Special of Art…สกัดกั้นยาเสพติด

­

สถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันที่ซื้อง่ายขายคล่องนับวันจะแพร่ระบาดสู่เด็กและเยาวชนมากขึ้น ดุษฎียา สถิรวณิชย์ “แนน” ในฐานะคณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนแจ้งวิทยา ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา รับรู้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

­

“เพื่อนบางคนตกเป็นทาสยาเสพติด และเกรงว่า “ยาร้าย” จะเล็ดลอดเข้ามาในรั้วโรงเรียน” แนนจึงตัดสินใจตั้งกลุ่ม Special of Art พร้อมกับชักชวนเพื่อนๆ ในโรงเรียนซึ่งประกอบด้วย ณิชากร มุนีอภิบาลหรือ “อิ๋ว” ชาลิสา จิรนนทพงษ์ หรือ “แจม” รัชนีกร แซ่ลิ้มหรือ “แพท” และพงศธร คงดีหรือ “กอล์ฟ” เข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสงขลาฟอรั่มและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำโครงการเยาวชนคนสร้างสรรค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในโรงเรียน

­

“แนน” ในฐานะหัวหน้าโครงการเล่าว่า ขณะนั้นเธอเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เห็นว่ายาเสพติดเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของโรงเรียน เพราะเพื่อนหรือน้องบางคนไม่เพียงแค่ลักลอบเสพยาในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังกลับไปเสพในชุมชนอีกด้วยพอครูทราบก็จะมีมาตรการลงโทษที่เด็ดขาด ตั้งแต่คาดโทษ พักการเรียน ไปจนถึงไล่ออกซึ่งเธอมองว่าจะส่งผลกระทบต่ออนาคตในระยะยาวของเพื่อนและน้องๆ ทั้งยังสะเทือนไปถึงสถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว รวมถึงสถาบันสังคมเห็นว่าวิธีการของครูไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหาที่ดี

­

“ถ้าเพื่อนหรือน้องติดยา แล้วครูเข้าไปตักเตือน ติเตียน ทำโทษ แทนที่เพื่อนหรือน้องจะคิดได้ กลับจะยิ่งทวีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น อยากท้าทาย อยากประชด หรือบางรายถูกไล่ออกจากโรงเรียนไปแล้ว ก็ยังกลับมาชวนเพื่อนในโรงเรียนให้ไปเสพยาด้วยกัน แต่หากเราใช้ความเป็นเพื่อนเป็นพี่เข้าไปพูดคุย เข้าไปชักชวนให้เขาร่วมทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มีประโยชน์ คอยติดตามให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ เขาจะค่อยๆ ห่างจากยาเสพติดมากขึ้นเรื่อยๆ จนเลิกได้ในที่สุด” แนนให้ความเห็นอย่างเข้าใจในอารมณ์ของวัยรุ่น

­

ประกอบกับหน้าที่ของคณะกรรมการนักเรียน ที่แนนต้องคอยตรวจกระเป๋านักเรียนทุกคนในช่วงเช้าก่อนเข้าห้องเรียนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน แม้จะเป็นการสุ่มตรวจโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะตรวจวันไหน ทำให้แนนเห็นรูปแบบการซุกซ่อนที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่ก็เจอสารเสพติดเกือบทุกครั้ง จึงนำมาหารือกันในกลุ่ม และวางแผนจัดกิจกรรมค่ายอบรมให้กลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนรู้เท่าทันยาเสพติด โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 ช่วงชั้น คือเด็กเล็ก ตั้งแต่ชั้นอนุบาล-ป.3 เด็กกลางตั้งแต่ชั้น ป.4-ป.6 และเด็กโตคือชั้น ม.1-ม.3

­

­

­

กิจกรรมค่ายมี 3 วัน เริ่มจากชี้แจงรายละเอียด นิมนต์พระมาให้ความรู้เรื่องคุณธรรมจริยธรรม สอดแทรกในกิจกรรมเพราะเป็นโรงเรียนวิถีพุทธ จากนั้นจึงให้ความรู้เรื่องยาเสพติดที่แกนนำทั้ง 5 คน ได้เรียนรู้จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 แล้วนำความรู้ทั้งหมดมาประมวลนำเสนอในรูปแบบพาวเวอร์พอยต์ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ และวันสุดท้ายเป็นการทำกิจกรรมสันทนาการคลายเครียด หลังปิดการอบรมแล้วแกนนำและสภานักเรียน ร่วมกันลงพื้นที่รอบโรงเรียนเพื่อสำรวจจุดเสี่ยง และสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเด็กที่เสพยาเสพติดส่วนใหญ่มักจะติดเกมด้วย เมื่อกลับจากโรงเรียนก็จะขลุกอยู่ตามร้านเกม ไม่ช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน ซ้ำเมื่อมาโรงเรียนก็ไม่ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ

