­

ในสังคมที่ดูรีบเร่งไปหมดทุกอย่างจนไม่มีแม้กระทั่งเวลาหายใจหายคอให้ทั่วท้อง คงมีไม่บ่อยนักที่ใครสักคนจะได้ทบทวนตนเองอยู่เสมอๆ ทว่าหากได้ปลีกเวลาน้อยๆ มาลองฟังเสียงของใจตัวเองดูสักนิด ก็อาจค้นพบความหมายและสิ่งที่ใจปรารถนาซ่อนอยู่ เช่นกันกับ “นลิน - นางสาวนลินภัสร์ จิรกุลศรัณย์” สาวผู้กล้าเดินตามเสียงของใจตัวเองวัย 27 ปี ซึ่งได้เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ให้กับตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ที่ซึ่งเป็นทั้งรากเหง้าและบ้านเกิด อย่างการทำกิจกรรมอาสาสมัครกู้ชีพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น และล่าสุดกับการอนุรักษ์หน้าดินด้วยหญ้าแฝก ซึ่งทั้งหมดถูกยึดโยงด้วยคำๆ เดียวว่า “สำนึกรักบ้านเกิด”

­


­

­

นลินเล่าว่า เธอเกิดและเติบโตขึ้นในครอบครัวที่มีพ่อเป็นทหารอากาศ พ่อ พี่ชายทั้งสอง และตัวเธอได้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เด็ก มีเพียงแม่ที่ยึดวิถีชีวิตและอาชีพทำไร่ทำนาและขายของในจังหวัดสุรินทร์อย่างเหนียวแน่น แม่บอกว่าแม่รักสุรินทร์มาก ไม่อยากจากไปไหน ช่วงเวลาปิดภาคเรียนจึงเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกในครอบครัวจะได้อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาตามประสาพ่อแม่ลูก เมื่อเรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาดควบคู่กับปริญญาตรีอีกใบในสาขาสารสนเทศคอมพิวเตอร์ นลินได้ทำงานให้กับบริษัทสื่อรายใหญ่เป็นเวลาหลายปี เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสุขสบาย มีพร้อมทุกอย่าง รายได้เกือบสี่หมื่นบาทต่อเดือนทำให้ชีวิตด้านนอกของนลินไม่เดือดร้อน กระนั้นก็ยังคลางแคลงใจว่า “ใช่ชีวิตที่ต้องการจริงๆ หรือเปล่า หรือจะเป็นการทำเพื่อตัวเองเพียงฝ่ายเดียว ถึงจะสุขกาย แต่ชีวิตภายในก็เหมือนจะขาดอะไรไปบางสิ่ง” ประกอบกับช่วงต้นปี 2551 พ่อซึ่งป่วยเป็นโรคไตมีอาการทรุดหนักจนแม่ดูแลคนเดียว ไม่ไหว นลินจึงตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาช่วยดูแลพ่อที่บ้าน

­

­

จุดเปลี่ยนนี้เองทำให้นลินได้ทบทวนตัวเองและเริ่มทำในสิ่งที่หัวใจต้องการ อย่างการทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง เริ่มจากการเข้าทำงานในสถานีอนามัยตำบลกันตวจระมวลโดยมีนายก อบต.สุวรรณี โชติสิรินันท์ และพี่หมอใจดีอีกหลายท่านคอยแนะนำช่วยเหลือควบคู่ไปกับการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง เสื้อตัวแรกที่นลินสวมใส่คือเสื้อของ “นักกิจกรรมบำบัด” คอยดูแลและจัดกิจกรรมให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยเรื้อรังโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และวัณโรค จากนั้นไม่นานนลินก็ได้มีโอกาสทำงานจิตอาสาควบคู่กับงานประจำ กิจกรรมใหม่นี้ทำให้นลินต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นมากขึ้น และได้สวมใส่เสื้อตัวที่ 2 ที่แสนภาคภูมิใจในนาม “อาสาสมัครกู้ชีพ” รับหน้าที่ทั้งออกเหตุ และบ่อยครั้งก็อบรมน้องเยาวชนในตำบลให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนพี่ๆ ก่อนน้องจะเข้ารับการอบรมอย่างเป็นทางการจากโรงพยาบาลสุรินทร์อีกครั้ง นลินบอกอย่างสุขใจว่าน้องบางคนอายุไม่ถึงแต่ก็มีใจรักมาให้กำลังใจพี่ๆ เสมอ

