากไอทีด้วย เช่น ศาสตร์ทางการแพทย์ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องที่ต้องใช้ความรู้เรื่องการตลาดเข้ามาช่วย เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างมาก แม้ระยะเวลา 3 – 4 เดือน เยาวชนอาจยังไม่สามารถพัฒนาผลงานไปสู่ผู้ใช้ได้ แต่ก็จะเห็นภาพว่า ผลงานเหล่านั้นสามารถไปต่อได้ แค่นี้เราก็ดีใจแล้ว และภูมิใจว่า เขามีมุมมองในเรื่องของความรับผิดชอบต่อผู้ใช้งาน ความรับผิดชอบต่อสังคม และมีแง่มุมที่นึกถึงการแบ่งปันศักยภาพหรือผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ในสังคมโดยรวม มากกว่าที่จะคิดถึงรายได้ของตัวเอง


“ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจมากที่เขาเดินทางมาถึงช่วงนี้ เราได้เห็นตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามาและวันสุดท้ายที่เขาเดินออกจากเวทีนี้ไป ซึ่งเราได้เห็นเลยว่า เขาเติบโต” นางปิยาภรณ์ กล่าวตบท้าย


ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการ (กลุ่มบริหารงานวิจัย) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการ (กลุ่มบริหารงานวิจัย) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เผยว่า “เมื่อโครงการต่อกล้าฯ เข้ามาเสริมความสามารถของเยาวชน ปรากฏว่าเยาวชนมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด พวกเขาสามารถเห็นมุมมองด้านต่างๆ เข้าใจว่า ผลงานต้องพัฒนาให้ตอบสนองกับผู้ใช้ในการนำไปใช้ประโยชน์ มุมมองเหล่านี้ปกติมักต้องใช้เวลาค่อนข้างมากในการเรียนรู้ หากจะเป็นโปรแกรมเมอร์อาชีพที่จะผลิตเกมหรือผลิตงานซอฟต์แวร์ออกมาขายในเชิงพาณิชย์ได้ ต้องใช้องค์ความรู้หรือใช้เวลาในการฝึกฝนเรียนรู้ค่อนข้างนาน แต่โครงการต่อกล้าฯ เข้ามาทำให้เด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้น เป็นการก้าวที่จะต่อยอดได้อย่างดีมาก ผมจึงคิดว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อ NECTEC และวงการไอทีครับ” ดร.กว้าน สีตะธนี กล่าวตบท้าย

­

 นายปองพล วงษ์คาร

ส่วนหนึ่งของเยาวชนที่เข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ในปีที่ 1 ได้สะท้อนความคิดเห็นในการร่วมโครงการฯ นี้ ไว้อย่างน่าฟัง.. นายปองพล วงษ์คาร หรือ ไนซ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เจ้าของผลงานโปรแกรมฝึกฝนการคัดลายมือสำหรับเด็กบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ Android (กอไก่ ไรเดอร์) “สิ่งที่ผมได้แน่ๆ จากการทำงานนี้ก็คือ มันฝึกการทำงานกับตัวเอง เอาชนะตัวเอง และเอาชนะหลายๆ อย่างครับ เหมือนเป็นแบบทดสอบหนึ่งที่ช่วยฝึกเราหลายๆ ด้าน และทำให้เราเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิดมากขึ้น ซึ่งผมว่ามุมมองกับความคิดทำให้คนโตขึ้น”

­

นายธนพล กุลจารุสิน,นายฉัตรปรินทร์ หงส์ศิริธรรม,นายสุทธินันท์ สุคโต,Insectica Kingdoms

นายธนพล กุลจารุสิน หรือ แบงค์ ,นายฉัตรปรินทร์ หงส์ศิริธรรม หรือ จ้ำ และ นายสุทธินันท์ สุคโต
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เจ้าของผลงาน Insectica Kingdoms หรือ “มหัศจรรย์อาณาจักรแมลง : ผจญภัย” เป็นเกมจัดทัพวางแผนการรบในรูปแบบ 3 มิติเผยว่า“ช่วงนั้นถือว่าตัวเกมใกล้เสร็จสมบูรณ์มากๆ แล้วครับ จนได้การสนับสนุนจากโครงการต่อกล้าฯ เราก็มาแก้ไขจุดที่เกมยังบกพร่องอยู่ เช่น ทำให้ระบบมันสอดรับกับ Device ของลูกค้าให้มากกว่าเดิม รวมไปถึงเพิ่ม Avatar ตัวละครให้มีหลากหลายขึ้นด้วย” รวมไปถึงทีมยังได้พัฒนาระบบการเล่นของเกมให้ลื่นไหลมากขึ้น โดยเฉพาะในโหมดการเล่นแบบ LAN จากเดิมที่เคยต้องเล่นผ่าน WIFI ทีมก็ได้ปรับมาให้เล่นผ่าน Bluetooth ผู้เล่นจึงเล่นได้ลื่น ไม่ติดขัดเหมือนเวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ซึ่งการพัฒนาที่เกิดขึ้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างความตั้งใจเดิมของทีม และการชี้แนะจากคณะกรรมการ “การได้เจอกรรมการอีกชุดหนึ่ง ได้แนวคิดอีกแบบหนึ่งเพิ่มเข้ามา มันช่วยในการพัฒนาผลงานของเรามากๆ ครับ” แบงค์กล่าวตบท้าย

­

นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์,ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ

นายยุทธพงศ์ อุณหทวีทรัพย์ (อู๋) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชาเจ้าของผลงาน “ระบบตรวจวัดและวิเคราะห์น้ำหนักกดบริเวณฝ่าเท้าอัจฉริยะ” เพื่อนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการออกแบบอุปกรณ์พยุงส้นเท้าและฝ่าเท้าชนิดแรงกดบริเวณสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน “ปัญหาคือเราเรียนวิศวะมา ไม่มีความรู้ทางการแพทย์เลย ไหนจะความรู้เรื่องกายวิภาค เรื่องกระดูกเท้า ก็เลยต้องไปหาคุณหมอ ดูว่าคุณหมอตรวจรักษาอย่างไรไปทำงานร่วมกับคุณหมอ คุณหมอก็พาเข้าไปดูการรักษาทุกอย่าง ทุกกระบวนการ ได้ศึกษาเรื่องการรักษาเท้า เป็นทางการแพทย์ทั้งหมด” ซึ่งอู๋บอกว่า การได้เข้าไปคลุกคลีรู้ระบบการตรวจรักษาทางการแพทย์นี้ เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนของชีวิต หนึ่งคือเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ และสอง การได้รู้ได้เห็นของจริง ทำให้ผมสามารถพัฒนาระบบที่ทำงานบนพื้นฐานของการใช้งานจริงขึ้นมาได้ อู๋กล่าว

­

สำหรับโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ เปิดรับสมัครในปีที่ 2 แล้ว โดยเปิดรับผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยครั้งที่13 (The Thirteenth Thailand IT Contest Festival 2014) ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันพุธ ที่ 12-14มีนาคม2557 ที่ผ่านมา ณหอประชุมมหิศรธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด(มหาชน) โดยมีเยาวชนไอทีจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

­

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของงานและรับชมภาพบรรยากาศภายในงานได้ที่ : The Thirteenth Thailand IT Contest Festival 2014