สรส.- มูลนิธิสยามกัมมาจลจัดประชุม อบต.นครสวรรค์ ถกแผนเคลื่อนงานเยาวชน

­

พลังเยาวชนเป็นพลังของชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการพัฒนาเยาวชน” ทว่าปัจจุบันเยาวชนในชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบและเป็นความเสี่ยงในลักษณะที่ไม่ต่างกันนัก ทั้งปัญหา
ยาเสพติด ความรุนแรง เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร นอกจากนั้นแล้วยังมีสิ่งมอมเมาที่พร้อมจะเกิดขึ้นใหม่ได้ไม่รู้จบ หากไม่มีการเฝ้าระวังและเติมพลังให้พลังเยาวชนเหล่านี้อย่างเพียงพอและทันท่วงทีก็อาจทำให้พลังของชาติต้องเหือดหายไปได้

ทั้งนี้ จังหวัดนครสวรรค์ ก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาดังกล่าว ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงหันมาให้ความสำคัญกับการรู้เท่าทันปัญหาตลอดจนให้การหนุนเสริมเยาวชนได้มีภูมิคุ้มกันในตนเองและได้รับการพัฒนาศักยภาพให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองและชุมชนในภายภาคหน้า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.53 โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โดยการ
สนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทเรียนการขับเคลื่อนงานเด็กและเยาวชนของผู้บริหารระดับตำบลภายในจังหวัดนครสวรรค์ขึ้น โดยมีผู้บริหารตลอดจนผู้แทนจาก อบต.หนองบัว
อบต.เขาชายธง อบต.พนมรอก อบต.ลาดยาว อบต.หัวถนน อบต.เนินศาลา และอบต.เกยไชย รวม 7 พื้นที่เข้าร่วมประชุม

­

­

นายทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา และหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชน
ท้องถิ่น (4 ภาค) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนในท้องถิ่นนับวันยิ่งทวีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้นดังปรากฏตามหน้าข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้เด็กและเยาวชนไทยกำลังถูกแวดล้อมด้วยตัวอย่างที่ไม่เหมาะสม อาทิ ดารานักแสดงและผู้ใหญ่รอบตัวที่เป็นแบบอย่างการมั่วสุมอบายมุข อาทิ การดื่มสุราและเล่นการพนัน ซึ่งขัดกับสิ่งที่ครูสอนซึ่งปลูกฝังให้เยาวชนเป็นคนเก่งและเป็นคนดีของสังคม โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศยังพบอีกว่าการเรียนต่อในระดับสูงไม่อาจเป็นภูมิคุ้มกันเยาวชนที่เข้มแข็งเพียงพอ ยกตัวอย่างข่าวหลายชิ้นเป็นเรื่องของนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ก่อคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญ

­

นอกจากนั้น จากการสำรวจยังพบอีกว่า เยาวชนยังมีแนวโน้มหนีเรียนเพิ่มมากขึ้นเพราะเรียนแล้วไม่มีความสุขจึงตกเป็นเหยื่อของการมั่วสุมการพนันและสิ่งเสพติดได้โดยง่าย ขณะที่พ่อแม่ยังมีความเข้าใจและเวลาให้แก่ลูกหลานน้อยลง แต่มุ่งเน้นให้ลูกหลานเรียนหนังสือสูงๆ เพื่อเป็นเจ้าคนนายคน ทั้งไม่มอบหมายให้ลูกหลานช่วยเหลืองานบ้านและผลักภาระการฟูมฟักเยาวชนให้แก่โรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว ทำให้เกิดการโยนความผิดกันไปมาระหว่างบ้านและโรงเรียนไม่ก่อให้เกิดการแก้ปัญหา จากปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลให้เยาวชนทั้งในเขตเมืองและชนบทมีความเปราะบาง ขาดความอดทน ไม่ช่วยเหลืองานของครอบครัว ต่างจากเยาวชนในอดีตที่มีภูมิคุ้มกันตนเองค่อนข้างมาก ซ้ำร้ายเยาวชนรุ่นใหม่ยังมีแนวโน้มเข้าถึงสื่อที่มีความไม่เหมาะสม อาทิ
คลิปลามกอนาจารในสื่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งยากต่อการเฝ้าระวังอีกด้วย

