­

สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมกับมูลนิธิระพี –กัลยา สาคริก ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดงาน เวทีระพีเสวนา “การเรียนรู้เพื่อความเป็นไท” ครั้งที่ 4 ขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2553 ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ

­

­

งานครั้งนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “ศิลปะเพื่อการพัฒนาชีวิต” วัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนให้สังคมได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของศิลปะที่ไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือสร้างความสุข เสริมสร้างจิตนาการ และจุดประกายความคิดให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ในระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะยังเป็นกระจกสะท้อนสภาวะทางกายและจิตใจของเจ้าของผลงานที่ได้ทำความเข้าใจ ยอมรับ และทำความรู้จักตนเอง ในแง่นี้ ศิลปะจึงถือเป็นเครื่องมือเพื่อการเรียนรู้ภายในตนเองอีกทางหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัย

­

ศ.ระพี สาคริก ปูชนียาจารย์ ผู้เป็นปฐมแรงบันดาลใจของการจัดงาน กล่าวถึงศิลปะการใช้ชีวิตให้มีความสุขว่าคือการมี “วิญญาณของความรัก” ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมองทุกคนว่าเป็นครูที่เราสามารถเรียนรู้ได้ ทำให้เราได้รับประโยชน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีกระแสพระราชดำรัสกับตน

­

ว่าอย่าทิ้งงานศิลปะ เมื่อเรามีจิตใจที่ดีก็จะทำให้เราเห็นความดีของผู้อื่น สามารถมองเห็นสิ่งดีในสิ่งร้าย ชีวิตจึงมีความสุข ดำเนินต่อไปได้ นอกจากนั้นการลงมือทำให้มากยังเป็นทั้งสิ่งมงคลมากกว่าการมีวัตถุมงคล และเป็นวิธีให้กำลังใจคนอื่นได้ดีที่สุด ที่สำคัญคือการรักษาสัจจะ เมื่อเรารักสัจจะ ย่อมเท่ากับการรักในเพื่อนมนุษย์ เมื่อทำได้แล้ว ย่อมทำให้เรามีความสุขอย่างแน่นอน

­

­

ด้าน ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอาวุโส ผู้ผสมผสานศิลปะกับงานพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จากการที่ตนมีประสบการณ์การทำงานพัฒนาชุมชนสมัยเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลา 2 ปีทำให้ได้เห็นเรื่องราวดีๆ และความมีน้ำใจของคนยากไร้ในชุมชนแออัดซึ่งปกติสังคมมองว่าเป็นกลุ่มคนที่น่ากลัวน่ารังเกียจ โดยถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะที่สะท้อนความงดงามที่แฝงอยู่ของชุมชนแออัดแทนที่จะเป็นภาพวาดที่ชวนให้อึดอัดหวาดกลัว

“เราอยู่ข้างนอกก็นึกไปว่าคนในสลัมมันเลวทราม ผมได้เข้าไปสัมผัสอยู่พักหนึ่ง พบว่าไม่จริง วันหนึ่งผมเดินบนสะพานเหนือน้ำคลำ เห็นคนแก่อายุมากแล้วกำลังซ่อมสะพานก็ถามว่าลุงทำอะไร แกก็ตอบว่ากำลังซ่อมสะพาน เด็กๆ ที่กำลังไปโรงเรียนจะได้ไม่สะดุดหกล้ม

­

“ผมพบด้วยว่าลุงคนนี้ไปโรงพยาบาลให้เลือดบ่อยมากจนได้รับเสนอชื่อเข้ารับเข็มเชิดชูฯ แต่แกบอกว่าไม่ไปหรอกเพราะไม่มีเสื้อดีๆ ใส่ไปร่วมงาน ส่วนสาเหตุที่แกไปบริจาคเลือดก็เพราะไม่มีข้าวของจะทำบุญ ให้เลือดแล้วก็หวังว่าชาติหน้าแกจะได้ไม่เกิดมาลำบากเหมือนชาตินี้ จะเห็นได้ว่าเป็นความงดงามของคนในสลัมที่มีใจนึกถึงคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่หาได้ยากแม้ในสังคมปกติ”
ม.ร.ว.อคินกล่าว

“สิ่งเดียวที่จะบรรยายสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ชัดเจนที่สุดคือศิลปะ ผมจึงไม่ได้วาดภาพชุมชนแออัดจากสิ่งที่ผมเห็น แต่เป็นชุมชนแออัดที่ผมรู้สึก” ม.ร.ว.อคิน สะท้อน

­

­

จากนั้นได้มีการปาฐกถาเรื่อง “ศิลปะกับการพัฒนาชีวิต” โดย อาจารย์ศมประสงค์ ชาวนาไร่ อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ออกแบบและสร้างอุโบสถวัดโพธิคุณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่าคนต่างจากสัตว์ตรงที่สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ คนทุกคนจึงสร้างสรรค์งานศิลปะได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงผู้เสพ หรือถูกผูกขาดโดยศิลปินเท่านั้น นอกจากนั้น ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะยังไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีความสามารถทางศิลปะ เช่น เขียนรูปหรือวาดภาพเป็น หากแต่เป็นผู้ที่มีความคิดดี พูดดี และทำดี ไม่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ก็ชื่อว่าเป็นศิลปะชั้นสูงแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่แสดงความแตกต่างระหว่างคนกับสัตว์อย่างเด่นชัด

