สรส.สยามกัมมาจลรุกสร้าง "เยาวชนหัวเชื้อ" ปฏิรูปเด็กไทยมีคุณภาพ
อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส. หัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น แนะนำเยาวชนหัวเชื้อให้รู้จักกระบวนการจัดการความรู้ นำไปพัฒนาโครงการให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
ต้นแบบที่ดีย่อมนำไปสู่งานศิลป์ที่งดงามได้ฉันใด การพัฒนาเยาวชนก็เช่นกัน ที่หากมี “ผู้นำ” ที่ดีแล้วก็ย่อมชักชวนเพื่อนฝูง-พี่น้อง ให้ก้าวสู่อนาคตที่สดใสได้ฉันนั้น “โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค)” จัดโดยสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
เพื่อหนุนเสริม “ต้นกล้า” ให้ผลิดอกงอกงาม จึงเกิดขึ้น!

อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส. และหัวหน้าโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ซึ่งเป็นแกนหลักจัดกระบวนการเรียนรู้ของโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ สังคมไทยยังขาดแหล่งบ่มเพาะที่ดีอยู่มาก ขัดกับสถานการณ์จริงที่เรากำลังต้องการเด็กและเยาวชนที่มีทั้งความเก่งและความดี ข้อจำกัดนี้ทำให้เด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากไปไม่ถึงฝัน แถมยังก่อปัญหาเด็กมากมายตามมา เช่น ปัญหา
ยาเสพติดและปัญหาการพนัน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชน
ท้องถิ่น (4 ภาค) จึงเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2551 ที่ผ่านมา เพื่อหนุนเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยมีคุณภาพ มีความสุข มีความภาคภูมิใจในตัวเอง และเกิดการระเบิดจากข้างใน ในการทำความดีเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ครอบครัว และชุมชน โดย สรส.ได้นำการจัดการความรู้ (Knowledge Management) มาจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ตั้งแต่ระดับทัศนคติ ความรู้ และทักษะชีวิต
เบื้องต้น ทางโครงการได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์เด็กและเยาวชนทั้ง 4 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้แล้ว พบจุดอ่อนและจุดแข็งมากมาย ที่สำคัญยังทำให้พบเยาวชนแกนนำที่มีความรักความผูกพันในถิ่นที่อยู่กว่า 50 คน ตลอดจนพี่เลี้ยงที่เป็นคนในพื้นที่และมีจิตอาสาอีกกว่า 10 คนเข้าสู่กระบวนการพัฒนาศักยภาพเป็นแกนนำ “หัวเชื้อ” เพื่อขยายผลสู่คนรอบข้าง ทั้งนี้บนพื้นฐานความพร้อมและความถนัดของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นเยาวชนในสถานศึกษาที่มีเส้นทางอาชีพชัดเจนแล้ว หรือแม้แต่เยาวชนที่ออกจากระบบศึกษากลางคันก็ตาม
“เยาวชนกลุ่มนี้คือต้นกล้าหัวเชื้อที่ทำดี และพร้อมจะชวนคนอื่นทำด้วย แต่เริ่มแรกเขาต้องช่วยตัวเองได้ก่อน เมื่อเขาเก่งแล้ว เขาก็ช่วยคนอื่นได้ ซึ่งเรามองว่าคนที่จะทำอะไรได้ดี ต้องเป็นการทำในสิ่งที่เขาชอบ เราก็จะสนับสนุนเขาให้เริ่มต้นได้อย่างจริงจัง ค้นพบตัวเองได้เร็วที่สุด
ไม่ให้สิ่งที่เขาคิดเป็นเพียงเพ้อฝัน อย่างการปลูกผักและการเลี้ยงกบในท่อซีเมนต์ ที่พัฒนาไปเป็นอาชีพได้ เมื่อปากท้องมั่นคง ก็จะเกิดจิตอาสาคิดถึงคนอื่น ขณะเดียวกันเราก็ต้องแสดงให้ครอบครัว ชุมชน ตลอดจน อบต.ซึ่งถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นเห็นผลที่เป็นรูปธรรม เกิดความศรัทธา และสนับสนุนในระยะยาวจนมีความยั่งยืนเกิดขึ้น หรือนำไปเป็นแบบอย่างยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” อาจารย์ทรงพลกล่าว