­

­

“เสื้อของอาสาสมัครกู้ชีพ เสื้อตัวนี้ใหญ่กว่าเดิมมาก เปรียบเสมือนสะพานทอดสู่ผู้คนทุกๆ คน เสื้อตัวนี้มีเพื่อคนทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ คนจน คนรวย คนมีตำแหน่ง คนมีสี หรือแม้แต่คนที่ไม่ได้ร้องขอ ฯลฯ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าเสื้อตัวนี้ใหญ่เกินไป แต่รู้สึกรัก และภาคภูมิใจที่ช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ ด้วยเหตุผลสั้นๆ คือ อยากช่วย อยากทำ และทนไม่ได้ที่เห็นคนเจ็บอยู่ตรงหน้าแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย” นลินกล่าว

­

­

ช่วงเวลานี้เองที่ต้นกล้าของสำนึกรักบ้านเกิดได้งอกงามขึ้นในใจของนลินอย่างเต็มที่แล้ว ไม่เพียงแต่การอุทิศตนทำงานอาสาสมัครกู้ชีพ ออกเหตุดึกๆ ดื่นๆ บ่อยครั้ง นลินยังร่วมกับเยาวชนกว่าสิบชีวิตในตำบลกันตวจระมวลอนุรักษ์ รักษา และฟื้นฟูวัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหาย หนึ่งในนั้นคือการแสดงละครผสมการร้องกันตรึม ซึ่งเป็นการแสดงโบราณของชาวสุรินทร์ พร้อมทั้งเข้าร่วมประกวดในโครงการ To Be Number One สิ่งที่ทำให้นลินประทับใจคือน้ำใจของน้องๆ ที่แต่งเนื้อร้องภาษาเขมรใช้เองในการประกวด แม้ท้ายที่สุดจะไม่มีรางวัลติดมือ แต่นลินก็พอใจและมองว่าสำหรับมือใหม่หัดประกวดแล้วก็ถือเป็นก้าวแรกที่จบลงอย่าง
งดงามด้วยการที่น้องๆ ได้แสดงศักยภาพ ความตั้งใจ และเอาชนะใจตัวเองได้

­

­

เธอบอกว่า การร้องกันตรึมแต่เดิมมักจะเห็นแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ร้องรำกัน สมัยที่ปู่ย่าตายายยังหนุ่มยังสาว แต่มาวันนี้เด็กกลุ่มหนึ่งที่อายุยังน้อยกลับร้องรำและแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาเขมรได้อย่างคล่องแคล่ว ก็ทำให้อดตื้นตันและพลอยแปลกตาไปไม่ได้ อย่างน้อยความรู้สึกหนึ่งคือ “การร้องกันตรึม” วัฒนธรรมเก่าแก่ของบ้านเราไม่สูญหายไปกับกาลเวลา สิ่งเหล่านี้ยังคงอยู่และจะคงอยู่ตลอดไป

­


­

­

นอกจากงานจิตอาสาข้างต้นแล้ว นลินยังเป็นพี่เลี้ยงชวนเยาวชนทำกิจกรรมเพื่อชุมชนอีกหลายอย่าง ด้วยกัน เช่น การจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพผู้สูงอายุสัญจร การชวนน้องๆ ทำกระทงสายลอยในแม่น้ำในเทศกาลลอยกระทงปีที่ผ่านมา การทำตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ให้เด็กๆ ระบายสีเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ และการอาสาพาน้องนักเรียนเด็กเล็กข้ามถนนทุกๆ เช้า-เย็น ล่าสุด นลินยังรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้น้องเยาวชนกันตวจระมวลในกิจกรรม ปลูกหญ้าแฝกให้กับฝายส่งน้ำ ป้องกันพื้นที่การเกษตรกว่า 5 พันไร่ใน 8 หมู่บ้านไม่ให้ถูกชะล้างหน้าดิน ทั้งยังเป็นการรักษาแหล่งน้ำไปในตัว โดยงานนี้ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก อบต.กันตวจระมวลและหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 54 ซึ่งใจดีมอบหญ้าแฝกให้ แม้ว่านลินและน้องๆ จะทราบกันดีว่ากิจกรรมครั้งนี้จะต้องเหนื่อยยากลำบากมากแน่นอน ทว่าทั้งหมดก็ไม่ย่อท้อ แต่กลับตรียมพร้อมยอมเหนื่อยกับการลงแขกปลูกหญ้าแฝกกลางแดดกล้าในฤดูฝนนี้เพื่อชุมชนบ้านเกิดอันเป็นที่รักของตน

