­

ในโลกที่หมุนเร็วขึ้นทุกขณะ... ดูเหมือนทุกๆ สิ่งจะถูกกำหนดไว้แล้วเพื่อให้ทุกอย่างง่ายและเป็นสูตรสำเร็จที่คาดเดาผลได้สะดวก จนหลายต่อหลายครั้งทำให้เราหลงลืมที่จะเลือก แต่เพราะชีวิตไม่ได้ถูกออกแบบให้ "เหมือนกัน" ไปเสียทุกอย่าง หลายครั้งผลลัพธ์ที่ถูกออกแบบไว้แล้วสำหรับผู้ที่เดินตาม "ระบบ" ก็ไม่อาจการันตีได้ถึงความสุขที่ทุกคนจะได้รับ "นายศักดา เหลาเกตุ" เยาวชนแกนนำจากศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน พื้นที่การเรียนรู้ขนาดย่อม อาณาบริเวณไม่เกิน 4 ไร่ของบ้านโคกกลาง ตำบลหว้าทอง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งไม่เชื่อว่าชีวิตต้องเดินไปตามเส้นทางที่ใครกำหนด แต่เขาสามารถมีชีวิตที่เลือกได้
มีความสุขไปกับต้นทุนการเกษตรที่ครอบครัวมีอยู่ เรียนรู้ และเติบโตไปกับมัน
รู้จัก “ศักดา เหลาเกตุ” เยาวชนรักษ์ผืนดิน

­

­

ด้วยต้นทุนเดิมจากครอบครัวที่มีพ่อ “เฉลี่ย เหลาเกตุ” เป็นตัวอย่างทำให้เห็นมาแต่เด็ก แกนนำเยาวชนวัย 19 ปีผู้นี้บอกว่า เขาได้ซึมซับและส่วนตัวก็มีความชอบในอาชีพการเกษตรอยู่แล้ว หลังเรียนจบชั้น ม. 6 จึงอยากเรียนต่อด้านการเกษตร แต่ก็ยังไม่เคยตัดสินใจสักทีว่าต่อไปจะยึดอาชีพการเกษตรอย่างจริงจัง กระทั่งได้เข้าค่ายกิจกรรมที่สวนสายลม แหล่งชุมชนด้านการเกษตรในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้สัมผัสกับวิถีการเกษตรที่พิสูจน์ให้เห็นว่า “เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้อย่างพออยู่
พอกิน”
สอดคล้องกับความคิดที่เขามีอยู่ เกิดเป็นความมั่นใจในอาชีพเกษตรกรรม อยากกลับมาทำงานที่บ้านเกิด
ทั้งนี้ จากการเข้าร่วมทำกิจกรรมกับศูนย์การเรียนรู้ชาวดินเป็นเวลากว่า3 ปี ก็ทำให้ศักดาเติบโตขึ้นมากเมื่อเทียบกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันที่ไม่มีโอกาสอย่างเขา จากโลกทัศน์ที่เปิดกว้างทำให้ศักดาเห็นคุณค่าในมรดกและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ เมื่อต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่งที่ต้องเลือกระหว่างการละถิ่นเพื่อศึกษาต่อในเมืองกับการเลือกเรียนในระบบเปิดของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งทำให้เขาได้อยู่บ้าน ลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวที่มีหนี้สินมาก อีกทั้งเหตุผลทางสุขภาพที่ไม่สู้แข็งแรงนัก ศักดาจึงไม่ลังเลเลยที่จะเลือกอย่างหลัง

