เวทีประเมินเสริมพลังและพัฒนาข้อเสนอโครงการสึนามิระยะที่ 1 พี่เลี้ยง 3 จังหวัด"ตรัง สตูล ระนอง" เติมเครื่องมือ"EE"

เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมามูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดเวทีประเมินเสริมพลังและพัฒนาข้อเสนอ โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ระยะที่ 1 ณ โรงแรมเดอะทราเวลเลอร์ส รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ เพื่อสรุปบทเรียนการทำงานในระยะที่ 1 พร้อมพัฒนาเป้าหมายการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ที่เป็นแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ ออกแบบการทำงานของทีมกลางและทีมกลไกหนุนเสริมในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้คณะทำงานได้เรียนรู้ “เครื่องมือ” การประเมินผลแบบเสริมพลัง และ “เครื่องมือ” ในการออกแบบและวางแผนการทำงาน โดยมี นายกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นวิทยากรกระบวนการและได้นำเครื่องมือ Empowerment Evaluation หรือ "EE" มาใช้ประเมินเสริมพลัง ทบทวนการทำโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิในระยะที่ 1 เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการหนุนเสริมศักยภาพ และการเรียนรู้ให้แกนนำชุมชน โดยใช้ "งานวิจัย" สร้างข้อมูล ความรู้เพื่อการตัดสินใจ "พัฒนา" คลี่คลายปัญหาในชุมชน


นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เวทีนี้เป็นการ "เหลียวหลัง" เพื่อจะ "แลหน้า" ทบทวน "วิธีคิด" ออกแบบ "วิธีทำ" และวางแผน "บริหารจัดการ" ทั้งทีมกลางและทีมพี่เลี้ยง เพื่อยกระดับชุมชนให้เกิด "กลไก" บริหารจัดการตนเองและสามารถคลี่คลายปัญหามิติต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งการจัดการอาชีพ ฐานทรัพยากรป่าไม้ ภูมินิเวศทะเลชายฝั่งจังหวัดสตูล ตรัง ระนอง และการสร้างคนรุ่นใหม่ของชุมชน รวมทั้งการ "ตั้งรับ" ภัยพิบัติสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


โดยมีโจทย์ คือ 1. คลี่ความซับซ้อน และผลลัพธ์ในระยะที่ 1 ของแต่ละชุมชน ด้านการสร้าง "คน" สร้าง "กลไก" บริหารจัดการตนเอง 2. ใช้ต้นทุนเดิมที่ทำสำเร็จ มาออกแบบการเคลื่อนต่อว่าจะยกระดับการแก้ปัญหา หรือเชื่อมโยงขยายผลต่อในแต่ละเรื่องอย่างไร 3. ทำความเข้าใจร่วมถึงแนวคิด และกำหนดเป้าหมายร่วมกัน ผลที่คาดหวังคือเราอยากเห็นรูปธรรมของ "ชุมชนบริหารจัดการตนเอง" อย่างไร


นายชีวัน ขันธรรม ผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ชักชวนทีมพี่เลี้ยงจากจังหวัดสตูล ตรัง และระนอง ให้ช่วยกันให้นิยามความหมายของคำว่า “ชุมชนจัดการตนเอง” หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกันมา 2 ปี หากจะเดินต่อในระยะที่ 2 ควรมีนิยามอย่างไร ซึ่งเวทีประชุมสรุป Key Word จากสิ่งที่ได้ระดมความคิดกันไว้แล้วนำมาปรับเป็นนิยามใหม่คือ “ชุมชนที่มีระบบที่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้โดยใช้ข้อมูล ความรู้ และกระบวนการมีส่วนร่วม เพื่อคลี่คลายปัญหาชุมชนในมิติที่หลากหลาย”

อย่างไรก็ตามเพื่อให้นิยามใหม่สอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานเห็นควรให้มีการปรับผลลัพธ์การทำงานใหม่ ดังนี้ 1. ชุมชนมีระบบ / กลไกจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่อง และ 2. กลไกสามารถเชื่อมร้อยประเด็นเก่า+ ใหม่, ร้อยองค์กร ทั้งภายใน ภายนอกเพื่อคลี่คลายปัญหา ส่วนรูปแบบการขับเคลื่อนงานในระยะที่ 2 ซึ่งประมวลจากการนำเสนอของทีมพื้นที่ มี 2 รูปแบบ คือ ขยายในพื้นที่เดิม ได้แก่ พื้นที่กำพวน, ขอนคลาน , หลอมปืน, บุโบย, บ่อเจ็ดลูก, เกาะสุกร เช่น จากประเด็นทรัพยากร แตกไปเคลื่อนในประเด็นสวัสดิการชุมชน อาชีพ การศึกษา สุขภาพ ฯลฯ ภายใต้เงื่อนไข คือ 1. มีคนเคลื่อนในประเด็นนั้นๆ หรือกลุ่มนั้นๆและ 2. คนเคลื่อนหลักสามารถหาแนวร่วมได้ไหม ขยายสู่พื้นที่ใหม่ ได้แก่ 1. ขยายไปยังพื้นที่ใหม่ โดยเน้นพื้นที่บริเวณใกล้เคียง โดยอาจมุ่งเป้าไปที่เครือข่ายและ 2. ขยายพื้นที่ใหม่ในประเด็นเดิม เช่น กองทุนชุมชน ก. ขยายไปสู่กองทุนชุมชน ข. กองทุนชุมชน ค. กองทุนชุมชน ง. ซึ่งเป้าหมายจะเป็นเรื่องนโยบาย เพราะกลุ่มประเด็นน่าจะมีความชัดเจนบางอย่างที่จะพอสังเคราะห์ข้อเสนอสู่ระดับนโยบายได้

วันนี้การดำเนินโครงการระยะที่ 1 ผ่านไปพบว่าชุมชนเริ่มมีความสามารถบริหารจัดการตัวเองพอสมควร ผ่านกระบวนการที่มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาสร้างเครื่องมือให้ชุมชนเข้มแข็ง และในระยะที่ 2 นี้ เราคาดหวังว่าชุมชนจะลุกขึ้นมาพัฒนาและสร้างกลไกต่อได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน