ระพีเสวนา : การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งที่ 3 สุขภาพที่ (คุณ) เลือกได้

­

มูลนิธิระพี -กัลยา สาคริก ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สถาบันอาศรมศิลป์ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชวนเหล่าคนรักษ์สุขภาพร่วมงานเวที ระพีเสวนา : การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งที่ 3 “สุขภาพทางเลือกเพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต”วันที่ 22 ตุลาคม 2552 ณ หอประชุมมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ รัชโยธิน กรุงเทพฯ

นางมิรา ชัยมหาวงศ์ นักวิจัยโครงการระพีเสวนา กล่าวในงานแถลงข่าวเวทีระพีเสวนาเมื่อเร็วๆ นี้ ณ พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ฯ สำนักงานใหญ่ ว่า การจัดงานระพีเสวนา : การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท ครั้งนี้เป็นการจัดงานครั้งที่ 3 แล้วโดยได้หยิบยกประเด็นเรื่องสุขภาพมาเป็นหัวข้อของการเสวนา ซึ่งทุกคนสามารถเลือกที่จะมีสุขภาพที่ดีของตนเอง ได้ ทว่าด้วยภาวะรีบเร่งตลอดจนการใช้ชีวิตของคนเมืองทำให้ใส่ใจสุขภาพน้อยลง เมื่อรู้ตัวอีกทีก็สายไปเสียแล้ว ดังนั้นการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้จึงเป็นเวทีรวบรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อนำเสนอให้แก่คนรักษ์สุขภาพได้เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้จริง

­

­

­

ส่วน นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าบ้าน กล่าวว่า เวทีการเสวนาครั้งนี้เป็นเวทีที่มีคุณค่ามาก โดยเฉพาะกับผู้คนในเมืองที่รีบเร่งใช้ชีวิตไปให้ถึงเป้าหมายจนลืมสุขภาพ โดยมีผู้รู้ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขทางเลือกหลายท่านมาให้ความรู้และจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปสุขภาพ ซึ่งสังคมไทยควรเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากผู้รู้เหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยในส่วนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งสนับสนุนคนที่ทำความดี มุ่งมั่นทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย และมุ่งมั่นที่จะทำให้เยาวชนไทยมีปัญญาและมีทางเลือกมากขึ้น จึงขออาศัยโอกาสนี้ปราวณาตัวเป็นกัลยาณมิตรและเป็นเพื่อนร่วมทางแก่โครงการดีๆ ต่อไป

­

ทั้งนี้ ในงานแถลงข่าวยังมีการเสวนาเรื่อง สุขภาพทางเลือกเพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต โดย
ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส และ หมอแดง วีระชัย วาสิกดิลก แพทย์แผนไทย เจ้าของหนังสือ “ใครไม่ป่วยยกมือขึ้น ?” ร่วมเสวนา โดย ศ.ระพีกล่าวว่า ศาสตร์ทุกศาสตร์ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน มีต้นตอมาจากธรรมะ โดยคนเราสามารถแยกออกเป็นส่วนที่เป็นกายและใจ เมื่อกายป่วย แต่ก็อย่าปล่อยให้ใจของเราป่วยตามไปด้วย เมื่อสิ่งที่ทำอยู่เกิดปัญหา เราก็ต้องทบทวนและมองหาทางเลือกเพื่อพัฒนาสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น เมื่อคิดได้เช่นนี้แล้ว ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข

­

­

ด้านหมอแดงเล่าประสบการณ์สุขภาพส่วนตัวว่า ย้อนกลับไปเมื่อกว่าสิบปีก่อน เขาเองเป็นคนที่มีวิถีชีวิตและสุขภาพย่ำแย่มาก แม้ภายนอกจะดูเป็นผู้ที่มีความกินดีอยู่ดี มีกินมีเที่ยวไม่ขาด แต่เนื้อแท้ของสุขภาพจริงๆ กลับป่วยสามวันดีสี่วันไข้ และจำเป็นต้องซื้อยาพาราเซตามอลกระปุกใหญ่ติดตัว ติดบ้าน และติดโต๊ะทำงานไว้เสมอ ทั้งยังต้องไปหาหมอทุกเดือนเพราะ มีอาการเจ็บป่วยทรมานมาก โดยเฉพาะโรคต่อมน้ำเหลืองบวมและเส้นเลือดขอดที่ขาซึ่งหมอบอกว่าไม่มีทางรักษา ทุกครั้งเมื่อไปหาหมอเพื่อเจาะเลือดก็น้ำตาไหลเพราะเจ็บปวดทรมานมาก กระทั่งหมอแนะนำว่าไม่ให้ทำงานอีก ต้องให้ภรรยาหาเลี้ยง อันเป็นจุดเปลี่ยนทำให้หมอแดงทนไม่ได้และหันเข้าหาการแพทย์แผนไทย หาสมุนไพรรับประทาน และเข้ารับการนวดเท้าเพื่อการบำบัด จนอาการดีขึ้น กลับมามีสุขภาพที่ดี และเริ่มศึกษาการแพทย์แผนไทยในฐานะแพทย์ทางเลือกอย่างจริงจัง

