ชีวิตของเด็กหนุ่มวัย 22 ปีอย่าง "วิษณุ ศิริเสน" ทายาทของน้าวินัย ศิริเสน เจ้าของฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา "สองชายฟาร์ม" และประมงอาสาของอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ดูเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีพื้นฐานและความพร้อมของครอบครัวมารองรับ ทว่าจริงๆ แล้ว เบื้องหลังที่ใครหลายคนอาจมองไม่เห็น วิษณุยังต้องทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ความรัก ความสนใจ ฝึกฝนตนเองให้เป็นคนช่างสังเกต อาศัยการเรียนรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ เป็นแรงหนุนเสริมอีกทางหนึ่งด้วย

­

­

น้อมรับความรู้ ... จากพ่อถึงลูก

­

"พ่อจะใช้วิธีสอนโดยเปรียบเทียบให้เห็นกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันว่า ถ้าไม่เรียนและไม่ทำงานจะเป็นแบบไหน และถ้าเรียนอย่างเดียวเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วยก็จะดีอย่างไร" วิษณุย้อนเล่าวันเก่าๆ ถึงคำสอนพ่อและเสริมว่า "การมีชีวิตในวัยเด็กกับคนใหญ่ และการเป็นคนช่างสังเกต รู้จักซักถาม ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ใหญ่อยากสอนงานให้ ทำให้ได้รับการถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาหลายอย่าง ซึ่งหมายถึงงานเพาะพันธุ์ปลาและงานทุกอย่างใน

­

­

วิษณุ ที่ปัจจุบันได้เข้าร่วมเป็นเยาวชนรักษ์ถิ่นด้านการเกษตรในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยว่า ความรู้ที่เขาเรียนจากพ่อตั้งแต่เรื่องการเพาะพันธุ์ การอนุบาลปลา และการตลาด วิษณุได้เรียนรู้เรื่องการติดต่อลูกค้า โฆษณา ชักชวน หรือแม้แต่การลดราคาปลาเพื่อเรียกลูกค้า บางทีต้องขายปลาตัวใหญ่ในราคาเท่ากับปลาตัวเล็กของพ่อค้ารายอื่น ถึงอย่างนั้น วิษณุบอกว่าก็ทำให้เขาสนุก เพลิดเพลินกว่าอยู่บ้านเฉยๆ เป็นไหนๆ

­

"จากเมื่อก่อนที่ลูกปลาขายไม่ค่อยได้ จนบัดนี้มีลูกค้าสม่ำเสมอ ลูกค้ารายใหญ่ได้แก่โครงการของหมู่บ้าน เช่น อยู่ดีมีสุข SML ลูกค้าประจำก็มีที่ตำบลท่าซัก ซึ่งเลี้ยงปลาดุกและแปรรูปปลาดุกร้าเป็นอาชีพ ผมมองว่าพ่อสร้างไว้แล้ว ถ้าเราไม่ทำต่อแล้วใครจะทำ"

­

สำหรับตัวของวิษณุเอง เขามีความสนใจงานในฟาร์มมาตั้งแต่เด็กๆ หัดเพาะพันธุ์ปลาหมอโดยมีน้าวินัยคอยสอนตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.3 เวลาใดน้าวินัยไม่อยู่ เขาก็จะต้องลงมือทำเอง เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมต้น วิษณุเลือกเรียน ปวช.ในแผนกวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช การซักถามและซึมซับความรู้จากพ่อทำให้เขาเรียนรู้เร็วกว่าเพื่อน ก่อนต่อมาจะได้เข้าเรียนชั้น ปวส.และขณะนี้กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในวิชาประมงที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (ไสใหญ่)

­

การปฏิบัติจริงทำให้วิษณุเรียนรู้ว่าความรู้วิชาการจากมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างพลิกแพลงในการเลี้ยงปลาจริงด้วย เพราะการนำความรู้วิชาการมาใช้โดยลำพังโดยไม่สอบทานกับประสบการณ์การปฏิบัติจริงจะทำให้เกิดความล่าช้า บ้างก็ถึงกับเสียหาย ขาดทุน บทเรียนนี้จึงสอนให้เขารู้ว่าเกษตรกรจำเป็นต้องมีไหวพริบ ดัดแปลง ประยุกต์ หลักวิชาการเข้ากับการปฏิบัติจริง จึงจะอยู่รอดได้

­

ทุกๆ วันเสาร์ -วันอาทิตย์ ซึ่งว่างจากการเรียน วิษณุจะกลับมาช่วยงานฟาร์มปลาของที่บ้าน เนื่องจากเห็นถึงความเป็นวิถีชีวิตที่แฝงอยู่ในกิจการครอบครัว ประกอบกับความชื่นชอบในการขยายพันธุ์ปลาและการเลี้ยงปลาเป็นทุนเดิม ฐานอาชีพของครอบครัวจึงเป็นฐานให้เขาต่อยอดในสิ่งที่รักได้ดียิ่งขึ้น