ผู้อำนวยการสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข กล่าวต่อไปว่า จากตัวอย่างสภาพปัญหาดังกล่าว อบต.ในฐานะ
ผู้บริหารประเทศในระดับท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องเข้าขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชนเพื่อบ่มเพาะอย่างเพียงพอให้เยาวชนเป็นทั้งคนเก่ง คนดี พร้อมทั้งยังเป็นผู้ที่มีความสุข เริ่มจากการจัดการภาพรวมของตำบลที่ทำให้เห็นองค์รวมของสถานการณ์เด็กและเยาวชนในชุมชนว่ามีเยาวชนคนใดเก่งเรื่องอะไรและสามารถทำอะไรได้บ้าง จากนั้น อบต.จะต้องหาวิธีหนุนเสริมการพัฒนาศักยภาพแก่เด็กและเยาวชนของตนเอง หนึ่งในนั้นสามารถเริ่มได้จากการมีคณะกรรมการที่คอยมองภาพรวม เกาะติด และมองทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง รวมถึงการหนุนเสริมกลไกสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลให้สามารถทำได้งานได้จริง ซึ่งขณะนี้หลายแห่งยังมีเพียงโครงสร้างแต่ไม่สามารถทำงานได้ เด็กและเยาวชนในสภาเด็กฯ ไม่ได้รับการเติมทักษะก่อนการทำงาน และไม่มีการส่งไม้ต่อระหว่างรุ่นทำให้เกิดช่องว่างของทักษะและความรู้อันจะทำให้เกิดการ
ทำงานอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น เมื่อมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนถึงปัญหาเด็กและเยาวชนที่ท้องถิ่นมีความกังวลเพื่อชี้ให้เห็นถึงต้นทุนของชุมชน
รวมถึงปัญหาที่ชุมชนต้องเร่งแก้ไข ที่ประชุมพบว่าหลาย อบต.ยังพบปัญหาร่วมกันหลายข้อ อาทิ ปัญหาเยาวชนขาดความต่อเนื่องของการทำกิจกรรม ไม่มีการส่งไม้ต่อ สภาเด็กฯ พบปัญหาช่องว่างระหว่างเยาวชนนอกระบบการศึกษาและเยาวชนในระบบการศึกษา ปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วยกับการทำกิจกรรมเพราะเกรงว่าจะเป็นการมั่วสุมทำให้ผลการเรียนตกต่ำ รวมถึงปัญหาที่ท้องถิ่นยังขาดแคลนผู้ใหญ่ใจดีที่มีความตั้งใจจริงเสนอตัวเข้ามาขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ทำให้ที่ผ่านมาได้คณะ
ทำงานที่ไม่มีใจจึงไม่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมของเยาวชน

­

­

พ.จ.อ.สาคร บุญประจันต์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์จาก อบต.ลาดยาว ยอมรับว่า ที่ อบต.ลาดยาว
ก็พบปัญหาไม่ต่างกัน เด็กและเยาวชนยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนค่อนข้างจำกัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเยาวชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน ยิ่งไม่ใช่กิจกรรมที่เยาวชนสนใจ ด้วยแล้ว เยาวชนก็จะไม่มาเข้าร่วม ในเวลาเดียวกันความเชื่อมั่นของพ่อแม่ผู้ปกครองต่อ อบต.ยังจะส่งผลถึงการมาร่วมกิจกรรมของเยาวชนด้วย

ส่วนเรื่องของการจัดตั้งคณะกรรมการด้านเด็กและเยาวชนเป็นกลไกของ อบต.นั้น พ.จ.อ.สาคร กล่าวว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการมากที่สุดคือ คนทำงานที่มีความตั้งใจจริง ที่ผ่านมาคณะทำงานด้านดังกล่าวมักมาจากฐานการเมืองที่ต้องอิงกับวาระทางการเมืองทำให้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้บริหารคนใหม่มาทำหน้าที่ก็จะส่งผลให้คณะกรรมการและนโยบายเปลี่ยนแปลงตามไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