­

­

“เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่ผมไม่ได้กินยาพาราเซตามอลอีกเลย เมื่อรักษาตัวเองได้แล้ว ผมก็เริ่มขยับขยายไปดูแลครอบครัว และขยายไปสู่ทุกๆ คน บางทีผมก็ต้องขอขอบคุณความเจ็บป่วยที่เราได้รับ บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ดี ทำให้ผมเข้าใจชีวิต เข้าใจศาสตร์แห่งชีวิตได้ดีขึ้น และได้เป็นหมอแดงอย่างทุกวันนี้” หมอแดงกล่าวโดยย้ำว่าชีวิตของเรา เราต้องดูแลเอง หมอที่ดีที่สุดคือตัวเราเอง อย่าฝากชีวิตให้คนอื่นดูแล เช่นเดียวกับเขาที่หันกลับมาแลสุขภาพของตนเองและมีสุขภาพที่ดีได้อย่างทุกวันนี้

สำหรับกิจกรรมภายในงาน เวทีระพีเสวนาครั้งที่ 3 “สุขภาพทางเลือกเพื่อดุลยภาพแห่งชีวิต”ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษของ นพ.ประสาน ต่างใจ คุณหมอซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสของกลุ่มจิตวิวัฒน์ ผู้สนใจและทุ่มเทค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่จากหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม ปรัชญา ศาสนา รวมถึงวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ และการดูแลสุขภาพที่เน้นไปยังชีวิตมนุษย์ที่เป็นองค์รวม กล่าวคือ ชีวิตที่ประกอบด้วย กาย ใจ และ จิตวิญญาณ และเป็นชีวิตซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัว และจักรวาล

­

การเสวนาเรื่อง “เยียวยาผู้ป่วยไข้ ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” แรงบันดาลใจ ประสบการณ์การเรียนรู้ และดูแลคนไข้ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของแพทย์ทางเลือก โดย หมอทราย พิชิต กัณฑรัตน์ แพทย์พื้นบ้านผู้ผันตัวเองกลับสู่ชุมชน และดูแลสุขภาพของผู้คนในชุมชนของ อ.ภูซาง จ.พะเยา หมอทรายพยายามรณรงค์ให้ชาวบ้านหันกลับมาพึ่งพาตนเองในด้านสุขภาพ ซึ่งนอกจากจะประหยัดแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนแนวคิด “สร้างสุขภาพแทนการซ่อมสุขภาพ” และ หมอดิน ตถตา ทองเพียร คนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่เดินทางไปศึกษาการแพทย์แผนธิเบตจากชุนชนธรรมศาลา ประเทศอินเดีย ซึ่งเชื่อว่าโรคต่างๆ ล้วนเกิดจากอารมณ์อวิชชา ทั้งอารมณ์โลภ โกรธ และหลง

การเสวนาเรื่อง “การดูแลสุขภาพด้วยการสร้างดุลยภาพแห่งชีวิต” การผสมผสาน คิดค้น และสร้างองค์ความรู้ด้านการรักษาจากการปฏิบัติ โดย รศ.พญ.ลัดดาวัลย์ สุวรรณกิติ และผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองจากองค์ความรู้และบูรณาการศาสตร์ “ดุลยภาพบำบัด” หมอเขียว ใจเพชร กล้าจน และผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองจากองค์ความรู้และบูรณาการศาสตร์ “แพทย์ทางเลือกวิถีพุทธ” และหมอแดง วีระชัย วาสิกดิลก และผู้ป่วยที่ฟื้นฟูตัวเองจากองค์ความรู้และบูรณาการศาสตร์ “ธรรมชาติบำบัด”

ที่สำคัญ บรรดาคนรักษ์สุขภาพยังจะได้ลงมือปฏิบัติจริงในกิจกรรม เวิร์คช็อป “สถานีสุขภาพ” ซึ่งแบ่งเป็น 8 สถานีย่อย ได้แก่ สถานีค่ายศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, สถานีค่ายสุขภาพโรงเรียนรุ่งอรุณ และสถาบันอาศรมศิลป์, สถานีค่ายโยคะฝึกจิตพิชิตโรค, สถานีชีวจิต, สถานีแพทย์วิถีพุทธ, สถานีใครไม่ป่วยยกมือขึ้น, สถานีแพทย์วิถีพึ่งตนเอง, และสถานีดุลยภาพบำบัด นอกจากนั้นยังจะได้รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพจากครัวทำเสื้อ ทำสวน เป็นต้น

คนรักษ์สุขภาพที่สนใจร่วมงานสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เบอร์โทรศัพท์ 0-2867-0904 ต่อ 101-2 และเว็บไซต์ www.rapeesewana.com มีค่าลงทะเบียนท่านละ 200 บาท

­