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สรส.พร้อมด้วยมูลนิธิสยามกัมมาจลได้จัดกิจกรรมพบปะกันของเยาวชน 4 ภาค และพี่เลี้ยงโครงการขึ้น ณ ร้านอาหารและบ้านพักเพื่อสุขภาพ โขงสาละวิน จ.ลำพูน เพื่อให้เยาวชนหัวเชื้อจากทุกภาคได้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดการต่อยอดกิจกรรมเดิมที่มีการริเริ่มมาก่อนหน้า รวมถึงการเชื่อมโยงทำความรู้จักกับกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านจำขี้มด จ.ลำพูน ซึ่งรวมตัวขึ้นพัฒนาบ้านเกิดจนเป็นแบบอย่างที่จับต้องได้ แถมได้ข้อคิดดีๆ จาก อินทุอร หล้าโสด หรือ น้องแตง แกนนำกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านจำขี้มดว่า เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญในการทำงานเพื่อสังคม แต่สำคัญอยู่ที่สำนึกรักบ้านเกิด ซึ่งการทำงานเพื่อสังคม
จำเป็นต้องมีความอดทนมาก เป็นคาถาประจำตัวสำหรับคนทำงานด้านนี้ เพื่อไม่ให้ท้อแท้เมื่อพบแรงเสียดทานจากคนที่ไม่เข้าใจ
คุณสุทิน ศิรินคร ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการพัฒนาต่อยอดเครือข่ายเด็กและเยาวชน มูลนิธิสยามกัมมาจล แนะนำมูลนิธิแก่เยาวชนแกนนำและพี่เลี้ยงได้รู้จัก โดยยังได้แนะนำเว็บไซต์ของมูลนิธิ คือ www.scbfoundation.com และ www.okkid.net เพื่อเป็นชุมชนออนไลน์และช่องทางการสื่อสารของเยาวชนที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
กิจกรรมสันทนาการก่อนเริ่มประชุมเรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
กลุ่มพี่เลี้ยงโครงการประชุมกันอย่างจริงจังเพื่อหาทิศทางที่ควรสนับสนุนน้องๆ ผู้รักถิ่นฐานบ้านเกิด
พบปะและเยี่ยมชมกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านจำขี้มด ตัวอย่างของจริงของเยาวชนรักบ้านเกิดที่ต้องการพัฒนา
ภูมิลำเนาให้มีความเจริญและเต็มไปด้วยความสุข
อนุพงษ์ วิเศษ หนุ่มดอยจิตอาสา ที่พยายามถอดองค์ความรู้ เสาะหาวิธีขยายพันธุ์กบในท่อซีเมนต์ เพื่อสร้างรายได้แก่เด็กๆ รุ่นหลัง
ราเชน บุญเต็ม เยาวชนในโครงการผู้อนุรักษ์และหวงแหนศิลปะการแสดง "รำวงเวียนครก"
อนุพงษ์ วิเศษ หรือ “วัช” หนุ่มชาวดอยวัย24 ปี หนึ่งในเยาวชนหัวเชื้อที่เข้าร่วมโครงการเล่าถึงกิจกรรมพัฒนาบ้านเกิดที่เขาทำอยู่ว่า ขณะนี้กำลังถอดองค์ความรู้จากการเลี้ยงกบในท่อซีเมนต์ร่วมกับเพื่อนๆ กลุ่มคนรักเชียงของที่เขาเป็นสมาชิกอยู่แก่เด็กๆ รุ่นหลัง เพื่อให้เด็กๆ สามารถเพาะและเลี้ยงกบเป็นอาหารและสร้างรายได้ที่แน่นอน ต่างจากอดีตชาวบ้านจะหากบตามธรรมชาติอย่างเดียว แต่วิธีการล่ากบนั้นก็เริ่มสูญหายไปแล้ว โดยขณะนี้การถอดองค์ความรู้ได้คืบหน้าไปกว่าครึ่ง และกำลังหาวิธีการขยายพันธุ์กบที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

วัชเผยแรงบันดาลใจของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมดังกล่าวว่า เพราะต้องการช่วยเหลือให้คนอื่นพึ่งตัวเองได้บ้าง เหมือนกับเขาที่เคยยากจนและต่อสู้ชีวิตในวัยเด็ก ทั้งเลี้ยงหมู ประกอบกิจการโรงสีข้าวขนาดเล็ก ต้มสุราขาย เป็นดีเจของวิทยุชุมชน ฯลฯ จนเรียนรู้ที่จะพึ่งตนเองได้ โดยวัชบอกว่าเขาหวังเพียงความสุขใจเป็นผลตอบแทน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ยอมรับว่ามาทำกิจกรรมเพราะต้องการการยอมรับจากสังคมรอบข้างเท่านั้น โดยวัชบอกอีกว่า อีกไม่นานเขาจะลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้านเพื่อนำประสบการณ์และความรู้ที่มีอยู่ไปพัฒนาชุมชนบ้านเกิด

ส่วน ราเชน บุญเต็ม หรือ “เชน” บัณฑิตวัย 25 ปีจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.นครศรีธรรมราช เยาวชนรักบ้านเกิดในโครงการอีกราย เผยว่า เขาเองก็ต้องการพัฒนาถิ่นที่อยู่เช่นกัน โดยเริ่มจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมรำวงเวียนครกของชาวนครศรีธรรมราชที่กำลังสูญหาย และกำลังผลักดันให้ชมรมรำวงเวียนครกในวัยเตาะแตะมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น

เขาบอกว่า ผลดีจากการเข้าร่วมโครงการทำให้ได้รู้จักกับกระบวนการจัดการความรู้ ซึ่งจะถูกนำไปใช้บริหารจัดการ จัดกระบวนการสอนเด็กและเยาวชน และประเมินผลการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชมรมมีความยั่งยืน คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อีกทั้งจะผลักดันให้เด็กและเยาวชนมีความภาคภูมิใจในรำวงเวียนครกอย่าง
แท้จริงด้วย

นอกจากนี้ ราเชน ซึ่งเห็นการเติบโตของโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) มาตลอด และกำลังก้าวสู่การเป็นพี่เลี้ยง มองโครงการว่า กำลังชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และมีการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปอย่างสม่ำเสมอ เช่น การจัดประชุมแลกเปลี่ยนครั้งล่าสุดที่ทำให้เขาได้รับความรู้ใหม่ๆ ไปคิดต่อและขยายผล เกิดวิธีการและตัวชี้วัดที่ดีขึ้น

ราเชนสะท้อนอย่างเชื่อมั่นว่า ณ วันนี้ โครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ของเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ได้ดำเนินมาอย่างถูกทางแล้ว.