­

“งานเด็กและเยาวชนของนายก อบต.แต่ละรายอาจถูกให้ความสำคัญหนักและเบาไม่เท่ากัน ถึงจะมีนโยบายด้านเยาวชนดี แต่คณะกรรมการที่ต้องแต่งตั้งใหม่อยู่เรื่อยก็ทำให้ต้องมาทำความเข้าใจใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา การส่งไม้ต่อจึงเป็นเรื่องที่ไม่มีทาง ข้อนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว หากไม่มีการรับตำแหน่งต่อเนื่อง เมื่อเปลี่ยนนายกฯ คนใหม่ จากพื้นที่ที่มีงานด้านเด็กเป็นตัวแทนของจังหวัดได้ ก็กลายเป็นขาดความต่อเนื่องเพราะไม่มีการส่งไม้” พ.จ.อ.สาคร กล่าว

­

­

ทางด้านสถานการณ์การขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กและเยาวชนที่ตำบลหนองบัวก็เป็นอีกพื้นที่ที่ประสบปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครองไม่หนุนเสริมให้เด็กและเยาวชนทำกิจกรรม นายบุญช่วย ศรีแก้ว
รองนายก อบต.หนองบัว เล่าว่า ปัจจุบัน อบต.หนองบัวมีสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบลมาแล้วถึงสองรุ่น กิจกรรมที่ผ่านมา อาทิ ลานกีฬา ลานดนตรี ทั้งยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อซื้อเครื่องดนตรีสากลให้เยาวชนได้ใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนั้นกลุ่มเยาวชนตำบลหนองบัวยังได้เป็นตัวแทนนครสวรรค์ไปแสดงวัฒนธรรมระดับภาคเหนือตอนล่าง ทว่ากลับพบปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ส่งเสริมเด็กและเยาวชน

­

ทำกิจกรรมเพราะมองว่าเป็นการมั่วสุมทำให้ผลการเรียนตกต่ำ ซึ่ง อบต.ได้ให้พี่เลี้ยงเยาวชนอธิบายทำความเข้าใจแล้ว

­

­

ส่วนประสบการณ์จาก อบต.เขาชายธง นายวินัย ฟักขาว นายก อบต.เขาชายธง กล่าวว่าสิ่งที่ชุมชนของเขาต้องการคือการเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนสามารถมีปากมีเสียงเหมือนผู้ใหญ่

­

ทั้งนี้ในการเลือกตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลเขาชายธงในเดือนกรกฎาคมที่จะถึง ตนจะปรับวิธีการได้มาของสภาเด็กฯ โดยเปลี่ยนจากการคัดเลือกตัวแทนหมู่บ้านมาเป็นการคัดเลือกตัวแทนตำบลและให้ตัวแทนหมู่บ้านทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการของสภาเด็กและเยาวชนฯ โดยจะให้การสนับสนุนเฉพาะโครงการเยาวชนที่มีการต่อยอดเห็นผลและมีจิตอาสาคิดจริงทำจริงเท่านั้น จุดประสงค์เพื่อให้สภาเด็กฯ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

­

ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์การขับเคลื่อนฯ ของ อบต.เขาชายธง ยังพบด้วยว่า การทำงานเยาวชนจำเป็นต้องทำด้วยใจและความเสียสละ ผู้ใหญ่ต้องเดินเข้าไปหาผู้ปกครองและเด็กก่อนเพื่อชี้แจงถึงประโยชน์ที่เยาวชนจะได้รับ เช่น การได้พบเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้ สนุกสนานไปกับกิจกรรมจนไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมจึงจะทำให้การขับเคลื่อนฯ มีความราบรื่น สอดคล้องกับเสียงสะท้อนจากเยาวชนตำบลเขาชายธงที่ว่าการทำกิจกรรมของเยาวชนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ที่ผ่านมาเยาวชนมักไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้ทำกิจกรรมช่วงเย็นหลังเลิกเรียนเพราะเกรงลูกหลานจะมีอันตราย แต่หากเป็นกิจกรรมในช่วงเทศกาลที่มีผู้ใหญ่คอยให้คำปรึกษาดูแล ผู้ปกครองจะไว้วางใจให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมได้

­