­

­

ยามว่างจากงานในฟาร์ม วิษณุยังนำปลาสวยงามที่เพาะเองไปขายภายในตลาดของชุมชน และออกล่าปลาในหนองน้ำใกล้บ้านเพื่อแกงกินในครัวเรือน หากได้มากก็จะตากแห้งเป็นปลาแดดเดียว ขายได้ราคากิโลกรัมละ 200-250 บาท บางครั้งแม่ก็จะนำไปแปรรูปเป็นปลาเปรี้ยวแล้วให้เขาขับมอเตอร์ไซต์ตระเวนขายในหมู่บ้านถุงละ 10 บาท ซึ่งก็ขายดี เป็นที่รู้จักของชุมชน พลอยทำให้เขาได้รู้จักคนในชุมชนมากขึ้นด้วย"ออกไปทอดแห หาปลาในท้องทุ่ง ดีกว่าขึ้นไปถนนลาดยางเพื่อเข้าเมือง มีแต่จะทำให้เสียเงิน แต่ถ้าลงทุ่ง ยังได้ปลามาแกงกินด้วย"

­

โดยผลงานจากความรักและความอุตสาหะของวิษณุ ทำให้ขณะที่เรียนอยู่ชั้น ปวช.ที่วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช เขาได้รับรางวัลชนะเลิศระดับภาค 3 ปีซ้อนจากการแข่งขันทักษะการผสมเทียมปลา โดยเฉพาะการได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการแข่งขันทักษะวิชาการขององค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อกท.)

­

ขยายความรู้สู่เครือญาติและชุมชน

­

­

วิษณุมองว่าอาชีพเพาะพันธุ์ปลาขายเป็นอาชีพที่ทำให้ได้อยู่บ้าน ไม่ต้องละถิ่น เป็นอาชีพอิสระ รายได้ดี มีคนทำน้อย และเป็นอาชีพสุจริต ทำให้เขามีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง หากรักและตั้งใจจริงก็ไม่เป็นของยากที่จะยึดอาชีพนี้เลี้ยงชีพ เพราะปัจจุบันปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดลงเนื่องจากมีการใช้สารเคมีการเกษตรกันมาก

­

ใครที่สนใจเพาะเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม เขาแนะนำว่า ต้องสนใจ ช่างสังเกต รู้จักการแก้ปัญหาได้ดี เช่น หากปลามีอาการลอยหัวผิดปกติต้องรีบเข้ามาดูและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ถ้าปลาลอยหัวแสดงว่ามีภาวะเครียดต้องแก้ปัญหาด้วยการใส่เกลือเม็ดลงไป การดูว่าปลามีอาการผิดปกติ อันดับแรกต้องดูที่น้ำ อุณหภูมิ หรือแม้แต่อาหารว่าให้มากเกินไปหรือเปล่า หรืออีกตัวอย่างคือ การเลี้ยงปลานิล ที่แนะนำว่าปลานิลจะชอบที่ที่เป็นน้ำกร่อยมากกว่าน้ำจืด จึงเติบโตได้ดีกว่า แต่ในเรื่องของรสชาติแล้ว การเลี้ยงในน้ำจืดจะให้รสชาติที่อร่อยกว่า

­

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเอาใจใส่หมั่นตรวจดูและรู้อุปนิสัยของปลา ปลาบางชนิด อย่างเช่น “ปลาดุกเนื้ออ่อน” จะไม่เจริญอาหารในช่วงกลางวัน ผู้เลี้ยงจึงต้องยอมนอนดึกลุกขึ้นมาให้อาหารปลาอีกครั้งในตอนกลางคืน การใช้เครื่องมือช่วยอย่าง “น้ำหมักชีวภาพ” ก็สามารถช่วยปรับคุณภาพน้ำ ทำให้ปลากินอาหารได้ดี โดยเขาจะทำการหมักเอง เป็นน้ำหมักผลไม้สุกในท้องถิ่น เช่น มะละกอ เพราะมีฮอร์โมนมาก วัตถุดิบเหล่านี้ไม่ต้องซื้อหา สามารถใช้เศษผลไม้เหลือทิ้ง หลังเวลาตลาดเลิก วิษณุก็สามารถเอารถไปบรรทุกมาหมักได้ ดีกว่าปล่อยให้เน่าคาตลาด ส่วนเรื่องแม่พันธุ์ ที่สองชายฟาร์มจะพยายามใช้วิธีที่ทำให้แม่พันธุ์บอบช้ำน้อยที่สุด จะได้ใช้ต่อในปีต่อไป

­

ทั้งนี้ หลังจากที่วิษณุได้รับไม้ต่อด้านภูมิปัญญาการเกษตรมาจากพ่อและห้องเรียน ทั้งได้บ่มเพาะวิชาความรู้จากการปฏิบัติมาในระดับหนึ่งแล้ว เขายังถ่ายทอดสิ่งที่เขามีแก่ลูกพี่ลูกน้องและหลานๆ 3-4 คน ซึ่งมาช่วยงานในฟาร์ม แม้ว่าบางครั้งจะทำผิดทำพลาดและเสียหายบ้างก็ต้องยอม พร้อมกันนี้ก็ได้แนะนำให้เพื่อนที่เรียนชั้นมัธยมต้นมาด้วยกันได้เลี้ยงปลา วิษณุช่วยปรับสภาพบ่อ เอาลูกปลาไปปล่อยให้ จากนั้นค่อยเก็บเงินค่าลูกปลาตอนขายได้แล้ว

­

นักปฏิบัติจากสองชายฟาร์มบอกว่า วิธีการนี้หากได้ผลก็จะขยายผลถึงคนอื่นๆ ในชุมชนด้วย อย่างที่เขาแอบหวังลึกๆ ว่า เมื่อเรียนจบแล้วเขาจะได้มีโอกาสใช้ความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดด้วย

­