­

­

จากประสบการณ์การทำกิจกรรมจิตอาสารักบ้านเกิดทั้งหลายข้างต้นนี้ ทำให้นลินได้เรียนรู้ว่า หัวใจสำคัญของกิจกรรมคือ หัวใจของเราเองและหัวใจของชุมชนที่ได้หลอมรวมเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อเรารักชุมชนแล้ว ชุมชนก็จะรักเราเองโดยไม่ต้องเรียกร้อง สิ่งที่ทำให้ภูมิใจและเห็นคุณค่าไม่ใช่คำชื่นชม แต่เป็นผลจากสิ่งที่เราทำ เมื่อชุมชนได้รับผลประโยชน์ สิ่งที่เราทำก็จะยั่งยืนและสืบผลต่อไป ไม่ได้จบลงเพียงวันและเวลาที่เราอยู่ในชุมชนเท่านั้น

นลินบอกด้วยว่า ถึงวันนี้ “จังหวัดสุรินทร์” ในสายตาของใครๆ ที่อาจมองว่าเป็นบ้านนอก ไม่มีอะไรเลย แต่สำหรับนลินเองแล้วกลับเป็นที่ที่ทำให้เธอมีความสุขที่สุด เธอยินดีที่จะประกาศว่าตนเป็นคนบ้านนอกทั้งตัวและหัวใจอย่างไม่อายใคร “ที่นี่ขัดเกลาจิตใจให้คนอย่างนลินทิ้งกรุงเทพฯ โดยไม่คิดจะกลับ

­


­

ไปอยู่อีกเลย ที่นี่ทำให้ได้รู้ว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร ที่นี่มีอะไรหลายๆ อย่างที่หาไม่ได้จากเมืองศิวิไลซ์ นลินได้ไปทำนาทั้งที่ไม่เคยทำ ได้ซึมซับวิถีชาวนา ตอนนี้สุขใจเวลาที่ได้เดินเล่นบนคันนาดูกล้าข้าวที่พริ้วตามแรงลมเบาๆ มากกว่าเดินช็อปปิ้งในห้างดังๆ เวลาได้ดูแม่ทอผ้า เสียงกี่กระตุกเฟืองปรับสลับลวดลาย เสียงกรอไหม ไพเราะกว่าเสียงดังๆ ในผับย่านทองหล่อเยอะ รักที่นี่ที่ที่เป็นบ้านเกิดของเราเอง” นลิน หญิงสาววัย 27 ปี ผู้มีจิตอาสารักบ้านเกิดกล่าวก่อนทิ้งท้ายว่า

­

“ความฝันอันสูงสุดของนลินตอนนี้ คือ การเห็นคนหนุ่มสาวของตำบลกันตวจระมวลมีสำนึกรักบ้านเกิด เติบโตและเบ่งบานเต็มที่ที่กันตวจระมวล คงจะดีถ้าสิ่งๆ นี้เป็นจริงขึ้นมาสักวัน วันที่หนุ่มสาวได้กลับมาช่วยกันพัฒนาบ้านเกิดในทุกๆ ด้าน ไม่ใช่การเข้าเมืองหลวงเพื่อแสวงหาแต่เงินทองของมายา โดยลืมไปว่าข้าวปลาคือของจริง”

­


­

­

­

­

­