­

“ศิลปะเพื่อการพัฒนาเป็นคำที่มีความหมายที่ตรง ลึกล้ำ ทุกวันนี้ทุกคนอยากเป็นศิลปินกันหมด โดยเฉพาะนักร้อง แต่เมื่อเรามองเนื้อแท้จะเห็นว่าเป็นเพราะกระแสวัตถุนิยม การใช้คำว่า “ศิลปะ” และ “ศิลปิน” จึงมีมากจนพร่ามัว ทั้งที่เป็นคำที่มีเกียรติมาก แต่ก็ถูกใช้มากจนกลายเป็นคำธรรมดาคำหนึ่ง และบางครั้งยังถูกใช้ไปในความหมายทางลบ เช่น ศิลปะการพูดโน้มน้าวใจคนของนักการเมือง ส่วนหนึ่งเพราะการศึกษาทุกวันนี้ไม่ได้ช่วยให้คนตอบคำถามว่าชีวิตคืออะไร แต่สอนให้สะสมเงินมากๆ และใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย” อาจารย์ศมประสงค์กล่าว

­

­

ทั้งนี้ การศึกษาไม่อาจแยกออกจากศิลปะได้ อาจารย์ศมประสงค์ชี้ว่าศิลปะที่ดีจะประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ความเข้าใจในความหมายของศิลปะอย่างลึกซึ้ง กับการเข้าใจว่าชีวิตต้องการอะไร หากตอบคำถามทั้ง 2 ไม่ได้ก็จะไม่สามารถตอบได้เช่นกันว่าจะใช้ศิลปะเพื่อการพัฒนาสิ่งใด “หากเราปฏิเสธศิลปะย่อมเท่ากับการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ การศึกษาที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นการศึกษาที่ทำให้คนเข้าใจชีวิตและรู้จักใช้ศิลปะแห่งการใช้ชีวิต”

อย่างไรก็ดี ภายในงานเวทีระพีเสวนา ครั้งที่ 4 “ศิลปะเพื่อการพัฒนาชีวิต” นอกจากจะมีการปาฐกถาแล้วยังประกอบไปด้วยการแสดงดนตรีโดย ศ.ระพี สาคริก, การขับร้องประสานเสียงของวงดนตรีสวนพลูคอรัส,
การบรรเลงดนตรีสากลโดยคณะครูและนักเรียนโรงเรียนรุ่งอรุณ

­

­

จุดสนใจของงานยังอยู่ที่ฐานการเรียนรู้ไปกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ 8 ฐานที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทุกเพศวัยลงมือทำงานศิลปะด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฐานแรงบันดาลใจจากวัดโพธิคุณโดยอาจารย์ศมประสงค์ ชาวนาไร่, ฐานศิลปะเพื่อการภาวนา โดยอาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์, ฐานศิลปะสาธารณกุศล ประดิษฐ์ตุงผ้าและเรียนรู้การทำดอกผึ้งโดยชุมชนบ้านช่าง

­

จุดสนใจของงานยังอยู่ที่ฐานการเรียนรู้ไปกับกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ 8 ฐานที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานทุกเพศวัยลงมือทำงานศิลปะด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นฐานแรงบันดาลใจจากวัดโพธิคุณโดยอาจารย์ศมประสงค์ ชาวนาไร่, ฐานศิลปะเพื่อการภาวนา โดยอาจารย์โชคชัย ตักโพธิ์,
ฐานศิลปะสาธารณกุศล ประดิษฐ์ตุงผ้าและเรียนรู้การทำดอกผึ้งโดยชุมชนบ้านช่าง

ฐานศิลปะสู่ใจ ใช้ศิลปะเพื่อการเรียนรู้ตนเองตามแนวทางของวอลดอร์ฟ โดยอาจารย์สุวรรณา ชีวพฤกษ์ ฐานมหัศจรรย์ไม้ไผ่โดยกลุ่มจักสานบ้านบางเจ้าฉ่า ตำบลโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ฐานเสวนาศิลปะในการดำเนินชีวิต พร้อมฟังเสียงดนตรีจากเลื่อย โดย ศ.ระพี สาคริก ฐานลมหายใจ ดนตรี ชีวิต โดยอาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ และฐานหอมกลิ่นภาวนา เสน่หางานครัว ชิมอาหารเลิศรส โดยคุณจารุวรรณ บุญวิวัฒนา ก่อนปิดท้ายด้วยการสะท้อนการเรียนรู้จากผู้ร่วมกิจกรรม

­

­

อาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง หัวหน้าชุมชนบ้านช่าง สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า จากภาวะการณ์ปัจจุบันที่ศิลปะอยู่ในภาวะผูกขาด ถูกครอบงำโดยตะวันตก มีการนำรูปแบบ เทคนิควิธี และระบบประเมินคุณค่าต่างๆ มาใช้โดยขาดความเข้าใจ ทำให้หลงลืมสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในฐานะของผู้เสพมากกว่าผู้สร้างสรรค์

“การได้มาทำกิจกรรมศิลปะร่วมกันในครั้งนี้จึงเป็นการดึงผู้คนให้เข้าใกล้ศิลปะมากขึ้น ได้เห็นและพิจารณาศิลปะในมุมมองใหม่เพื่อนำศิลปะเข้าสู่วงจรของการพัฒนาตนเอง พัฒนาผู้อื่น และขยายผลสู่การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์สังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขในที่สุด”

­

 

­

 

­

 

­

­