­

­

วิชาที่ศักดาเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยฯ คือ “วิชารัฐศาสตร์”  ไม่ใช่วิชาการเกษตรอย่างที่ต้องการแต่หนแรก ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มโอกาสการทำงานกับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นการเสริมทักษะให้เขาสามารถทำงานร่วมกันกับชุมชนได้ พร้อมกันนั้น การเรียนในระบบเปิดยังทำให้มีโอกาสเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงผ่านการทำนา - มรดกตกทอดจากปู่ย่าตายาย ที่ศักดามองเห็นคุณค่าต่างจากคนอื่นๆ ว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีศักดิ์ศรี และมีคุณค่ามากมายกว่าการเรียนรู้แต่ทฤษฎีที่เปล่าเปลือย “มันเป็นเรื่องที่คนในชุมชนไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะอาจเป็นค่านิยมเลยก็ได้ว่า เด็กทุกคนเมื่อเรียนจบ ม. 6 ต้องไปเรียนต่อที่เมือง หรือไม่ก็ไปทำงานหาลูกเมียมาให้แม่ที่อยู่บ้านเลี้ยง” ศักดาว่า ยังดีที่ครอบครัวเข้าใจและให้โอกาสศักดาเลือกฝันและเลือกที่จะเดินตามความฝันด้วยตัวเอง ที่เหลือก็เพียงแต่การพิสูจน์อะไรบางอย่างให้คนในชุมชนที่ยังคงจับตามองและตั้งคำถามว่า “มันจะไปได้สักกี่น้ำ” ได้เข้าใจและเห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาเลือก ซึ่งแยกไม่ออกจากความสุขที่เกิดขึ้นภายใน “ความสุขของคนไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน บางคนมีความสุขจากการทำงาน แต่ผมยังยึดติดกับการทำนา” ศักดาบอกพร้อมกับวิงวอนอยากให้ผู้ใหญ่ในท้องถิ่นละทิ้งค่านิยมแบบเก่าที่ว่าลูกหลานจะต้องเข้ากรุงเทพฯ แต่ให้เห็นว่าลูกหลานก็สามารถมีความสุขได้ที่ภูมิลำเนา “ผมอยากเห็นครอบครัวได้อยู่ด้วยกัน” สำหรับ “ศูนย์การเรียนรู้ชาวดิน” หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “บ้านดิน” ศักดาเป็นเยาวชนรุ่นแรกที่ได้มีส่วนร่วมบุกเบิกเมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเยาวชนในชุมชนรอบเขื่อนอุบลรัตน์ได้รวมตัวกันทำกิจกรรมพัฒนาตนเองและชุมชน ลดภาพการมั่วสุมทำกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ของเยาวชนอย่างที่มักพบเห็นกันได้บ่อยๆ ที่นี่ ศักดาและเยาวชนได้ทำกิจกรรมซึ่งน้อมนำและบูรณาการหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวการฟูมฟักเยาวชนโดยมีเหตุผลว่า “ธรรมะจะกลายมาเป็นภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนไปโดยปริยาย”

­

กิจกรรมทั้งหมดที่ศูนย์ฯ มีเป้าหมายเพื่อขัดเกลาให้เยาวชนทำความรู้จัก เข้าใจตนเอง ปลูกฝังความรักและหวงแหนในศิลป-วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ความมีจิตอาสาเกื้อกูลกัน และยึดมั่นหลักการ “เกษตรพอเพียง” โดยไม่ลืมที่จะจัดการการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตจริง เปิดกว้างให้สมาชิกได้คิดและแสดงศักยภาพทำกิจกรรมตามความสนใจอย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การมีปัญญาและความเข้าใจโลก-ชีวิต เวลานี้ศูนย์การเรียนรู้ชาวดินมีเยาวชนร่วมทำกิจกรรมต่อเนื่องกว่า 20 คน บางคนมีศักยภาพเป็นพี่เลี้ยงและเป็นวิทยากรให้น้องที่เล็กกว่า ซึ่งรวมถึงศักดาด้วย