­

“การแก้ปัญหายาเสพติด คงไม่สามารถทำได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แค่ครั้งเดียวแล้วได้ผล แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พวกเราจึงให้ความรู้เรื่องยาเสพติดหน้าเสาธงทุกวัน พอถึงช่วงพักเที่ยงก็เดินตรวจตามห้องน้ำทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร เพราะถือเป็นจุดเสี่ยงที่นักเรียนมักจะใช้เป็นสถานที่หลบมาเสพยาเสพติด ขณะเดียวกันก็ได้ปรึกษากับอาจารย์ขอใช้ช่วงเวลาเรียนในบางวันทำกิจกรรมอบรมเรื่องยาเสพติด ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือด้วยดี ทำให้สามารถจัดกิจกรรมอบรมได้ทุกเดือน” แนน อธิบาย

­

การแทรก “สาระยาเสพติด” ในทุกสื่อของโรงเรียน และเพื่อให้การสื่อสารสาระยาเสพติดเข้าถึงเพื่อนๆ ในโรงเรียนอย่างแท้จริง แนนและทีมงานจึงนำ “สื่อ” ทุกชนิดที่มีอยู่ในโรงเรียนมาใช้ หวัง “กระตุ้นจิตสำนึก” ของนักเรียนให้ห่างไกลจากยาเสพติด เช่น เสียงตามสาย อย.น้อย ที่เปิดทุกเช้าก่อนเข้าเรียนและช่วงพักเที่ยงซึ่งแต่เดิมสื่อนี้โรงเรียนเองก็ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจน เพียงใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างของโรงเรียนและให้สาระบันเทิงทั่วไปเท่านั้น แต่เมื่อมีโครงการเยาวชนคนสร้างสรรค์เกิดขึ้นจึงมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาของเสียงตามสายใหม่ให้เป็นเรื่องของยาเสพติดทั้งหมด ส่วนสื่ออื่นๆ อาทิ มโนราห์ วงดนตรีโรงเรียน หนังตะลุงคน ก็พยายามสอดแทรกเนื้อหาเรื่องพิษภัยของยาเสพติดเข้าไปด้วยทุกครั้งที่มีการแสดง

­

ณิชากร มุนีอภิบาล หรือ “อิ๋ว” หนึ่งในแกนนำหลักบอกว่า การสื่อสารกับวัยรุ่นจำเป็นต้องใช้สื่อทุกอย่างที่มีอยู่ ลำพังการจัดบอร์ดนิทรรศการหรือการอบรมให้ความรู้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะวัยรุ่นส่วนใหญ่ให้ความสนใจน้อย แต่เมื่อนักดนตรีของโรงเรียนนำเรื่องยาเสพติดไปพูดคุยระหว่างหยุดพักการแสดงบนเวทีหรือนักแสดงมโนราห์ คนเล่นหนังตะลุง นำปัญหาเรื่องยาเสพติดไปเป็นเนื้อหาในการร้องและแสดงโชว์ จะมีเสียงกรี๊ด เกิดปฏิกิริยาตอบสนอง…เป็นกระแสตอบรับจากวัยรุ่นอย่างล้นหลาม จึงถือว่าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากและโดนใจกว่า

­

ผลจากการทำงานแม้จะไม่สามารถขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากโรงเรียนได้ แต่พวกเราก็มีส่วนช่วยคลี่คลายปัญหาได้ในระดับหนึ่ง สังเกตได้จากการตรวจกระเป๋านักเรียนช่วงหลังๆ จะพบการซุกซ่อนยาเสพติดมาโรงเรียนน้อยลง และยังช่วยเพื่อนรายหนึ่งให้เลิกเสพยา เลิกสูบบุหรี่ได้ พวกเราสังเกตเห็นว่าเพื่อนคนนี้มีรูปร่างสูงใหญ่น่าจะเล่นกีฬาได้ดี จึงชักชวนเขาให้เข้ามาเล่นกีฬาโรงเรียนทั้งวอลเลย์บอลและฟุตบอลจนเขาเลิกได้ในที่สุด

­

ด้วยศักยภาพของแกนนำกลุ่ม Special of Art ที่ทุกคนมีเป็น “ทุนเดิม” อยู่แล้ว ในฐานะคณะกรรมการนักเรียนที่ต้องทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนมาโดยตลอด เมื่อต้องมาทำโครงการเยาวชนคนสร้างสรรค์พวกเขาจึงสามารถต่อรองกับอาจารย์หรือผู้บริหารโรงเรียนเรื่องการจัดการกับปัญหายาเสพติดภายในโรงเรียนได้ โดยไม่ยึดติดกับกรอบกติกาของบทลงโทษเดิมๆ ที่โรงเรียนวางไว้ และผลที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ เด็กไม่หมดอนาคตทางการศึกษา ไม่กลายเป็นภาระของครอบครัว ชุมชน และสังคมในระยะยาว

­

วันนี้แม้โครงการจะจบลง แต่สภานักเรียนโรงเรียนแจ้งวิทยา ยังคงใช้แผนปีของโรงเรียนที่ถูกสอดแทรกด้วยแผนกิจกรรมโครงการเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพราะตระหนักดีว่าปัญหายาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะเวลาอันสั้น และแผนกิจกรรมที่แทรกไว้ก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มงานเพิ่มภาระ แต่ช่วยให้ทำงานควบคู่กันไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน และนอกจากผลงานที่ฝากไว้กับโรงเรียน แนนในฐานะหัวหน้าทีมบอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอเห็นตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องภาวะความเป็นผู้นำ

­

“จากเดิมเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมากไม่ฟังเสียงเพื่อนในกลุ่มเลย คิดวางแผน สั่งการตัดสินใจเองทั้งหมด พอสั่งแล้วเพื่อนไม่ทำหรือทำไม่ได้ดั่งใจก็จะลงมือเอง จนรู้สึกเหนื่อยและท้อมาก พอทำโครงการได้ระยะหนึ่งรู้สึกได้ว่าถูกเพื่อนทิ้ง จึงเริ่มกลับมามองตัวเอง พยายามปรับปรุงตัว ฟังความคิดเห็นของเพื่อนมากขึ้น เริ่มกระจายงานให้เพื่อนอย่างทั่วถึง ทำให้เราเข้าใจเพื่อนมากขึ้น”

­

แนน บอกต่อว่า โครงการนี้ทำให้เธอได้พัฒนาความรู้เรื่องยาเสพติด จากที่เคยรู้จักแบบผิวเผิน ก็รู้จักชนิด โทษภัยของยาเสพติดชัดเจนขึ้น ทำให้รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่สามารถเข้ามาทำโครงการที่เป็นปัญหาระดับชาติได้ ถึงแม้สิ่งที่ทำจะเป็นเพียงการเริ่มต้นในจุดเล็กๆ ก็ตาม แต่การทำงานครั้งนี้ทำให้เธอมั่นใจมากขึ้นว่าต่อไปนี้ไม่ว่าจะเจองานหนักหนาแค่ไหน เธอก็ต้องทำให้ได้

­

ขณะที่อิ๋วบอกว่า ผ่านไป 4 เดือนกับการทำโครงการนี้เธอเริ่มใจเย็นลง คิดได้ว่าการทำงานกับเพื่อนต้องพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วย

­

สำหรับแจมแม้จะรับหน้าที่ช่วยเหลืองานทั่วไป แต่สิ่งที่แจมบอกว่า เป็นประโยชน์กับตัวเองมาที่สุดคือได้ฝึกคิดและนำเสนอ เมื่อก่อนเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่กล้าแสดงออก เวลาเพื่อนประชุมหารือกันก็จะคอยรับฟังอย่างเดียว กระทั่งทำโครงการได้ระยะหนึ่งเริ่มเรียนรู้ว่าเราต้องหัดคิดหัดแสดงออกภายใต้หลักความเป็นจริงและเหตุผล เนื่องจากแกนนำทุกคนต้องช่วยกันระดมความคิดในทุกขั้นตอนของการทำงาน เมื่อใครนำเสนอขึ้นมาเพื่อนก็จะรับฟัง และนำไปใช้เป็นเหตุผลประกอบการตัดสินใจ

­

ซึ่งก็คล้ายๆ กับแพทที่เป็นคนขี้อาย ชอบเก็บตัว ไม่สุงสิงกับเพื่อนแต่พอผ่านกระบวนการทำงานในโครงการทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า เธอจะนิ่งเฉยเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ถ้าไม่เห็นด้วยหรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไปจากกลุ่ม ต้องพูด ต้องอธิบายให้เพื่อนรู้ด้วยเพื่อให้งานออกมาดีที่สุด“กระบวนการ” อบรมที่พี่ๆ จากสงขลาฟอรั่มฝึกฝนให้ ทำให้เรากล้าพูดกล้าแสดงออก ป้าหนูพูดเสมอว่าความเห็นของเราไม่มีผิด ไม่มีถูก คิดว่าสิ่งนี้แหละที่ทำให้เรากล้าแสดงความเห็นในกลุ่มมากขึ้น”

­

และนี่คืออีกหนึ่ง “กระบวนการเรียนรู้” ที่กลุ่ม Special of Art ได้ “เรียนรู้” จากการลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโจทย์ การวางแผนการทำงาน การประสานงาน การคิดทำกิจกรรม การค้นคว้าหาความรู้ การคิดวิเคราะห์ และที่สำคัญคือ “การทำงานเป็นทีม” ที่พวกเขาต้องรู้ตัวตนทั้งของตนเองและเพื่อนร่วมทีม เพื่อให้การทำโครงการของพวกเขาบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด

­

อ่านข่าวออนไลน์ได้ที่ : Special of Art…สกัดกั้นยาเสพติด