­

­

“ความใฝ่ฝันของผม ผมอยากให้มีสถานที่จัดกิจกรรม จัดอบรมที่ใกล้ชุมชนของตัวเอง แล้วให้เยาวชนและคนในหมู่บ้านเข้ามาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้กัน อยากมีกิจกรรมที่ให้เยาวชนได้ทำร่วมกัน เพราะเดี๋ยวนี้มีน้อยมากที่เยาวชนจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนั้นก็อยากทำศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นแปลงเกษตร อาจจะเป็นเกษตรพอเพียง หรือเกษตรผสมผสาน ที่ไม่ใช่แค่คนในชุมชน แต่รวมไปถึงคนนอกพื้นที่มาเรียนรู้ร่วมกันด้วย” ศักดาวาดฝันภาพศูนย์การเรียนรู้ชาวดินในอนาคต รับไม้ – ส่งไม้ภูมิปัญญาการเกษตร

ปัจจุบัน พื้นที่น้อยๆ ของศูนย์การเรียนรู้ชาวดินมีความเข้มแข็งมากขึ้นแล้ว พร้อมๆ กับบ้านดินหลายหลังที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของลุงเนียงและเยาวชน คือ ห้องสมุด1 หลัง ห้องน้ำ 3 ห้อง บ้านพัก 4 หลังซึ่งจะรองรับแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเยียนได้ถึง 50 คน อีกทั้งยังมีการสร้างห้องน้ำเพิ่มอีก6 ห้อง ตอนนี้เยาวชนได้เรียนรู้การทำบ้านดิน การปลูกเห็ด การทำแปลงผัก และการเลี้ยงปลา ทำให้สมาชิกเริ่มมีรายได้

­

­

ไม่เพียงการรับไม้ต่อด้านการเกษตรจากต้นทุนในท้องถิ่น ในด้านการสืบสานศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งบ้านโคกกลางในอดีตเคยมีชื่อเสียงมากในด้านการแสดง “หมอลำ” ศักดาและเยาวชนชาวดินได้หันมาเรียนรู้เพื่อหวังที่จะสืบต่อศิลปะการแสดงแขนงนี้จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจ ผู้เฒ่าผู้แก่ร้องไห้ด้วยความปลื้มปีติที่ได้ เห็นลูกหลานร้องรำ เนื่องจากเห็นคุณค่าในมรดกพื้นบ้าน ที่เกือบจะเลือนหายไปกับความบันเทิงรูปแบบใหม่ ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองของเยาวชนก็เริ่มเห็นคุณค่าที่เกิดขึ้น ให้การยอมรับ และแวะเวียนมาร่วมกิจกรรมเป็นครั้งคราว ส่วนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ของศูนย์ฯ ยังจะมีการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์มาไว้ให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานง่ายๆ อย่างการฝึกหัดใช้พิมพ์ดีด และการเข้าหาความรู้จาก “โลกไซเบอร์สเปซ” ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้เรียกได้ว่าเป็นทั้งการเรียน การเล่น และชีวิตที่หลอมหลวมเป็นเนื้อเดียวกัน

ทุกวันนี้ ศักดาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเยาวชนรักษ์บ้านเกิดด้านการเกษตรในโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ดำเนินการโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) โดยตัวศักดาเองถือเป็นอีกคนหนึ่งที่ต่างจากศักดาคนเดิมในอดีตสิ้นเชิง เขามีความสุข ความภาคภูมิใจ เห็นความเติบโตของตัวเองทั้งการเปลี่ยนแปลง
ภายในและภายนอก จากคนที่ไม่เคยกล้าพูดต่อหน้าคนมากๆ ก็กลายเป็นเรื่องง่ายไปแล้ว เพราะทุกเรื่องที่พูดล้วนเป็นเรื่องที่ได้ผ่านการลงมือทำอย่างจริงจังมาแล้วทุกอย่าง ไม่ใช่การเอาเรื่องที่คนอื่นทำมาเล่า อาการประหม่าจึงไม่เกิดขึ้นอีก ในเวลาเดียวกันก็เรียนรู้ถึงความยากลำบากของการทำงาน รับไม้ต่อ -เรียนรู้งานจากพ่อ พร้อมๆ กับอิ่มเอมกับรสชาติของความสำเร็จที่ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ นอกจากการทำ ทำ ทำ แล้วก็ “ทำ”

­